จงให้เราทุกคนถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา!
“จงถวายเกียรติยศแก่พระยะโฮวาไปให้ทั่วทิศตะวันออก.”—ยซา. 24:15.
1. พระนามยะโฮวาได้รับการมองดูอย่างไรจากผู้พยากรณ์ของพระองค์ ต่างจากทัศนะเช่นไรในคริสต์ศาสนจักรทุกวันนี้?
พระยะโฮวา—พระนามอันโดดเด่นของพระเจ้า! ผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ในกาลโบราณช่างรู้สึกยินดีสักเพียงไรที่ได้กล่าวพยากรณ์ในพระนามของพระองค์! ด้วยความชื่นชมยินดี พวกเขาถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา พระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศร ซึ่งพระนามนี้ชี้ถึงพระองค์ฐานะผู้ทรงมีพระประสงค์องค์ยิ่งใหญ่. (ยะซายา 40:5; ยิระมะยา 10:6, 10; ยะเอศเคล 36:23) แม้แต่บรรดาคนเหล่านั้นที่เรียกกันว่าผู้พยากรณ์น้อย ก็กล่าวออกมาอย่างชัดแจ้งในการถวายพระเกียรติแด่พระยะโฮวา. หนึ่งในผู้พยากรณ์เหล่านี้ได้แก่ฮาฆี. ในพระธรรมฮาฆี ซึ่งมีทั้งหมดเพียง 38 ข้อ มีการใช้พระนามของพระเจ้าถึง 35 ครั้ง. คำพยากรณ์เช่นนี้ดูจะไม่มีชีวิตชีวาเลยเมื่อพระนามยะโฮวาอันมีค่าสูงยิ่งถูกแทนที่ด้วยคำ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งเป็นเพียงตำแหน่ง ดังที่พวกอัครสาวกเขื่อง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรได้ทำเช่นนั้นในคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลต่าง ๆ ของพวกเขา.—เทียบกับ 2 โกรินโธ 11:5.
2, 3. (ก) คำพยากรณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูชาติยิศราเอลสำเร็จเป็นจริงอย่างไร? (ข) ชนที่เหลือชาวยิวและมิตรสหายของพวกเขาร่วมในความยินดีอะไร?
2 ที่ยะซายา 12:2 (ล.ม.) มีการใช้พระนามนั้นสองแบบ.a ผู้พยากรณ์ประกาศดังนี้: “นี่แน่ะ! พระเจ้าเป็นความรอดของข้าพเจ้า. ข้าพเจ้าจะวางใจและไม่หวาดกลัว; เพราะยาห์พระยะโฮวาทรงเป็นกำลังและฤทธิ์เดชของข้าพเจ้า และพระองค์ได้ทรงเป็นความรอดของข้าพเจ้า.” (ดูยะซายา 26:4, ล.ม. ด้วย.) โดยวิธีนี้ ประมาณ 200 ปีก่อนการปลดปล่อยชาติยิศราเอลจากการเป็นเชลยที่บาบูโลน ยาห์พระยะโฮวาทรงรับรองโดยทางยะซายาผู้พยากรณ์ของพระองค์ว่า พระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงฤทธานุภาพยิ่งใหญ่ของพวกเขา. การเป็นเชลยกำหนดจะเริ่มตั้งแต่ปี 607 ไปจนถึงปี 537 ก่อนสากลศักราช. ยะซายายังเขียนด้วยว่า “เราคือยะโฮวา, ผู้ทรงสร้างสารพัตร, . . . ผู้ที่ได้กล่าวถึงท่านโคเรศว่า, ‘เจ้าเป็นผู้เลี้ยงแกะของเรา, ผู้ที่ประกอบกิจตามน้ำใจของเราให้สำเร็จผล’; ผู้ที่จะได้กล่าวถึงกรุงยะรูซาเลมว่า, ‘กรุงจะถูกกู้ขึ้น’, และกล่าวถึงวิหารว่า, ‘รากของเจ้าจะถูกวางขึ้นใหม่.’” ใครคือโคเรศผู้นี้? น่าทึ่งจริง ๆ โคเรศนี้ได้แก่กษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซีย ผู้พิชิตบาบูโลนในปี 539 ก.ส.ศ. นั่นเอง.—ยะซายา 44:24, 28.
3 จริงตามถ้อยแถลงของพระยะโฮวาที่ยะซายาบันทึกไว้ ไซรัสออกราชกฤษฎีกาต่อชนยิศราเอลที่เป็นเชลยดังนี้: “ท่ามกลางคนทั้งปวงมีผู้หนึ่งผู้ใดที่เป็นไพร่พลของพระองค์? ขอพระองค์จงทรงสถิตอยู่ด้วยผู้นั้น, และให้ผู้นั้นขึ้นไปยังกรุงยะรูซาเลม, ณ ประเทศยูดา, และทำการสร้างโบสถ์วิหารของพระยะโฮวาพระเจ้าแห่งพวกยิศราเอล, คือพระองค์ผู้ทรงพระนามปรากฏ ณ กรุงยะรูซาเลม.” ชนที่เหลือชาวยิวผู้มีความสุขอย่างเหลือล้น พร้อมด้วยพวกนะธีนิมที่ไม่ใช่ชาวยิศราเอลและเหล่าบุตรหลานของพวกมหาดเล็กของกษัตริย์ซะโลโม พากันกลับมายังกรุงยะรูซาเลม. พวกเขามาถึงทันเวลาฉลองเทศกาลตั้งทับอาศัยในปี 537 ก.ส.ศ. และถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวาที่แท่นของพระองค์. ในเดือนที่สองของปีต่อมา พวกเขาวางฐานรากของพระวิหารหลังที่สอง ท่ามกลางเสียงโห่ร้องด้วยความยินดีและการสรรเสริญพระยะโฮวา.—เอษรา 1:1-4; 2:1, 2, 43, 55; 3:1-6, 8, 10-13.
4. ยะซายาบท 35 และบท 55 ได้กลายมาเป็นความจริงอย่างไร?
4 คำพยากรณ์ของพระยะโฮวาเรื่องการบูรณะจะต้องได้สำเร็จในชาติยิศราเอลอย่างโดดเด่น: “ป่ารกและที่แห้งแล้งจะยินดี, และป่าทรายจะชื่นชม, จะมีดอกเหมือนกับดอกบัว, . . . และเขาจะเห็นสง่าราศีของพระยะโฮวา, และความงดงามของพระเจ้า.” “เจ้าจะออกไปด้วยความชื่นบาน, และถูกนำไปในสภาพแห่งความสงบสุข; ภูเขาและเนินเขาทั้งหลายจะเปล่งเสียงร้องเพลงตรงหน้าเจ้า . . . และเหตุการณ์นี้จะเป็นอนุสรณ์แก่พระยะโฮวา, และจะเป็นเครื่องหมายถาวรที่จะไม่สาบสูญไปเลย.”—ยะซายา 35:1, 2; 55:12, 13.
5. ทำไมความยินดีของชาติยิศราเอลจึงไม่ยั่งยืนนาน?
5 อย่างไรก็ตาม ความยินดีนั้นไม่ยั่งยืนนาน. ชนในชาติที่อยู่ใกล้เคียงพยายามจะเข้ามาขอเป็นพันธมิตรในทางความเชื่อเพื่อร่วมสร้างพระวิหาร. ทีแรก ชาวยิวยืนกรานไม่ยอม โดยประกาศว่า “พวกเจ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างโบสถ์วิหารถวายแก่พระเจ้าของพวกเราเลย; แต่พวกเรานี้พวกเดียวจะสร้างโบสถ์วิหารถวายแก่พระยะโฮวาพระเจ้าแห่งพวกยิศราเอล, เหมือนโฆเร็ศกษัตริย์ประเทศฟารัศได้รับสั่งอนุญาตแก่พวกเราแล้วนั้น.” ตอนนี้พวกเพื่อนบ้านเหล่านั้นจึงกลายมาเป็นผู้ต่อต้านที่อาฆาตมาดร้าย. พวกเขา “ได้รบกวนขัดขวางคนพวกยะฮูดาในการก่อสร้าง.” พวกเขายังได้รายงานบิดเบือนสถานการณ์ต่อกษัตริย์อะระธาสัศธา ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ของไซรัส ทำให้กษัตริย์ออกคำสั่งห้ามการสร้างพระวิหาร. (เอษรา 4:1-24) งานหยุดไป 17 ปี. น่าเสียดาย ชาวยิวตกสู่วิถีชีวิตนิยมวัตถุในระหว่างช่วงเวลานั้น.
“พระยะโฮวาจอมพลโยธา” ตรัส
6. (ก) พระยะโฮวาทรงปฏิบัติเช่นไรต่อสถานการณ์ในชาติยิศราเอล? (ข) เหตุใดสิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นความหมายของชื่อฮาฆีจึงนับว่าเหมาะสม?
6 ถึงกระนั้น พระยะโฮวาทรงสำแดง ‘กำลังและฤทธิ์เดชของพระองค์’ เพื่อเห็นแก่ชาติยิศราเอล โดยส่งผู้พยากรณ์ให้มาปลุกจิตสำนึกถึงความรับผิดชอบของชาวยิว ที่เด่น ๆ ก็คือผู้พยากรณ์ฮาฆีและซะคาระยา. ชื่อฮาฆีมีความเกี่ยวข้องกับเทศกาล เพราะดูเหมือนชื่อนี้มีความหมายว่า “เกิดในคราวเทศกาล.” นับว่าเหมาะสมทีเดียวที่ท่านเริ่มพยากรณ์วันแรกในเดือนแห่งเทศกาลตั้งทับอาศัย ซึ่งเป็นเวลาที่ชาวยิวถูกกำหนดให้ “มีความยินดีอย่างยิ่ง.” (พระบัญญัติ 16:15) โดยทางฮาฆี พระยะโฮวาทรงส่งข่าวสารสี่เรื่องในช่วงเวลา 112 วัน.—ฮาฆี 1:1; 2:1, 10, 20.
7. ถ้อยคำกล่าวนำของฮาฆีน่าจะกระตุ้นหนุนใจเราอย่างไร?
7 ในการเกริ่นนำคำพยากรณ์ของท่าน ฮาฆีกล่าวว่า “พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสว่าดังนี้.” (ฮาฆี 1:2ก) “พลโยธา” เหล่านี้อาจหมายถึงใคร? พวกเขาคือกองทัพแห่งพวกทูตสวรรค์ของพระยะโฮวา ซึ่งบางครั้งมีการอ้างถึงในคัมภีร์ไบเบิลฐานะเป็นกองกำลังทหาร. (โยบ 1:6; 2:1; บทเพลงสรรเสริญ 103:20, 21; มัดธาย 26:53) นั่นหนุนกำลังใจเราในทุกวันนี้มิใช่หรือว่า พระยะโฮวาพระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศรทรงใช้กองกำลังฝ่ายสวรรค์ที่ไม่มีวันพ่ายแพ้เพื่อชี้นำงานฟื้นฟูการนมัสการแท้บนแผ่นดินโลกนี้?—เทียบกับ 2 กษัตริย์ 6:15-17.
8. ทัศนะเช่นไรซึ่งมีผลกระทบต่อชาติยิศราเอล และพร้อมด้วยผลเป็นอย่างไร?
8 เนื้อหาในข่าวสารแรกของฮาฆีคืออะไร? ประชาชนพากันกล่าวดังนี้: “เวลาที่จะก่อสร้างวิหารของพระยะโฮวาขึ้นนั้น, ยังไม่ถึงกำหนด.” การก่อสร้างพระวิหาร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงการฟื้นฟูการนมัสการพระเจ้า ไม่ได้เป็นความห่วงใยประการแรกของพวกเขาอีกต่อไป. พวกเขาหันไปสร้างบ้านเรือนที่หรูหราโอ่อ่าสำหรับตัวเอง. ทัศนะที่ฝักใฝ่แต่วัตถุได้ทำให้ความกระตือรือร้นของพวกเขาเพื่อการนมัสการพระยะโฮวาเสื่อมถอยไป. ผลคือ พระพรของพระองค์ถูกเพิกถอน. ไร่นาของพวกเขาไม่เกิดผลอุดมอีกต่อไป และพวกเขาขาดแคลนเสื้อผ้าสำหรับช่วงฤดูหนาวอันทารุณ. รายได้ของพวกเขาก็เริ่มไม่เพียงพอ และราวกับว่าพวกเขาใส่เงินลงในถุงที่มีรูพรุน.—ฮาฆี 1:2ข-6.
9. พระยะโฮวาทรงให้คำเตือนสติเช่นไรที่หนักแน่นและเสริมสร้าง?
9 สองครั้งสองครา พระยะโฮวาได้ให้คำเตือนสติที่หนักแน่นโดยบอกว่า “จงพิจารณาแนวทางประพฤติของตน.” ดูเหมือนว่า ซะรุบาเบลผู้ว่าราชการกรุงยะรูซาเลม และยะโฮซูอะมหาปุโรหิตbตอบรับคำเตือนนี้และกระตุ้นใจไพร่พลทั้งสิ้นอย่างกล้าหาญให้ “เชื่อฟังสำเนียงตรัสพระยะโฮวาพระเจ้าของเขา” และ “เชื่อฟังคำของฮาฆีศาสดาพยากรณ์ในฐานที่เป็นผู้รับใช้มาแต่พระยะโฮวาพระเจ้าของเขา, และคนทั้งปวงได้ยำเกรงต่อพระพักตร์พระยะโฮวา.” นอกจากนั้น “ฮาฆีทูตของพระยะโฮวา, ได้เอาข่าวของพระยะโฮวาแจ้งแก่คนทั้งปวงว่า, ‘พระยะโฮวาตรัสว่า “เราอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอ.”’”—ฮาฆี 1:5, 7-14.
10. พระยะโฮวาทรงใช้อำนาจของพระองค์เพื่อประโยชน์ของยิศราเอลอย่างไร?
10 คนเก่าคนแก่บางคนในกรุงยะรูซาเลมอาจคิดว่า สง่าราศีของพระวิหารที่สร้างใหม่นี้คงจะ “ไม่มีอะไร” เทียบได้กับวิหารหลังเดิม. อย่างไรก็ดี ประมาณ 51 วันให้หลัง พระยะโฮวากระตุ้นฮาฆีให้ประกาศข่าวสารที่สอง. ท่านประกาศดังนี้: “พระยะโฮวาตรัสว่า, ‘ดูก่อนซะรุบาเบล, บัดนี้เจ้าจงแข็งข้อขึ้นเถอะ, ยะโฮซูอะบุตรยะโฮซาดัก ปุโรหิตใหญ่, เจ้าจงตั้งข้อให้แข็งขึ้นเถอะ’ พระยะโฮวาตรัสว่า, ‘บรรดาเจ้า, ชาวเมืองทั้งหมด, เจ้าจงทำการก่อสร้างเถอะ, เพราะเราอยู่กับเจ้า.’ พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัส . . . ‘อย่าได้กลัวเลย.’” พระยะโฮวา ผู้ทรงใช้อำนาจยิ่งใหญ่ของพระองค์ในเวลาอันควรเพื่อจะ ‘จับนภาลัยและพิภพเขย่าให้หวั่นไหว’ ทรงจัดการเพื่อว่า การต่อต้านทั้งปวง แม้แต่คำสั่งห้ามของจักรพรรดิ จะถูกพิชิต. ภายในเวลาห้าปี การสร้างพระวิหารก็สำเร็จเสร็จสิ้นอย่างยิ่งใหญ่.—ฮาฆี 2:3-6.
11. พระเจ้าทรงทำให้พระวิหารหลังที่สองเต็มไปด้วย ‘สง่าราศีที่ยิ่งใหญ่กว่า’ อย่างไร?
11 ในตอนนั้น คำสัญญาที่น่าพิศวงก็สำเร็จเป็นจริงที่ว่า “‘สิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวงจะต้องเข้ามา; และเราจะทำให้นิเวศนี้เต็มไปด้วยสง่าราศี’ พระยะโฮวาแห่งพลโยธาได้ตรัส.” (ฮาฆี 2:7, ล.ม.) “สิ่งน่าปรารถนา” เหล่านั้นได้แก่ ชนที่ไม่ใช่ชาติยิศราเอลซึ่งได้มานมัสการที่พระวิหารนั้น เพราะพระวิหารสะท้อนสง่าราศีแห่งการประทับอันยิ่งใหญ่และน่าเกรงขามของพระองค์. พระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่นี้เมื่อเทียบกับหลังที่สร้างในสมัยซะโลโมแล้วเป็นเช่นไร? ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าประกาศดังนี้: “‘สง่าราศีของนิเวศหลังใหม่นี้จะยิ่งกว่าหลังเดิม’ พระยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายได้ตรัส.” (ฮาฆี 2:9, ล.ม.) ในความสำเร็จเป็นจริงขั้นแรกของคำพยากรณ์นี้ พระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่นี้คงอยู่ยาวนานกว่าหลังแรก. พระวิหารนี้ยังคงตั้งอยู่เมื่อพระมาซีฮามาปรากฏในปีสากลศักราช 29. ยิ่งกว่านั้น ก่อนที่พวกศัตรูผู้ออกหากจะสังหารพระองค์ในปีสากลศักราช 33 พระมาซีฮาเองได้นำสง่าราศีมาสู่พระวิหารนี้ เมื่อพระองค์ประกาศความจริงที่นั่น.
12. พระวิหารสองหลังแรกถูกใช้ด้วยจุดประสงค์อันใด?
12 พระวิหารหลังแรกและหลังที่สองในกรุงยะรูซาเลมมีบทบาทพิเศษในการแสดงภาพล่วงหน้าถึงลักษณะสำคัญ ๆ ของการรับใช้ของพระมาซีฮาฐานะปุโรหิต และในการรักษาการนมัสการอันบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาให้ดำเนินไปบนแผ่นดินโลกนี้จนกระทั่งพระมาซีฮามาปรากฏจริง ๆ.—เฮ็บราย 10:1.
วิหารฝ่ายวิญญาณอันเปี่ยมด้วยสง่าราศี
13. (ก) เหตุการณ์อะไรที่เกี่ยวข้องกับวิหารฝ่ายวิญญาณเกิดขึ้นนับจากปีสากลสักราช 29 ถึง 33? (ข) เครื่องบูชาค่าไถ่ของพระเยซูมีบทบาทสำคัญอะไรในเหตุการณ์เหล่านี้?
13 คำพยากรณ์เรื่องการบูรณะของฮาฆีมีความหมายพิเศษสำหรับสมัยหลังจากนั้นไหม? มีแน่นอน! พระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ในกรุงยะรูซาเลมกลายเป็นจุดศูนย์รวมของการนมัสการแท้ทั้งสิ้นบนแผ่นดินโลกนี้. แต่พระวิหารนี้เป็นภาพเล็งถึงวิหารฝ่ายวิญญาณที่มีสง่าราศีกว่ามาก. วิหารฝ่ายวิญญาณนี้เริ่มดำเนินงานในปีสากลศักราช 29 เมื่อพระยะโฮวาทรงแต่งตั้งพระเยซูเป็นมหาปุโรหิตในคราวที่พระองค์รับบัพติสมาที่แม่น้ำยาระเดน และพระวิญญาณบริสุทธิ์เทลงบนพระองค์สัณฐานดุจนกพิราบ. (มัดธาย 3:16) หลังจากพระเยซูเสร็จสิ้นงานรับใช้ทางภาคแผ่นดินโลกนี้โดยการวายพระชนม์เป็นค่าไถ่ พระองค์ได้รับการปลุกคืนสู่ชีวิตทางภาคสวรรค์ ซึ่งห้องบริสุทธิ์ที่สุดของพระวิหารเล็งถึง และที่นั่นพระองค์เสนอคุณค่าแห่งเครื่องบูชาของพระองค์แด่พระยะโฮวา. คุณค่าแห่งเครื่องบูชานี้ใช้เป็นค่าไถ่ เพื่อคลุมทับบาปของสาวกของพระองค์ และเปิดทางไว้สำหรับการเจิมพวกเขาเป็นรองปุโรหิตในวิหารฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวาในวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33. งานรับใช้ที่ซื่อสัตย์ตราบวันตายของพวกเขาในลานพระวิหารบนแผ่นดินโลกนี้จะนำไปสู่การกลับเป็นขึ้นจากตายสู่ชีวิตทางภาคสวรรค์ในอนาคต เพื่อรับใช้ต่อไปฐานะปุโรหิต.
14. (ก) ความยินดีเช่นไรที่มีควบคู่ไปกับกิจกรรมของประชาคมคริสเตียนในยุคแรกที่เปี่ยมด้วยความกระตือรือร้น? (ข) เหตุใดความยินดีนี้จึงมีอยู่ไม่นาน?
14 ชาวยิวที่กลับใจหลายพันคน—และในเวลาต่อมาก็มีคนต่างชาติด้วย—เข้ามาสมทบกับประชาคมคริสเตียนนั้น และมีส่วนร่วมในการประกาศข่าวดีเรื่องการปกครองแผ่นดินโลกโดยราชอาณาจักรของพระเจ้าที่กำลังจะมาถึง. ประมาณ 30 ปีผ่านไป อัครสาวกเปาโลสามารถรายงานได้ว่า ข่าวดีได้รับการประกาศแล้ว “แก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.” (โกโลซาย 1:23) แต่ภายหลังเมื่อพวกอัครสาวกเสียชีวิตกันหมดแล้ว การออกหากครั้งใหญ่เริ่มมีขึ้น และแสงแห่งความจริงเริ่มริบหรี่. ศาสนาคริสเตียนแท้ถูกบดบังจากลัทธิที่แตกเป็นนิกายต่าง ๆ ของคริสต์ศาสนจักร โดยตั้งอยู่บนฐานของคำสอนนอกรีตและปรัชญาต่าง ๆ.—กิจการ 20:29, 30.
15, 16. (ก) คำพยากรณ์สำเร็จเป็นจริงอย่างไรในปี 1914? (ข) การรวบรวมอะไรที่มีการแสดงให้เห็นในตอนท้ายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20?
15 หลายศตวรรษผ่านไป. จนมาถึงทศวรรษ 1870 คริสเตียนที่จริงใจกลุ่มหนึ่งเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างลึกซึ้ง. จากพระคัมภีร์ พวกเขาสามารถระบุปี 1914 ว่าเป็นจุดสิ้นสุด “เวลากำหนดของคนต่างประเทศ.” ณ เวลานั้น เจ็ด “วาระ” โดยนัย (2,520 ปีแห่งการปกครองเยี่ยงสัตว์ร้ายของมนุษย์) สิ้นสุดลงพร้อมกับการขึ้นครองราชย์ทางภาคสวรรค์ของพระเยซูคริสต์—ผู้ “มีสิทธิ์อันชอบธรรม” ฐานะกษัตริย์มาซีฮาแห่งแผ่นดินโลก. (ลูกา 21:24; ดานิเอล 4:25, ฉบับแปลใหม่; ยะเอศเคล 21:26, 27, ฉบับแปลใหม่) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับจากปี 1919 เป็นต้นมา นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักในนามพยานพระยะโฮวา ได้เข้าร่วมอย่างขยันขันแข็งในงานเผยแพร่ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรที่เพิ่งเริ่มต้นไปทั่วแผ่นดินโลก. ในปี 1919 มีไม่กี่พันคนจากคนเหล่านี้ที่ตอบรับการเรียกให้ลงมือปฏิบัติซึ่งออกมาในคราวการประชุมภาคที่ซีดาร์พอยต์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา. พวกเขาเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี 1935 ก็มี 56,153 คนรายงานการรับใช้เผยแพร่. ในปีนั้นมี 52,465 คนรับประทานขนมปังและเหล้าองุ่นอันเป็นเครื่องหมายในการประชุมอนุสรณ์ประจำปีระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซู โดยวิธีนี้ เป็นสัญลักษณ์ถึงความหวังของพวกเขาที่จะร่วมเป็นปุโรหิตกับพระเยซูคริสต์ในวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาส่วนที่อยู่ในสวรรค์. พวกเขาจะรับใช้ฐานะเป็นกษัตริย์ร่วมกันกับพระองค์ในราชอาณาจักรมาซีฮาด้วย.—ลูกา 22:29, 30; โรม 8:15-17.
16 อย่างไรก็ตาม วิวรณ์ 7:4-8 และ 14:1-4 แสดงให้เห็นว่า จำนวนทั้งสิ้นของคริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านี้จำกัดไว้เพียง 144,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีหลายคนเป็นผู้ที่ถูกรวบรวมเข้ามาในช่วงสมัยศตวรรษแรกก่อนการออกหากครั้งใหญ่เริ่มต้น. นับตั้งแต่ท้าย ๆ ศตวรรษที่ 19 และจนถึงในศตวรรษที่ 20 นี้ พระยะโฮวากำลังรวบรวมคนกลุ่มนี้ให้ครบจำนวน ซึ่งคนเหล่านี้ได้รับการชำระให้สะอาดด้วยน้ำแห่งพระคำของพระองค์, ได้รับการประกาศว่าชอบธรรมโดยอาศัยความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่บาปของพระเยซู, และสุดท้ายก็ได้รับการประทับตราฐานะเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิมเพื่อประกอบกันขึ้นเป็นจำนวนที่ครบถ้วนคือ 144,000 คน.
17. (ก) การรวบรวมอะไรที่ได้มีการดำเนินการนับตั้งแต่ทศวรรษ 1930? (ข) เหตุใดโยฮัน 3:30 จึงน่าสนใจในเรื่องนี้? (โปรดดูลูกา 7:28 ด้วย.)
17 มีอะไรตามมาเมื่อจำนวนทั้งสิ้นของชนผู้ถูกเจิมที่ถูกเลือกสรรครบถ้วนแล้ว? ในปี 1935 ณ การประชุมภาคที่เป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ที่วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา มีการแจ้งให้ทราบว่า “ชนฝูงใหญ่” แห่งวิวรณ์ 7:9-17 เป็นกลุ่มที่จะได้รับการสังเกตเห็น “ภายหลัง” ชน 144,000 คน และมีความหวังในบั้นปลายคือการได้รับชีวิตนิรันดร์ในแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. หลังจากระบุตัวพระเยซูอย่างชัดเจนฐานะผู้ถูกเจิม โยฮันผู้ให้บัพติสมาซึ่งจะได้รับการปลุกให้กลับเป็นขึ้นจากตายบนแผ่นดินโลกนี้ฐานะคนหนึ่งในชนจำพวก “แกะอื่น” กล่าวถึงพระมาซีฮาว่า “ผู้นั้นจะต้องเพิ่มพูนขึ้น แต่ข้าพเจ้าจะต้องลดน้อยลงเรื่อย ๆ.” (โยฮัน 1:29; 3:30, ล.ม.; 10:16; มัดธาย 11:11) งานของโยฮันในการเตรียมสาวกให้พร้อมรับพระมาซีฮากำลังจะยุติลง ในขณะที่พระเยซูทรงรับหน้าที่รับผิดชอบในการเลือกคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะมาอยู่ในหมู่ชน 144,000 คน. ในช่วงทศวรรษ 1930 กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม. จำนวนคนที่ “ถูกเรียกและเลือก” ให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มชน 144,000 คนมีน้อยลง ขณะที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างใหญ่โตในจำนวนของ “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น.” ชนฝูงใหญ่นี้เริ่มขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ระบบชั่วของโลกใกล้จุดอวสาน ณ อาร์มาเก็ดดอน.—วิวรณ์ 17:14ข, ล.ม.
18. (ก) เหตุใดเราสามารถคาดหมายได้ด้วยความมั่นใจว่า “หลายล้านคนที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้จะไม่ตายเลย”? (ข) ทำไมเราควรเอาใจใส่อย่างกระตือรือร้นต่อถ้อยคำในฮาฆี 2:4?
18 ในช่วงแรกของทศวรรษ 1920 คำบรรยายพิเศษสำหรับสาธารณชนที่พยานพระยะโฮวาจัดให้มีขึ้นมีชื่อเรื่องว่า “หลายล้านคนที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้จะไม่ตายเลย.” คำพูดนี้อาจส่อให้เห็นการมองในแง่ดีมากเกินไปอยู่บ้างสำหรับเวลานั้น. แต่ในทุกวันนี้ สามารถกล่าวคำพูดนั้นได้ด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมทีเดียว. แสงสว่างที่เพิ่มขึ้นทั้งในเรื่องคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลและสภาพที่สับสนวุ่นวายของโลกนี้ที่กำลังจะพินาศบ่งบอกอย่างหนักแน่นว่า อวสานแห่งระบบของซาตานกำลังใกล้เข้ามาอย่างแท้จริง! รายงานการประชุมอนุสรณ์ประจำปี 1996 แสดงว่ามีผู้เข้าร่วมถึง 12,921,933 คน โดยที่มีเพียง 8,757 คน (.068 เปอร์เซ็นต์) ที่แสดงตัวว่ามีความหวังฝ่ายสวรรค์โดยการรับเครื่องหมาย. การฟื้นฟูการนมัสการแท้ใกล้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์. แต่ขอเราอย่าหย่อนมือลงในงานนั้น. ถูกแล้ว ฮาฆี 2:4 (ฉบับแปลใหม่) บอกว่า “ราษฎรทั้งสิ้นเอ๋ย จงกล้าหาญเถิด พระเจ้าตรัสดังนี้แหละพระเจ้าจอมโยธาตรัสว่า จงทำงานเถิดเพราะเราอยู่กับเจ้า.” ขอให้เราปลงใจแน่วแน่ว่า ไม่ว่าจะเป็นความกดดันแห่งวัตถุนิยมหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดในทางโลกนี้ก็ไม่มีทางทำให้ความกระตือรือร้นของเราเพื่อการงานของพระยะโฮวาเสื่อมถอยไป!—1 โยฮัน 2:15-17.
19. เราอาจมีส่วนร่วมในความสำเร็จเป็นจริงของฮาฆี 2:6, 7 ได้โดยวิธีใด?
19 เรายินดีในสิทธิพิเศษที่ได้ร่วมในความสำเร็จเป็นจริงในสมัยปัจจุบันตามฮาฆี 2:6, 7 (ล.ม.) ที่ว่า “นี่คือคำตรัสของพระยะโฮวาแห่งพลโยธา ‘อีกครั้งหนึ่ง—อีกสักประเดี๋ยว—แล้วเราจะเขย่าฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกและทะเลและพื้นดินแห้ง. และเราจะเขย่าชาติทั้งปวง และสิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวงจะต้องเข้ามา; และเราจะทำให้นิเวศนี้เต็มไปด้วยสง่าราศี’ พระยะโฮวาแห่งพลโยธาได้ตรัส.” ความโลภ, การทุจริตเสื่อมทราม, และความเกลียดชังกำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกตลอดศตวรรษที่ 20 นี้. โลกนี้กำลังอยู่ในสมัยสุดท้ายจริง ๆ และพระยะโฮวาทรงเริ่ม “เขย่า” โลกนี้แล้ว โดยให้เหล่าพยานของพระองค์ ‘ประกาศวันแห่งการแก้แค้นของพระองค์.’ (ยะซายา 61:2) การเขย่าในขั้นต้นนี้จะถึงจุดสุดยอดด้วยการทำลายล้างโลกชั่วนี้ ณ อาร์มาเก็ดดอน แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น พระยะโฮวาทรงรวบรวมคนที่จะมารับใช้พระองค์ซึ่งเป็น “สิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวง” นั่นคือ ประชาชนแห่งแผ่นดินโลกนี้ที่อ่อนน้อมและมีลักษณะเยี่ยงแกะ. (โยฮัน 6:44) “ชนฝูงใหญ่” กลุ่มนี้ปัจจุบันกำลัง “ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์” ณ ลานพระวิหารแห่งการนมัสการของพระองค์บนแผ่นดินโลกนี้.—วิวรณ์ 7:9, 15, ล.ม.
20. ทรัพย์อันมีค่าที่สุดจะพบได้ที่ไหน?
20 การรับใช้ในพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวานำมาซึ่งผลประโยชน์อันล้ำค่ายิ่งกว่าทรัพย์ใด ๆ ที่เป็นวัตถุ. (สุภาษิต 2:1-6; 3:13, 14; มัดธาย 6:19-21) นอกจากนั้น ฮาฆี 2:9 (ล.ม.) กล่าวว่า “‘สง่าราศีของนิเวศหลังใหม่นี้จะยิ่งกว่าหลังเดิม’ พระยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายได้ตรัส. ‘และในสถานแห่งนี้เราจะประทานสันติสุข’ นี่คือคำตรัสของพระยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลาย.” ถ้อยคำเหล่านี้มีความหมายเช่นไรสำหรับเราในปัจจุบัน? บทความถัดไปจะอธิบายเรื่องนี้.
[เชิงอรรถ]
a วลี “ยาห์พระยะโฮวา” ใช้เพื่อเน้นเป็นพิเศษ. โปรดดูการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ เล่ม 1 หน้า 1248.
b ในฉบับแปลใหม่ ชื่อนี้ที่ปรากฏในพระธรรมฮาฆี (ฮักกัย) คือโยชูอา ส่วนในพระธรรมเอษราและพระธรรมเล่มอื่น ๆ ใช้ชื่อเยชูอา.
คำถามสำหรับทบทวน
▫ ตัวอย่างอะไรของผู้พยากรณ์ที่เราควรเอาอย่างเกี่ยวข้องกับพระนามของพระยะโฮวา?
▫ เราได้รับการหนุนใจเช่นไรจากข่าวสารอันทรงพลังของพระยะโฮวาที่มีไปยังชาติยิศราเอลที่ได้รับการฟื้นฟู?
▫ วิหารฝ่ายวิญญาณซึ่งเปี่ยมด้วยสง่าราศีที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันคือวิหารอะไร?
▫ การรวบรวมอะไรที่มีการดำเนินการตามลำดับในระหว่างศตวรรษที่ 19 และ 20 พร้อมด้วยมีความคาดหมายที่ยิ่งใหญ่อะไร?
[รูปภาพหน้า 7]
กองกำลังฝ่ายสวรรค์ของพระยะโฮวาชี้นำและค้ำจุนเหล่าพยานของพระองค์บนแผ่นดินโลก