จงมองไปไกลกว่าสิ่งที่คุณเห็น!
สายตาดีเป็นพระพรอย่างหนึ่ง. แท้จริง ผู้คนส่วนใหญ่จะบอกว่า มีไม่กี่สิ่งที่เขาเป็นเจ้าของซึ่งล้ำค่ายิ่งกว่าสายตาดี. แต่สำหรับคริสเตียน มีสายตาชนิดหนึ่งที่อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงว่ามีคุณค่ายิ่งกว่าสายตาที่ดีฝ่ายกาย. เปาโลเขียนว่า “เราเพ่งตา ไม่ใช่ไปยังสิ่งที่มองเห็น แต่ไปยังสิ่งที่มองไม่เห็น.” (2 โกรินโธ 4:18, ล.ม.) นั่นคงต้องเป็นสายตาชนิดพิเศษจริง ๆ ซึ่งทำให้คนเราสามารถมองเห็นสิ่งที่ไม่ประจักษ์แก่ตา! เราอาจเรียกการมองเห็นชนิดนี้ว่า สายตาฝ่ายวิญญาณ ที่ดีเลิศ.
เพราะเหตุใดจึงมีความจำเป็นเช่นนั้น?
คริสเตียนในศตวรรษแรกจำเป็นต้องมีสายตาฝ่ายวิญญาณชนิดนี้อย่างแท้จริง. พวกเขากำลังปฏิบัติงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียนของตนภายใต้ความลำบากมาก. เปาโลกล่าวดังนี้: “เราถูกขนาบรอบข้าง, แต่ก็ยังไม่ถึงกะดิกไม่ไหว. เราจนปัญญา, แต่ก็ยังไม่ถึงกับหมดมานะ เราถูกเขารุกไล่, แต่ก็ยังไม่ตกอยู่ในเงื้อมมือเขา เราถูกตีลงแล้ว, แต่ก็ยังไม่ตาย.”—2 โกรินโธ 4:8, 9.
ทั้งที่มีสภาพการณ์เช่นนั้น เหล่าสาวกที่ซื่อสัตย์ก็ยืนหยัดมั่นคง. ด้วยความเชื่อเข้มแข็งในพระเจ้า พวกเขากล่าวได้ดังที่เปาโลกล่าว: “เราจึงไม่ย่อท้อ, ถึงแม้ว่ากายภายนอกของเรากำลังทรุดโทรมไป, ใจภายในนั้นก็ยังจำเริญขึ้นใหม่ทุกวัน ๆ.” แต่อะไรล่ะที่ก่อการฟื้นกำลังใหม่นี้ทุก ๆ วัน? เปาโลกล่าวต่อไปว่า “เหตุว่าการทุกข์ยากที่เบาบางของเรานั้นซึ่งรับอยู่แต่ประเดี๋ยวเดียว จะกระทำให้เรามีสง่าราศีใหญ่ยิ่งนิรันดร์. ด้วยว่าเราไม่ได้เห็นแก่สิ่งของที่แลเห็นอยู่, แต่เห็นแก่สิ่งของที่แลไม่เห็น. เพราะว่าสิ่งของซึ่งแลเห็นอยู่นั้นเป็นของไม่ยั่งยืน แต่สิ่งซึ่งแลไม่เห็นนั้นก็ถาวรอยู่นิรันดร์.”—2 โกรินโธ 4:16-18.
เปาโลหนุนกำลังใจพี่น้องฝ่ายวิญญาณของท่านเพื่อไม่ให้ปัญหา, ความยุ่งยาก, การกดขี่ข่มเหง—ความยากลำบากไม่ว่าลักษณะใด—มาทำให้การมองที่บำเหน็จอันรุ่งโรจน์ของพวกเขาซึ่งวางไว้ต่อหน้าพวกเขาอยู่แล้วนั้นเลือนลางไป. พวกเขาควรมองให้ไกลกว่าสภาพการณ์ของเขาในปัจจุบัน จับตามองที่ผลอันน่ายินดีแห่งแนวทางคริสเตียน. นั่นคือสิ่งที่ช่วยพวกเขาให้ฟื้นความตั้งใจแน่วแน่ของตนที่จะรุดหน้าต่อไปในการต่อสู้นั้นเป็นประจำทุกวัน. คริสเตียนในทุกวันนี้ก็มีความจำเป็นเท่า ๆ กันในการมีสายตาดีฝ่ายวิญญาณเช่นนั้น.
จงมองความทุกข์ลำบากในสมัยปัจจุบันว่าเป็นแต่ชั่วคราว!
ทุกวันเราเห็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็นอย่างไม่อาจเลี่ยงได้. เมื่อเหลือบมองในกระจก เราเห็นจุดบกพร่องและตำหนิต่าง ๆ อันไม่พึงปรารถนาในตัวเรา ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความไม่สมบูรณ์ทางร่างกาย. เมื่อเราเพ่งมองในกระจกแห่งพระคำของพระเจ้า เราเห็นจุดบกพร่องและตำหนิต่าง ๆ ทางฝ่ายวิญญาณ ทั้งในตัวเราและคนอื่น ๆ. (ยาโกโบ 1:22-25) และเมื่อเราดูในหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ เรื่องอยุติธรรม, การทำทารุณ, และโศกนาฏกรรมก่อความเศร้าหมองให้เราขึ้นมาทันที.
ซาตานอยากทำให้เราสิ้นหวังเพราะสิ่งที่เราเห็น หรือไม่ก็เขวไปและความเชื่อเริ่มคลอนแคลน. เราจะป้องกันไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? เราต้องทำตามแบบอย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงวางไว้ ดังที่อัครสาวกเปโตรแนะนำเมื่อท่านกล่าวดังนี้: “ที่จริง ท่านทั้งหลายถูกเรียกไว้สำหรับแนวทางนี้ เพราะแม้แต่พระคริสต์ได้ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ทรงวางแบบอย่างไว้ให้ท่าน เพื่อท่านจะได้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.” (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) ในทุกด้านของการดำเนินชีวิตแบบคริสเตียน พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างอันสมบูรณ์พร้อม.
เมื่อชี้ไปยังพระเยซูในฐานะแบบอย่างของพวกเรา เปโตรเน้นว่าพระเยซูทรงทนทุกข์ทรมาน. แท้จริง พระเยซูทรงทนทุกข์มากมายขณะอยู่บนแผ่นดินโลก. ในฐานะ “นายช่าง” ของพระยะโฮวาซึ่งอยู่ด้วยในคราวที่มีการสร้างมนุษย์ พระองค์ทรงทราบชัดว่าพระเจ้าทรงตั้งพระทัยให้มนุษย์เป็นเช่นไร. (สุภาษิต 8:30, 31, ฉบับแปลใหม่) แต่บัดนี้ พระองค์ทรงเห็นกับตาว่าความบาปและความไม่สมบูรณ์ได้ทำให้พวกเขากลับกลายเป็นอย่างไร. ทุกวันพระองค์เห็นและจำต้องจัดการกับความไม่สมบูรณ์และความอ่อนแอของผู้คน. นั่นคงต้องเป็นเรื่องลำบากมากสำหรับพระองค์.—มัดธาย 9:36; มาระโก 6:34.
นอกจากความทุกข์ลำบากของคนอื่น ๆ แล้ว พระเยซูก็ทรงประสบความทุกข์ของพระองค์เองด้วย. (เฮ็บราย 5:7, 8) แต่ด้วยสายตาฝ่ายวิญญาณที่ดีเยี่ยม พระองค์ทรงมองไปไกลกว่าความทุกข์เหล่านั้น เพื่อจะเห็นบำเหน็จจากการถูกยกขึ้นสู่ชีวิตอมตะเนื่องด้วยแนวทางแห่งความซื่อสัตย์มั่นคงของพระองค์. ครั้นแล้ว ในฐานะพระมหากษัตริย์มาซีฮา พระองค์จะทรงมีสิทธิพิเศษในการยกมนุษยชาติที่ทนทุกข์ให้พ้นจากสภาพตกต่ำกลับสู่ความสมบูรณ์ที่พระยะโฮวาทรงมีพระประสงค์ไว้แต่เดิมนั้น. การเพ่งตาของพระองค์อยู่กับความหวังในอนาคตที่ยังไม่ปรากฏเหล่านั้นช่วยพระองค์ให้รักษาความชื่นชมยินดีในงานรับใช้พระเจ้าถึงแม้พระองค์ประสบความทุกข์ลำบากอยู่เสมอ. ต่อมาเปาโลเขียนว่า “เพราะเห็นแก่ความยินดีซึ่งมีอยู่ตรงหน้า พระองค์ยอมทนหลักทรมาน ไม่คำนึงถึงความละอาย แล้วพระองค์ได้เสด็จนั่งเบื้องขวาพระที่นั่งของพระเจ้า.”—เฮ็บราย 12:2, ล.ม.
พระเยซูไม่เคยยอมให้ความลำบากและสภาพความทุกข์ยากมาทำให้พระองค์สิ้นหวัง, เขวไป, หรือคลอนแคลนในความเชื่อ. ในฐานะสาวกของพระองค์ เราต้องติดตามแบบอย่างอันเยี่ยมยอดของพระองค์อย่างใกล้ชิด.—มัดธาย 16:24.
จงมองเขม้นที่สิ่งถาวรซึ่งยังไม่ปรากฏ
เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่ทำให้พระเยซูสามารถเพียรอดทนได้ เปาโลยังได้ชี้ให้เห็นแนวทางสำหรับเราเมื่อท่านเขียนดังนี้: “การวิ่งแข่งซึ่งกำหนดไว้สำหรับพวกเรานั้น ให้เราวิ่งด้วยความอดทน ขณะที่เรามองเขม้นไปที่พระเยซู ผู้นำองค์เอกและผู้ปรับปรุงความเชื่อของเราให้สมบูรณ์ขึ้น.” (เฮ็บราย 12:1, 2, ล.ม.) ใช่ เพื่อจะวิ่งในแนวทางคริสเตียนอย่างประสบความสำเร็จและด้วยความชื่นชมยินดี เราต้องมองไปไกลกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา. แต่เราจะ “มองเขม้น” ที่พระเยซูอย่างไร และการทำเช่นนี้จะเป็นประโยชน์อะไรแก่เรา?
ตัวอย่างหนึ่งคือ ในปี 1914 พระเยซูได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า และพระองค์ทรงปกครองจากสวรรค์. แน่นอน ทั้งหมดนี้ไม่ปรากฏแก่ตาฝ่ายกายของเรา. กระนั้น หากเรา “มองเขม้น” ที่พระเยซู สายตาฝ่ายวิญญาณของเราจะช่วยเราให้เห็นว่า บัดนี้ พระองค์ได้ทรงลงมือปฏิบัติการเพื่อนำมาซึ่งอวสานแห่งระบบชั่วในปัจจุบันและการลงโทษซาตานกับฝูงผีปิศาจบริวารของมันเข้าสู่การจองจำแห่งการไร้กิจกรรมใด ๆ. เมื่อยิ่งมองไกลกว่านั้นอีก การมองเห็นฝ่ายวิญญาณของเราจะเผยให้เห็นโลกใหม่อันเยี่ยมยอดซึ่ง “ความตายจะไม่มีอีกต่อไป ทั้งความทุกข์โศกหรือเสียงร้องหรือความเจ็บปวดจะไม่มีอีกเลย. สิ่งที่เคยมีอยู่เดิมนั้นผ่านพ้นไปแล้ว.”—วิวรณ์ 19:11-16; 20:1-3; 21:4, ล.ม.
ฉะนั้น แทนที่จะเป็นทุกข์เนื่องด้วยความลำบากชั่วคราว ที่เราอาจต้องเผชิญในแต่ละวัน เราน่าจะเพ่งตาที่สิ่งซึ่งเป็นอยู่ถาวร มิใช่หรือ? ด้วยตาแห่งความเชื่อ เราน่าจะมองไปไกลกว่าความเจ็บป่วยและความละโมบของโลกที่เป็นมลพิษนี้เพื่อจะเห็นอุทยานที่เต็มไปด้วยผู้คนที่แข็งแรง, มีความสุข, และเอาใจใส่กันมิใช่หรือ? ทำไมไม่มองให้ไกลกว่าข้อบกพร่องของเรา ทั้งด้านร่างกายและฝ่ายวิญญาณ และมองดูตัวเราเองที่พ้นจากตำหนิเหล่านั้นตลอดกาลเนื่องด้วยคุณค่าแห่งเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์? ทำไมไม่มองไปไกลกว่าซากศพที่กองสุมไว้เบื้องหลังอันเนื่องมาจากสงคราม, อาชญากรรม, และความรุนแรง และมองดูคนที่เพิ่งได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายซึ่งได้รับการสอนให้รู้เรื่องสันติสุขและความชอบธรรมของพระยะโฮวาล่ะ?
นอกจากนั้น การ “มองเขม้น” ที่พระเยซูย่อมรวมถึงการเพ่งตาฝ่ายวิญญาณของเราอยู่กับสิ่งที่ราชอาณาจักรซึ่งแม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าก็ตามได้ทำให้สำเร็จแล้วท่ามกลางประชาชนของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกด้วย นั่นคือ เอกภาพ, สันติสุข, ความรัก, ความรักใคร่ฉันพี่น้อง, และความมั่งคั่งฝ่ายวิญญาณ. สตรีคริสเตียนคนหนึ่งในเยอรมนี หลังจากได้ดูวีดิทัศน์เรื่องเป็นเอกภาพด้วยการสอนจากพระเจ้า แล้ว ได้เขียนว่า “วีดิทัศน์นี้จะช่วยดิฉันให้ยิ่งจดจำไว้เสมอว่า พี่น้องคริสเตียนชายหญิงจำนวนมากเหลือเกินทั่วโลกกำลังรับใช้พระยะโฮวาด้วยความภักดีอยู่ในขณะนี้—และทำเช่นนี้ทั้ง ๆ ที่มีการต่อต้านจากคนทั่วไป. เอกภาพฉันพี่น้องของพวกเราช่างมีค่าจริง ๆ ในโลกที่มีแต่ความรุนแรงและความเกลียดชัง!”
คุณ “เห็น” พระยะโฮวา, พระเยซู, ทูตสวรรค์ที่ซื่อสัตย์, และเพื่อนคริสเตียนหลายล้านคนที่ยืนอยู่ฝ่ายคุณด้วยเช่นกันไหม? ถ้าเช่นนั้น คุณจะไม่เป็นห่วงมากเกินไปกับ “ความกังวลตามธรรมดาโลก” ซึ่งอาจทำให้คุณจมอยู่ในความท้อแท้และเป็นเหตุให้คุณ “ไม่เกิดผล” ในงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียน. (มัดธาย 13:22, ฉบับแปลใหม่.) ดังนั้น จง “มองเขม้น” ที่พระเยซูด้วยการเพ่งตาฝ่ายวิญญาณของคุณที่ราชอาณาจักรซึ่งได้รับการสถาปนาแล้วของพระเจ้าและพระพรต่าง ๆ จากราชอาณาจักรนี้ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต.
จงเพียรพยายามที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อจะเห็นสิ่งที่ไม่ประจักษ์แก่ตา!
เมื่อเห็นความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างโลกใหม่อันถาวรของพระเจ้ากับโลกเก่าที่ยับเยินในปัจจุบัน เราน่าจะถูกกระตุ้นใจให้ประพฤติตัวในแนวที่เราจะถูกนับว่าคู่ควรแก่การมีชีวิตอยู่เพื่อจะได้เห็นด้วยตาฝ่ายกายในสิ่งที่ทุกวันนี้เราเห็นได้ด้วยตาแห่งความเชื่อเท่านั้น. คนที่ได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายจำนวนมากมายคงแทบไม่อยากเชื่อสายตาเมื่อพวกเขาตื่นขึ้นมาเห็นแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานอันชอบธรรมซึ่งแตกต่างเหลือเกินจากโลกที่พวกเขาเห็นก่อนเขาตายไป. ลองนึกภาพความยินดีของเราที่มีชีวิตอยู่ต้อนรับพวกเขาและอธิบายให้พวกเขาฟังถึงสิ่งที่พระเจ้าได้ทำไป!—เทียบกับโยเอล 2:21-27.
ถูกแล้ว สายตาที่ดีฝ่ายวิญญาณช่างล้ำค่าเสียจริง ๆ และสำคัญยิ่งที่จะรักษาสายตานี้ให้คมอยู่เสมอ! เราสามารถทำเช่นนี้ได้ด้วยการทำเป็นประจำในเรื่องศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัว, การเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน, การพูดกับคนอื่น ๆ ถึงความหวังของเราซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิล และสำคัญที่สุดคือ การอธิษฐานขอการทรงนำจากพระเจ้า. การทำเช่นนี้จะช่วยให้การมองเห็นฝ่ายวิญญาณของเราคมชัดอยู่เสมอ ทำให้เราสามารถมองไปไกลกว่าสิ่งที่เราเห็น!