“สตรีผู้ได้กระทำการมากมายฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้า”
“ขอคำนับตรุฟายนากับตรุโฟซา [สตรี ] ผู้ได้กระทำการมากมายฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้า.”—โรม 16:12.
1, การประกาศสั่งสอนของพระเยซูบนแผ่นดินโลกเป็นพระพรอย่างไรสำหรับสตรี?
งานเทศนาสั่งสอนของพระเยซูทางแผ่นดินโลกเป็นพระพรสำหรับสตรีชาวยิวอย่างแท้จริง. การงานซึ่งพระองค์ทรงเริ่มต้นไว้ย่อมก่อผลให้สตรีทุกเชื้อชาติได้รับคำปลอบประโลมใจ ความหวัง และเกียรติ. พระองค์ไม่ทรงใส่พระทัยธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของลัทธิยูดายที่ ‘ได้ทำให้พระวจนะของพระเจ้าเป็นโมฆะ.’ (มัดธาย 15:6, ล.ม.) ธรรมเนียมประเพณีเหล่านั้นหลายอย่างละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรีซึ่งพระเจ้าประทานให้.
ทัศนะของพระเยซูต่อสตรี
2. ทำไมจึงกล่าวได้ว่าวิธีที่พระเยซูปฏิบัติกับพวกผู้หญิงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับยุคสมัยนั้น?
2 ช่างเป็นความแตกต่างอย่างชัดแจ้งอะไรเช่นนั้นระหว่างทัศนะของพระเยซูต่อสตรีกับทัศนะของชาวยิวผู้นำทางศาสนา! ที่ยกมาจากสารานุกรมจูไดกา พวกผู้นำศาสนาถือว่า “สตรี” เป็นคนมักได้ เป็นผู้แอบฟังคนอื่นสนทนากัน เกียจคร้าน และมีใจอิจฉาริษยา.” การสนทนากับผู้หญิงจะถูกมองด้วยความรู้สึกรังเกียจ และ “เป็นความน่าละอายหากผู้คงแก่เรียนสนทนากับผู้หญิงในที่สาธารณะ.” (เยรูซาเลมสมัยพระเยซู โดยโจอาคิม เจเรเมียส เทียบกับโยฮัน 4:27.) อาจกล่าวได้อีกมากเกี่ยวกับทัศนะของพวกผู้นำลัทธิยูดายที่แสดงการดูถูกเหยียดหยามพวกสตรี. แต่ดังที่กล่าวตอนต้นก็มากพอแล้วเพื่อชี้ให้เห็นว่า ท่าทีของพระเยซูต่อสตรีนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับยุคสมัยนั้นจริง ๆ.
3. เหตุการณ์อะไรในระหว่างการทำงานประกาศสั่งสอนของพระเยซูแสดงว่าพระองค์เต็มพระทัยสั่งสอนสัจธรรมที่ลึกซึ้งแก่พวกผู้หญิง?
3 พระเยซูทรงวางตัวอย่างสมบูรณ์แบบจริง ๆ เกี่ยวด้วยวิธีที่ผู้ชายพึงมีความเกี่ยวพันเป็นมิตรไมตรีกับผู้หญิง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความบริสุทธิ์ใจอย่างหาที่ติมิได้. พระองค์ไม่เพียงแต่ได้สนทนากับพวกเขา แต่พระองค์ทรงสอนสัจธรรมที่ล้ำลึกเกี่ยวกับฝ่ายวิญญาณแก่พวกเขาด้วย. ที่จริง คนแรกสุดซึ่งพระองค์ทรงเปิดเผยว่าตัวเองคือพระมาซีฮานั้นเป็นผู้หญิง แถมเป็นหญิงชาวซะมาเรียเสียด้วย. (โยฮัน 4:7, 25, 26) ยิ่งกว่านั้น เหตุการณ์ซึ่งมีมาเรียกับมาธาเกี่ยวข้องอยู่ด้วยก็แสดงชัดว่า ไม่เหมือนผู้นำศาสนาชาวยิว พระเยซูมิได้ถือว่าผู้หญิงไม่มีสิทธิจะละหม้อข้าวหม้อแกงเพียงชั่วครู่ชั่วยามเพื่อจะรับเอาความรู้ฝ่ายวิญญาณให้มากขึ้น. ในโอกาสนั้นมาเรีย “ได้เลือกเอาส่วนดี” คือจัดให้สิ่งฝ่ายวิญญาณเป็นอันดับแรก. (ลูกา 10:38-42) แต่ไม่กี่เดือนต่อมาหลังจากน้องชายของเธอเสียชีวิต มาธานั้นเอง ไม่ใช่มาเรียที่แสดงความกระตือรือร้นที่จะพบองค์พระผู้เป็นเจ้า. กระทั่งทุกวันนี้พวกเราซาบซึ้งเพียงใดเมื่อเราอ่านเรื่องการสนทนากันอันลึกซึ้งเกี่ยวกับสิ่งฝ่ายวิญญาณระหว่างพระเยซูกับมาธาว่าด้วยความหวังเรื่องการเป็นขึ้นจากตาย! (โยฮัน 11:20-27) นับว่าเป็นสิทธิพิเศษของมาธาเสียจริง ๆ!
พวกสตรีที่ได้ปรนนิบัติพระเยซู
4, 5. นอกจากพวกอัครสาวก มีใครบ้างได้ติดตามพระเยซูระหว่างการประกาศสั่งสอนในแคว้นฆาลิลาย และพวกเขาปรนนิบัติพระองค์วิธีใด?
4 อนึ่ง พระเยซูทรงรับรองการปรนนิบัติจากพวกผู้หญิงขณะเดินทางไปทั่วแผ่นดินนั้น. ในบันทึกเรื่องกิตติคุณของพระองค์ มาระโกกล่าวถึง “พวกผู้หญิง . . . ได้ติดตามและปรนนิบัติพระองค์ [พระเยซู] เมื่อพระองค์ยังอยู่ในแขวงฆาลิลาย.” (มาระโก 15:40, 41) พวกผู้หญิงเหล่านี้คือใคร? และเขาทำการปรนนิบัติพระองค์วิธีใด? เราไม่รู้จักชื่อครบทุกคน แต่ลูกาได้บันทึกชื่อบางคนพร้อมกับชี้แจงว่าคนเหล่านั้นได้ปรนนิบัติพระเยซูในทางใดบ้าง.
5 ลูกาเขียนดังนี้: “อีกไม่นานพระองค์ก็เสด็จไปทั่วตลอดตามบ้านตามเมือง ทรงประกาศกิตติคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้า. สาวกสิบสองคนนั้นก็อยู่ด้วยพระองค์ พร้อมกับผู้หญิงลางคนที่มีผีร้ายออกจากเขา และที่หายโรคต่าง ๆ คือมาเรียผู้มีชื่ออีกว่ามัฆดาลา ที่พระองค์ได้ทรงขับผีออกจากเขาเจ็ดผี และโยฮันนาภรรยาของคูซาคนต้นเรือนของเฮโรด และซูซันนา และผู้หญิงอื่น ๆ หลายคนที่เคยปรนนิบัติพระองค์ด้วยการถวายสิ่งของ.” (ลูกา 8:1-3) พระเยซูทรงเต็มพระทัยให้ผู้หญิงเหล่านี้ติดตามพระองค์ไปและใช้สิ่งของที่เขามีอยู่เพื่อการปรนนิบัติพระองค์และพวกอัครสาวกของพระองค์ในสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ด้านวัตถุปัจจัย.
6. (ก) ใครร่วมเดินทางกับพระเยซูระหว่างการเดินทางไปยะรูซาเลมเที่ยวสุดท้าย? (ข) ใครอยู่ใกล้พระเยซูกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์ และบางคนในพวกนั้นได้รับบำเหน็จโดยวิธีใด? (ค) จากแง่มุมของจารีตประเพณีแห่งลัทธิยูดาย อะไรเป็นเรื่องเด่นตามบันทึกที่โยฮัน 20:11-18?
6 เมื่อพระเยซูถูกประหาร “ผู้หญิงหลายคนที่ได้ติดตามพระองค์มาจากฆาลิลายเพื่อจะปรนนิบัติพระองค์ได้มองดูแต่ไกล ๆ ในพวกนั้นมีมาเรียมัฆดาลา มาเรียมารดาของยาโกโบและโยเซ.” (มัดธาย 27:55, 56) ดังนั้น ผู้หญิงที่ซื่อสัตย์หลายคนอยู่ไม่ห่างพระเยซูในเวลาที่พระองค์สิ้นพระชนม์. น่าสนใจด้วยที่ว่าพวกผู้หญิงเป็นพยานกลุ่มแรกที่รู้เห็นการเป็นขึ้นจากตายของพระองค์. (มัดธาย 28:1-10) แค่นี้ก็เป็นการโจมตีประเพณียิวเสียแล้ว เพราะในลัทธิยูดายนั้นถือกันว่าไม่บังควรที่พวกผู้หญิงจะให้การเป็นพยานตามกฎหมาย. เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ โปรดอ่านโยฮัน 20:11-18 แล้วลองสร้างมโนภาพว่ามาเรียมัฆดาลาคงต้องตื่นเต้นประหลาดใจเพียงไรเมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงคืนพระชนม์และได้ปรากฏพระกายให้เธอเห็น ทั้งทรงเรียกชื่อเธอและทรงใช้เธอเป็นพยานไปบอกเล่าให้บรรดาสาวกรู้ว่าพระองค์ทรงมีชีวิตอยู่จริง!
สตรีคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์หลังวันเพ็นเตคอสเต
7, 8. (ก) เราทราบอย่างไรว่ามีสตรีร่วมประชุมอยู่ด้วยเมื่อมีการหลั่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ลงมาในวันเพ็นเตคอสเต? (ข) โดยวิธีใดสตรีคริสเตียนได้ร่วมงานแพร่ศาสนาคริสเตียนในยุคแรก?
7 ภายหลังพระเยซูได้เสด็จสู่สวรรค์แล้ว สตรีผู้เลื่อมใสในพระเจ้าได้อยู่พร้อมหน้ากับอัครสาวก ณ ห้องชั้นบนในกรุงยะรูซาเลม. (กิจการ 1:12-14) ที่ว่ามีผู้หญิงบางคนในท่ามกลางคนทั้งหลายที่ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งหลั่งลงมาเมื่อวันเพ็นเตคอสเตนั้นก็ประจักษ์ชัด. เพราะเหตุใด? เพราะเมื่อเปโตรได้อธิบายถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ท่านได้ยกพระธรรมโยเอล 2:28-30 ซึ่งกล่าวเจาะจงถึง “บุตรี” และ “ทาสี” หรือ “ทาสหญิง.” (กิจการ 2:1, 4, 14–18) ฉะนั้น สตรีคริสเตียนซึ่งได้กำเนิดโดยพระวิญญาณ รับการเจิมจึงเป็นส่วนหนึ่งแห่งประชาคมคริสเตียนนับตั้งแต่เริ่มการวางรากประชาคมทีเดียว.
8 สตรีมีบทบาทสำคัญในการแพร่หลักการคริสเตียน ถึงแม้ไม่มีตำแหน่งเด่นก็ตาม. มาเรีย มารดาของมาระโกและเป็นป้าของบาระนาบาได้ยกบ้านซึ่งดูเหมือนกว้างใหญ่ให้เป็นที่ประชุมสำหรับประชาคมยะรูซาเลม. (กิจการ 12:12) และนางเต็มใจยินดีทำเช่นนี้ในขณะที่การกดขี่ข่มเหงคริสเตียนเพิ่งเริ่มขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ. (กิจการ 12:1-5) ลูกสาวสี่คนของฟิลิปผู้เผยแพร่ก็ได้รับสิทธิพิเศษรับใช้ฐานะเป็นคริสเตียนผู้พยากรณ์.—กิจการ 21:9; 1 โกรินโธ 12:4, 10.
ทัศนะของเปาโลต่อสตรี
9. ในจดหมายฉบับแรกถึงชาวโกรินโธ เปาโลได้ให้คำแนะนำอย่าไรเกี่ยวกับสตรีคริสเตียน และท่านสนับสนุนพวกผู้หญิงให้เคารพหลักการของพระเจ้าข้อใด?
9 บางครั้งอัครสาวกเปาโลถูกกล่าวหาว่าเป็นคนเกลียดผู้หญิงและไม่ไว้ใจผู้หญิง. จริง เปาโลเป็นผู้ยืนกรานว่าผู้หญิงควรรักษาฐานะอันเหมาะสมของตนภายในประชาคมคริสเตียน. ในสภาวะที่ทุกอย่างเป็นปกติ ผู้หญิงย่อมจะไม่ทำการสั่งสอน ณ การประชุมของประชาคม. (1 โกรินโธ 14:33-35) หากเนื่องด้วยไม่มีผู้ชายคริสเตียนอยู่ ณ ที่ประชุมหรือสตรีผู้นั้นกล่าวพยากรณ์ภายใต้แรงกระตุ้นแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ สตรีคริสเตียนที่พูดในการประชุมต้องใช้ผ้าคลุมศีรษะ. ผ้าคลุมนี้เป็น “สัญลักษณ์แห่งอำนาจ” เป็นข้อยืนยันให้ประจักษ์ชัดว่าสตรีผู้นี้ตระหนักถึงการจัดเตรียมของพระเจ้าว่าด้วยความเป็นประมุข.—1 โกรินโธ 11:3-6, 10 (ฉบับแปลใหม่).
10. บางคนกล่าวหาอัครสาวกเปาโลด้วยเรื่องอะไร แต่อะไรพิสูจน์ว่าคำกล่าวหานั้นเป็นเท็จ?
10 ดูเหมือนเปาโลแลเห็นความจำเป็นที่จะเตือนคริสเตียนสมัยแรกให้ระลึกถึงหลักการเหล่านี้ตามระบอบการของพระเจ้าเพื่อว่า ‘ทุกสิ่งจะเป็นอย่างสมควร’ ณ การประชุมประจำประชาคม. (1 โกรินโธ 14:40) แต่ข้อนี้หมายความว่าเปาโลเป็นปรปักษ์กับผู้หญิงตามที่บางคนว่าไหม? ไม่เป็นเช่นนั้น. เปาโลมิใช่หรือที่ได้ปิดท้ายจดหมายของท่านถึงพี่น้องที่กรุงโรมด้วยการฝากความรักอันอบอุ่นไปถึงสตรีคริสเตียนเก้าคน? ท่านมิใช่หรือได้แสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างซาบซึ้งต่อนางฟอยเบ นางปริศกีลา ตรุฟายนาและตรุโฟซา แถมกล่าวถึงสองคนสุดท้ายนี้ว่า “เขาได้ทำการมากมายฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้า”? (โรม 16:1-4, 6, 12, 13, 15) และเปาโลผู้นี้แหละได้เขียนภายใต้การดลใจว่า “เหตุว่าคนทั้งหลายที่รับบัพติสมาเข้าสนิทกับพระคริสต์แล้ว ก็ได้ตกแต่งตัวด้วยพระคริสต์. เพราะเมื่อท่านทั้งหลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระคริสต์นั้น จะเป็นพวกยูดายหรือพวกเฮเลนก็ไม่ได้ จะเป็นทาสหรือเป็นไทยก็ไม่ได้ จะเป็นชายหรือหญิงก็ไม่ได้.” (ฆะลาเตีย 3:27, 28) เห็นได้ชัดว่า เปาโลรักและหยั่งรู้ค่าสตรีคริสเตียนซึ่งเป็นพี่น้องของท่าน นับรวมนางลุเดียที่เป็นตัวอย่างด้านความโอบอ้อมอารีในระหว่างที่ได้รับความยากลำบาก.—กิจการ 16:12-15, 40; ฟิลิปปอย 4:2, 3.
สตรีผู้ได้กระทำการมากมายสมัยนี้
11, 12. (ก) คำกล่าวในบทเพลงสรรเสริญ 68:11 สำเร็จสมจริงตามตัวอักษรในสมัยนี้อย่างไร? (ข) พี่น้องหญิงของเราจำนวนมากกำลังประสบสภาพการณ์เช่นไร และทำไมเขาต้องการความรักใคร่จากเราและการอธิษฐานเผื่อเขา?
11 ภายในประชาคมคริสเตียนสมัยนี้ มีสตรีคริสเตียนจำนวนมาก “ผู้ได้กระทำการมากมายฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้า.” อันที่จริง ตัวเลขแสดงว่า “สตรีที่ประกาศข่าวประเสริฐนั้นเป็นพวกใหญ่” ประกอบกันเป็นส่วนใหญ่แห่งกองทัพพยานซึ่งพระยะโฮวาทรงใช้ในสมัยสุดท้ายนี้. (บทเพลงสรรเสริญ 68:11) สตรีคริสเตียนที่ทำการมากมายเหล่านี้ได้ชื่อเสียงดีสำหรับตัวเอง ขณะที่พวกเขาอุตสาหะพยายามปฏิบัติหน้าที่ของตนฐานะเป็นภรรยา, มารดา, ผู้ดูแลบ้านช่อง, หาเลี้ยงครอบครัว, และยังเป็นคริสเตียนผู้ประกาศแผยแพร่อีกด้วย
12 ในบรรดาพี่น้องหญิงเหล่านี้ที่ประพฤติดี บางคนมีสามีซึ่งนับถือศาสนาต่างกัน. สตรีคริสเตียนประเภทนี้ต้องรับมือกับสภาพการณ์เช่นนี้วันละ 24 ชั่วโมง. บางคนพากเพียรนานหลายปีเพื่อจะเป็นภรรยาที่ดีขณะเดียวกันก็บรรลุข้อเรียกร้องสำหรับผู้รับใช้ที่ภักดีของพระยะโฮวา. ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พวกเขาอดทน หวังอยู่เสมอว่าสามีของตน “แม้นไม่เอ่ยปากเขาก็อาจถูกโน้มน้าว” โดยการประพฤติที่ดีเยี่ยงคริสเตียน. แล้วเมื่อสามีตอบสนองการประพฤติที่ดี ทุกคนในครอบครัวจะร่วมความปีติยินดีด้วยกันมากสักเพียงใด! (1 เปโตร 3:1, 2, ล.ม.) ระหว่างที่ใช้ความเพียรพยายามดังกล่าว พี่น้องหญิงผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ย่อมต้องการความรักใคร่ของพี่น้องและการอธิษฐานเผื่อจากสมาชิกคนอื่น ๆ ในประชาคม. ความพยายามของเขาที่จะแสดง “น้ำใจสงบเสงี่ยมและอ่อนโยน” เช่นนั้น “เป็นสิ่งมีค่ามากในสายพระเนตรของพระเจ้า” ฉันใด ความซื่อสัตย์ภักดีอันมั่นคงของเขาก็มีค่าในสายตาของพวกเราฉันนั้น.—1 เปโตร 3:3-6, ล.ม.
13. ทำไมอาจกล่าวถึงพวกพี่น้องไพโอเนียร์หญิงว่าเป็น “สตรีผู้ทำการมากมายฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้า” และพวกเขาน่าจะได้รับการคำนึงถึงอย่างไรในประชาคมต่าง ๆ ที่เขาร่วมด้วย?
13 พี่น้องหญิงผู้ซึ่งทำงานเป็นไพโอเนียร์ย่อมได้รับการกล่าวถึงด้วยความมั่นใจอย่างยิ่งว่าเขา “กระทำการมากมายฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้า.” หลายคนในกลุ่มนี้มีบ้านมีสามีและบุตรที่ต้องได้ดูแล นอกจากทำงานประกาศสั่งสอน. บางคนแบ่งเวลาทำงานอาชีพเป็นช่วง ๆ เพื่อจะมีปัจจัยพอเพียงกับความจำเป็นของตน. ทั้งหมดนี้จำต้องมีการจัดระบบเป็นอย่างดี มีความตั้งใจแน่วแน่ ทรหดอดทน และขยันขันแข็ง. สตรีคริสเตียนเหล่านี้น่าจะได้รับความรักและการสนับสนุนจากคนเหล่านั้นซึ่งสภาพการณ์ไม่เอื้อให้สละเวลาประกาศให้คำพยานได้หลายชั่วโมงเหมือนไพโอเนียร์.
14. (ก) มีการกล่าวถึงตัวอย่างอะไรอันดีด้านความทรหดอดทน? (ข) มีสตรีคริสเตียนพวกไหนอีกสมควรรับคำชมเชย และทำไม? โปรดยกตัวอย่างที่พบเห็นในประชาคมท้องถิ่น.
14 สตรีคริสเตียนบางคนได้ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นอยู่กับงานรับใช้ประเภทไพโอเนียร์. ที่ประเทศแคนาดา เกรซ ลอนส์บิวรีลองงานไพโอเนียร์ครั้งแรกเมื่อปี 1914. เธอต้องถอนชื่อจากการเป็นไพโอเนียร์ในปี 1918 เนื่องด้วยความเจ็บป่วย แต่พอมาในปี 1924 เธอกลับเข้าสู่งานรับใช้เต็มเวลาอีก. ขณะที่เขียนเรื่องนี้ เธอก็ยังมีรายชื่อเป็นไพโอเนียร์อยู่ ทั้ง ๆ ที่มีอายุ 104 ปีแล้ว! พี่น้องหญิงหลายคนที่เป็นมิชชันนารีรุ่นแรก ๆ เคยเข้ารับการอบรมที่โรงเรียนกิเลียดแห่งสมาคมวอชเทาเวอร์ระหว่างทศวรรษปี 1940 ก็ยังรับใช้ด้วยความซื่อสัตย์ หากไม่ใช่เขตทำงานในต่างประเทศก็ทำงานฐานะเป็นสมาชิกครอบครัวเบเธลในบรุคลีน หรือที่สาขาสมาคมวอชเทาเวอร์แห่งใดแห่งหนึ่ง. สตรีคริสเตียนเหล่านี้ทุกคน และอันที่จริงพี่น้องหญิงทุกคนซึ่งทำงาน ณ สำนักงานเบเธลได้แสดงน้ำใจเสียสละและเป็นตัวอย่างที่ดี. เราเคยบอกเขาว่าเราหยั่งรู้ค่าเขาไหม?
ภรรยาของผู้ดูแลเดินทาง
15, 16. สตรีคริสเตียนกลุ่มไหนที่สมควรได้รับคำชมเชยจากพวกเราเป็นพิเศษ และทำไม?
15 ภรรยาของผู้ดูแลเดินทางก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สมควรได้รับคำชมเชยและการหนุนใจ. พี่น้องหญิงที่รักเหล่านี้เตรียมพร้อมจะติดตามสามีขณะไปเยี่ยมประชาคมหนึ่งแล้วต่อไปอีกประชาคมหนึ่ง หรือจากหมวดหนึ่งไปยังอีกหมวดหนึ่งเพื่อเสริมสร้างพวกพี่น้องให้เข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ. ภรรยาผู้ดูแลเดินทางส่วนใหญ่สละแล้วซึ่งความสะดวกสบายที่จะมีบ้านของตัวเอง พวกเขาย้ายห้องนอนทุกสัปดาห์ และก็มิใช่ว่านอนบนเตียงที่ดีเสมอไป. แต่เขารู้สึกยินดีรับรองเอาสิ่งที่พี่น้องจัดเตรียมไว้ให้. เขาเป็นตัวอย่างอันดีแก่สตรีพี่น้องฝ่ายวิญญาณของเขาด้วย.
16 นอกจากนั้น สตรีคริสเตียนเหล่านี้ยังเกื้อหนุนสามีของตนอย่างประเมินค่าไม่ได้ คงไม่ต่างกันกับผู้หญิงที่เลื่อมใสในพระเจ้าซึ่งติดตามพระเยซู “ได้ปรนนิบัติพระองค์.” (มาระโก 15:41) ภรรยาเหล่านี้ไม่สามารถใช้เวลามากอยู่กับสามีเป็นส่วนตัว เพราะสามี ‘มีงานขององค์พระผู้เป็นเจ้าบริบูรณ์ทุกเวลา.’ (1 โกรินโธ 15:58) บางคนในพวกเขา เช่น โรซา ซูมีกา ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นต้น ซึ่งเข้าสู่งานรับใช้เต็มเวลาเมื่อปี 1948 สตรีเหล่านี้ได้ช่วยจัดกระเป๋าเดินทางให้สามีแถมร่วมเดินทางไปด้วยตลอดเวลา 30-40 ปี. คนเหล่านี้เต็มใจเสียสละเพื่อพระยะโฮวาและเพื่อพี่น้องชายหญิงของตน. สมควรที่เราจะแสดงการหยั่งรู้ค่าและความรักต่อพวกเขา และอธิษฐานเผื่อเขา.
ภรรยาของผู้ปกครอง
17, 18. (ก) คุณสมบัติประการใดบ้างเป็นข้อเรียกร้องสำหรับภรรยาของพี่น้องชายที่ถูกแต่งตั้งทำหน้าที่รับใช้? (ข) ภรรยาพวกผู้ปกครองยินยอมเต็มใจเสียสละอะไรเพื่อพระยะโฮวาและเพื่อพวกพี่น้องของตน และสตรีอื่น ๆ ในฐานะเป็นภรรยาสามารถช่วยสามีของตนอย่างไร?
17 ขณะที่มีการระบุคุณสมบัติของพี่น้องชายผู้ซึ่งอาจได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองหรือผู้รับใช้ อัครสาวกเปาโลก็ได้กล่าวถึงผู้หญิงด้วยเช่นกัน ท่านเขียนว่า “ฝ่ายพวกผู้หญิงก็เหมือนกันต้องเป็นคนสง่าผ่าเผย ไม่เป็นคนใส่ความเท็จ รู้จักประมาณตนในการกินดื่ม และเป็นคนสัตย์ซื่อในสิ่งทั้งปวง.” (1 ติโมเธียว 3:11) จริงอยู่ คำแนะนำโดยทั่วไปใช้ได้กับสตรีคริสเตียนทุกคน. แต่เมื่อคำนึงถึงบริบท เห็นชัดว่าภรรยาของพี่น้องชายซึ่งได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งงานรับใช้จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ในทางที่เป็นตัวอย่าง.
18 เป็นที่น่ายินดี ภรรยาของคริสเตียนผู้ดูแลหลายพันคนทำอย่างนี้. พวกเขาประมาณตนในการกินดื่มและการแต่งกาย พวกเขาดำเนินชีวิตแบบคริสเตียนอย่างเอาจริงเอาจัง ระมัดระวังคำพูดของตน และมุ่งมั่นด้วยความจริงใจจะเป็นคนสัตย์ซื่อในทุกสิ่ง. อนึ่ง พวกเขาพร้อมจะยอมเสียสละหลายอย่าง ยอมรับว่าสามีของตนได้อุทิศเวลาให้กับงานประชาคมแทนที่จะใช้เวลานั้นกับตน. สตรีคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ควรได้รับความรักอันอบอุ่นและการหนุนใจจากพวกเรา. บางทีอาจมีพี่น้องชายอีกหลายคนจะสามารถเอื้อมแขนออกไปยังสิทธิพิเศษต่าง ๆ ในประชาคมมากมายของเรา ถ้าภรรยาของเขาจะยอมเสียสละดังกล่าวด้วยใจถ่อมเพื่อสวัสดิภาพของทุกคน.
“สตรีสูงอายุ” ที่ซื่อสัตย์
19. เพราะเหตุใดพี่น้องในประชาคมจึงหยั่งรู้ค่า “ผู้หญิงสูงอายุ” ผู้ซื่อสัตย์หลายคน และพวกเราควรแสดงความรู้สึกเช่นไรต่อผู้สูงอายุเหล่านั้น?
19 การที่เราทบทวนเรื่องของสตรีที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ทำให้เราเห็นว่าอายุไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อสตรีผู้มีความเชื่อจนถึงกับจะปฏิบัติพระยะโฮวาไม่ได้. ข้อเท็จจริงนี้เห็นจากตัวอย่างของนางซารา เอลิซาเบ็ตและนางอันนา. ทุกวันนี้ สตรีคริสเตียนหลายคนซึ่งมีอายุล่วงเข้าวัยชราเป็นตัวอย่างที่ดีด้านความเชื่อและความอดทน. นอกจากนั้น สตรีเหล่านี้ด้วยความสุขุมได้ให้การสนับสนุนผู้ปกครองโดยการช่วยเหลือพี่น้องหญิงที่อายุน้อยกว่า. อาศัยการผ่านชีวิตมานาน พวกเขาสามารถให้คำแนะนำดี ๆ แก่พี่น้องหญิงอายุน้อยกว่า เป็นดังที่คัมภีร์ไบเบิลมอบอำนาจให้เขาทำอย่างนั้นทีเดียว. (ติโต 2:3-5) อาจเป็นได้ว่าบางครั้งก็จำเป็นที่พี่น้องหญิงสูงอายุพึงรับคำแนะนำเสียเอง. เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ปกครองที่ให้คำแนะนำจึงควร ‘ตักเตือนเหมือนเป็นมารดา.’ ผู้ปกครองควร “นับถือแม่ม่าย” และ ถ้าเห็นว่าจำเป็นก็ควรจัดการช่วยเหลือทางด้านวัตถุปัจจัย. (1 ติโมเธียว 5:1-3, 5, 9, 10) แน่นอน พี่น้องหญิงผู้สูงอายุซึ่งเป็นที่รักของเราย่อมปรารถนาจะเป็นที่ยอมรับและต้องการให้คนอื่นพอใจยินดีในตัวเขา.
ผู้ร่วมการปกครองกับพระคริสต์
20. สตรีคริสเตียนจำนวนไม่น้อยได้รับการเสนอสิทธิพิเศษอันเยี่ยมยอดอะไร และทำไมแกะอื่นจึงปลาบปลื้มกับเรื่องนี้?
20 จากพระคัมภีร์เห็นชัดแจ้งว่า “พระเจ้ามิได้ทรงเห็นแก่หน้าผู้ใดเลย” ไม่ว่าทางเชื้อชาติหรือเพศ. (โรม 2:10, 11; ฆะลาเตีย 3:28) และเป็นความจริงเช่นนั้นเกี่ยวด้วยวิธีที่พระยะโฮวาทรงเลือกสรรผู้ซึ่งจะร่วมสมทบกับพระบุตรปกครองราชอาณาจักร. (โยฮัน 6:44) ชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่นย่อมจะปลาบปลื้มยินดีเพียงไรเมื่อบรรดาสตรีที่ซื่อสัตย์ เช่นมาเรีย มารดาพระเยซู, มาเรียมัฆดาลา, ปริศกีลา, ตรุฟายนา, ตรุโฟซา, และอีกมากมายในประชาคมคริสเตียนสมัยต้น ๆ บัดนี้ร่วมปกครองราชอาณาจักร. พวกเขาส่งเสริมรัฐบาลของพระคริสต์ด้วยความเข้าใจอันลึกซึ้งเกี่ยวกับความรู้สึก อารมณ์และประสบการณ์ของสตรีเพศ! พระยะโฮวาทรงเห็นการณ์ไกลและทรงพระปรีชาญาณเสียนี่กระไร!—โรม 11:33-36.
21. ทุกวันนี้พวกเรารู้สึกอย่างไรต่อ “สตรีผู้ทำการมากมายฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้า”?
21 พวกเราสมัยนี้อาจร่วมความรู้สึกของอัครสาวกเปาโลเมื่อท่านพูดด้วยความรักและการหยั่งรู้ค่าถึง ‘ผู้หญิงเหล่านั้นที่ทำการประกาศกิตติคุณด้วยกันกับข้าพเจ้า.’ (ฟิลิปปอย 4:3) พยานพระยะโฮวาทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิง พากันยอมรับว่าเป็นความยินดีและเป็นสิทธิพิเศษที่จะทำการงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับ ‘สตรีหมู่ใหญ่ประกาศข่าวประเสริฐ’ ใช่แล้ว “สตรีที่ทำการมากมายฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 68:11; โรม 16:12.
คำถามทบทวน
▫ พระเยซูทรงแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระองค์ไม่มีอคติต่อผู้หญิง อย่างที่พวกผู้นำศาสนาชาวยิวมี?
▫ พวกผู้หญิงที่เกรงกลัวพระเจ้าได้ปรนนิบัติพระเยซูโดยวิธีใด และผู้หญิงบางคนได้รับสิทธิพิเศษที่ดีเยี่ยมอะไร?
▫ เปาโลได้ให้คำแนะนำอะไรเกี่ยวด้วยพวกผู้หญิงในการประชุมประจำประชาคม?
▫ พี่น้องหญิงประเภทใดบ้างสมควรได้รับความรักและการเกื้อหนุนจากพวกเราเป็นพิเศษ และเพราะเหตุใด?
▫ พวกเราควรแสดงความรู้สึกเช่นไรต่อทุกคนซึ่งเวลานี้เป็น “สตรีผู้ทำการงานมากมายฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้า”?
[รูปภาพหน้า 16, 17]
เหล่าสตรีได้ปรนนิบัติพระเยซูและอัครสาวกของพระองค์
[รูปภาพหน้า 18]
ภรรยาของผู้ดูแลเดินทางและภรรยาของผู้ปกครองคนอื่น ๆ ซึ่งได้เสียสละตนเองนั้นให้การสนับสนุนอันมีคุณค่าต่อกิจการของพระเจ้า