ความเชื่อกระตุ้นเราให้ลงมือปฏิบัติ!
“ท่านเห็นว่า ความเชื่อของ [อับราฮาม] ร่วมประสานกับการกระทำของท่านและการกระทำของท่านทำให้ความเชื่อของท่านสมบูรณ์.”—ยาโกโบ 2:22, ล.ม.
1, 2. เราจะปฏิบัติอย่างไรหากเรามีความเชื่อ?
หลายคนกล่าวว่า เขามีความเชื่อในพระเจ้า. กระนั้นก็ตาม ความเชื่อที่เป็นเพียงคำกล่าวอ้างก็ไร้ชีวิตดั่งเช่นซากศพ. สาวกยาโกโบเขียนดังนี้: “ความเชื่อก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีการกระทำ ก็ตายอยู่ในตัวแล้ว.” ท่านยังกล่าวด้วยว่า อับราฮามผู้ยำเกรงพระเจ้ามีความเชื่อที่ “ร่วมประสานกับการกระทำของท่าน.” (ยาโกโบ 2:17, 22, ล.ม.) คำพูดดังกล่าวมีนัยสำคัญเช่นไรสำหรับเรา?
2 หากเรามีความเชื่อแท้ เราจะไม่เพียงแต่เชื่อในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังที่การประชุมคริสเตียน. เราจะให้หลักฐานเกี่ยวกับความเชื่อเนื่องด้วยการที่เราเป็นพยานพระยะโฮวาที่เอาการเอางาน. ใช่ ความเชื่อจะกระตุ้นเราให้ใช้พระคำของพระเจ้าในชีวิตและกระตุ้นเราให้ลงมือปฏิบัติ.
การทำอย่างเห็นแก่หน้าไม่สอดคล้องกับความเชื่อ
3, 4. ความเชื่อควรมีผลกระทบวิธีที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร?
3 หากเรามีความเชื่อแท้ในพระเจ้าและพระคริสต์ เราจะไม่เลือกที่รักมักที่ชัง. (ยาโกโบ 2:1-4, ล.ม.) บางคนที่ยาโกโบเขียนไปถึงไม่ได้แสดงความไม่ลำเอียงซึ่งเป็นคุณสมบัติที่คริสเตียนแท้จำเป็นต้องมี. (โรม 2:11) ฉะนั้น ยาโกโบถามดังนี้: “ท่านทั้งหลายมิยึดเอาความเชื่อขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราคือพระเยซูคริสต์ สง่าราศีของเรา ด้วยการกระทำที่เห็นแก่หน้าหรือ?” หากมีผู้ไม่เชื่อที่ร่ำรวยสวมแหวนทองคำและใส่เสื้อผ้างามหรูมายังการประชุม เช่นเดียวกับผู้ไม่เชื่อที่เป็น “คนจนคนหนึ่งแต่งตัวสกปรก” ทั้งสองควรได้รับการต้อนรับอย่างดี แต่กระนั้น มีการแสดงความเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อคนที่ร่ำรวย. คนรวยนั้นได้รับเชิญให้ “นั่งที่ดี” ในขณะที่ผู้ไม่เชื่อที่ยากจนถูกจัดให้ยืนหรือนั่งที่พื้นแทบเท้าของบางคน.
4 พระยะโฮวาทรงจัดให้พระเยซูคริสต์เป็นเครื่องบูชาค่าไถ่สำหรับคนรวยและคนจนเหมือนกัน. (2 โกรินโธ 5:14) ฉะนั้น ถ้าเราเอนเอียงเข้าข้างคนรวย เราก็กำลังละจากความเชื่อแห่งพระคริสต์ ผู้ซึ่ง ‘ยอมเป็นคนยากจนเพื่อเราจะได้เป็นคนมั่งมีเนื่องจากความยากจนของพระองค์.’ (2 โกรินโธ 8:9) ขอเราอย่าตัดสินผู้คนอย่างนั้น—โดยมีแรงจูงใจอย่างผิด ๆ ที่จะให้เกียรติแก่มนุษย์. พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง แต่ถ้าเราแสดงความลำเอียง เราก็ย่อมกลายเป็นคนที่ “ตัดสินอย่างชั่วช้า.” (โยบ 34:19) โดยปรารถนาจะทำให้พระเจ้าพอพระทัย เราต้องไม่ยอมแพ้ต่อการล่อใจที่จะเห็นแก่หน้า หรือ ‘ชมเชยบุคคลต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ของเราเอง.’—ยูดา 4, 16, ล.ม.
5. พระเจ้าทรงเลือกใครให้ “ร่ำรวยในความเชื่อ” และคนที่มั่งคั่งฝ่ายวัตถุมักทำอย่างไร?
5 ยาโกโบแสดงให้เห็นว่าความร่ำรวยแท้เป็นเช่นไรและกระตุ้นเตือนให้แสดงความรักต่อทุกคนโดยไม่เลือกหน้าลำเอียง. (ยาโกโบ 2:5-9, ล.ม.) ‘พระเจ้าได้ทรงเลือกผู้ที่ยากจนให้ร่ำรวยในความเชื่อและเป็นทายาทแห่งราชอาณาจักร.’ ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนจนมักตอบรับต่อข่าวดีมากกว่า. (1 โกรินโธ 1:26-29) กล่าวเป็นกลุ่มโดยรวม คนมั่งมีกดขี่คนอื่นในเรื่องหนี้สิน, ค่าจ้าง, และด้วยการฟ้องร้องทางกฎหมาย. พวกเขานินทาว่าร้ายพระคริสต์และข่มเหงเราเพราะเราถือพระนามของพระองค์. แต่ให้เราแน่วแน่ในการเชื่อฟัง “พระราชบัญญัติ” ซึ่งเรียกร้องให้รักเพื่อนบ้าน—อย่างเท่าเทียมกันทั้งต่อคนรวยและคนจน. (เลวีติโก 19:18; มัดธาย 22:37-40) เนื่องจากพระเจ้าทรงเรียกร้องเช่นนี้ การเลือกที่รักมักที่ชังจึงเป็นการ “ทำบาป.”
‘ความเมตตาปรีดาเหนือการพิพากษา’
6. เราจะกลายเป็น ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายไปอย่างไร หากเราไม่ได้ปฏิบัติด้วยความเมตตาต่อผู้อื่น?
6 หากเราทำอย่างเห็นแก่หน้าโดยปราศจากความเมตตา เราก็เป็นผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย. (ยาโกโบ 2:10-13, ล.ม.) โดยการก้าวพลาดในเรื่องนี้ เราก็กลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมายทั้งสิ้นของพระเจ้า. ชนยิศราเอลที่ไม่ได้ทำผิดประเวณี แต่ว่าเป็นขโมย ก็กลายเป็นผู้ละเมิดพระบัญญัติของโมเซ. ในฐานะคริสเตียน เราถูกพิพากษาโดย “กฎหมายแห่งชนชาติเสรี”—ยิศราเอลฝ่ายวิญญาณภายใต้คำสัญญาไมตรีใหม่ซึ่งมีกฎหมายแห่งคำสัญญาไมตรีใหม่ในใจของพวกเขา.—ยิระมะยา 31:31-33.
7. เหตุใดคนที่ไม่ยอมเลิกทำอย่างเห็นแก่หน้าไม่อาจคาดหมายให้พระเจ้าแสดงความเมตตาต่อเขา?
7 หากเราอ้างว่ามีความเชื่อแต่ไม่เลิกการทำอย่างเห็นแก่หน้า เรากำลังตกอยู่ในอันตราย. คนที่ไม่มีความรักและปราศจากความเมตตาจะพบกับการพิพากษาที่ไร้ความเมตตา. (มัดธาย 7:1, 2) ยาโกโบกล่าวว่า “ความเมตตาปรีดาในชัยชนะเหนือการพิพากษา.” หากเรารับเอาการชี้นำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาโดยแสดงความเมตตาในการติดต่อเกี่ยวข้องกับผู้อื่นในทุก ๆ ด้าน เราจะไม่ถูกตัดสินลงโทษเมื่อเราถูกพิพากษา. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราจะประสบความเมตตา และด้วยเหตุนั้น จึงได้มีชัยชนะเหนือการพิพากษาตามความยุติธรรมอันเคร่งครัดหรือการพิพากษาลงโทษ.
ความเชื่อก่อผลเป็นการงานที่ดี
8. คนที่บอกว่ามีความเชื่อแต่ขาดการกระทำอยู่ในฐานะเช่นไร?
8 นอกจากทำให้เรามีความรักและเมตตาจิตแล้ว ความเชื่อยังก่อผลเป็นการกระทำที่ดีอย่างอื่นด้วย. (ยาโกโบ 2:14-26, ล.ม.) แน่นอน ความเชื่อที่เป็นแต่คำกล่าวอ้างแต่ขาดการกระทำจะไม่ช่วยเราให้รอดได้. จริงอยู่ เราไม่สามารถได้มาซึ่งฐานะชอบธรรมจำเพาะพระเจ้าโดยการทำตามพระบัญญัติ. (โรม 4:2-5) ยาโกโบกำลังพูดถึงการกระทำซึ่งได้รับการกระตุ้นโดยความเชื่อและความรัก ไม่ใช่โดยประมวลกฎหมาย. หากเราได้รับการกระตุ้นโดยคุณลักษณะดังกล่าว เราจะไม่เพียงแค่แสดงความปรารถนาดีต่อเพื่อนผู้นมัสการที่ขัดสน. เราจะให้ความช่วยเหลือทางวัตถุแก่พี่น้องที่ขาดแคลนอาหารและเสื้อผ้า. ยาโกโบถามดังนี้: ‘ถ้าท่านบอกพี่น้องที่ขัดสนว่า “จงไปเป็นสุขเถิด ขอให้อบอุ่นและอิ่มหนำสำราญเถิด” แต่มิได้ให้สิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย นั่นจะมีประโยชน์อะไรเล่า?’ ไม่มีประโยชน์เลย. (โยบ 31:16-22) “ความเชื่อ” เช่นนั้นไม่มีชีวิต!
9. อะไรแสดงว่าเรามีความเชื่อ?
9 เราอาจสมทบกับไพร่พลพระเจ้าถึงระดับหนึ่ง แต่เฉพาะการกระทำอย่างสิ้นสุดหัวใจเท่านั้นที่สามารถสนับสนุนคำกล่าวอ้างของเราที่ว่าเรามีความเชื่อ. นับว่าดีทีเดียวหากเราได้สลัดทิ้งหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพและเชื่อว่ามีพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว. กระนั้น ลำพังเพียงเชื่อสิ่งนั้นสิ่งนี้หาใช่ความเชื่อไม่. “พวกปิศาจก็เชื่อ” และมัน “กลัวจนตัวสั่น” เพราะความพินาศรอท่าพวกมันอยู่. ถ้าเรามีความเชื่อแท้ ความเชื่อนั้นจะกระตุ้นเราให้เกิดผลเป็นการกระทำอย่างเช่นการประกาศข่าวดีและการจัดหาอาหารและเสื้อผ้าสำหรับเพื่อนร่วมความเชื่อที่ขัดสน. ยาโกโบถามดังนี้: “โอ คนเขลาเบาปัญญา [ไม่มีความรู้ถ่องแท้ของพระเจ้า] ท่านใคร่อยากรู้ไหมว่า ความเชื่อแยกจากการกระทำนั้นไม่เกิดผล?” ถูกแล้ว ความเชื่อจำต้องมีการปฏิบัติ.
10. เหตุใดอับราฮามถูกเรียกเป็น “บิดาของคนทั้งปวงที่เชื่อ”?
10 ความเชื่อของอับราฮาม ปฐมบรรพบุรุษผู้เลื่อมใสในพระเจ้า กระตุ้นท่านให้ลงมือปฏิบัติ. ในฐานะ “บิดาของคนทั้งปวงที่เชื่อ” ท่าน “ได้รับการประกาศว่าชอบธรรมด้วยการกระทำหลังจากที่ท่านได้ถวายยิศฮาคบุตรชายของท่านบนแท่นบูชา.” (โรม 4:11, 12; เยเนซิศ 22:1-14) จะว่าอย่างไรหากอับราฮามขาดความเชื่อว่าพระเจ้าทรงสามารถปลุกยิศฮาคให้เป็นขึ้นจากตายและทำให้คำสัญญาเรื่องพงศ์พันธุ์สำเร็จทางยิศฮาค? หากเป็นอย่างนั้น อับราฮามคงไม่ได้พยายามถวายบุตรชายของท่าน. (เฮ็บราย 11:19) โดยการกระทำด้วยความเชื่อฟังของอับราฮาม “ท่าน ทำให้ความเชื่อของท่านสมบูรณ์” หรือทำให้ครบถ้วนบริบูรณ์. ด้วยเหตุนี้ “ข้อพระคัมภีร์นั้น [เยเนซิศ 15:6] ก็สำเร็จที่ว่า ‘อับราฮามเชื่อในพระยะโฮวา และนั่นนับว่าเป็นความชอบธรรมแก่ท่าน.’” การกระทำของอับราฮามในการพยายามถวายยิศฮาคเป็นเครื่องบูชาเป็นข้อยืนยันคำประกาศก่อนหน้านั้นให้หนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีกว่าอับราฮามนั้นชอบธรรม. ด้วยการงานแห่งความเชื่อ ท่านแสดงถึงความรักต่อพระเจ้าและจึงได้ถูกเรียกว่าเป็น “มิตรสหายของพระยะโฮวา.”
11. เรามีหลักฐานอะไรที่แสดงถึงความเชื่อของราฮาบ?
11 อับราฮามพิสูจน์ให้เห็นว่า “คนเราจะได้รับการประกาศว่าชอบธรรมก็ด้วยการกระทำ และมิใช่ด้วยความเชื่ออย่างเดียว.” เรื่องนี้เป็นจริงด้วยในกรณีของราฮาบ หญิงโสเภณีแห่งเมืองยะริโฮ. เธอ ‘ได้รับการประกาศว่า ชอบธรรมด้วยการกระทำหลังจากที่เธอได้รับรองผู้ส่งข่าว [ชาวยิศราเอล] ด้วยน้ำใจเอื้ออารี แล้วส่งพวกเขาออกไปอีกทางหนึ่ง’ เพื่อพวกเขาจะได้หนีรอดจากศัตรูชาวคะนาอัน. ก่อนพบกับคนสอดแนมของชาติยิศราเอล เธอยอมรับพระยะโฮวาว่าเป็นพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ และคำพูดของเธอในเวลาต่อมาและการเลิกจากการเป็นหญิงโสเภณีให้หลักฐานถึงความเชื่อของเธอ. (ยะโฮซูอะ 2:9-11; เฮ็บราย 11:31) หลังจากตัวอย่างที่สองในเรื่องความเชื่อซึ่งแสดงออกโดยการกระทำ ยาโกโบกล่าวว่า “จริงทีเดียว ร่างกายที่ปราศจากวิญญาณตายแล้วฉันใด ความเชื่อที่ปราศจากการกระทำก็ตายแล้วฉันนั้น.” เมื่อคนเราตายแล้ว ไม่มีพลังแห่งชีวิต หรือ “วิญญาณ” ในตัวเขาอีก และเขาก็ไม่อาจทำอะไรได้อีก. ความเชื่อที่เป็นเพียงคำกล่าวอ้างก็ปราศจากชีวิตและไร้ค่าเฉกเช่นกายที่ตายแล้วนั่นเอง. ทว่า หากเรามีความเชื่อแท้ ความเชื่อนั้นจะกระตุ้นเราให้ลงมือกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า.
จงควบคุมลิ้น!
12. ผู้ปกครองในประชาคมควรทำอะไร?
12 การพูดและการสอนอาจให้หลักฐานถึงความเชื่อได้ด้วย แต่ก็จำเป็นต้องมีการเหนี่ยวรั้ง. (ยาโกโบ 3:1-4, ล.ม.) ในฐานะผู้ทำหน้าที่สอนในประชาคม ผู้ปกครองมีหน้าที่รับผิดชอบหนักและอยู่ในฐานะที่ต้องให้การต่อพระเจ้าอย่างมาก. ฉะนั้น พวกเขาควรตรวจสอบแรงกระตุ้นและคุณสมบัติในด้านต่าง ๆ ของตนอย่างถ่อมใจ. นอกจากความรู้ความสามารถแล้ว คนเหล่านี้ต้องมีความรักอย่างลึกซึ้งต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนร่วมความเชื่อ. (โรม 12:3, 16; 1 โกรินโธ 13:3, 4) ผู้ปกครองต้องอาศัยพระคัมภีร์ในการให้คำแนะนำ. ถ้าผู้ปกครองคนหนึ่งสอนหรือแนะนำอย่างผิด ๆ และทำให้เกิดปัญหาแก่ผู้อื่น เขาจะถูกพิพากษาลงโทษจากพระเจ้าโดยทางพระคริสต์. ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองควรถ่อมและขยันศึกษา ยึดมั่นอยู่กับพระคำของพระเจ้าอย่างสัตย์ซื่อ.
13. ทำไมเราจึงพลาดพลั้งในทางวาจา?
13 แม้แต่ครูที่ดี—ที่จริง เราทุกคน—“ก็พลาดพลั้งกันหลายครั้ง” เพราะความไม่สมบูรณ์. การพลาดพลั้งในทางวาจาเป็นอย่างหนึ่งที่พลาดกันบ่อยที่สุดและเป็นข้อบกพร่องที่อาจก่อผลเสียหายได้มากทีเดียว. ยาโกโบกล่าวว่า “ถ้าผู้ใดไม่พลาดพลั้งในวาจา ผู้นั้นก็เป็นคนสมบูรณ์ สามารถเหนี่ยวรั้งทั้งร่างกายของตนได้ด้วย.” ไม่เหมือนกับพระเยซูคริสต์ เราไม่มีอำนาจควบคุมลิ้นได้อย่างสมบูรณ์. หากเราทำได้ เราก็สามารถควบคุมอวัยวะอื่นของกายเราได้. ถึงกระนั้นก็ตาม บังเหียนและที่ใส่ปากม้าทำให้ม้าไปในทิศทางที่เราบังคับ และด้วยหางเสืออันเล็ก ๆ แม้แต่เรือใหญ่ที่ขับโดยลมแรง ก็ยังบังคับให้แล่นได้อย่างที่นายท้ายเรือปรารถนา.
14. ยาโกโบเน้นอย่างไรถึงความจำเป็นต้องพยายามควบคุมลิ้น?
14 เราทุกคนต้องยอมรับอย่างสัตย์ซื่อว่า จำเป็นต้องพยายามอย่างแท้จริงเพื่อจะควบคุมลิ้น. (ยาโกโบ 3:5-12, ล.ม.) เมื่อเทียบกับม้าแล้ว บังเหียนก็เล็กนิดเดียว; หางเสือเมื่อเทียบกับเรือก็เช่นเดียวกัน. และเมื่อเทียบกับร่างกายคนเราแล้ว ลิ้นนับว่าเล็ก “แต่กระนั้นก็คุยโต.” เนื่องจากพระคัมภีร์แสดงชัดว่าการโอ้อวดไม่เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า ดังนั้น ให้เราขอพระองค์ทรงช่วยเราละเว้นจากการคุยโต. (บทเพลงสรรเสริญ 12:3, 4; 1 โกรินโธ 4:7) ขอให้เราเหนี่ยวรั้งลิ้นของเราเอาไว้ด้วยเมื่อถูกยั่วโมโห โดยจำไว้ว่า เพียงแค่ประกายไฟเท่านั้นก็จุดป่าให้ลุกไหม้ได้. ดังที่ยาโกโบบ่งบอกไว้ “ลิ้นก็เป็นไฟ” พร้อมด้วยความสามารถจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้. (สุภาษิต 18:21) ลิ้นที่ไม่อยู่ใต้การควบคุม “เป็นโลกแห่งความอธรรม”! ลักษณะชั่วร้ายทุกอย่างของโลกนี้ที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า ถูกเชื่อมโยงเข้ากับลิ้นที่ปราศจากการควบคุม. ลิ้นเป็นสาเหตุของสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายเช่น การใส่ร้ายป้ายสีและการสอนความเท็จ. (เลวีติโก 19:16; 2 เปโตร 2:1) คุณคิดเช่นไร? ความเชื่อของเราควรกระตุ้นเราให้พยายามอย่างหนักในการควบคุมลิ้นของเรามิใช่หรือ?
15. ลิ้นที่ขาดการควบคุมอาจทำความเสียหายอะไร?
15 ลิ้นที่ปราศจากการควบคุม “ทำให้ทั้งร่างกายด่างพร้อยไป” เสียสิ้น. ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราถูกจับได้ว่าโกหกซ้ำแล้วซ้ำอีก เราอาจกลายเป็นที่รู้จักว่าเป็นคนชอบโกหก. อย่างไรก็ตาม ลิ้นที่ปราศจากการควบคุม “ทำให้วัฏจักรแห่งชีวิตติดไฟ” ได้อย่างไร? ก็โดยทำให้ชีวิตเป็นเหมือนวัฏจักรแห่งความชั่วร้าย. ทั้งประชาคมอาจปั่นป่วนได้โดยลิ้นอันเดียวที่ไม่ได้ควบคุมให้ดี. ยาโกโบอ้างถึง “เกเฮนนา” ซึ่งอยู่ที่หุบเขาฮินนอม. ครั้งหนึ่ง เคยใช้เป็นที่สำหรับการบูชายัญเด็ก แล้วกลายเป็นที่ทิ้งขยะของกรุงยะรูซาเลมเพื่อกำจัดทำลายด้วยไฟ. (ยิระมะยา 7:31) ดังนั้น เกเฮนนาเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายล้างให้สิ้นซาก. ในความหมายหนึ่ง เกเฮนนาได้ให้อำนาจทำลายของมันแก่ลิ้นที่ขาดการควบคุม. หากเราไม่ได้ควบคุมลิ้นของเรา เราเองอาจกลายเป็นเหยื่อของเปลวเพลิงที่เราเป็นคนจุด. (มัดธาย 5:22) เราอาจถึงกับถูกขับออกจากประชาคมเนื่องด้วยการด่าคนใดคนหนึ่ง.—1 โกรินโธ 5:11-13.
16. เมื่อพิจารณาความเสียหายที่เกิดจากลิ้นที่ไม่เชื่องแล้ว เราควรทำอะไร?
16 ดังที่คุณอาจทราบจากการอ่านพระคำของพระเจ้า พระยะโฮวาทรงมีพระบัญชาให้มนุษย์มีอำนาจเหนือบรรดาสัตว์. (เยเนซิศ 1:28) และสัตว์ทุกชนิดก็ได้ถูกทำให้เชื่องแล้ว. ยกตัวอย่างเช่น นกเหยี่ยวที่ฝึกแล้วได้ถูกนำมาใช้ในการล่าสัตว์. “สัตว์เลื้อยคลาน” ที่ยาโกโบเอ่ยถึงอาจรวมถึงงูที่ถูกควบคุมโดยหมองู. (บทเพลงสรรเสริญ 58:4, 5) คนเราควบคุมได้แม้กระทั่งปลาวาฬ แต่เนื่องจากเป็นมนุษย์ผิดบาปเราไม่สามารถควบคุมลิ้นให้เชื่องได้อย่างแท้จริง. ถึงกระนั้นก็ตาม เราควรหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดแบบหยาบหยาม, เชือดเฉือน, หรือให้ร้าย. ลิ้นที่ขาดการควบคุมอาจกลายเป็นอาวุธร้ายซึ่งบรรจุพิษที่ทำให้ถึงตาย. (โรม 3:13) น่าเศร้าใจทีเดียว ลิ้นของผู้สอนเท็จได้ทำให้คริสเตียนบางคนในยุคแรกหันเหไปจากพระเจ้า. ดังนั้น จงอย่ายอมให้ตัวเราเองถูกครอบงำโดยคำพูดออกหากอันเต็มไปด้วยพิษ ไม่ว่าจะโดยทางลมปากหรือข้อเขียน.—1 ติโมเธียว 1:18-20; 2 เปโตร 2:1-3.
17, 18. ยาโกโบ 3:9-12 ชี้ให้เห็นถึงความไม่เสมอต้นเสมอปลายอะไร และเราควรทำเช่นไรในเรื่องนี้?
17 ความเชื่อในพระเจ้าและความปรารถนาจะทำให้พระองค์พอพระทัยสามารถป้องกันเราไว้จากการออกหากและช่วยเราหลีกเว้นจากการใช้ลิ้นอย่างที่ไม่เสมอต้นเสมอปลายได้. ในการชี้ถึงความไม่เสมอต้นเสมอปลายของบางคน ยาโกโบกล่าวว่า ‘ด้วยลิ้นนั้น เราสรรเสริญพระยะโฮวาพระบิดา และด้วยลิ้นนั้นเราก็แช่งด่ามนุษย์ผู้ที่เกิดขึ้นมาตามฉายาของพระเจ้า.’ (เยเนซิศ 1:26) พระยะโฮวาทรงเป็นพระบิดาของเราด้วยเหตุที่พระองค์ “ทรงประทานชีวิตและลมหายใจและสิ่งสารพัดแก่คนทั้งปวง.” (กิจการ 17:24, 25, ล.ม.) พระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมในความหมายฝ่ายวิญญาณด้วย. เราทุกคนมีชีวิต “ตามฉายาของพระเจ้า” ในด้านคุณลักษณะทางจิตใจและศีลธรรม รวมถึงการที่เรามีความรัก, ความยุติธรรม, และสติปัญญา ซึ่งแยกเราออกจากสัตว์. ถ้าอย่างนั้น เราควรทำอย่างไรหากเรามีความเชื่อในพระยะโฮวา?
18 หากเราแช่งด่าเพื่อนมนุษย์ นั่นย่อมหมายความว่า เราร้องขอให้เกิดเหตุร้ายแก่เขา. เนื่องจากเราไม่ใช่ผู้พยากรณ์ที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าซึ่งได้รับอำนาจให้สาปแช่ง คำพูดเช่นนั้นย่อมเป็นหลักฐานแสดงถึงความเกลียดชังซึ่งคงทำให้การนมัสการของเราเปล่าประโยชน์. ไม่เหมาะสมที่ทั้ง “คำสรรเสริญและคำแช่งด่า” จะออกมาจากปากเดียวกัน. (ลูกา 6:27, 28; โรม 12:14, 17-21; ยูดา 9) คงชั่วร้ายสักเพียงไรที่จะร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าที่หอประชุม แล้วจากนั้นก็นินทาว่าร้ายเพื่อนร่วมความเชื่อ! น้ำจืดและน้ำกร่อยไม่อาจออกมาจากตาน้ำเดียวกันได้ทั้งสองอย่าง. เช่นเดียวกับที่ “ต้นมะเดื่อเทศเกิดผลมะกอกเทศไม่ได้ หรือเถาองุ่นเกิดผลมะเดื่อเทศไม่ได้” น้ำกร่อยก็ไม่สามารถก่อให้เกิดน้ำจืดได้. นับว่าผิดฝ่ายวิญญาณหากเรากล่าวคำขมขื่นอยู่เรื่อย ๆ แทนที่จะพูดสิ่งดีตามที่ควรจะพูด. หากเรามีนิสัยอย่างนั้น ก็ให้เราอธิษฐานขอพระยะโฮวาทรงช่วยให้เลิกเสียจากการพูดแบบนั้น.—บทเพลงสรรเสริญ 39:1.
ลงมือกระทำโดยอาศัยสติปัญญาจากเบื้องบน
19. หากเราได้รับการนำโดยสติปัญญาฝ่ายสวรรค์ เราอาจก่อผลกระทบอย่างไรต่อคนอื่น?
19 เราทุกคนจำเป็นต้องมีสติปัญญาเพื่อจะพูดและทำสิ่งต่าง ๆ ที่เหมาะกับคนที่มีความเชื่อ. (ยาโกโบ 3:13-18, ล.ม.) ถ้าเรามีความเกรงกลัวพระเจ้า พระองค์ก็จะทรงโปรดประทานสติปัญญาฝ่ายสวรรค์ให้เรา นั่นคือความสามารถใช้ความรู้ได้อย่างถูกต้อง. (สุภาษิต 9:10; เฮ็บราย 5:14) พระคำของพระองค์สอนเราให้ทราบวิธีสำแดง “ใจอ่อนโยนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสติปัญญานั้น.” และด้วยการเป็นคนมีใจอ่อนโยน เราส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในประชาคม. (1 โกรินโธ 8:1, 2) ใครก็ตามที่โอ้อวดกับเพื่อนร่วมความเชื่อว่าเป็นผู้สอนที่ยิ่งใหญ่ ก็กำลัง ‘มุสาต่อความจริงตามหลักการคริสเตียน’ ซึ่งตำหนิการถือตัวเองสำคัญ. (ฆะลาเตีย 5:26) “สติปัญญา” ของเขาเป็น “อย่างแผ่นดินโลก” ซึ่งมีลักษณะของมนุษย์ผิดบาปที่เหินห่างจากพระเจ้า. สติปัญญานั้นเป็น “อย่างเดียรัจฉาน” คือเป็นผลมาจากแนวโน้มเอียงแบบเนื้อหนัง. ที่แท้แล้ว สติปัญญานี้เป็น “อย่างผีปิศาจ” ด้วยซ้ำ เพราะวิญญาณชั่วนั้นเป็นจอมเย่อหยิ่ง! (1 ติโมเธียว 3:6) ดังนั้น ให้เรากระทำโดยอาศัยสติปัญญาและความถ่อม เพื่อเราจะไม่ได้สร้างบรรยากาศที่ “สิ่งเลวทราม” อย่างการใส่ร้ายป้ายสีและการเลือกที่รักมักที่ชังอาจงอกงามขึ้นมาได้.
20. คุณจะพรรณนาสติปัญญาฝ่ายสวรรค์อย่างไร?
20 “สติปัญญาจากเบื้องบนนั้นประการแรกบริสุทธิ์” ทำให้เราสะอาดทางศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณ. (2 โกรินโธ 7:11) สติปัญญานี้ “ก่อให้เกิดสันติสุข” กระตุ้นเราให้ติดตามสันติสุข. (เฮ็บราย 12:14) สติปัญญาฝ่ายสวรรค์ทำให้เรา “มีเหตุผล” ไม่ดื้อรั้นและยากที่จะติดต่อเกี่ยวข้องด้วย. (ฟิลิปปอย 4:5) สติปัญญาจากเบื้องบน “พร้อมที่จะเชื่อฟัง” ส่งเสริมให้เชื่อฟังการสอนจากพระเจ้าและร่วมมือกับองค์การของพระยะโฮวา. (โรม 6:17) สติปัญญาจากเบื้องบนยังทำให้เรามีความเมตตารักใคร่. (ยูดา 22, 23) โดยที่เต็มด้วย “ผลอันดี” สติปัญญาจากเบื้องบนกระตุ้นให้ห่วงใยคนอื่น ๆ และพร้อมจะลงมืออย่างที่สอดคล้องกับความดี, ความชอบธรรม, และความจริง. (เอเฟโซ 5:9) และด้วยการเป็นผู้สร้างสันติสุข เรามี “ผลแห่งความชอบธรรม” ซึ่งงอกงามอยู่ภายใต้สภาพเปี่ยมสันติสุข.
21. ตามยาโกโบ 2:1–3:18 ความเชื่อของเราในพระเจ้าควรกระตุ้นเราให้ทำอะไร?
21 ดังนั้น เห็นได้ชัดว่า ความเชื่อกระตุ้นเราให้ลงมือปฏิบัติ. ความเชื่อทำให้เราไม่ลำเอียง, มีเมตตาจิต, และเอาการเอางานในการทำดี. ความเชื่อช่วยเราให้ควบคุมลิ้นและประพฤติปฏิบัติโดยอาศัยสติปัญญาฝ่ายสวรรค์. แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดที่เราอาจเรียนรู้ได้จากจดหมายฉบับนี้. ยาโกโบได้ให้คำแนะนำต่อไปอีกซึ่งสามารถช่วยเราให้ประพฤติปฏิบัติสมกับที่เป็นคนมีความเชื่อในพระยะโฮวา.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ การทำอย่างเห็นแก่หน้าผิดเช่นไร?
▫ ความเชื่อและการกระทำสัมพันธ์กันอย่างไร?
▫ เหตุใดจึงสำคัญมากที่จะควบคุมลิ้น?
▫ สติปัญญาฝ่ายสวรรค์เป็นเช่นใด?