คริสต์จักรสมัยแรกสอนว่าพระเจ้าคือตรีเอกานุภาพไหม?
ตอน 2—ผู้เขียนคริสเตียนรุ่นหลังพวกอัครสาวกได้สอนเรื่องตรีเอกานุภาพไหม?
ในหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน 1991 ตอนที่ 1 ของบทความชุดนี้ได้มีการพิจารณาว่าพระเยซูกับเหล่าสาวกของพระองค์ได้สอนหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพหรือไม่—แนวคิดที่ว่าพระบิดา, พระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นสามบุคคลที่เท่าเทียมกันแต่เป็นพระเจ้าองค์เดียว. หลักฐานอันชัดเจนจากคัมภีร์ไบเบิล, จากพวกนักประวัติศาสตร์, และกระทั่งจากพวกนักเทววิทยา คือว่าพวกเขามิได้สอนเช่นนั้น. จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับพวกผู้นำคริสต์จักรซึ่งติดตามมาภายหลังไม่นานนัก—พวกเขาสอนเรื่องตรีเอกานุภาพไหม?
“ผู้เขียนคริสเตียนรุ่นหลังพวกอัครสาวก” เป็นผู้เขียนเกี่ยวกับศาสนาคริสเตียนในตอนปลายศตวรรษที่หนึ่งและต้นศตวรรษที่สองแห่งสากลศักราช. พวกเขาบางคนก็คือ เคลเมนต์แห่งโรม, อิกนาทิอุส, โพลีคาร์พ, เฮอร์มาส, และพาพีอัส.
กล่าวกันว่าพวกเขาเป็นบุคคลในสมัยเดียวกับอัครสาวกบางคน. ดังนั้น พวกเขาจึงคงได้คุ้นเคยกับคำสอนต่าง ๆ ของพวกอัครสาวก. เกี่ยวกับสิ่งที่คนเหล่านั้นได้เขียนไว้นั้น สารานุกรมใหม่บริทานิกา กล่าวว่า:
“โดยส่วนรวมแล้ว ข้อเขียนต่าง ๆ ของผู้เขียนคริสเตียนรุ่นหลังพวกอัครสาวกเหล่านั้นมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากกว่าหนังสืออื่น ๆ ของคริสเตียนเสียอีก เว้นแต่พระคัมภีร์ใหม่เท่านั้น.”1
หากพวกอัครสาวกสอนหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพละก็ พวกผู้เขียนคริสเตียนรุ่นหลังพวกอัครสาวกเหล่านั้นก็น่าจะได้สอนด้วยเช่นกัน. หลักคำสอนนี้น่าจะเป็นที่เด่นชัดในคำสอนของพวกเขา เนื่องจากไม่มีสิ่งใดสำคัญยิ่งไปกว่าการบอกผู้คนให้ทราบว่าใครคือพระเจ้า. ฉะนั้น พวกเขาได้สอนหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพไหม?
ถ้อยแถลงเกี่ยวกับความเชื่อในตอนต้น ๆ
หนึ่งในถ้อยแถลงต่าง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลในตอนแรกที่สุดเกี่ยวกับความเชื่อของคริสเตียนได้มีการพบในหนังสือที่มี 16 บทสั้น ๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเดอะ ดิดะเค หรือคำสอนของอัครสาวกทั้งสิบสองคน. นักประวัติศาสตร์บางคนระบุเวลาของหนังสือนี้ว่าอยู่ราว ๆ ปีสากลศักราช 100. ส่วนผู้ประพันธ์หนังสือนี้ไม่เป็นที่รู้จัก.2
เดอะ ดิดะเค กล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้คนต้องรู้เพื่อเข้ามาเป็นคริสเตียน. ในบท 7 หนังสือนี้กำหนดให้รับบัพติสมา “ในพระนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์” ถ้อยคำเดียวกับที่พระเยซูทรงใช้ที่มัดธาย 28:19.3 แต่หนังสือนี้ไม่ได้กล่าวถึงเลยในเรื่องความเท่าเทียมกันในด้านความเป็นนิรันดร์, ฤทธิ์อำนาจ, ตำแหน่ง, และสติปัญญาของทั้งสาม. ในบท 10 เดอะ ดิดะเค รวมเอาการรับเชื่อในรูปของคำอธิษฐานไว้ด้วย ดังต่อไปนี้:
“ข้าแต่พระบิดาองค์บริสุทธิ์ เราขอขอบพระคุณสำหรับพระนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์ซึ่งพระองค์ได้ทรงกระทำให้ดำรงอยู่ในหัวใจของพวกเราทั้งหลาย และสำหรับความรู้และความเชื่อและความเป็นอมตะซึ่งพระองค์ได้ทรงกระทำให้เราได้รู้จักโดยทางพระเยซูผู้รับใช้ของพระองค์. ขอให้พระองค์ทรงมีเกียรติยศตลอดกาล! พระองค์ พระผู้เป็นเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ ได้ทรงสร้างสรรพสิ่งเพื่อพระนามของพระองค์ . . . และพระองค์ได้ทรงกรุณาประทานอาหารและน้ำดื่มฝ่ายวิญญาณ และชีวิตนิรันดร์แก่พวกเราโดยทางพระเยซูผู้รับใช้ของพระองค์.”4
ไม่มีเรื่องตรีเอกานุภาพในที่นี้. ในหนังสือ ผลกระทบของแนวความคิดแบบกรีกต่อศาสนาคริสเตียน (ภาษาอังกฤษ) เอ็ดวิน แฮ็ทช์ อ้างถึงข้อความก่อนหน้านี้ และกล่าวต่อไปว่า:
“ในวงการเริ่มแรกของศาสนาคริสเตียนนั้น ไม่ปรากฏว่าเคยมีอะไรไปมากกว่าแนวความคิดแบบเรียบง่ายนี้เลย. หลักคำสอนซึ่งได้มีการเน้นคือว่า พระเจ้าทรงเป็นอยู่, พระองค์ทรงเป็นองค์เดียว, พระองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการและดำรงนิรันดร์, พระองค์ทรงสร้างโลก, พระเมตตาของพระองค์มีอยู่เหนือสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง. ไม่มีแนวโน้มจะอภิปรายในทางปรัชญาอันลึกลับใด ๆ เลย.”5
เคลเมนต์แห่งโรม
เคลเมนต์แห่งโรม ซึ่งคิดกันว่าเคยเป็น “บิชอพ” คนหนึ่งในเมืองนั้น เป็นอีกผู้หนึ่งในยุคต้น ๆ ที่ให้ข้อเขียนเกี่ยวกับศาสนาคริสเตียน. เชื่อกันว่าเขาสิ้นชีวิตประมาณปีสากลศักราช 100. ในเนื้อความที่กล่าวกันว่าเขาเป็นผู้เขียนนั้น เขาไม่ได้กล่าวถึงเรื่องตรีเอกานุภาพเลย ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม. ในจดหมายฉบับแรกของเคลเมนต์ถึงชาวโกรินโธ เขาแถลงว่า:
“ขอพระพรและสันติสุขจากพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการที่มีแด่พวกท่านโดยทางพระเยซูคริสต์นั้น จงทวีมากขึ้น.”
“บรรดาอัครสาวกได้ประกาศกิตติคุณจากพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าแก่เรา; พระเยซูคริสต์ได้ทรงประกาศกิตติคุณจากพระเจ้า. ฉะนั้น พระเจ้าทรงส่งพระคริสต์ออกไป และพระคริสต์ทรงส่งพวกอัครสาวกออกไป.”
“ขอให้พระเจ้า ผู้ทรงทอดพระเนตรเห็นทุกสิ่ง และทรงเป็นผู้ปกครองวิญญาณทั้งปวงและเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งเนื้อหนังทั้งหลาย—ผู้ทรงเลือกพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราและเลือกพวกเราโดยทางพระองค์นั้นให้เป็นหมู่ชนพิเศษ—ทรงโปรดให้ทุกจิตวิญญาณซึ่งร้องออกพระนามอันทรงเกียรติและศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์นั้น มีความเชื่อ, ความยำเกรง, สันติสุข, ความเพียร, และความอดกลั้นทนนาน.”6
เคลเมนต์ไม่ได้กล่าวว่าพระเยซูหรือพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่าเทียมกับพระเจ้า. เขากล่าวถึงพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ (ไม่เพียงว่าเป็น “พระบิดา”) ในฐานะเป็นบุคคลซึ่งแยกต่างหากจากพระบุตร. มีการกล่าวถึงพระเจ้าในฐานะที่สูงกว่าเนื่องจากพระคริสต์ถูก “ส่งออกไป” โดยพระเจ้า และพระเจ้าทรง “เลือก” พระคริสต์. ในการแสดงให้เห็นว่าพระเจ้ากับพระคริสต์ทรงเป็นสองบุคคลต่างหากกันและไม่เท่าเทียมกัน เคลเมนต์กล่าวว่า:
“เราจะขอด้วยคำอธิษฐานและคำวิงวอนอย่างจริงจังว่าพระผู้สร้างแห่งเอกภพจะทรงทำให้จำนวนแน่นอนแห่งผู้ที่พระองค์ทรงเลือกจากตลอดทั่วโลกนั้นครบถ้วนโดยทางพระเยซูคริสต์พระบุตรที่รักของพระองค์. . . . เราตระหนักว่าพระองค์ผู้เดียวทรงเป็น ‘พระผู้สูงสุดในท่ามกลางผู้สูงส่งทั้งปวง’ . . . พระองค์ผู้เดียวทรงเป็นผู้พิทักษ์วิญญาณทั้งปวงและเป็นพระเจ้าแห่งเนื้อหนังทั้งสิ้น.”
“ขอให้นานาประเทศทั้งปวงตระหนักว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าองค์เดียว พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระองค์.”7
เคลเมนต์เรียกพระเจ้า (ไม่เพียง “พระบิดา”) ว่า “พระผู้สูงสุด” และกล่าวถึงพระเยซูในฐานะ “พระบุตร” ของพระเจ้า. นอกจากนั้น เขาให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับพระเยซูว่า “เนื่องจากพระองค์ทรงสะท้อนถึงความรุ่งโรจน์สง่างามของพระเจ้า พระองค์จึงอยู่เหนือพวกทูตสวรรค์เนื่องด้วยพระนามของพระองค์เป็นที่เลื่องลือยิ่งกว่าของพวกเขา.”8 พระเยซูสะท้อนความรุ่งโรจน์สง่างามของพระเจ้า แต่พระองค์ไม่ทรงเท่าเทียม เช่นเดียวกับดวงจันทร์สะท้อนแสงอาทิตย์แต่ไม่เท่าเทียมกับแหล่งแห่งแสงสว่างนั้น คือดวงอาทิตย์.
หากพระบุตรของพระเจ้าเท่าเทียมกับพระเจ้าผู้ทรงเป็นพระบิดาฝ่ายสวรรค์ คงไม่จำเป็นที่เคลเมนต์แห่งโรมจะกล่าวว่าพระเยซูเหนือกว่าพวกทูตสวรรค์ เนื่องจากเรื่องนั้นคงเป็นที่เห็นชัดเจนอยู่แล้ว. และถ้อยคำของเขาแสดงถึงการยอมรับของเขาว่าขณะที่พระบุตรอยู่เหนือพวกทูตสวรรค์ พระองค์อยู่ต่ำกว่าพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ.
แง่คิดของเคลเมนต์นั้นค่อนข้างชัดเจน: พระบุตรอยู่ต่ำกว่าพระบิดาและอยู่ในอันดับรองจากพระองค์. เคลเมนต์ไม่เคยมองดูพระเยซูในฐานะที่ร่วมอยู่ในความเป็นพระเจ้ากับพระบิดา. เขาแสดงให้เห็นว่าพระบุตรทรงขึ้นอยู่กับพระบิดา คือพระเจ้า และกล่าวอย่างชัดแจ้งว่าพระบิดาคือ ‘พระเจ้าองค์เดียว’ ไม่ได้ร่วมฐานะนี้ของพระองค์กับผู้ใด. และไม่มีที่ใดที่เคลเมนต์ให้พระวิญญาณบริสุทธิ์มีฐานะเท่าเทียมกับพระเจ้า. ดังนั้นจึงไม่มีเรื่องตรีเอกานุภาพเลยในข้อเขียนของเคลเมนต์.
อิกนาทิอุส
อิกนาทิอุส บิชอพแห่งแอนทิอ็อก มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ราว ๆ กลางศตวรรษแรกจนถึงต้นศตวรรษที่สอง. ถ้าหากข้อเขียนทั้งหมดที่ถือกันว่าเป็นของเขานั้น เป็นของเขาจริง ๆ ละก็ ในข้อเขียนนั้นไม่มีเลยที่มีกล่าวถึงความเท่าเทียมกันของพระบิดา, พระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์.
แม้หากว่าอิกนาทิอุสได้กล่าวว่าพระบุตรเท่าเทียมกับพระบิดาในเรื่องความเป็นนิรันดร์, อำนาจ, ตำแหน่ง, และสติปัญญา ก็ยังคงไม่มีเรื่องตรีเอกานุภาพ เนื่องจากไม่มีที่ใดเลยที่เขากล่าวว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่าเทียมกับพระเจ้าในแง่ต่าง ๆ เช่นนั้นหรือในแง่อื่นใด. แต่อิกนาทิอุสไม่ได้กล่าวว่าพระบุตรทรงเท่าเทียมกับพระบิดาในแง่ต่าง ๆ เหล่านั้นหรือในแง่อื่น ๆ เลย. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เขาแสดงให้เห็นว่าพระบุตรทรงอยู่ใต้พระองค์ผู้เดียวซึ่งเป็นผู้สูงส่ง คือพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ.
อิกนาทิอุสเรียกพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการว่า “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว, พระองค์ผู้ไม่ได้รับการกำเนิดและไม่มีผู้ใดเทียบได้, องค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งสรรพสิ่ง, พระบิดาและพระผู้ให้กำเนิดพระบุตรผู้ได้รับการกำเนิดองค์เดียว” ซึ่งแสดงถึงการแยกกันชัดเจนระหว่างพระเจ้ากับพระบุตรของพระองค์.9 เขากล่าวถึง “พระเจ้าพระบิดา และพระบุตรเยซูคริสต์.”10 และเขาแถลงว่า: “มีพระเจ้าองค์เดียว เป็นผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการ ผู้ทรงเปิดเผยพระองค์เองโดยทางพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์.”11
อิกนาทิอุสแสดงว่าพระบุตรไม่ทรงเป็นบุคคลนิรันดร์แต่ได้ถูกสร้างขึ้น เพราะตามที่อิกนาทิอุสกล่าว พระบุตรได้ตรัสว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า [พระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ] ได้ทรงสร้างเรา เป็นการเริ่มต้นแห่งวิถีทางของพระองค์.”12 ในทำนองเดียวกัน อิกนาทิอุสกล่าวว่า “มีพระเจ้าองค์เดียวแห่งเอกภพ พระบิดาของพระคริสต์ ‘ซึ่งสรรพสิ่งเป็นของพระองค์’ และมีพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ‘ซึ่งสรรพสิ่งเป็นอยู่โดยทางพระองค์.’13 เขาเขียนไว้ด้วยว่า:
“พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้ตรัสถึงสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวด้วยตนเอง แต่ตรัสถึงสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับพระคริสต์ . . . องค์พระผู้เป็นเจ้าก็เช่นกันได้ทรงประกาศแก่เราถึงสิ่งที่พระองค์ได้รับจากพระบิดา. ด้วยพระองค์ [พระบุตร] ตรัสว่า ‘ถ้อยคำซึ่งเจ้าได้ยินนั้นไม่ใช่เป็นของเรา แต่เป็นของพระบิดาผู้ส่งเรามา.’14
“มีพระเจ้าองค์เดียวซึ่งแสดงพระองค์เองโดยทางพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระคำซึ่งออกมาจากความเงียบสงบและได้ทรงทำให้พระองค์ [พระเจ้า] ผู้ส่งพระองค์มานั้นทรงพอพระทัยในทุกด้าน . . . พระเยซูคริสต์ทรงอยู่ภายใต้พระบิดา.”15
จริงอยู่ อิกนาทิอุสเรียกพระบุตรว่า “พระเจ้าพระคำ.” แต่การใช้คำว่า “พระเจ้า” สำหรับพระบุตรไม่จำเป็นต้องหมายความถึงการเท่าเทียมกันกับพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ. คัมภีร์ไบเบิลก็เรียกพระบุตรว่า “พระเจ้า” ที่ ยะซายา 9:6. โยฮัน 1:18 (ล.ม.) เรียกพระบุตรว่า “พระเจ้าที่ได้รับกำเนิดองค์เดียว.” โดยการได้มาซึ่งฤทธิ์และอำนาจจากพระเจ้ายะโฮวาผู้ทรงเป็นพระบิดา พระบุตรจึงอาจถูกเรียกอย่างเหมาะสมว่า “พระผู้ทรงฤทธิ์” องค์หนึ่ง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วคำว่า “พระเจ้า” มีความหมายเช่นนั้น.—มัดธาย 28:18; 1 โกรินโธ 8:6; เฮ็บราย 1:2.
กระนั้นก็ตาม จดหมาย 15 ฉบับซึ่งถือกันว่าเป็นของอิกนาทิอุสนั้นเป็นที่ยอมรับว่าน่าเชื่อถือไหม? ในหนังสือ ผู้เขียนคริสเตียนก่อนสภาที่นิเซีย (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 ผู้เรียบเรียงคือ อะเล็กซานเดอร์ โรเบิร์ตส์ กับ เจมส์ โดนัลด์สัน แถลงว่า:
“นักวิพากษ์วิจารณ์โดยทั่วไปมีความเห็นว่า แปดฉบับแรกที่มีการอ้างว่าเป็นจดหมายของอิกนาทิอุสนั้นเป็นของปลอม. จดหมายเหล่านั้นมีข้อพิสูจน์ในตัวเองอย่างไม่มีข้อสงสัยว่าเป็นผลผลิตของสมัยต่อมา . . . และบัดนี้จดหมายเหล่านั้นก็ได้ถูกกันไว้ต่างหากโดยเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นเอกสารปลอม.”
“เกี่ยวกับจดหมายเจ็ดฉบับซึ่งมีการยอมรับโดยยูเซบิอุสนั้น . . . เรามีฉบับที่แก้ไขปรับปรุงใหม่ไว้ในครอบครองสองฉบับ คือฉบับที่สั้นกว่าและฉบับที่ยาวกว่า. . . . แม้ฉบับที่สั้นกว่า . . . เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปมากกว่าฉบับที่ยาวกว่า ก็ยังคงมีข้อคิดเห็นอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างจะแพร่ระบาดอยู่ในหมู่ผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย นั่นคือว่าแม้ฉบับเหล่านี้ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นฉบับที่ปราศจากการแก้ไขอย่างสิ้นเชิง หรือเป็นที่น่าเชื่อถือได้โดยไม่มีข้อสงสัย.”16
หากเรายอมรับว่าฉบับที่สั้นกว่าของข้อเขียนของเขาเป็นของแท้ นั่นก็จะเป็นการขจัดบางวลี (ในฉบับที่ยาวกว่า) ซึ่งแสดงว่าพระคริสต์ทรงอยู่ใต้พระเจ้านั้นออกไป แต่ส่วนที่เหลืออยู่ในฉบับที่สั้นกว่าก็ไม่ได้แสดงถึงตรีเอกานุภาพ. และไม่ว่าข้อเขียนใดเป็นของแท้ อย่างมากที่สุด ข้อเขียนเหล่านั้นก็แสดงว่าอิกนาทิอุสเชื่อในเรื่องความเป็นสองบุคคลของพระเจ้าและพระบุตรของพระองค์. นี่ไม่ใช่เป็นลักษณะสองบุคคลที่เท่าเทียมกัน เนื่องจากมีการกล่าวถึงพระบุตรเสมอว่าด้อยกว่าพระเจ้าและอยู่ใต้พระองค์. ด้วยเหตุนั้น ไม่ว่าคนเราจะมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับข้อเขียนของอิกนาทิอุสก็ตาม ก็ไม่พบว่ามีหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพอยู่ในข้อเขียนเหล่านั้น.
โพลีคาร์พ
โพลีคาร์พแห่งซมือร์นาเกิดในช่วงสามสี่สิบปีหลังของศตวรรษแรกและสิ้นชีวิตในตอนกลางศตวรรษที่สอง. มีกล่าวกันว่าเขาเคยติดต่อกับอัครสาวกโยฮัน และมีกล่าวกันว่าเขาได้เขียนจดหมายของโพลีคาร์พถึงชาวฟิลิปปอย.
มีอะไรไหมในข้อเขียนของโพลีคาร์พที่อาจบ่งชี้ถึงหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ? เปล่าเลย ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนั้น. ที่จริง สิ่งที่เขากล่าวเป็นการยืนยันสิ่งที่พระเยซูกับเหล่าสาวกและอัครสาวกของพระองค์ได้สอน. ตัวอย่างเช่น ในจดหมาย ของเขา โพลีคาร์พกล่าวว่า:
“ขอพระเจ้าและพระบิดาของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา และพระเยซูคริสต์เอง ผู้ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า . . . จงเสริมสร้างท่านขึ้นในความเชื่อและความจริง.”17
สังเกตเห็นว่า เช่นเดียวกับเคลเมนต์ โพลีคาร์พไม่ได้พูดถึงความเกี่ยวพันที่เท่าเทียมกันในความเป็นพระเจ้าของ “พระบิดา” และ “พระบุตร” ตามแบบตรีเอกานุภาพ. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เขาพูดถึง “พระเจ้าและพระบิดา” ของพระเยซู ไม่ใช่เพียง ‘พระบิดาของพระเยซู.’ ฉะนั้น เขาจึงแยกพระเจ้าไว้ต่างหากจากพระเยซู เช่นเดียวกับที่พวกผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลได้กระทำเช่นนั้นโดยตลอด. เปาโลกล่าวไว้ที่ 2 โกรินโธ 1:3 ว่า: “จงสรรเสริญพระเจ้าและพระบิดาแห่งพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา.” ท่านไม่เพียงแต่กล่าวว่า ‘จงสรรเสริญพระบิดาแห่งพระเยซู’ เท่านั้น แต่กล่าวว่า “จงสรรเสริญพระเจ้า และพระบิดา” แห่งพระเยซูคริสต์เจ้า.
นอกจากนั้น โพลีคาร์พยังกล่าวว่า: “สันติสุขจากพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการและจากพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า พระผู้ช่วยให้รอดของเรา.”18 นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระเยซูเป็นบุคคลต่างหากจากพระเจ้า ไม่ใช่เป็นบุคคลหนึ่งแห่งพระเจ้าสามองค์ที่เท่าเทียมกันประกอบกันเป็นองค์เดียว.
เฮอร์มาสและพาพีอัส
ผู้เขียนคริสเตียนรุ่นหลังพวกอัครสาวกอีกคนหนึ่งคือเฮอร์มาส ซึ่งเขียนหนังสือขึ้นในตอนต้นศตวรรษที่สอง. ในผลงานของเขาชื่อพาสเตอร์ หรือผู้บำรุงเลี้ยง เขาได้กล่าวถึงสิ่งใดไหมที่อาจทำให้คนเราเชื่อว่าเขาเข้าใจว่าพระเจ้าคือตรีเอกานุภาพ? จงสังเกตบางตัวอย่างของสิ่งที่เขาได้กล่าวไว้:
“ไม่ใช่เมื่อมนุษย์ปรารถนาให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงตรัส แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสเฉพาะแต่เมื่อพระเจ้าต้องการให้ตรัส. . . . พระเจ้าทรงปลูกสวนองุ่น นั่นคือ พระองค์ทรงสร้างคนเรา และมอบพวกเขาแก่พระบุตรของพระองค์ และพระบุตรของพระองค์แต่งตั้งเหล่าทูตสวรรค์ของพระองค์ไว้เหนือพวกเขาเพื่อคอยดูแลเขา.”19
“พระบุตรของพระเจ้าเป็นอยู่นานกว่าสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง.”20
ที่นี่เฮอร์มาสกล่าวว่าเมื่อพระเจ้า (ไม่ใช่เพียงพระบิดา) ต้องการให้พระวิญญาณตรัส พระวิญญาณจึงตรัส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงเหนือกว่าพระวิญญาณ. และเขากล่าวว่าพระเจ้าทรงประทานสวนองุ่นแก่พระบุตรของพระองค์ ซึ่งแสดงว่าพระเจ้าทรงเหนือกว่าพระบุตร. เขายังได้กล่าวด้วยว่าพระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นอยู่นานกว่าสิ่งที่พระบุตรของพระองค์ทรงสร้าง นั่นคือ สิ่งเหล่านั้นพระบุตรของพระเจ้าได้สร้างขึ้นในฐานะที่ทรงเป็นนายช่างของพระเจ้า “เพราะโดยพระองค์ สิ่งอื่นทั้งสิ้นถูกสร้างขึ้นทั้งในสวรรค์และที่แผ่นดินโลก.” (โกโลซาย 1:15, 16, ล.ม.) ความจริงก็คือว่าพระบุตรมิได้ทรงเป็นอยู่นิรันดร์. พระองค์ถูกสร้างขึ้นเป็นสิ่งมีชีวิตฝ่ายกายวิญญาณในตำแหน่งสูง ก่อนสิ่งมีชีวิตฝ่ายกายวิญญาณอื่น ๆ เช่น พวกทูตสวรรค์ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยพระองค์.
ในหนังสือคำสอนคริสเตียนสมัยแรก เจ. เอ็น. ดี. เคลลี เขียนถึงแง่คิดของเฮอร์มาสเกี่ยวกับพระบุตรของพระเจ้าว่า:
“ในหลายข้อความ เราอ่านเกี่ยวกับทูตสวรรค์องค์หนึ่งซึ่งอยู่เหนือทูตสวรรค์หกองค์ที่ประกอบกันเป็นสภาภายในของพระเจ้า และผู้ซึ่งมีการพรรณนาถึงในฐานะ ‘น่าเลื่อมใสอย่างยิ่ง’, ‘ศักดิ์สิทธิ์’, และ ‘ทรงสง่าราศี’. ทูตสวรรค์องค์นี้รับนามว่ามิคาเอล และเป็นการยากที่จะเลี่ยงการลงความเห็นที่ว่า เฮอร์มาสถือว่าพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าและแสดงว่าพระองค์เท่ากับอัครเทวทูตมิคาเอล.”
“มีหลักฐานเช่นกัน . . . เกี่ยวกับความพยายามที่จะชี้แจงถึงพระคริสต์ว่าอยู่ในฐานะเป็นทูตสวรรค์สูงสุดประเภทหนึ่ง . . . เกี่ยวกับหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพในความหมายที่เคร่งครัดก็ไม่มีสัญลักษณ์ใด ๆ เลยอย่างแน่นอน.”
มีการกล่าวถึงพาพีอัสว่าได้รู้จักอัครสาวกโยฮันเช่นกัน. อาจเป็นได้ว่า เขาเขียนหนังสือไว้ในตอนต้นศตวรรษที่สอง แต่มีเพียงส่วนเล็กส่วนน้อยของข้อเขียนของเขาที่ยังมีอยู่ถึงทุกวันนี้. ในข้อเขียนเหล่านั้น เขาไม่ได้กล่าวถึงหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพเลย.”21
คำสอนที่เสมอต้นเสมอปลาย
ในเรื่องเกี่ยวกับฐานะสูงสุดของพระเจ้าและสัมพันธภาพของพระองค์กับพระเยซู คำสอนของพวกผู้เขียนคริสเตียนรุ่นหลังพวกอัครสาวกสอดคล้องต้องกันอย่างสิ้นเชิงกับคำสอนของพระเยซู, เหล่าสาวก, และพวกอัครสาวก ดังที่มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. พวกเขาทุกคนกล่าวถึงพระเจ้า ไม่ใช่ในฐานะเป็นตรีเอกานุภาพ แต่ในฐานะเป็นบุคคลต่างหาก, ทรงเป็นนิรันดร์, ทรงฤทธานุภาพทุกประการ, ทรงสัพพัญญู. และพวกเขากล่าวถึงพระบุตรของพระเจ้าในฐานะอีกบุคคลหนึ่งต่างหาก, ด้อยกว่า, เป็นสิ่งมีชีวิตกายวิญญาณที่รองลงไปซึ่งพระเจ้าทรงสร้างขึ้นเพื่อรับใช้พระองค์ในการกระทำให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. และไม่มีการรวมเอาพระวิญญาณบริสุทธิ์ไว้ด้วยในฐานะที่เท่าเทียมกับพระเจ้า.
เพราะฉะนั้น ในข้อเขียนต่าง ๆ ของพวกผู้เขียนคริสเตียนรุ่นหลังพวกอัครสาวกในตอนปลายศตวรรษแรกและต้นศตวรรษที่สองนั้น ไม่มีข้อสนับสนุนใด ๆ สำหรับเรื่องตรีเอกานุภาพของคริสต์ศาสนจักร. พวกเขากล่าวถึงพระเจ้า, พระเยซู, และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ดังที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าว. เชิญดูตัวอย่าง ที่กิจการ 7:55, 56:
“ฝ่ายซะเตฟาโนประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ได้เขม้นดูสวรรค์เห็นรัศมีของพระเจ้า และพระเยซูทรงยืนอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์ แล้วท่านได้กล่าวว่า ‘นี่แน่ะ ข้าพเจ้าเห็นท้องฟ้าแหวกออกเป็นช่อง และบุตรมนุษย์ยืนอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า.’”
ซะเตฟาโนได้เห็นนิมิตเกี่ยวกับพระเจ้าในสวรรค์พร้อมด้วยพระเยซูทรงยืนอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์. พระบุตรทรงยืนอยู่ถัดจากพระองค์ผู้ซึ่งมีการเรียกว่า “พระเจ้า” ไม่ใช่เพียง “พระบิดา” พระองค์ผู้ทรงเป็นบุคคลต่างหากจากพระเยซูอย่างแน่ชัด. และไม่มีบุคคลที่สามมาเกี่ยวข้องด้วยเลยในสิ่งที่ซะเตฟาโนได้เห็น. ไม่ได้มีการมองเห็นพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับพระเยซูและพระบิดาของพระองค์.
นั่นคือสิ่งที่คล้ายคลึงกับ วิวรณ์ 1:1 ซึ่งกล่าวว่า: “นี่คือวิวรณ์ที่พระเจ้าทรงประทานแก่พระเยซูคริสต์.” (เดอะ เจรูซาเลม ไบเบิล) อีกครั้งหนึ่ง มีการแสดงถึงพระคริสต์ผู้ทรงเป็นขึ้นจากตายในสวรรค์ว่าเป็นบุคคลต่างหากจากพระเจ้า และไม่มีการกล่าวถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์. หากพระเยซูทรงเป็นบุคคลที่สองแห่งตรีเอกานุภาพ, ทรงทราบทุกสิ่งละก็ พระองค์จะได้รับการ “ประทาน” วิวรณ์ให้ได้อย่างไรกัน?
ข้อคัมภีร์ต่าง ๆ เช่นข้อดังกล่าวเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีตรีเอกานุภาพ. และไม่มีสักข้อเดียวในพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงพระเจ้าว่าเป็นตรีเอกานุภาพ. ข้อเขียนต่าง ๆ ของพวกผู้เขียนคริสเตียนรุ่นหลังพวกอัครสาวกต่างชี้แจงถึงเรื่องนี้. พวกเขาไม่ได้สอนเรื่องตรีเอกานุภาพของคริสต์ศาสนจักรอย่างแน่นอนที่สุด.
ข้อเขียนอันสำคัญต่าง ๆ ต่อไปเกี่ยวกับศาสนาคริสเตียนมีต่อมาในศตวรรษที่สอง. ข้อเขียนเหล่านี้เป็นผลงานของนักศาสนาซึ่งถูกเรียกกันว่าพวกนักแก้ต่างให้ศาสนาคริสเตียน. พวกเขาสอนเรื่องตรีเอกานุภาพไหม? ตอน 3 ของชุดบทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับคำสอนต่าง ๆ ของพวกเขาในฉบับต่อไป.
หนังสืออ้างอิง
1. The New Encyclopædia Britannica, 15th Edition, 1985, Micropædia, Volume 1, page 488.
2. A Dictionary of Christian Theology, edited by Alan Richardson, 1969, page 95; The New Encyclopædia Britannica, 15th Edition, 1985, Micropædia, Volume 4, page 79.
3. The Apostolic Fathers, Volume 3, by Robert A. Kraft, 1965, page 163.
4. Ibid., pages 166-7.
5. The Influence of Greek Ideas on Christianity, by Edwin Hatch, 1957, page 252.
6. The Ante-Nicene Fathers, Alexander Roberts and James Donaldson, editors, American Reprint of the Edinburgh Edition, 1885, Volume I, pages 5, 16, 21.
7. The Library of Christian Classics, Volume 1, Early Christian Fathers, translated and edited by Cyril C. Richardson, 1953, pages 70-1.
8. Ibid., page 60.
9. The Ante-Nicene Fathers, Volume I, page 52.
10. Ibid., page 58.
11. Ibid., page 62.
12. Ibid., page 108.
13. Ibid., page 116.
14. Ibid., page 53.
15. The Apostolic Fathers, Volume 4, by Robert M. Grant, 1966, page 63.
16. The Ante-Nicene Fathers, Volume I, pages 46-7; Cyclopedia of Biblical, Theological, and Ecclesiastical Literature, by John McClintock and James Strong, reprinted by Baker Book House Co., 1981, Volume IV, pages 490-3; The Catholic Encyclopedia, 1910, Volume VII, pages 644-7.
17. The Ante-Nicene Fathers, Volume I, page 35.
18. Ibid., page 33.
19. The Ante-Nicene Fathers, Volume II, pages 27, 35.
20. The Apostolic Fathers (Loeb’s Classical Library) with an English Translation by Kirsopp Lake, 1976, page 249.
21. Early Christian Doctrines, by J. N. D. Kelly, Second Edition, 1960, pages 94-5.