การดูแลผู้สูงอายุสิ่งท้าทายและมีผลตอบแทน
ชิเนตสึ ผู้เผยแพร่คริสเตียนคนหนึ่ง กำลังชื่นชมยิ่งกับงานที่ได้รับมอบหมาย. ครอบครัวของเขาซึ่งมีกันสามคนนั้นมีแม่ยายรวมอยู่ด้วย. พวกเขาทำงานอย่างมีความสุขร่วมกับประชาคมเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของพยานพระยะโฮวา สอนพระคัมภีร์ให้ประชาชน จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาถูกทาบทามให้เดินทางเยี่ยมประชาคมอื่น ๆ พร้อมกับภรรยา ซึ่งจะต้องเปลี่ยนที่พักทุกสัปดาห์. เขาตื่นเต้นกับโอกาสที่เสนอให้นี้ แต่ใครจะดูแลคุณแม่ล่ะ?
หลายครอบครัวจะต้องเผชิญกับข้อท้าทายทำนองเดียวกันนี้ในที่สุด—จะทำอย่างไรจึงจะดูแลบิดามารดาผู้สูงอายุให้ดีที่สุด. ปกติไม่ค่อยมีการคิดถึงเรื่องนี้มากนักเมื่อบิดามารดายังคงแข็งแรงและทำงานได้. อย่างไรก็ดี สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจแสดงว่าบิดามารดากำลังแก่ตัวลง เช่น มือสั่นขณะที่พยายามสนเข็ม หรือความจำเสื่อมเมื่อพยายามนึกว่าเห็นของที่วางผิดที่ครั้งหลังสุดเมื่อไร. บ่อยครั้ง อุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันทำให้คนเราสำนึกถึงสิ่งที่บิดามารดาจำเป็นต้องได้รับ. ต้องทำอะไรบางอย่าง.
ในบางประเทศ บิดามารดาซึ่งมีสุขภาพดีพอสมควรอยากใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่เฉพาะกับคู่ของตนมากกว่าที่จะอยู่กับลูก ๆ. ในประเทศอื่น ๆ อย่างเช่นหลายประเทศทางตะวันออกและแอฟริกา เป็นธรรมเนียมที่ผู้สูงอายุจะอยู่กับบุตรของตน โดยเฉพาะบุตรชายคนโต. และยิ่งจะเป็นเช่นนี้หากบิดาหรือมารดานอนป่วย. ยกตัวอย่าง ในประเทศญี่ปุ่น จากจำนวนของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปและนอนป่วยถึงขีดใดขีดหนึ่งนั้น มีประมาณ 240,000 รายได้รับการดูแลที่บ้านโดยครอบครัวของตน.
พันธะทางศีลธรรมและตามหลักพระคัมภีร์
แม้ว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่ในชั่วอายุที่หลายคนกลายเป็น “คนรักตัวเอง,” “ไม่รักซึ่งกันและกัน” แต่เรามีพันธะทางศีลธรรมและตามหลักพระคัมภีร์ต่อผู้สูงอายุ. (2 ติโมเธียว 3:1-5) โตมิโกะซึ่งดูแลมารดาผู้สูงอายุของเธอซึ่งป่วยเป็นโรคพาร์คินสัน บอกถึงพันธะทางศีลธรรมที่เธอรู้สึกเมื่อกล่าวถึงคุณแม่ของเธอว่า “คุณแม่ดูแลดิฉันมา 20 ปี. เวลานี้ ดิฉันต้องการทำแบบเดียวกันแก่ท่าน.” กษัตริย์ซะโลโมผู้ชาญฉลาดเตือนสติว่า “เจ้าจงฟังคำบิดาผู้บังเกิดเกล้าของเจ้า, และอย่าดูหมิ่นมารดาของเจ้าเมื่อท่านแก่ชรา.”—สุภาษิต 23:22.
ไม่ว่าอคติทางศาสนาหรือความไม่พอใจในส่วนของบิดาหรือมารดาที่ไม่เชื่อในพระเจ้านั้น ก็ไม่ลบล้างคำสั่งในพระคัมภีร์ข้อนั้น. คริสเตียนอัครสาวกเปาโลได้รับการดลบันดาลให้เขียนว่า “ถ้าแม้ผู้ใดไม่จัดหามาเลี้ยงคนเหล่านั้นซึ่งเป็นของตนเอง และโดยเฉพาะคนเหล่านั้นซึ่งเป็นสมาชิกแห่งครอบครัวของตน ผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธเสียซึ่งความเชื่อและนับว่าเลวร้ายกว่าคนที่ไม่มีความเชื่อเสียด้วยซ้ำ.” (1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.) พระเยซูทรงวางแบบอย่างสำหรับเรา เมื่อพระองค์ทรงจัดการให้มีผู้ดูแลมารดาของพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งในสิ่งสุดท้ายที่พระองค์ทรงกระทำก่อนการสิ้นพระชนม์.—โยฮัน 19:26, 27.
รับมือกับปัญหาที่ต้องเผชิญ
ทุกคนจำต้องปรับเปลี่ยนหลายอย่างเมื่อสองครอบครัวเข้ามาอยู่ด้วยกันอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่แยกกันอยู่หลายปี. การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เรียกร้องเอาความรัก, ความอดทน, และความเข้าใจกันเป็นอย่างมาก. หากบุตรชายคนโต หรือบุตรชายอีกคนหนึ่งหรือบุตรสาวย้ายครอบครัวของตนเข้ามาอยู่ในบ้านของบิดามารดา เขาต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมใหม่ทั้งหมด. อาจต้องหางานใหม่, โรงเรียนใหม่สำหรับลูก ๆ, และมีเพื่อนบ้านใหม่ที่ต้องทำความคุ้นเคย. บ่อยครั้ง สิ่งนี้หมายถึงหน้าที่เพิ่มขึ้นสำหรับภรรยาด้วย.
จะเป็นการยากสำหรับบิดามารดาในการปรับตัวเช่นกัน. พวกเขาอาจเคยชินกับการอยู่โดยไม่มีใครรบกวน, เงียบสงบ, และมีอิสรภาพในระดับหนึ่งมาแล้ว ในตอนนี้ พวกเขาจะต้องได้ยินเสียงเอะอะที่เต็มไปด้วยพละกำลังของหลาน ๆ และเพื่อนของเขา. พวกเขาเคยชินกับการตัดสินใจด้วยตนเอง และอาจไม่พอใจหากมีการพยายามชี้นำพวกเขา. บิดามารดาหลายคนซึ่งมองเห็นล่วงหน้าถึงเวลาที่ครอบครัวของบุตรชายจะเข้ามาอยู่อาศัยกับตนนั้นได้สร้างบ้านไว้ต่างหากซึ่งอยู่ใกล้ ๆ หรือต่อเติมบ้านของตนโดยเชื่อมต่อทางเดินถึงกัน ทำให้มีความเป็นอิสระในระดับหนึ่งสำหรับทุกคน.
ที่ซึ่งเป็นบ้านหลังเล็กอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนมากกว่าเพื่อให้มีที่ทางสำหรับผู้มาใหม่. คุณแม่คนหนึ่งหัวเราะเมื่อนึกย้อนถึงลูกสาวทั้งสี่ของเธอที่หงุดหงิดเพียงไรเมื่อเครื่องเรือนและของอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาในห้องนอนของพวกเธออยู่เรื่อย ๆ เพื่อจะได้มีที่ทางสำหรับคุณย่าอายุ 80 ปี. ถึงกระนั้น ปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักมีทางออก เมื่อทุกคนมาเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนและจำคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่าความรัก “ไม่คิดเห็นแก่ตนเองฝ่ายเดียว.”—1 โกรินโธ 13:5.
การสูญเสียอิสรภาพ
ปัญหาร้ายแรงสำหรับสตรีคริสเตียนอาจเกิดขึ้นได้หากสามีของเธอไม่ได้มีความเชื่อเหมือนเธอ และตัดสินใจย้ายครอบครัวเข้าไปอยู่กับบิดามารดาของเขา. ข้อเรียกร้องที่ให้ดูแลครอบครัวอาจดูเหมือนว่าเกือบเป็นไปไม่ได้สำหรับเธอที่จะทำให้พันธะในฐานะคริสเตียนสมดุลกับหน้าที่อื่น ๆ ของเธอ. เซตสึโกะบอกว่า “สามีของดิฉันรู้สึกว่าอันตรายหากจะปล่อยคุณแม่ซึ่งออกจะหลง ๆ ลืม ๆ ให้อยู่บ้านคนเดียว และเขาต้องการให้ดิฉันอยู่บ้านตลอดเวลา. ถ้าดิฉันพยายามจะไปประชุม เขาจะหัวเสียและบ่นว่า. ตอนแรก เนื่องจากดิฉันมีพื้นเพเป็นคนญี่ปุ่น ดิฉันก็รู้สึกเช่นกันว่าเป็นสิ่งผิดที่จะปล่อยให้ท่านอยู่บ้านโดยลำพัง. แต่แล้วในที่สุด ดิฉันก็ตระหนักว่าสิ่งต่าง ๆ ย่อมมีทางออก.”
ฮิซาโกะมีปัญหาคล้ายคลึงกัน. เธอเล่าว่า “เมื่อเราย้ายเข้ามาอยู่กับครอบครัวของสามีดิฉัน เนื่องจากกลัวว่าพวกญาติ ๆ จะคิดอย่างนั้นอย่างนี้ เขาต้องการให้ดิฉันเปลี่ยนศาสนาและเลิกกิจกรรมทางศาสนาของดิฉันเสีย. ที่แย่กว่านั้น ในวันอาทิตย์ ญาติ ๆ ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ ๆ จะมาเยี่ยม ทำให้ยากสำหรับดิฉันที่จะไปประชุม. ยิ่งกว่านี้ พวกเด็ก ๆ อยากเล่นกับลูกพี่ลูกน้องของตนมากกว่าที่จะไปประชุม. ดิฉันเห็นว่าสภาพฝ่ายวิญญาณของเราถูกกระทบกระเทือน. ดิฉันต้องยืนหยัดมั่นคงและอธิบายให้สามีฟังว่าศาสนาของดิฉันไม่ใช่อะไรที่จะเปลี่ยนได้เหมือนเสื้อผ้าสักชุดหนึ่ง แต่เป็นสิ่งสำคัญต่อดิฉัน. ต่อมา ครอบครัวของเราก็ปรับตัวได้.”
บางคนแก้ไขปัญหาเพื่อให้มีเวลาว่างมากขึ้นด้วยการมีแม่บ้านที่ทำงานบางเวลามาช่วยสัปดาห์ละวันหรือสองวัน. คนอื่นหาเวลาอิสระเพื่อทำธุระส่วนตัวและกิจกรรมฝ่ายคริสเตียนโดยขอความช่วยเหลือจากลูก ๆ, ญาติที่อยู่ใกล้เคียง, หรือแม้แต่เพื่อนในประชาคม. สามีก็ช่วยได้ในตอนกลางคืนและสุดสัปดาห์เมื่อพวกเขาอยู่บ้าน.—ท่านผู้ประกาศ 4:9.
การช่วยให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรม
การให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมเป็นข้อท้าทายอีกประการหนึ่งที่ต้องเผชิญ. ผู้สูงอายุบางคนมีความสุขที่มีส่วนในการทำอาหารและทำงานอื่น ๆ รอบบ้าน. พวกเขารู้สึกว่าเป็นที่ต้องการหากได้รับการขอร้องให้คอยดูเด็ก ๆ และยินดีที่ได้ทำสวนครัวเล็ก ๆ สักแปลง, ดูแลดอกไม้, หรือมีส่วนร่วมในงานอดิเรกบางอย่าง.
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุคนอื่น ๆ อาจจะอยากนอนเกือบตลอดเวลาและคาดหวังว่าจะมีคนคอยดูแลตน. แต่การช่วยให้พวกเขามีกิจกรรมเท่าที่เป็นไปได้ปรากฏว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพ, การมีอายุยืนยาว, และการตื่นตัวของจิตใจ. ฮิเดโกะพบว่าถึงแม้คุณแม่ของเธอต้องนั่งเก้าอี้เข็น การพาเธอไปประชุมเป็นการกระตุ้นที่คุณแม่จำต้องได้รับทีเดียว. เธอได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทุกคน และถูกดึงเข้าร่วมในวงสนทนาต่าง ๆ ด้วย. ในที่สุด ความเอาใจใส่ที่มีต่อเธอทำให้เธอยอมศึกษาพระคัมภีร์กับสตรีที่สูงวัยกว่าคนหนึ่ง. คู่สมรสคู่หนึ่งซึ่งต้องดูแลมารดาซึ่งเป็นโรคอัลซ์ไฮเมอร์ พาเธอไปยังการประชุมคริสเตียนกับพวกเขา. เขาบอกว่า “ปกติเธอไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น แต่เธอมีความสุข ณ การประชุม. เธอได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ดังนั้น เธอจึงเต็มใจมา. เรารู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์มากสำหรับเธอ.”
ชิเนตสึที่มีการกล่าวถึงในตอนต้นของบทความนี้แก้ปัญหาของเขาด้วยการหาห้องชุดแห่งหนึ่งให้แม่ยายของเขา ซึ่งอยู่ใจกลางบริเวณที่เขารับใช้เป็นผู้รับใช้เดินทาง. ฉะนั้น เขาและภรรยาจะพักอยู่กับเธอในระหว่างที่เขาเยี่ยมเยียนประชาคมต่าง ๆ ในแต่ละสัปดาห์. เคียวโกะภรรยาของเขาบอกว่า “คุณแม่ของดิฉันรู้สึกว่าเธอเป็นส่วนสำคัญในงานของเรา และรู้สึกเป็นที่ต้องการ. เธอยินดีเมื่อสามีของดิฉันขอให้เธอทำอาหารจานพิเศษบางอย่าง.”
การรับมือกับโรคชรา
เมื่อบิดามารดาอายุมากขึ้น โรคชราในระดับต่าง ๆ กันอาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น พวกเขาต้องการความดูแลเอาใจใส่มากขึ้น. พวกเขาลืมวัน, เวลา, ฤดู, และคำสัญญา. พวกเขาอาจลืมตัดผมและลืมซักเสื้อผ้าของตน. พวกเขาอาจลืมกระทั่งวิธีแต่งตัวและอาบน้ำ. หลายคนหลงเวลา ขณะที่คนอื่น ๆ หลับยากในตอนกลางคืน. มีแนวโน้มที่จะย้ำคิดย้ำทำ และจะโมโหหากบอกให้ทราบ. สมองเริ่มเล่นตลก. พวกเขาอาจยืนกรานว่ามีของถูกขโมย หรือขโมยพยายามจะขึ้นบ้าน. ครอบครัวหนึ่งซึ่งมีลูกสาวสี่คนต้องอดทนกับข้อกล่าวหาที่ไม่มีเหตุผลเป็นประจำเกี่ยวกับการประพฤติผิดศีลธรรม. พวกเขาบอกว่า “เป็นเรื่องน่ารำคาญ แต่เราก็เรียนรู้ที่จะอดทนกับข้อกล่าวหาเหล่านั้น และพยายามเปลี่ยนเรื่องพูด. การไม่เห็นด้วยกับคุณย่านั้นไม่มีประโยชน์.”—สุภาษิต 17:27.
ความต้องการทางอารมณ์จำต้องได้รับการสนองตอบ
วัยชรานำความยุ่งยากลำบากมาสู่ผู้สูงอายุ. มีโรคภัยร้ายแรงต่าง ๆ, ไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้, และมีความทุกข์ทรมานใจที่ต้องอดทนเอา. หลายคนรู้สึกว่าชีวิตของตนไร้จุดมุ่งหมาย. พวกเขาอาจรู้สึกว่าตนเป็นภาระและอยากตาย. พวกเขาจำต้องรู้สึกว่าตนเป็นที่รัก, เป็นที่เคารพ, และเป็นส่วนหนึ่ง. (เลวีติโก 19:32) ฮิซาโกะบอกว่า “เราพยายามรวมคุณแม่เข้าในการสนทนาของเราเสมอเมื่อเธออยู่ด้วย ทำให้เรื่องที่สนทนาเกี่ยวข้องกับเธอเท่าที่เป็นไปได้.” อีกครอบครัวหนึ่งพยายามสนับสนุนให้คุณปู่เกิดความนับถือตัวเองด้วยการขอให้ท่านนำการพิจารณาข้อพระคัมภีร์ประจำวัน.
แต่ละคนต้องพยายามรักษาทัศนะอันเหมาะสมต่อผู้สูงอายุอยู่เสมอ. ผู้ป่วยที่ลุกไปไหนไม่ได้จะเสียใจเมื่อพวกเขารู้สึกว่ามีการพูดด้วยท่าทีที่เหนือกว่ากับตน หรือได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เคารพยำเกรง. “คุณแม่มีความรู้สึกไว” คิมิโกะซึ่งอาศัยอยู่กับคุณแม่ที่พิการของสามีอธิบาย “และเธอรู้เมื่อดิฉันไม่ได้ใส่ใจพยาบาลเธอ หรือกำลังทำตัวว่าเหนือกว่า.” ฮิเดโกะก็ต้องปรับทัศนะของเธอเช่นกัน. “ตอนแรก ดิฉันรู้สึกคับข้องใจเมื่อดิฉันต้องดูแลคุณแม่ของสามี. ดิฉันเคยเป็นไพโอเนียร์ [ผู้สอนศาสนาเต็มเวลาของพยานพระยะโฮวา] และคิดถึงงานรับใช้นี้. ต่อมา ดิฉันเห็นว่าดิฉันจำต้องปรับความคิดของดิฉันเสียใหม่. แม้ว่างานรับใช้ตามบ้านสำคัญ แต่งานนี้ก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการเอาใจใส่ต่อพระบัญชาของพระเจ้าเช่นกัน. (1 ติโมเธียว 5:8) ดิฉันตระหนักดีว่าดิฉันจำต้องพัฒนาความรักและความร่วมรู้สึกมากกว่านี้หากดิฉันต้องการความชื่นชมยินดี. สติรู้สึกผิดชอบจะรบกวนเมื่อดิฉันเพียงแต่ทำสิ่งต่าง ๆ ตามหน้าที่ราวกับเป็นเครื่องจักร. เมื่อดิฉันประสบอุบัติเหตุและเจ็บปวด ดิฉันคิดถึงคุณแม่ของสามีและความเจ็บปวดที่เธอต้องทนเอา. หลังจากนั้น เป็นการง่ายขึ้นสำหรับดิฉันที่จะแสดงความอบอุ่นและความร่วมรู้สึกมากยิ่งขึ้น.”
คนดูแลก็ต้องการได้รับการเอาใจใส่ด้วย
ที่จะมองข้ามเสียมิได้ก็คือจำต้องแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อผู้ซึ่งภาระในการดูแลผู้สูงอายุตกอยู่กับเขาโดยเฉพาะ. (เทียบกับสุภาษิต 31:28.) สตรีส่วนใหญ่ยังคงปฏิบัติตามพันธะนั้นต่อไป ไม่ว่าจะได้ยินหรือไม่ได้ยินคำพูดแสดงความหยั่งรู้ค่า. เมื่อเราพิจารณาว่างานของพวกเธอมีอะไรบ้างแล้ว คำพูดเช่นนั้นนับว่าเหมาะสมจริง ๆ. พวกเธออาจต้องทำความสะอาด, ซักผ้า, และทำอาหารเพิ่มขึ้น. ลองคิดถึงการเดินทางไปโรงพยาบาลหรือไปหาแพทย์ รวมทั้งการป้อนอาหารหรือเช็ดตัวให้คนไข้สูงอายุด้วย. สตรีคนหนึ่งซึ่งดูแลคุณแม่ของสามีเป็นเวลานานกล่าวว่า “ดิฉันทราบว่าเป็นการยากที่สามีของดิฉันจะแสดงความหยั่งรู้ค่าออกมาเป็นคำพูด แต่เขาแสดงให้ดิฉันเห็นด้วยวิธีอื่นว่าเขาหยั่งรู้ค่าในสิ่งที่ดิฉันทำอยู่.” คำกล่าวง่าย ๆ ว่าขอบคุณสามารถทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูคุ้มค่ากับที่ลงแรงไป.—สุภาษิต 25:11.
มีผลตอบแทนเช่นกัน
หลายครอบครัวที่ได้ดูแลบิดามารดาสูงอายุเป็นเวลาหลายปีกล่าวว่าสิ่งนี้ได้ช่วยพวกเขาให้พัฒนาคุณลักษณะสำคัญแบบคริสเตียน ซึ่งได้แก่ ความอดทน, การเสียสละตัวเอง, ความรักอย่างไม่เห็นแก่ตัว, ความขยัน, ความถ่อม, และความอ่อนสุภาพ. หลายครอบครัวถูกนำเข้ามาใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นทางอารมณ์. และบำเหน็จพิเศษก็คือโอกาสที่ได้สนทนากับบิดามารดามากขึ้น และได้รู้จักท่านดีขึ้น. ฮิซาโกะพูดถึงคุณแม่ของสามีว่า “คุณแม่มีชีวิตที่น่าสนใจ. ท่านผ่านชีวิตมามาก. ดิฉันได้มารู้จักท่านดีขึ้นและเรียนรู้ที่จะหยั่งรู้ค่าคุณลักษณะต่าง ๆ ในตัวท่านซึ่งดิฉันไม่ได้ตระหนักถึงมาก่อน.”
“มีอยู่ครั้งหนึ่งก่อนดิฉันศึกษาพระคัมภีร์ ที่ดิฉันอยากจะหย่าและหนีให้พ้นสภาพการณ์เช่นนี้” คิมิโกะซึ่งดูแลบิดามารดาของสามีและคุณย่าของเขาซึ่งนอนป่วยได้อธิบาย. “ต่อมา ดิฉันอ่านพบว่าเราควร ‘เอาใจใส่ดูแล . . . หญิงหม้ายในความทุกข์ลำบากของเขา.’ (ยาโกโบ 1:27) ดิฉันมีความสุขที่ได้ทำดีที่สุด เพราะเดี๋ยวนี้ไม่มีใครในครอบครัวบ่นว่าอย่างสมเหตุสมผลได้เกี่ยวกับความเชื่อของดิฉัน. สติรู้สึกผิดชอบของดิฉันสะอาด.” ชายคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมเห็นมากับตาตนเองถึงผลกระทบอันร้ายกาจจากความผิดบาปของอาดาม และเวลานี้ได้หยั่งรู้ค่ายิ่งขึ้นถึงความจำเป็นที่ต้องมีค่าไถ่.”
คุณกำลังจะได้ต้อนรับสมาชิกอีกคนหนึ่งในครอบครัวของคุณเข้ามาในบ้านของคุณไหม? หรือคุณอาจกำลังจะย้ายเข้าไปอยู่กับบิดามารดาสูงอายุของคุณไหม? คุณรู้สึกหวั่นวิตกบ้างไหม? นั่นเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้. ต้องทำการปรับเปลี่ยนหลายอย่าง. แต่คุณจะพบว่าตัวคุณเองจะได้รับผลตอบแทนอย่างอุดมเมื่อเผชิญกับข้อท้าทายอย่างเป็นผลสำเร็จ.
[รูปภาพหน้า 24]
ผู้สูงอายุต้องการเป็นที่รักและเคารพของผู้อื่น