ฝักใฝ่อย่างจริงจังในข่าวดี
อัครสาวกเปาโลอยู่ในสภาพอับจนซึ่งเป็นที่รู้กันสำหรับพยานพระยะโฮวาซึ่งเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา—ท่านมีเงินทุนเหลือน้อย. ดังนั้น ในเมืองโกรินโธท่านดำเนินอาชีพทำกระโจมอันต่ำต้อยซึ่งท่านได้เรียนรู้ขณะเป็นหนุ่ม. เป็นงานที่ลำบาก และบางครั้งมือของท่านอาจมีเลือดออกเนื่องจากการจับต้องผ้ากระโจมที่สาก. รายได้แทบจะไม่พอสำหรับอาหารและเครื่องนุ่งห่มของท่าน แต่ทว่าท่านก็อิ่มเอิบใจ เพราะเมื่องานฝ่ายโลกของท่านเสร็จลงในแต่ละวัน ท่านวางเครื่องมือสำหรับอาชีพของท่านลง แล้วทำสิ่งที่ท่านมาเมืองโกรินโธเพื่อทำให้เป็นอันดับแรก—ท่านประกาศข่าวดี!—ฟิลิปปอย 4:11, 12.
เมื่อถึงวันซะบาโต เปาโลบ่ายหน้าไปยังธรรมศาลา. จริงอยู่ ทีแรกเปาโลเข้าหาผู้ฟังชาวโกรินโธ “[ในสภาพ] อ่อนกำลัง มีความกลัวและหวาดหวั่นมาก.” (1 โกรินโธ 2:1, 3) แต่เมื่อได้รับการกระตุ้นจากการที่บางคนตอบรับเอาข่าวสารของท่าน เปาโลจึง “ให้คำบรรยายในธรรมศาลาทุก ๆ วันซะบาโต และจะโน้มน้าวใจชาวยิวและชาวกรีก.”—กิจการ 18:1-4, ล.ม.
แต่ชั่วระยะหนึ่ง เปาโลทำได้ไม่มากไปกว่าการประกาศบางเวลา. ครั้นแล้ว ซีลากับติโมเธียวได้ลงมาจากมณฑลมากะโดเนีย พร้อมกับของบริจาคอย่างใจกว้างที่ ‘เจือจานให้พอแก่ความต้องการของท่าน.’ (2 โกรินโธ 11:9; ฟิลิปปอย 4:15) นอกจากนี้ ที่ทำให้มีกำลังใจด้วย คือข่าวที่ว่าพวกพี่น้องในเมืองเธซะโลนิเกยืนหยัดมั่นคงทั้ง ๆ ที่มีการข่มเหง.—1 เธซะโลนิเก 3:6.
ผลกระทบต่อเปาโลล่ะ? “เปาโลก็เริ่มฝักใฝ่อย่างจริงจังในพระคำ [อุทิศเวลาทั้งหมดของท่านให้กับการประกาศ,” เจรูซาเลม ไบเบิล; ทูเดย์ส อิงลิช เวอร์ชัน ] ให้คำพยานแก่พวกยิวเพื่อพิสูจน์ว่าพระเยซูคือพระคริสต์.” (กิจการ 18:5, ล.ม.) โดยได้รับการปลดเปลื้องจากความกดดันทางการเงินชั่วขณะหนึ่ง เปาโลไม่พอใจจนกว่าท่านได้กลับไปสู่การประกาศเต็มเวลา. ท่านกลับไปสู่งานนี้อย่างมีชีวิตชีวา ไม่เฉพาะแต่ประกาศแก่พวกยิวเท่านั้น แต่ถึงกับใช้เวลาเพื่อเขียนสารที่ได้รับการดลบันดาลฉบับแรกของท่าน—จดหมายถึงชาวเธซะโลนิเก!
แบบอย่างสำหรับพวกเราในปัจจุบัน
ประวัติบันทึกเกี่ยวกับการงานอย่างจริงจังของเปาโลในเมืองโกรินโธได้รับการปกปักรักษาไว้เพื่อที่จะสนับสนุนคริสเตียนทุกคนให้หมกมุ่นอย่างจริงเอาจังกับข่าวดี. เปาโลได้ตระหนักว่าพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าเองได้ทรงมอบเกียรติอันสูงส่งให้แก่พวกสาวกของพระองค์ในการเป็น “ความสว่างของโลก.” พวกเขาต้องไม่ปิดบังความสว่างนี้. พระเยซูได้แจ้งแก่พวกเขาว่า “ให้ความสว่างของท่านส่องไปต่อหน้าคนทั้งปวงอย่างนั้น เพื่อเขาจะได้เห็นการดีของท่าน แล้วจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้อยู่ในสวรรค์.” (มัดธาย 5:14-16) ทั้งนี้หมายถึงการมีส่วนอย่างเต็มที่ในงานประกาศตามที่พระเยซูทรงบอกไว้ล่วงหน้า. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20; กิจการ 1:6-8) การประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้เป็นเหตุผลสำคัญสำหรับการดำรงอยู่ของประชาคมคริสเตียน.
เช่นเดียวกับเปาโล คริสเตียนรุ่นแรกถือเอางานประกาศนี้อย่างจริงจัง. ด้วยเหตุนี้ เมื่อพวกศัตรูของพระเจ้าคิดว่าพวกเขาได้ดับความสว่างแท้เสียโดยการประหาร “เจ้าชีวิต” อย่างทารุณนั้น บรรดาสาวกของพระองค์ดำเนินต่อไปฐานะความสว่างของโลก ประกาศอย่างกระฉับกระเฉง. (กิจการ 3:15) แม้แต่การข่มเหงก็มิได้ทำให้ความพยายามของพวกเขาหยุดชะงัก. บันทึกของพระคัมภีร์แจ้งว่า “เขาทั้งหลายจึงทำการสั่งสอนและประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูคริสต์ในพระวิหารและตามบ้านเรือนทุกวันเรื่อยไปมิได้ขาด.” (กิจการ 5:42, ล.ม.) ไม่มีสิ่งใดเหนี่ยวรั้งพวกเขาไว้ได้.
ในสมัยปัจจุบัน คริสเตียนฝักใฝ่อย่างจริงจังในกิจการให้คำพยานเช่นเดียวกัน. ใกล้ตอนสิ้นศตวรรษที่ 19 พวกนักศึกษาพระวจนะของพระเจ้าที่ซื่อตรงเริ่มแลเห็นความจำเป็นที่จะแบ่งปันสัจธรรมของพระคัมภีร์ให้กับคนอื่น ๆ. สมาคมไซออนส์ วอช เทาเวอร์ แทรกท์—องค์การหนึ่งที่บัดนี้มีขอบเขตระดับนานาชาติ—ได้ถูกตั้งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายในปี 1884. นักศึกษาพระคัมภีร์เหล่านี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักฐานะพยานพระยะโฮวาตั้งแต่ปี 1931 ได้ทำให้แผ่นดินโลกเต็มด้วยความรู้เกี่ยวกับพระวจนะของพระเจ้าอย่างแท้จริง. การฝักใฝ่อย่างจริงจังของพวกเขาได้ก่อผลด้วยกองทัพใหญ่ที่มีจำนวนถึงมากกว่าสี่ล้านคน. และไม่ต้องสงสัยว่าจำนวนของพวกเขาจะเพิ่มทวีขึ้นเรื่อย ๆ ภายใต้การบัญชาของพระยะโฮวา.—ยะซายา 60:22.
คุณกำลังทำส่วนของคุณไหม?
พระเยซูตรัสว่า “การเกี่ยวนั้นเป็นการใหญ่นักหนา แต่คนทำการยังน้อยอยู่.” (มัดธาย 9:37, 38) ในปี 1990 เกือบสิบล้านคนเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์เกี่ยวกับการวายพระชนม์ของพระคริสต์. ช่างมีศักยภาพอันเยี่ยมยอดอะไรเช่นนี้สำหรับการเก็บเกี่ยวทั่วโลกที่เพิ่มทวีขึ้น! แต่ขณะที่ชื่นชมในการขยายตัวต่อไปเช่นนี้ แต่ละคนต้องถามตัวเองว่า ‘ฉัน มีส่วนในงานอันยิ่งใหญ่นี้ถึงขีดไหน? ฉันทำเช่นนั้นเป็นประจำ—ถ้าเป็นได้ทุกสัปดาห์ไหม?
พวกผู้ปกครองต้องนำหน้าในงานนี้ ฐานะเป็น “แบบอย่างแก่ฝูงแกะ.” (1 เปโตร 5:3) จริงอยู่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีงานอาชีพฝ่ายโลก. อัครสาวกเปาโลก็เป็นเช่นนั้นระหว่างอยู่ในเมืองโกรินโธ. กระนั้น ท่านได้กันเวลาไว้สำหรับกิจการงานประกาศเป็นประจำ. ผู้ปกครองหลายคนในทุกวันนี้ก็ฝักใฝ่อย่างจริงจังในกิจการงานฝ่ายวิญญาณในปลายสัปดาห์เช่นเดียวกัน. นี้อาจมีผลกระทบที่เต็มด้วยพลังและหนุนกำลังใจต่อทุกคนในประชาคม. ในบางเดือน เมื่อมีการออกความพยายามเป็นพิเศษ หลายประชาคมทีเดียวมีผู้ประกาศส่วนใหญ่อยู่ในการรับใช้ประเภทไพโอเนียร์. เคล็ดลับล่ะ? พวกผู้ปกครองนำหน้าทั้งในการประกาศและในการจัดระเบียบการจัดเตรียมการรับใช้ตามบ้าน.
ผู้รับใช้ที่ได้รับการแต่งตั้งอาจเป็นอิทธิพลในทางดีต่อประชาคมเช่นเดียวกันหากเขามีส่วนเป็นประจำในการรับใช้ตามบ้าน. โปรดจำไว้ว่า พระคัมภีร์เรียกร้องให้เขา “เอาจริงเอาจัง . . . [เป็น] ชายที่รับใช้อย่างดีงาม.” (1 ติโมเธียว 3:8, 13, ล.ม.) ความซื่อสัตย์ในการรับใช้ตามบ้านสำคัญยิ่งเพื่อพี่น้องชายจะมีคุณวุฒิฐานะผู้ปกครองหรือผู้รับใช้.—ติโต 1:8, 9.
เช่นเดียวกับเปาโล บางคนสามารถลดงานฝ่ายโลกลง และโดยวิธีนี้จึงเป็นไพโอเนียร์ได้. จำนวนของไพโอเนียร์ประจำ ไพโอเนียร์สมทบ และไพโอเนียร์พิเศษได้เพิ่มขึ้นจาก 137,861 คนในสิบปีที่แล้วมาเป็น 536,508 คนในปี 1990. แน่นอน เฉพาะแต่พระพรและความพอพระทัยของพระยะโฮวาเท่านั้นที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้. แต่พวกไพโอเนียร์ต้องระมัดระวังที่จะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ไม่เพียงแต่นับเวลา. ไพโอเนียร์ทั้งหลาย คุณเตรียมตัวอย่างดีและบังเกิดผลในงานรับใช้ไหม? คุณพยายามที่จะทำการปรับปรุงอยู่เรื่อยไปเพื่อว่างานรับใช้ของคุณจะเกิดผลจริง ๆ ไหม?
บำเหน็จของงานรับใช้ที่สมดุล
คุณหยั่งรู้ค่าความรู้ที่ค้ำจุนชีวิตที่มีการเสนอแต่ละเดือนในหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด วารสารที่ออกคู่กันนั้นไหม? คุณคงหยั่งรู้ค่าแน่ ๆ. ความหยั่งรู้ค่าของคุณกระตุ้นให้คุณมีส่วนในการจำหน่ายวารสารเหล่านี้ไหม? ซิสเตอร์คนหนึ่งในประเทศบอตสวานาได้ทำเช่นนั้น. แต่ก่อน เธอต่อต้านความจริง แต่สามีของเธออ่านจากวารสารให้เธอฟัง. ในที่สุด เธอได้เปลี่ยนใจ แล้วเข้ามาเป็นพยานฯ. ถึงแม้ไม่รู้หนังสือ เธอก็ได้ประสบผลสำเร็จทีเดียวในการจำหน่ายวารสาร โดยบอกว่า “ดิฉันไม่ทราบวิธีอ่าน แต่สามีอ่านวารสารเหล่านี้ให้ดิฉันฟัง. ดิฉันชอบวารสารเหล่านี้ และดิฉันแน่ใจว่าคุณคงจะชอบด้วย.”
ไฉนจึงไม่เข้าร่วมทุกสัปดาห์ในงานที่ช่วยชีวิตให้รอดนี้ล่ะ? ทันทีที่คุณมีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณ ประชาคมคริสเตียนจะยินดีช่วยคุณให้เริ่มต้น. อย่างไรก็ดี การจำหน่ายวารสารเป็นเพียงลักษณะหนึ่งของการรับใช้. ใคร ๆ ที่หมกมุ่นอย่างเอาจริงเอาจังกับข่าวดีย่อมพยายามจะมีการรับใช้ที่สมดุล. ตัวอย่างเช่น สมาคมวอชเทาเวอร์พิมพ์หนังสือปกแข็งนับล้าน ๆ เล่ม และมีการเสนอหนังสือเหล่านี้แก่สาธารณชน ฐานะเป็นแหล่งแห่งอาหารฝ่ายวิญญาณแบบถาวรกว่า. คุณเชี่ยวชาญในงานรับใช้พอที่จะเสนอหนังสือ อย่างเช่น ท่านจะมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลก ไหม?
และจะว่าอย่างไรเกี่ยวกับประชาชนที่แสดงความสนใจ? คุณเก็บบันทึกอย่างดีเพื่อจะทำการกลับเยี่ยมเยียนพวกเขาไหม? การเยี่ยมเยียนดังกล่าวอาจนำไปสู่ลักษณะแห่งการรับใช้ที่นำความยินดีมากที่สุดมาให้—การศึกษาตามบ้าน. โปรดจำไว้ว่า พระเยซูทรงรับสั่งแก่พวกเราที่มัดธาย 28:19, 20 ให้ ‘ทำคนเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมา.’ นั่นหมายถึงการศึกษาพระคัมภีร์กับเขา. จริงอยู่. การเริ่มต้นการศึกษาพระคัมภีร์บ่อยครั้งจำเป็นต้องใช้ความพากเพียร. พยานฯ คนหนึ่งได้พบสามีภรรยาสูงอายุคู่หนึ่งซึ่งยินยอมอย่างจริงใจที่จะศึกษาพระคัมภีร์ที่บ้าน. แต่เขาเลื่อนการศึกษาไปสามสัปดาห์ติด ๆ กัน. ในที่สุด การศึกษาได้เริ่มขึ้น. ครั้นแล้ว ชั่วระยะหนึ่ง คู่นั้นได้งดการศึกษาเกือบทุก ๆ สองสัปดาห์. แต่ในที่สุดภรรยาก้าวหน้าถึงขั้นการรับบัพติสมา. พี่น้องหวนรำลึกว่า “หลังจากได้รับบัพติสมา ดวงตาของเธอคลอด้วยน้ำตาแห่งความสุขเบิกบานซึ่งทำให้ทั้งผมกับภรรยาน้ำตาไหลด้วยความสุข.” ถูกแล้ว การฝักใฝ่อย่างจริงจังในข่าวดีนำความยินดีเป็นล้นพ้นมาให้!
จงทำตัวให้อยู่พร้อม!
พระเยซูคริสต์และอัครสาวกเปาโลได้วางแบบอย่างอันดีงามเกี่ยวกับความเลื่อมใสศรัทธาไว้ให้เราเอาอย่าง. และเรามีตัวอย่างอันดีเยี่ยมมากมายในท่ามกลางพยานพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบัน. ถึงเวลาที่ทุกคนซึ่งทราบข่าวดีจะเอาการเอางานอย่างเต็มที่ในการประกาศข่าวนั้นแก่คนอื่น ๆ. พระคัมภีร์รับรองกับเราว่า งานดังกล่าวทั้งหมดนั้น “จะไร้ประโยชน์ก็หามิได้.”—1 โกรินโธ 15:58.
เช่นเดียวกับเปาโล คนส่วนใหญ่มีพันธะทางการเงินที่ต้องเผชิญ. เนื่องจากเหตุนี้ หลายคนอาจไม่สามารถเป็นไพโอเนียร์ได้. แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา ทุกคนสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำที่ดีซึ่งให้ไว้ที่โรม 12:11 [ล.ม.] ที่ว่า “อย่าไถลในการงานของท่าน. จงรุ่งโรจน์ด้วยพระวิญญาณ. จงทำงานอย่างทาสแด่พระยะโฮวา.” และถ้าหากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปแล้วอำนวยให้ใช้เวลามากขึ้นได้ในการรับใช้พระยะโฮวาแล้ว ผู้ใดที่รักพระยะโฮวาอย่างแท้จริงก็จะฉวยโอกาส เช่นเดียวกับเปาโล. จงฝักใฝ่อย่างจริงจังในข่าวดี! การทำเช่นนั้นจะไม่เพียงแต่นำพระพรมาให้ในขณะนี้เท่านั้น หากแต่ในวันข้างหน้าจะยังผลด้วยชีวิตนิรันดร์พร้อมด้วยความยินดีและความสุขไม่รู้สิ้นสุด.—มัดธาย 19:28, 29!