ตั้งใจแน่วแน่จะรับใช้พระยะโฮวา!
“ห้ามคุณออกไปประกาศ!” “อย่าให้เพื่อนพ้องของคุณมาเยี่ยมที่นี่!” สตรีคริสเตียนหลายคนมักได้ยินคำพูดทำนองเดียวกันนี้จากสามีที่ต่อต้าน. แต่เมื่อสามีเหล่านั้นปฏิบัติราชการทหาร ความเชื่อของภรรยาต้องเผชิญการท้าทายเป็นพิเศษ. (ยะซายา 2:4; โยฮัน 17:16) แล้วภรรยาคริสเตียนเหล่านี้มีวิธีการรักษาความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณและคงความกระตือรือร้นเพื่อราชกิจฝ่ายราชอาณาจักรได้อย่างไร?
ความซื่อสัตย์ภักดีต่อพระยะโฮวาพระเจ้าควบคู่กับความตั้งใจแน่วแน่ช่วยพวกเขายืนหยัดอย่างเหนียวแน่น. อีวอนน์ ซึ่งมีสามีเป็นทหาร ได้ชี้แจงดังนี้: “ดิฉันคิดว่าเพราะตัวเองมุ่งมั่นตั้งใจจริง. ดิฉันรู้ว่าต้องมีหนทางที่จะเอาชนะการขัดขวางของสามี.” ตามจริงแล้ว มีหนทาง.
สตรีคริสเตียนอีกคนหนึ่งที่แต่งงานกับนายทหารเล่าถึงวิธีการยืนหยัดแน่วแน่ของเธอช่วยให้สามีมีความสะดวกสบายมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ. เธอบอกว่า “เขารู้ตารางเวลาของดิฉันดีเหมือนของเขาเอง และคนที่เกี่ยวข้องกับทางราชการทหารหยั่งรู้ค่าในข้อนี้.” กระนั้นก็ดี งานรับใช้อย่างต่อเนื่องของเธอต่อพระยะโฮวาใช่ว่าง่าย.
การเอาชนะความว้าเหว่
ภรรยาของทหารมักจะเผชิญข้อท้าทายเมื่อมีคำสั่งเพียงไม่กี่วันล่วงหน้า ให้ย้ายไปประจำการยังที่ห่างไกลจากบ้าน หากเธอจะไปกับสามี. ครั้นแล้ว เมื่ออยู่ท่ามกลางสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน มักเกิดความรู้สึกว้าเหว่ได้ง่าย. แต่ไม่จำเป็นต้องรู้สึกเช่นนั้นเสมอไป. บรรดาคนที่ปฏิบัติพระยะโฮวามีข้อได้เปรียบ. นั้นคืออะไร? ตามที่คริสเตียนอัครสาวกเปโตรกล่าวไว้ นั้นคือ “สังคมแห่งพี่น้องทั้งสิ้น.” เวลานี้ พยานพระยะโฮวาจำนวนหลายล้านในที่ต่าง ๆ ถึง 231 ประเทศเป็นประหนึ่งครอบครัวคริสเตียนใหญ่ เป็น “ภราดรภาพ.” อันที่จริง คุณก็พบพยานฯเกือบทั่วทุกแห่ง.—1 เปโตร 2:17, ล.ม.
ซูซานได้โยกย้ายจากบริเวณพื้นที่อันเป็นบ้านของเธออย่างกะทันหัน ไปอยู่ในเขตฐานบินซึ่งสามีถูกมอบหมายให้ประจำการที่นั่น. เนื่องจากเธอยังใหม่ด้านความเชื่อและได้รับความกดดันจากสามีที่ไม่เชื่อถือให้เลิกงานรับใช้ของคริสเตียน เธอเล่าว่า “ดิฉันไปร่วมการประชุมประจำท้องถิ่นนั้นทันที ที่นั่นดิฉันสามารถนั่งคุยกับพี่น้องหญิงคนอื่น ๆ. ดิฉันพูดด้วยความสัตย์ว่า สังคมแบบนี้แหละช่วยดิฉันให้อยู่ได้.”
บางครั้งความว้าเหว่ทำให้คนเราหดหู่ใจ. ถึงกระนั้น ข่าวดีก็ยังใจให้ชื่นบานได้ทันเวลา. เกลนอิส ซิสเตอร์ชาวอังกฤษซึ่งได้ย้ายไปกับสามีเมื่อเขารับคำสั่งไปประจำการโพ้นทะเล กล่าวว่า “ขณะที่ดิฉันรู้สึกหดหู่ท้อใจมาก โดยไม่คาดคิดมาก่อน คนหนึ่งที่ดิฉันเคยรู้จักหลายปีมาแล้วตอนที่ดิฉันทำงานในกองทัพ เขียนจดหมายบอกว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ เธอได้รับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวา. ตรงนี้แหละที่ดิฉันมีกำลังใจขึ้นมาทันที.”
เจน ซึ่งเดินทางไปประเทศเคนยากับสามี ได้ประสบว่า การประชุมของคริสเตียนเป็นเหมือนเชือกชูชีพทีเดียว ถึงแม้การประชุมนั้นใช้ภาษาที่เธอไม่เข้าใจ. เธออธิบายว่า “ดิฉันรู้ว่า พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้ดิฉันอยู่ที่นี่ ดิฉันได้อยู่กับพี่น้องฝ่ายวิญญาณ และพวกพี่น้องเป็นประหนึ่งยาชูกำลังให้กระปรี้กระเปร่าฝ่ายวิญญาณ. พวกเขายินดีต้อนรับดิฉัน และดิฉันรู้สึกว่า เราเป็นครอบครัวเดียวกัน.”
เจนก็เหมือนกับคนอื่น ๆ หลายคนที่ตกอยู่ภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าว เธอค้นพบญาติฝ่ายวิญญาณซึ่งตัวเองไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่า เธอมี!—มาระโก 10:29, 30.
ยืนหยัดมั่นคงเมื่อเผชิญการต่อต้าน
พระเยซูทรงเตือนดังนี้: “อย่าคิดว่าเรามาเพื่อจะให้เกิดความสงบสุขที่แผ่นดินโลก เรามิได้มาเพื่อจะให้เกิดความสงบสุข, แต่เพื่อจะใช้ดาบ.” (มัดธาย 10:34) พระองค์หมายความว่าอย่างไร? แม้แต่ภายในครอบครัวซึ่งหวังว่าจะมีสันติสุข แต่อาจกลายเป็น “การใช้ดาบอย่างฉับพลัน” ดังคำพูดของ เอ. ที. โรเบิร์ตสัน ในหนังสือภาพพจน์ในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ (ภาษาอังกฤษ). พระเยซูได้ตรัสดังนี้: “และผู้ที่อยู่ร่วมเรือนเดียวกันก็จะเป็นศัตรูต่อกัน.” (มัดธาย 10:36) ถ้อยคำเหล่านี้ปรากฏว่าแม่นยำอะไรเช่นนั้นเมื่อคู่สมรสเป็นปฏิปักษ์ต่อความจริง!
เมื่อไดแอนเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา สามีซึ่งเป็นนายทหารอากาศไม่พอใจ. เรื่องนี้ส่งผลกระทบชีวิตสมรสอย่างไร? ไดแอนชี้แจงว่า “เหมือนกับมีแท่งน้ำแข็งมหึมาขวางกั้นระหว่างเรา. ชีวิตสมรสของเราเคยราบรื่นมาตลอด. แต่โดยพลันเรากลายเป็นเหมือนคนอยู่ในบ้านเดียวกันแค่นั้น.” แล้วเธอรับมืออย่างไร? “สิ่งสำคัญคือความมุ่งมั่นตั้งใจของตัวเราเอง พร้อมกับการช่วยเหลือจากพระยะโฮวาและพระวิญญาณของพระองค์.” ไดแอนจดจำรำลึกตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับผู้พยากรณ์ดานิเอลอยู่เสมอ.
เมื่อถูกเนรเทศไปอยู่ที่บาบูโลนและเขาเสนออาหารซึ่งผู้รับใช้ของพระเจ้ารับไม่ได้นั้น ดานิเอล “ได้ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ให้ตัวเป็นมลทินด้วยอาหารเครื่องเสวย.” ใช่แล้ว ดานิเอลได้ตัดสินใจด้วยจิตสำนึก. ท่านปลงใจแน่วแน่ไว้ว่าจะไม่แปดเปื้อนมลทินด้วยการรับประทานอาหารประเภทนั้น. นับว่าท่านแสดงความเข้มแข็งแกร่งกล้าเพียงไรในยามนั้น ท่านได้ “ขออนุญาต หัวหน้ากรมวังเพื่อมิให้ตัวเขาเป็นมลทินไป”! ผลเป็นประการใด? พระยะโฮวาได้ทรงอวยพรการยืนหยัดอันแน่วแน่ของท่าน.—ดานิเอล 1:8, 9, 17.
ทุกวันนี้ก็เช่นกัน สามีที่ต่อต้านอาจห้ามภรรยาเข้าร่วมการประชุมที่ประชาคม. ภรรยาควรมีปฏิกิริยาอย่างไร? เจนประสบสภาพการณ์เช่นนี้ด้วยตัวเอง. เธอเล่าว่า “ดิฉันจะไม่ยอมอ่อนข้อเมื่อถูกกดดัน. ดิฉันทราบดีว่า จะอะลุ้มอล่วยไม่ได้. ดิฉันจึงต้องแสดงให้เห็นว่า การประชุมมีความสำคัญมากเพียงใดสำหรับตัวเอง.” พระยะโฮวาได้อวยพรการตัดสินใจของเธอเมื่อเธอเข้าร่วมประชุมมิได้ขาด.
“สามีพยายามยับยั้งดิฉันไม่ให้ไปร่วมประชุม แต่เขาทำไม่นาน” เกลนอิสเล่า. “ดิฉันยังคงไปเช่นเคย. เมื่อดิฉันกลับเข้าบ้าน บางครั้งเขาทุบตีดิฉัน และบางครั้งก็แสดงอาการปึ่งชาไม่พูดด้วย.” แต่เธอเอาชนะได้ด้วยการอธิษฐานครั้งแล้วครั้งเล่า. อีกประการหนึ่ง ผู้ปกครองประชาคมสองคนได้อธิษฐานกับเธอเป็นประจำ ซึ่งให้กำลังใจแก่เธอมากที่จะร่วมประชุมต่อ ๆ ไป.—ยาโกโบ 5:13-15; 1 เปโตร 2:23.
บางครั้ง ผู้บังคับบัญชาของสามีอาจกดดันเขาให้ยับยั้งภรรยาไม่ให้ออกไปประกาศข่าวดี. ไดแอนเห็นว่า เธอจะต้องชี้แจงให้สามีทราบชัดเจนว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่เธอถือว่าต้องมาก่อนสิ่งอื่น. เธอเล่าว่า “ดิฉันเตรียมพร้อมจะรับผลลัพธ์อันเนื่องมาจากการประกาศอย่างไม่ละลด.” ช่างเหมือนกับการยึดมั่นของพวกอัครสาวกเสียจริง ๆ! (กิจการ 4:29, 31) กระนั้นก็ดี เธอเป็นคนสุขุมรอบคอบในเรื่องงานประกาศ. เธอบอกว่า “ดิฉันเคยชวนเพื่อนมาสังสรรค์ดื่มกาแฟกัน และเสนอหนังสือความจริง ให้ทุกคน”.—มัดธาย 10:16; 24:14.
การยอมอยู่ใต้อำนาจโดยไม่อะลุ้มอล่วย
แม้ลำบากใจเนื่องด้วยความตึงเครียดภายในชีวิตสมรส แต่ภรรยาคริสเตียนมองไปยังอนาคตและไว้วางใจพระยะโฮวา. สิ่งนี้ช่วยพวกเธอคงไว้ซึ่งทัศนะที่สมดุล. ภรรยาเหล่านั้นต่างก็สนับสนุนสามีไม่ว่าเรื่องใด ๆ เท่าที่เธอทำได้โดยไม่อะลุ้มอล่วยความเชื่อของตน. โดยการทำเช่นนั้น พวกเธอเชื่อฟังคำแนะนำของเปโตรซึ่งได้รับการดลใจที่ว่า “ท่านทั้งหลายที่เป็นภรรยา จงยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของท่าน.” (1 เปโตร 3:1, ล.ม.) คำแนะนำของอัครสาวกดังปรากฏในคัมภีร์ฉบับแอมพลิไฟด์ นิว เทสตาเมนต์ อ่านดังนี้: “จงทำตัวเป็นรองประหนึ่งว่าตัวเองมีความสำคัญเป็นอันดับสอง และพึ่งพาอาศัยเขาและปรับตัวเองให้เข้ากับบุคคลเหล่านั้น.” สังเกตดูซิว่า เจนได้ปฏิบัติตามคำแนะนำนี้อย่างไร. เธอบอกว่า “สามีกำชับดิฉันว่า สิ่งที่ดิฉันต้องการทำ ไม่ควรขัดขวางความก้าวหน้าของเขาในอาชีพทหาร. ฉะนั้น ดิฉันจึงพยายามหาทางเพื่อจะช่วยเขา.”
ภรรยาคริสเตียนบางคนตกลงจะร่วมงานสังสรรค์ที่สามีของตนได้รับเชิญ. แต่พวกเธอยังคงตั้งใจแน่วแน่จะไม่อะลุ้มอล่วยในเรื่องความเชื่อ. เจนใช้เวลาคุยเรื่องนี้กับสามี. เธอพูดอย่างนุ่มนวลว่า เธอพร้อมจะไปร่วมงานแต่ก็ไม่อยากทำให้สามีรู้สึกลำบากใจเพราะเธอ. “ดิฉันรู้ว่า บางโอกาสทุกคนที่อยู่ในงานนั้นถูกคาดหมายให้ลุกขึ้นยืนเพื่อดื่มอวยพร. ดิฉันทราบว่า การถวายความจงรักภักดีนั้นสมควรมอบแด่พระยะโฮวาองค์เดียว และการดื่มอวยพรในโอกาสนั้นไม่ได้เป็นเพียงการแสดงความเคารพ. สามีของดิฉันจึงได้ตระหนักว่า สภาพการณ์นั้นอาจก่อความกระอักกระอ่วนจริง ดังนั้น เขาจึงเพียงแต่พูดว่า ‘อย่าไปเลย!’ ดิฉันก็เชื่อฟังเขา.”
ส่วนเกลนอิสยอมไปงานเลี้ยงกับสามีของเธอ แต่เธอจับตาดูนายทหารที่นั่งหัวโต๊ะ. เมื่อเห็นพวกเขาเตรียมจะดื่มอวยพร เธอก็ออกไปยังห้องสุขาอย่างเงียบ ๆ! สรุปแล้ว สตรีเหล่านี้ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์แต่ไม่ได้อะลุ้มอล่วย.
“โน้มน้าวใจแม้นไม่เอ่ยปาก”
อีวอนน์ให้เหตุผลอย่างนี้: “ถ้าดิฉันปรับปรุงความสามารถของตัวเองฐานะภรรยา สามีจะแลเห็นว่า ความจริงกำลังเปลี่ยนดิฉัน.” ดังนั้น เธอจึงอ่านบทหนึ่งในหนังสือชีวิตครอบครัว ภายใต้หัวข้อ “ภรรยาผู้เป็นที่รักยิ่ง” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า.a “ดิฉันเอาใจใส่เนื้อเรื่องภายใต้หัวข้อย่อย ‘คนเจ้าน้ำตา คนพูดเซ้าซี้’ เป็นพิเศษ! แต่ดิฉันพบว่า ยิ่งดิฉันพยายามพูดคุยกับสามี การณ์กลับยิ่งแย่กว่าเดิม.” กระนั้น ในที่สุด เธอประสบผลในการช่วยสามีเข้ามารับใช้พระยะโฮวา. เธอทำอย่างไร? เธอได้ปฏิบัติตามหลักการที่ระบุไว้ใน 1 เปโตร 3:1 (ล.ม.) ที่ว่า ‘อาจโน้มน้าวใจสามีได้ถึงแม้นไม่เอ่ยปาก.’
วิธีที่สตรีคริสเตียนดูแลเอาใจใส่ครอบครัวนั้นมีบทบาทสำคัญในการแนะนำหลักการคริสเตียนแก่คนอื่น. ไดแอนเล่าว่า “ดิฉันพยายามทำให้ความจริงเป็นที่ดึงดูดใจมากที่สุดเท่าที่ดิฉันทำได้. เมื่อดิฉันไปประชุม สามีของดิฉันมีความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ฉะนั้น ดิฉันจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะสอนลูกให้ประพฤติตัวดีเป็นพิเศษเมื่อเรากลับถึงบ้าน. นอกจากนั้น พอมาถึงบ้าน ดิฉันพยายามเอาใจเขาเป็นพิเศษด้วย.” ท่าทีของสามีก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปขณะที่เขาตอบสนองการเอาใจใส่อย่างกรุณาจากครอบครัว.
เพื่อนร่วมรับใช้พระยะโฮวาก็ช่วยได้เหมือนกัน. เจนเล่าว่า สามีของเธอเพลิดเพลินกับกลุ่มมิชชันนารีพยานฯที่เขาพบในประเทศเคนยา. “มิชชันนารีเหล่านั้นแสดงความเป็นมิตรกับเขา และคุยกับเขาเรื่องการเล่นฟุตบอล และพวกเขามีน้ำใจต้อนรับแขกดีมาก. เราได้รับเชิญไปรับประทานอาหารที่บ้านมิชชันนารีต่าง ๆ หลายครั้ง.” สามีของเธอได้ชี้แจงในเวลาต่อมาว่า “ผมเริ่มมองเห็นความเชื่อของเจนจากทัศนะที่ต่างไปโดยสิ้นเชิง. เพื่อน ๆ ของเธอเฉลียวฉลาด สามารถคุยเรื่องต่าง ๆ ได้หลากหลาย.” คล้าย ๆ กัน ทัศนะที่สามีของไดแอนมีต่อความจริงนั้นเปลี่ยนไป. คราวหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เขาขับอยู่เกิดเสียกลางทาง พยานฯหนุ่มคนหนึ่งได้ให้การช่วยเหลือ. เขาพูดว่า “นั่นทำให้ผมประทับใจจริง ๆ.”
แน่นอน ไม่ใช่ว่าจะโน้มน้าวคู่สมรสให้รับความจริงได้ทุกคน. แล้วจะทำอย่างไร? พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมความช่วยเหลือเพื่อผู้สัตย์ซื่ออดทนได้. (1 โกรินโธ 10:13) ขอให้พิจารณาคำพูดที่เกลนอิสกล่าวหนุนใจคนเหล่านั้นภายใต้สภาพการณ์คล้ายกับของเธอที่ว่า “อย่า อย่าสงสัยข้อที่ว่า พระยะโฮวาได้เริ่มก่อตั้งการสมรส และพระองค์ทรงประสงค์จะให้คู่สมรสอยู่ร่วมกัน. ฉะนั้น ไม่ว่าสามีอาจทำอะไรก็ตาม หรือคุณอาจถูกต่อต้านขัดขวางจากคนรอบข้าง พระยะโฮวาจะไม่ปล่อยให้คุณซวดเซเป็นอันขาด.” ถึงแม้สามีของเธอยังไม่นมัสการพระยะโฮวา แต่ท่าทีของเขาต่อภรรยาและต่อความจริงนั้นอ่อนลงกว่าแต่ก่อน.
‘หว่านด้วยน้ำตาไหล เก็บเกี่ยวด้วยความยินดี’
แท้จริง สตรีคริสเตียนเหล่านี้ตั้งใจแน่วแน่จะปฏิบัติพระยะโฮวา. หากคุณอยู่ในสภาพคล้ายกัน ก็จงตั้งใจแน่วแน่ที่จะกระทำเช่นเดียวกัน. จงระลึกถึงคำตักเตือนที่ว่า “จงเกรงกลัวพระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน. จงปฏิบัติและนับถือพระองค์.”—พระบัญญัติ 10:20.
ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญแถลงดังนี้: “ผู้ที่เดินร้องไห้ไปหว่านพืชนั้น ไม่ต้องสงสัย, คงจะแบกฟ่อนข้าวของตนกลับมาอีกด้วยความยินดี.” (บทเพลงสรรเสริญ 126:6) สตรีพยานฯคนหนึ่งยอมรับในเรื่องนี้และพูดว่า “คุณหลั่งน้ำตามากจริง ๆ ขณะที่คุณพยายามแสดงให้คู่สมรสเห็นความจริง ไม่ว่าโดยอาการเงียบสงบหรือการพูดสนทนา. แต่ผลที่สุดคุณก็ร้องออกมาด้วยความยินดี เพราะถึงแม้เขาไม่รับรองความจริง พระยะโฮวาทรงอวยพรคุณเนื่องด้วยความพากเพียรของคุณ.”
แต่ทุกคนที่รับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ แม้นถูกต่อต้านขัดขวางจากคนที่บ้าน สมควรรับคำชมเชยอย่างแท้จริง. พวกเขาสมควรได้รับการสนับสนุนและความรัก. ขอให้พวกเขารักษาฐานะซึ่งไม่มีการอะลุ้มอล่วยเช่นนี้ของตนไว้ ด้วยตั้งใจแน่วแน่จะรับใช้พระยะโฮวา!
[เชิงอรรถ]
a การทำให้ชีวิตครอบครัวของท่านมีความสุข จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก (1978)
[รูปภาพหน้า 28]
การศึกษาพร้อมด้วยคำอธิษฐานย่อมเสริมความตั้งใจแน่วแน่ของคริสเตียน