‘จงอภัยให้กันอย่างใจกว้างอยู่เรื่อยไป’
“จงทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไปและจงอภัยให้กันและกันอย่างใจกว้าง.”—โกโลซาย 3:13, ล.ม.
1. (ก) เมื่อเปโตรเสนอแนะว่าให้เราอภัยผู้อื่น “ถึงเจ็ดครั้ง” เหตุใดท่านอาจคิดว่าตัวเองนั้นใจกว้างแล้ว? (ข) พระเยซูทรงหมายความเช่นไรเมื่อพระองค์ตรัสว่าเราควรให้อภัย “ถึงเจ็ดสิบครั้งคูณด้วยเจ็ด”?
“พระองค์เจ้าข้า, พี่น้องของข้าพเจ้าจะทำผิดต่อข้าพเจ้าได้กี่ครั้งซึ่งข้าพเจ้าควรจะยกความผิดของเขา. ถึงเจ็ดครั้งหรือ?” (มัดธาย 18:21) เปโตรอาจคิดว่าท่านใจกว้างมากทีเดียวที่เสนออย่างนี้. ในเวลานั้น คำสอนสืบปากของพวกรับบีกล่าวว่าคนเราไม่ควรให้อภัยเกินกว่าสามครั้งสำหรับความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง.a ในเมื่อเป็นอย่างนี้ คิดดูซิว่าเปโตรคงประหลาดใจสักเพียงใดเมื่อพระเยซูตรัสตอบว่า “เรามิได้ว่าแก่ท่านถึงเจ็ดครั้งเท่านั้น, แต่ถึงเจ็ดสิบครั้งคูณด้วยเจ็ด”! (มัดธาย 18:22) การกล่าวซ้ำเลขเจ็ดมีค่าเท่ากับการกล่าวว่า “ไม่จำกัด.” ที่จริง ในทัศนะของพระเยซู ไม่มีการจำกัดจำนวนครั้งที่คริสเตียนควรให้อภัยผู้อื่น.
2, 3. (ก) สภาพการณ์เช่นใดบ้างที่อาจดูเหมือนว่ายากจะให้อภัยผู้อื่น? (ข) เหตุใดเราสามารถมั่นใจได้ว่าการให้อภัยผู้อื่นเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับเรา?
2 อย่างไรก็ตาม การใช้คำแนะนำนั้นไม่ง่ายเสมอไป. ใครบ้างในพวกเราที่ไม่รู้สึกเจ็บปวดกับการทำร้ายจิตใจอย่างไม่ยุติธรรม? อาจเป็นได้ที่คนซึ่งคุณไว้ใจกลับแพร่งพรายความลับของคุณ. (สุภาษิต 11:13) คำพูดที่ไม่ยั้งคิดของเพื่อนสนิทอาจ ‘ทิ่มแทงคุณเหมือนกระบี่.’ (สุภาษิต 12:18) การปฏิบัติอย่างเลวร้ายจากคนที่คุณรักหรือไว้ใจอาจทำให้เกิดแผลลึกทางใจ. เมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น ปฏิกิริยาตามธรรมชาติของเราอาจแสดงออกโดยรู้สึกโกรธ. เราอาจมีแนวโน้มว่าจะเลิกพูดกับผู้ที่ทำให้เราขุ่นเคือง เลี่ยงคนนั้นทุกวิถีทางที่เป็นไปได้. อาจดูเหมือนว่า การให้อภัยเขาก็เท่ากับปล่อยให้เขาสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแก่เราแล้วก็ยังลอยนวลอยู่ได้. กระนั้น โดยการฟูมฟักความขุ่นเคือง ผลสุดท้ายตัวเรานั่นแหละจะทำให้ตัวเองเจ็บปวด.
3 ด้วยเหตุนั้น พระเยซูทรงสอนเราให้อภัย—“ถึงเจ็ดสิบครั้งคูณด้วยเจ็ด.” แน่นอน คำสอนของพระองค์ไม่ทำให้เราเสียหาย. ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงสอนมาจากพระยะโฮวา ‘ผู้สั่งสอนเรา, เพื่อประโยชน์แก่ตัวของเราเอง.’ (ยะซายา 48:17; โยฮัน 7:16, 17) ตามเหตุผลแล้ว ย่อมเป็นผลประโยชน์สำหรับเราอย่างแท้จริงที่จะให้อภัยผู้อื่น. ก่อนที่เราจะพิจารณาว่าทำไมเราควรให้อภัยและจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร คงเป็นประโยชน์ที่จะชี้แจงกันเสียก่อนว่าการให้อภัยหมายถึงอะไรและไม่หมายถึงอะไร. แนวคิดของเราเรื่องการให้อภัยอาจยังผลต่อความสามารถของเราที่จะให้อภัยเมื่อผู้อื่นทำให้เราขุ่นเคือง.
4. การให้อภัยผู้อื่นไม่หมายถึงอะไร แต่มีการให้คำนิยามการให้อภัยไว้อย่างไร?
4 การให้อภัยผู้อื่นสำหรับการทำผิดต่อเราเป็นส่วนตัวไม่ได้หมายความว่า เราเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นเรื่องไม่สำคัญหรือเป็นเรื่องเล็กน้อย; ทั้งไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้คนอื่นเอารัดเอาเปรียบเราอย่างไม่ยุติธรรม. ที่จริง เมื่อพระยะโฮวาทรงให้อภัยเรา แน่นอนทีเดียวว่าพระองค์ไม่ทรงถือว่าบาปที่เราทำเป็นเรื่องไม่สำคัญ และพระองค์จะไม่ปล่อยให้มนุษย์ผิดบาปเหยียบย่ำความเมตตาของพระองค์. (เฮ็บราย 10:29) ตามที่อธิบายไว้ในการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) การให้อภัยได้รับการนิยามว่า “การยกโทษให้ผู้ทำผิด; การเลิกรู้สึกขุ่นเคืองในตัวเขาอันเนื่องมาจากความผิดของเขาและยกเลิกการอ้างสิทธิ์ให้ชดใช้ในทุกประการ.” (เล่ม 1 หน้า 861)b คัมภีร์ไบเบิลให้เหตุผลที่หนักแน่นแก่เราเพื่อจะให้อภัยผู้อื่น.
ทำไมจึงให้อภัยผู้อื่น?
5. เหตุผลสำคัญที่จะให้อภัยผู้อื่นดังระบุไว้ที่เอเฟโซ 5:1 คืออะไร?
5 เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่จะให้อภัยผู้อื่นมีระบุไว้ที่เอเฟโซ 5:1 (ล.ม.) ที่ว่า “เหตุฉะนั้น จงเป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า ดังบุตรที่รัก.” เราควร “เป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า” ในเรื่องใด? คำ “เหตุฉะนั้น” เชื่อมโยงความในข้อนี้กับข้อก่อนหน้านั้น ซึ่งบอกว่า “จงมีใจกรุณาต่อกัน, มีใจเมตตาอันอ่อนละมุน, ให้อภัยต่อกันด้วยใจกว้างเหมือนดังที่พระเจ้าทรงให้อภัยท่านทั้งหลายด้วยใจกว้างโดยทางพระคริสต์.” (เอเฟโซ 4:32, ล.ม.) ถูกแล้ว ในเรื่องการให้อภัย เราควรเป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า. เหมือนเด็กเล็กพยายามทำตัวเหมือนพ่อ เราในฐานะบุตรที่พระยะโฮวาทรงรักอย่างยิ่งก็ควรปรารถนาจะเป็นเหมือนพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราผู้ทรงให้อภัย. พระยะโฮวาคงปลาบปลื้มพระทัยสักเพียงไรเมื่อทอดพระเนตรลงมาจากสวรรค์และเห็นบุตรบนแผ่นดินโลกพยายามเป็นเหมือนพระองค์โดยให้อภัยกันและกัน!—ลูกา 6:35, 36; เทียบกับมัดธาย 5:44-48.
6. มีความแตกต่างอย่างมากในทางใดระหว่างการให้อภัยของพระยะโฮวาและการให้อภัยของเรา?
6 จริงอยู่ เราไม่มีทางจะให้อภัยในความหมายที่ครบถ้วนเหมือนที่พระยะโฮวาทรงให้. แต่นั่นแหละคือเหตุผลที่หนักแน่นเข้าไปอีกที่เราควรให้อภัยกันและกัน. คิดดูซิ: มีความแตกต่างมากจริง ๆ ระหว่างการให้อภัยของพระยะโฮวากับการให้อภัยของเรา. (ยะซายา 55:7-9) เมื่อเราให้อภัยคนที่ทำผิดต่อเรา ก็มักจะทำโดยที่ตระหนักว่าไม่ช้าก็เร็วเราอาจต้องการให้เขาตอบแทนโดยให้อภัยเราบ้าง. กับมนุษย์ด้วยกันแล้ว ไม่ว่าจะอย่างไรก็เป็นเรื่องของคนบาปให้อภัยคนบาป. แต่สำหรับพระยะโฮวา การให้อภัยเป็นการให้ฝ่ายเดียว. พระองค์ทรงให้อภัยเรา แต่เราไม่มีโอกาสที่จะให้อภัยพระองค์เลย. ถ้าพระยะโฮวาผู้ทรงปราศจากบาปสามารถให้อภัยเราอย่างที่เปี่ยมด้วยความรักและอย่างเต็มที่ เราผู้เป็นมนุษย์ผิดบาปก็ควรจะพยายามให้อภัยกันและกันมิใช่หรือ?—มัดธาย 6:12.
7. ถ้าเราปฏิเสธที่จะให้อภัยผู้อื่นเมื่อมีเหตุสมควรจะแสดงความเมตตา การทำเช่นนี้อาจส่งผลเสียหายต่อสัมพันธภาพของเราเองกับพระยะโฮวาอย่างไร?
7 ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอีก หากเราไม่ยอมให้อภัยผู้อื่นเมื่อมีเหตุอันควรจะแสดงความเมตตา นั่นอาจก่อผลเสียหายต่อสัมพันธภาพของเราเองกับพระเจ้า. พระยะโฮวาไม่เพียงแค่ขอให้เราอภัยกันและกัน; พระองค์ทรงคาดหมายเราให้ทำอย่างนั้น. ตามในข้อพระคัมภีร์ต่าง ๆ ส่วนหนึ่งที่กระตุ้นเราในการให้อภัยก็คือเพื่อพระยะโฮวาจะให้อภัยเราหรือเพราะพระองค์ได้ทรงให้อภัยเรา. (มัดธาย 6:14; มาระโก 11:25; เอเฟโซ 4:32; 1 โยฮัน 4:11) ดังนั้น ถ้าเราไม่เต็มใจจะให้อภัยผู้อื่นเมื่อมีเหตุผลสมควรจะทำอย่างนั้น เราจะคาดหมายได้อย่างแท้จริงว่าจะได้รับการให้อภัยเช่นนั้นจากพระยะโฮวาหรือ?—มัดธาย 18:21-35.
8. เหตุใดการให้อภัยเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเราเอง?
8 พระยะโฮวาทรงสอนไพร่พลของพระองค์ให้รู้ “หนทางดีนั้นซึ่งเขาควรจะได้ประพฤติ.” (1 กษัตริย์ 8:36) เมื่อพระองค์ทรงสอนเราให้อภัยกันและกัน เรามั่นใจได้ว่าพระองค์ทรงคำนึงถึงประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับเรา. นับว่ามีเหตุผลทีเดียวที่คัมภีร์ไบเบิลบอกเราให้ “ละความโกรธไว้.” (โรม 12:19, ล.ม.) ความขุ่นเคืองเป็นภาระหนักหากจะต้องแบกในชีวิต. เมื่อเราผูกใจเจ็บ ความขุ่นเคืองนั้นครอบงำความคิดของเรา, ปล้นสันติสุขไปจากเรา, และขัดขวางความยินดีของเรา. การโกรธเป็นเวลานาน ๆ ก็เหมือนความอิจฉา สามารถก่อผลเสียต่อสุขภาพทางกายของเราได้. (สุภาษิต 14:30) และในขณะที่เราเป็นทุกข์ดังที่ได้กล่าวไป ผู้ทำผิดอาจไม่รู้เรื่องอะไรเลยกับความว้าวุ่นใจของเรา! พระผู้สร้างของเราผู้เปี่ยมด้วยความรักทรงทราบว่าเราจำเป็นต้องให้อภัยผู้อื่นอย่างเปิดเผยไม่เฉพาะแต่เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นเท่านั้น แต่ของเราเอง ด้วย. คำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลเรื่องการให้อภัยนับว่าเป็น ‘หนทางดีที่ควรประพฤติ’ จริง ๆ.
“จงทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไป”
9, 10. (ก) สภาพการณ์แบบใดที่ไม่จำเป็นต้องมีการให้อภัยอย่างเป็นทางการ? (ข) วลีที่ว่า “จงทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไป” แนะให้คิดถึงอะไร?
9 การบาดเจ็บทางกายอาจมีได้ตั้งแต่บาดแผลเล็ก ๆ ไปจนถึงบาดแผลลึก และไม่ใช่ทุกกรณีที่ต้องได้รับการเอาใจใส่ในระดับเดียวกัน. บาดแผลทางความรู้สึกก็เช่นกัน—บางแผลก็ลึกกว่าแผลอื่น. จำเป็นจริง ๆ ไหมที่เราต้องทำให้ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราในการติดต่อเกี่ยวข้องกับผู้อื่นกลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา? ความขุ่นเคืองเล็กน้อย, การถูกดูแคลน, และความรำคาญใจเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและไม่จำเป็นต้องมีการให้อภัยอย่างเป็นทางการ. ถ้าเราขึ้นชื่อว่ามักหลบหน้าผู้อื่นเพราะไม่สบอารมณ์ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปเสียทุกเรื่อง และยืนกรานให้คนอื่นขอโทษก่อนจึงจะปฏิบัติดีต่อเขาอีก เราอาจบีบให้ผู้อื่นต้องคอยระวังจนตัวลีบเวลาที่เราอยู่ด้วย—หรือไม่ก็อยู่ห่าง ๆ เอาไว้ก่อน!
10 แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ดีกว่าสักเพียงไรที่จะ “มีชื่อเสียงว่าเป็นคนมีเหตุผล.” (ฟิลิปปอย 4:5, ฉบับแปลฟิลลิปส์) ในฐานะเป็นสิ่งทรงสร้างที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งรับใช้เคียงบ่าเคียงไหล่กัน เรามีเหตุผลที่จะคาดหมายได้ว่า บางครั้งพี่น้องอาจทำให้เราขุ่นเคือง และเราก็อาจทำให้เขาขุ่นเคืองเหมือนกัน. โกโลซาย 3:13 (ล.ม.) แนะนำเราดังนี้: “จงทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไป.” ถ้อยคำดังกล่าวแนะให้อดทนต่อกัน ยอมทนการกระทำบางอย่างที่เราไม่ชอบในตัวเขาหรือนิสัยที่ทำให้เรารู้สึกขัดเคือง. ความอดทนและความอดกลั้นเช่นนั้นอาจช่วยเราได้ให้รับมือกับความขุ่นข้องหมองใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งเกิดขึ้นกับเราในการดำเนินกับผู้อื่น—โดยไม่ทำลายสันติสุขของประชาคม.—1 โกรินโธ 16:14.
เมื่อบาดแผลลึก
11. เมื่อผู้อื่นทำผิดต่อเรา อะไรอาจช่วยเราให้อภัยเขา?
11 อย่างไรก็ตาม จะว่าอย่างไรถ้ามีใครทำผิดต่อเรา และสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจอย่างเห็นได้ชัด? หากความผิดนั้นไม่รุนแรงเกินไป เราก็อาจใช้คำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลได้ไม่ยากนักที่จะ “ให้อภัยต่อกันด้วยใจกว้าง.” (เอเฟโซ 4:32, ล.ม.) การพร้อมจะให้อภัยเช่นนั้นสอดคล้องกับคำที่เปโตรได้รับการดลใจให้เขียนที่ว่า “ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด จงมีความรักอันแรงกล้าต่อกันและกัน เพราะความรักปกปิดความผิดไว้มากมาย.” (1 เปโตร 4:8, ล.ม.) การระลึกเสมอว่าเราเองก็เป็นคนบาปเช่นกันช่วยเราให้อภัยความผิดของผู้อื่น. เมื่อเราให้อภัยอย่างนั้น เราสลัดความขุ่นเคืองทิ้งไปไม่ได้ฟูมฟักมันเอาไว้. ผลก็คือ สัมพันธภาพของเรากับผู้ทำผิดอาจไม่ประสบผลเสียหายถาวร และเรายังช่วยรักษาสันติสุขในประชาคมซึ่งมีค่ายิ่งเอาไว้. (โรม 14:19) เมื่อเวลาผ่านไป ความหลังฝังใจเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเคยทำก็อาจเลือนหายไปได้.
12. (ก) เราอาจจำเป็นต้องริเริ่มทำอะไรเพื่อให้อภัยบางคนที่ได้ทำให้เรารู้สึกเจ็บมาก? (ข) ถ้อยคำที่เอเฟโซ 4:26 บ่งบอกอย่างไรว่าเราควรจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อยโดยเร็ว?
12 อย่างไรก็ตาม จะว่าอย่างไรถ้ามีใครทำผิดต่อเราอย่างร้ายแรงยิ่งกว่านั้น และทำให้เราเจ็บลึก? อย่างเช่น เพื่อนที่คุณไว้ใจเที่ยวโพนทะนาเรื่องส่วนตัวที่สุดที่คุณไว้ใจเขาให้เก็บเป็นความลับ. คุณเจ็บใจมาก, อาย, และรู้สึกว่าถูกทรยศ. คุณได้พยายามแล้วที่จะไม่คิดถึงมัน แต่เรื่องนี้ก็ไม่ยอมหายไปจากความคิด. ในกรณีเช่นนี้ คุณอาจจำเป็นต้องริเริ่มทำบางอย่างเพื่อจัดการปัญหาให้เรียบร้อย ซึ่งก็อาจโดยการไปพูดกับคนที่ทำผิด. นับว่าฉลาดที่จะทำอย่างนี้ก่อนที่เรื่องจะกลายเป็นเหมือนแผลกลัดหนอง. เปาโลกระตุ้นเตือนเราดังนี้: “โกรธเถิด, แต่อย่าให้เป็นการบาป [กล่าวคือ เก็บความโกรธนั้นไว้หรือปล่อยให้ความโกรธชักพาไป] อย่าให้ถึงตะวันตกท่านยังโกรธอยู่.” (เอเฟโซ 4:26) ข้อเท็จจริงที่เสริมความหมายคำพูดของเปาโลคือ ในหมู่ชาวยิวนั้น เมื่อดวงอาทิตย์ตก นั่นเป็นตอนสิ้นสุดของวันนั้นและเป็นการเริ่มต้นของวันใหม่. ฉะนั้น คำแนะนำคือ: จงจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อยโดยเร็ว!—มัดธาย 5:23, 24.
13. เมื่อเข้าพบคนที่ได้ทำผิดต่อเรา เราควรมีเป้าหมายเช่นไร และข้อเสนอแนะอะไรบ้างที่อาจช่วยเราได้เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น?
13 วิธีที่คุณจะเข้าพบผู้ทำผิดควรเป็นอย่างไร? 1 เปโตร 3:11 กล่าวว่า จง “แสวงหาสันติสุขและติดตามสันติสุขนั้น.” ดังนั้น เป้าหมายของคุณไม่ใช่เพื่อระบายความโกรธ แต่เพื่อสร้างสันติกับพี่น้อง. เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ ดีที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงคำพูดและกิริยาท่าทางที่เกรี้ยวกราด; การทำดังกล่าวอาจชักนำให้เกิดปฏิกิริยาคล้ายกันนั้นจากคู่กรณี. (สุภาษิต 15:18; 29:11) นอกจากนี้ หลีกเลี่ยงคำพูดเน้นเกินจริงอย่างเช่น “คุณน่ะ . . . เสมอเลย!” หรือ “คุณไม่เคย . . . เลย!” คำพูดแสดงความเห็นที่เน้นเกินจริงเช่นนั้นรังแต่จะทำให้เขาพยายามปกป้องตัวเองไปเท่านั้น. แทนที่จะทำอย่างนั้น จงใช้น้ำเสียงและสีหน้าที่บ่งบอกว่าคุณต้องการจัดการเรื่องที่รบกวนใจคุณอย่างมากนั้นให้เรียบร้อย. อธิบายอย่างเจาะจงลงไปว่าคุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น. ให้โอกาสคนนั้นอธิบายการกระทำของเขา. ฟังสิ่งที่เขาพูด. (ยาโกโบ 1:19) นั่นจะเป็นผลดีเช่นไร? สุภาษิต 19:11 (ล.ม.) อธิบายดังนี้: “ความหยั่งเห็นของคนย่อมทำให้เขาช้าในการโกรธ และที่มองข้ามการล่วงละเมิดไปก็เป็นความดีงามของเขา.” การเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายและเหตุผลที่เขาลงมือทำอาจช่วยขจัดความคิดและความรู้สึกในแง่ลบที่มีต่อเขา. เมื่อเราเริ่มจัดการเรื่องราวพร้อมด้วยมีเป้าหมายจะสร้างสันติและรักษาเจตคติแบบนี้เอาไว้ ก็เป็นไปได้มากว่าจะสามารถขจัดความเข้าใจผิดใด ๆ ก็ตาม, มีการขอโทษอย่างที่เหมาะสม, และมีการให้อภัยกัน.
14. เมื่อเราให้อภัยผู้อื่น เราควรลืมเสียในความหมายเช่นไร?
14 การให้อภัยผู้อื่นหมายความว่าเราต้องลืมเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ ไหม? ขอให้นึกถึงตัวอย่างของพระยะโฮวาเองในเรื่องนี้ ดังที่ได้พิจารณาไปแล้วในบทความก่อน. เมื่อคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระยะโฮวาทรงลืมบาปของเรา นี่ไม่ได้หมายความว่าพระองค์จะระลึกถึงบาปเหล่านั้นไม่ได้. (ยะซายา 43:25) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ทรงลืมในแง่ที่ว่า เมื่อพระองค์ทรงให้อภัยแล้ว พระองค์ไม่เก็บบาปเหล่านั้นไว้เพื่อเอาผิดเราในวันหน้า. (ยะเอศเคล 33:14-16) ในทำนองเดียวกัน การให้อภัยเพื่อนมนุษย์ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าเราไม่สามารถระลึกถึงสิ่งที่เขาได้ทำ. อย่างไรก็ตาม เราสามารถ ลืมในแง่ที่ว่าเราไม่ถือสาหาความผู้ทำผิดหรือขุดคุ้ยเรื่องนี้ขึ้นมาอีกในวันหน้า. เมื่อได้จัดการเรื่องราวเรียบร้อยไปแล้ว คงไม่เหมาะที่จะซุบซิบกันในเรื่องนั้นอีก; อีกทั้งไม่เป็นการแสดงความรักด้วยที่จะหลบหน้าผู้ทำผิด ปฏิบัติต่อเขาราวกับเขาถูกตัดสัมพันธ์. (สุภาษิต 17:9) จริงอยู่ อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อให้ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันฟื้นตัว; และระหว่างเรากับเขาอาจไม่มีความสนิทชิดเชื้อได้เหมือนแต่ก่อน. แต่เรายังคงรักเขาในฐานะเป็นพี่น้องคริสเตียนของเรา และพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ราบรื่น.—เทียบกับลูกา 17:3.
เมื่อดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ที่จะให้อภัย
15, 16. (ก) คริสเตียนจำต้องให้อภัยคนทำผิดที่ไม่กลับใจไหม? (ข) เราอาจใช้คำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลที่บทเพลงสรรเสริญ 37:8 ได้อย่างไร?
15 อย่างไรก็ตาม จะว่าอย่างไรหากคนอื่นทำผิดต่อเราในลักษณะที่ก่อให้เกิดบาดแผลลึกมาก และถึงขนาดนี้ผู้ทำผิดก็ยังไม่ยอมรับผิด, ไม่กลับใจ, และไม่ขออภัย? (สุภาษิต 28:13) พระคัมภีร์ระบุชัดเจนว่า พระยะโฮวาไม่ทรงให้อภัยผู้ทำบาปที่ไม่กลับใจและดื้อด้าน. (เฮ็บราย 6:4-6; 10:26, 27) จะว่าอย่างไรสำหรับพวกเรา? การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ กล่าวดังนี้: “คริสเตียนไม่ถูกเรียกร้องที่จะให้อภัยคนที่ทำบาปอย่างชั่วร้ายโดยจงใจ, อีกทั้งไม่กลับใจด้วย. คนเช่นนั้นกลายเป็นศัตรูของพระเจ้า.” (เล่ม 1 หน้า 862) คริสเตียนคนใดก็ตามที่ได้ตกเป็นผู้เสียหายจากการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม, น่าขยะแขยง, หรือทารุณอย่างยิ่งไม่ควรรู้สึกว่าจำต้องให้อภัยหรือยกโทษให้ผู้ทำผิดที่ไม่กลับใจ.—บทเพลงสรรเสริญ 139:21, 22.
16 เป็นที่เข้าใจได้ว่า คนที่เป็นผู้เสียหายจากการปฏิบัติอย่างโหดร้ายอาจรู้สึกเจ็บปวดและโกรธ. อย่างไรก็ตาม จำไว้ว่าการเก็บความโกรธและความขุ่นเคืองเอาไว้อาจก่อผลเสียต่อเราได้มาก. หากเราคอยให้มีการยอมรับผิดหรือขอโทษแต่ไม่ได้รับ ก็อาจจะมีแต่ทำให้เราหัวเสียมากขึ้นไปอีกเท่านั้น. การคิดหมกมุ่นอยู่กับความอยุติธรรมอาจขังความโกรธไว้ให้คุกรุ่นอยู่ในตัวเรา พร้อมกับก่อผลเสียหายร้ายแรงต่อสุขภาพทั้งฝ่ายวิญญาณ, อารมณ์, และร่างกาย. ที่จริง นั่นเท่ากับเราปล่อยให้คนที่ทำร้ายเราทำให้เราเจ็บปวดอยู่ต่อไป. คัมภีร์ไบเบิลแนะนำอย่างฉลาดสุขุมดังนี้: “จงอดกลั้นความโกรธไว้, และระงับความโทโสเสีย.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:8) ด้วยเหตุนั้น คริสเตียนบางคนพบว่าในที่สุดเขาสามารถตัดสินใจให้อภัยในแง่ที่ว่าเลิกเก็บความขุ่นเคือง—ไม่ใช่มองข้ามเรื่องที่เกิดขึ้นถือว่าไม่สำคัญ หากแต่ไม่ยอมให้ความโกรธครอบงำความคิดทั้งสิ้น. เมื่อได้ปล่อยเรื่องราวทั้งหมดให้อยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้าแห่งความยุติธรรม เขาก็จะรู้สึกปลอดโปร่งสบายใจและสามารถดำเนินชีวิตตามปกติต่อไปได้.—บทเพลงสรรเสริญ 37:28.
17. คำสัญญาของพระยะโฮวาซึ่งบันทึกไว้ที่วิวรณ์ 21:4 ให้คำรับรองที่ปลอบประโลมอะไร?
17 เมื่อความรู้สึกเจ็บฝังลึกมาก เราอาจไม่สามารถลบมันออกจากจิตใจเราได้อย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยก็ยังทำไม่ได้ในระบบนี้. แต่พระยะโฮวาทรงสัญญาจะให้มีโลกใหม่ที่ “พระองค์จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของพวกเขา และความตายจะไม่มีอีกต่อไป ทั้งความทุกข์โศกหรือเสียงร้องหรือความเจ็บปวดจะไม่มีอีกเลย. สิ่งที่เคยมีอยู่เดิมนั้นผ่านพ้นไปแล้ว.” (วิวรณ์ 21:4, ล.ม.) เรื่องใดก็ตามที่เราอาจฟื้นคิดขึ้นมาในเวลานั้นจะไม่ก่อความเสียหายหรือความรู้สึกเจ็บที่ฝังลึกเช่นที่อาจเป็นภาระหนักในหัวใจของเราอยู่ในเวลานี้.—ยะซายา 65:17, 18.
18. (ก) เหตุใดมีความจำเป็นต้องมีการให้อภัยในการดำเนินกับพี่น้องชายหญิงของเรา? (ข) เมื่อผู้อื่นทำผิดต่อเรา เราควรให้อภัยและลืมเสียในความหมายเช่นไร? (ค) การให้อภัยและลืมเสียเป็นประโยชน์แก่เราอย่างไร?
18 ในระหว่างนี้ เราต้องดำเนินชีวิตและทำงานร่วมกันในฐานะเป็นพี่น้องชายหญิงที่ไม่สมบูรณ์ มนุษย์ที่ผิดบาป. เราทุกคนทำผิดพลาด. บางครั้งบางคราว เราต่างคนต่างก็ทำให้คนอื่นผิดหวังและแม้แต่ทำให้คนอื่นรู้สึกเจ็บด้วยซ้ำ. พระเยซูทรงทราบดีว่าเราจำเป็นต้องให้อภัยผู้อื่นไม่ใช่ “ถึงเจ็ดครั้งเท่านั้น, แต่ถึงเจ็ดสิบครั้งคูณด้วยเจ็ด”! (มัดธาย 18:22) จริงอยู่ เราไม่สามารถให้อภัยได้อย่างครบถ้วนเช่นที่พระยะโฮวาทรงทำ. แต่ในกรณีส่วนใหญ่ที่พี่น้องทำผิดต่อเรา เราสามารถให้อภัยในแง่ที่เราเอาชนะความขุ่นเคืองใจ และเราสามารถลืมในแง่ที่เราไม่เก็บเรื่องนั้นไว้เอามาถือสาหาความกันอีกไม่รู้จบสิ้น. เมื่อเราให้อภัยและลืมเสียอย่างนี้แล้ว เราจะช่วยรักษาไม่เพียงแค่สันติสุขของประชาคมเท่านั้น แต่สันติสุขแห่งจิตใจและหัวใจของเราเองด้วย. ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด เราจะมีสันติสุขที่เฉพาะแต่พระยะโฮวาพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักสามารถให้ได้.—ฟิลิปปอย 4:7.
[เชิงอรรถ]
a ตามทัลมุดแห่งบาบูโลน คำสอนสืบปากอย่างหนึ่งของพวกรับบีบอกอย่างนี้: “คนใดหากทำบาปครั้งแรก, ครั้งที่สอง, และครั้งที่สาม เขาจักได้การยกโทษ หากถึงครั้งที่สี่เขาจักไม่ได้การยกโทษ.” (โยมะ 86ข) คำสอนข้อนี้ส่วนหนึ่งนั้นเนื่องมาจากความเข้าใจอย่างไม่ถูกต้องในข้อพระคัมภีร์อย่างเช่นอาโมศ 1:3; 2:6; และโยบ 33:29 (ฉบับแปลใหม่).
b จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก
คำถามสำหรับทบทวน
▫ ทำไมเราควรเต็มใจจะให้อภัยผู้อื่น?
▫ สภาพการณ์แบบใดที่เรียกร้องให้เราต้อง “ทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไป”?
▫ เมื่อเรารู้สึกเจ็บมากเนื่องด้วยความผิดของผู้อื่น อะไรอาจช่วยเราให้จัดการเรื่องราวให้เรียบร้อยอย่างสันติ?
▫ เมื่อเราให้อภัยผู้อื่น เราควรลืมเสียในความหมายเช่นไร?
[รูปภาพหน้า 16]
เมื่อเราเก็บความขุ่นเคืองเอาไว้ ผู้ทำผิดอาจไม่รู้เรื่องอะไรเลยกับความว้าวุ่นใจของเรา
[รูปภาพหน้า 17]
เมื่อคุณเข้าพบคนอื่นเพื่อสร้างสันติ อาจขจัดความเข้าใจผิดทั้งหลายออกไปได้อย่างง่ายดาย