เวลานี้จงแสดงความเมตตาตามอย่างพระเจ้า
“จงให้เราตกอยู่ในพระหัตถ์พระยะโฮวาเถิด เหตุว่าพระเมตตาของพระองค์ก็ล้นเหลือ.”—2 ซามูเอล 24:14.
1. ดาวิดมีความรู้สึกอย่างไรในเรื่องความเมตตาของพระเจ้า ทำไม?
กษัตริย์ดาวิดทรงทราบโดยประสบการณ์ว่าพระยะโฮวาทรงมีความเมตตามากกว่ามนุษย์. ด้วยมั่นใจว่าแนวทางหรือมรรคาของพระเจ้านั้นดีเยี่ยม ดาวิดปรารถนาจะรู้จักแนวทางของพระองค์และดำเนินในความสัตย์จริงของพระองค์. (1 โครนิกา 21:13; บทเพลงสรรเสริญ 25:4, 5) คุณคิดเหมือนดาวิดไหม?
2. พระเยซูทรงให้คำแนะนำอะไรในมัดธาย 18:15-17 เกี่ยวด้วยวิธีจัดการกับการกระทำบาปอย่างร้ายแรง?
2 คัมภีร์ไบเบิลเปิดโอกาสให้เรารู้ซึ้งถึงพระดำริของพระเจ้า แม้แต่เรื่องต่าง ๆ เช่น เราน่าจะทำประการใดหากมีบางคนทำผิดต่อเรา. พระเยซูตรัสแก่พวกอัครสาวกซึ่งในเวลาต่อมาได้เป็นคริสเตียนผู้ดูแลดังนี้: “หากว่าพี่น้องของท่านทำผิดต่อท่าน จงไปแจ้งความผิดนั้นแก่เขาสองต่อสองเท่านั้น. ถ้าเขาฟังท่าน ก็จะคืนดีเป็นพี่น้องกันอีก.” ความผิดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มิใช่แค่การดูถูกกันเป็นส่วนตัว แต่เป็นการทำผิดอย่างร้ายแรง เช่นการฉ้อโกง หรือการกล่าวร้าย. พระเยซูตรัสว่า ถ้าทำขั้นแรกแล้วเรื่องยังไม่ยุติ และถ้าหาพยานได้ ผู้เสียหายควรนำพยานไปด้วยเพื่อยืนยันว่าได้มีการกระทำผิด. ถึงขั้นนี้แล้วหมดหนทางไหม? ไม่. “ถ้าเขา [คนทำผิด] ไม่ฟังคนเหล่านั้น จงไปแจ้งความต่อคริสต์จักร [ประชาคม, ล.ม.] ถ้าเขายังไม่ฟัง [ประชาคม] ก็ให้ถือเสียว่าเขาเป็นเหมือนคนต่างประเทศหรือคนเก็บภาษี.”—มัดธาย 18:15-17.
3. พระเยซูหมายความอย่างไรเมื่อพระองค์ตรัสว่าคนบาปที่ไม่กลับใจก็ให้ถือเสียว่าเขา “เป็นเหมือนคนต่างประเทศหรือคนเก็บภาษี”?
3 เพราะเป็นคนยิว พวกอัครสาวกย่อมเข้าใจได้ทีเดียวว่าการที่จะปฏิบัติต่อคนทำผิด “เหมือนคนต่างประเทศหรือคนเก็บภาษี” นั้นหมายความอย่างไร. คนยิวหลีกเลี่ยงการคบหาสมาคมกับคนต่างประเทศ และเขาดูถูกคนยิวที่ทำงานเป็นคนเก็บภาษีส่งชาวโรมัน.a (โยฮัน 4:9; กิจการ 10:28) ด้วยเหตุนั้น พระเยซูทรงให้คำแนะนำแก่สาวกทั้งหลายว่า ถ้าประชาคมปฏิเสธคนกระทำผิด คนในประชาคมก็จะต้องเลิกคบกับผู้นั้น. แต่เรื่องนี้สอดคล้องกันอย่างไรในเมื่อบางครั้งพระเยซูอยู่ด้วยกันกับคนเก็บภาษี?
4. เมื่อพิจารณาคำตรัสของพระเยซูที่มัดธาย 18:17 ทำไมพระเยซูจึงได้ติดต่อเกี่ยวข้องกับคนเก็บภาษีและคนบาป?
4 ลูกา 15:1 ว่าดังนี้ “ครั้งนั้นบรรดาคนเก็บภาษีและพวกคนบาปเข้ามาใกล้เพื่อจะฟังพระองค์.” ไม่ใช่ว่าคนเก็บภาษีหรือคนบาปทุกคนอยู่ที่นั่น แต่คำ “บรรดา” ในความหมายว่ามีหลายคน. (เทียบกับลูกา 4:40.) คนจำพวกไหน? คนเหล่านั้นซึ่งสนใจอยากให้บาปของตนได้รับการอภัย. บางคนในจำพวกนี้ตอนแรกได้ยินข่าวเรื่องการกลับใจเสียใหม่จากโยฮันผู้ให้รับบัพติสมา. (ลูกา 3:12; 7:29) ฉะนั้น เมื่อคนเก็บภาษีคนอื่น ๆ มาหาพระเยซู การสั่งสอนของพระองค์จึงไม่ขัดต่อคำแนะนำในมัดธาย 18:17. จงสังเกตว่า “มีคนเก็บภาษีและคนบาปหลายคน [ได้ฟังพระเยซู] และพวกเขาเริ่มติดตามพระองค์ไป.” (มาระโก 2:15, ล.ม.) คนเหล่านี้คือผู้ที่ไม่ต้องการดำเนินชีวิตอยู่ในทางชั่วเรื่อยไปโดยปฏิเสธการช่วยเหลือ. ถ้าจะพูดให้ถูก เมื่อเขาได้ยินข่าวสารจากพระเยซู เขารู้สึกซาบซึ้งตรึงใจ. แม้ว่าเขายังกระทำบาปแต่ก็พยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยการที่พระองค์สั่งสอนพวกเขา “ผู้เลี้ยงที่ดี” นี้ก็กำลังเลียนแบบพระบิดาของพระองค์ผู้ทรงมีเมตตา.—โยฮัน 10:14.
การให้อภัย พันธะของคริสเตียน
5. อะไรคือจุดยืนพื้นฐานของพระเจ้าในเรื่องการให้อภัย?
5 เรามีคำรับรองที่ทำให้อบอุ่นใจเกี่ยวกับความเต็มพระทัยของพระบิดาที่โปรดยกโทษ: “ถ้าเราสารภาพบาปของเรา พระองค์ทรงซื่อสัตย์และชอบธรรมก็ทรงให้อภัยเราในบาปของเรา และจะทรงชำระเราให้พ้นความอธรรมทั้งสิ้น.” “ข้าพเจ้าเขียนข้อความเหล่านี้ฝากมายังท่านทั้งหลาย เพื่อท่านจะไม่ได้หลงกระทำผิด. และถ้าผู้ใดหลงกระทำผิด เราก็มีพระองค์ผู้ช่วยเหลือสถิตอยู่กับพระบิดา คือพระเยซูคริสต์ผู้เที่ยงธรรมนั้น.” (1 โยฮัน 1:9; 2:1) สำหรับคนถูกตัดสัมพันธ์ล่ะจะมีการให้อภัยได้ไหม?
6. คนถูกตัดสัมพันธ์จะได้รับการอภัยและถูกรับกลับเข้ามาใหม่โดยวิธีใด?
6 มี. ขณะที่ทำการตัดสัมพันธ์บางคนเพราะการกระทำบาปแล้วไม่สำนึกและกลับใจ คณะผู้ปกครองซึ่งเป็นตัวแทนของประชาคมได้ชี้แจงให้เขารู้ว่ามีทางเป็นไปได้ที่เขาจะกลับใจแล้วรับการอภัยจากพระเจ้า. เขาจะร่วมประชุมได้ ณ หอประชุมราชอาณาจักร ซึ่งที่นั่นเขาสามารถรับฟังคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลอันอาจจะช่วยให้เขากลับใจได้. (เทียบกับ 1 โกรินโธ 14:23-25.) ครั้นเวลาผ่านไป เขาอาจแสวงหาทางที่จะถูกรับกลับเข้ามาในประชาคมที่สะอาด. เมื่อผู้ปกครองนัดเวลาประชุมกับเขา ผู้ปกครองย่อมจะใช้วิจารณญาณตัดสินว่าผู้ทำผิดได้กลับใจจริง และได้ละทิ้งการชั่วหรือไม่. (มัดธาย 18:18) ถ้าเขากลับใจจริง เขาอาจจะถูกรับกลับเข้ามาอีก เป็นไปตามเค้าโครงที่วางไว้ใน 2 โกรินโธ 2:5-8. ในกรณีที่เขาถูกตัดสัมพันธ์นานหลายปี เขาย่อมจะต้องพยายามทำความก้าวหน้าอย่างที่ตั้งใจไว้. อนึ่ง เขาอาจต้องการความช่วยเหลือไม่น้อยหลังจากนั้นเพื่อสร้างเสริมความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์และความหยั่งรู้ค่า เพื่อเขาจะเป็นคริสเตียนที่เข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ.
การกลับมาหาพระยะโฮวา
7, 8. พระเจ้าทรงวางแบบอย่างอะไรไว้เกี่ยวกับไพร่พลของพระองค์ที่ถูกเนรเทศไปอยู่ต่างแดน?
7 แต่พวกผู้ปกครองจะเป็นฝ่ายที่ริเริ่มเข้าหาคนถูกตัดสัมพันธ์ได้ไหม? อาจจะทำได้. พระคัมภีร์ไบเบิลชี้แจงว่าการแสดงออกซึ่งความเมตตานั้นมิได้เป็นเพียงแต่งดการลงโทษ แต่บ่อยครั้งเป็นการกระทำในเชิงบวก. เรามีตัวอย่างของพระยะโฮวา. ก่อนพระองค์ปล่อยให้ไพร่พลที่ไม่ซื่อสัตย์ต้องถูกเนรเทศไปอยู่ต่างแดน พระองค์ทรงจัดความหวังไว้สำหรับเขาที่จะกลับมาอีก กล่าวเชิงพยากรณ์ดังนี้: “ดูกร ยาโคบและยิศราเอล จงระลึกถึงสิ่งเหล่านี้ เพราะเจ้าเป็นผู้รับใช้ของเรา. . . . เราจะลบล้างความล่วงละเมิดของเจ้าเหมือนกับลบล้างเมฆ และลบบาปของเจ้าเหมือนอย่างลบหมอก. จงหันกลับมาหาเรา เพราะเราได้ไถ่ตัวเจ้าแล้ว.”—ยะซายา 44:21, 22.
8 ครั้นตกไปอยู่ในต่างแดนแล้ว พระยะโฮวาทรงดำเนินการขั้นต่อไปในเชิงบวก. พระองค์ได้ส่งบรรดาผู้พยากรณ์ตัวแทนของพระองค์ออกไปเชิญชวนชาวยิศราเอลให้ ‘แสวงหาพระองค์จนพบ.’ (ยิระมะยา 29:1, 10–14) ที่ยะเอศเคล 34:16 พระองค์ทรงเปรียบพระองค์เป็นผู้เลี้ยง และชนยิศราเอลทั้งปวงในประเทศเสมือนฝูงแกะที่หายไป: “ที่หลงไปนั้นเราจะแสวงหา และที่เขาได้ไล่ไปเสียนั้นเราจะให้กลับมาอีก.” ที่ยิระมะยา 31:10 ก็เช่นกัน พระยะโฮวาทรงใช้ภาพพจน์ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้เลี้ยงแห่งชาวยิศราเอล. อนึ่ง พระองค์มิได้แสดงภาพพระองค์เป็นผู้เลี้ยงที่เฝ้ารออยู่ที่คอก ปล่อยให้แกะหลงหายกลับมายังคอกเอง ตรงกันข้าม พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็นผู้เลี้ยงที่เสาะหาแกะที่หายไป. จงสังเกตว่า แม้นประชาชนโดยทั่วไปไม่สำนึกผิด และถูกเนรเทศ พระเจ้าก็ยังทรงเป็นฝ่ายริเริ่มเปิดทางเตรียมการให้พวกเขากลับมาหาพระองค์. และสอดคล้องกับคำกล่าวในมาลาคี 3:6 พระเจ้าจะไม่ทรงเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานของพระองค์ในการจัดเตรียมฝ่ายคริสเตียน.
9. ได้มีการปฏิบัติตามแบบอย่างของพระเจ้าอย่างไรในประชาคมคริสเตียน?
9 ทั้งนี้ชวนให้คิดมิใช่หรือว่า อาจมีเหตุผลสำหรับการริเริ่มเข้าหาบางคนซึ่งถูกตัดสัมพันธ์และผู้ซึ่งขณะนี้อาจจะสำนึกผิดคิดกลับใจ? จงระลึกว่าอัครสาวกเปาโลได้บัญชาให้ขับคนชั่วออกไปเสียจากประชาคมโกรินโธ. ต่อมา ท่านตักเตือนประชาคมให้แสดงความรักต่อผู้นั้นเนื่องด้วยการกลับใจของเขา ซึ่งเป็นเหตุที่ต่อมาเขาถูกรับกลับคืนสู่ประชาคมอีก.—1 โกรินโธ 5:9-13; 2 โกรินโธ 2:5-11.
10. (ก) เจตนาแบบไหนน่าจะกระตุ้นความพยายามใด ๆ ให้ติดต่อบางคนซึ่งถูกตัดสัมพันธ์? (ข) ทำไมคริสเตียนที่เป็นญาติจะไม่เป็นฝ่ายริเริ่มติดต่อ?
10 สารานุกรมฉบับที่เราได้ยกมากล่าวตอนต้นว่าอย่างนี้: ‘หลักการขั้นมูลฐานสำหรับการถูกขับออกจากศาสนาก็เพื่อปกป้องมาตรฐานต่าง ๆ ของหมู่คณะ: “เชื้อนิดหน่อยก็แผ่ไปทั่วทั้งก้อน” (1 โกรินโธ 5:6). วัตถุประสงค์นี้ชัดแจ้งทั้งในหลักคัมภีร์และระเบียบข้อบังคับที่เพิ่มเข้ามาเป็นพิเศษ กระนั้น ความห่วงใยต่อบุคคลเป็นส่วนตัว แม้แต่หลังการขับออกไปแล้วก็ตาม เป็นพื้นฐานการขอร้องของเปาโลใน 2 โกรินโธ 2:7-10.’ ดังนั้น ความห่วงใยอย่างนี้น่าจะได้แสดงออกอย่างมีเหตุผลในทุกวันนี้โดยพวกผู้บำรุงเลี้ยงในประชาคม. (กิจการ 20:28; 1 เปโตร 5:2) เพื่อนและญาติแต่ก่อนอาจหวังว่าคนที่ถูกตัดสัมพันธ์จะกลับมาอีก แต่เพราะเหตุที่พวกเขาเคารพต่อคำสั่งที่ 1 โกรินโธ 5:11 เขาจึงไม่คบหากับคนถูกตัดสัมพันธ์.b พวกเขาละไว้เป็นหน้าที่ของผู้บำรุงเลี้ยงที่รับการแต่งตั้งจะเป็นฝ่ายริเริ่มในการพิจารณาตัวบุคคลดังกล่าวว่าเขาสนใจจะกลับมาหรือไม่.
11, 12. คนถูกตัดสัมพันธ์ประเภทใดแม้แต่ผู้ปกครองก็ไม่ต้องการติดต่อด้วย แต่อาจจะเยี่ยมบุคคลประเภทใด?
11 ถึงกระนั้นก็ไม่เหมาะสมแม้สำหรับผู้ปกครองที่จะริเริ่มติดต่อกับบางคนที่ถูกขับออกจากประชาคม เช่น คนออกหากซึ่ง ‘กล่าวเลี่ยงความจริงเพื่อจะชักชวนคนให้ติดตามเขาไป.’ คนจำพวกนี้เป็น ‘ผู้สอนเท็จที่พยายามนำเอานิกายที่ก่อความพินาศเข้ามาอย่างเงียบ ๆ และหาผลประโยชน์ด้วยคำหลอกลวง.’ (กิจการ 20:30; 2 เปโตร 2:1, 3) อีกประการหนึ่ง พระคัมภีร์ไม่ได้ระบุหลักฐานใด ๆ ไว้สำหรับการสืบเสาะคนถูกตัดสัมพันธ์ที่ก้าวร้าวหรือเป็นคนส่งเสริมการกระทำผิดอย่างแข็งขัน.—2 เธซะโลนิเก 2:3; 1 ติโมเธียว 4:1; 2 โยฮัน 9-11; ยูดา 4, 11.
12 อย่างไรก็ดี หลายคนที่ถูกตัดสัมพันธ์ไม่เป็นอย่างนั้น. บางคนอาจเลิกประพฤติการชั่วที่ร้ายแรงอันเป็นเหตุให้เขาถูกตัดสัมพันธ์. บางคนอาจเคยใช้ยาสูบยาเส้น หรือในอดีตเขาเคยดื่มจัด แต่บัดนี้เขาไม่พยายามจะชักนำคนอื่นเข้าสู่การประพฤติผิด. ขอให้ระลึกว่า แม้แต่ก่อนพวกยิศราเอลที่อยู่ต่างแดนหันกลับมาหาพระเจ้า พระองค์ได้ส่งตัวแทนออกไปชวนพวกเขาให้หันกลับ. เปาโลหรือผู้ปกครองในประชาคมโกรินโธเคยใช้ความริเริ่มเพื่อทราบการประพฤติของคนถูกตัดสัมพันธ์หรือไม่นั้น พระคัมภีร์มิได้บอก. เมื่อชายคนนั้นกลับใจและเลิกการประพฤติผิดศีลธรรมแล้วนั่นแหละ เปาโลถึงได้สั่งประชาคมรับเขากลับมาอีก.
13, 14. (ก) อะไรบ่งชี้ว่าคนถูกตัดสัมพันธ์อาจจะตอบรับความริเริ่มอันเปี่ยมด้วยเมตตา? (ข) คณะผู้ปกครองอาจจัดแจงโดยวิธีใดเพื่อจะมีการติดต่อ?
13 ไม่นานมานี้มีบางกรณีที่ผู้ปกครองได้พบคนถูกตัดสัมพันธ์โดยบังเอิญ.c ครั้นเห็นว่าเหมาะสม ผู้บำรุงเลี้ยงได้ให้เค้าโครงโดยย่อเกี่ยวด้วยขั้นตอนที่ต้องทำเพื่อถูกรับกลับเข้ามาในประชาคม. คนจำพวกนี้บางคนก็ได้กลับใจแล้วถูกรับกลับคืนอีก. ผลอันน่ายินดีดังกล่าวบ่งชี้ว่าอาจเป็นได้ที่คนถูกตัดสัมพันธ์หรือคนที่ประชาคมไม่คบหาด้วยนั้นจะตอบรับวิธีการซึ่งผู้บำรุงเลี้ยงได้แสดงความกรุณาปรานีเช่นนั้น. ทว่าพวกผู้ปกครองจะจัดการเรื่องนี้โดยวิธีใด? อย่างมากปีละครั้ง คณะผู้ปกครองควรดูว่าคนจำพวกนี้อาศัยอยู่ในเขตประชาคมหรือไม่.d คณะผู้ปกครองจะเพ่งเล็งคนที่ถูกขับจากประชาคมนานกว่าหนึ่งปี. ถ้าเป็นสิ่งเหมาะสมตามสภาพการณ์ ผู้ปกครองก็จะมอบหมายผู้ปกครองสองคน (ถ้าเป็นได้คนที่รู้สภาพการณ์ดี) ไปเยี่ยมบุคคลดังกล่าว. จะไม่มีการเยี่ยมคนใด ๆ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า มีทัศนะลักษณะวิพากษ์วิจารณ์และเป็นอันตราย หรือคนที่แสดงตัวไม่ต้องการความช่วยเหลือ.—โรม 16:17, 18; 1 ติโมเธียว 1:20; 2 ติโมเธียว 2:16-18.
14 ผู้ปกครองสองคนอาจพูดโทรศัพท์นัดหมายเวลาพบชั่วระยะสั้น ๆ หรืออาจแวะไปหาตามที่เห็นว่าเหมาะสม. ระหว่างการเยี่ยม ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องวางมาดขรึมหรือทำท่าเนือย ๆ แต่เขาควรสะท้อนความห่วงใยอันเปี่ยมด้วยเมตตาอย่างเต็มอกเต็มใจ. แทนที่จะทบทวนเรื่องแต่หนหลัง ผู้ปกครองอาจพิจารณาข้อคัมภีร์เช่น ยะซายา 1:18 และ 55:6, 7 และยาโกโบ 5:20. ถ้าผู้นั้นสนใจใคร่จะกลับมาอยู่กับฝูงแกะของพระเจ้าอีก ผู้ปกครองก็จะชี้แจงอย่างกรุณาว่าเขาควรทำตามขั้นตอนอะไรบ้าง เช่นการอ่านคัมภีร์ไบเบิลและหนังสือของสมาคมวอชเทาเวอร์และเข้าร่วมประชุมที่หอประชุมราชอาณาจักร.
15. ผู้ปกครองควรนึกถึงสิ่งใดเสมอเมื่อจะไปพบกับคนถูกตัดสัมพันธ์?
15 ผู้ปกครองซึ่งรับหน้าที่นี้ย่อมต้องใช้ความสุขุมและความเข้าใจเพื่อจะวินิจฉัยได้ว่ามีข้อบ่งบอกการกลับใจหรือไม่ และสมควรจะติดตามเยี่ยมอีกหรือไม่. แน่นอน เขาควรระลึกว่าบางคนที่ถูกตัดสัมพันธ์แล้ว “ก็เหลือวิสัยที่จะให้เขากลับใจเสียใหม่อีกได้.” (เฮ็บราย 6:4-6; 2 เปโตร 2:20-22) ภายหลังการเยี่ยม ผู้ปกครองสองคนนี้จะรายงานโดยปากเปล่าอย่างสั้น ๆ ต่อกรรมการการรับใช้ของประชาคม. หลังจากนั้น เมื่อมีการประชุมครั้งต่อไป กรรมการชุดนี้จะแจ้งให้คณะผู้ปกครองประชาคมทราบ. ความริเริ่มของพวกผู้ปกครองซึ่งเปี่ยมด้วยความเมตตาคงจะสะท้อนถึงทัศนะของพระเจ้าที่ว่า “พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสต่อไปว่า ‘จงกลับมาหาเราเสียเถอะ และเราจะกลับไปหาเจ้าทั้งหลาย.’”—มาลาคี 3:7.
การช่วยเหลืออย่างเมตตาด้วยวิธีอื่น
16, 17. พวกเราควรมีทัศนะเช่นไรต่อคริสเตียนที่เป็นญาติของคนถูกตัดสัมพันธ์?
16 จะว่าอย่างไรสำหรับพวกเราบางคนซึ่งไม่ใช่ผู้ดูแล และจะไม่ริเริ่มวิธีดำเนินงานดังกล่าวต่อคนถูกตัดสัมพันธ์? เราอาจทำประการใดเพื่อที่จะได้เสมอต้นเสมอปลายกับการจัดเตรียมแบบนี้และเป็นการเลียนแบบพระยะโฮวา?
17 ตราบเท่าที่คนใดอยู่ในสภาพถูกตัดสัมพันธ์ หรือตัดตัวเอง เราต้องเชื่อฟังคำสั่งที่ว่า “ถ้าผู้ใดที่ได้ชื่อว่าเป็นพี่น้องแล้ว แต่ยังเป็นคนผิดประเวณี เป็นคนโลภ เป็นคนไหว้รูปเคารพ เป็นคนปากร้าย เป็นคนขี้เมาหรือเป็นคนฉ้อโกง อย่าคบให้สนิทกับคนอย่างนั้น แม้จะกินด้วยกันก็อย่าเลย.” (1 โกรินโธ 5:11) แต่คำสั่งอันเป็นหลักการของพระคัมภีร์เช่นนี้ไม่ควรกระทบทัศนะของเราต่อสมาชิกครอบครัวคริสเตียนซึ่งอยู่ร่วมกับคนถูกตัดสัมพันธ์. ชาวยิวสมัยก่อนมีปฏิกิริยารุนแรงมากกับคนเก็บภาษี ถึงกับแสดงความเกลียดชังต่อครอบครัวของคนเก็บภาษีด้วยซ้ำ. พระเยซูไม่ทรงสนับสนุนหรือเห็นด้วยกับการกระทำนั้น. พระองค์ตรัสว่า คนบาปที่ปฏิเสธการช่วยเหลือก็ให้ถือว่า “เขาเป็นเหมือนกับคนต่างประเทศหรือคนเก็บภาษี” พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า สมาชิกครอบครัวคริสเตียนต้องได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น.—มัดธาย 18:17.
18, 19. มีทางใดบ้างที่เราจะสำแดงความเป็นคริสเตียนของเราต่อญาติผู้ซื่อสัตย์ของคนถูกตัดสัมพันธ์?
18 สมควรที่พวกเราจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่สมาชิกครอบครัวซึ่งเป็นคริสเตียนที่ซื่อสัตย์. คนเหล่านี้อาจรับความเจ็บปวดและเผชิญอุปสรรคอยู่แล้วเนื่องจากการอยู่ร่วมกันภายในบ้านกับคนที่ถูกตัดสัมพันธ์ซึ่งอาจจะขัดขวางแนวทางต่าง ๆ ทางฝ่ายวิญญาณ. คนถูกตัดสัมพันธ์อาจไม่ต้องการให้คริสเตียนมาที่บ้าน หรือถ้าพี่น้องคริสเตียนมาเยี่ยมสมาชิกครอบครัวที่ซื่อสัตย์ภักดี คนถูกตัดสัมพันธ์อาจไม่มีมารยาทพอที่จะปลีกตัวไปจากผู้มาเยี่ยม. นอกจากนั้น เขาอาจขัดขวางความพยายามของครอบครัวในการเข้าร่วมประชุมประจำสัปดาห์และการประชุมหมวดหรือการประชุมภาค. (เทียบกับมัดธาย 23:13.) คริสเตียนซึ่งตกอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายเสียเปรียบเช่นนั้น สมควรได้รับความเมตตาจากเราอย่างแท้จริง.—2 โกรินโธ 1:3, 4.
19 วิธีหนึ่งที่เราจะแสดงความเมตตาอย่างนุ่มนวลก็โดย ‘การพูดปลอบใจให้สร่างทุกข์’ และทำให้การสนทนาเป็นการหนุนใจแก่ผู้ซื่อสัตย์ภักดีดังกล่าวซึ่งอยู่ในครอบครัว. (1 เธซะโลนิเก 5:14) นอกจากนั้น มีหลายโอกาสซึ่งเหมาะสำหรับการให้กำลังใจเช่น ก่อนและหลังการประชุม ขณะที่ออกประกาศด้วยกัน หรือเมื่ออยู่ด้วยกันในเวลาอื่น ๆ. เราไม่จำเป็นต้องพูดถึงการตัดสัมพันธ์ แต่อาจคุยถึงเรื่องที่เป็นการเสริมสร้าง. (สุภาษิต 25:11; โกโลซาย 1:2-4) ขณะที่พวกผู้ปกครองจะยังคงดำเนินงานเอาใจใส่ดูแลคริสเตียนในครอบครัวนั้น เราก็อาจพบว่าเราสามารถเยี่ยมได้โดยไม่ต้องข้องแวะกับคนถูกตัดสัมพันธ์. ถ้าคนถูกตัดสัมพันธ์ออกมาเปิดประตูต้อนรับหรือบังเอิญรับโทรศัพท์ เราก็เพียงแต่ขอพบคริสเตียนผู้เป็นญาติซึ่งเราต้องการพบ. บางครั้งสมาชิกคริสเตียนในครอบครัวนั้นอาจจะตอบรับการเชิญให้มาที่บ้านของเราเพื่อพบปะสังสรรค์ได้เช่นกัน. จุดสำคัญคือ คนเหล่านั้นไม่ว่าหนุ่มหรือสูงอายุ เป็นเพื่อนผู้รับใช้ของเรา เป็นสมาชิกแห่งประชาคมของพระเจ้าที่เรารักใคร่ พวกเขาไม่ควรถูกแยกออกโดดเดี่ยว.—บทเพลงสรรเสริญ 10:14.
20, 21. พวกเราควรมีความรู้สึกอย่างไรและลงมือทำอะไรถ้าคนถูกตัดสัมพันธ์ถูกรับกลับเข้ามาใหม่?
20 อีกช่องทางหนึ่งสำหรับการแสดงความเมตตาเปิดออกเมื่อประชาคมได้รับผู้ถูกตัดสัมพันธ์กลับคืน. อุทาหรณ์ของพระเยซูเน้นถึงความชื่นชมยินดีในสวรรค์เมื่อ ‘คนบาปคนเดียวกลับใจ.’ (ลูกา 15:7, 10) เปาโลได้เขียนถึงชาวโกรินโธว่าด้วยชายผู้นั้นซึ่งถูกตัดสัมพันธ์: “เหตุฉะนั้น ควรท่านทั้งหลายจะยกโทษคนนั้นต่างหาก เพื่อเขาจะได้ความบรรเทา กลัวว่าเขาจะจมลงในความทุกข์เหลือล้น. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอหนุนใจท่านทั้งหลายให้รับคนนั้นกลับเข้ามาใหม่ด้วยความรัก.” (2 โกรินโธ 2:7, 8) ขอให้พวกเราเอาคำแนะนำนี้ไปใช้อย่างเหมาะสมและด้วยความรักภายหลังคนใด ๆ ถูกรับกลับมา.
21 อุทาหรณ์ของพระเยซูว่าด้วยบุตรที่สุรุ่ยสุร่ายชี้จุดอันตรายที่เราต้องหลีกเลี่ยง. พี่คนโตไม่ปีติยินดีในการกลับมาของบุตรสุรุ่ยสุร่ายและรู้สึกโกรธเคือง. ขออย่าให้เราเป็นอย่างนั้น คิดผูกใจเจ็บต่อการกระทำผิดที่ผ่านเลยมา หรือรู้สึกขุ่นเคืองเมื่อประชาคมได้รับคนถูกตัดสัมพันธ์กลับมาใหม่. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราควรตั้งเป้าหมายให้เป็นเยี่ยงบิดาผู้นั้นซึ่งแสดงภาพการตอบสนองของพระยะโฮวา. บิดามีความสุขเมื่อได้พบบุตรของตนที่หายไปเสมือนว่าตายแล้วแต่กลับฟื้นขึ้นมีชีวิตอีก. (ลูกา 15:25-32) เหตุฉะนั้น เราจะยินดีพูดกับพี่น้องที่ถูกรับเข้ามาและโดยวิธีอื่น ๆ ให้กำลังใจเขา. จริงทีเดียว เราควรแสดงหลักฐานชัดแจ้งว่า เรามีความเมตตา เช่นเดียวกับที่พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงมีพระทัยเมตตากรุณาและทรงให้อภัย.—มัดธาย 5:7.
22. อะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการที่เราเลียนแบบพระยะโฮวาพระเจ้าของเรา?
22 ไม่มีข้อสงสัยว่าถ้าเราต้องการเลียนแบบพระเจ้าของเรา เราต้องแสดงความเมตตาอย่างที่ประสานกับพระบัญชาและความยุติธรรมของพระองค์. ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญพรรณนาถึงพระองค์ดังนี้: “พระยะโฮวาประกอบด้วยพระเมตตากรุณา พระองค์ทรงพิโรธช้า ๆ และพระกรุณาคุณของพระองค์ใหญ่หลวง. พระยะโฮวาทรงแสดงพระคุณแก่มนุษย์ทั่วไป พระเมตตากรุณาอันอ่อนละมุนมีปรากฏอยู่ในบรรดาพระราชกิจของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:8, 9) นับว่าเป็นแบบอย่างแห่งความรักที่เหมาะจริง ๆ สำหรับคริสเตียนจะประพฤติตาม!
[เชิงอรรถ]
a “คนเก็บภาษีได้รับการดูถูกอย่างยิ่งจากพลเมืองชาวยิวในปาเลสไตน์ด้วยเหตุผลหลายประการคือ (1) เขาเก็บเงินส่งไปให้รัฐบาลต่างชาติที่ยึดครองแผ่นดินยิศราเอล ฉะนั้น จึงเท่ากับสนับสนุนการชั่วนี้ทางอ้อม; (2) คนเก็บภาษีขาดหลักธรรมซึ่งเป็นที่รู้กันกระฉ่อน มั่งคั่งร่ำรวยขึ้นโดยที่คนในชาติเดียวกันรับความเสียหาย; และ (3) งานของเขาทำให้เขาเข้าพัวพันกับคนต่างประเทศเป็นประจำ เขาจึงแปดเปื้อนมลทินทางพิธีกรรมอยู่เป็นประจำ. การดูถูกคนเก็บภาษีเห็นได้ทั้งในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ และหนังสือทางศาสนาของอาจารย์ยิว . . . ดังมีกล่าวในหนังสือหลัง ๆ นี้ว่าแม้แต่ครอบครัวคนเก็บภาษีก็เป็นที่รังเกียจไปด้วย.”—ดิ อินเตอร์แนชันแนล สแตนดาร์ด ไบเบิล เอ็นไซโคลพีเดีย.
b ถ้าในบ้านคริสเตียนมีญาติที่ถูกตัดสัมพันธ์อาศัยอยู่ด้วย ผู้นั้นคงจะมีส่วนร่วมติดต่อและทำงานตามปกติประจำวัน. ทั้งนี้อาจรวมถึงการเข้าร่วมเมื่อครอบครัวมีการพิจารณาเนื้อหาฝ่ายวิญญาณ.—โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 พฤศจิกายน 1988 หน้า 20, 21.
c โปรดดูจากหนังสือประจำปี 1991 ของพยานพระยะโฮวา หน้า 53-54.
d ถ้าพยานคนใด ๆ ขณะประกาศสั่งสอนตามบ้านเรือน หรือโดยทางใดก็ตามได้ทราบว่าคนถูกตัดสัมพันธ์อยู่ในเขตที่ตนทำงาน ก็ควรแจ้งผู้ปกครอง.
คุณสังเกตจุดสำคัญเหล่านี้ไหม?
▫ ชาวยิวปฏิบัติอย่างไรต่อคนเก็บภาษีและคนบาป แต่ทำไมพระเยซูทรงติดต่อกับบางคนในจำพวกนั้น?
▫ มีหลักการอะไรในพระคัมภีร์ว่าด้วยการริเริ่มอย่างเมตตาต่อหลายคนที่หลงเจิ่นไป?
▫ คณะผู้ปกครองจะริเริ่มการดังกล่าวโดยวิธีใด และทำต่อผู้ใด?
▫ เราควรแสดงความเมตตาโดยวิธีใดต่อผู้ที่ถูกรับมาใหม่ และต่อครอบครัวของคนถูกตัดสัมพันธ์?
[กรอบหน้า 23]
ใครก็ตามซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนของประชาคมที่สะอาดและมีความสุข แต่เวลานี้ถูกตัดสัมพันธ์หรือตัดตัวเองก็ไม่ใช่ว่าต้องคงอยู่ในสภาพดังกล่าวเรื่อยไป. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ผู้นั้นสามารถกลับใจได้ แล้วริเริ่มเข้าพบพวกผู้ปกครองของประชาคม. หนทางที่จะกลับคืนเปิดอยู่
[ที่มาของภาพหน้า 24]
Garo Nalbandian