การเข้าถึงผู้คนมากยิ่งขึ้นด้วยข่าวดี
เมื่อนึกถึงผู้คนในประเทศบ้านเกิดของดิฉัน ดิฉันตระหนักว่าหลายคนรู้จักพยานพระยะโฮวาจากรายงานข่าวเท่านั้น. ดิฉันคิดว่าน่าจะมีใครติดต่อผู้คนที่นั่นบ้าง เพื่อเขาจะได้เรียนรู้ว่าพยานพระยะโฮวาเป็นใคร และจริง ๆ แล้วพยานฯ เชื่ออะไร. แต่ดิฉันจะช่วยได้อย่างไร? สามีดิฉันเป็นคริสเตียนผู้ปกครอง และเขาได้ชี้นำดิฉันพร้อมด้วยคำแนะนำที่ดี.
เราได้พบแนวคิดสำคัญอย่างหนึ่งจากบทความเรื่อง “วารสารซึ่งให้การปลอบใจอย่างที่ใช้ได้ผล” ในวารสารตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 8 มกราคม 1995. บทความนั้นพูดถึงกิจกรรมของพยานฯ คนหนึ่งดังนี้: “เธอถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตามเก็บรวบรวมวารสารตื่นเถิด! ฉบับก่อน ๆ ซึ่งเพื่อนพยานฯ คนอื่น ๆ สะสมไว้ที่บ้าน. แล้วเธอจะแวะไปเยี่ยมตามหน่วยงานต่าง ๆ ที่เธอคิดว่าอาจมีคนสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ.”
ด้วยการช่วยเหลือของสามี ไม่นานนักดิฉันก็รวบรวมวารสารได้หลายร้อยเล่ม. จากวารสารเหล่านี้ ดิฉันสามารถคัดเลือกบทความได้หลากหลายเหมาะกับผู้คนที่ดิฉันพยายามจะติดต่อ.
โดยการใช้สมุดโทรศัพท์และบันทึกรายชื่ออื่น ๆ ดิฉันจึงได้จัดทำหมวดรายชื่อโรงพยาบาล, หอพักคนหนุ่มสาว, และสถานพยาบาลขนาดเล็ก. นอกจากนั้น ดิฉันจัดทำรายชื่อผู้ดูแลฌาปนสถาน, ผู้อำนวยการและที่ปรึกษาของโรงเรียนต่าง ๆ, เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ, และเจ้าหน้าที่เรือนจำและศาล. รายชื่อที่ดิฉันจัดทำยังรวมไปถึงผู้อำนวยการสถาบันบำบัดคนติดเหล้าและสิ่งเสพย์ติด, สมาคมต่าง ๆ ที่ดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม, สมาคมที่ให้การช่วยเหลือคนพิการและเหยื่อสงคราม, และสถาบันค้นคว้าวิจัยด้านโภชนาการ. และดิฉันก็ไม่ได้มองข้ามผู้อำนวยการสำนักงานสวัสดิการและบริการสังคม, และผู้ให้คำปรึกษาเรื่องครอบครัว.
ดิฉันจะพูดอย่างไรดี?
สิ่งแรกที่ดิฉันทำเมื่อเข้าพบหรือติดต่อก็คือจะชี้แจงชัดเจนว่าดิฉันเป็นใคร. แล้วบอกว่าการเยี่ยมจะใช้เวลาเพียงชั่วครู่.
เมื่อพบกับผู้รับผิดชอบ ดิฉันจะบอกเขาว่า “ดิฉันเป็นพยานพระยะโฮวาค่ะ. แต่ที่มาวันนี้ไม่ใช่เพื่อสนทนาเรื่องศาสนา ซึ่งอาจไม่เหมาะเนื่องจากตอนนี้เป็นเวลาทำงาน.” โดยทั่ว ๆ ไป บรรยากาศมักจะผ่อนคลายขึ้น. แล้วดิฉันก็ปรับคำพูดให้เข้ากับสภาพการณ์ และพูดต่อไปว่า “เหตุผลที่ดิฉันมาเยี่ยมมีสองประการ. ประการแรก ดิฉันปรารถนาจะแสดงความหยั่งรู้ค่าต่องานซึ่งหน่วยงานของคุณดำเนินการอยู่. ที่จริง คนเราไม่ควรถือเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อบางคนใช้เวลาและพละกำลังของตนเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม. ความพยายามของท่านจึงสมควรได้รับคำชมเชยอย่างแน่นอน.” บุคคลที่ดิฉันเข้าพบด้วยวิธีนี้มีหลายรายที่รู้สึกประหลาดใจ.
พอถึงขั้นนี้ ผู้นั้นย่อมอยากรู้เหตุผลประการที่สองของการเยี่ยม. ดิฉันก็จะชี้แจงต่อไปว่า “เหตุผลประการที่สองเกี่ยวกับการเยี่ยมของดิฉันคืออย่างนี้: จากวารสารตื่นเถิด! นี้ซึ่งมีการพิมพ์จำหน่ายไปทั่วโลก ดิฉันเลือกบางบทความซึ่งพิจารณาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับลักษณะงานของคุณโดยเฉพาะและปัญหาซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับงานของคุณ. ดิฉันแน่ใจว่าคุณคงอยากรู้ว่าวารสารระดับนานาชาติมองปัญหาเหล่านี้อย่างไร. ดิฉันยินดีฝากวารสารนี้ไว้ให้คุณอ่าน.” บ่อยครั้ง ผู้คนกล่าวด้วยความหยั่งรู้ค่าในความพยายามของดิฉัน.
ผลที่ยังความประหลาดใจและน่าพอใจ
เมื่อดิฉันเข้าพบด้วยวิธีดังกล่าว คนส่วนใหญ่ตอบรับอย่างเป็นมิตร; ในจำนวน 17 คนที่ดิฉันพูดคุยด้วยมีเพียงหนึ่งคนเท่านั้นไม่ยอมรับวารสารที่ดิฉันเสนอให้. ดิฉันมีประสบการณ์มากมายทั้งน่าประหลาดใจและน่าพอใจ.
ยกตัวอย่างเช่น หลังจากใช้ความพยายามถึงสี่ครั้งและอุตส่าห์รอคอย ดิฉันก็ได้เข้าพบศึกษาธิการเขต. เขามีงานรัดตัวมาก. ถึงกระนั้น เขามีอัธยาศัยไมตรีดีมาก และได้คุยกับดิฉันนานพอสมควร. ขณะที่ดิฉันลากลับ เขาพูดว่า “ผมหยั่งรู้ค่าความพยายามของคุณอย่างแท้จริง และแน่นอน ผมจะอ่านหนังสือของคุณอย่างถี่ถ้วน.”
คราวหนึ่ง ดิฉันได้ไปที่ศาลแขวง มีโอกาสพบผู้พิพากษาหัวหน้าศาลวัยกลางคน. ขณะที่ดิฉันเข้าไปถึงห้องทำงานของท่าน ท่านเงยหน้าขึ้นจากเอกสารด้วยท่าทีค่อนข้างหงุดหงิด.
“เช้าวันอังคารเท่านั้นเป็นเวลาทำงาน และตอนนั้นผมถึงจะพร้อมที่จะให้ข้อมูล” ท่านพูดด้วยน้ำเสียงดุดัน.
“ดิฉันต้องขออภัยค่ะที่มาพบท่านตอนนี้ซึ่งไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม” ดิฉันตอบโดยไม่ลังเล แถมพูดต่อไปอีกว่า “แน่นอน ดิฉันจะยินดีกลับมาพบท่านในโอกาสหน้า. แต่การเยี่ยมของดิฉันจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องส่วนตัวค่ะ.”
พอถึงตอนนี้ ผู้พิพากษาอยากรู้ขึ้นมาทันที. ด้วยน้ำเสียงที่คลายความดุดันลง ท่านถามว่าดิฉันต้องการอะไร. ดิฉันพูดซ้ำคำเดิมว่าวันอังคารดิฉันจะกลับมาอีก.
ดิฉันรู้สึกประหลาดใจเมื่อท่านยังคงยืนกรานคำเดิมบอกว่า “เชิญนั่ง คุณต้องการอะไร?”
จากนั้นการสนทนาดำเนินไปอย่างมีชีวิตชีวา ท่านกล่าวขอโทษที่ตอนแรกไม่ได้แสดงความเป็นมิตรเนื่องจากกำลังวุ่นจริง ๆ.
หลังจากนั้นสักครู่หนึ่ง ผู้พิพากษาถามขึ้นมาว่า “คุณรู้ไหมว่าผมชอบพยานพระยะโฮวาตรงไหน? พวกพยานฯ มีหลักการที่มั่นคง ซึ่งพวกเขาไม่ออกนอกลู่นอกทาง. ฮิตเลอร์พยายามแล้วทุกอย่างเท่าที่ทำได้ กระนั้น พยานพระยะโฮวาก็ไม่ยอมทำสงคราม.”
เมื่อเราสองคนเดินเข้าไปในสำนักงานแห่งหนึ่ง พวกเลขานุการที่นั่นจำเราได้. แล้วหัวหน้าเลขานุการพูดอย่างเย็นชาว่า “ท่านผู้อำนวยการไม่ ต้อนรับผู้ใดทั้งสิ้น.”
ดิฉันตอบอย่างใจเย็นว่า “แต่ท่านจะต้อนรับพวกเรา เพราะเราเป็นพยานพระยะโฮวา. พวกเราไม่ใช่ผู้มาเรียกร้อง และการเยี่ยมของเราจะไม่นานเกินสามนาที.” ภายในใจ ดิฉันอธิษฐานอย่างเร่าร้อนว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา ขอบันดาลให้การนี้ประสบผลดี!”
เลขานุการตอบรับคำด้วยท่าทีเฉยเมยว่า “ถ้าอย่างนั้น ดิฉันจะลองดู.” เธอเดินจากไป. ประมาณสองนาทีต่อมา สำหรับดิฉันแล้วดูเหมือนนานนักหนา และเธอก็เดินออกมา ผู้ที่ตามหลังคือผู้อำนวยการนั่นเอง. ท่านไม่พูดอะไรเลย แต่ได้นำเราเดินผ่านสองห้องไปยังที่ทำงานของท่าน.
ขณะที่เราเริ่มสนทนา ท่านแสดงท่าทีเป็นมิตรมากขึ้น. เมื่อเราเสนอวารสารตื่นเถิด! ฉบับพิเศษ ท่านก็รับไว้ด้วยความเต็มใจ. เราขอบคุณพระยะโฮวาสำหรับโอกาสนี้ที่ได้ให้คำพยานเกี่ยวด้วยวัตถุประสงค์แห่งการงานของเรา.
เมื่อย้อนไปมองประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมมากมายหลายครั้ง ดิฉันจึงได้มาหยั่งรู้ค่าถ้อยคำของเปโตรเต็มที่ยิ่งขึ้นที่ว่า “ข้าพเจ้าเห็นจริงแล้วว่าพระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ชาวชนในประเทศใด ๆ ที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.” (กิจการ 10:34, 35) พระทัยประสงค์ของพระเจ้าคือ ให้มวลมนุษย์จากทุกพื้นเพภูมิหลัง, ภาษา, หรือฐานะทางสังคม มีโอกาสได้เรียนรู้จักพระประสงค์ของพระองค์ที่ทรงมีต่อมนุษยชาติและแผ่นดินโลก.—ผู้อ่านส่งมา.