เหตุใดจึงสวมใส่ความถ่อมใจ?
เอ็ดการ์ อัลแลน โพ นักประพันธ์ชาวอเมริกันเพิ่งอ่านนิยายเรื่องใหม่ของเขาให้เพื่อน ๆ บางคนฟัง. พวกเขาพูดอย่างล้อเล่นว่าเขาใช้ชื่อของพระเอกบ่อยเกินไป. โพมีปฏิกิริยาอย่างไร? เพื่อนคนหนึ่งหวนรำลึกว่า “น้ำใจหยิ่งยโสของเขาจะไม่ยอมทนกับการตำหนิอย่างตรงไปตรงมาเช่นนั้น ดังนั้น ด้วยความโมโห เขาได้โยนทุกหน้าของหนังสือนั้นลงไปในไฟที่ลุกโพลงอยู่ ก่อนที่เพื่อน ๆ จะยับยั้งเขาไว้ได้.” นิยายที่ “น่าสนุกเพลิดเพลินอย่างที่สุด ปราศจากความเศร้าหมองซึ่งเป็นปกติธรรมดาของเขาอย่างสิ้นเชิงนั้น” ได้สูญเสียไป. ความถ่อมใจอาจช่วยรักษาเรื่องนั้นไว้ได้.
ถึงแม้ความหยิ่งยโสเป็นเหตุให้คนทำสิ่งที่ไม่ฉลาดก็ตาม ความหยิ่งเช่นนั้นก็ มีแพร่หลายในโลก. แต่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาต้องต่างออกไป. พวกเขาต้องสวมใส่อาภรณ์แห่งความถ่อมใจที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี.
ความถ่อมใจคืออะไร?
อัครสาวกเปาโลพูดเป็นนัยถึงอาภรณ์คริสเตียนอันงดงามเกี่ยวกับความถ่อมใจ เมื่อท่านเขียนถึงเพื่อนร่วมความเชื่อในเมืองโกโลซายโบราณ. ท่านได้เร้าใจว่า “ในฐานะเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร บริสุทธิ์และเป็นที่รัก จงสวมความเอ็นดูอย่างลึกซึ้ง ความกรุณา ใจถ่อม ความอ่อนสุภาพ และความอดกลั้นไว้นาน.”—โกโลซาย 3:12, ล.ม.
ถูกแล้ว ความถ่อมใจคือ “ใจถ่อม.” เป็น “จิตใจที่อ่อนน้อม ขาดความหยิ่งยโส อ่อนโยน.” บุคคลที่ถ่อมใจ “มีน้ำใจที่เจียมตัว ไม่หยิ่งยโส.” เขา “มีความนับถืออย่างสุดซึ้งหรืออย่างนอบน้อม.” (เดอะ เวิลด์ บุค ดิกชันนารี, เล่ม 1, หน้า 1030) ความถ่อมใจมิใช่ความขี้ขลาดหรือความอ่อนแอ. ที่จริง ความหยิ่งยโสสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอ ส่วนการแสดงความถ่อมใจเรียกร้องเอาความกล้าหาญและความเข้มแข็งอยู่เนือง ๆ.
ในพระคัมภีร์ คำภาษาฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “ถ่อมตัวลง” หมายความตามตัวอักษรว่า “กด [เหยียบย่ำ] ตัวเองลง.” ฉะนั้น ผู้เขียนสุภาษิตที่ฉลาดสุขุมได้แนะนำว่า “บุตรชายของเราเอ๋ย . . . ถ้าเจ้าติดกับเพราะคำพูดของเจ้า . . . ช่วยตัวเจ้าให้รอดเถิด เพราะเจ้าตกอยู่ในกำมือเพื่อนบ้านของเจ้าแล้ว ไป [ถ่อมตัวเจ้าลง, ล.ม. กดตัวเจ้าลง] รีบไปวิงวอนเพื่อนบ้านของเจ้า.” (สุภาษิต 6:1-3, ฉบับแปลใหม่) นั่นคือทิ้งความหยิ่งยโสไปเสีย ยอมรับข้อผิดพลาดของคุณ จัดการเรื่องให้เรียบร้อย.
ต้องเป็นแบบจริงใจ
ใช่ว่าทุกคนที่ดูท่าว่าถ่อมนั้นมีความถ่อมใจอันแท้จริง. ปัจเจกบุคคลบางคนที่มีทีท่าถ่อมนั้นอาจเป็นคนหยิ่งยโสจริง ๆ ก็ได้ และจะทำอะไรก็ตามเพื่อได้สิ่งที่เขาต้องการ. นอกจากนี้ ยังมีคนเหล่านั้นที่ใช้เครื่องปกคลุมแห่งความถ่อมใจจอมปลอมเพื่อทำให้คนอื่นประทับใจ. อาทิ อัครสาวกเปาโลเผชิญหน้ากับบางคนที่ “ทำทีถ่อมตัว” และท่านได้ชี้แจงว่าใคร ๆ ที่กระทำเช่นนี้ที่แท้แล้ว เขา “พองตัวโดยใช่เหตุตามความคิดฝ่ายเนื้อหนังของตน.” บุคคลดังกล่าวเข้าใจอย่างผิด ๆ ว่าการได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าขึ้นอยู่กับการที่เขากิน, ดื่ม, หรือแตะต้องบางสิ่ง หรือถือรักษาวันทางศาสนาหรือไม่. จริงอยู่ เขาอาจมีท่าว่าเลื่อมใสศรัทธาและถ่อม แต่ความถ่อมใจแบบจอมปลอมของเขาไม่มีค่า. (โกโลซาย 2:18, 23, ล.ม.) ที่จริง นั่นชักนำเขาให้คิดว่ารางวัลเกี่ยวกับชีวิตนั้นมอบให้แก่คนเหล่านั้นที่ละทิ้งสิ่งฝ่ายวัตถุ. นั่นแพร่เชื้อลัทธิวัตถุนิยมแบบเร้นลับด้วย เพราะข้อห้ามแบบถือสันโดษเพ่งเล็งความสนใจในสิ่งฝ่ายวัตถุซึ่งเขาอ้างว่ารังเกียจ.
อีกด้านหนึ่ง ความถ่อมใจแท้ข่มห้ามคนเราไว้จากการแสดงว่าตัวเองสำคัญโดยเครื่องแต่งกาย การประดับตัวและวิถีชีวิต. (1 โยฮัน 2:15-17) บุคคลที่สวมอาภรณ์แห่งความถ่อมใจมิได้ดึงความสนใจอย่างไม่บังควรมาสู่ตัวเองหรือความสามารถของเขา. ถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว ความถ่อมใจช่วยเขาให้ปฏิบัติกับคนอื่น ๆ ด้วยท่าทีเห็นอกเห็นใจ และให้มองดูตัวเองอย่างที่พระเจ้าทรงมองดูเขา. และเป็นเช่นนั้นอย่างไร?
ทัศนะของพระยะโฮวา
เมื่อผู้พยากรณ์ซามูเอลกำลังจะแต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่สำหรับชาติยิศราเอลนั้น ท่านคิดว่าเอลีอาบ บุตรชายของดาวิดเป็นผู้ที่พระยะโฮวาทรงเลือก. แต่พระเจ้าตรัสแก่ซามูเอลว่า “อย่ามองดูที่รูปร่างหรือที่ความสูงของเขา ด้วยเราปฏิเสธเขา. เพราะพระเจ้าทอดพระเนตรไม่เหมือนกับที่มนุษย์ดู เพราะมนุษย์ดูสิ่งที่ปรากฏแก่ตา แต่พระยะโฮวาทรงทอดพระเนตรดูว่าหัวใจเป็นอย่างไร.” บุตรชายเจ็ดคนของยิซัยได้รับการปฏิเสธ. คนที่พระเจ้าทรงเลือกก็คือดาวิด ผู้ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นบุรุษผู้มีความซื่อสัตย์และความถ่อมใจ.—1 ซามูเอล 13:14; 16:4-13, ล.ม.
อาภรณ์แห่งความถ่อมใจป้องกันเราไว้จากการเป็นคนหยิ่งยโส ถือวิสาสะ—และได้รับความไม่พอพระทัยจากพระเจ้า. พระองค์ “ทรงต่อต้านผู้ที่หยิ่งยโส แต่พระองค์ทรงประทานพระกรุณาอันไม่พึงได้รับแก่ผู้ที่ถ่อมใจ.” (ยาโกโบ 4:6, ล.ม.) ทัศนะของพระองค์ปรากฏอยู่ในถ้อยคำของผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญที่ว่า “พระยะโฮวาผู้เป็นใหญ่ยิ่ง พระองค์ยังทรงระลึกถึงคนต่ำต้อย แต่คนจองหองนั้นพระองค์ทรงรู้จักแต่เผิน ๆ.” (บทเพลงสรรเสริญ 138:6; 1 เปโตร 5:5, 6) สิ่งที่พระเจ้าทรงคาดหมายจากผู้รับใช้ของพระองค์นั้นปรากฏชัดจากคำถามนี้ ที่ตั้งไว้ในมีคา 6:8 ที่ว่า “พระยะโฮวาทรงพระประสงค์อะไรจากท่านเล่า นอกจากทำการยุติธรรม และรักความเมตตากรุณา และดำเนินชีวิตอย่างสุภาพเคียงคู่กันไปกับพระเจ้าของท่าน?”
แสดงออกโดยพระเจ้าและพระคริสต์
ไม่น่าแปลกใจเลยพระยะโฮวาทรงคาดหมายให้เราแสดงความถ่อมใจ! นั่นเป็นคุณลักษณะประการหนึ่งของพระองค์เอง. ภายหลังที่พระเจ้าทรงช่วยท่านให้รอดพ้นจากพวกศัตรูของท่านแล้ว ดาวิดได้ร้องเพลงว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] ได้ทรงประทานความรอดของพระองค์ให้เป็นโล่ห์แก่ข้าพเจ้าด้วย . . . และซึ่งพระองค์ทรงน้อมพระทัย [ความถ่อมใจของพระองค์, ล.ม.] กระทำให้ข้าพเจ้าเป็นใหญ่ขึ้นแล้ว.” (บทเพลงสรรเสริญ 18:35; 2 ซามูเอล 22:1, 36) ถึงแม้พระยะโฮวาประทับอยู่ในสวรรค์อันสูงสุด “พระองค์ . . . ทรงถ่อมพระทัยทอดพระเนตรลงมาพิจารณาดูฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก พระองค์ทรงโปรดยกคนอนาถาขึ้นจากผงคลีดินและทรงอุ้มคนขัดสนออกจากกองหยากเยื่อ เพื่อให้นั่งกับเจ้านายได้.” (บทเพลงสรรเสริญ 113:5-8) พระเจ้าทรงแสดงความถ่อมพระทัยโดยการสำแดงความเมตตาต่อมนุษยชาติที่ผิดบาป. การที่พระองค์ปฏิบัติกับคนบาปและประทานพระบุตรของพระองค์เป็นเครื่องบูชาสำหรับไถ่บาปนั้นเป็นการแสดงออกซึ่งความถ่อมพระทัยความรัก และคุณลักษณะอื่น ๆ ของพระองค์.—โรม 5:8; 8:20, 21.
พระเยซูคริสต์ ผู้ทรง “มีจิตใจอ่อนโยน และหัวใจถ่อม” ทรงวางตัวอย่างมนุษย์อันเยี่ยมยอดที่สุดในเรื่องความถ่อมใจ. (มัดธาย 11:29) พระองค์ทรงแจ้งแก่พวกสาวกของพระองค์ว่า “ผู้ใดจะยกตัวขึ้น ผู้นั้นคงจะถูกเหยียดลง ผู้ใดถ่อมตัวลง ผู้นั้นคงจะถูกยกขึ้น.” (มัดธาย 23:12) นั่นมิใช่เป็นเพียงการพูดแบบเล่นสำนวน. ในตอนเย็นก่อนพระองค์สิ้นพระชนม์นั้น พระเยซูได้ทรงล้างเท้าของพวกอัครสาวก กระทำการรับใช้ซึ่งปกติพวกทาสทำ. (โยฮัน 13:2-5, 12–17) พระเยซูทรงรับใช้พระเจ้าอย่างถ่อมใจก่อนเสด็จมายังแผ่นดินโลก และได้สำแดงความถ่อมใจตั้งแต่การกลับคืนพระชนม์ของพระองค์จนกระทั่งสู่ตำแหน่งที่เลื่อนสูงขึ้นในสวรรค์. ดังนั้น เปาโลได้ตักเตือนเพื่อนร่วมความเชื่อให้ ‘ถือว่าคนอื่นดีกว่าตัว’ และให้มีเจตคติที่ถ่อมของพระเยซูคริสต์.—ฟิลิปปอย 2:3, 5–11.
เนื่องจากพระเจ้าและพระคริสต์ทรงแสดงความถ่อมใจ คนเหล่านั้นที่ปรารถนาความพอพระทัยของพระเจ้าจำต้องสำแดงคุณลักษณะเช่นนี้. หากเราหยิ่งยโสเป็นครั้งคราว คงจะเป็นการฉลาดที่จะถ่อมตัวลงแล้วอธิษฐานขอการอภัยจากพระเจ้า. (เปรียบเทียบ 2 โครนิกา 32:24-26.) และแทนที่จะมีความคิดแบบมักใหญ่ใฝ่สูงเกี่ยวกับตัวเราเอง เราจำเป็นต้องเอาคำแนะนำของเปาโลมาใช้ที่ว่า “อย่าคิดใฝ่สูง แต่จงถ่อมใจลงยอมทำการต่ำ.” (โรม 12:16) แต่ความถ่อมใจจะเป็นประโยชน์แก่เราและคนอื่น ๆ ได้อย่างไร?
ผลประโยชน์ของความถ่อมใจ
ผลประโยชน์ประการหนึ่งของความถ่อมใจคือการที่ความถ่อมใจยับยั้งเราไว้จากการโอ้อวดเกี่ยวกับตัวเราเอง. โดยวิธีนี้ หลีกเลี่ยงการทำให้คนอื่นไม่สบายใจ และหลีกเลี่ยงความอึดอัดเฉพาะตัว หากเขามิได้ติดใจเนื่องด้วยความสำเร็จของเรา. เราควรอวดในพระยะโฮวา มิใช่ในตัวเราเอง.—1 โกรินโธ 1:31.
ความถ่อมใจช่วยเราให้ได้มาซึ่งการทรงนำของพระเจ้า. พระยะโฮวาทรงใช้ทูตสวรรค์มาหาดานิเอลพร้อมกับนิมิตเพราะว่าผู้พยากรณ์นั้นถ่อมตัวลงจำเพาะพระเจ้าเมื่อแสวงหาการทรงนำและความเข้าใจ. (ดานิเอล 10:12) เมื่อเอษรากำลังจะนำพลไพร่ของพระยะโฮวาออกจากบาบูโลน พร้อมกับทองคำและเงินจำนวนมากมายเพื่อตกแต่งพระวิหารในกรุงยะรูซาเลมให้งดงาม ท่านประกาศให้อดอาหารเพื่อว่าพวกเขาจะถ่อมตัวลงจำเพาะพระเจ้า. ผลล่ะ? พระยะโฮวาทรงคุ้มครองพวกเขาไว้จากการจู่โจมของศัตรูระหว่างการเดินทางที่มีอันตราย. (เอษรา 8:1-14, 21–32) เช่นเดียวกับดานิเอลและเอษรา ขอให้เราสำแดงความถ่อมใจและแสวงหาการทรงนำของพระยะโฮวา แทนที่จะพยายามปฏิบัติหน้าที่มอบหมายจากพระเจ้าให้ลุล่วงไปด้วยสติปัญญาและความสามารถของตัวเราเอง.
หากเราสวมใส่อาภรณ์แห่งความถ่อมใจแล้ว เราจะนับถือคนอื่น ๆ. ตัวอย่างเช่น เด็ก ๆ ที่มีความถ่อมใจย่อมนับถือและเชื่อฟังบิดามารดาของตน. คริสเตียนที่ถ่อมใจนับถือเพื่อนร่วมความเชื่อของเขาในเชื้อชาติ ผิว และภูมิหลังอื่น ๆ เพราะความถ่อมใจทำให้เราไม่เลือกหน้าผู้ใด.—กิจการ 10:34, 35; 17:26.
ความถ่อมใจส่งเสริมความรักและสันติสุข. บุคคลผู้ถ่อมใจไม่ต่อสู้กับเพื่อนร่วมความเชื่อด้วยความพยายามที่จะยืนยันสิทธิของเขาที่นึกคิดเอาเองนั้น. เปาโลทำเฉพาะแต่สิ่งที่เป็นการก่อร่างสร้างขึ้นเท่านั้น และจะไม่รบกวนสติรู้สึกผิดชอบของพี่น้อง. (โรม 14:19-21; 1 โกรินโธ 8:9-13; 10:23-33) นอกจากนี้ ความถ่อมใจช่วยเราให้ส่งเสริมความรักและสันติสุขโดยการให้อภัยคนอื่นในเรื่องความผิดที่เขาทำต่อเรานั้น. (มัดธาย 6:12-15; 18:21, 22) นั่นกระตุ้นเราให้ไปหาบุคคลที่ขัดเคืองใจ ยอมรับความผิดพลาดของเรา ขอการให้อภัยจากเขา และกระทำสิ่งที่เราทำได้เพื่อแก้ไขความผิดใด ๆ ที่เราอาจได้ทำไปนั้น. (มัดธาย 5:23, 24; ลูกา 19:8) หากบุคคลผู้ขัดเคืองใจเข้าหาเรา ความถ่อมใจย่อมกระตุ้นเราให้จัดการเรื่องราวให้เรียบร้อยอย่างสันติด้วยน้ำใจแห่งความรัก.—มัดธาย 18:15; ลูกา 17:3.
ความรอดขึ้นอยู่กับการแสดงความถ่อมใจ. ตัวอย่างเช่น มีการกล่าวเกี่ยวกับพระเจ้าว่า “ผู้ที่มีทุกข์ยาก [ถ่อมใจ, ล.ม.] นั้น พระองค์จะทรงช่วยให้รอด แต่ทรงทอดพระเนตรดูผู้ที่ถือตนเพื่อจะทรงบันดาลให้ตกต่ำลงไป.” (2 ซามูเอล 22:28) เมื่อพระมหากษัตริย์เยซูคริสต์ ‘ทรงม้าห้อไปเพื่อเห็นแก่ความจริง ความถ่อมใจ และความชอบธรรม’ พระองค์จะทรงช่วยคนเหล่านั้นที่ถ่อมตัวลงจำเพาะพระองค์และพระบิดาของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 45:4, ล.ม.) คนเหล่านั้นที่แสดงความถ่อมใจจะพบการปลอบประโลมได้ในถ้อยคำที่ว่า “จงแสวงหาพระยะโฮวา เจ้าทั้งหลายที่มีใจถ่อมในแผ่นดินโลก ผู้ได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของพระองค์เอง. จงแสวงหาความชอบธรรม แสวงหาความถ่อมใจ. ชะรอยเจ้าอาจถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา.”—ซะฟันยา 2:3, ล.ม.
ความถ่อมใจและองค์การของพระเจ้า
ความถ่อมใจนำพลไพร่ของพระเจ้าให้หยั่งรู้ค่าองค์การของพระองค์ และยืนหยัดอยู่กับองค์การนั้นในฐานะผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคง. (เปรียบเทียบโยฮัน 6:66-69.) หากเราไม่ได้รับสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้ที่เราหวังว่าจะได้รับ ความถ่อมใจช่วยเราให้ร่วมมือกับคนเหล่านั้นที่แบกความรับผิดชอบภายในประชาคม. และการร่วมมือด้วยความถ่อมใจของเราวางตัวอย่างที่ดีงามไว้.
อีกด้านหนึ่ง ความถ่อมใจยับยั้งเราไว้จากการแสดงการโอ้อวดอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้ของเราในท่ามกลางพลไพร่ของพระยะโฮวา. นั่นป้องกันเราไว้จากการแสวงหาคำสรรเสริญในเรื่องงานที่เราได้รับสิทธิพิเศษให้กระทำในองค์การของพระเจ้า. ยิ่งกว่านั้น หากเราได้รับสิทธิพิเศษให้รับใช้ฐานะผู้ปกครอง ความถ่อมใจช่วยเราให้ปฏิบัติกับฝูงแกะของพระเจ้าด้วยความอ่อนโยน.—กิจการ 20:28, 29; 1 เปโตร 3:8.
ความถ่อมใจและการตีสอน
อาภรณ์แห่งความถ่อมใจช่วยเราให้ยอมรับการตีสอน. ชนผู้ถ่อมใจไม่เหมือนกับกษัตริย์อุซียาแห่งอาณาจักรยูดา ผู้ซึ่งหัวใจเย่อหยิ่งถึงขนาดที่ท่านช่วงชิงเอาหน้าที่ของปุโรหิตไป. ท่าน ‘ได้ล่วงละเมิดต่อพระยะโฮวา ได้เข้าไปในโบสถ์วิหารจะเผาเครื่องหอมถวายที่แท่นสำหรับเผาเครื่องหอม.’ เมื่ออุซียากริ้วต่อพวกปุโรหิตที่ว่ากล่าวท่านนั้น ท่านก็เกิดเป็นโรคเรื้อน. ช่างเป็นการชดใช้ราคาแพงเสียนี่กระไรสำหรับการขาดความถ่อมใจ! (2 โครนิกา 26:16-21; สุภาษิต 16:18) ขออย่าเป็นเหมือนอุซียา และอย่ายอมให้ความหยิ่งยโสขัดขวางคุณไว้จากการยอมรับการตีสอนจากพระเจ้าโดยทางพระวจนะและองค์การของพระองค์.
ในเรื่องนี้ เปาโลได้บอกคริสเตียนชาวฮีบรูผู้ถูกเจิมว่า “ท่านทั้งหลายได้ลืมคำตักเตือนเสียหมดแล้วซึ่งเตือนท่านในฐานะเป็นบุตรว่า ‘บุตรของเราเอ๋ย อย่าดูถูกการตีสอนจากพระยะโฮวา และอย่าหยุดกลางคันเมื่อพระองค์ทรงแก้ไขเจ้า เพราะว่าพระยะโฮวารักผู้ใด พระองค์ทรงตีสอนผู้นั้น ที่จริง พระองค์ทรงเฆี่ยนตีทุกคนซึ่งพระองค์ทรงรับเอาเป็นบุตร.’ . . . การตีสอนทุกอย่างเมื่อกำลังถูกอยู่นั้นไม่เป็นการชื่นใจเลย แต่เป็นการเศร้าใจ แต่ภายหลังก็กระทำให้เกิดผลเป็นความสุขสำราญแก่บรรดาคนที่ต้องทนอยู่นั้น คือความชอบธรรมนั่นเอง.” (เฮ็บราย 12:5-11) โปรดรำลึกด้วยว่า “คำสั่งสอนห้ามปรามเป็นทางแห่งชีวิต.”—สุภาษิต 6:23.
คงสวมความถ่อมใจอยู่ต่อไป
นับว่าสำคัญสักเพียงไรที่คริสเตียนสวมอาภรณ์แห่งความถ่อมใจอยู่เสมอ! นั่นกระตุ้นเราให้บากบั่นฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักร ให้คำพยานอย่างถ่อมใจตามบ้านเรือนในการสืบค้นหาคนเหล่านั้น “ที่มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องเพื่อชีวิตนิรันดร์.” (กิจการ 13:48, ล.ม.; 20:20) ที่จริง ความถ่อมใจช่วยเราให้เชื่อฟังพระเจ้าต่อ ๆ ไปในทุกแง่มุม ถึงแม้ผู้ต่อต้านที่หยิ่งยโสเกลียดชังแนวทางอันชอบธรรมของเรา.—บทเพลงสรรเสริญ 34:21.
เพราะความถ่อมใจกระตุ้นเราให้ ‘วางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเรา’ พระองค์ทรงชี้ทางเดินของเราให้แจ่มแจ้ง. (สุภาษิต 3:5, 6) ที่จริง เฉพาะแต่ถ้าเราสวมใส่คุณลักษณะอันดีงามนี้เท่านั้น เราจึงสามารถดำเนินร่วมกับพระเจ้าได้อย่างแท้จริง และได้รับความพอพระทัยและพระพรจากพระองค์. ดังที่สาวกยาโกโบเขียนไว้ว่า “จงถ่อมตัวลงในสายพระเนตรของพระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงยกชูท่านทั้งหลายขึ้น.” (ยาโกโบ 4:10, ล.ม.) เพราะฉะนั้น จงให้เราสวมความถ่อมใจ อาภรณ์อันสวยงามนั้นที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงออกแบบนั้น.