การปลอบโยนสำหรับผู้ถูกกดขี่
คุณเคยสังเกตไหมว่า ตลอดชีวิตของคุณมีคำพูดบางคำที่ถูกนำมาพาดหัวข่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า? คุณรู้สึกเบื่อหน่ายไหมที่ต้องอ่านคำอย่างเช่น สงคราม, อาชญากรรม, ภัยพิบัติ, ความหิว, และการทนทุกข์? อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่ามีคำหนึ่งที่ไม่ปรากฏอยู่ในรายงานข่าวต่าง ๆ. กระนั้น คำคำนี้แสดงบางสิ่งที่มนุษยชาติต้องการเป็นอย่างมาก. คำนั้นคือ “การปลอบโยน.”
“ปลอบโยน” หมายถึง “ให้ความเข้มแข็งและความหวัง” และ “ช่วยคลายความโศกเศร้าหรือความเดือดร้อน” ให้แก่บางคน. ด้วยความสับสนวุ่นวายทั้งหลายแหล่ที่ผ่านเข้ามาในโลกแห่งศตวรรษที่ 20 นี้ ความหวังและการบรรเทาจากความทุกข์เข็ญจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง. จริงอยู่ บางคนในหมู่พวกเราในปัจจุบันมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ที่บรรพบุรุษของเราในอดีตไม่เคยคาดฝันว่าจะเป็นไปได้. นี่เป็นเพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เสียเป็นส่วนใหญ่. แต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้ปลอบโยนเราด้วยการขจัดสาเหตุแห่งความทุกข์ยากทั้งสิ้นให้หมดไปจากท่ามกลางมนุษยชาติ. สาเหตุเหล่านี้มีอะไรบ้าง?
หลายศตวรรษมาแล้ว ซะโลโมบุรุษผู้ฉลาดสุขุมกล่าวถึงเหตุพื้นฐานอย่างหนึ่งของความทุกข์ยากเมื่อท่านกล่าวว่า “มนุษย์ครอบงำมนุษย์ด้วยกันเป็นผลเสียหายแก่เขา.” (ท่านผู้ประกาศ 8:9, ล.ม.) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่เคยสามารถเปลี่ยนความโน้มเอียงของมนุษย์ที่ต้องการจะครอบงำเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน. ในศตวรรษที่ 20 นี้ แนวโน้มนี้นำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการที่กดขี่ในหลายประเทศ และก่อให้เกิดสงครามที่สยดสยองขึ้นระหว่างประเทศต่าง ๆ.
ตั้งแต่ปี 1914 เป็นต้นมา ผู้คนมากกว่าหนึ่งร้อยล้านคนถูกฆ่าเนื่องด้วยสงคราม. ลองคิดดูถึงความเจ็บปวดรวดร้าวของผู้คนที่ตัวเลขนั้นบ่งถึง—หลายล้านครอบครัวเป็นทุกข์โศกเศร้าต้องการการปลอบโยน. และสงครามยังก่อให้เกิดความทุกข์แบบอื่นอีกนอกจากความตายเพราะเหตุรุนแรง. ตอนที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง มีผู้ลี้ภัยไปอยู่ในยุโรปมากกว่า 12 ล้านคน. เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีมากกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคนที่หนีภัยจากเขตสงครามในเอเชียอาคเนย์. สงครามในคาบสมุทรบอลข่านบีบผู้คนมากกว่าสองล้านคนให้ต้องทิ้งบ้านเรือนของตน—ในหลายกรณีเพื่อหนีจาก “การล้างชาติพันธุ์.”
ผู้ลี้ภัยต้องการการปลอบโยนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะคนที่ถูกบีบให้ต้องทิ้งบ้านของตนโดยมีเพียงทรัพย์สิ่งของเพียงเล็กน้อยที่สามารถติดตัวมาได้ ไม่รู้ว่าจะไปไหนหรืออนาคตมีอะไรรออยู่สำหรับตัวเขาและครอบครัว. คนเหล่านี้อยู่ในบรรดาเหยื่อของการกดขี่ที่น่าสงสารที่สุด พวกเขาต้องการการปลอบโยน.
ในส่วนของโลกที่สงบกว่า หลายล้านคนมีชีวิตอยู่ในสภาพซึ่งแท้จริงแล้วเป็นทาสต่อระบบเศรษฐกิจของโลกนี้. เป็นความจริงที่บางคนมีทรัพย์สมบัติมากมาย. อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะยังชีพในแต่ละวัน. หลายคนเสาะหาที่อยู่อาศัยที่ดีพอสมควรเพื่อจะอยู่. จำนวนคนว่างงานกำลังเพิ่มมากขึ้น. หนังสือพิมพ์ในแอฟริกาฉบับหนึ่งพยากรณ์ว่า “โลกกำลังมุ่งหน้าไปสู่วิกฤตการณ์แห่งการว่างงานอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยที่ยังจะมีอีก 1,300 ล้านคนดิ้นรนหางานทำเมื่อถึงปี 2020.” แน่นอน คนที่ถูกกดขี่ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ต้องการ “ความเข้มแข็งและความหวัง”—นั่นคือการปลอบโยน.
ด้วยความหมดอาลัยตายอยาก บางคนหันไปใช้ชีวิตเป็นอาชญากร. แน่นอน การทำเช่นนี้สร้างความเดือดร้อนให้แก่เหยื่อของพวกเขา และอัตราการเกิดอาชญากรรมที่มีอยู่สูงก็ยิ่งทำให้รู้สึกถึงการกดขี่เพิ่มมากขึ้นไปอีก. พาดหัวข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ในเดอะ สตาร์ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งแห่งโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ลงไว้ดังนี้: “ชีวิตใน ‘ประเทศที่มีการฆ่ากันมากที่สุดในโลก.’” บทความนี้บรรยายภาพชีวิตตามปกติในเมืองโจฮันเนสเบิร์กและรอบนอกออกไป. ในวันนั้น มีสี่คนถูกฆ่าและเจ้าของยานยนต์แปดรายถูกจี้เอารถไป. มีรายงานการโจรกรรมสิบเจ็ดรายในย่านที่อยู่ของคนชั้นกลางแถบชานเมืองแห่งหนึ่ง. นอกจากนี้ ยังมีการปล้นโดยใช้อาวุธอีกเป็นจำนวนมาก. ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ตำรวจบอกว่านี่เป็นวันที่ “ถือได้ว่าเงียบสงบ.” เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่า คนที่เป็นญาติของเหยื่อผู้ถูกฆ่ารวมทั้งคนที่ถูกงัดบ้านและคนที่ถูกจี้เอารถไปจะรู้สึกว่าถูกย่ำยีสักเพียงไร. คนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรับรองที่ให้ความมั่นใจและความหวัง—นั่นคือการปลอบโยน.
ในบางประเทศ มีบิดามารดาที่ขายลูกตัวเองไปเป็นโสเภณี. ประเทศหนึ่งในเอเชียซึ่งนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปใช้บริการ “เซ็กซ์ทัวร์” มีรายงานว่ามีโสเภณีมากถึงสองล้านคน หลายคนในจำนวนนี้ถูกซื้อมาหรือไม่ก็เป็นเด็กที่ถูกลักพาตัวมา. มีปัจเจกบุคคลใดอีกไหมที่ถูกกดขี่ยิ่งไปกว่าเหยื่อที่น่าสงสารเหล่านี้? ในการพิจารณาการค้าที่เลวทรามนี้ วารสารไทม์ ได้รายงานการประชุมขององค์การสตรีแห่งเอเชียอาคเนย์ประจำปี 1991. ในรายงานนั้นมีการประมาณกันว่า “มีผู้หญิง 30 ล้านคนที่ถูกขายไปทั่วโลกนับตั้งแต่กลางทศวรรษปี 1970 เป็นต้นมา.”
แน่นอน เด็กไม่จำเป็นต้องถูกขายเป็นโสเภณีก่อนจึงจะกลายเป็นเหยื่อได้. มีเด็กจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกทีที่ถูกประทุษร้ายร่างกายหรือแม้กระทั่งถูกกระทำชำเราในบ้านของตัวเองจากบิดาและคนที่เป็นญาติ. เด็กที่ถูกกระทำเช่นนั้นอาจเกิดเป็นแผลทางอารมณ์ติดตัวไปอีกนาน. แน่นอน เหยื่อแห่งการกดขี่ที่ร้ายกาจเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการปลอบโยน.
ผู้พิเคราะห์ในคราวโบราณพิจารณาการกดขี่
กษัตริย์ซะโลโมรู้สึกตระหนกเมื่อเห็นขอบเขตที่มนุษย์กดขี่ข่มเหงกัน. ท่านเขียนดังนี้: “ข้าฯได้หันกลับมาดูบรรดาการข่มเหงที่เกิดขึ้นภายใต้ดวงอาทิตย์, และนี่แน่ะ, น้ำตาของผู้ถูกข่มเหงเป็นต้น, ไม่มีคนเช็ดให้; ในมือของผู้ข่มเหงนั้นได้กุมอำนาจไว้, แต่ผู้ถูกข่มเหงนั้นหามีผู้เล้าโลมไม่.”—ท่านผู้ประกาศ 4:1.
หากกษัตริย์ผู้ฉลาดสุขุมตระหนักว่าผู้ถูกข่มเหงต้องการคนปลอบโยนอย่างยิ่งเมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว ท่านจะกล่าวเช่นไรกับสภาพในปัจจุบัน? อย่างไรก็ดี ซะโลโมทราบว่าไม่มีมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์คนใด รวมทั้งตัวท่านเองด้วย ที่สามารถให้การปลอบโยนที่จำเป็นแก่มนุษยชาติได้. จำเป็นต้องมีใครที่ยิ่งใหญ่กว่ามาทำลายล้างอำนาจของพวกผู้กดขี่. มีบุคคลเช่นว่านี้ไหม?
ในคัมภีร์ไบเบิล พระธรรมบทเพลงสรรเสริญบท 72 กล่าวถึงผู้ปลอบโยนองค์ยิ่งใหญ่สำหรับมนุษย์ทุกคน. กษัตริย์ดาวิดผู้เป็นราชบิดาของซะโลโมเป็นผู้เขียนบทเพลงสรรเสริญนี้. จ่าหน้าบทเพลงบทนี้อ่านว่า “เกี่ยวกับซะโลโม.” ดูเหมือนว่า เพลงนี้กษัตริย์ดาวิดผู้ชราภาพเขียนถึงผู้ที่จะมาสืบบัลลังก์ของท่าน. ตามเนื้อความในเพลง ผู้นี้จะขจัดการกดขี่ให้หมดสิ้นไปอย่างถาวร. “ในสมัยของพระองค์นั้นผู้ชอบธรรมจะเจริญขึ้น, และความสงบสุขจะมีบริบูรณ์จนดวงจันทร์จะดับศูนย์. พระองค์จะทรงครอบครองตั้งแต่มหาสมุทรข้างนี้ถึงมหาสมุทรข้างโน้น, และ . . . จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.”—บทเพลงสรรเสริญ 72:7, 8.
เป็นไปได้มากว่า ตอนที่ดาวิดเขียนถ้อยคำเหล่านี้ ท่านกำลังคิดถึงซะโลโมราชบุตร. แต่ซะโลโมตระหนักว่า การรับใช้มนุษยชาติดังที่เพลงบทนี้พรรณนาไว้เป็นเรื่องที่เกินอำนาจของท่าน. ท่านอาจทำให้บทเพลงนั้นสำเร็จได้เพียงแค่ส่วนน้อยนิดเฉพาะที่อำนวยผลประโยชน์เหนือชาติยิศราเอลเท่านั้น ไม่อาจจะทำเพื่อประโยชน์ของทั้งแผ่นดินโลกได้. จึงเห็นได้ว่า บทเพลงสรรเสริญนี้ที่เขียนขึ้นโดยการดลใจเป็นเชิงพยากรณ์ ชี้ไปยังผู้หนึ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าซะโลโมมากนัก. ผู้นั้นเป็นใครกัน? จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากพระเยซูคริสต์.
เมื่อทูตสวรรค์ประกาศการมาประสูติของพระเยซู ทูตนั้นกล่าวว่า “[พระยะโฮวา] พระเจ้าจะประทานพระที่นั่งของดาวิดบิดาของท่านให้แก่ท่าน.” (ลูกา 1:32) นอกจากนั้น พระเยซูกล่าวถึงพระองค์เองว่าเป็น “ผู้ใหญ่กว่าซะโลโม.” (ลูกา 11:31) นับตั้งแต่การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูขึ้นไปประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า พระองค์ได้อยู่ในสวรรค์ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ประทับที่พระองค์สามารถทำให้ถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญบท 72 นี้สำเร็จ. ยิ่งกว่านั้น พระองค์ได้รับมอบอำนาจและหน้าที่จากพระเจ้าเพื่อจะหักแอกของผู้กดขี่เพื่อนมนุษย์. (บทเพลงสรรเสริญ 2:7-9; ดานิเอล 2:44) ดังนั้น พระเยซูนี้เองที่เป็นผู้นั้นซึ่งจะทำให้สำเร็จตามถ้อยคำในเพลงสรรเสริญบท 72 นี้.
การกดขี่จะสิ้นสุดลงในไม่ช้า
นี่หมายความเช่นไร? หมายความว่า ไม่ช้าการเป็นอิสระพ้นจากการกดขี่ของมนุษย์ทุกรูปแบบจะเป็นจริง. พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าเอาไว้ว่าความทุกข์เดือดร้อนและการกดขี่ข่มเหงอย่างไม่เคยมีมาก่อนที่เห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในศตวรรษที่ 20 นี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ที่จะบอกให้ทราบ “ช่วงอวสานของระบบ.” (มัดธาย 24:3, ล.ม.) สัญลักษณ์หนึ่งที่พระองค์ทรงบอกล่วงหน้าคือ “ชาติจะลุกขึ้นต่อสู้ชาติและอาณาจักรต่อสู้อาณาจักร.” (มัดธาย 24:7, ล.ม.) ลักษณะเด่นส่วนนี้ของคำพยากรณ์เริ่มสำเร็จเป็นจริงเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้ระเบิดขึ้นในปี 1914. พระเยซูทรงเสริมอีกว่า “เพราะการละเลยกฎหมายทวีขึ้น ความรักของคนส่วนใหญ่จะเย็นลง.” (มัดธาย 24:12, ล.ม.) การละเลยกฎหมายและการขาดความรักได้ก่อให้เกิดคนชั่วอายุที่ชั่วร้ายและกดขี่. ด้วยเหตุนั้น คงต้องใกล้จะถึงเวลาแล้วที่พระเยซูคริสต์จะเข้ามาแทรกแซงฐานะกษัตริย์องค์ใหม่แห่งแผ่นดินโลก. (มัดธาย 24:32-34) นั่นจะมีความหมายเช่นไรสำหรับมนุษย์ที่ถูกกดขี่ที่มีความเชื่อในพระเยซูคริสต์และหมายพึ่งพระองค์ด้วยความมั่นใจในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นผู้ปลอบโยนมนุษยชาติที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้า?
เพื่อจะได้คำตอบสำหรับคำถามนั้น ให้เราอ่านเพิ่มเติมอีกจากบทเพลงสรรเสริญบท 72 ซึ่งได้มาสำเร็จในพระเยซูคริสต์ที่ว่า “พระองค์จะทรงช่วยคนขัดสนเมื่อเขาร้องทุกข์, และจะทรงช่วยคนอนาถา, ที่ไม่มีผู้อุปถัมภ์. พระองค์จะสงสารคนอนาถาและคนขัดสน, ชีวิตของคนขัดสนพระองค์จะช่วยให้รอด. พระองค์จะไถ่ชีวิตของเขาให้พ้นจากการข่มเหงและการร้ายกาจ; เลือดของเขาจะประเสริฐต่อพระเนตรของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 72:12-14) ดังนั้น พระเยซูคริสต์ผู้เป็นกษัตริย์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้า จะทรงดูแลเอาใจใส่เพื่อว่าจะไม่มีใครต้องทนทุกข์เนื่องจากการกดขี่. พระองค์มีอำนาจยุติความอยุติธรรมทุกรูปแบบ.
บางคนอาจบอกว่า ‘นั่นฟังดูยอดเยี่ยมทีเดียว แต่เวลานี้ล่ะจะว่าอย่างไร? มีการปลอบโยนสำหรับคนที่ทนทุกข์อยู่ในขณะนี้ไหม?’ ที่จริง มีการปลอบโยนอยู่จริง ๆ สำหรับผู้ที่ถูกกดขี่. สองบทความถัดไปในวารสารนี้จะแสดงให้เห็นถึงวิธีที่หลายล้านคนกำลังได้รับการปลอบโยนโดยการปลูกฝังสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ และสัมพันธภาพกับพระเยซูคริสต์ พระบุตรผู้เป็นที่รักของพระองค์. สัมพันธภาพเช่นนั้นสามารถปลอบโยนเราในยามที่ประสบการกดขี่ และสามารถนำคนเราไปสู่ชีวิตนิรันดร์ที่ปราศจากการกดขี่. พระเยซูตรัสในคำอธิษฐานถึงพระเจ้าดังนี้: “นี่แหละหมายถึงชีวิตนิรันดร์ คือการที่เขารับเอาความรู้ต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับพระองค์ ผู้เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และเกี่ยวกับผู้ที่พระองค์ทรงใช้มา คือพระเยซูคริสต์.”—โยฮัน 17:3, ล.ม.
[รูปภาพหน้า 4, 5]
ไม่มีมนุษย์คนใดจะกดขี่ผู้อื่นในโลกใหม่ของพระเจ้า