“เราได้พบพระมาซีฮาแล้ว”!
“คนนี้ [อันดะเรอา] ไปหาซีโมนพี่ชายของตนก่อน และบอกเขาว่า ‘เราได้พบพระมาซีฮาแล้ว’ (ซึ่งแปลว่าพระคริสต์).”—โยฮัน 1:41, ล.ม.
1. โยฮันผู้ให้บัพติสมาได้ให้การเป็นพยานเรื่องอะไรเกี่ยวกับพระเยซูชาวนาซาเร็ธ และอันดะเรอาลงความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับพระองค์?
อันดะเรอาจ้องมองชายยิวผู้มีชื่อเยซูแห่งนาซาเร็ธอยู่นาน. ชายผู้นี้ไม่ส่อลักษณะเป็นกษัตริย์, หรือเป็นปราชญ์, หรือเป็นรับบี. เขาไม่แต่งเครื่องทรงหรูหราอย่างเจ้า, ผมไม่หงอก, มือไม่นิ่มและผิวพรรณไม่ขาวผ่อง. พระเยซูเป็นคนหนุ่ม—อายุประมาณสามสิบปี—มือด้านและผิวคล้ำแดดเยี่ยงคนทำงานที่ใช้กำลังหรือใช้มือ. ฉะนั้น อันดะเรอาคงไม่ประหลาดใจเมื่อรู้ว่าพระเยซูเป็นช่างไม้. กระนั้น โยฮันผู้ให้บัพติสมาได้พูดถึงบุรุษผู้นี้ว่า “ดูแน่ะ พระเมษโปดกของพระเจ้า!” วันก่อนหน้านั้น โยฮันยังได้กล่าวสิ่งน่าทึ่งกว่านี้อีกว่า “พระองค์นั้นแหละเป็นพระบุตรของพระเจ้า.” ข้อนี้เป็นจริงได้ไหม? อันดะเรอาได้ใช้เวลาไม่น้อยในวันนั้นฟังพระเยซู. พวกเราไม่รู้ว่าพระเยซูพูดเรื่องอะไร เรารู้ว่าถ้อยคำที่พระองค์ตรัสนั้นได้เปลี่ยนชีวิตอันดะเรอา. เขารุดไปหาซีโมน พี่ชายของตนและพูดด้วยความตื่นเต้นว่า “เราได้พบพระมาซีฮาแล้ว”!—โยฮัน 1:34-41, ล.ม.
2. ทำไมเป็นสิ่งสำคัญที่จะพิจารณาหลักฐานว่าด้วยพระเยซูเป็นมาซีฮาตามคำสัญญาหรือไม่?
2 อันดะเรอาและซีโมน (ซึ่งพระเยซูตั้งชื่อให้ใหม่ว่าเปโตร) ต่อมาได้กลายเป็นอัครสาวกของพระเยซู. ภายหลังการเป็นสาวกของพระองค์นานกว่าสองปี เปโตรได้บอกกับพระเยซูว่า “พระองค์เป็นพระคริสต์ [มาซีฮา] บุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” (มัดธาย 16:16) ในที่สุด บรรดาอัครสาวกและสาวกทั้งหลายที่ซื่อสัตย์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเต็มใจพลีชีวิตเพื่อความเชื่อข้อนี้. ทุกวันนี้ สุจริตชนหลายล้านคนเลื่อมใสศรัทธาพอ ๆ กัน. อาศัยพยานหลักฐานอะไร? ก็หลักฐานที่แสดงความแตกต่างระหว่างความเชื่อกับการเพียงแต่เป็นคนหูเบา. (ดูที่พระธรรมเฮ็บราย 11:1.) ดังนั้นให้เราพิจารณาหลักฐานจากสักสามแนวซึ่งพิสูจน์ว่าพระเยซูคือพระมาซีฮาจริง.
วงศ์ตระกูลของพระเยซู
3. กิตติคุณเขียนโดยมัดธายและลูกาให้รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับวงศ์วานของพระเยซู?
3 เชื้อวงศ์ของพระเยซูเป็นหลักฐานแรกที่คัมภีร์ภาคภาษากรีกระบุไว้เพื่อสนับสนุนตำแหน่งมาซีฮาของพระองค์. คัมภีร์ไบเบิลแจ้งล่วงหน้าแล้วว่าพระมาซีฮาจะมาบังเกิดในเชื้อวงศ์กษัตริย์ดาวิด. (บทเพลงสรรเสริญ 132:11, 12; ยะซายา 11:1, 10) กิตติคุณที่เขียนโดยมัดธายขึ้นต้นดังนี้: “หนังสือลำดับวงศ์ของพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นเชื้อสายของดาวิด, ผู้สืบตระกูลเนื่องมาจากอับราฮาม.” มัดธายสนับสนุนข้ออ้างอิงที่กล้าหาญนี้โดยการสืบค้นเชื้อสายของพระเยซูที่มาทางโยเซฟบิดาเลี้ยง. (มัดธาย 1:1-16) กิตติคุณที่เขียนโดยลูกาสืบค้นเชื้อวงศ์พระเยซูทางมาเรีย มารดาแท้ ๆ ของพระองค์ ย้อนขึ้นไปถึงดาวิดและอับราฮามกระทั่งถึงอาดาม. (ลูกา 3:23-38)a ดังนั้น ผู้เขียนกิตติคุณให้หลักฐานการอ้างอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่าพระเยซูเป็นทายาทของดาวิด ทั้งในแง่กฎหมายและโดยกำเนิด.
4, 5. (ก) คนร่วมสมัยกับพระเยซูได้คัดค้านในเรื่องที่ว่าพระองค์สืบเชื้อวงศ์ของดาวิดไหม? และเหตุใดเรื่องนี้จึงน่าสนใจ? (ข) การอ้างอิงซึ่งไม่ได้มาจากคัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนการนับสืบเชื้อวงศ์ของพระเยซูอย่างไร?
4 แม้แต่ฝ่ายที่แสดงความสงสัยอย่างยิ่งต่อตำแหน่งมาซีฮาของพระเยซูก็ไม่สามารถปฏิเสธคำอ้างของพระเยซูคริสต์ที่ว่าเป็นบุตรดาวิด. เพราะเหตุใด? มีเหตุผลสองข้อ. หนึ่ง คำอ้างนั้นได้นี้มีการกล่าวซ้ำหลายครั้งอย่างกว้างขวางในกรุงยะรูซาเลมเป็นเวลาหลายสิบปีก่อนกรุงถูกทำลายเมื่อปีสากลศักราช 70. (เทียบกับมัดธาย 21:9; กิจการ 4:27; 5:27, 28.) หากคำอ้างนี้ไม่จริง ปรปักษ์คนใดก็ได้ของพระเยซู—และพระองค์มีศัตรูมาก—ก็อาจพิสูจน์ว่าคำอ้างของพระเยซูเป็นเท็จโดยเพียงแต่ตรวจสอบวงศ์ตระกูลของพระองค์ได้จากที่เก็บเอกสารสาธารณะ.b แต่ไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ว่ามีคนใด คัดค้านเรื่องที่ว่าพระเยซูสืบมาจากกษัตริย์ดาวิด. ปรากฏชัดว่า คำอ้างนั้นไม่สามารถโต้แย้งได้. ไม่ต้องสงสัย มัดธายและลูกาได้คัดลอกรายชื่อสำคัญ ๆ โดยตรงจากเอกสารสาธารณะเพื่อนำมาลงไว้ในบันทึกของตน.
5 ประการที่สอง แหล่งต่าง ๆ ที่ไม่ได้มาจากคัมภีร์ไบเบิลก็ยืนยันการยอมรับอย่างกว้างขวางเรื่องวงศ์ตระกูลของพระเยซู. อาทิ คัมภีร์ทัลมุดบันทึกเรื่องรับบีแห่งศตวรรษที่สี่ซึ่งกล่าวโจมตีมาเรีย มารดาพระเยซูอย่างหยาบคายว่า ‘แสดงตัวเป็นหญิงโสเภณีสมสู่กับพวกช่างไม้’ แต่ในข้อความเดียวกันก็ยอมรับว่า ‘หล่อนสืบตระกูลมาจากพวกเจ้าและเป็นเชื้อพระวงศ์.” ตัวอย่างหนึ่งในตอนแรก ๆ ได้แก่เฮเกซิปพุส นักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่สอง. เขาพูดโยงไปถึงคราวที่โดมิเทียน ซีซาร์แห่งโรมประสงค์จะกำจัดใครก็ตามที่สืบเชื้อสายมาจากดาวิดให้สิ้น ศัตรูบางคนของคริสเตียนสมัยต้น ๆ ได้กล่าวโทษรุ่นหลานเหลนของยูดา น้องชายร่วมมารดาเดียวกันกับพระเยซู “ในฐานะเป็นผู้อยู่ในวงศ์ตระกูลของดาวิด.” ถ้ายูดาเป็นที่รู้จักกันว่าสืบเชื้อสายมาจากดาวิด แล้วพระเยซูไม่ใช่ด้วยหรือ? เห็นชัดว่าปฏิเสธไม่ได้!—ฆะลาเตีย 1:19; ยูดา 1.
คำพยากรณ์กล่าวถึงพระมาซีฮา
6. คำพยากรณ์ในคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่เกี่ยวกับพระมาซีฮานั้นมีมากมายเพียงใด?
6 ความสมจริงของคำพยากรณ์เป็นหลักฐานอีกแนวหนึ่งที่ว่าพระเยซูคือพระมาซีฮา. คำพยากรณ์มากมายหลายข้อในคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูใช้หมายถึงพระมาซีฮา. ในหนังสือของเขาชื่อชีวิตและสมัยของพระเยซูพระมาซีฮา [ภาษาอังกฤษ] อัลเฟร็ด เอเดอร์ไชม์ นับได้ถึง 456 ตอนในคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูซึ่งพวกรับบีในสมัยโบราณถือว่าเกี่ยวเนื่องกับมาซีฮา. อย่างไรก็ดี พวกรับบีเหล่านั้นมีความเห็นไม่ถูกต้องหลายอย่างเรื่องมาซีฮา; หลายตอนที่เขาหยิบยกขึ้นมาไม่เกี่ยวกับมาซีฮาเลย. แต่อย่างน้อย ก็ยังมีคำพยากรณ์หลายสิบข้อได้ระบุตัวพระเยซูเป็นพระมาซีฮา.—เทียบกับวิวรณ์ 19:10.
7. คำพยากรณ์อะไรบ้างที่พระเยซูทรงทำให้สำเร็จในระหว่างการดำเนินชีวิตของพระองค์บนแผ่นดินโลก?
7 บางข้อเช่น ตำบลที่พระองค์ประสูติ (มีคา 5:2; ลูกา 2:4-11); โศกนาฏกรรมเนื่องจากการสังหารลูกเล็กเด็กแดงภายหลังการประสูติของพระองค์ (ยิระมะยา 31:15; มัดธาย 2:16-18); พระองค์จะถูกเรียกออกจากอียิปต์ (โฮเซอา 11:1; มัดธาย 2:15) ผู้ปกครองแห่งนานาประเทศรวมหัวคบคิดสังหารพระองค์ (บทเพลงสรรเสริญ 2:1, 2; กิจการ 4:25-28); การทรยศต่อพระองค์ด้วยเงินสามสิบแผ่น (ซะคาระยา 11:12; มัดธาย 26:15); แม้กระทั่งอาการสิ้นพระชนม์ของพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 22:16, ล.ม. ฉบับมีข้ออ้างอิง, ดูหมายเหตุ; โยฮัน 19:18, 23; 20:25, 27.c
คำพยากรณ์ที่ชี้ถึงการมาบังเกิดของพระองค์
8. (ก) คำพยากรณ์ข้อใดชี้ชัดถึงเวลาเมื่อพระมาซีฮาจะมา? (ข) ปัจจัยสองประการอะไรต้องเป็นที่รู้กันเพื่อการเข้าใจคำพยากรณ์นี้?
8 ให้เราเพ่งเล็งคำพยากรณ์เพียงข้อเดียว. ที่ดานิเอล 9:25, (ล.ม.) ชาวยิวได้รับการบอกเล่าถึงการเสด็จของพระมาซีฮา. ข้อนั้นอ่านว่า “และเจ้าควรรู้ และเข้าใจลึกซึ้งว่า ตั้งแต่มีรับสั่งออกมาให้กู้กรุงยะรูซาเลม และให้สร้างขึ้นใหม่ไปจนกระทั่งถึงมาซีฮาผู้นำนั้น จะเป็นเวลาเจ็ดสัปดาห์ และหกสิบสองสัปดาห์. กรุงจะคืนสภาพและจะถูกสร้างขึ้นใหม่จริง ๆ พร้อมด้วยจตุรัสกลางเมืองและคูเมือง ถึงแม้จะเป็นยามทุกข์อันแสนเข็ญก็ตาม.” เมื่อดูผ่าน ๆ คำพยากรณ์ข้อนี้อาจดูเหมือนคลุมเครือ. แต่ส่วนใหญ่แล้ว ข้อความตอนนี้ชวนเราให้ค้นหาข้อมูลสองประการ กล่าวคือ จุดเริ่มต้นและระยะเวลา. ยกตัวอย่าง: ถ้าคุณมีแผนที่ซึ่งชี้ขุมทรัพย์ฝังอยู่ใต้ดิน “ห้าสิบร็อด ทางทิศตะวันออกของบ่อน้ำในสวนสาธารณะประจำเมือง” คุณอาจจะงงกับการชี้ทิศทางแบบนี้—โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณไม่รู้ว่าบ่อน้ำอยู่ที่ไหน หรือไม่รู้ว่าหนึ่ง ‘ร็อด’ ยาวเท่าไร. คุณจะสืบค้นให้รู้ข้อเท็จจริงสองข้อนั้นมิใช่หรือเพื่อคุณจะสามารถพบขุมทรัพย์? คำพยากรณ์ของดานิเอลก็แบบเดียวกัน เว้นแต่ว่าเรากำลังระบุเวลาเริ่มต้นและวัดช่วงเวลาต่อจากนั้น.
9, 10. (ก) อะไรคือจุดเริ่มต้นของการนับเวลา 69 สัปดาห์? (ข) เวลา 69 สัปดาห์นานเท่าไร และเรารู้ได้อย่างไร?
9 ก่อนอื่น เราต้องมีจุดเริ่มต้น วันที่เมื่อ ‘มีคำสั่งออกมาให้กู้กรุงยะรูซาเลม.’ ขั้นต่อไป เราจำเป็นต้องรู้ระยะเวลานับจากจุดนั้น ว่า 69 (7 บวก 62) สัปดาห์มีระยะเวลานานเท่าไร. ข้อมูลทั้งสองข้อนั้นหาได้ไม่ยาก นะเฮมยาบอกเรารู้อย่างละเอียดว่า มีราชโองการให้สร้างกำแพงรอบกรุงยะรูซาเลม สร้างให้เป็นอย่างเมืองที่ถูกกอบกู้ขึ้นใหม่ใน “ปีที่ยี่สิบแห่งรัชกาลของกษัตริย์อะระธาสัศธา.” (นะเฮมยา 2:1, 5, 7, 8) ข้อนี้ทำให้เราได้จุดเริ่มต้นในปี 455 ก่อนสากลศักราช.d
10 ตอนนี้ เมื่อพูดถึง 69 สัปดาห์ เป็นสัปดาห์ละเจ็ดวันตามตัวอักษรไหม? ไม่ใช่ เพราะพระมาซีฮามิได้ปรากฏตัวเมื่อหนึ่งปีกว่า ๆ ภายหลังปี 455 ก่อนสากลศักราช. ด้วยเหตุนั้น ผู้คงแก่เรียนด้านพระคัมภีร์ส่วนใหญ่และฉบับแปลหลายฉบับ (รวมฉบับ ทานักห์ ของชาวยิวในหมายเหตุสำหรับข้อนี้) ต่างก็เห็นพ้องกันว่าสัปดาห์เหล่านี้เป็นสัปดาห์ “แห่งปี.” ความเข้าใจเรื่อง ‘สัปดาห์แห่งปี’ หรือรอบเจ็ดปี เป็นเรื่องที่ชาวยิวโบราณคุ้นเคยดี. เหมือนกับที่เขาได้ถือรักษาวันซะบาโตทุก ๆ วันที่เจ็ด เขาก็ถือรักษาปีซะบาโตทุกปีที่เจ็ด. (เอ็กโซโด 20:8-11; 23:10, 11) ดังนั้น 69 สัปดาห์แห่งปีย่อมเป็นจำนวนเท่ากับ 69 คูณ 7, หรือ 483 ปี. ตอนนี้ ที่เราต้องทำก็คือนับ. จากปี 455 ก่อนสากลศักราช นับไป 483 ปี เราก็มาถึงปีสากลศักราช 29—ปีนั้นทีเดียวที่พระเยซูทรงรับบัพติสมาและได้มาเป็น มาชิʹอัค, พระมาซีฮา!—ดูหัวเรื่อง “เจ็ดสิบสัปดาห์” ในหนังสือ อินไซต์ ออน เดอะ สคริพเจอร์, เล่ม 2 หน้า 899.
11. เราจะตอบคนเหล่านั้นอย่างไรที่พูดว่า วิธีนี้เป็นเพียงการตีความคำพยากรณ์ของดานิเอลในสมัยนี้เท่านั้น?
11 บางคนอาจค้านว่านี้เป็นวิธีสมัยใหม่เกี่ยวกับการตีความคำพยากรณ์ให้เข้ากับประวัติศาสตร์. หากเป็นอย่างว่า ทำไมผู้คนสมัยพระเยซูคาดหวัง พระมาซีฮาจะปรากฏตัวในครั้งนั้น? ลูกา นักประวัติศาสตร์คริสเตียน, ทาซิทุสและซุเอโตนิอุส นักประวัติศาสตร์โรมัน, โยซีฟุส นักประวัติศาสตร์ยิว, และฟิโล นักปรัชญาชาวยิว คนเหล่านี้ทุกคนมีชีวิตอยู่ในเวลาไล่เลี่ยกันและได้เป็นพยานถึงภาวะซึ่งมีการคาดหวังเรื่องนี้. (ลูกา 3:15) เวลานี้ นักศึกษาบางคนยืนกรานว่าเป็นเพราะสมัยนั้นคนยิวถูกพวกโรมันกดขี่ เขาจึงคอยหาและคาดหมายพระมาซีฮามาโปรด. แต่ทำไมชาวยิวพากันคาดหวังพระมาซีฮาในช่วงเวลานั้นยิ่งเสียกว่าสมัยที่ถูกข่มเหงอย่างทารุณโดยพวกกรีกตั้งหลายศตวรรษก่อนหน้านั้น? ทำไมทาซิอุสบอกว่า “คำพยากรณ์ลึกลับ” ทำให้พวกยิวคาดหมายผู้มีอำนาจปกครองจากแคว้นยูดาย และ “เข้ายึดจักรวรรดิสากล”? ในหนังสือชื่อ ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการคาดคะเนมาซีฮาในแผ่นดินยิศราเอล (ภาษาอังกฤษ) เขียนโดย อับบา ฮิลเลล ซิลเวอร์เขายอมรับว่า “มีการคาดหวังพระมาซีฮาในช่วงกึ่งศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช” ไม่ใช่เนื่องจากการข่มเหงของพวกโรมัน แต่เป็นเพราะ “การลำดับวงศ์วานอันเป็นที่นิยมกันในยุคนั้น” โดยอาศัยบางส่วนจากพระธรรมดานิเอล.
ได้รับการระบุตัวจากสวรรค์
12. พระยะโฮวาทรงระบุตัวพระเยซูอย่างไรว่าเป็นมาซีฮา?
12 หลักฐานแนวที่สามเกี่ยวด้วยตำแหน่งมาซีฮาของพระเยซูนั้นเป็นคำพยานจากพระเจ้าโดยตรง. ตามที่แจ้งในลูกา 3:21, 22 หลังจากพระเยซูรับบัพติสมาแล้ว พระองค์ได้รับการเจิมด้วยฤทธิ์อำนาจอันศักดิ์สิทธิ์และมีพลังมากที่สุดในเอกภพ นั้นคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้ายะโฮวาเอง. และด้วยพระสุรเสียงของพระองค์เอง พระยะโฮวาตรัสรับรองว่าพระองค์ทรงพอพระทัยในพระบุตรของพระองค์ พระเยซู. ณ โอกาสอื่นอีกสองครั้ง พระยะโฮวาตรัสแก่พระเยซูจากสวรรค์โดยตรง โดยวิธีนี้แสดงถึงความพอพระทัยของพระองค์: ครั้งหนึ่งต่อหน้าอัครสาวกสามคนของพระเยซู และอีกครั้งหนึ่งต่อหน้าฝูงชนที่มองดู. (มัดธาย 17:1-5; โยฮัน 12:28, 29) นอกจากนั้น หมู่ทูตสวรรค์ถูกส่งลงมาจากเบื้องบนให้ยืนยันรับรองสถานะของพระเยซูผู้เป็นพระคริสต์ หรือพระมาซีฮา.—ลูกา 2:10, 11.
13, 14. พระยะโฮวาทรงแสดงอย่างไรว่าพระองค์พอพระทัยพระเยซูฐานะที่เป็นพระมาซีฮา?
13 พระยะโฮวาทรงแสดงความพอพระทัยของพระองค์ต่อผู้ที่พระองค์ทรงเจิม โดยประทานอำนาจแก่ผู้นั้นให้กระทำการงานใหญ่โต. ตัวอย่างเช่น พระเยซูทรงกล่าวคำพยากรณ์ซึ่งให้รายละเอียดแห่งประวัติศาสตร์ไว้ล่วงหน้า—บางเรื่องยืดมาจนถึงสมัยของพวกเราทีเดียว.e อนึ่ง พระองค์ได้ทรงกระทำการอัศจรรย์ต่าง ๆ อาทิ ทรงเลี้ยงอาหารฝูงชนที่หิวและรักษาคนเจ็บป่วยให้หาย. พระองค์ถึงกับทรงปลุกคนตายให้ฟื้นด้วย. เหล่าสาวกของพระองค์เพียงแต่กุเรื่องการกระทำที่กอปรด้วยฤทธิ์เดชขึ้นมาไหม? พระเยซูทรงสำแดงการอัศจรรย์หลายครั้งต่อหน้าพยานที่รู้เห็น บางครั้งมีคนนับพัน ๆ เห็น. อันที่จริง แม้แต่พวกศัตรูของพระเยซูไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพระองค์ทรงกระทำกิจเหล่านี้. (มาระโก 6:2, โยฮัน 11:47) ยิ่งกว่านั้น ถ้าสาวกของพระเยซูจงใจกุเรื่องขึ้นมา แล้วทำไมพวกเขากล่าวตรง ๆ ไม่บิดเบือนเรื่องการผิดพลาดของตัวเอง? จริง ๆ แล้ว พวกเขาจะเต็มใจยอมตายเพราะความเชื่อซึ่งยึดกับเรื่องนิยายไหม ตามที่เขาได้ผูกเรื่องราวขึ้นเอง? ไม่เป็นเช่นนั้นแน่. การอัศจรรย์ที่พระเยซูทรงกระทำนั้นเป็นความจริงในประวัติศาสตร์.
14 หลักฐานที่มาจากพระเจ้าว่าด้วยพระเยซูเป็นพระมาซีฮาได้ไปไกลกว่านั้น. โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์ทรงทำให้แน่ใจว่า หลักฐานการเป็นมาซีฮาของพระเยซูได้รับการจารึกไว้ และได้มาเป็นส่วนของหนังสือซึ่งมีการแปลและจำหน่ายมากที่สุดในประวัติศาสตร์.
ทำไมชาวยิวไม่รับรองพระเยซู?
15. (ก) การชี้ตัวพระเยซูที่เชื่อถือได้ว่าทรงเป็นพระมาซีฮานั้นเป็นไปอย่างกว้างขวางเพียงไร? (ข) การคาดหวังของคนยิวเป็นแบบไหนซึ่งทำให้พวกเขาเป็นอันมากปฏิเสธพระเยซูในฐานะพระมาซีฮา?
15 ดังนั้นแล้ว หลักฐานทั้งสามแนวเหล่านี้ประกอบด้วยข้อเท็จจริงอย่างเลี่ยงไม่ได้นับร้อย ๆ ข้อซึ่งระบุองค์พระเยซูในฐานะเป็นพระมาซีฮา. นั้นยังไม่พอหรือ? ลองนึกถึงการขอใบขับขี่หรือบัตรเครดิต แล้วได้รับคำบอกกล่าวว่าหลักฐานสามอย่างไม่พอ—คุณต้องแสดงหลักฐานนับร้อย. เป็นเรื่องขาดเหตุผลเพียงไร! เช่นนั้นแล้ว จึงเป็นที่แน่นอนว่าพระเยซูได้รับการพิสูจน์แล้วอย่างเพียงพอในคัมภีร์ไบเบิล. แต่ทำไมคนมากมายที่เป็นเพื่อนร่วมชาติกับพระเยซูจึงไม่ยอมรับหลักฐานทุกอย่างซึ่งระบุพระองค์เป็นมาซีฮา? เพราะหลักฐานแม้มีความสำคัญต่อความเชื่อแท้ แต่ก็ไม่รับประกันความเชื่อ. น่าเสียดาย หลายคนเชื่อสิ่งที่ตนต้องการเชื่อ แม้หลักฐานมีอยู่อย่างท่วมท้นก็ตาม. เมื่อมาถึงเรื่องมาซีฮา คนยิวส่วนใหญ่มีความคิดแน่นอนอยู่แล้วในสิ่งที่ตนต้องการ. พวกเขาต้องการมาซีฮาทางด้านการเมือง ผู้ซึ่งจะขจัดการกดขี่แห่งโรมและกอบกู้ชาติยิศราเอลคืนสภาพอันรุ่งเรืองด้านวัตถุอย่างสมัยรัชกาลซะโลโม. เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาจะรับรองบุตรช่างไม้ที่ต่ำต้อย ชาวนาซาเร็ธผู้นี้ซึ่งไม่สนใจการเมืองหรือทรัพย์สมบัติได้อย่างไรกัน? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านผู้นี้จะเป็นมาซีฮาได้อย่างไรเมื่อได้ทนทุกข์แล้วตายบนหลักทรมานอย่างน่าอัปยศอดสู?
16. ทำไมสาวกของพระเยซูจึงต้องปรับเปลี่ยนความคาดหมายของตัวเองที่มีต่อพระมาซีฮา?
16 สาวกทั้งหลายของพระเยซูต่างก็สะดุ้งตกใจในการสิ้นพระชนม์ของพระองค์. พอหลังจากการคืนพระชนม์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์แล้ว พวกเขาดูเหมือนตั้งความหวังว่า ‘พระองค์จะกู้แผ่นดินขึ้นใหม่ให้ชาติยิศราเอล’ โดยพลัน. (กิจการ 1:6) แต่พวกเขาไม่ได้ปฏิเสธพระเยซูฐานะเป็นพระมาซีฮา เพียงเพราะความหวังของตัวเองไม่สำเร็จสมจริง. พวกเขาแสดงความเชื่อในพระองค์โดยอาศัยหลักฐานมากมายที่มีอยู่ขณะนั้น และความเข้าใจของเขาค่อย ๆ แจ่มชัดขึ้น ความลึกลับก็กระจ่างขึ้น. พวกเขาเริ่มเข้าใจว่าพระมาซีฮาไม่อาจจะทำให้คำพยากรณ์ทุกตอนที่กล่าวเล็งถึงพระองค์สำเร็จเป็นจริงได้ทั้งหมดภายในช่วงเวลาสั้น ๆ ขณะเป็นมนุษย์อยู่ในโลก. คิดดูซี คำพยากรณ์ข้อหนึ่งกล่าวถึงพระองค์เสด็จอย่างผู้ต่ำต้อยด้วยการทรงลา ขณะที่คำพยากรณ์อีกข้อหนึ่งก็กล่าวเรื่องการเสด็จมาในเมฆพร้อมด้วยสง่าราศี! ทั้งสองเรื่องนี้เป็นจริงได้อย่างไร? ก็ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าพระองค์คงจะต้องเสด็จเป็นครั้งที่สอง.—ซะคาระยา 9:9; ดานิเอล 7:13.
เหตุผลที่มาซีฮาต้องตาย
17. คำพยากรณ์ของดานิเอลให้ความกระจ่างอย่างไรว่าพระมาซีฮาจะต้องตาย และพระองค์ต้องตายเพื่อเหตุผลอันใด?
17 ยิ่งกว่านั้น คำพยากรณ์ว่าด้วยเรื่องมาซีฮายังได้ชี้ชัดอีกว่ามาซีฮาจักต้องตาย. ตัวอย่างเช่น คำพยากรณ์ข้อนั้นที่บอกล่วงหน้าเรื่องเวลาที่มาซีฮาจะมาก็ได้พยากรณ์ไว้ในข้อถัดไปดังนี้: “และหลังจากหกสิบสองสัปดาห์แล้ว [ซึ่งตามหลังเจ็ดสัปดาห์] มาซีฮาจะถูกตัดขาด.” (ดานิเอล 9:26, ล.ม.) คำฮีบรู คารัทʹ ที่นำมาใช้ตอนนี้สำหรับคำ “ตัดขาด” เป็นคำเดียวกันกับคำที่ใช้หมายถึงโทษประหารภายใต้พระบัญญัติของโมเซ. มาซีฮาต้องตายอย่างไม่สงสัย. ทำไม? ข้อ 24 ให้คำตอบแก่พวกเรา: “เพื่อทำให้การล่วงละเมิดสิ้นสุดลง และยุติบาป และเพื่อไถ่ความผิด และเพื่อนำความชอบธรรมเข้ามาเป็นเวลาไม่จำกัด.” คนยิวรู้ดีที่ว่าเฉพาะเครื่องบูชา, ความตายเท่านั้นจะลบล้างการผิดบาปได้—เลวีติโก 17:11; เทียบกับเฮ็บราย 9:22.
18. (ก) ยะซายาบท 53 แสดงให้เป็นอย่างไรว่าพระมาซีฮาต้องทนทุกข์และตาย? (ข) คำพยากรณ์ข้อนี้ดูเหมือนทำให้เกิดการขัดแย้งอะไรขึ้นมา?
18 ยะซายาบท 53 กล่าวถึงมาซีฮาในฐานะเป็นผู้รับใช้พิเศษของพระยะโฮวาผู้ซึ่งต้องทนทุกข์และตายเพื่อปิดคลุมการบาปต่าง ๆ ของผู้อื่น. ข้อ 5 ว่าดังนี้: “เขาผู้นั้นถูกเจ็บเป็นบาดแผลก็เพราะการล่วงละเมิดของพวกเรา และถูกฟกช้ำก็เพราะความอสัตย์อธรรมของพวกเรา.” คำพยากรณ์ข้อเดียวกัน หลังจากบอกเราว่ามาซีฮาผู้นี้ต้องตาย “เป็นเครื่องบูชาไถ่บาป” เปิดเผยว่าท่านผู้นี้ “จะได้มีอายุยืนยาว และความโปรดปรานแห่งพระยะโฮวาจะรุ่งเรืองอยู่ในมือของผู้นั้น.” (ข้อ 10) ไม่ขัดกันหรอกหรือ? มาซีฮาตายแล้วจะ “มีอายุยืนยาว” ได้อย่างไร? ท่านจะพลีชีวิตเป็นเครื่องบูชา ครั้นแล้วทำ ‘สิ่งอันจะนำมาซึ่งความโปรดปรานของพระยะโฮวา’ ได้อย่างไร? อันที่จริง ท่านตายและอยู่ในสภาพนั้นโดยไม่ได้ทำให้สำเร็จตามคำพยากรณ์ส่วนสำคัญที่สุดได้อย่างไร ที่ว่าท่านจะทรงปกครองเป็นกษัตริย์ และทำให้ทั้งโลกมีสันติภาพและความสุข?—ยะซายา 9:6, 7.
19. การกลับเป็นขึ้นจากตายของพระเยซูทำให้คำพยากรณ์ต่าง ๆ ซึ่งดูเหมือนขัดกันในเรื่องพระมาซีฮานั้นกลับสอดคล้องลงรอยกันอย่างไร?
19 สิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องขัดแย้งกันเช่นนี้ได้รับการแก้ไขโดยการอัศจรรย์อันน่าทึ่งเพียงอย่างเดียว. การทำให้พระเยซูเป็นขึ้นจากตาย. ชาวยิวที่สุจริตจริงใจหลายร้อยคนได้มารู้เห็นเป็นพยานความเป็นจริงอันรุ่งโรจน์นี้. (1 โกรินโธ 15:6) ในเวลาต่อมาอัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ฝ่ายพระองค์นี้ [พระเยซูคริสต์] ครั้นทรงกระทำบูชาเพราะความบาปเพียงหนเดียวซึ่งใช้ได้เป็นนิตย์ ก็เสด็จนั่งเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า ตั้งแต่นี้ไปพระองค์คอยอยู่จนถึงบรรดาศัตรูของพระองค์จะถูกปราบลงเป็นที่รองพระบาทของพระองค์.” (เฮ็บราย 10:10, 12, 13) ใช่แล้ว ภายหลังพระเยซูทรงฟื้นคืนพระชนม์สู่ชีวิตฝ่ายสวรรค์แล้ว และภายหลังช่วงที่ “คอยอยู่” ในที่สุดพระองค์จะทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ และดำเนินการปราบศัตรูของพระยะโฮวาพระบิดาของพระองค์. ในบทบาทของพระองค์ฐานะที่ทรงเป็นมหากษัตริย์ทางภาคสวรรค์ พระเยซูมาซีฮาจะมีผลต่อชีวิตมนุษย์ทุกคนที่มีชีวิตเวลานี้. ในทางใด? ในบทความถัดไปเราจะพิจารณาเรื่องนี้.
[เชิงอรรถ]
a เมื่อลูกา 3:23 ระบุว่า “โยเซฟ ซึ่งเป็นบุตรของเฮลี” ดูเหมือนว่า “บุตร”นี้จะหมายถึง “บุตรเขย” เพราะเฮลีเป็นบิดาแท้ ๆ ของมาเรีย.—อินไซต์ ออน เดอะ สคริพเจอร์ส เล่ม 1 หน้า 913-917.
b โยซีฟุสนักประวัติศาสตร์ยิว ในการเสนอเรื่องวงศ์ตระกูลตัวเองได้ทำให้แน่ชัดว่าบันทึกดังกล่าวมีให้ค้นได้ก่อนสากลศักราช 70. ปรากฏว่า บันทึกเหล่านี้ถูกทำลายพร้อมกับกรุงยะรูซาเลม เลยเป็นเหตุที่หลังจากนั้นการกล่าวอ้างทุกอย่างเกี่ยวด้วยการเป็นพระมาซีฮานั้นพิสูจน์ไม่ได้.
c ดูจากหนังสืออินไซต์ ออน เดอะ สคริพเจอร์ส เล่ม 2 หน้า 387.
d มีหลักฐานแน่นหนาจากแหล่งชาวกรีก, บาบูโลน, และเปอร์เซียสมัยโบราณแสดงว่าการขึ้นครองราชย์ปีแรกของอะระธาสัศธาตกในปี 474 ก่อนสากลศักราช. ดูจากหนังสืออินไซต์ ออน เดอะ สคริพเจอร์ส เล่ม 2 หน้า 614-616, 900.
e ในคำพยากรณ์ตอนหนึ่ง พระองค์ทรงทำนายว่าจะมีมาซีฮาปลอมตั้งแต่สมัยของพระองค์เป็นต้นมา. (มัดธาย 24:23-26) ดูบทความก่อนหน้านี้.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ทำไมพึงตรวจสอบหลักฐานว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮาตามที่ทรงสัญญาไว้หรือไม่?
▫ ลำดับเชื้อวงศ์ของพระเยซูสนับสนุนตำแหน่งของพระองค์ในการเป็นพระมาซีฮาอย่างไร?
▫ คำพยากรณ์ต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลช่วยพิสูจน์อย่างไรว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮา?
▫ ในทางใดพระยะโฮวาเองได้ทรงรับรองว่าพระเยซูนี้แหละคือพระมาซีฮา?
▫ ทำไมชาวยิวเป็นอันมากปฏิเสธพระเยซูในฐานะเป็นพระมาซีฮา และทำไมเหตุผลต่าง ๆ ดังกล่าวฟังไม่ขึ้น?
[รูปภาพหน้า 12]
การอัศจรรย์มากมายที่พระเยซูทรงสำแดงนั้น แต่ละอย่างได้พิสูจน์การเป็นพระมาซีฮาของพระองค์หนักแน่นยิ่งขึ้น