คุณสอนอย่างที่พระเยซูทรงสอนไหม?
“ประชาชนทั้งปวงก็อัศจรรย์ใจด้วยคำสั่งสอนของพระองค์ เพราะว่าพระองค์ได้ทรงสั่งสอนเขาดุจผู้มีอาชญา,หาเหมือนพวกอาลักษณ์ของเขาไม่.”—มัดธาย 7:28, 29.
1. ใครได้ติดตามพระเยซูเมื่อพระองค์ทรงสั่งสอนที่เมืองฆาลิลาย และการตอบสนองของพระเยซูเป็นเช่นไร?
ไม่ว่าพระเยซูเสด็จไปที่ไหน ฝูงชนได้เข้ารุมล้อมพระองค์. “พระเยซูได้เสด็จไปทั่วมณฑลฆาลิลาย, ทรงสั่งสอนในธรรมศาลาของเขา, ทรงประกาศเรื่องประเสริฐแห่งแผ่นดินของพระเจ้า, และทรงรักษาโรคไข้ต่าง ๆ ของชาวเมืองให้หาย.” ขณะที่ข่าวการทำงานของพระองค์กระจายไปอย่างรวดเร็ว “มีคนมากหลายมาจากมณฑลฆาลิลาย, และแขวงเดกาโปลี, และกรุงยะรูซาเลม, และมณฑลยูดาย, และแม่น้ำยาระเดนฟากข้างโน้น, ติดตามพระองค์ไป.” (มัดธาย 4:23, 25) ครั้นทอดพระเนตรเห็นฝูงชน “ก็ทรงพระกรุณาเขา, ด้วยเขาอิดโรยกระจัดกระจายไปดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” ในขณะที่พระองค์สั่งสอน พวกเขาสามารถสัมผัสความรักใคร่สงสารของพระองค์ที่ทรงมีให้เขา สิ่งนั้นเป็นเหมือนยาสมานแผลที่บรรเทาความเจ็บปวด ซึ่งดึงดูดเขาให้เข้ามาใกล้ชิดพระองค์.—มัดธาย 9:35, 36.
2. นอกจากการอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่พระเยซูทรงกระทำ มีอะไรอีกที่ดึงดูดฝูงชนมากมาย?
2 ช่างน่าอัศจรรย์เพียงไรที่พระเยซูทรงรักษาโรคต่าง ๆ ให้หาย เช่น คนโรคเรื้อนหายสะอาด, คนหูหนวกก็ได้ยิน, คนตาบอดมองเห็น, คนง่อยเดินได้, คนตายฟื้นคืนชีพ! การสำแดงฤทธิ์อำนาจเหล่านี้ของพระยะโฮวาผ่านทางพระเยซูอย่างน่าประหลาดย่อมดึงดูดฝูงชนมากมายให้พากันมาหาพระองค์อย่างแน่นอน! แต่ไม่เพียงการอัศจรรย์ต่าง ๆ เท่านั้นที่ชักนำพวกเขา ฝูงชนจำนวนมากเช่นกันที่มาหาพระองค์โดยหวังจะได้รับการบำบัดฝ่ายวิญญาณในระหว่างที่พระเยซูทรงสั่งสอน. ขอให้สังเกตการตอบรับ อย่างเช่น หลังจากได้ฟังคำเทศน์บนภูเขาที่มีชื่อเสียง: “ครั้นพระเยซูตรัสคำเหล่านี้เสร็จแล้ว, ประชาชนทั้งปวงก็อัศจรรย์ใจด้วยคำสั่งสอนของพระองค์ เพราะว่าพระองค์ได้ทรงสั่งสอนเขาดุจผู้มีอาชญา, หาเหมือนพวกอาลักษณ์ของเขาไม่. (มัดธาย 7:28, 29) อาจารย์ชาวยิวของเขาอ้างประเพณีที่เล่าสืบปากกันจากพวกอาจารย์สมัยโบราณสนับสนุนการสอนของตน. ฝ่ายพระเยซูทรงสอนเขาอย่างผู้ได้รับอำนาจจากพระเจ้า ดังที่ว่า “สิ่งที่เราพูด พระบิดาบอกเราอย่างไร เราก็พูดอย่างนั้น.”—โยฮัน 12:50, ล.ม.
การสอนของพระองค์เข้าถึงหัวใจ
3. การเสนอข่าวสารต่าง ๆ ของพระเยซูต่างกันอย่างไรกับวิธีการของพวกอาลักษณ์และฟาริซาย?
3 การสอนของพระเยซูไม่เพียงต่างกันกับการสอนของอาลักษณ์กับฟาริซายทางด้านเนื้อหาเท่านั้น อันได้แก่ ความจริงที่มาจากพระเจ้าซึ่งแตกต่างจากคำสอนสืบปากของมนุษย์อันก่อภาระหนัก แต่รวมไปถึงวิธีการสอนของพระองค์ด้วย. พวกอาลักษณ์และฟาริซายมักทะนงตนและแข็งกร้าว โอ้อวดฐานะตำแหน่งทางศาสนาอย่างยโสและดูถูกประชาชนประหนึ่งเป็น “คนน่ารังเกียจ.” ตรงกันข้าม พระเยซูทรงมีพระทัยถ่อม, อ่อนโยน, กรุณา, มีความรู้สึกร่วม, และบ่อยครั้งทรงโอนอ่อนผ่อนตาม และพระองค์เกิดความรู้สึกสงสารพวกเขา. พระเยซูทรงสอนไม่เพียงแต่ใช้ถ้อยคำถูกต้องเท่านั้น แต่ด้วยคำพูดดึงดูดใจที่ออกมาจากหัวใจ ซึ่งเข้าถึงหัวใจผู้ฟังโดยตรง. ข่าวสารของพระองค์ที่น่ายินดีดึงดูดผู้คน, ทำให้เขาอยากไปพระวิหารแต่เช้าเพื่อฟังพระองค์ ทั้งทำให้เขาติดตามพระองค์และฟังพระองค์ด้วยความชื่นชม. ฝูงชนมากมายที่มาฟังพระองค์สั่งสอนนั้นพากันกล่าวว่า “ไม่เคยมีผู้อื่น ๆ พูดเช่นนี้เลย.”—โยฮัน 7:46-49, ล.ม.; มาระโก 12:37; ลูกา 4:22; 19:48; 21:38.
4. ในการประกาศสั่งสอนของพระเยซูมีอะไรโดยเฉพาะที่ดึงดูดผู้คนมากมาย?
4 แน่นอน เหตุผลประการหนึ่งที่ประชาชนติดใจคำสอนของพระองค์ คือพระองค์ทรงใช้อุทาหรณ์. พระเยซูทรงเห็นสิ่งที่ผู้คนเห็น แต่พระองค์คิดถึงสิ่งซึ่งพวกเขาไม่เคยคิดมาก่อน. ดอกไม้ขึ้นงอกงามในท้องทุ่ง, นกทำรังของมัน, ผู้คนหว่านเมล็ดพืช, คนเลี้ยงแกะพาลูกแกะที่หลงหายกลับมา, ผู้หญิงเอาผ้าปะเสื้อเก่า, เด็ก ๆ พากันเล่นกลางถนน, ชาวประมงลากอวน—ของธรรมดา ๆ ที่ทุกคนเห็น—แต่ไม่ธรรมดาในสายตาของพระเยซู. ทุกที่ทุกแห่งที่พระองค์มองดู พระองค์เห็นอะไรบางอย่างซึ่งพระองค์สามารถใช้เป็นอุทาหรณ์เกี่ยวข้องกับพระเจ้าและราชอาณาจักรของพระองค์ หรือชี้จุดสำคัญเกี่ยวกับสังคมมนุษยชาติที่อยู่รอบข้าง.
5. พระเยซูทรงใช้อะไรเป็นอุทาหรณ์ และอะไรทำให้คำอุปมาเรื่องต่าง ๆ ของพระองค์มีประสิทธิผล?
5 อุทาหรณ์ต่าง ๆ ของพระเยซูอาศัยสิ่งที่ผู้คนเห็นอยู่ทุกวัน และเคยเห็นบ่อย ๆ และเมื่อเอาความจริงข้อต่าง ๆ เทียบเข้ากับสิ่งเหล่านั้นที่เห็นจนชินแล้ว ความจริงเหล่านั้นจะประทับใจผู้ฟังได้อย่างรวดเร็วและลึกซึ้ง. ความจริงดังกล่าวไม่เป็นเพียงสิ่งที่ได้ยิน แต่ได้กลายเป็นภาพฝังใจและคิดทบทวนได้ง่ายทีหลัง. ลักษณะพิเศษเฉพาะแห่งอุปมาของพระเยซูนั้นคือความเรียบง่าย, ไม่แทรกด้วยเนื้อหาที่ขัดขวางความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับความจริง. เพื่อให้ตัวอย่าง ขอให้เราพิจารณาอุปมาเรื่องชาวซะมาเรียเพื่อนบ้านที่ดี. คุณเห็นภาพชัดเจนว่า เพื่อนบ้านที่ดีเป็นอย่างไร. (ลูกา 10:29-37) และอุปมาเรื่องบุตรชายสองคน—คนหนึ่งบอกว่าตนจะไม่ทำงานในสวนองุ่นแต่แล้วก็ทำอีกคนหนึ่งบอกว่าจะทำแต่แล้วไม่ทำ. คุณเข้าใจทันทีว่าสิ่งที่แสดงถึงการเชื่อฟังอย่างแท้จริง คือทำตามที่รับมอบหมาย. (มัดธาย 21:28-31) ไม่มีการง่วงนอนหรือปล่อยใจล่องลอยในช่วงที่พระเยซูสั่งสอนอย่างมีชีวิตชีวา. พวกเขาจดจ่อตั้งใจฟังและมองเห็นภาพด้วย.
พระเยซูทรงโอนอ่อนเมื่อเรื่องนั้นเป็นไปตามหลักแห่งความรัก
6. เมื่อไรโดยเฉพาะที่ความมีเหตุผล หรือการโอนอ่อนผ่อนตามเป็นคุณประโยชน์?
6 หลายครั้งเมื่อคัมภีร์ไบเบิลพูดถึงการเป็นคนมีเหตุผล จะมีคำชี้แจงที่เชิงอรรถว่าหมายถึงการโอนอ่อนผ่อนตาม. สติปัญญาจากพระเจ้าหมายถึงการผ่อนปรนเมื่อสภาพแวดล้อมพอจะลดหย่อนได้. พวกเราพึงเป็นคนมีเหตุผล หรือโอนอ่อนผ่อนตามเป็นครั้งคราว. ผู้ปกครองควรเต็มใจผ่อนปรนเมื่อเห็นว่าชอบด้วยหลักแห่งความรักและสมกับการกลับใจ. (1 ติโมเธียว 3:3; ยาโกโบ 3:17) พระเยซูได้ทรงวางตัวอย่างอันน่าทึ่งเกี่ยวด้วยการผ่อนปรน ทำให้มีข้อยกเว้นจากกฎเกณฑ์ทั่วไปเมื่อมีโอกาสแสดงความเมตตาสงสาร.
7. มีตัวอย่างอะไรบ้างแสดงว่าพระเยซูโอนอ่อน?
7 ในคราวหนึ่งพระเยซูตรัสว่า “ผู้ใดจะปฏิเสธเราต่อหน้ามนุษย์, เราจะปฏิเสธผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ด้วย.” แต่พระองค์ไม่ทอดทิ้งเปโตรที่ได้ปฏิเสธพระองค์ถึงสามครั้ง. มีสภาพแวดล้อมต่าง ๆ อันควรผ่อนผันซึ่งปรากฏชัดว่าพระเยซูทรงคำนึงถึง. (มัดธาย 10:33; ลูกา 22:54-62) มีสภาพการณ์อันควรผ่อนปรนเหมือนกัน กรณีที่ผู้หญิงมีมลทินคนหนึ่งป่วยด้วยโรคโลหิตตกไม่หยุดได้ละเมิดกฎหมายของโมเซโดยการเข้ามาอยู่ท่ามกลางฝูงชน. พระเยซูไม่ทรงตำหนิเธอ. พระองค์ทรงเข้าใจถึงความรู้สึกหมดหวังของเธอ. (มาระโก 1:40-42; 5:25-34; ดูที่ลูกา 5:12, 13 ด้วย.) พระเยซูทรงกำชับเหล่าอัครสาวกไม่ให้ระบุตัวพระองค์เป็นพระมาซีฮา ถึงกระนั้น พระองค์ก็ไม่เคร่งอยู่กับกฎนี้เมื่อพระองค์เองได้แสดงตัวแก่หญิงชาวซะมาเรียที่บ่อน้ำว่าพระองค์คือมาซีฮา. (มัดธาย 16:20; โยฮัน 4:25, 26) ในกรณีทั้งหมดเหล่านี้ ความรัก, ความเมตตา, และความสงสารทำให้การผ่อนปรนเป็นสิ่งเหมาะสม.—ยาโกโบ 2:13.
8. เมื่อไรพวกอาลักษณ์และฟาริซายยอมเบี่ยงเบนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และเมื่อไรเขาจะไม่ยอม?
8 ข้อนี้แตกต่างจากพวกอาลักษณ์และฟาริซายที่ไม่ยอมโอนอ่อน. สำหรับตัวเองแล้ว พวกเขาจะละเมิดธรรมเนียมวันซะบาโตโดยที่ได้จูงโคของตนไปกินน้ำ. หรือหากโคหรือลูกชายของเขาตกบ่อ เขาก็ได้ละเมิดวันซะบาโตโดยได้ช่วยลูกชายขึ้นจากบ่อ. แต่ถ้าเป็นสามัญชนแล้ว เขาจะไม่ยอมผ่อนผันแม้แต่น้อย! “เขาเองแม้แต่นิ้วเดียวก็ไม่จับต้องเลย.” (มัดธาย 23:4; ลูกา 14:5) สำหรับพระเยซู พระองค์ถือว่าประชาชนสำคัญยิ่งกว่ากฎเกณฑ์ส่วนใหญ่ ส่วนพวกฟาริซายถือว่ากฎสำคัญกว่าคน.
“การที่ได้เป็นบุตรแห่งพระบัญญัติ”
9, 10. หลังจากกลับถึงยะรูซาเลมแล้ว บิดามารดาของพระเยซูตามพบพระองค์ที่ไหน และความสำคัญของการซักถามของพระเยซูคืออะไร?
9 บางคนคร่ำครวญว่าประวัติชีวิตวัยเด็กของพระเยซูมีบันทึกไว้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น. แต่หลายคนกลับไม่ตระหนักถึงความสำคัญแห่งเหตุการณ์ครั้งนั้น. เรื่องนี้มีบันทึกไว้ที่ลูกา 2:46, 47 ดังนี้: “เมื่อหามาได้สามวันแล้วจึงพบพระกุมารนั่งอยู่ในโบสถ์ท่ามกลางพวกอาจารย์, กำลังฟังและไต่ถามพวกอาจารย์เหล่านั้น. คนทั้งปวงที่ได้ยินก็ประหลาดใจในสติปัญญาและคำตอบของพระกุมารนั้น.” พจนานุกรมเกี่ยวกับเทววิทยาในพันธสัญญาใหม่ ของคิตเทลเสนอความคิดที่ว่า ในกรณีนี้คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ไต่ถาม” นั้น ไม่หมายความแต่เพียงว่าเป็นความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก. คำนี้อาจพาดพิงไปถึงการสอบถามเมื่อมีการพิจารณาคดี, การสอบสวน, การซักไซ้, กระทั่ง “สืบสาวเรื่องราวและซักไซ้ด้วยกลอุบายของพวกฟาริซายและซาดูกาย” ดังกล่าวไว้ที่มาระโก 10:2 และ 12:18-23.
10 พจนานุกรมฉบับเดียวกันชี้แจงต่อดังนี้: “เมื่อคำนึงถึงการใช้คำนี้ก็อาจถามว่า . . . [ลูกา] 2:46 เป็นการซักถามด้วยความอยากรู้อยากเห็นของเด็กหรือว่าเป็นการโต้ตอบข้อถกเถียงได้อย่างสำเร็จผล. [ข้อ] 47 ดูจะเหมาะสมกลมกลืนกับแง่คิดอันหลัง.”a การแปลของ รอตเทอร์ฮัม เสนอข้อ 47 เสมือนการเผชิญหน้าอย่างเร้าใจว่า “ตอนนี้ทุกคนที่ได้ยินพระองค์ต่างก็พากันตื่นเต้นอย่างใหญ่หลวง เนื่องด้วยความเข้าใจและคำตอบของพระองค์.” ภาพพจน์ในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ โดยโรเบิร์ตสันบอกว่า ความประหลาดใจอย่างไม่ขาดสายของเขาบ่งถึง “เขาตื่นเต้นอย่างใหญ่หลวงราวกับดวงตาแทบจะถลนทีเดียว”.
11. สิ่งที่มาเรียกับโยเซฟได้ยินได้เห็นนั้นทำให้คนทั้งสองมีปฏิกิริยาอย่างไร และพจนานุกรมเกี่ยวกับเทววิทยาฉบับหนึ่งชวนให้คิดถึงอะไร?
11 ในที่สุดเมื่อบิดามารดาตามหาพระองค์พบแล้ว “ฝ่ายบิดามารดาเมื่อเห็นแล้วก็ประหลาดใจ.” (ลูกา 2:48) โรเบิร์ตสันบอกว่าคำภาษากรีกในถ้อยคำเหล่านี้หมายถึง “ตี, ชกต่อย.” เขาเสริมว่าโยเซฟกับมาเรียถึงกับ “ถูกชกต่อย” เนื่องจากสิ่งที่เขาได้เห็นและได้ยิน. ในแง่หนึ่ง พระเยซูเป็นครูไปแล้วอย่างไม่นึกฝัน. และเมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์ตอนนี้ในพระวิหาร พจนานุกรมของคิตเทล กล่าวว่า “ในวัยเด็กพระเยซูทรงเริ่มต้นการโต้แย้งซึ่งฝ่ายปรปักษ์ต้องยอมจำนนในที่สุด.”
12. อะไรปรากฏชัดในการสนทนาโต้ตอบครั้งต่อมาของพระเยซูกับพวกผู้นำทางศาสนา?
12 และพวกเขาก็ได้ยอมจำนนจริง ๆ! หลายปีต่อมา โดยการซักไซ้ไล่เลียงดังกล่าว พระเยซูได้กำราบพวกฟาริซายจนกระทั่ง “ตั้งแต่วันนั้นมาไม่มีใครกล้าซักถามพระองค์ต่อไป.” (มัดธาย 22:41-46) พวกซาดูกายก็ถูกทำให้เงียบเสียงเช่นเดียวกันในประเด็นว่าด้วยการถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย และ “เขาไม่อาจจะทูลถามพระองค์ต่อไปอีก.” (ลูกา 20:27-40) พวกอาลักษณ์ก็พอ ๆ กัน. หลังจากอาลักษณ์คนหนึ่งได้ถกเถียงกับพระเยซูแล้ว “ตั้งแต่นั้นไปไม่มีใครอาจซักถามพระองค์ต่อไปอีก.”—มาระโก 12:28-34.
13. อะไรคือสิ่งที่ทำให้เหตุการณ์ ณ พระวิหารมีความสำคัญในชีวิตของพระเยซูและเป็นการแนะให้รู้ถึงอะไรต่อไป?
13 ทำไมจึงยกเอาเหตุการณ์เกี่ยวกับพระเยซูในวัยเยาว์กับพวกอาจารย์ประจำพระวิหารขึ้นมากล่าว? ตอนนั้นเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิตของพระเยซู. ครั้นมีพระชนมายุ 12 พรรษา พระองค์ก็ได้มาเป็นอย่างที่ชาวยิวเรียกว่า “บุตรแห่งพระบัญญัติ” รับผิดชอบต่อการถือรักษาข้อบัญญัติทุกประการ. เมื่อมาเรียโอดครวญกับพระเยซูว่าพระองค์เป็นเหตุทำให้นางและโยเซฟกังวลใจ คำตอบของบุตรชายของเธอบ่งชี้ว่า พระองค์คงรู้เรื่องการกำเนิดอย่างอัศจรรย์และวันข้างหน้าที่พระองค์จะได้เป็นพระมาซีฮา. นี้แหละเป็นข้อบ่งชี้โดยที่พระเยซูชี้แจงว่าพระเจ้าคือพระบิดาของพระองค์โดยตรง: “ท่านเที่ยวหาฉันทำไม? ท่านยังไม่ทราบหรือว่า ฉันคงต้องอยู่ในราชฐานแห่งพระบิดาของฉัน?” อนึ่ง ถ้อยคำเหล่านี้เป็นถ้อยคำแรกของพระเยซูซึ่งมีบันทึกในคัมภีร์ไบเบิล และถ้อยคำเหล่านี้แสดงถึงการรู้สำนึกของพระองค์เกี่ยวด้วยพระประสงค์ของพระยะโฮวาที่ทรงส่งพระองค์มายังแผ่นดินโลก. ด้วยเหตุนี้ เรื่องราวทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง.—ลูกา 2:48, 49.
พระเยซูทรงรักและเข้าใจเด็ก
14. เรื่องราวของพระเยซูตอนที่อยู่ ณ พระวิหารเมื่อทรงพระเยาว์มีจุดต่าง ๆ อะไรที่น่าสนใจให้หนุ่มสาวได้รับรู้?
14 เรื่องราวนี้น่าจะประทับใจคนหนุ่มสาวเป็นพิเศษ. เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า พระเยซูศึกษาเล่าเรียนด้วยความหมั่นเพียรเพียงไรขณะที่พระองค์เติบโตสู่วัยหนุ่ม. อาจารย์ชาวยิว ณ พระวิหารเกิดความประหวั่นพรั่นพรึงในสติปัญญาของ “บุตรแห่งพระบัญญัติ” วัย 12 ปี. กระนั้นพระองค์ยังคงทำงานเป็นช่างไม้อยู่กับโยเซฟ “อยู่ใต้ความปกครอง” ของเขาและมาเรีย และ “เป็นที่ชอบจำเพาะพระเจ้าและต่อหน้าคนทั้งปวงด้วย.”—ลูกา 2:51, 52.
15. เมื่อทรงปฏิบัติงานรับใช้บนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงให้การสนับสนุนหนุ่มสาวโดยวิธีใด และทั้งนี้หมายความอย่างไรสำหรับหนุ่มสาวสมัยนี้?
15 พระเยซูเป็นผู้ให้การสนับสนุนคนหนุ่มสาวอย่างมากระหว่างที่พระองค์ปฏิบัติงานบนแผ่นดินโลก: “เมื่อพวกปุโรหิตใหญ่กับพวกอาลักษณ์ได้เห็นการอัศจรรย์ที่พระองค์ทรงกระทำ, ทั้งได้ยินหมู่เด็กร้องในโบสถ์ว่า ‘ให้ราชโอรสแห่งดาวิดทรงสำราญเถิด!’ เขาทั้งหลายก็พากันแค้นเคือง, จึงทูลพระองค์ว่า, ‘ท่านไม่ได้ยินคำที่เขาร้องหรือ?’ พระเยซูตรัสตอบว่า, ‘ได้ยินแล้ว, พวกท่านยังไม่เคยอ่านหรือว่า, “เสียงที่ออกจากปากเด็กอ่อนและทารกนั้นก็เป็นคำสรรเสริญอันจริงแท้”?’” (มัดธาย 21:15, 16; บทเพลงสรรเสริญ 8:2) เช่นเดียวกันพระองค์ทรงให้การสนับสนุนหนุ่มสาวหลายแสนคนในปัจจุบันผู้ซึ่งได้รักษาความภักดีและกล่าวคำสรรเสริญ พวกเขาบางคนได้กระทำเช่นนั้นกระทั่งยอมสละชีวิตเสียด้วยซ้ำ!
16. (ก) โดยการให้เด็กเล็กเข้ามายืนอยู่ท่ามกลางพวกเขา พระเยซูทรงให้บทเรียนอะไรแก่เหล่าอัครสาวก? (ข) ยามฉุกเฉินอย่างยิ่งในชีวิตของพระเยซูคราวไหนซึ่งพระองค์ยังคงให้เวลากับเด็ก ๆ?
16 เมื่อพวกอัครสาวกโต้เถียงกันว่าใครใหญ่ที่สุด พระเยซูได้ตรัสแก่สิบสองคนดังนี้: “‘ถ้าผู้ใดใคร่จะได้เป็นคนต้น, ก็ให้ผู้นั้นเป็นคนท้ายสุด, และเป็นผู้รับใช้ของคนทั้งปวง.’ พระองค์จึงเอาเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งมาให้ยืนท่ามกลางเหล่าสาวกแล้วอุ้มเด็กนั้นไว้ตรัสแก่เหล่าสาวกว่า, ‘ถ้าผู้ใดจะรับเด็กเล็ก ๆ เช่นนี้คนหนึ่งในนามของเรา, ผู้นั้นก็รับเรา, และผู้ใดได้รับเรา, ผู้นั้นก็รับมิใช่แต่เราผู้เดียว, แต่รับพระองค์ผู้ทรงใช้เรามาด้วย.’” (มาระโก 9:35-37) ยิ่งกว่านั้น ขณะที่พระองค์ทรงมุ่งหน้าไปยังกรุงยะรูซาเลมเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเผชิญเหตุการณ์อันน่ากลัวและความตาย พระองค์ได้ปลีกเวลาให้กับเด็กดังนี้: “จงยอมให้เด็กเล็ก ๆ เข้ามาหาเรา, อย่าห้ามเขาเลย, เพราะว่าชาวแผ่นดินของพระเจ้าย่อมเป็นคนอย่างนั้น.” ครั้นแล้ว “ทรงอุ้มเด็กเล็ก ๆ เหล่านั้นวางพระหัตถ์บนเขาและทรงอวยพรให้.”—มาระโก 10:13-16.
17. เหตุใดเป็นสิ่งง่ายดายสำหรับพระเยซูที่จะเกี่ยวข้องกับพวกเด็ก และเด็ก ๆ ต้องจดจำอะไรเกี่ยวกับพระองค์?
17 พระเยซูทรงทราบว่า การเป็นเด็กภายในโลกของผู้ใหญ่นั้นเป็นอย่างไร. พระองค์เองเคยอยู่กับผู้ใหญ่, ทำงานกับผู้ใหญ่, ชินต่อการอยู่ใต้อำนาจพวกเขา, และนอกจากนั้นรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยเนื่องจากได้รับความรักจากผู้ใหญ่. เด็ก ๆ ทั้งหลาย พระเยซูองค์เดียวกันนี้เป็นเพื่อนของคุณด้วย พระองค์วายพระชนม์เพื่อพวกคุณ และคุณจะมีชีวิตตลอดไปถ้าคุณเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์.—โยฮัน 15:13, 14.
18. เราควรจำความคิดอันน่าตื่นเต้นอะไรไว้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีความกดดันและมีอันตราย?
18 การทำตามคำสั่งของพระเยซูนั้นไม่ยากเหมือนที่คิด. หนุ่มสาวทั้งหลาย พระองค์ทรงพร้อมจะให้การสนับสนุนพวกคุณเสมอ และสำหรับคนอื่น ๆ ด้วย ดังที่เราอ่านที่มัดธาย 11:28-30 (ล.ม.) ดังนี้: “บรรดาผู้ที่ทำงานหนักและมีภาระมาก จงมาหาเรา และเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น. จงรับแอกของเราไว้บนเจ้าทั้งหลาย [หรือ “เข้ามาอยู่ใต้แอกกับเรา,” เชิงอรรถ] และเรียนจากเรา เพราะเรามีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม และเจ้าจะได้ความสดชื่นสำหรับจิตวิญญาณของเจ้า. เพราะแอกของเราก็พอเหมาะและภาระของเราก็เบา.” ลองนึกภาพ ขณะที่คุณดำเนินชีวิตด้วยการทำงานรับใช้พระยะโฮวา พระเยซูจะดำเนินเคียงข้างคุณไป ด้วยพระทัยกรุณา พระองค์ทรงช่วยให้แอกและภาระหนักที่คุณแบกอยู่นั้นเบา. ช่างเป็นความคิดซึ่งทำให้พวกเราทุกคนรู้สึกเต็มตื้นเสียจริง ๆ!
19. เราอาจทบทวนคำถามอะไรเป็นครั้งคราวเกี่ยวเนื่องกับวิธีสั่งสอนของพระเยซู?
19 ภายหลังที่ได้ทบทวนวิธีการสอนของพระเยซูแค่สองสามแนวนี้ เราเห็นว่าเราสอนอย่างที่พระองค์สอนไหม? เมื่อเราพบคนเจ็บป่วยด้านร่างกายหรือหิวโหยอิดโรยฝ่ายวิญญาณ เราเกิดความสงสารอยากช่วยเขาตามความสามารถของเราไหม? เมื่อสอนผู้อื่น เราสอนพระคำของพระเจ้าแก่เขาไหม หรือว่า เหมือนพวกฟาริซาย เราสอนตามความคิดเห็นของตัวเอง? เราตื่นตัวสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบข้างไหมเพื่อนำเอาสิ่งนั้นไปเสริมการสอนให้กระจ่าง, ช่วยให้นึกภาพออก, ทำให้เรื่องชัดเจน, และเพิ่มความเข้าใจความจริงฝ่ายวิญญาณ? เราหลีกเลี่ยงการยึดอยู่กับกฎเกณฑ์บางข้ออย่างเข้มงวดไหมเมื่อสภาพการณ์เปิดช่องทางให้มีการปฏิบัติด้วยความรักและความเมตตาอย่างเหมาะสม โดยการผ่อนปรนการใช้กฎเกณฑ์ดังกล่าว? ส่วนเด็ก ๆ ล่ะจะว่าอย่างไร? เราแสดงให้เด็กเห็นความห่วงใยอย่างละมุนละไมและความกรุณารักใคร่เช่นเดียวกันกับที่พระเยซูแสดงไหม? คุณสนับสนุนบุตรของคุณให้ศึกษาอย่างพระเยซูทรงกระทำขณะเป็นเด็กไหม? คุณจะกระทำอย่างเด็ดเดี่ยวเหมือนพระเยซูไหม แต่พร้อมจะอ้าแขนรับผู้ที่กลับใจ เหมือนแม่ไก่กกลูกอยู่ใต้ปีกของมัน?—มัดธาย 23:37.
20. เราอาจปลอบใจตัวเองด้วยแนวคิดเช่นไรซึ่งนำความยินดีมาให้ ขณะรับใช้พระเจ้าของเรา?
20 หากเราพยายามสอนให้ดีที่สุดอย่างที่พระเยซูทรงสอน พระองค์จะทรงโปรดให้เรา ‘เข้าเทียมแอกด้วยกันกับพระองค์’ อย่างแน่นอน.—มัดธาย 11:28-30.
[เชิงอรรถ]
a แน่นอน พวกเรามีเหตุผลทุกประการจะเชื่อว่าพระเยซูทรงปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อผู้มีอายุมากกว่า โดยเฉพาะคนผมหงอกและพวกปุโรหิต.—เทียบกับเลวีติโก 19:32; กิจการ 23:2-5.
คุณจำได้ไหม?
▫ เหตุใดฝูงชนพากันรุมล้อมพระเยซู?
▫ ทำไมบางครั้งพระเยซูทรงโอนอ่อนกับกฎเกณฑ์บางอย่าง?
▫ เราอาจเรียนอะไรได้จากวิธีที่พระเยซูทรงไต่ถามพวกอาจารย์ประจำพระวิหาร?
▫ เราสามารถเรียนอะไรได้จากความสัมพันธ์ที่พระเยซูทรงมีกับเด็กทั้งหลาย?