ทำไมจึงสืบหาความจริง?
องค์การศาสนามากมายอ้างว่ามีความจริง และพวกเขาเสนอความจริงนั้นอย่างกระตือรือร้นแก่คนอื่น. อย่างไรก็ตาม องค์การเหล่านั้นเสนอ “ความจริง” หลายอย่างที่ทำให้งุนงง. นี่เป็นเพียงหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่ว่า ความจริงทั้งหมดเป็นเรื่องสัมพัทธ์ และไม่มีความจริงสัมบูรณ์ไหม? เปล่าเลย.
ในหนังสือของเขาชื่อศิลปะในการคิด (ภาษาอังกฤษ) ศาสตราจารย์ วี. อาร์. รูเจโร แสดงความประหลาดใจที่แม้แต่ปัญญาชนก็ยังพูดในบางครั้งว่า ความจริงเป็นเรื่องสัมพัทธ์. เขาอ้างเหตุผลว่า “หากทุกคนกำหนดความจริงด้วยตนเอง ดังนั้นแล้ว ก็ไม่มีแนวความคิดของคนหนึ่งที่ดีไปกว่าของอีกคนหนึ่ง. แนวความคิดทุกอย่างต้องเสมอกัน. และถ้าแนวความคิดทุกอย่างเสมอกัน มีเหตุผลอะไรหรือในการวิจัยเรื่องใด ๆ? ทำไมจึงขุดค้นเพื่อได้คำตอบสำหรับคำถามทางโบราณคดี? ทำไมจึงสืบหาสาเหตุของความตึงเครียดในตะวันออกกลาง? ทำไมจึงแสวงหาวิธีรักษาโรคมะเร็ง? ทำไมสำรวจกาแล็กซี? กิจกรรมเหล่านี้จะมีเหตุมีผลก็เฉพาะแต่ถ้าคำตอบอย่างหนึ่งดีกว่าอีกอย่างหนึ่ง ถ้าความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ขึ้นอยู่กับทัศนะของบุคคลใด ๆ และไม่ได้รับผลกระทบจากทัศนะของปัจเจกบุคคล.”
ที่จริง ไม่มีใครเชื่อจริง ๆ หรอกว่า ไม่มีความจริง. เมื่อพูดถึงความเป็นจริงด้านกายภาพ เช่น แพทยศาสตร์, คณิตศาสตร์, หรือกฎต่าง ๆ เกี่ยวกับสสารและพลังงาน แม้แต่ผู้ที่ยึดถือคติสัมพัทธนิยมอย่างเหนียวแน่นที่สุดก็ยังเชื่อว่า บางสิ่งเป็นความจริง. มีใครหรือในพวกเราจะกล้านั่งเครื่องบินหากเราคิดว่า กฎเกี่ยวกับอากาศพลศาสตร์นั้นไม่เป็นความจริงสัมบูรณ์? ความจริงที่พิสูจน์ได้นั้นย่อมมีอยู่ ความจริงเหล่านั้นอยู่รอบตัวเรา และเราฝากชีวิตของเราไว้กับความจริงเหล่านั้น.
ผลที่ได้จากคติสัมพัทธนิยม
อย่างไรก็ดี ในขอบเขตด้านศีลธรรมนั่นเองที่ความผิดพลาดของคติสัมพัทธนิยมปรากฏชัดที่สุด เพราะตรงนี้แหละที่แนวความคิดดังกล่าวก่อผลเสียหายมากที่สุด. สารานุกรมอเมริกานา ชี้จุดสำคัญนี้ว่า “มีการสงสัยอย่างแท้จริงว่า ความรู้ หรือความจริงซึ่งเป็นที่รู้กันนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์บรรลุได้หรือไม่ . . . อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องแน่นอนว่า เมื่อใดก็ตามที่อุดมคติที่เป็นคู่กันคือความจริงและความรู้ได้รับการปฏิเสธว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันหรือก่อความเสียหายแล้ว สังคมมนุษย์ก็เสื่อมลง.”
บางทีคุณได้สังเกตความเสื่อมดังกล่าว. ตัวอย่างเช่น คำสอนด้านศีลธรรมของคัมภีร์ไบเบิลซึ่งกล่าวอย่างชัดแจ้งว่า การผิดศีลธรรมทางเพศเป็นสิ่งผิดนั้น ไม่ค่อยจะถือกันว่าเป็นความจริงอีกต่อไป. กฎเกณฑ์ทางศีลธรรมซึ่งอาศัยการตีความเอาเอง เช่น “ตัดสินเอาเองว่าอะไรเป็นสิ่งถูกต้องสำหรับคุณ” เป็นทัศนะที่แพร่หลาย. ใครหรือจะอ้างได้ว่า ความเสื่อมทางสังคมไม่ได้ เป็นผลมาจากทัศนะแบบสัมพัทธนิยมนี่เอง? การระบาดของโรคติดต่อทางเพศ, สภาพบ้านแตกสาแหรกขาด, และการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นก็ให้หลักฐานแน่ชัดในตัวเองอยู่แล้ว.
ความจริงคืออะไร?
ดังนั้น ขอให้เราทิ้งน้ำที่ขุ่นแห่งคติสัมพัทธนิยมไป แล้วตรวจสอบอย่างรวบรัดดูสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาไว้ว่าเป็น น้ำบริสุทธิ์แห่งความจริง. (โยฮัน 4:14; วิวรณ์ 22:17) ในคัมภีร์ไบเบิล “ความจริง” ไม่เหมือนกันเลยทีเดียวกับแนวความคิดที่เป็นนามธรรม สัมผัสไม่ได้ซึ่งพวกนักปรัชญาถกเถียงกันในเรื่องนั้น.
เมื่อพระเยซูตรัสว่า จุดประสงค์ทั้งสิ้นในชีวิตของพระองค์คือ เพื่อกล่าวเรื่องความจริง พระองค์ตรัสถึงสิ่งที่ชาวยิวผู้ซื่อสัตย์ให้ความสำคัญมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ. ในบทจารึกอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขานั้น ชาวยิวได้อ่าน “ความจริง” มานานแล้วฐานะเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เป็นทฤษฎี. ในคัมภีร์ไบเบิล “ความจริง” แปลจากคำภาษาฮีบรู “เอเม็ธʹ” ซึ่งมีความหมายว่า สิ่งที่มั่นคง, มีหลักฐาน, และบางทีสำคัญที่สุดคือ เชื่อถือได้.
ชาวยิวมีเหตุผลที่ดีที่จะมองดูความจริงในลักษณะนั้น. พวกเขาเรียกพระยะโฮวา พระเจ้าของเขาว่า “พระเจ้าแห่งความสัตย์จริง.” (บทเพลงสรรเสริญ 31:5) นี่เป็นเพราะทุกสิ่งซึ่งพระยะโฮวาตรัสว่าจะกระทำ พระองค์ได้ทรงทำ. เมื่อพระองค์ทำคำสัญญา พระองค์ทรงรักษาคำสัญญานั้น. เมื่อพระองค์ดลบันดาลคำพยากรณ์ คำเหล่านั้นก็สำเร็จเป็นจริง. เมื่อพระองค์แถลงคำพิพากษาขั้นสุดท้าย ก็บรรลุผลตามนั้น. ชนยิศราเอลหลายล้านได้เป็นประจักษ์พยานถึงความจริงเหล่านี้. ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลที่ได้รับการดลใจบันทึกเรื่องเหล่านั้นไว้เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่โต้แย้งไม่ได้. ต่างจากหนังสืออื่น ๆ ที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ คัมภีร์ไบเบิลไม่มีฉากหลังที่เกี่ยวข้องกับเทพนิยายหรือตำนาน. พระคัมภีร์ตั้งอยู่บนรากฐานมั่นคงโดยข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ นั่นคือความจริงด้านประวัติศาสตร์, ด้านโบราณคดี, ด้านวิทยาศาสตร์, และด้านสังคม. ไม่แปลกที่ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญกล่าวถึงพระยะโฮวาว่า “กฎหมายของพระองค์เป็นความจริง. . . . ข้อบัญญัติทั้งปวงของพระองค์เป็นความจริง. . . . ลักษณะสำคัญแห่งพระวจนะของพระองค์เป็นความจริง”!—บทเพลงสรรเสริญ 119:142, 151, 160.
พระเยซูคริสต์ตรัสซ้ำถ้อยคำของผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญเมื่อพระองค์ทูลในคำอธิษฐานถึงพระยะโฮวาว่า “คำของพระองค์เป็นความจริง.” (โยฮัน 17:17) พระเยซูทรงทราบว่า ทุกสิ่งที่พระบิดาของพระองค์ตรัสนั้นหนักแน่นและเชื่อถือได้อย่างแท้จริง. เช่นเดียวกัน พระเยซู “บริบูรณ์ไปด้วย . . . ความจริง.” (โยฮัน 1:14) เหล่าผู้ติดตามพระองค์ได้เรียนรู้ฐานะเป็นประจักษ์พยาน และบันทึกไว้สำหรับคนรุ่นหลังว่า ทุกสิ่งที่พระองค์ตรัสนั้นเชื่อถือได้ เป็นความจริง.a
อย่างไรก็ดี เมื่อพระเยซูทรงแจ้งแก่ปีลาตว่า พระองค์เสด็จมายังแผ่นดินโลกเพื่อตรัสความจริงนั้น พระองค์ทรงคำนึงถึงความจริงเฉพาะอย่าง. พระองค์ทรงแถลงเช่นนั้นเพื่อตอบคำถามของปีลาตที่ว่า “ท่านเป็นกษัตริย์หรือ?” (โยฮัน 18:37) ราชอาณาจักรของพระเจ้า และบทบาทของพระเยซูเองฐานะพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรนั้นเป็นอรรถบท เป็นแก่นแห่งคำสอนของพระเยซูทีเดียวขณะเมื่อพระองค์อยู่บนแผ่นดินโลก. (ลูกา 4:43) คำสอนที่ว่า ราชอาณาจักรนี้จะทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์, พิสูจน์ให้เห็นว่าพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ถูกต้อง, และนำมนุษยชาติที่ซื่อสัตย์กลับคืนสู่ชีวิตถาวรและมีความสุขนั้น เป็น “ความจริง” ซึ่งคริสเตียนแท้ทุกคนหวังกัน. เนื่องจากบทบาทของพระเยซูในความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำสัญญาทั้งสิ้นของพระเจ้านั้นเป็นส่วนสำคัญทีเดียว และเนื่องจากคำพยากรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้ากลายเป็น “อาเมน” หรือเป็นจริง เนื่องด้วยพระองค์ พระเยซูจึงสามารถตรัสอย่างเหมาะสมว่า “เราเป็นทางนั้น, เป็นความจริง, และเป็นชีวิต.”—โยฮัน 14:6; 2 โกรินโธ 1:20; วิวรณ์ 3:14.
การยอมรับความจริงนี้ว่าเป็นเรื่องเชื่อถือได้อย่างพร้อมมูลมีความหมายมากทีเดียวสำหรับคริสเตียนในทุกวันนี้. นั่นหมายความว่า ความเชื่อที่เขามีในพระเจ้าและความหวังในคำสัญญาของพระองค์นั้นอาศัยข้อเท็จจริง ความเป็นจริง.
ความจริงในภาคปฏิบัติ
ไม่แปลกที่คัมภีร์ไบเบิลเชื่อมโยงความจริงเข้ากับการปฏิบัติ. (1 ซามูเอล 12:24; 1 โยฮัน 3:18) สำหรับชาวยิวผู้เกรงกลัวพระเจ้า ความจริงไม่ใช่เรื่องที่ถือว่าเป็นปรัชญา แต่เป็นวิถีชีวิต. คำภาษาฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “ความจริง” อาจหมายถึง “ความซื่อสัตย์” ด้วย และถูกใช้เพื่อพรรณนาถึงคนที่วางใจได้. พระเยซูทรงสอนเหล่าผู้ติดตามพระองค์ให้มองดูความจริงจากทัศนะของพระองค์. พระองค์ทรงประณามความหน้าซื่อใจคดของพวกฟาริซายอย่างรุนแรง ทรงตำหนิช่องว่างอันกว้างใหญ่ระหว่างคำพูดที่ถือว่าตัวเองชอบธรรมกับการกระทำที่ไม่ชอบธรรมของเขา. และพระองค์ทรงวางตัวอย่างในการดำเนินชีวิตตามความจริงที่พระองค์สอนนั้น.
ควรเป็นเช่นนั้นสำหรับผู้ติดตามพระคริสต์ทุกคน. สำหรับพวกเขาแล้ว ความจริงเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้า ข่าวดีที่ทำให้เบิกบานใจเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าภายใต้การปกครองของพระเยซูคริสต์นั้น เป็นมากยิ่งกว่าเพียงความรู้ที่สมอง. ความจริงนั้นกระตุ้นพวกเขาให้ปฏิบัติ ผลักดันเขาให้ดำเนินชีวิตตามความจริงนั้นและแบ่งปันความจริงนั้นให้กับคนอื่น. (เทียบกับยิระมะยา 20:9.) สำหรับประชาคมคริสเตียนในศตวรรษแรก แนวทางชีวิตที่พวกเขารับเอาฐานะผู้ติดตามพระคริสต์นั้น บางครั้งรู้จักแต่เพียงว่าเป็น “ความจริง” หรือ “ทางของความจริง.”—2 โยฮัน 4; 3 โยฮัน 4, 8; 2 เปโตร 2:2.
สมบัติที่คุ้มกับสิ่งที่ต้องเสียไป
จริงอยู่ การยอมรับความจริงเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้านั้นเรียกร้องการเสียสละบางอย่าง. ประการแรก เพียงการเรียนรู้ความจริงเท่านั้นก็อาจเป็นประสบการณ์ที่ทำให้สูญเสีย. สารานุกรมอเมริกานา ให้ข้อสังเกตว่า “บ่อยครั้งความจริงเป็นเรื่องที่ไม่น่าพึงพอใจ เพราะความจริงไม่สนับสนุนอคติหรือเทพนิยาย.” การเห็นความเชื่อของเราถูกเปิดโปงว่าไม่จริงนั้น อาจทำให้ฝันสลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราได้รับการสอนจากผู้นำทางศาสนาซึ่งเป็นที่เชื่อถือ. บางคนอาจถือประสบการณ์นั้นเป็นเหมือนการค้นพบว่า บิดามารดาที่ได้รับความไว้วางใจนั้น ที่จริงแล้ว เป็นอาชญากรลับ ๆ. แต่การค้นพบความจริงด้านศาสนาก็ดีกว่าการดำเนินชีวิตภายใต้การหลอกลวงมิใช่หรือ? การทราบข้อเท็จจริงก็ดีกว่าถูกหลอกโดยการโกหกมิใช่หรือ?b—เทียบกับโยฮัน 8:32; โรม 3:4.
ประการที่สอง การดำเนินชีวิตตามความจริงด้านศาสนาอาจทำให้เราไม่เป็นที่ยอมรับของบางคนซึ่งแต่ก่อนเป็นเพื่อนของเรา. ในโลกที่หลายคนทีเดียว “ได้เอาความจริงของพระเจ้ามาแลกเปลี่ยนกับความเท็จ” คนเหล่านั้นซึ่งยึดมั่นกับความจริงเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าอาจดูเหมือนเป็นคนพิลึกและบางครั้งถูกหลบเลี่ยงและถูกเข้าใจผิด.—โรม 1:25; 1 เปโตร 4:4.
แต่ความจริงก็คุ้มกับการเสียสละสองต่อนี้. การรู้ความจริงช่วยให้เราพ้นจากการโกหก, การหลอกลวง, และการถือโชคลาง. และเมื่อเราดำเนินชีวิตตามความจริง ความจริงจะเสริมเราให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อจะอดทนความลำบาก. ความจริงของพระเจ้าเชื่อถือได้และตั้งอยู่บนรากฐานที่มั่นคงทีเดียว และให้แรงบันดาลใจเราด้วยความหวังถึงขนาดที่ทำให้เราสามารถยืนหยัดมั่นคงภายใต้การทดลองใด ๆ. ไม่แปลกที่อัครสาวกเปาโลเปรียบความจริงเป็นเหมือนเข็มขัดหนัง หรือสายคาดเอวที่กว้างและเหนียวแน่นซึ่งทหารสวมใส่ในการสู้รบ!—เอเฟโซ 6:13, 14.
สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “จงซื้อความจริงไว้และอย่าขายเสียเลย: เออคือปัญญาและความสั่งสอนและคำเข้าใจ.” (สุภาษิต 23:23) การไม่ยอมพิจารณาความจริงเสมือนว่าเป็นเรื่องสัมพัทธ์หรือไม่มีอยู่จริงนั้น เป็นการพลาดไปจากการแสวงหาที่น่าตื่นเต้นและบรรลุผลสำเร็จมากที่สุดซึ่งชีวิตเสนอให้. การพบความจริงคือการพบความหวัง การรู้จักและรักความจริงคือการรู้จักและรักพระผู้สร้างแห่งเอกภพและพระบุตรที่ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ การดำเนินชีวิตตามความจริงคือการดำเนินชีวิตโดยมีจุดมุ่งหมายและความสงบสุขในจิตใจ ขณะนี้และตลอดไป.—สุภาษิต 2:1-5; ซะคาระยา 8:19; โยฮัน 17:3.
[เชิงอรรถ]
a มีมากกว่า 70 แห่งในกิตติคุณที่บันทึกว่า พระเยซูใช้ถ้อยคำพิเศษเฉพาะเพื่อเน้นความจริงแห่งคำตรัสของพระองค์. พระองค์มักจะตรัสว่า “อาเมน” (“เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า . . . ,”) เพื่อเริ่มนำประโยค. คำในภาษาฮีบรูที่ตรงกันมีความหมายว่า “แน่นอน, จริง.” พจนานุกรมนานาชาติฉบับใหม่เกี่ยวกับเทววิทยาแห่งพันธสัญญาใหม่ ให้ข้อสังเกตไว้ว่า “โดยเริ่มกล่าวนำคำตรัสของพระองค์ด้วยอาเมน พระเยซูทรงตีตราไว้เลยว่า คำตรัสนั้นเป็นเรื่องแน่นอนและเชื่อถือได้. พระองค์ทรงรักษาคำตรัสนั้นและทำให้ถ้อยคำนั้นผูกมัดตัวพระองค์เองและผู้ฟังของพระองค์. คำตรัสของพระองค์เป็นการแสดงออกถึงความยิ่งใหญ่และอำนาจของพระองค์.”
b คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ความจริง” คือ อะเลʹเธอิอา มาจากคำหนึ่งที่มีความหมายว่า “ไม่ถูกปิดบังไว้” ดังนั้น บ่อยครั้งความจริงจึงเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยสิ่งซึ่งแต่ก่อนถูกปิดบังไว้.—เทียบกับลูกา 12:2.
[กรอบหน้า 6]
ความจริงจะมีวันเปลี่ยนแปลงไหม?
คำถามนั้น วี. อาร์. รูเจโรได้ยกขึ้นมาในหนังสือของเขาชื่อศิลปะในการคิด (ภาษาอังกฤษ). คำตอบของเขาคือ ไม่. เขาสาธยายว่า “บางครั้งความจริงอาจดูเหมือนว่าเปลี่ยนแปลง แต่โดยการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดมากขึ้นก็จะพบว่า ไม่ได้เปลี่ยนแปลง.”
เขากล่าวว่า “ขอพิจารณากรณีเกี่ยวกับผู้เขียนหนังสือเล่มแรกในคัมภีร์ไบเบิล พระธรรมเยเนซิศ. เป็นเวลาหลายศตวรรษคริสเตียนและชาวยิวเช่นกันเชื่อว่า พระธรรมเล่มนั้นมีผู้ประพันธ์คนเดียว. ในที่สุด มีการแสดงความสงสัยต่อความเห็นนี้ และสุดท้ายความเชื่อที่ว่า มีห้าคนที่มีส่วนในการประพันธ์พระธรรมเยเนซิศก็เข้ามาแทน. ครั้นแล้ว ในปี 1981 ได้มีการจัดพิมพ์ผลการวิเคราะห์ 5 ปีด้านภาษาของพระธรรมเยเนซิศ ซึ่งแถลงว่า มีความเป็นไปได้ 82 เปอร์เซ็นต์ในการมีผู้ประพันธ์คนเดียว ดังที่คิดกันแต่เดิม.
“ความจริงเกี่ยวกับผู้ประพันธ์พระธรรมเยเนซิศเปลี่ยนไปไหม? ไม่เลย. เพียงแต่ความเชื่อของเราเท่านั้นได้เปลี่ยนไป. . . . ความจริงจะไม่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากความรู้หรือการขาดความรู้ของเรา.”
[กรอบหน้า 7]
ความเคารพต่อความจริง
“ความเคารพต่อความจริงมิใช่เป็นเพียงการเยาะเย้ยถากถางแบบจอมปลอมในยุคของเราเองซึ่งพยายามจะ ‘เปิดโปง’ ทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยความเชื่อที่ว่า ไม่มีใครและสิ่งใดอ้างสิทธิได้อย่างแท้จริงว่ามีความจริง. ความเคารพต่อความจริงเป็นเจตคติซึ่งรวมความมั่นใจด้วยความยินดีที่ว่าสามารถพบความจริงได้จริง ๆ นั้น เข้ากับการยอมรับความจริงอย่างถ่อมใจไม่ว่าเวลาใดและที่ไหนก็ตามที่ความจริงปรากฏออกมา. คนเหล่านั้นซึ่งนมัสการพระเจ้าแห่งความจริงต้องเปิดใจต่อความจริง ขณะที่ความเคารพที่สมควรต่อความจริงนั้นรับประกันความซื่อสัตย์ในการปฏิบัติกับเพื่อนบ้านของตน ทั้งโดยคำพูดและการกระทำ.” นี่คือเจตคติที่เราได้พบเห็นซึ่งทั้งพระคริสตธรรมเดิมและพระคริสตธรรมใหม่พิสูจน์ยืนยัน.”—พจนานุกรมนิว อินเตอร์แนชันแนลเกี่ยวกับเทววิทยาของพระคริสตธรรมใหม่ (ภาษาอังกฤษ), เล่ม 3, หน้า 901.
[รูปภาพหน้า 7]
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อาศัยการค้นพบความจริงทางวิทยาศาสตร์
[รูปภาพหน้า 8]
ความจริงหมายรวมราชอาณาจักรและพระพรแห่งราชอาณาจักร