“ความรักไม่ล้มเหลวเลย”
เล่าโดย ซามูเอล ดี. ลาเดซูยิ
ผมรู้สึกทึ่งเมื่อย้อนคิดถึงช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเห็นทุกสิ่งที่สัมฤทธิผล. พระยะโฮวาทรงทำสิ่งน่ามหัศจรรย์ทั่วแผ่นดินโลก. ที่เมืองอิเลชา ประเทศไนจีเรีย ไม่กี่คนในพวกเราซึ่งเริ่มประกาศเมื่อปี 1931 ได้กลายเป็น 36 ประชาคม. ผู้เผยแพร่ประมาณ 4,000 คนในไนจีเรียตอนที่ผู้สำเร็จการศึกษาพวกแรกจากโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียดมาถึงในปี 1947 นั้น ได้ทวีขึ้นเป็น 180,000 กว่าคน. ในตอนแรก ๆ เราไม่ได้คาดหมายหรือแม้แต่นึกฝันว่าจะมีการเพิ่มพูนถึงขนาดนี้. ผมรู้สึกขอบคุณสักเพียงไรที่มีส่วนในงานอันวิเศษนี้! ขอผมเล่าให้คุณฟัง.
คุณพ่อผมเร่ขายปืนและดินปืนไปตามเมืองต่าง ๆ ท่านไม่ค่อยจะอยู่บ้าน. เท่าที่ผมทราบท่านมีภรรยาเจ็ดคน แต่ไม่ใช่ทุกคนอยู่กับท่าน. คุณพ่อได้รับเอาคุณแม่ของผมเป็นภรรยาต่อจากพี่ชายท่าน ซึ่งเสียชีวิตไป. คุณแม่เป็นภรรยาคนที่สองของท่าน และผมอยู่กับคุณแม่.
วันหนึ่ง คุณพ่อกลับบ้านหลังจากไปเยี่ยมภรรยาคนแรก ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียง. ขณะอยู่ที่นั่น ท่านได้ทราบว่า พี่ชายต่างแม่ของผมเข้าโรงเรียน. เขาอายุสิบขวบเท่าผม. ดังนั้น คุณพ่อจึงตัดสินใจว่า ผมต้องเข้าโรงเรียนด้วยเช่นกัน. ท่านให้เงินผมเก้าเพนซ์—สามเพนซ์สำหรับหนังสือเรียน และหกเพนซ์สำหรับกระดานชนวน. นั่นเป็นปี 1924.
จัดกลุ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลขึ้น
ตั้งแต่เป็นเด็ก ผมชอบคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า. ผมชอบเรียนคัมภีร์ไบเบิลในโรงเรียน และได้รับคำชมเชยจากครูในโรงเรียนรวีวารศึกษาเสมอ. ดังนั้น ในปี 1930 ผมจึงฉวยโอกาสเข้าฟังคำบรรยายโดยนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลผู้มาเยือน ซึ่งเป็นคนแรก ๆ คนหนึ่งที่ประกาศในเมืองอิเลชา. หลังจากคำบรรยาย ผมรับหนังสือพิณของพระเจ้า ภาษายอรูบาเล่มหนึ่ง.
ผมไปโรงเรียนรวีวารศึกษาเป็นประจำ. ตอนนี้ ผมเริ่มเอาหนังสือพิณของพระเจ้า ติดตัวไปด้วย และใช้ในการแย้งหลักคำสอนบางอย่างซึ่งสอนที่นั่น. ผลก็คือมีการโต้เถียงกัน และผมถูกเตือนบ่อย ๆ จากผู้นำคริสตจักรไม่ให้ติดตาม ‘คำสอนใหม่’ นี้.
ในปีต่อมา ขณะเดินเล่นไปตามถนน ผมพบกลุ่มคนกำลังฟังชายผู้หนึ่งบรรยาย. ผู้บรรยายคือ เจ. ไอ. โอเวนพา นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. เขาถูกส่งไปที่นั่นโดยวิลเลียม อาร์. บราวน์ (มักถูกเรียกว่า ไบเบิล บราวน์) ซึ่งดูแลงานประกาศข่าวราชอาณาจักรจากเมืองลากอส.a ผมได้ทราบว่า มีการตั้งกลุ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกลุ่มเล็ก ๆ ในอิเลชา เพื่อศึกษาหนังสือพิณของพระเจ้า ดังนั้น ผมจึงเข้าร่วมด้วย.
ผมอายุน้อยที่สุดในกลุ่ม—เป็นเพียงเด็กนักเรียน อายุราว 16 ปี. ปกติผมจะอาย ถึงกับกลัวที่จะคบหาสนิทสนมกับผู้ใหญ่วัย 30 เศษหรือมากกว่านั้น. แต่พวกเขาดีใจมากที่มีผมอยู่ด้วย และพวกเขาหนุนกำลังใจผม. พวกเขาเป็นเหมือนพ่อสำหรับผม.
การต่อต้านจากพวกนักเทศน์
ไม่นาน เราเริ่มเผชิญการต่อต้านอย่างหนักจากพวกนักเทศน์. คาทอลิก, แองกลิกัน, และพวกอื่น ๆ ซึ่งเคยสู้รบตบมือกัน ตอนนี้กลับรวมหัวกันต่อต้านเรา. พวกเขาคบคิดกับพวกหัวหน้าเผ่าเพื่อดำเนินการขัดขวางเรา. พวกเขาส่งตำรวจมายึดหนังสือของเรา อ้างว่าหนังสือพวกนั้นเป็นอันตรายต่อประชาชน. อย่างไรก็ตาม นายอำเภอเตือนว่า พวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะยึดหนังสือเหล่านั้น และสองสัปดาห์ต่อมา ก็มีการส่งหนังสือคืนมา.
หลังจากเหตุการณ์นี้ เราถูกเรียกตัวให้เข้าพบโอบา หรือหัวหน้าใหญ่ พร้อมด้วยคนใหญ่คนโตอื่น ๆ ในเมืองนั้น. เรามีกันประมาณ 30 คนในตอนนั้น. ความมุ่งหมายก็เพื่อให้เราเลิกอ่านหนังสือ “อันตราย” เหล่านั้น. พวกเขาถามว่า เราเป็นคนต่างถิ่นหรือเปล่า แต่เมื่อเขาพินิจใบหน้าของเรา เขาพูดว่า “พวกนี้ก็เป็นลูกหลานของเรานี่ แต่ก็มีคนต่างถิ่นอยู่ด้วย.” เขาบอกว่า เขาไม่อยากให้เราศึกษาหนังสือศาสนาพวกนั้นต่อไป ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเรา.
เรากลับบ้านโดยไม่พูดอะไร เนื่องจากได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ใส่ใจกับคนใหญ่คนโตเหล่านั้น. พวกเราส่วนใหญ่สุขใจมากกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ และตั้งใจแน่วแน่ที่จะศึกษาต่อ ๆ ไป. ดังนั้น แม้มีบางคนเริ่มหวาดกลัวและถอนตัวจากกลุ่มของเรา พวกเราส่วนใหญ่ยังคงศึกษาต่อไปในห้องทำงานของช่างไม้. เราไม่มีผู้นำการศึกษา. เราเริ่มด้วยคำอธิษฐานและจากนั้นก็เพียงแต่ผลัดกันอ่านวรรคต่าง ๆ ของหนังสือ. หลังจากนั้นประมาณหนึ่งชั่วโมง เราอธิษฐานอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็กลับบ้าน. แต่เราถูกแอบเฝ้าดู และหัวหน้ากับผู้นำทางศาสนายังคงเรียกเราเข้าพบทุกสองสัปดาห์และเตือนไม่ให้ศึกษาหนังสือของพวกนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล.
ในระหว่างนั้น เราพยายามใช้ความรู้อันน้อยนิดที่มีอยู่ในการช่วยผู้คน และหลายคนเห็นพ้องกับเรา. มีคนเข้าร่วมกับเราทีละคน ๆ. เราดีใจมาก แต่ก็ยังไม่ทราบอะไรมากเกี่ยวกับศาสนาที่เรากำลังสมทบอยู่.
ตอนต้นปี 1932 พี่น้องชายคนหนึ่งจากเมืองลากอสก็มา เพื่อช่วยเราในการจัดให้เป็นระเบียบ และในเดือนเมษายน “ไบเบิล” บราวน์ก็มาด้วย. เมื่อเห็นว่ามีกลุ่มที่มีจำนวนประมาณ 30 คน บราเดอร์บราวน์จึงสอบถามถึงความก้าวหน้าของเราในการอ่าน. เราบอกเขาทั้งหมดที่เรารู้. เขาบอกว่า เราพร้อมที่จะรับบัพติสมาได้.
เนื่องจากเป็นหน้าแล้ง เราต้องเดินทางไปยังแม่น้ำสายหนึ่งซึ่งห่างจากเมืองอิเลชา 14 กิโลเมตรและพวกเราประมาณ 30 คนรับบัพติสมา. ตั้งแต่นั้นมา เราถือว่าตนเป็นผู้ประกาศข่าวราชอาณาจักร และเริ่มไปตามบ้าน. เราไม่ได้คาดคิดที่จะทำเช่นนี้มาก่อน แต่เวลานี้เรากระตือรือร้นที่จะแบ่งปันสิ่งที่รู้กับผู้อื่น. เราต้องเตรียมตัวเป็นอย่างดีเพื่อจะมีแหล่งสนับสนุนจากคัมภีร์ไบเบิลในการหักล้างหลักคำสอนเท็จที่เราเผชิญ. ดังนั้น ในการประชุม เราพิจารณาหลักคำสอนต่าง ๆ เป็นการช่วยกันและกันในสิ่งที่เรารู้.
กิจการงานประกาศของเรา
เราประกาศทั่วทั้งเมือง. ผู้คนเยาะเย้ยเราและร้องตะโกนใส่แต่เราไม่ใส่ใจ. ความยินดีของเรานั้นมีมากมาย เพราะเรามีความจริง แม้ยังมีอีกมากที่ยังต้องเรียนรู้.
เราไปตามบ้านทุกวันอาทิตย์. ผู้คนจะถามคำถาม และเราก็พยายามตอบคำถาม. ทุกเย็นวันอาทิตย์ เรามีคำบรรยายสาธารณะ. เราไม่มีหอประชุม ดังนั้น จึงจัดการประชุมกลางแจ้ง. เรารวบรวมคนเข้ามา, ให้คำบรรยาย, และเชิญพวกเขาให้ถามคำถาม. บางครั้ง เราประกาศตามโบสถ์.
เรายังเดินทางไปยังบริเวณที่ผู้คนไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวามาก่อน. ส่วนใหญ่แล้ว เราขี่จักรยานไป แต่บางครั้งก็เช่ารถโดยสาร. เมื่อไปถึงหมู่บ้าน เราจะเป่าแตรเสียงดัง. ทั้งหมู่บ้านจะได้ยิน! ผู้คนก็รีบกรูกันมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น. แล้วเราก็บอกข่าวสารของเรา. เมื่อเราบอกเสร็จ ผู้คนก็แย่งกันรับหนังสือ. เราจำหน่ายได้มากมาย.
เราคาดหมายอย่างกระตือรือร้นถึงการมาแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า. ผมจำได้ว่า เมื่อเราได้รับหนังสือประจำปี 1935 บราเดอร์คนหนึ่งเมื่อเห็นตารางพิจารณาข้อคัมภีร์สำหรับทั้งปี ได้ถามว่า “นี่หมายความว่า เราจะต้องอยู่อีกหนึ่งปีเต็ม ๆ ก่อนที่อาร์มาเก็ดดอนจะมาอย่างนั้นหรือ?”
ในการตอบ ผู้นำการศึกษาถามว่า “บราเดอร์ คุณคิดว่าถ้าอาร์มาเก็ดดอนมาวันพรุ่งนี้ เราจะหยุดอ่านหนังสือประจำปี อย่างนั้นหรือ?” เมื่อพี่น้องชายคนนั้นบอกว่าไม่ ผู้นำการศึกษากล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น คุณจะกังวลไปทำไม?” เราเคยอยากให้วันของพระยะโฮวามาถึงเหลือเกินและยังคงอยากให้เป็นเช่นนั้น.
ช่วงสงคราม
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีการห้ามนำเข้าหนังสือของเรา. พี่น้องชายคนหนึ่งในอิเลชาหยิบหนังสือความมั่งคั่ง ให้ตำรวจคนหนึ่งดูโดยไม่ตั้งใจ. ตำรวจคนนั้นถามว่า “ใครเป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้?” พี่น้องชายคนนั้นบอกว่าเป็นของเขาเอง. ตำรวจบอกว่านั่นเป็นหนังสือต้องห้าม, จับเขาไปสถานีตำรวจ, และคุมขังเขาไว้.
ผมไปสถานีตำรวจและหลังจากสอบถาม ก็ประกันตัวพี่น้องชายคนนั้นออกมา. จากนั้น ผมโทรศัพท์ถึงบราเดอร์บราวน์ในลากอส เพื่อแจ้งให้เขาทราบถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้น. ผมยังถามด้วยว่า มีกฎหมายอะไรที่ห้ามการนำหนังสือของเราออกจำหน่ายหรือไม่. บราเดอร์บราวน์บอกผมว่า มีเพียงการนำเข้าหนังสือของเราที่ถูกห้าม ไม่ใช่การนำออกจำหน่าย. สามวันต่อมา บราเดอร์บราวน์ส่งพี่น้องชายคนหนึ่งจากลากอสมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น. บราเดอร์คนนี้ตัดสินว่า พวกเราทุกคนควรออกไปประกาศในวันรุ่งขึ้นพร้อมด้วยวารสารและหนังสือ.
เราก็แยกกันไปคนละทิศคนละทาง. หลังจากนั้นประมาณหนึ่งชั่วโมง ก็มีข่าวมาถึงผมว่าพี่น้องส่วนใหญ่ถูกจับ. ดังนั้น พี่น้องที่มาเยี่ยมและผมจึงไปที่สถานีตำรวจ. ตำรวจไม่ยอมฟังคำชี้แจงของเราที่ว่า หนังสือพวกนั้นไม่ถูกห้าม.
พี่น้อง 33 คนที่ถูกจับถูกส่งขึ้นศาลของหัวหน้าผู้พิพากษาแขวงที่เมืองอิเฟ และผมไปกับพวกเขาด้วย. ชาวเมืองซึ่งเห็นเราถูกพาตัวไปตะโกนว่า “สิ้นสุดเสียทีกับคนพวกนี้. พวกเขาจะไม่มาที่นี่อีก.”
มีการเสนอข้อกล่าวหานั้นต่อหัวหน้าผู้พิพากษาแขวง ชาวไนจีเรีย. หนังสือและวารสารทั้งหมดถูกนำมาให้ดู. ผู้พิพากษาถามว่าใครมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการตำรวจจับกุมคนเหล่านี้. ผู้บัญชาการตำรวจตอบว่า เขาทำตามคำสั่งจากนายอำเภอ. ผู้พิพากษาแขวงเรียกผู้บัญชาการตำรวจและตัวแทนของเราสี่คนรวมทั้งผมด้วย ให้ไปที่ห้องทำงานของเขา.
ผู้พิพากษาถามว่า นายบราวน์เป็นใคร. เราบอกว่า เขาเป็นตัวแทนของสมาคมว็อชเทาเวอร์ในลากอส. จากนั้น ผู้พิพากษาบอกเราว่า เขาได้รับโทรเลขจากนายบราวน์เกี่ยวกับเรา. เขาเลื่อนการพิจารณาคดีในวันนั้น และให้ประกันตัวพี่น้อง. วันรุ่งขึ้น เขาสั่งให้ยกฟ้องพวกพี่น้อง, ปล่อยให้เป็นอิสระ, และเขาสั่งตำรวจให้คืนหนังสือ.
เรากลับไปที่อิเลชา พร้อมกับร้องเพลง. ผู้คนเริ่มร้องตะโกนอีก แต่คราวนี้พูดว่า “พวกนี้มาอีกแล้ว!”
มาตรฐานของพระยะโฮวาเรื่องการสมรสถูกทำให้กระจ่าง
ปี 1947 นั่นเองที่ผู้สำเร็จการศึกษาสามคนแรกจากกิเลียดมาถึงไนจีเรีย. หนึ่งในพี่น้องสามคนนี้คือ โทนี อัตต์วูด ซึ่งปัจจุบันยังคงรับใช้ที่เบเธลในไนจีเรีย. ตั้งแต่นั้นมา เราเห็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในองค์การของพระยะโฮวาในไนจีเรีย. การเปลี่ยนแปลงใหญ่อย่างหนึ่งก็คือทัศนะของเราในเรื่องการมีคู่สมรสหลายคนในเวลาเดียวกัน.
ผมแต่งงานกับ โอลาบิซิ ฟาซูบา ในเดือนกุมภาพันธ์ 1941 และพอจะรู้ว่าการมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนนั้นไม่ถูกต้อง. แต่การมีคู่สมรสหลายคนในเวลาเดียวกันเป็นเรื่องปกติในประชาคมต่าง ๆ จนกระทั่งปี 1947 เมื่อมิชชันนารีมาถึง. พี่น้องที่มีคู่สมรสหลายคนเคยได้รับการบอกว่า พวกเขามีภรรยามากกว่าหนึ่งคนโดยไม่รู้ว่านั่นผิด. ดังนั้น หากพวกเขามีภรรยาสองหรือสามหรือสี่หรือห้าคน พวกเขายังคงอยู่ในสภาพนั้นได้ต่อไป แต่ไม่ควรมีเพิ่มอีก. นั่นคือนโยบายที่เรามี.
ผู้คนจำนวนมากอยากเข้ามาร่วมกับเราเหลือเกิน โดยเฉพาะสมาคมคะรูบิมและซะราฟิมในอิเลชา. พวกเขาบอกว่า พยานพระยะโฮวาเป็นพวกเดียวที่สอนความจริง. พวกเขาเห็นพ้องกับคำสอนของเราและต้องการเปลี่ยนโบสถ์ของพวกเขาเป็นหอประชุม. เรามานะพยายามเพื่อให้การรวมตัวกันนี้บรรลุผล. เราถึงกับตั้งศูนย์อบรมผู้ปกครองของพวกเขา.
ครั้นแล้ว การชี้นำใหม่เกี่ยวกับการมีคู่สมรสหลายคนในเวลาเดียวกันก็มีมา. หนึ่งในมิชชันนารีให้คำบรรยาย ณ การประชุมหมวดในปี 1947. เขาพูดถึงความประพฤติและนิสัยที่ดี. ถัดจากนั้น เขายก 1 โกรินโธ 6:9, 10 ซึ่งกล่าวว่า คนอธรรมจะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก. จากนั้น เขาเสริมว่า “และผู้ที่มีคู่สมรสหลายคน จะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก!” ผู้ฟังตะโกนว่า “อะไรกัน ผู้ที่มีคู่สมรสหลายคนจะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดกงั้นหรือ?” เกิดมีการแบ่งแยก ซึ่งเป็นเหมือนสงคราม. ผู้ที่เข้ามาสมทบใหม่หลายคนเลิกมาสมทบ บอกว่า “ขอบคุณพระเจ้าที่เราไม่ได้ถลำลึกไปกว่านี้.”
อย่างไรก็ตาม พี่น้องส่วนใหญ่เริ่มแก้ไขแนวทางของตน โดยปล่อยภรรยาน้อยเป็นอิสระ. พวกเขาให้เงินและบอกว่า ‘พวกเธออายุยังน้อย ไปหาสามีใหม่เถอะ. ฉันทำผิดที่แต่งงานกับพวกเธอ. ตอนนี้ ฉันต้องเป็นสามีของภรรยาคนเดียว.’
ไม่นานก็เกิดอีกปัญหาหนึ่งขึ้น. บางคนหลังจากตัดสินใจว่าจะเอาภรรยาคนหนึ่งไว้และปล่อยคนอื่น ๆ ไปนั้นเกิดเปลี่ยนใจ และตัดสินใจว่า ตนเองต้องการเอาภรรยาคนที่ได้ปล่อยไปคืนมาและปล่อยภรรยาที่เอาไว้แต่แรกไป! ดังนั้น จึงเริ่มมีปัญหาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง.
มีการชี้นำมาอีกจากสำนักงานกลางในบรุกลิน ซึ่งอาศัยมาลาคี 2:14 ที่อ้างถึง “เมียของท่านซึ่งได้กันเมื่อครั้งหนุ่มสาว.” การชี้นำก็คือ สามีควรเอาภรรยาคนแรก ไว้ซึ่งเขาได้แต่งงานด้วย. นั่นเป็นวิธีที่ปัญหานี้หมดไปในที่สุด.
สิทธิพิเศษในการรับใช้
ในปี 1947 สมาคมฯเริ่มเสริมประชาคมต่าง ๆ ให้แข็งแรงขึ้น และจัดเป็นหมวด ๆ. สมาคมฯต้องการแต่งตั้งพี่น้องชายที่มีความก้าวหน้าในความรู้และอาวุโส เป็น ‘ผู้รับใช้พี่น้อง’ ซึ่งเวลานี้เรียกว่าผู้ดูแลหมวด. บราเดอร์บราวน์ถามผมว่า ผมจะรับการแต่งตั้งนั้นหรือไม่. ผมบอกว่า เหตุผลที่ผมรับบัพติสมาก็เพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา โดยเสริมว่า “คุณถึงกับบัพติสมาให้ผม. ตอนนี้ เมื่อมีโอกาสรับใช้พระยะโฮวาเต็มที่ยิ่งขึ้น คุณคิดว่าผมจะปฏิเสธหรือ?”
ในเดือนตุลาคมของปีนั้น เจ็ดคนในพวกเราถูกเรียกไปลากอส และได้รับการอบรมก่อนถูกส่งออกไปในงานหมวด. สมัยนั้น หมวดต่าง ๆ กว้างใหญ่มาก. ทั้งประเทศถูกแบ่งออกเพียงเจ็ดหมวด. ประชาคมมีน้อย.
งานของเราฐานะผู้รับใช้พี่น้องนั้นยากลำบาก. เราเดินหลายกิโลเมตรในแต่ละวัน ซึ่งบ่อยครั้งเดินผ่านป่าดิบชื้นที่ร้อนอบอ้าว. ทุกสัปดาห์ เราต้องเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง. บางครั้ง ผมรู้สึกว่าขาของผมจะพับลงเสียให้ได้. บางครั้ง ผมรู้สึกราวกับว่า ผมกำลังจะตาย! แต่มีความยินดีมากมายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเห็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นของผู้ที่รับเอาความจริง. ในเวลาเพียงเจ็ดปี จำนวนผู้ประกาศในประเทศเพิ่มขึ้นสี่เท่า.
ผมมีส่วนในงานหมวดจนกระทั่งปี 1955 เมื่อสุขภาพที่ย่ำแย่ทำให้ผมต้องกลับมาบ้านที่อิเลชา ที่ซึ่งผมได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลนคร. การอยู่บ้านช่วยให้ผมใส่ใจมากขึ้นในการช่วยครอบครัวของผมทางฝ่ายวิญญาณ. ทุกวันนี้ ลูก ๆ ทั้งหกคนของผมกำลังรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์.
รักแท้ไม่เคยล้มเหลว
เมื่อผมมองย้อนไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมมีหลายสิ่งเหลือเกินที่จะขอบพระคุณ. มีความผิดหวัง, ความกังวล, และความเจ็บป่วย แต่ก็มีความยินดีมากมายเช่นกัน. แม้ความรู้และความเข้าใจของเราได้พัฒนาขึ้นในช่วงหลายปีนั้น ผมได้เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ถึงความหมายของ 1 โกรินโธ 13:8 (ล.ม.) ซึ่งกล่าวว่า “ความรักไม่ล้มเหลวเลย.” หากคุณรักพระยะโฮวาและยึดมั่นอยู่ในงานรับใช้พระองค์ พระองค์จะช่วยคุณให้ผ่านพ้นความยากลำบากและจะอวยพระพรคุณอย่างอุดม.
แสงแห่งความจริงกำลังสว่างไสวยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ. สมัยที่เราเริ่มงานทีแรก เราคิดว่าอาร์มาเก็ดดอนจะมาอย่างรวดเร็ว นั่นเป็นสาเหตุที่เรารีบทำทุกอย่างที่เราทำได้. แต่การทำเช่นนั้นก็เป็นประโยชน์ต่อเราทั้งสิ้น. นี่เป็นสาเหตุที่ผมเห็นด้วยกับถ้อยคำของผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญที่ว่า “เมื่อข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่จะสรรเสริญพระยะโฮวา: จะร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าของข้าพเจ้าในเมื่อข้าพเจ้ายังมีลมหายใจ.”—บทเพลงสรรเสริญ 146:2.
[เชิงอรรถ]
a บราเดอร์บราวน์ถูกเรียกว่า ไบเบิล บราวน์ เพราะเป็นนิสัยของเขาที่จะชี้ไปที่คัมภีร์ไบเบิลเป็นแหล่งตัดสินชี้ขาดเสมอ.—ดู “การเก็บเกี่ยวของผู้เผยแพร่กิตติคุณแท้” ในวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กันยายน 1992 หน้า 32.
[รูปภาพหน้า 23]
ซามูเอลกับมิลตัน เฮนเชล เมื่อปี 1955
[รูปภาพหน้า 24]
ซามูเอลกับภรรยา โอลาบิซิ