รับใช้อย่างภักดีร่วมกับองค์การของพระยะโฮวา
“พระองค์จะทรงปฏิบัติด้วยความภักดีต่อผู้ที่ภักดี.”—2 ซามูเอล 22:26, ล.ม.
1, 2. มีตัวอย่างอะไรบ้างเรื่องความภักดีที่เราทุกคนอาจเห็นได้ในประชาคม?
ดึกแล้วขณะที่ผู้ปกครองคนหนึ่งเตรียมคำบรรยายสำหรับการประชุมคริสเตียน. เขาคงอยากหยุดและพักผ่อน; แต่แทนที่จะทำดังนั้น เขาเตรียมคำบรรยายต่อไป หาตัวอย่างและอุทาหรณ์ในพระคัมภีร์ที่จะเข้าถึงหัวใจและหนุนกำลังใจฝูงแกะ. เย็นวันที่มีการประชุม บิดามารดาคู่หนึ่งที่เหนื่อยล้าซึ่งอยู่ในประชาคมเดียวกันคงอยากใช้เวลาเย็นนั้นอยู่กับบ้านเต็มที; แทนที่จะทำดังกล่าว ด้วยความอดทนทั้งสองเตรียมลูก ๆ ให้พร้อมและไปยังการประชุม. หลังการประชุม คริสเตียนกลุ่มหนึ่งคุยกันถึงคำบรรยายของผู้ปกครอง. พี่น้องหญิงคนหนึ่งรู้สึกยากจะหักห้ามใจที่จะไม่เอ่ยขึ้นมาว่าพี่น้องคนนี้ครั้งหนึ่งเคยทำให้เธอเจ็บช้ำน้ำใจ; แทนที่จะทำอย่างนั้น เธอพูดอย่างกระตือรือร้นถึงจุดหนึ่งที่เขาได้บรรยาย. คุณเห็นแนวคิดเดียวกันในเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไหม?
2 แนวคิดนั้นคือเรื่องความภักดี. ผู้ปกครองทำหน้าที่อย่างภักดีเพื่อรับใช้ฝูงแกะของพระเจ้า; บิดามารดาเข้าร่วมการประชุมอย่างภักดี; พี่น้องหญิงสนับสนุนผู้ปกครองอย่างภักดี. (เฮ็บราย 10:24, 25; 13:17; 1 เปโตร 5:2) ใช่แล้ว ในทุกแง่มุมของชีวิต เราเห็นไพร่พลพระเจ้าแน่วแน่ในการรับใช้อย่างภักดีร่วมกับองค์การของพระยะโฮวา.
3. เหตุใดจึงสำคัญมากที่เราจะรักษาตัวภักดีต่อองค์การทางแผ่นดินโลกของพระยะโฮวา?
3 เมื่อพระยะโฮวาทรงทอดพระเนตรดูโลกที่เสื่อมทรามนี้ พระองค์ทรงเห็นความภักดีน้อยจริง ๆ. (มีคา 7:2, ล.ม.) พระทัยของพระองค์คงรู้สึกยินดีสักเพียงไรเมื่อพระองค์ทรงสังเกตเห็นความภักดีของไพร่พลพระองค์! ถูกแล้ว ความภักดีของคุณเองทำให้พระองค์เบิกบาน. อย่างไรก็ตาม ความภักดีทำให้ซาตานผู้ริเริ่มการกบฏนั้นโกรธ และพิสูจน์ว่ามันเป็นผู้มุสา. (สุภาษิต 27:11; โยฮัน 8:44) คุณคาดหมายได้เลยว่า ซาตานจะพยายามบ่อนทำลายความภักดีที่คุณมีต่อพระยะโฮวาและองค์การทางแผ่นดินโลกของพระองค์. ให้เราพิจารณาบางวิธีซึ่งซาตานใช้เพื่อทำเช่นนี้. ทั้งนี้คงทำให้เห็นได้ชัดขึ้นถึงวิธีที่เราสามารถรักษาตัวภักดีจนถึงที่สุด.—2 โกรินโธ 2:11.
การเพ่งเล็งข้อบกพร่องอาจเซาะกร่อนความภักดี
4. (ก) เพราะเหตุใดจึงง่ายที่จะมีทัศนะเชิงลบต่อคนที่มีอำนาจ? (ข) โคราแสดงอย่างไรว่าเขาไม่ภักดีต่อองค์การของพระยะโฮวา?
4 เมื่อพี่น้องชายอยู่ในตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบ ข้อบกพร่องของเขาอาจเห็นได้ชัดขึ้น. ง่ายสักเพียงใดที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ‘ผงที่อยู่ในตาพี่น้องของเรา แต่ไม่สนใจไม้ทั้งท่อนในตาของตัวเอง’! (มัดธาย 7:1-5) กระนั้น การเพ่งเล็งแต่ความผิดพลาดอาจก่อความไม่ภักดีขึ้นได้. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาความแตกต่างระหว่างโครากับดาวิด. โคราแบกหน้าที่รับผิดชอบมาก และเขาคงได้ภักดีมาเป็นเวลาหลายปี แต่เขาเริ่มทะเยอทะยาน. เขาเกิดความไม่พอใจในอำนาจของโมเซและอาโรนซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของเขา. แม้โมเซเป็นคนอ่อนน้อมที่สุด พอจะเห็นได้ว่าโคราเริ่มมองท่านด้วยสายตาจ้องจับผิด. เขาคงเห็นข้อผิดพลาดบางประการของโมเซ. อย่างไรก็ตาม ข้อผิดพลาดเหล่านั้นมิได้ทำให้ความไม่ภักดีของโคราต่อองค์การของพระยะโฮวากลายเป็นเรื่องถูกต้อง. เขาถูกทำลายจากท่ามกลางประชาคม.—อาฤธโม 12:3; 16:11, 31-33.
5. เหตุใดดาวิดอาจรู้สึกถูกล่อใจให้กบฏต่อซาอูล?
5 ในทางตรงข้าม ดาวิดเป็นทหารภายใต้การนำของกษัตริย์ซาอูล. ซาอูลซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นกษัตริย์ที่ดีได้กลับกลายเป็นกษัตริย์ที่ชั่วร้าย. ดาวิดจำต้องมีความเชื่อ, ความอดทน, ตลอดจนมีไหวพริบเพื่อเอาตัวรอดจากการประทุษร้ายด้วยความอิจฉาของซาอูล. กระนั้น เมื่อดาวิดมีโอกาสจะแก้แค้น ท่านกล่าวว่าเป็น ‘เรื่องเหลือคิด จากทัศนะของพระยะโฮวา’ ที่ท่านจะกระทำการอย่างไม่ภักดีต่อผู้ที่พระยะโฮวาได้เจิมไว้.—1 ซามูเอล 26:11.
6. แม้ว่าเราอาจสังเกตเห็นข้ออ่อนแอและข้อผิดพลาดของผู้ปกครอง เราไม่ควรทำอะไรโดยเด็ดขาด?
6 เมื่อบางคนที่นำหน้าในหมู่พวกเราดูเหมือนว่าตัดสินผิดพลาด, ใช้ถ้อยคำที่เกรี้ยวกราด, หรือดูเหมือนแสดงฉันทาคติ เราจะบ่นไหมในเรื่องคนเหล่านี้ ซึ่งการบ่นนั้นอาจมีส่วนก่อให้เกิดน้ำใจวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในประชาคม? เราจะเลิกไปประชุมคริสเตียนเพื่อเป็นการประท้วงไหม? ไม่อย่างแน่นอน! เช่นเดียวกับดาวิด เราจะไม่ยอมให้ความผิดพลาดของผู้อื่นมีอิทธิพลทำให้เราไม่ภักดีต่อพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์!—บทเพลงสรรเสริญ 119:165.
7. มีการปฏิบัติอันเสื่อมทรามเช่นไรซึ่งเกี่ยวข้องกับพระวิหารในกรุงยะรูซาเลม และพระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรต่อเรื่องนี้?
7 ตัวอย่างยอดเยี่ยมที่สุดในเรื่องความภักดีของมนุษย์ได้แก่พระเยซูคริสต์ ผู้ได้รับการพรรณนาถึงในคำพยากรณ์ว่าเป็น “ผู้ภักดี” ของพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 16:10, ล.ม.) การใช้พระวิหารในกรุงยะรูซาเลมอย่างผิด ๆ และอย่างเสื่อมเสียย่อมทำให้เกิดข้อท้าทายขึ้นในเรื่องความภักดี. พระเยซูทรงทราบว่างานของมหาปุโรหิตและเครื่องบูชาเป็นภาพเล็งถึงการรับใช้ของพระองค์เองและการวายพระชนม์เป็นเครื่องบูชา รวมทั้งทราบว่าเป็นเรื่องสำคัญสักเพียงไรที่ประชาชนจะต้องเรียนจากสิ่งเหล่านี้. ดังนั้น พระองค์มีสิทธิโดยชอบธรรมที่ทรงขุ่นเคืองอย่างยิ่งเมื่อเห็นพระวิหารได้กลายเป็น “ถ้ำของพวกโจร.” ด้วยอำนาจที่พระเจ้าประทานให้ พระองค์ทรงดำเนินการเพื่อชำระพระวิหารให้สะอาดถึงสองครั้งสองครา.a—มัดธาย 21:12, 13; โยฮัน 2:15-17.
8. (ก) พระเยซูทรงแสดงความภักดีอย่างไรต่อการจัดเตรียมเกี่ยวกับพระวิหาร? (ข) เราสามารถแสดงได้โดยวิธีใดว่าเราหยั่งรู้ค่าการนมัสการพระยะโฮวาร่วมกับองค์การที่สะอาดของพระองค์?
8 พระเยซูทรงสนับสนุนการจัดเตรียมเกี่ยวกับพระวิหารอย่างภักดี. ตั้งแต่สมัยเด็ก พระองค์เข้าร่วมเทศกาลต่าง ๆ ที่พระวิหารและทรงสอนที่นั่นบ่อยครั้ง. พระองค์ถึงกับได้จ่ายภาษีบำรุงพระวิหาร แม้ว่าที่จริงพระองค์ไม่มีพันธะต้องทำดังนั้น. (มัดธาย 17:24-27) พระเยซูทรงชมเชยหญิงม่ายยากจนที่ได้ใส่ ‘เงินทั้งหมดที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตของตน’ ในตู้เก็บเงินถวายของพระวิหาร. ไม่นานหลังจากนั้น พระยะโฮวาทรงปฏิเสธพระวิหารนี้อย่างถาวร. แต่จวบจนถึงเวลานั้น พระเยซูทรงภักดีต่อพระวิหารนี้. (มาระโก 12:41-44; มัดธาย 23:38) องค์การทางแผ่นดินโลกของพระเจ้าในทุกวันนี้เหนือกว่าระบบยิวพร้อมด้วยพระวิหารของพวกเขามากนัก. ก็ต้องยอมรับว่าองค์การนี้ไม่สมบูรณ์; นั่นเป็นเหตุที่มีการปรับเปลี่ยนเป็นครั้งคราว. แต่องค์การนี้ไม่เปรอะไปด้วยความเสื่อมทราม และพระยะโฮวาพระเจ้าก็จะไม่เปลี่ยนไปจากองค์การนี้ด้วย. เราไม่ควรปล่อยให้ข้อบกพร่องใด ๆ ภายในองค์การซึ่งเราสังเกตเห็นทำให้เรารู้สึกขมขื่น หรือกระตุ้นให้เรารับเอาน้ำใจในแง่ลบที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ให้เราเลียนแบบความภักดีของพระเยซูคริสต์.—1 เปโตร 2:21.
ข้อบกพร่องของเราเอง
9, 10. (ก) ระบบของซาตานฉวยประโยชน์จากข้อบกพร่องของเราอย่างไรเพื่อลวงเราให้หลงประพฤติอย่างไม่ภักดี? (ข) คนที่ทำบาปร้ายแรงควรทำเช่นไร?
9 ซาตานยังพยายามด้วยที่จะส่งเสริมความไม่ภักดีโดยใช้ข้อบกพร่องของเราเพื่อวัตถุประสงค์ของมัน. ระบบของมันฉวยประโยชน์จากความอ่อนแอของเรา ลวงเราให้ทำสิ่งที่ผิดในสายพระเนตรพระยะโฮวา. น่าเศร้า ทุกปีมีหลายพันคนพ่ายแพ้และทำผิดศีลธรรม. บางคนเพิ่มความไม่ภักดีหนักเข้าไปอีกโดยการตีสองหน้า ดำเนินในแนวทางผิดต่อไปขณะที่แสร้งว่ายังเป็นคริสเตียนที่ซื่อสัตย์อยู่. ในการตอบรับต่อบทความที่พิจารณาเรื่องนี้ในบทความชุด “หนุ่มสาวถามว่า . . . ” ในวารสาร ตื่นเถิด! สตรีสาวคนหนึ่งเขียนมาดังนี้: “บทความเหล่านี้เป็นเรื่องราวชีวิตของดิฉันเอง.” โดยปิดเป็นความลับ เธอปลูกฝังมิตรภาพกับเยาวชนที่ไม่มีความรักต่อพระยะโฮวา. ผลน่ะหรือ? เธอเขียนดังนี้: “ชีวิตดิฉันจมดิ่งสู่สภาพตกต่ำ และดิฉันเข้าไปพัวพันกับการผิดศีลธรรมและต้องถูกว่ากล่าว. สัมพันธภาพของดิฉันกับพระยะโฮวาได้รับความเสียหาย และความไว้วางใจที่ได้จากบิดามารดาของดิฉันและเหล่าผู้ปกครองสูญสิ้นไปหมด.”b
10 สตรีสาวคนนี้ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ปกครองและกลับมารับใช้พระยะโฮวาอย่างภักดี. กระนั้น น่าเสียดายที่หลายคนพบกับผลที่เลวร้ายกว่า และบางคนไม่หวนคืนสู่ประชาคมอีกเลย. ดีกว่าสักเพียงไรที่จะภักดีและต้านทานการล่อใจในโลกชั่วนี้! จงเอาใจใส่คำเตือนจากหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ในเรื่องอย่างเช่น การคบหากับชาวโลกและการบันเทิงที่เสื่อมเสีย. ขอคุณระวังเสมออย่าได้พลาดพลั้งสู่การกระทำที่ไม่ภักดี. แต่หากคุณพลาดไป อย่าทำเป็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น. (บทเพลงสรรเสริญ 26:4) แทนที่จะทำเช่นนั้น จงขอความช่วยเหลือ. บิดามารดาคริสเตียนและผู้ปกครองมีหน้าที่จะให้การช่วยเหลือ.—ยาโกโบ 5:14.
11. เหตุใดนับว่าผิดที่จะมองตัวเราเองว่าชั่วจนหมดทางแก้ไข และตัวอย่างอะไรในคัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยแก้ไขทัศนะของเรา?
11 ข้อบกพร่องของเราอาจก่ออันตรายแก่เราในทางอื่นอีก. บางคนที่ประพฤติอย่างไม่ภักดีได้เลิกความพยายามที่จะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย. จำไว้ว่าดาวิดทำบาปที่ร้ายแรงมาก. กระนั้น ดาวิดเสียชีวิตไปตั้งนานแล้วพระยะโฮวาก็ยังระลึกถึงท่านฐานะผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์. (เฮ็บราย 11:32; 12:1) เพราะเหตุใด? เพราะท่านไม่ได้เลิกล้มความพยายามที่จะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย. สุภาษิต 24:16 กล่าวดังนี้: “แม้ว่าคนชอบธรรมล้มลงถึงเจ็ดหนเขาคงลุกขึ้นได้อีก.” แน่นอน หากเราตกเข้าสู่บาปที่ไม่ร้ายแรง—ซ้ำแล้วซ้ำอีก—เนื่องจากความอ่อนแอบางประการที่เรากำลังพยายามเอาชนะอยู่ เราอาจยังคงชอบธรรมในสายพระเนตรพระยะโฮวา หากเรา “ลุกขึ้น” อยู่เรื่อยไป—กล่าวคือ กลับใจอย่างแท้จริงและดำเนินต่อไปในแนวทางการรับใช้ที่ภักดี.—เทียบกับ 2 โกรินโธ 2:7.
จงระวังความไม่ภักดีในลักษณะที่เห็นได้ยาก!
12. ในกรณีของพวกฟาริซาย ทัศนะซึ่งถือตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัดนำไปสู่ความไม่ภักดีอย่างไร?
12 ยังมีความไม่ภักดีในบางลักษณะด้วยซึ่งเห็นได้ยากกว่า. อาจถึงกับปรากฏภายนอกเป็นความภักดีเสียด้วยซ้ำ! ตัวอย่างเช่น พวกฟาริซายในสมัยพระเยซูคงคิดว่าตัวเองนั้นเด่นในเรื่องความภักดี.c แต่พวกเขาพลาดไปโดยมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการภักดีกับการยึดติดกับกฎที่มนุษย์ตั้งขึ้นมา เพราะพวกเขาเคร่งจัดและตัดสินผู้อื่นอย่างเข้มงวด. (เทียบกับท่านผู้ประกาศ 7:16.) ด้วยการทำเช่นนี้ ที่แท้แล้วพวกเขาไม่ได้ภักดี—ต่อประชาชนที่พวกเขาควรรับใช้, ต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระบัญญัติซึ่งพวกเขาอ้างว่าเป็นผู้สอน, และที่สำคัญไม่ภักดีต่อพระยะโฮวา. ในทางตรงกันข้าม พระเยซูทรงภักดีต่อเจตนารมณ์ ของพระบัญญัติ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความรัก. โดยวิธีนี้ พระองค์ทรงเสริมสร้างและหนุนกำลังใจประชาชน ดังที่คำพยากรณ์เกี่ยวกับมาซีฮาบอกไว้ล่วงหน้าเช่นนั้น.—ยะซายา 42:3; 50:4; 61:1, 2.
13. (ก) บิดามารดาคริสเตียนอาจไม่ภักดีอย่างไร? (ข) เหตุใดบิดามารดาจึงควรหลีกเลี่ยงการเข้มงวดเกินไป, ชอบตำหนิติเตียน, หรือตีสอนลูก ๆ อย่างไม่ถูกต้อง?
13 คริสเตียนที่ได้รับอำนาจในระดับหนึ่งได้รับประโยชน์อย่างมากจากแบบอย่างของพระเยซูในเรื่องนี้. ตัวอย่างเช่น บิดามารดาที่ภักดีทราบว่าพวกเขาต้องตีสอนบุตรของตน. (สุภาษิต 13:24) กระนั้น พวกเขาพยายามทำในแบบที่ไม่ทำให้เด็ก ๆ ขัดเคืองใจด้วยการตีสอนอย่างรุนแรงด้วยความโมโห หรือจ้ำจี้จ้ำไชด้วยคำตำหนิอยู่ตลอด. เด็ก ๆ ที่รู้สึกว่าเขาไม่เคยทำให้พ่อแม่พอใจได้เลย หรือที่รู้สึกว่าการนมัสการของพ่อแม่ดูเหมือนมีแต่ทำให้ท่านชอบจับผิดและชอบตำหนิติเตียน อาจกลายเป็นคนซึมเศร้า และลงท้ายก็ออกจากความเชื่อแท้ไป.—โกโลซาย 3:21.
14. คริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยงอาจแสดงให้เห็นได้โดยวิธีใดว่าเขาภักดีต่อฝูงแกะที่ตนรับใช้อยู่?
14 ในลักษณะเดียวกัน คริสเตียนผู้ปกครองและผู้ดูแลเดินทางเอาใจใส่ต่อปัญหาและอันตรายที่ฝูงแกะเผชิญ. ฐานะผู้เลี้ยงแกะที่ภักดี พวกเขาให้คำแนะนำเมื่อจำเป็น ตรวจให้แน่ใจว่าตนมีข้อเท็จจริงทั้งหมดเสียก่อน และระมัดระวังสิ่งที่ตนพูดโดยอาศัยคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือของสมาคม. (บทเพลงสรรเสริญ 119:105; สุภาษิต 18:13) พวกเขาทราบด้วยว่าแกะหมายพึ่งจะได้การเสริมสร้างและการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณจากตน. ดังนั้น พวกเขาพยายามเลียนแบบพระเยซูคริสต์ผู้บำรุงเลี้ยงองค์ยอดเยี่ยม. พวกเขารับใช้ฝูงแกะอย่างภักดีสัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่าในรายการประชุมคริสเตียน—ไม่ใช่ทำให้ฝูงแกะหดหู่ แต่ตรงกันข้าม เสริมสร้างพวกเขาขึ้นและเสริมความเชื่อของพวกเขาให้เข้มแข็ง.—มัดธาย 20:28; เอเฟโซ 4:11, 12; เฮ็บราย 13:20, 21.
15. บางคนในศตวรรษแรกแสดงอย่างไรว่าพวกเขาภักดีไม่ถูกทาง?
15 ความไม่ภักดีในลักษณะที่เห็นได้ยากอีกแบบหนึ่งคือความภักดีไม่ถูกทาง. ความภักดีที่แท้จริงในความหมายตามคัมภีร์ไบเบิลไม่อนุญาตให้เราแสดงความจงรักภักดีต่อสิ่งอื่นใดขึ้นหน้าความภักดีของเราต่อพระยะโฮวาพระเจ้า. ชาวยิวหลายคนในศตวรรษแรกยึดติดกับบัญญัติโมเซและระบบของยิวอย่างเหนียวแน่น. อย่างไรก็ตาม เวลาของพระยะโฮวาได้มาถึงในการริบเอาพระพรของพระองค์ไปเสียจากชาติที่กบฏนั้นและมอบให้แก่ชาติยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ. มีค่อนข้างน้อยที่ภักดีต่อพระยะโฮวาและปรับเข้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้. แม้แต่ในหมู่คริสเตียนแท้ ผู้สนับสนุนธรรมเนียมยิวบางคนยืนกรานจะกลับไปหา “โลกธรรมอันอ่อนแอและอนาถา” แห่งบัญญัติโมเซ ซึ่งได้ถึงที่สำเร็จในพระคริสต์แล้ว.—ฆะลาเตีย 4:9; 5:6-12; ฟิลิปปอย 3:2, 3.
16. ผู้รับใช้ที่ภักดีของพระยะโฮวาตอบรับอย่างไรต่อการปรับเปลี่ยน?
16 ในทางตรงกันข้าม ไพร่พลพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบันได้พิสูจน์ตัวภักดีตลอดช่วงต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลง. เนื่องจากแสงสว่างแห่งความจริงที่ได้รับการเปิดเผยจ้าขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนบางอย่าง. (สุภาษิต 4:18) เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ได้ช่วยปรับความเข้าใจของเราให้ชัดขึ้นเกี่ยวกับคำ “ชั่วอายุ” ซึ่งปรากฏที่มัดธาย 24:34 และเกี่ยวกับกำหนดเวลาของการพิพากษา “แกะ” และ “แพะ” ตามที่กล่าวถึงในมัดธาย 25:31-46 รวมทั้งในเรื่องทัศนะของเราต่อการรับราชการพลเรือนบางประเภท. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้ออกหากบางคนคงรู้สึกยินดีหากพยานพระยะโฮวาหลายคนยึดติดอยู่กับความเข้าใจที่เคยมีในเรื่องเหล่านั้นอย่างไม่ยืดหยุ่นและไม่ยอมก้าวไปข้างหน้า. ไม่เป็นอย่างที่ได้กล่าวไป. เพราะเหตุใด? ไพร่พลพระยะโฮวาเป็นผู้ภักดี.
17. ในบางครั้งผู้เป็นที่รักของเราอาจทำให้ความภักดีของเราถูกทดสอบอย่างไร?
17 อย่างไรก็ตาม เรื่องความภักดีไม่ถูกทางอาจมีผลกระทบเราเป็นส่วนตัว. เมื่อเพื่อนที่เรารักหรือแม้แต่สมาชิกครอบครัวเลือกแนวทางฝ่าฝืนหลักการคัมภีร์ไบเบิล เราอาจรู้สึกว่าเราถูกฉุดดึงจากความภักดีสองแบบ. เป็นธรรมดาที่เรารู้สึกภักดีต่อสมาชิกครอบครัว. แต่เราไม่ควรปล่อยให้ตัวเองแสดงความจงรักภักดีต่อสมาชิกครอบครัวขึ้นหน้าความภักดีที่เรามีต่อพระยะโฮวา! (เทียบกับ 1 ซามูเอล 23:16-18.) เราคงไม่ช่วยผู้ทำผิดปกปิดบาปร้ายแรง หรือเข้าข้างเขาต่อต้านผู้ปกครองซึ่งพยายาม ‘ปรับเขาให้เข้าที่ด้วยน้ำใจอ่อนโยน.’ (ฆะลาเตีย 6:1, ล.ม.) การทำดังกล่าวย่อมเป็นการแสดงความไม่ภักดีต่อพระยะโฮวา, องค์การของพระองค์, และผู้เป็นที่รัก. ที่แท้แล้ว การปกป้องผู้ทำผิดไม่ให้รับเอาการตีสอนซึ่งเขาจำเป็นต้องได้รับ ย่อมยังผลเป็นการขัดขวางทำให้เขาไม่ได้รับการช่วยเหลือด้วยความรักของพระยะโฮวา. (เฮ็บราย 12:5-7) จำไว้ด้วยว่า “บาดแผลที่ผู้เป็นที่รักทำแก่เรานั้นเป็นการสุจริต.” (สุภาษิต 27:6, ล.ม.) คำแนะนำอันเปี่ยมด้วยความรักและตรงไปตรงมาซึ่งอาศัยพระคำของพระเจ้าอาจทำให้เกิดบาดแผลแก่ความหยิ่งในศักดิ์ศรีของผู้เป็นที่รักที่พลาดผิด แต่ในที่สุดอาจกลายเป็นการช่วยชีวิตเขา!
ภักดีเสมอแม้เผชิญการกดขี่ข่มเหง
18, 19. (ก) อาฮาบต้องการอะไรจากนาโบธ และเหตุใดนาโบธไม่ยอมให้? (ข) ความภักดีของนาโบธคุ้มค่าสิ่งที่ต้องเสียไปไหม? จงอธิบาย.
18 บางครั้งซาตานโจมตีความภักดีของเราโดยตรง. ขอพิจารณากรณีของนาโบธ. เมื่อกษัตริย์อาฮาบกดดันเขาให้ขายสวนองุ่นของตน เขาตอบดังนี้: “ขอพระยะโฮวาทรงห้ามข้าพเจ้า, อย่าให้ขายสวนมรดกซึ่งได้รับจากปู่ย่าตายายให้แก่พระองค์.” (1 กษัตริย์ 21:3) นาโบธไม่ใช่คนรั้น; เขาเป็นคนภักดี. บัญญัติโมเซห้ามชาวยิศราเอลขายที่ดินในกรรมสิทธิ์อันเป็นมรดกตกทอดอย่างที่ไม่มีโอกาสไถ่คืน. (เลวีติโก 25:23-28) นาโบธคงทราบดีว่ากษัตริย์ชั่วองค์นี้อาจฆ่าเขา เพราะอาฮาบปล่อยให้มเหสีอีซาเบลฆ่าผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวาไปแล้วมากมาย! กระนั้น นาโบธยืนหยัดมั่นคง.—1 กษัตริย์ 18:4.
19 บางครั้งต้องเสียสละบางสิ่งเพื่อรักษาความภักดี. อีซาเบลใช้ “คนเลว” ให้ปรักปรำนาโบธในความผิดซึ่งเขามิได้กระทำ. ผลคือ ตัวเขาและลูกชายถูกประหาร. (1 กษัตริย์ 21:7-16; 2 กษัตริย์ 9:26) นั่นหมายความว่าความภักดีของนาโบธเป็นความผิดพลาดไหม? ไม่เลย! นาโบธเป็นคนหนึ่งในหมู่ชายหญิงที่ภักดีซึ่ง “เป็นอยู่” ในความทรงจำของพระยะโฮวาอยู่ในขณะนี้ นอนหลับอย่างปลอดภัยอยู่ในหลุมฝังศพจนกว่าจะถึงเวลาปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย.—ลูกา 20:38; กิจการ 24:15.
20. ความหวังสามารถช่วยเราให้รักษาความภักดีได้อย่างไร?
20 คำสัญญาเดียวกันนี้ให้คำรับรองแก่ผู้ภักดีของพระยะโฮวาในทุกวันนี้. เราทราบว่าความภักดีของเราอาจทำให้เราต้องเสียสละบางสิ่งที่มีค่ามากในโลกนี้. พระเยซูคริสต์ทรงจ่ายสำหรับความภักดีของพระองค์ด้วยชีวิตพระองค์เอง และทรงบอกผู้ติดตามพระองค์ว่าพวกเขาก็จะถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายพอ ๆ กัน. (โยฮัน 15:20) เช่นเดียวกับที่ความหวังในอนาคตค้ำจุนพระองค์ เราก็ได้รับการค้ำจุนเช่นนั้นจากความหวังของเราด้วย. (เฮ็บราย 12:2) โดยวิธีนี้ เราสามารถรักษาความภักดีไม่ว่าเผชิญการข่มเหงแบบใดก็ตาม.
21. พระยะโฮวาทรงให้คำรับรองอะไรแก่ผู้ภักดีต่อพระองค์?
21 จริงอยู่ พวกเราทุกวันนี้ที่ถูกโจมตีโดยตรงเพื่อทดสอบความภักดีมีจำนวนค่อนข้างน้อย. แต่ไพร่พลพระเจ้าอาจเผชิญการกดขี่มากขึ้นก่อนอวสานจะมา. เราสามารถมั่นใจได้โดยวิธีใดว่าจะรักษาความภักดีของเราไว้ได้? ก็โดยการรักษาความภักดีของเราในเวลานี้. พระยะโฮวาได้ทรงประทานหน้าที่มอบหมายอันยิ่งใหญ่แก่เรา นั่นคือการประกาศและสั่งสอนเรื่องราชอาณาจักรของพระองค์. ให้เราทำงานที่สำคัญนี้ต่อ ๆ ไปอย่างภักดี. (1 โกรินโธ 15:58) หากเราไม่ยอมให้ข้อบกพร่องของมนุษย์เซาะกร่อนความภักดีของเราที่มีต่อองค์การของพระยะโฮวา และหากเราระวังตัวเอาไว้จากความไม่ภักดีในลักษณะที่เห็นได้ยาก อย่างเช่นความภักดีไม่ถูกทาง เราจะอยู่พร้อมมากขึ้นเมื่อเกิดการทดสอบความภักดีที่หนักกว่า. ไม่ว่ากรณีใด เราอาจมั่นใจได้เสมอว่าพระยะโฮวาทรงภักดีอย่างแน่นอนต่อผู้รับใช้ที่ภักดีต่อพระองค์. (2 ซามูเอล 22:26) ใช่แล้ว พระองค์จะทรงคุ้มครองผู้ที่ภักดีต่อพระองค์!—บทเพลงสรรเสริญ 97:10.
[เชิงอรรถ]
a นับว่าพระเยซูทรงกล้าหาญทีเดียวในการเล่นงานกลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจการค้าที่ทำกำไรงามเช่นนั้น. ตามที่นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งกล่าวไว้ ภาษีบำรุงพระวิหารต้องจ่ายเป็นเหรียญยิวโบราณที่กำหนดเอาไว้อย่างเดียวเท่านั้น. ผู้มาเยือนพระวิหารหลายคนจึงต้องแลกเงินของตนเพื่อจะจ่ายภาษีนั้น. คนแลกเงินได้รับอนุญาตให้คิดค่าบริการสำหรับการแลก และโดยวิธีนี้จึงทำเงินได้มากมาย.
b ดู ตื่นเถิด! 8 มกราคม 1994; 8 มกราคม 1994 (ภาษาอังกฤษ); 8 มีนาคม 1994.
c กลุ่มของพวกเขาสืบต่อมาจากพวกฮาซิดิม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นหลายศตวรรษก่อนหน้านั้นเพื่อต่อสู้อิทธิพลของพวกกรีก. พวกฮาซิดิมตั้งชื่อของตนจากคำภาษาฮีบรูชาซิดิม ซึ่งหมายถึง “ผู้ภักดี” หรือ “ผู้มีศรัทธาแก่กล้า.” บางทีพวกเขาอาจคิดว่าข้อพระคัมภีร์ซึ่งกล่าวถึง “ผู้ภักดี” ของพระยะโฮวาใช้หมายถึงพวกเขาในแนวทางพิเศษบางอย่าง. (บทเพลงสรรเสริญ 50:5, ล.ม.) คนเหล่านี้และพวกฟาริซายซึ่งเกิดขึ้นหลังพวกเขา เป็นกลุ่มที่ตั้งตัวเองเป็นผู้ปกป้องอักขระแห่งพระบัญญัติอย่างบ้าคลั่ง.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เราจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไรจากการปล่อยให้ข้อบกพร่องของผู้อื่นชักนำให้เราไม่ภักดี?
▫ ข้อบกพร่องของเราเองอาจชักนำเราสู่การประพฤติที่ไม่ภักดีได้ในทางใดบ้าง?
▫ เราสามารถต้านทานแนวโน้มที่จะแสดงความภักดีไม่ถูกทางได้อย่างไร?
▫ อะไรจะช่วยเราให้รักษาความภักดีแม้ในยามถูกกดขี่ข่มเหง?
[กรอบหน้า 9]
รับใช้อย่างภักดีที่เบเธล
“ให้ทุกสิ่งดำเนินไปอย่างที่ถูกที่ควรและโดยจัดระเบียบ.” อัครสาวกเปาโลเขียนไว้เช่นนั้น. (1 โกรินโธ 14:40, ล.ม.) เปาโลทราบว่าเพื่อประชาคมจะดำเนินงานได้ จำต้องมีการ “จัดระเบียบ” หรือองค์การ. เช่นเดียวกันในทุกวันนี้ ผู้ปกครองทั้งหลายต้องตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในทางปฏิบัติ เช่น การมอบหมายสมาชิกประชาคมให้ร่วมในกลุ่มศึกษาหนังสือประจำประชาคมในที่ต่าง ๆ, จัดการประชุมเพื่อการออกประกาศ, และตรวจสอบการทำงานให้ครอบคลุมเขตที่มีอยู่. บางครั้ง การจัดเตรียมเช่นนั้นอาจทำให้เกิดการทดสอบความภักดีขึ้น. การจัดเตรียมเหล่านี้ไม่ใช่พระบัญชาที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า และไม่อาจจะตรงกับความเห็นชอบของทุก ๆ คนได้.
บางครั้งบางคราวคุณพบว่าเป็นเรื่องท้าทายไหมที่จะภักดีต่อการจัดเตรียมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ที่จัดให้มีขึ้นในประชาคมคริสเตียน? หากเป็นเช่นนั้น ตัวอย่างของเบเธลอาจเป็นประโยชน์สำหรับคุณ. ชื่อเบเธลซึ่งเป็นคำภาษาฮีบรูที่มีความหมายว่า “นิเวศของพระเจ้า” เป็นชื่อของสาขาของสมาคมว็อชเทาเวอร์ทั้งหมด 104 สาขา รวมทั้งสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐด้วย.* อาสาสมัครที่อาศัยและทำงานที่อาคารต่าง ๆ ของเบเธลปรารถนาให้สถานที่เหล่านี้สะท้อนซึ่งความนับถือและความเกรงขามต่อพระยะโฮวา. เรื่องนี้เรียกร้องความภักดีในส่วนของแต่ละคน.
ผู้เยี่ยมชมเบเธลมักออกปากชมเกี่ยวกับความเป็นระเบียบและความสะอาดที่พวกเขาเห็นที่นั่น. คนทำงานมีระเบียบและมีความสุข; คำพูดและกิริยามารยาท และแม้แต่การปรากฏตัวของพวกเขาสะท้อนถึงสติรู้สึกผิดชอบแบบคริสเตียนที่อาวุโสซึ่งได้รับการฝึกฝนจากคัมภีร์ไบเบิล. สมาชิกทุกคนของครอบครัวเบเธลยึดมั่นอย่างภักดีต่อมาตรฐานแห่งพระคำของพระเจ้า.
นอกจากนี้ คณะกรรมการปกครองยังได้จัดเตรียมคู่มือให้พวกเขาซึ่งมีชื่อว่า การอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี ซึ่งชี้แจงด้วยความกรุณาถึงการจัดเตรียมที่ใช้ได้จริงบางอย่างซึ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวที่มีขนาดใหญ่เช่นนั้นจะทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี. (บทเพลงสรรเสริญ 133:1) ตัวอย่างเช่น คู่มือนี้พูดถึงการอยู่ในห้อง, อาหาร, สุขอนามัย, การแต่งกายและการประดับตัว, และเรื่องอื่นในทำนองนี้. สมาชิกครอบครัวเบเธลส่งเสริมและยึดมั่นอย่างภักดีต่อการจัดเตรียมเช่นนั้น แม้แต่เมื่อความชอบส่วนตัวของตนอาจไปอีกทางหนึ่ง. พวกเขาไม่ได้มองดูคู่มือนี้ว่าเป็นกฎและระเบียบที่เข้มงวดจนเกินไป แต่เป็นชุดคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความเป็นเอกภาพและความสมัครสมานสามัคคี. เหล่าผู้ดูแลภักดีในการส่งเสริมการทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งใช้คัมภีร์ไบเบิลเป็นพื้นฐาน และพวกเขาใช้ขั้นตอนเหล่านี้ในทางเสริมเพื่อก่อร่างสร้างและหนุนกำลังใจครอบครัวเบเธลให้จดจ่ออยู่กับการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ที่เบเธล.
* โรงงาน, สำนักงาน, และอาคารที่พักไม่ใช่ส่วนประกอบของพระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่หรือนิเวศของพระเจ้า. พระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าเป็นการจัดเตรียมของพระองค์เพื่อการนมัสการที่บริสุทธิ์. (มีคา 4:1) ด้วยบทบาทเฉพาะเช่นนั้น พระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าจึงไม่ถูกจำกัดด้วยโครงสร้างทางกายภาพบนแผ่นดินโลก.
[กรอบหน้า 10]
ผู้ภักดีและนักถือตัวบทกฎหมาย
ย้อนไปในปี 1916 สารานุกรมศาสนาและจริยธรรม (ภาษาอังกฤษ) ให้ข้อสังเกตว่า “ความแตกต่างระหว่างผู้ภักดีกับนักถือตัวบทกฎหมายอาจพบได้ทุกที่ทุกเวลา.” สารานุกรมนี้อธิบายว่า “นักถือตัวบทกฎหมายทำตามสิ่งที่มีบอกไว้ให้เขาทำ ไม่มีการฝ่าฝืนกฎ; เขายึดมั่นอย่างซื่อสัตย์ต่อถ้อยคำที่มีจารึกไว้และอ่านได้. ส่วนผู้ภักดีนั้นก็ทำอย่างเดียวกัน แต่สามารถ . . . ไว้ใจได้ว่าเขาจะทำมากกว่านั้น ทุ่มเทใจทั้งหมดให้ในหน้าที่ของเขา สร้างเจตคติของตนสอดประสานกับความหมายที่แท้จริงแห่งวัตถุประสงค์ของสิ่งที่ต้องทำ.” ในส่วนถัดมา สารานุกรมนี้ให้ข้อสังเกตอีกว่า “การแสดงความภักดีไม่ได้เป็นเพียงการยึดมั่นในกฎหมาย. . . . คนที่ภักดีแตกต่างจากคนที่ยึดมั่นในกฎหมายตรงที่เขารับใช้ด้วยสิ้นสุดหัวใจและจิตใจ . . . เขาไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองทำบาปอย่างจงใจ, โดยการละเลยสิ่งที่ควรทำ, หรือการไม่สนใจเรียนรู้.”