ช่างพิมพ์ผู้ฝากผลงานที่โดดเด่นไว้
คุณเคยต้องการหาตอนหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลไหม แต่นึกไม่ออกว่าจะพบข้อความนั้นได้ที่ไหน? กระนั้น โดยการจำเพียงคำเดียว คุณก็สามารถพบข้อความนั้นได้โดยการใช้ดรรชนีคำศัพท์ของคัมภีร์ไบเบิล. หรือบางทีคุณได้เข้าร่วมการประชุมคริสเตียนซึ่งผู้เข้าร่วมที่มีจำนวนหลายร้อย หรือหลายพันคนด้วยซ้ำนั้นสามารถเปิดคัมภีร์ไบเบิลของเขาอ่านเพียงไม่กี่วินาทีภายหลังที่มีการอ้างถึงข้อนั้น.
ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม คุณเป็นหนี้บุญคุณบุรุษผู้หนึ่งซึ่งคุณอาจไม่คุ้นเคย. เขาทำให้การที่คุณศึกษาคัมภีร์ไบเบิลง่ายขึ้น และเขายังมีบทบาทสำคัญในการรับประกันว่า พวกเราในทุกวันนี้มีคัมภีร์ไบเบิลที่ถูกต้อง. เขาถึงกับมีส่วนในการกำหนดรูปแบบของคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับด้วยซ้ำ.
บุรุษผู้นี้คือ รอแบอร์ เอเทียน.a เขาเป็นช่างพิมพ์ เป็นลูกชายของช่างพิมพ์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ตอนต้น ๆ ของศตวรรษที่ 16. นั่นเป็นยุคของการเฟื่องฟูด้านศิลปวิทยาและการปฏิรูป. แท่นพิมพ์กลายเป็นอุปกรณ์สำหรับทั้งสองอย่าง. อังรี เอเทียน บิดาของรอเบอร์ เป็นช่างพิมพ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ผลิตหนังสือฉบับเยี่ยมยอดที่สุดบางเล่มระหว่างยุคเฟื่องฟูทางศิลปวิทยานั้น. ผลงานของเขารวมเอาทั้งทางด้านวิชาการและด้านคัมภีร์ไบเบิลสำหรับมหาวิทยาลัยแห่งปารีส และซอร์บอนน์ คณะเทววิทยาของมหาวิทยาลัยนั้น.
แต่ขอให้เรามุ่งความสนใจไปยังรอเบอร์ เอเทียน ผู้เป็นลูกชาย. เป็นที่ทราบกันไม่มากนักเกี่ยวกับการศึกษาอย่างเป็นทางการของเขา. กระนั้น ตั้งแต่เล็ก ๆ เขาเชี่ยวชาญภาษาลาติน และไม่ช้าก็เรียนรู้ภาษากรีกและภาษาฮีบรูอีกด้วย. รอเบอร์เรียนรู้ศิลปะด้านการพิมพ์จากบิดา. เมื่อเขารับช่วงกิจการพิมพ์ต่อจากอังรีในปี 1526 รอเบอร์ เอเทียนเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วฐานะผู้เชี่ยวชาญในมาตรฐานชั้นสูงเกี่ยวกับภาษา. ถึงแม้เขาได้จัดพิมพ์วรรณคดีลาตินฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่และผลงานอื่น ๆ ด้านวิชาการก็ตาม สิ่งที่เขานิยมชมชอบเป็นอันดับแรกและอย่างที่ไม่อาจโต้แย้งได้ก็คือ คัมภีร์ไบเบิล. เพราะปรารถนาเหลือเกินที่จะดำเนินการให้สำเร็จกับคัมภีร์ไบเบิลภาษาลาตินเช่นเดียวกับที่ได้ทำสำเร็จไปแล้วกับวรรณคดีลาติน เอเทียนจึงเริ่มจัดวางข้อความดั้งเดิมในศตวรรษที่ห้าของคัมภีร์ไบเบิลฉบับลาตินวัลเกตของเจโรมนั้นใหม่เท่าที่จะเป็นไปได้.
ฉบับวัลเกตที่ขัดเกลาแล้ว
เจโรมได้แปลจากภาษาฮีบรูและภาษากรีกดั้งเดิมของคัมภีร์ไบเบิล แต่เมื่อมาถึงสมัยของเอเทียน ฉบับวัลเกต มีอยู่แล้วเป็นเวลาหนึ่งพันปี. ข้อผิดพลาดและการคลาดเคลื่อนไปจากของเดิมหลายประการได้เล็ดลอดเข้ามาอันเป็นผลสืบเนื่องจากการคัดลอกฉบับวัลเกตของคนหลายรุ่น. ยิ่งกว่านั้น ระหว่างยุคกลาง ถ้อยคำของคัมภีร์ไบเบิลที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าได้ถูกปกคลุมด้วยตำนานยุคกลางที่ยุ่งเหยิง, ตอนต่าง ๆ ที่ถูกถอดความ, และการสอดแทรกที่ปลอมแปลง. มีการนำส่วนเหล่านี้มาปนเปกับข้อความในคัมภีร์ไบเบิลจนกระทั่งเริ่มเป็นที่ยอมรับฐานะบทบันทึกที่ได้มาโดยการดลใจ.
เพื่อขจัดทุกสิ่งที่ไม่ใช่ของเดิมออกไป เอเทียนใช้วิธีการตรวจสอบต้นฉบับอย่างที่เคยใช้สำหรับการศึกษาวรรณคดีโบราณ. เขาได้ค้นหาต้นฉบับเก่าแก่ที่สุดและดีที่สุดซึ่งพอจะหาได้. ในห้องสมุดที่กรุงปารีสและในบริเวณรอบกรุงนั้น และในสถานที่อย่างเช่น เอฟว์เริกซ์และซัวซงส์ เขาได้ค้นพบต้นฉบับเก่าแก่หลายฉบับ ฉบับหนึ่งดูเหมือนมีอายุตั้งแต่ศตวรรษที่หก. เอเทียนเปรียบเทียบข้อความภาษาลาตินที่ต่างกันทีละตอนนั้นอย่างถี่ถ้วน เลือกเอาเฉพาะตอนที่ดูเหมือนมีหลักฐานมากที่สุด. ผลงานที่ได้ก็คือ คัมภีร์ไบเบิลฉบับของเอเทียน จัดพิมพ์ครั้งแรกในปี 1528 และเป็นขั้นตอนสำคัญก้าวไปสู่การขัดเกลาความถูกต้องด้านข้อความของคัมภีร์ไบเบิล. ฉบับที่แก้ไขปรับปรุงโดยเอเทียนติดตามมา. คนอื่นที่อยู่ก่อนหน้าเขาเคยพยายามแก้ไขฉบับวัลเกต แต่การพิมพ์ของเขาเป็นฉบับแรกที่จัดให้มีเครื่องช่วยที่สำคัญอย่างแท้จริง. ในช่องริมหน้า เอเทียนชี้แจงว่า ตรงไหนที่เขาได้ตัดตอนที่น่าสงสัยออกไป หรือตรงไหนที่เป็นไปได้ว่าจะมีข้อความที่ต่างกันมากกว่าหนึ่งอย่าง. เขายังชี้ชัดถึงแหล่งที่มาของต้นฉบับซึ่งให้หลักฐานสำหรับการแก้ไขเหล่านี้.
เอเทียนได้นำลักษณะเด่นอื่น ๆ หลายอย่างมาใช้ที่เป็นสิ่งใหม่สำหรับศตวรรษที่ 16. เขาได้แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างหนังสืออธิกธรรมกับพระคำของพระเจ้า. เขาจัดพระธรรมกิจการไว้หลังจากกิตติคุณและอยู่ก่อนจดหมายของเปาโล. ที่ด้านบนของแต่ละหน้า เขาจัดให้มีถ้อยคำสำคัญบางคำไว้เพื่อช่วยผู้อ่านหาตอนที่จำเพาะเจาะจง. นี่เป็นตัวอย่างแรกสุดของสิ่งที่ทุกวันนี้เรียกกันโดยทั่วไป เป็นหัวข้อที่ปรากฏบนทุกหน้าของหนังสือ. แทนการใช้ตัวพิมพ์แบบกอธที่หนา ตัวพิมพ์ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในเยอรมนี เอเทียนเป็นคนแรก ๆ ที่พิมพ์คัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มด้วยตัวพิมพ์แบบโรมันที่บางกว่าและเป็นตัวตรงที่อ่านง่ายซึ่งใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน. เขายังจัดให้มีการอ้างอิงถึงกันและหมายเหตุด้านภาษาเพื่อช่วยให้กระจ่างในบางตอน.
ขุนนางและบาทหลวงชั้นสูงหลายคนหยั่งรู้ค่าคัมภีร์ไบเบิลของเอเทียน เพราะดีกว่าฉบับวัลเกต อื่นใดที่พิมพ์ออกมา. เนื่องด้วยความสวยงาม, ฝีมือประณีต, และประโยชน์ในการใช้สอย ฉบับพิมพ์ของเขาจึงกลายเป็นมาตรฐานและไม่นานก็มีการเลียนแบบกันตลอดทั่วยุโรป.
ช่างพิมพ์ของพระราชา
สุภาษิต 22:29 (ฉบับแปลใหม่) บอกว่า “เจ้าเห็นคนที่มีฝีมือในงานของเขาหรือ เขาจะได้เข้าเฝ้าพระราชา.” ฝีมือในเชิงริเริ่มสร้างสรรค์และความสามารถทางด้านภาษาของเอเทียนมิได้รอดพ้นจากการสังเกตของฟรานซิสที่ 1 กษัตริย์แห่งฝรั่งเศส. เอเทียนกลายเป็นช่างพิมพ์ภาษาลาติน, ฮีบรู, และกรีกของกษัตริย์. ในฐานะเช่นนี้ เอเทียนได้สร้างสิ่งที่ยังคงเป็นผลงานชิ้นเอกของศิลปะด้านการพิมพ์ฝรั่งเศส. ในปี 1539 เขาเริ่มผลิตคัมภีร์ไบเบิลภาษาฮีบรูที่ครบถ้วนฉบับแรกและดีเยี่ยมที่สุดซึ่งพิมพ์ในฝรั่งเศส. ในปี 1540 เขาได้นำภาพประกอบเข้ามาใช้ในคัมภีร์ไบเบิลภาษาลาตินที่เขาพิมพ์. แต่แทนที่จะใช้ภาพวาดจากจินตนาการตามปกติเกี่ยวกับเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิลที่มีอยู่ทั่วไปในยุคกลางนั้น เอเทียนจัดให้มีภาพวาดที่ให้ความรู้ซึ่งอาศัยหลักฐานทางโบราณคดี หรือโดยใช้มาตราวัดและคำพรรณนาที่พบในคัมภีร์ไบเบิลนั้นเอง. การพิมพ์จากบล็อกพิมพ์ไม้เช่นนี้ให้ภาพที่ละเอียดเกี่ยวกับหีบแห่งคำสัญญาไมตรี, เสื้อผ้าของมหาปุโรหิต, พลับพลาชุมนุม, และพระวิหารของซะโลโม.
โดยใช้ตัวพิมพ์ภาษากรีกชุดพิเศษที่เขาได้สั่งมาเพื่อพิมพ์ฉบับสำเนาของกษัตริย์ที่เก็บสะสมไว้ เอเทียนดำเนินการต่อไปในการผลิตพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับตรวจสอบแก้ไขเป็นฉบับแรก. ถึงแม้ข้อความภาษากรีกของเอเทียนในสองฉบับแรกดีกว่าผลงานของเดซิเดริอุส อีรัสมุสไม่มากนักก็ตาม ในการพิมพ์ครั้งที่สามในปี 1550 เอเทียนได้เพิ่มอรรถาธิบายสาระสำคัญของหนังสือและแหล่งข้อมูลที่มีการอ้างอิงถึงจากฉบับสำเนาต่าง ๆ ประมาณ 15 ฉบับ รวมทั้งโคเด็กซ์ บีไซในศตวรรษที่ห้าสากลศักราชและคัมภีร์ไบเบิลฉบับเซ็ปตัวจินต์. การพิมพ์ฉบับนี้โดยเอเทียนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางจนกระทั่งกลายมาเป็นพื้นฐานสำหรับเท็กซ์ทุส เรเซ็พทุส หรือข้อความที่ได้รับมา ซึ่งพระคัมภีร์ฉบับแปลหลายฉบับในภายหลังได้ใช้เป็นหลัก รวมทั้งฉบับคิงเจมส์ ปี 1611 ด้วย.
ซอร์บอนน์ค้านการปฏิรูป
โดยที่แนวคิดของลูเธอร์และนักปฏิรูปคนอื่น ๆ แพร่ไปตลอดทั่วยุโรป คริสตจักรคาทอลิกหาทางจะควบคุมสิ่งที่ประชาชนคิดโดยการออกกฎข้อบังคับสิ่งที่พวกเขาอ่าน. ในวันที่ 15 มิถุนายน 1520 โปปลีโอที่ 10 ได้ประกาศราชโองการ สั่งไม่ให้พิมพ์, จำหน่าย, หรืออ่านหนังสือที่มี “ความเห็นนอกรีต” ในประเทศใด ๆ ที่เป็นคาทอลิก และเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจฝ่ายโลกปฏิบัติตามราชโองการนั้นภายในอาณาเขตของตน. ในอังกฤษ กษัตริย์เฮนรีที่ 8 ได้มอบภารกิจในการตรวจสอบให้แก่คัทเบิร์ต ทันสทัล บิชอปคาทอลิก. อย่างไรก็ดี ในส่วนใหญ่ของยุโรป ผู้มีอำนาจที่ไม่มีใครโต้แย้งได้ในเรื่องเกี่ยวกับหลักคำสอนรองจากโปปก็คือ ซอร์บอนน์ คณะอาจารย์นักเทววิทยาของมหาวิทยาลัยแห่งปารีส.
ซอร์บอนน์เป็นกระบอกเสียงของความคิดดั้งเดิมแบบคาทอลิก. เป็นเวลาหลายศตวรรษถือกันว่าคณะนั้นเป็นป้อมปราการของความเชื่อฝ่ายคาทอลิก. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของซอร์บอนน์คัดค้านฉบับพิมพ์ที่ตรวจสอบแก้ไขและฉบับแปลภาษาพื้นเมืองของฉบับวัลเกต โดยถือว่าฉบับเหล่านั้นไม่เพียงแต่ “ใช้การไม่ได้สำหรับคริสตจักรเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายอีกด้วย.” เรื่องนี้ไม่แปลกในสมัยที่นักปฏิรูปแสดงความสงสัยเกี่ยวกับคำสอน, พิธีรีตอง, และประเพณีของคริสตจักรซึ่งไม่มีรากฐานจากพระคัมภีร์. อย่างไรก็ดี นักเทววิทยาหลายคน ณ ซอร์บอนน์ถือว่า คำสอนที่ได้รับความเคารพของคริสตจักรนั้นสำคัญยิ่งกว่าการแปลคัมภีร์ไบเบิลอย่างถูกต้อง. นักเทววิทยาคนหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อได้รับคำสอนมาแล้ว พระคัมภีร์ก็เป็นเหมือนนั่งร้านที่ถูกเคลื่อนย้ายออกไปภายหลังฝาผนังสร้างเสร็จแล้ว.” อาจารย์ส่วนใหญ่ของคณะนั้นไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับภาษาฮีบรูและภาษากรีก กระนั้น พวกเขาดูถูกการศึกษาของเอเทียนและผู้คงแก่เรียนคนอื่น ๆ ในยุคฟื้นฟูทางศิลปวิทยาผู้ซึ่งค้นคว้าความหมายเดิมของถ้อยคำที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิล. ศาสตราจารย์คนหนึ่งของซอร์บอนน์ถึงกับกล้ากล่าวว่า “การแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาษากรีกและภาษาฮีบรูออกไปจะก่อให้เกิดการทำลายทุกศาสนา.”
ซอร์บอนน์โจมตี
ถึงแม้ว่าการพิมพ์ฉบับวัลเกต รุ่นแรก ๆ ของเอเทียนผ่านการตรวจสอบของคณะนั้นก็ตาม นั่นใช่ว่าเป็นไปโดยปราศจากการโต้แย้งไม่. ย้อนหลังไปในศตวรรษที่ 13 ฉบับวัลเกตได้รับการเทิดทูนเป็นคัมภีร์ไบเบิลฉบับทางการของมหาวิทยาลัย และสำหรับหลายคนแล้ว ข้อความของฉบับนั้นไม่ผิดพลาด. คณะนั้นถึงกับแถลงติเตียนอีรัสมุส ผู้คงแก่เรียนที่ได้รับความนับถือเนื่องด้วยผลงานของเขาเกี่ยวกับฉบับวัลเกต. การที่ช่างพิมพ์ซึ่งเป็นฆราวาสในท้องถิ่นจะบังอาจแก้ไขข้อความที่เป็นทางการนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้บางคนตกใจ.
บางทีสิ่งที่ทำให้นักเทววิทยาเป็นห่วงยิ่งกว่าเรื่องใด ๆ นั้นคือ หมายเหตุช่องริมหน้าของเอเทียน. หมายเหตุนั้นแสดงความสงสัยเรื่องความถูกต้องของข้อความเดิมในฉบับวัลเกต. ความปรารถนาของเอเทียนที่จะทำให้บางตอนชัดเจนขึ้นนั้นยังผลให้เขาถูกกล่าวหาเรื่องการล่วงล้ำเข้าไปในแวดวงของเทววิทยา. เขาปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าหมายเหตุของเขานั้นเป็นเพียงการสรุปสั้น ๆ หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษาเท่านั้น. ตัวอย่างเช่น หมายเหตุของเขาในเยเนซิศ 37:35 อธิบายว่า คำ “นรก” [ภาษาลาติน, อินเฟอร์นุม] ในข้อนั้นไม่อาจเข้าใจว่าเป็นสถานที่ซึ่งคนชั่วถูกลงโทษ. คณะนั้นกล่าวหาว่า เขาปฏิเสธสภาพอมตะของจิตวิญญาณและอำนาจในการอธิษฐานแทนโดย “พวกนักบุญ.”
อย่างไรก็ดี เอเทียนได้รับความโปรดปรานและการคุ้มครองจากกษัตริย์. ฟรานซิสที่ 1 แสดงความสนพระทัยอย่างยิ่งในการศึกษาของยุคฟื้นฟูด้านศิลปวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานจากช่างพิมพ์ของกษัตริย์. ตามที่เล่าลือกัน ฟรานซิสที่ 1 ถึงกับเสด็จไปเยี่ยมเอเทียนด้วยซ้ำ และครั้งหนึ่งทรงอดพระทัยรอระหว่างที่เอเทียนทำการแก้ไขให้ถูกต้องเป็นครั้งสุดท้าย. โดยการสนับสนุนของกษัตริย์ เอเทียนต้านทานคณะอาจารย์ซอร์บอนน์ได้.
นักเทววิทยาสั่งห้ามคัมภีร์ไบเบิลที่เขาพิมพ์
อย่างไรก็ตาม ในปี 1545 เหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้ความเดือดดาลสุดขีดของคณะอาจารย์ซอร์บอนน์รวมจุดอยู่ที่เอเทียน. เมื่อเห็นประโยชน์จากการเสนอให้มีแนวร่วมต่อต้านนักปฏิรูป มหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งเมืองโคโลญจ์ (เยอรมนี), ลูฟเวน (เบลเยี่ยม), และปารีสได้เห็นพ้องกันก่อนหน้านั้นที่จะร่วมมือกันในการตรวจสอบคำสอนที่นอกลู่นอกทาง. เมื่อนักเทววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยลูฟเวนเขียนถึงซอร์บอนน์แสดงความประหลาดใจที่คัมภีร์ไบเบิลของเอเทียนไม่ปรากฏอยู่ในรายชื่อหนังสือที่ถูกตัดสินว่าใช้ไม่ได้ของปารีส ทางซอร์บอนน์ตอบอย่างโป้ปดว่า พวกเขาคงจะตัดสินว่าหนังสือเหล่านั้นใช้ไม่ได้แน่ ๆ หากเขาพบเห็นหนังสือนั้น. เหล่าศัตรูของเอเทียนที่อยู่ภายในคณะตอนนั้นรู้สึกมั่นใจว่า อำนาจรวมกันจากคณะต่าง ๆ แห่งลูฟเวนกับปารีสคงมีเพียงพอที่จะทำให้ฟรานซิสที่ 1 ทรงเชื่อมั่นว่า ช่างพิมพ์ของพระองค์ผิดพลาด.
ระหว่างนั้น เนื่องจากได้รับการเตือนเกี่ยวกับความมุ่งหมายของศัตรู เอเทียนไปเฝ้ากษัตริย์ก่อน. เอเทียนทูลแนะว่า หากพวกนักเทววิทยาจะทำรายการข้อผิดพลาดใด ๆ ที่พวกเขาได้พบ เขาก็เต็มใจที่จะพิมพ์ข้อเหล่านี้พร้อมกับการแก้ไขของนักเทววิทยาและให้ข้อเหล่านั้นรวมอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลแต่ละเล่มที่ขายไป. วิธีแก้ปัญหานี้ได้รับความพอพระทัยจากกษัตริย์. พระองค์ทรงขอให้ปิแอร์ ดู ชาสเทล ผู้อ่านบทเรียนในพิธีศาสนาส่วนพระองค์เอาใจใส่เรื่องนี้. ในเดือนตุลาคม 1546 คณะอาจารย์เขียนถึงดู ชาสเทล ประท้วงการที่คัมภีร์ไบเบิลของเอเทียนเป็น “อาหารสำหรับคนเหล่านั้นที่ปฏิเสธความเชื่อของเรา และสนับสนุน . . . ความเห็นแบบนอกรีตที่แพร่หลาย” และเต็มด้วยข้อผิดพลาดจนกระทั่งสมควร “กำจัดและทำลายให้สูญสิ้นไปทั้งหมด.” เพราะไม่เชื่อ ตอนนี้กษัตริย์ทรงมีรับสั่งด้วยพระองค์เองให้คณะอาจารย์เสนอข้อติเตียนเพื่อจะพิมพ์ข้อเหล่านั้นพร้อมกับคัมภีร์ไบเบิลของเอเทียนได้. พวกเขาสัญญาว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ แต่ที่แท้แล้วพวกเขาทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ต้องเสนอรายการปลีกย่อยเกี่ยวกับข้อผิดพลาดที่นึกคิดเองนั้น.
ฟรานซิสที่ 1 สิ้นพระชนม์ในเดือนมีนาคม 1547 และเอเทียนพลอยสูญเสียพันธมิตรที่มีพลังมากที่สุดในการต้านอำนาจของซอร์บอนน์ไปด้วย. เมื่อเฮนรีที่ 2 ขึ้นครองราชย์ พระองค์เริ่มดำเนินตามพระบัญชาของพระราชบิดาใหม่อีกที่ให้คณะอาจารย์เสนอข้อติเตียนของพวกเขา. กระนั้น เมื่อทรงสังเกตวิธีที่เชื้อพระวงศ์เยอรมันใช้การปฏิรูปเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง เฮนรีที่ 2 ทรงห่วงใยเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียในคัมภีร์ไบเบิลของช่างพิมพ์ของกษัตริย์น้อยกว่าการรักษาฝรั่งเศสเป็นคาทอลิกไว้และรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้กษัตริย์องค์ใหม่ของประเทศ. เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1547 สภาองคมนตรีของกษัตริย์ได้ตัดสินว่า ควรห้ามการจำหน่ายคัมภีร์ไบเบิลของเอเทียนจนกว่านักเทววิทยาสามารถเสนอรายการข้อติเตียนของพวกเขา.
ถูกกล่าวหาฐานเป็นคนนอกรีต
ตอนนี้คณะอาจารย์หาทางที่จะมอบคดีของเอเทียนไว้กับศาลพิเศษซึ่งตั้งขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับศาสนานอกรีต. เอเทียนทราบดีว่าเขาอยู่ในอันตราย. ภายในสองปีที่มีการก่อตั้งขึ้นมา ศาลนั้นเป็นที่รู้จักว่า ชองเบรอะ อาร์ดังต์ หรือ “สถานที่เผาไหม้.” เหยื่อราว ๆ 60 คนถูกส่งไปตอกบนหลัก รวมทั้งช่างพิมพ์และผู้ขายหนังสือบางคนซึ่งถูกเผาทั้งเป็นที่พลัส โมเบอร์ ไม่ไกลจากบ้านของเอเทียน. บ้านของเอเทียนถูกค้นหลายครั้งเพื่อหาหลักฐานปะติดปะต่อกันซึ่งจะใช้ฟ้องเขาได้. มีการสอบสวนพยานมากกว่า 80 คน. มีการให้คำมั่นสัญญาแก่ผู้แจ้งข่าวว่า จะได้รับรางวัลหนึ่งในสี่แห่งทรัพย์สินของเขา หากพิสูจน์ได้ว่าเขามีความผิดฐานนอกรีต. กระนั้น หลักฐานอย่างเดียวของพวกเขาก็คือสิ่งที่เอเทียนพิมพ์ไว้อย่างเปิดเผยในคัมภีร์ไบเบิลของเขา.
อีกครั้งหนึ่งกษัตริย์มีรับสั่งให้มอบรายการข้อติเตียนของคณะอาจารย์ให้แก่สภาองคมนตรีของพระองค์. คณะอาจารย์ตอบอย่างดื้อรั้นว่า ‘นักเทววิทยาไม่เคยชินในการแสดงเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับสิ่งที่พวกเขาตัดสินว่าเป็นแบบนอกรีต แต่จะตอบด้วยวาจาเท่านั้น ซึ่งใคร ๆ ก็ต้องเชื่อ มิฉะนั้นแล้วจะมีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไม่รู้จักจบ.’ เฮนรีทรงจำยอม. การสั่งห้ามได้ถูกนำมาใช้บังคับในที่สุด. ผลงานเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลเกือบทุกเล่มที่เอเทียนได้ผลิตมานั้นถูกตัดสินว่าใช้ไม่ได้. ถึงแม้เขาหนีรอดจากการถูกเผาทั้งเป็น ณ พลัส โมเบอร์ก็ตาม เขาได้ตัดสินใจออกจากฝรั่งเศสเมื่อเผชิญกับการสั่งห้ามคัมภีร์ไบเบิลของเขาเด็ดขาดและการก่อกวนที่อาจตามมา.
ช่างพิมพ์ที่ถูกเนรเทศ
ในเดือนพฤศจิกายน 1550 เอเทียนย้ายไปอยู่ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์. คณะอาจารย์ได้ทำให้เป็นเรื่องผิดกฎหมายที่จะจัดพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลฉบับใด ๆ นอกจากฉบับวัลเกตในฝรั่งเศส. ตอนนี้มีอิสระจะพิมพ์สิ่งที่ต้องการ เอเทียนจึงพิมพ์ “พระคริสตธรรมใหม่” ภาษากรีกอีกในปี 1551 พร้อมกับข้อความภาษาลาตินจากสองฉบับ (ฉบับวัลเกตและของอีรัสมุส) ในคอลัมน์คู่กัน. ในปี 1552 เขาใช้วิธีนี้อีกในฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสของพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกโดยมีข้อความภาษลาตินของอีรัสมุสในคอลัมน์คู่กัน. ในการพิมพ์ทั้งสองครั้งนี้ เอเทียนได้นำระบบในการแบ่งข้อความในคัมภีร์ไบเบิลเป็นข้อ ๆ เข้ามาใช้—เป็นระบบเดียวกันดังที่ใช้อยู่ทั่วไปในปัจจุบัน. ถึงแม้คนอื่น ๆ ในตอนก่อนเคยทดลองระบบต่าง ๆ กันในการแบ่งข้อมาแล้วก็ตาม ระบบของเอเทียนกลายเป็นรูปแบบที่ยอมรับกัน. คัมภีร์ไบเบิลภาษาฝรั่งเศสปี 1553 ที่เขาพิมพ์นั้นเป็นคัมภีร์ไบเบิลที่ครบถ้วนฉบับแรกซึ่งมีการแบ่งเป็นข้อเช่นนี้.
คัมภีร์ไบเบิลของเอเทียนที่มีข้อความภาษาลาตินจากสองฉบับในปี 1557 เป็นที่น่าสังเกตด้วยเนื่องจากการใช้พระนามเฉพาะของพระเจ้า ยะโฮวา ตลอดพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. ในช่องริมหน้าของบทเพลงสรรเสริญบทที่สองนั้น เขาให้อรรถาธิบายไว้ว่า การเอา อะโดนาย มาใช้แทนเททรากรัมมาทอนภาษาฮีบรู (יהוה) นั้นอาศัยการเชื่อโชคลางของพวกยิวแต่อย่างเดียว และควรได้รับการปฏิเสธ. ในการพิมพ์ฉบับนี้ เอเทียนใช้ตัวเอนเพื่อชี้ให้เห็นคำภาษาลาตินที่เพิ่มเข้ามาเพื่อทำให้ความหมายของภาษาฮีบรูครบถ้วน. ภายหลังได้มีการนำเทคนิคแบบนี้มาใช้กับคัมภีร์ไบเบิลฉบับอื่น ๆ อันเป็นมรดกตกทอดที่บ่อยครั้งทำให้เกิดความงงงวยแก่ผู้อ่านในทุกวันนี้ซึ่งชินกับการใช้ตัวเอนในปัจจุบันเพื่อแสดงการเน้น.
โดยตั้งใจแน่วแน่ที่จะให้คนอื่นได้รับประโยชน์จากความรู้ของเขา เอเทียนได้อุทิศชีวิตให้กับการจัดพิมพ์พระคัมภีร์บริสุทธิ์. คนเหล่านั้นในปัจจุบันซึ่งให้ความสำคัญแก่พระคำของพระเจ้าคงรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณความพยายามของเขาและแรงงานของคนอื่น ๆ ซึ่งมุมานะบากบั่นที่จะทำให้รู้จักถ้อยคำในคัมภีร์ไบเบิลตามที่เขียนไว้ดั้งเดิมนั้น. ขั้นตอนที่พวกเขาเริ่มต้นนั้นดำเนินต่อไปขณะที่เราได้รับความรู้ถ่องแท้มากขึ้นเกี่ยวกับภาษาเก่าแก่และค้นพบต้นฉบับพระคำของพระเจ้าที่เก่ากว่าและถูกต้องกว่า. ไม่นานก่อนเขาตาย (ปี 1559) เอเทียนทำงานเกี่ยวกับการแปลพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกฉบับใหม่. เขาถูกถามว่า “ใครจะซื้อพระคัมภีร์เล่มนี้? ใครจะอ่านล่ะ?” เขาตอบอย่างมั่นใจว่า ‘ทุกคนที่มีความรู้ซึ่งเลื่อมใสในพระเจ้า.’
[เชิงอรรถ]
a ยังเป็นที่รู้จักด้วยชื่อภาษาลาติน สเตฟานุส, และชื่อแบบอังกฤษ สตีเฟนส์ด้วย.
[รูปภาพหน้า 10]
ความพยายามของรอเบอร์ เอเทียนได้ช่วยนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในยุคต่าง ๆ
[ที่มาของภาพ]
Bibliothèque Nationale, Paris
[รูปภาพหน้า 12]
ภาพประกอบที่ให้ความรู้ของเอเทียนได้รับการเลียนแบบมาหลายยุค
[ที่มาของภาพ]
Bibliothèque Nationale, Paris