เอปาฟรัศ—“ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระคริสต์”
ใครได้วางฐานรากประชาคมคริสเตียนในเมืองต่าง ๆ เช่น โกรินโธ, เอเฟโซ, และฟิลิปปอย? บางทีคุณอาจตอบโดยไม่ลังเลว่า ‘เปาโล ผู้เป็น “อัครสาวกไปยังชาติต่าง ๆ.”’ (โรม 11:13, ล.ม.) คำตอบของคุณจะถูกต้อง.
แต่ใครล่ะได้ก่อตั้งประชาคมต่าง ๆ ในเมืองโกโลซาย, เมืองฮิราโปลี, และเมืองละโอดีไกอะ? แม้เราไม่แน่ใจนัก แต่อาจเป็นคนที่ชื่อเอปาฟรัศ. ถึงอย่างไร บางทีคุณคงอยากรู้เรื่องราวของผู้เผยแพร่ข่าวดีคนนี้มากขึ้น เนื่องจากเขาได้ชื่อว่าเป็น “ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระคริสต์.”—โกโลซาย 1:7, ล.ม.
ผู้เผยแพร่ข่าวดีแห่งลุ่มแม่น้ำลึคุส
เอปาฟรัศเป็นชื่อย่อจากเอปาฟะโรดีโต. แต่เอปาฟรัศผู้นี้ไม่ใช่คนเดียวกันกับเอปาฟะโรดีโตจากฟิลิปปอย. เอปาฟรัศมาจากเมืองโกโลซาย หนึ่งในจำนวนสามประชาคมคริสเตียนอันเป็นศูนย์กลางแถบลุ่มแม่น้ำลึคุสแห่งเอเชียไมเนอร์. เมืองโกโลซายอยู่ห่างจากเมืองละโอดีไกอะเพียง 18 กิโลเมตร และไกลจากเมืองฮิราโปลีในมณฑลฟรูเกียโบราณ 19 กิโลเมตร.
คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ชี้ชัดว่าข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าไปถึงมณฑลฟรูเกียได้อย่างไร. อย่างไรก็ตาม ในวันเพนเตคอสเตสากลศักราช 33 นั้น ชาวฟรูเกียได้มาประชุมที่กรุงยะรูซาเลมด้วย อาจมีบางคนในพวกนี้มาจากเมืองโกโลซายก็เป็นได้. (กิจการ 2:1, 5, 10) ในช่วงที่เปาโลปฏิบัติงานรับใช้ในเมืองเอเฟโซ (ราว ๆ ส.ศ. 52 ถึง 55) การให้คำพยาน ณ ดินแดนแถบนั้นเป็นไปอย่างแข็งขันและบังเกิดผล ถึงขนาดไม่เฉพาะชาวเอเฟโซเท่านั้น แต่ “ชาวมณฑลอาเซียทั้งชาติยูดายและชาติเฮเลนได้ยินพระคำของพระผู้เป็นเจ้า” เช่นกัน. (กิจการ 19:10) ดูเหมือนว่าเปาโลไม่ได้ประกาศข่าวดีทั่วแถบลุ่มแม่น้ำลึคุส เพราะหลายคนที่ได้เข้ามาเป็นคริสเตียนในดินแดนนั้นไม่เคยพบเห็นท่าน.—โกโลซาย 2:1.
ตามการบอกเล่าของเปาโล คนที่ได้สั่งสอนชาวโกโลซายให้รู้ถึง ‘พระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าในความจริงนั้นคือเอปาฟรัศ’ ข้อเท็จจริงที่ว่า เปาโลเรียกเพื่อนร่วมงานคนนี้เป็น “ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระคริสต์เพื่อประโยชน์ของเรา” บ่งชี้ว่าเอปาฟรัศเป็นผู้เผยแพร่ข่าวดีที่แข็งขันในภูมิภาคนั้น.—โกโลซาย 1:6, 7, ล.ม.
ทั้งอัครสาวกเปาโลและเอปาฟรัศผู้เผยแพร่ข่าวดีต่างคนก็รู้สึกห่วงใยสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของบรรดาเพื่อนร่วมความเชื่อ ณ แถบลุ่มแม่น้ำลึคุสเป็นอย่างมาก. ในฐานะเป็น “อัครสาวกไปยังชาติต่าง ๆ” เปาโลคงต้องปลาบปลื้มเมื่อได้ยินข่าวเรื่องความก้าวหน้าของพวกเขา. อันที่จริง จากเอปาฟรัศนี่แหละที่เปาโลได้ข่าวเกี่ยวกับสภาพฝ่ายวิญญาณของชาวโกโลซาย.”—โกโลซาย 1:4, 8.
รายงานจากเอปาฟรัศ
ชาวโกโลซายเผชิญปัญหาที่ร้ายแรงมากถึงกับขอร้องเอปาฟรัศเดินทางไกลไปโรมเพื่อจะได้ปรึกษาหารือกับเปาโลเป็นการเฉพาะ. ดูเหมือนว่ารายงานอย่างละเอียดของเอปาฟรัศนี่เองกระตุ้นเปาโลให้เขียนจดหมายสองฉบับถึงพี่น้องเหล่านั้นซึ่งท่านไม่รู้จัก. ฉบับหนึ่งถึงประชาคมโกโลซาย. อีกฉบับหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าไม่มีการเก็บรักษาได้ส่งไปยังละโอดีไกอะ. (โกโลซาย 4:16) ฉะนั้น นับว่าสมเหตุสมผลที่จะคิดว่าข้อความในจดหมายเหล่านั้นเขียนเพื่อตอบสนองความจำเป็นของคริสเตียนเหล่านั้นตามที่เอปาฟรัศเข้าใจ. เขาเห็นถึงความจำเป็นอะไรบ้าง? และเรื่องนี้บอกอะไรแก่เราเกี่ยวกับบุคลิกภาพของเขา?
จดหมายที่ส่งไปยังชาวโกโลซายดูเหมือนบ่งชี้ว่า เอปาฟรัศเป็นห่วงกังวลว่าคริสเตียนในเมืองโกโลซายจะได้รับอันตรายจากปรัชญานอกรีต ซึ่งหมายรวมถึงลัทธิถือสันโดษ, ลัทธิผีปิศาจ, และการถือโชคลางอันเป็นการไหว้รูปเคารพ. ยิ่งกว่านั้น คำสอนของพวกยิวว่าด้วยเรื่องการงดเว้นอาหารและการถือวันใดวันหนึ่งโดยเฉพาะอาจเป็นพลังโน้มน้าวสมาชิกบางคนของประชาคมก็ได้.—โกโลซาย 2:4, 8, 16, 20-23.
ข้อเท็จจริงที่เปาโลเขียนเรื่องเหล่านี้แสดงให้เราเห็นว่าเอปาฟรัศตื่นตัวและมีความรู้สึกไวต่อความจำเป็นของบรรดาเพื่อนคริสเตียนเพียงไร. เขาแสดงความห่วงใยรักใคร่ต่อสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของเพื่อนคริสเตียน ตระหนักถึงภยันตรายต่าง ๆ ของสภาพแวดล้อมซึ่งเพื่อนคริสเตียนอาศัยอยู่. เอปาฟรัศได้แสวงหาคำแนะนำจากเปาโล และข้อนี้เผยให้เห็นว่าเขาเป็นคนถ่อม. บางทีเขาอาจรู้สึกว่าจำเป็นต้องรับคำแนะนำจากใครสักคนที่มีประสบการณ์มากกว่า. ไม่ว่ากรณีใด เอปาฟรัศได้ปฏิบัติอย่างสุขุม.—สุภาษิต 15:22.
บุคคลผู้เห็นความสำคัญของการอธิษฐาน
ในตอนท้ายจดหมายซึ่งท่านส่งไปถึงคริสเตียนชาวโกโลซาย เปาโลพูดดังนี้: “เอปาฟรัศ, ผู้เป็นคนหนึ่งในพวกท่าน และเป็นคนรับใช้ของพระเยซูคริสต์, ฝากคำคำนับมายังท่านทั้งหลาย. เขาสู้อธิษฐานเผื่อท่านทั้งหลายอยู่เสมอ, หวังจะให้ท่านทั้งหลายยั่งยืนจนถึงที่สำเร็จและบริบูรณ์ในการซึ่งชอบพระทัยพระเจ้าทุกสิ่ง. ด้วยข้าพเจ้าเป็นพยานฝ่ายเขาว่า, เขาใส่ใจในการงานมากเพื่อท่านทั้งหลาย, และเพื่อคนเหล่านั้นที่อยู่ในเมืองละโอดีไกอะ, และเพื่อเขาที่อยู่ในเมืองฮิราโปลี.”—โกโลซาย 4:12, 13.
ใช่แล้ว ถึงแม้เอปาฟรัศเป็น “ผู้ถูกจำจอง” กับเปาโลที่กรุงโรม เขาก็ยังคิดถึงพวกพี่น้องที่รักของเขาในเมืองโกโลซาย, เมืองละโอดีไกอะ, และเมืองฮิราโปลี และได้อธิษฐานเผื่อคนเหล่านั้นด้วย. (ฟิเลโมน 23) ตามตัวอักษรแล้ว ‘เขาได้มุมานะ’ เพื่อพวกเขาด้วยการอธิษฐาน. ตามคำกล่าวของ ดี. เอดมอนด์ ไฮเบิร์ต ผู้คงแก่เรียน คำภาษากรีกที่นำมาใช้ในข้อนี้บ่งบอกถึง “กิจการที่ทำด้วยความอุตสาหะและเสียสละอย่างยิ่ง” ทำนองคล้ายกันกับ “ความปวดร้าว” ทางอารมณ์ที่พระเยซูคริสต์ประสบเมื่อพระองค์ได้ทูลอธิษฐานในสวนเฆ็ธเซมาเน. (ลูกา 22:44, ล.ม.) เอปาฟรัศมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าอยากจะเห็นพี่น้องฝ่ายวิญญาณของเขาทั้งชายและหญิงบรรลุความมั่นคงและความอาวุโสฝ่ายคริสเตียนอย่างเต็มที่. คงต้องเป็นพระพรอย่างแท้จริงแก่ประชาคมต่าง ๆ ที่มีพี่น้องชายผู้มีน้ำใจฝักใฝ่ทางฝ่ายวิญญาณเช่นนั้น!
เนื่องจากเอปาฟรัศมีฉายาว่า “เพื่อนทาสที่รัก” จึงไม่มีข้อสงสัยว่าเขาได้ประพฤติตนเป็นที่รักใคร่ของบรรดาเพื่อนคริสเตียนด้วยกัน. (โกโลซาย 1:7, ล.ม.) เมื่อสภาพการณ์เอื้ออำนวย สมาชิกทุกคนในประชาคมควรแสดงน้ำใจเอื้ออารีอย่างอบอุ่นและด้วยความรักอย่างไม่อั้น. ตัวอย่างเช่น อาจให้การเอาใจใส่ช่วยเหลือคนเจ็บป่วย, คนสูงอายุ, หรือคนอื่นที่มีความจำเป็นพิเศษทางใดทางหนึ่ง. อาจมีหน้าที่รับผิดชอบหลากหลายในประชาคมซึ่งควรต้องใส่ใจดูแล หรืออาจเป็นไปได้ที่จะบริจาคเพื่อโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ตามระบอบของพระเจ้า.
การอธิษฐานเผื่อผู้อื่นอย่างที่เอปาฟรัศได้ทำก็เป็นรูปแบบหนึ่งเกี่ยวด้วยการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทุกคนสามารถทำได้. การอธิษฐานเช่นนั้นอาจรวมไปถึงคำพูดแสดงความห่วงใยบรรดาผู้นมัสการพระยะโฮวาซึ่งต้องเผชิญอันตรายหรืออุปสรรคหลายรูปแบบทางฝ่ายวิญญาณหรือทางกายภาพ. โดยการบากบั่นทุ่มเทตัวเองเต็มที่ในแนวนี้ เราจะเป็นเช่นเอปาฟรัศได้. พวกเราแต่ละคนอาจมีสิทธิพิเศษและประสบความชื่นชมยินดีเนื่องจากได้พิสูจน์ตนเป็น “เพื่อนทาสที่รัก” ในครอบครัวของพระยะโฮวาซึ่งประกอบด้วยผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์.