คริสต์จักรสมัยแรกสอนว่าพระเจ้าคือตรีเอกานุภาพไหม?
ตอน 3—เหล่าผู้แก้ต่างสอนเรื่องตรีเอกานุภาพไหม?
ในฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน 1991 และ 1 กุมภาพันธ์ 1992 วารสารหอสังเกตการณ์ ได้แสดงให้เห็นว่าพระเยซูและเหล่าสาวกของพระองค์ เช่นเดียวกับพวกผู้เขียนคริสเตียนรุ่นหลังพวกอัครสาวกในศตวรรษที่หนึ่งและต้นศตวรรษที่สองแห่งสากลศักราชไม่ได้สอนเรื่องตรีเอกานุภาพ. แล้วพวกนักศาสนายุคต่อมาในศตวรรษที่สองสอนเรื่องตรีเอกานุภาพไหม?
ตั้งแต่เกือบ ๆ ตอนกลางจนถึงตอนสิ้นสุดศตวรรษที่สองสากลศักราช ปรากฏมีพวกนักศาสนาซึ่งในทุกวันนี้เรียกกันว่าผู้แก้ต่างขึ้นมา. พวกเขาเขียนปกป้องศาสนาคริสเตียนที่พวกเขารู้จักไว้จากหลักปรัชญาต่าง ๆ ซึ่งแพร่หลายในแวดวงชาวโรมันในสมัยนั้น. การงานของพวกเขาดำเนินมาจนถึงตอนจบและภายหลังของการเขียนของพวกผู้เขียนคริสเตียนรุ่นหลังพวกอัครสาวก.
ผู้แก้ต่างซึ่งเขียนในภาษากรีกก็มีจัสติน มาร์เทอร์, ทาเทียนอส, อเทนนาโกรัส, ทีโอฟิลัส, และเคลเมนต์แห่งอะเล็กซานเดรีย. เทอร์ทุลเลียนเป็นผู้แก้ต่างซึ่งเขียนในภาษาลาติน. พวกเขาได้สอนหลักตรีเอกานุภาพของคริสต์ศาสนจักรสมัยใหม่ไหม—คือที่ว่าสามบุคคลเสมอภาคกัน (พระบิดา, พระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์) ในพระเจ้าองค์เดียว แต่ละพระองค์เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้ แต่ไม่ใช่เป็นพระเจ้าสามองค์แต่เป็นพระเจ้าองค์เดียว?
“พระบุตรทรงอยู่ใต้อำนาจ”
ดร. เอช. อาร์. เบอร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวความคิดแห่งคำสอนของพวกผู้แก้ต่างไว้ในหนังสือของเขาชื่อประวัติโดยย่อของคริสต์จักรเริ่มแรก (ภาษาอังกฤษ) ดังนี้:
“จัสติน [มาร์เทอร์] สอนว่าก่อนการสร้างโลก พระเจ้าทรงอยู่เพียงลำพังและขณะนั้นไม่มีพระบุตร. . . . เมื่อพระเจ้าทรงตัดสินพระทัยจะสร้างโลกนี้สำหรับพระองค์ . . . พระองค์ได้ทรงให้กำเนิดผู้ซึ่งเป็นอยู่เยี่ยงพระเจ้าอีกองค์หนึ่งเพื่อสร้างโลกสำหรับพระองค์. ผู้ซึ่งเป็นอยู่เยี่ยงพระเจ้านั้นถูกเรียกว่า . . . พระบุตรเนื่องจากพระองค์ได้รับการกำเนิด พระองค์ถูกเรียกว่าลอกอสเพราะลอกอสถูกนำออกมาจากความสามารถในการคิดหาเหตุผลหรือจิตใจของพระเจ้า. . . .
“ฉะนั้น จัสตินกับผู้แก้ต่างคนอื่น ๆ จึงสอนว่าพระบุตรทรงเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงสร้างองค์หนึ่ง พระองค์ทรงเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างชั้นสูง เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงสร้างซึ่งมีฤทธิ์มากพอจะสร้างโลก แต่ถึงอย่างไรก็เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงสร้าง. ในหลักเทววิทยา ความสัมพันธ์เช่นนี้ของพระบิดากับพระบุตรมีการเรียกว่าการอยู่ใต้อำนาจ. พระบุตรทรงอยู่ใต้อำนาจ นั่นคือ รองจาก, ขึ้นกับ, และดำรงอยู่เนื่องด้วยพระบิดา. พวกผู้แก้ต่างก็เป็นผู้สนับสนุนการอยู่ใต้อำนาจ.”1
ในหนังสือการตั้งหลักคำสอนคริสเตียน (ภาษาอังกฤษ) ดร. มาร์ติน เวอร์เนอร์กล่าวถึงความเข้าใจในตอนเริ่มแรกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพระบุตรกับพระเจ้าดังนี้:
“ความสัมพันธ์เช่นนั้นเป็นที่เข้าใจอย่างแน่ชัดว่าเป็น ‘การอยู่ใต้อำนาจ’ อย่างหนึ่ง นั่นคือในความหมายที่พระคริสต์อยู่ใต้อำนาจของพระเจ้า. ไม่ว่าที่ใดในพระคัมภีร์ใหม่ที่มีการนำเอาความสัมพันธ์ของพระเยซูกับพระเจ้า พระบิดามาพิจารณา . . . เรื่องนี้ก็ได้มีการยอมรับและแสดงอย่างแน่ชัดว่าเป็นการอยู่ใต้อำนาจ. และผู้ที่สนับสนุนการอยู่ใต้อำนาจที่ชัดแจ้งที่สุดในพระคัมภีร์ใหม่ ดังในบันทึกการเปรียบเทียบกิตติคุณที่เขียนโดยมัดธาย, มาระโก, และลูกา ก็คือพระเยซูนั่นเอง . . . ฐานะดั้งเดิมที่มีการแสดงชัดเจนและแน่นอนนี้ สามารถดำรงฐานะนี้อยู่ได้เป็นเวลานาน. ‘นักศาสนาทั้งหลายที่มีชื่อดังก่อนสมัยสภานีเซียต่างก็เสนอเรื่องการที่ลอกอสยอมอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้า.’”2
ในความเห็นชอบกับเรื่องนี้ อาร์. พี. ซี. แฮนสัน กล่าวไว้ในหนังสือการค้นคว้าหลักคำสอนคริสเตียนในเรื่องพระเจ้า ดังนี้:
“ไม่มีนักศาสนาคนใดในคริสต์จักรตะวันออกหรือคริสต์จักรตะวันตกสมัยก่อนการปะทุขึ้นของข้อโต้แย้งของแอริอุส [ในศตวรรษที่สี่] ที่ไม่ถือว่าพระบุตรอยู่ใต้อำนาจของพระบิดาในแง่ใดแง่หนึ่ง.”3
ดร. แอลแวน แลมสัน ในหนังสือคริสต์จักรแห่งสามศตวรรษแรก (ภาษาอังกฤษ) ให้พยานหลักฐานนี้เพิ่มเติมเกี่ยวกับคำสอนของนักศาสนาที่ทรงอิทธิพลก่อนสมัยสภานีเซีย (ปีสากลศักราช 325) ดังนี้:
“การที่พระบุตรทรงอยู่ต่ำกว่าเป็นเรื่องแพร่หลายทั่วไปซึ่งยืนยันโดยพวกผู้เขียนคริสเตียนรุ่นก่อนสภานีเซีย แม้จะไม่เหมือนกันก็ตาม . . . การที่พวกเขามองพระบุตรในฐานะที่เป็นบุคคลต่างหากจากพระบิดานั้นเห็นได้ชัดจากสภาพการณ์ที่พวกเขายืนยันอย่างชัดเจนถึงการที่พระบุตรอยู่ต่ำกว่า. . . . พวกเขาถือว่าพระบุตรเป็นบุคคลต่างหากและอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า.”4
ทำนองเดียวกัน ในหนังสือพระเจ้าต่าง ๆ และพระเจ้าองค์เดียว (ภาษาอังกฤษ) โรเบิร์ต เอ็ม. แกรนต์ กล่าวถึงพวกผู้แก้ต่างดังนี้:
“วิชาคริสต์ศาสนาของพวกผู้แก้ต่าง เหมือนกับของพระคัมภีร์ใหม่นั้น สนับสนุนการอยู่ใต้อำนาจ. พระบุตรทรงอยู่ใต้อำนาจพระบิดาเสมอ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าองค์เดียวแห่งพระคัมภีร์เดิม. . . . ดังนั้น สิ่งที่เราพบในเหล่าผู้ประพันธ์สมัยแรก ๆ เหล่านี้ไม่ใช่หลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ . . . ก่อนสมัยสภานีเซีย ศาสนาคริสเตียนเป็นพวกสนับสนุนการที่พระคริสต์ทรงอยู่ใต้อำนาจพระบิดาเกือบทั่วทั้งหมด.”5
หลักตรีเอกานุภาพของคริสต์ศาสนจักรสอนว่าพระบุตรทรงเสมอภาคกับพระเจ้า พระบิดา ในเรื่องความเป็นนิรันดร์, ฤทธิ์อำนาจ, ตำแหน่ง, และพระสติปัญญา. แต่พวกผู้แก้ต่างกล่าวว่าพระบุตรไม่ทรงเสมอภาคกับพระเจ้า พระบิดา. พวกเขาเห็นว่าพระบุตรทรงอยู่ใต้อำนาจพระบิดา. นั่นย่อมไม่ใช่หลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ.
การสะท้อนหลักคำสอนในศตวรรษแรก
พวกผู้แก้ต่างกับผู้เขียนคริสเตียนรุ่นแรกในศตวรรษที่สองแห่งสากลศักราชได้สะท้อนอย่างถึงขนาดในสิ่งที่คริสเตียนในศตวรรษแรกสอนเกี่ยวกับสัมพันธภาพของพระบิดากับพระบุตร. จงสังเกตวิธีที่สิ่งนี้ได้มีแสดงไว้ในหนังสือการตั้งหลักคำสอนคริสเตียน ดังนี้:
ในตอนต้น ๆ ยุคคริสเตียน ไม่มีวี่แววใด ๆ เลยของปัญหาข้อโต้แย้งเรื่องตรีเอกานุภาพ ดังเช่นที่ได้เกิดมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงในคริสต์จักรเมื่อภายหลังต่อมา. ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเหตุผลสำหรับเรื่องนี้ก็อยู่ในข้อเท็จจริงที่ว่า สำหรับศาสนาคริสเตียนยุคแรก ๆ แล้ว พระคริสต์ทรงเป็น . . . ผู้หนึ่งแห่งแดนสวรรค์ชั้นสูงของเหล่าทูตสวรรค์ ผู้ซึ่งพระเจ้าทรงสร้างขึ้นและทรงเลือกไว้สำหรับงานแห่งการนำมาซึ่ง . . . ราชอาณาจักรของพระเจ้า ในยุคอวสาน.”6
เกี่ยวกับคำสอนของพวกผู้เขียนคริสเตียนรุ่นแรก ๆ แห่งศตวรรษที่สอง สารานุกรม อินเตอร์เนชันนัล สแตนดาร์ด ไบเบิล ยอมรับว่า
ในแนวความคิดแรกที่สุดของคริสต์จักร แนวโน้มที่มีอยู่เมื่อพูดถึงพระเจ้าพระบิดาคือเข้าใจว่าพระองค์ทรงเป็นผู้สูงสุด ไม่ใช่ในฐานะพระบิดาของพระเยซูคริสต์ แต่ในฐานะเป็นบ่อเกิดแห่งสรรพสิ่งมีชีวิต. ฉะนั้น พระเจ้าพระบิดาจึงทรงเป็นพระเจ้าองค์เลิศล้ำ. คำพรรณนาดังเช่นผู้ไม่มีการเริ่มต้น, เป็นอมตะ, ไม่มีวันปรวนแปร, สุดจะพรรณนาถึงได้, ไม่ประจักษ์ด้วยตา, และไม่ได้ถูกสร้างขึ้น ล้วนแต่ใช้สำหรับพระองค์. พระองค์เองทรงสร้างสรรพสิ่ง รวมทั้งสสารที่ใช้ในการสร้างด้วย จากความว่างเปล่า. . . .
“นี้จึงดูเหมือนจะแนะว่าพระบิดาองค์เดียวทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้และพระบุตรและพระวิญญาณเป็นเพียงอันดับรอง. ปรากฏว่าคำแถลงในยุคแรก ๆ หลายอย่างต่างก็สนับสนุนเรื่องนี้.”7
ขณะที่สารานุกรมนี้ดำเนินการต่อไปเพื่อยกเลิกความจริงเหล่านี้และอ้างว่าหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพนั้นเป็นที่ยอมรับในช่วงสมัยแรก ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ทำให้ข้ออ้างนั้นตกไป. ขอพิจารณาถ้อยคำของนักเทววิทยาคาทอลิกผู้มีชื่อเสียง จอห์น เฮ็นรี คาร์ดินัล นิวแมน ซึ่งมีดังนี้:
“ขอให้เรายอมรับว่าหลักคำสอนทั้งหมดเกี่ยวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ได้มีการยอมรับอย่างสอดคล้องและตรงกันโดยประชาคมคริสเตียนรุ่นแรก ๆ . . . แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพของคาทอลิกอย่างแน่นอน. ข้าพเจ้ามองไม่เห็นเลยว่าในแง่ใดที่จะกล่าวได้ว่ามีความลงรอยกัน ระหว่างพวกนักศาสนาในสมัยแรกนั้นเกี่ยวกับคำสอนนั้น . . .
“หลักข้อเชื่อของยุคแรกนั้นไม่ได้กล่าวถึง . . . [ตรีเอกานุภาพ] เลย. หลักข้อเชื่อเหล่านั้นกล่าวถึงสามสิ่งจริง แต่ที่ว่ามีความลึกลับในหลักคำสอน ที่ว่าสามบุคคลเป็นหนึ่ง, หรือที่ว่าสามพระองค์เสมอภาคกัน, ดำรงอยู่นิรันดร์เหมือนกัน, ทุกพระองค์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้น, ทุกพระองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ, ทุกพระองค์ไม่มีที่สิ้นสุด เหล่านี้ไม่มีการกล่าวถึง และไม่มีทางที่จะหาหลักฐานเรื่องเหล่านี้จากหลักข้อเชื่อเหล่านั้น!8
สิ่งที่จัสติน มาร์เทอร์สอน
หนึ่งในพวกผู้แก้ต่างรุ่นแรกนั้นคือจัสติน มาร์เทอร์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ราว ๆ ปีสากลศักราช 110 ถึง 165. หนังสือที่เขาเขียนซึ่งยังมีอยู่นั้นไม่มีสักเล่มกล่าวถึงเรื่องสามบุคคลที่เสมอภาคกันในพระเจ้าองค์เดียวนั้นเลย.
ยกตัวอย่าง ตามเจรูซาเลม ไบเบิล ของคาทอลิก พระธรรมสุภาษิต 8:22-30 กล่าวถึงพระเยซูก่อนมาเป็นมนุษย์ว่า “ยาห์เวห์ทรงสร้างตัวเราเมื่อทรงเริ่มเผยพระประสงค์ของพระองค์ เป็นสิ่งแรกสุดแห่งราชกิจของพระองค์ . . . เมื่อเรากำเนิด ยังไม่มีห้วงลึก . . . ก่อนเนินเขาทั้งปวง เราได้ถือกำเนิด . . . เรา ผู้เป็นนายช่าง อยู่เคียงข้างพระองค์ [พระเจ้า].” เมื่อพิจารณาข้อเหล่านี้ จัสตินกล่าวในหนังสือการสนทนากับทรีโฟ ของเขาว่า:
“พระคัมภีร์ได้แถลงว่าบุตรองค์นี้ได้รับการกำเนิดจากพระบิดาก่อนสรรพสิ่งถูกสร้าง และว่าพระองค์ผู้ซึ่งได้รับการกำเนิดนั้นทรงต่างไปจากพระองค์ผู้ให้กำเนิดอย่างเห็นชัดในหลายประการ ไม่ว่าใครก็จะต้องยอมรับ.”9
เนื่องจากพระบุตรทรงได้รับการกำเนิดจากพระเจ้า จัสตินจึงใช้คำ “พระเจ้า” กับพระบุตรด้วย. เขากล่าวใน ข้อแก้ต่างฉบับแรก ของเขาว่า “พระบิดาแห่งเอกภพทรงมีพระบุตรองค์หนึ่ง ผู้ซึ่ง เนื่องจากเป็นพระวาทะของพระเจ้าที่ได้รับการกำเนิดองค์แรก ก็เป็นพระเจ้าด้วย.”10 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระบุตรของพระเจ้าโดยใช้คำว่า “พระเจ้า” ด้วย. ที่ยะซายา 9:6 พระองค์ถูกเรียกว่า “พระเจ้าทรงอานุภาพ.” แต่ในคัมภีร์ไบเบิล พวกทูตสวรรค์, มนุษย์, พระเท็จ, และซาตาน ก็ถูกเรียกว่า “พระเจ้า” เช่นกัน (ทูตสวรรค์: บทเพลงสรรเสริญ 8:5; เทียบกับ เฮ็บราย 2:6, 7. มนุษย์: บทเพลงสรรเสริญ 82:6. พระเท็จ: เอ็กโซโด 12:12; 1 โกรินโธ 8:5. ซาตาน: 2 โกรินโธ 4:4.) ในคัมภีร์ไบเบิลภาคภาษาฮีบรู คำที่ใช้สำหรับคำว่า “พระเจ้า” ’เอล นั้นมีความหมายเพียงว่า “ผู้มีฤทธิ์” หรือ “ผู้เข้มแข็ง.” คำที่มีความหมายเหมือนกันในคัมภีร์ไบเบิลภาคภาษากรีกคือ เท ออสʹ.
ยิ่งกว่านั้น คำภาษาฮีบรูที่ใช้ในยะซายา 9:6 นั้นแสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างพระบุตรกับพระเจ้า. ในข้อนั้นพระบุตรถูกเรียกว่า “พระเจ้าทรงอานุภาพ” ’เอล กิบบอร์ʹ ไม่ใช่ “พระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ. คำนั้นในภาษาฮีบรูคือ ’เอล แชไดʹ และใช้กับพระยะโฮวาองค์เดียว.
แต่ขอให้สังเกตว่าเมื่อจัสตินเรียกพระบุตรว่า “พระเจ้า” นั้น เขาไม่เคยกล่าวว่าพระบุตรเป็นหนึ่งในสามบุคคลที่เสมอภาคกัน ซึ่งแต่ละองค์ต่างเป็นพระเจ้าแต่ทั้งสามองค์ประกอบขึ้นเป็นพระเจ้าองค์เดียว. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เขากล่าวไว้ในบันทึกการสนทนากับทรีโฟ ว่า:
“มีพระเจ้าอีกองค์หนึ่งและองค์พระผู้เป็นเจ้า [พระเยซูก่อนมาเป็นมนุษย์] ทรงอยู่ใต้อำนาจของพระผู้สร้างสรรพสิ่ง [พระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ] ผู้ซึ่ง [พระบุตร] ก็ถูกเรียกว่าเป็นทูตสวรรค์องค์หนึ่งด้วย เนื่องจากพระองค์ [พระบุตร] ทรงประกาศแก่มนุษย์ถึงทุกสิ่งที่พระผู้สร้างสรรพสิ่ง—ผู้ซึ่งนอกจากพระองค์แล้วไม่มีพระเจ้าอื่นอีก—ทรงประสงค์ให้ประกาศแก่พวกเขา. . . .
“[พระบุตร] ทรงเป็นบุคคลต่างหากจากพระองค์ผู้ทรงสร้างสรรพสิ่ง—ข้าพเจ้าหมายความว่า ในเรื่องจำนวน ไม่ใช่ [แยกต่างหาก] ในด้านจุดประสงค์.”11
ข้อความที่น่าสนใจข้อความหนึ่งปรากฏในข้อแก้ต่างฉบับแรก ของจัสติน บท 6 ซึ่งเขากล่าวแก้ข้อกล่าวหาของพวกนอกรีตที่กล่าวหาว่าคริสเตียนเป็นพวกที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า. เขาเขียนว่า
“ทั้งพระองค์ [พระเจ้า] และพระบุตร (ผู้ซึ่งมาจากพระองค์และสอนพวกเราในสิ่งเหล่านี้ และเหล่าทูตสวรรค์ที่ดีอื่น ๆ ซึ่งติดตามมาและถูกสร้างเหมือนกับพระองค์) และพระวิญญาณแห่งการพยากรณ์ เรานมัสการและเทิดทูน.”12
ผู้แปลข้อความนี้คนหนึ่งคือ เบิร์นฮาร์ด โลแซ ให้ข้อคิดเห็นว่า “ราวกับเป็นการไม่พอเพียงที่ในรายการนี้พวกทูตสวรรค์จำนวนนับไม่ถ้วนถูกกล่าวถึงว่าเป็นผู้ดำรงอยู่ซึ่งได้รับการให้เกียรติและนมัสการโดยพวกคริสเตียน จัสตินไม่ลังเลที่จะกล่าวถึงพวกทูตสวรรค์ก่อนการเอ่ยถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์.”13—โปรดดูหนังสือ การพัฒนาหลักคำสอนคริสเตียน ด้วย.14
ดังนั้น ขณะที่ปรากฏว่าจัสตินได้แยกไปจากหลักคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องที่ว่าใครควรเป็นผู้ที่คริสเตียนนมัสการนั้น เป็นที่ชัดเจนว่าเขาไม่ได้เห็นว่าพระบุตรเสมอภาคกับพระบิดา เช่นเดียวกับที่พวกทูตสวรรค์ไม่ถูกถือว่าเสมอภาคกับพระองค์. เกี่ยวกับจัสติน เราอ้างถึงอีกครั้งจากหนังสือคริสต์จักรแห่งสามศตวรรษแรก ของแลมสัน ความว่า:
“จัสตินถือว่าพระบุตรเป็นบุคคลหนึ่งต่างหากจากพระเจ้า และอยู่ต่ำกว่าพระองค์: อยู่ต่างหาก ไม่ใช่ในความหมายที่เข้าใจในปัจจุบันนี้ ที่ว่าประกอบเป็นหนึ่งในจำนวนสามในรูปเดียวกัน หรือบุคคล . . . แต่อยู่ต่างหากในด้านตัวบุคคลแท้ ๆ และลักษณะ โดยมีตัวบุคคลจริง, การดำรงอยู่จริงเป็นเฉพาะบุคคล, แยกต่างหากจากพระเจ้า, จากผู้ซึ่งพระองค์ได้รับฤทธิ์อำนาจและตำแหน่งทั้งปวง โดยได้รับการแต่งตั้งอยู่ใต้พระองค์ และยอมตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ในทุกสิ่ง. พระบิดาทรงเป็นองค์สูงสุด; พระบุตรทรงยอมอยู่ใต้อำนาจ: พระบิดาทรงเป็นแหล่งแห่งฤทธิ์อำนาจ; พระบุตรทรงเป็นผู้รับ: พระบิดาทรงเป็นผู้ริเริ่ม; พระบุตรในฐานะผู้รับใช้ของพระองค์ ทรงเป็นผู้กระทำการ. พระบิดาและพระบุตรเป็นสองบุคคลในด้านจำนวน แต่ทรงลงรอยกัน หรือเป็นหนึ่งเดียว ในด้านพระทัยประสงค์; พระทัยประสงค์ของพระบิดาอยู่เหนือพระบุตรเสมอ.”15
นอกจากนั้น ไม่มีที่ใดเลยที่จัสตินกล่าวว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นบุคคลที่เสมอภาคกับพระบิดาและพระบุตร. เพราะฉะนั้นจึงไม่อาจกล่าวได้ในความหมายใด ๆ เลยว่าจัสตินได้สอนหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพของคริสต์ศาสนจักรสมัยนี้.
สิ่งที่เคลเมนต์สอน
เคลเมนต์แห่งอะเล็กซานเดรีย (ประมาณปีสากลศักราช 150 ถึง 215) เรียกพระบุตรว่า “พระเจ้า” เช่นกัน. เขากระทั่งยังเรียกพระองค์ว่า “พระผู้สร้าง” คำซึ่งไม่เคยมีใช้ในคัมภีร์ไบเบิลอ้างถึงพระเยซู. เขาหมายความว่าพระบุตรเสมอภาคกับพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการในทุกทางไหม? เปล่าเลย. เห็นได้ชัดว่าเคลเมนต์กำลังอ้างถึงพระธรรมโยฮัน 1:3 ซึ่งกล่าวถึงพระบุตรว่า “พระองค์ได้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งปวง.”16 พระเจ้าทรงใช้พระบุตรเป็นตัวแทนในงานทรงสร้างของพระองค์.—โกโลซาย 3:15–17.
เคลเมนต์เรียกพระเจ้าองค์สูงสุดว่า “พระเจ้าและพระบิดาแห่งพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา”17 และเขายังกล่าวด้วยว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระผู้สร้าง.”18 นอกจากนี้เขายังบอกด้วยว่า “พระเจ้าแห่งสรรพสิ่งทรงเป็นพระผู้สร้างแต่องค์เดียวที่ทรงคุณความดีและยุติธรรม และพระบุตรทรง [อยู่] ในพระบิดา.”19 ดังนั้น เขาเขียนว่าพระบุตรนั้นมีพระเจ้าอยู่เหนือพระองค์.
เคลเมนต์พูดถึงพระเจ้าในฐานะเป็น “องค์แรกและองค์เดียวผู้ประทานชีวิตนิรันดร์ ซึ่งพระบุตรผู้ซึ่งได้รับชีวิตนิรันดร์นั้นจากพระองค์ [พระเจ้า] ประทานแก่เรา.”20 จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่าพระองค์ผู้ทรงประทานชีวิตนิรันดร์ทรงอยู่เหนือผู้นั้นที่ทรงส่งผ่านต่อมาอีกทอดหนึ่ง. ดังนั้น เคลเมนต์จึงบอกว่าพระเจ้า “ทรงเป็นองค์แรก และองค์สูงสุด.”21 ยิ่งกว่านั้น เขากล่าวว่า “พระบุตรทรงใกล้ชิดที่สุดกับพระองค์ผู้ซึ่งเป็นองค์เดียวที่ทรงฤทธานุภาพทุกประการ” และกล่าวว่าพระบุตร “ทรงจัดสรรพสิ่งให้สอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระบิดา.”22 ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เคลเมนต์แสดงถึงความล้ำเลิศของพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการว่าเหนือกว่าพระบุตร.
เกี่ยวกับเคลเมนต์แห่งอะเล็กซานเดรียนั้น เราอ่านในหนังสือคริสต์จักรแห่งสามศตวรรษแรก ดังนี้:
“เราอาจอ้างถึงข้อความหลายตอนจากเคลเมนต์ซึ่งยืนยันชัดเจนถึงฐานะที่อยู่ต่ำกว่าของพระเยซูคริสต์. . . .
“เรารู้สึกแปลกใจว่าใคร ๆ ก็จะอ่านบทความของเคลเมนต์ด้วยความสนใจแบบธรรมดา แล้วนึกภาพว่าเขาถือว่าพระบุตรเป็นผู้เดียวกัน—องค์เดียว—กับพระบิดา. ลักษณะการอยู่ในสังกัดและอยู่ต่ำกว่า ดังที่เราเองก็ดูเหมือนเป็นเช่นนั้น เป็นที่ยอมรับในทุกที่ทุกแห่ง. เคลเมนต์เชื่อว่าพระเจ้าและพระบุตรทรงไม่เหมือนกันในหลายประการ กล่าวอีกอย่างคือ ทรงเป็นสองบุคคล—องค์หนึ่งทรงเป็นผู้สูงสุด อีกองค์หนึ่งทรงอยู่ใต้อำนาจ.”23
นอกจากนั้น อาจกล่าวอีกว่า ถึงแม้ในบางครั้งจะปรากฏว่าเคลเมนต์สอนเรื่องที่นอกเหนือเรื่องที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระเยซูก็ตาม แต่เขาไม่เคยกล่าวถึงเรื่องตรีเอกานุภาพซึ่งประกอบด้วยสามบุคคลที่เสมอภาคกันอยู่ในพระเจ้าองค์เดียว. พวกผู้แก้ต่างอย่างทาเทียนอส, เทโอฟิลัส, และอเทนนาโกรัส, ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกับจัสตินและเคลเมนต์ ก็มีแง่คิดที่คล้ายกัน. แลมสันกล่าวว่าพวกเขา “ไม่ได้เป็นพวกถือตรีเอกานุภาพที่ดีไปกว่าตัวจัสตินเอง นั่นคือ พวกเขาไม่เชื่อในสามบุคคลที่เสมอภาคกันที่ไม่มีการแบ่งแยก แต่สอนหลักคำสอนที่เข้ากันไม่ได้เลยกับความเชื่อนี้.”24
เทววิทยาของเทอร์ทุลเลียน
เทอร์ทุลเลียน (ประมาณสากลศักราช 160 ถึง 230) เป็นคนแรกที่ใช้คำภาษาลาติน ทรินิทาส. ดังที่เฮ็นรี แชดวิก ให้ข้อสังเกต เทอร์ทุลเลียนเสนอข้อคิดเห็นว่าพระเจ้าทรงเป็น ‘สาระเดียวที่ดำรงอยู่ในสามบุคคล.’25 แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเขาคิดว่าเป็นสามบุคคลที่เสมอภาคกัน และดำรงนิรันดร์เหมือนกัน. อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนรุ่นต่อ ๆ มาที่มุ่งไปถึงหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพก็ได้อาศัยแนวความคิดของเขา.
แนวคิดของเทอร์ทุลเลียนเกี่ยวกับพระบิดา, พระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้นผิดแผกไปมากจากเรื่องตรีเอกานุภาพของคริสต์ศาสนจักร เนื่องจากเขาเป็นผู้สนับสนุนการอยู่ใต้อำนาจ. เขามีแง่คิดที่ว่าพระบุตรทรงอยู่ใต้อำนาจพระบิดา. ในหนังสือข้อคัดค้านต่อเฮอร์มอเจนีส เขาเขียนว่า
“เราไม่ควรสันนิษฐานว่ามีผู้ทรงเป็นอยู่องค์ใดอื่นอีกนอกจากพระเจ้าแต่ผู้เดียวผู้ซึ่งไม่มีการกำเนิดและไม่ได้ถูกสร้างขึ้น. . . . จะเป็นได้อย่างไรที่จะมีสิ่งใด ๆ นอกจากพระบิดาแล้ว จะเป็นผู้ที่ดำรงอยู่นานกว่า และสูงส่งกว่าอย่างแน่แท้เหนือพระบุตรของพระเจ้า ผู้เป็นพระวาทะที่ได้รับการกำเนิดองค์แรกและองค์เดียว? . . . [พระเจ้า]ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีผู้สร้างเพื่อให้ดำรงอยู่นั้น ต้องสูงกว่าในตำแหน่งยิ่งกว่า [พระบุตร] ซึ่งทรงมีผู้สร้างเพื่อให้ดำรงอยู่.”26
นอกจากนั้น ในข้อคัดค้านต่อแพร็กเซียส เขาแสดงให้เห็นว่าพระบุตรทรงต่างจากและทรงอยู่ใต้อำนาจพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการโดยกล่าวว่า:
“พระบิดาทรงเป็นสาระทั้งสิ้น แต่พระบุตรทรงเป็นผู้มีการกำเนิดและเป็นส่วนหนึ่งแห่งสาระทั้งหมด ดังที่พระองค์เองทรงยอมรับว่า ‘พระบิดาของเราทรงเป็นใหญ่กว่าเรา.’ . . . ด้วยเหตุนั้นเอง พระบิดาจึงเป็นอยู่ต่างหากจากพระบุตร ทรงเป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่าพระบุตร เนื่องด้วยพระองค์เองผู้ทรงให้กำเนิดทรงเป็นผู้หนึ่ง และพระองค์ผู้ได้รับการกำเนิดทรงเป็นอีกผู้หนึ่ง; เช่นเดียวกัน พระองค์ผู้ทรงส่งมาทรงเป็นผู้หนึ่ง และพระองค์ผู้ถูกส่งมาทรงเป็นอีกผู้หนึ่ง; และอีกประการ พระองค์ผู้ทรงสร้างทรงเป็นผู้หนึ่ง และพระองค์ผู้ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นโดยทางพระองค์ก็ทรงเป็นอีกผู้หนึ่ง.”27
เทอร์ทุลเลียนกล่าวไว้ในข้อคัดค้านต่อเฮอร์มอเจนีส อีกว่า มีเวลาหนึ่งเมื่อพระบุตรไม่ได้ดำรงอยู่ในฐานะบุคคล แสดงว่าเขาไม่ได้ถือว่าพระบุตรทรงดำรงนิรันดร์ในความหมายเดียวกับที่พระเจ้าทรงเป็น.28 คาร์ดินัล นิวแมนกล่าวว่า “เทอร์ทุลเลียนคงต้องเป็นผู้เชื่อในหลักคำสอนที่ไม่ใช่ออร์โธด็อกซ์ที่ได้พิจารณาเกี่ยวกับหลักคำสอนเรื่องการที่พระบุตรได้รับการกำเนิดโดยพระบิดาจากความเป็นนิรันดรทั้งสิ้นและด้วยเหตุนั้นจึงร่วมดำรงนิรันดร์กับพระบิดา.”29 เกี่ยวกับเทอร์ทุลเลียน แลมสันแถลงดังนี้:
“ดังที่เทอร์ทุลเลียนเชื่อ ลอกอสองค์นี้ ดังที่เรียกในภาษากรีก ภายหลังต่อมาได้เปลี่ยนไปเป็นพระวาทะ หรือพระบุตร นั่นคือ ผู้เป็นอยู่จริง หลังจากที่ดำรงอยู่ตั้งแต่นิรันดร์กาลเพียงในฐานะเป็นคุณลักษณะหนึ่งของพระบิดา. แต่เทอร์ทุลเลียนถือว่าพระองค์มีตำแหน่งอยู่ใต้อำนาจของพระบิดา . . .
“ถ้าได้พิจารณาตัดสินโดยอาศัยคำอธิบายเรื่องตรีเอกานุภาพอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในสมัยนี้ ความพยายามที่จะช่วยเทอร์ทุลเลียนให้พ้นจากคำประณาม (ว่าเป็นพวกนอกรีต) คงไร้ผล. เขาไม่อาจทนการทดสอบได้แม้ชั่วเวลาสั้น.”30
ไม่มีตรีเอกานุภาพ
หากคุณจะอ่านถ้อยคำทั้งหมดของพวกผู้แก้ต่าง คุณก็คงพบว่าถึงแม้พวกเขาจะกล่าวนอกเหนือจากหลักคำสอนต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลในบางแง่ก็ตาม แต่ก็ไม่มีสักคนที่สอนว่าพระบิดา, พระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้นเสมอภาคกันในความเป็นนิรันดร์, ฤทธิ์อำนาจ, ตำแหน่ง, และสติปัญญา.
เรื่องนี้เป็นความจริงเช่นกันกับผู้เขียนคนอื่น ๆ แห่งศตวรรษที่สองและที่สาม เช่นอิเรแนอุส, ฮิปาลาทาส, ออริเกน, ซิเปรียน, และโนวาเชียน. ขณะที่พวกเขาบางคนได้แสดงว่าพระบิดาและพระบุตรเสมอภาคกันในบางแง่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขามีแง่คิดที่ว่าพระบุตรทรงอยู่ใต้อำนาจพระเจ้าพระบิดา. และไม่มีพวกเขาสักคนที่อนุมานว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เสมอภาคกับพระบิดาและพระบุตร. ตัวอย่างเช่น เออริเกน (ประมาณ ปีสากลศักราช 185 ถึง 254) กล่าวว่าพระบุตรของพระเจ้าทรงเป็น “พระบุตรหัวปีแห่งสิ่งทรงสร้างทั้งสิ้น” และว่าพระคัมภีร์ “รู้จักว่าพระองค์ทรงเป็นสิ่งทรงสร้างที่มีวัยวุฒิสูงสุดในบรรดาผลงานแห่งการทรงสร้าง.”31
การอ่านอย่างไม่มีอคติใด ๆ เกี่ยวกับพวกนักศาสนาที่ทรงอิทธิพลเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่าหลักคำสอนของคริสต์ศาสนจักรเรื่องตรีเอกานุภาพนั้นไม่มีอยู่เลยในสมัยนั้น. ดังที่หนังสือคริสต์จักรแห่งสามศตวรรษแรก กล่าวไว้ดังนี้:
“หลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพอันเป็นที่นิยมในสมัยนี้ . . . ไม่ได้รับการสนับสนุนเลยจากบทความของจัสติน และข้อคิดเห็นนี้ก็อาจแพร่ไปถึงพวกนักเขียนก่อนสมัยสภานีเซียทุกคนด้วย นั่นคือ ไปถึงนักเขียนคริสเตียนทุกคนในช่วงสามร้อยปีภายหลังการประสูติของพระคริสต์. เป็นความจริง พวกเขากล่าวถึงพระบิดา, พระบุตร, และพระวิญญาณแห่งคำพยากรณ์หรือพระวิญญาณบริสุทธิ์ แต่ไม่ใช่ในฐานะที่เสมอภาคกัน ไม่ใช่ในฐานะเท่าเทียมกัน, ไม่ใช่เป็นสามพระองค์ในพระองค์เดียว ไม่ว่าในความหมายใด ๆ อันเป็นที่ยอมรับโดยพวกที่เชื่อตรีเอกานุภาพ. ข้อเท็จจริงตรงข้ามกันอย่างยิ่ง. หลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ ดังที่พวกผู้เขียนเหล่านั้นอธิบายนั้น เป็นสิ่งที่ผิดแผกไปจากหลักคำสอนในสมัยปัจจุบันอย่างสิ้นเชิงทีเดียว. เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ได้เช่นเดียวกับข้อเท็จจริงใด ๆ ในประวัติศาสตร์แห่งข้อคิดเห็นของมนุษย์.”32
อันที่จริง ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องตรีเอกานุภาพก่อนสมัยเทอร์ทุลเลียนเสียด้วยซ้ำ. และหลัก “ตรีเอกานุภาพ”ของเทอร์ทุลเลียนซึ่งไม่เป็นไปตามคำสอน “ออร์โธด็อกซ์” นั้นก็ผิดแผกไปมากจากหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพที่เชื่อกันในทุกวันนี้. ถ้าเช่นนั้น หลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพดังที่เข้าใจกันในทุกวันนี้เกิดขึ้นมาอย่างไร? หลักคำสอนนี้มีขึ้น ณ สภาแห่งนีเซียเมื่อปีสากลศักราช 325 หรือเปล่า? เราจะตรวจสอบคำถามเหล่านี้ในตอนที่ 4 ของบทความชุดนี้ในหอสังเกตการณ์ อีกฉบับหนึ่งในวันข้างหน้า.
หนังสืออ้างอิง
1. A Short History of the Early Church, by Harry R. Boer, 1976, page 110.
2. The Formation of Christian Dogma, by Martin Werner, 1957, page 125.
3. The Search for the Christian Doctrine of God, by R. P. C. Hanson, 1988, page 64.
4. The Church of the First Three Centuries, by Alvan Lamson, 1869, pages 70-1.
5. Gods and the One God, by Robert M. Grant, 1986, pages 109, 156, 160.
6. The Formation of Christian Dogma, pages 122, 125.
7. The International Standard Bible Encyclopedia, 1982, Volume 2, page 513.
8. An Essay on the Development of Christian Doctrine, by John Henry Cardinal Newman, Sixth Edition, 1989, pages 14-18.
9. The Ante-Nicene Fathers, edited by Alexander Roberts and James Donaldson, American Reprint of the Edinburgh Edition, 1885, Volume I, page 264.
10. Ibid., page 184.
11. The Ante-Nicene Fathers, Volume 1, page 223.
12. Ibid., page 164.
13. A Short History of Christian Doctrine, by Bernhard Lohse, translated from the German by F. Ernest Stoeffler, 1963, second paperback printing, 1980, page 43.
14. An Essay on the Development of Christian Doctrine, page 20.
15. The Church of the First Three Centuries, pages 73-4, 76.
16. The Ante-Nicene Fathers, Volume II, page 234.
17. Ibid., page 227.
18. Ibid., page 228.
19. Ibid.
20. Ibid., page 593.
21. Ibid.
22. Ibid., page 524.
23. The Church of the First Three Centuries, pages 124-5.
24. Ibid., page 95.
25. The Early Church, by Henry Chadwick, 1980 printing, page 89.
26. The Ante-Nicene Fathers, Volume III, page 487.
27. Ibid., pages 603-4.
28. Ibid., page 478.
29. An Essay on the Development of Christian Doctrine, pages 19, 20.
30. The Church of the First Three Centuries, pages 108-9.
31. The Ante-Nicene Fathers, Volume IV, page 560.
32. The Church of the First Three Centuries, pages 75-6.
[รูปภาพหน้า 27]
เคลเมนต์
[ที่มาของภาพ]
Historical Pictures Service
[รูปภาพหน้า 28]
เทอร์ทุลเลียน
[ที่มาของภาพ]
Historical Pictures Service