ครอบครัว—อยู่ในภาวะฉุกเฉิน!
“แล้วหลังจากนั้นทั้งคู่ก็อยู่กันอย่างมีความสุขตลอดไป.” มีการนำตอนจบของเทพนิยายเช่นนั้นมาใช้กับชีวิตสมรสในปัจจุบันน้อยลงทุกที. คำสัญญาในพิธีสมรสที่ว่าจะรักกันและกัน ‘ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรตราบเท่าเขาทั้งสองมีชีวิตอยู่นั้น’ บ่อยเหลือเกินเป็นแค่คำพูดสละสลวยเท่านั้นเอง. ความเป็นไปได้ในการมีครอบครัวที่เป็นสุขนั้นดูเหมือนเป็นการเล่นพนันที่ไม่มีท่าทีว่าจะเป็นต่อ.
ระหว่างปี 1960 ถึงปี 1990 อัตราการหย่าร้างได้เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในประเทศอุตสาหกรรมทางตะวันตกส่วนใหญ่. ในบางดินแดนอัตรานั้นเพิ่มขึ้นสี่เท่า. ตัวอย่างเช่น ทุกปีมีการสมรสประมาณ 35,000 รายในสวีเดน และราว ๆ ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้แยกทางกัน มีเด็กมากกว่า 45,000 คนพัวพันอยู่ด้วย. คู่ชายหญิงที่อยู่กินกันโดยไม่แต่งงานเลิกกันในอัตราที่มากกว่านั้นเสียอีก ส่งผลกระทบต่อเด็กอีกนับหมื่น. แนวโน้มคล้ายกันกำลังปรากฏในประเทศต่าง ๆ ตลอดทั่วโลก ดังที่เห็นได้จากกรอบในหน้า 5.
จริงอยู่ ครอบครัวที่แตกแยกและการจบลงของชีวิตสมรสใช่ว่าเป็นเรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์. ประมวลกฎหมายของฮัมมูราบิในศตวรรษที่ 18 ก่อนสากลศักราช มีกฎหมายที่อนุญาตให้มีการหย่าในบาบิโลเนียรวมอยู่ด้วย. แม้แต่พระบัญญัติของโมเซที่ตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 16 ก.ส.ศ. ได้อนุญาตให้มีการหย่าในยิศราเอล. (พระบัญญัติ 24:1) อย่างไรก็ดี ความผูกพันของครอบครัวไม่เคยเปราะบางยิ่งไปกว่าในศตวรรษที่ 20 นี้. กว่าสิบปีมาแล้ว นักเขียนคอลัมน์ประจำหนังสือพิมพ์คนหนึ่งได้เขียนว่า “ห้าสิบปีนับจากนี้ไป เราอาจไม่มีแม้แต่ครอบครัวใด ๆ ในความหมายตามที่สืบทอดกันมานมนาน. ครอบครัวดังกล่าวอาจถูกแทนที่ด้วยกลุ่มต่าง ๆ กัน.” และแนวโน้มตั้งแต่นั้นมาดูเหมือนจะยืนยันแนวคิดของเขา. สถาบันครอบครัวได้เสื่อมลงอย่างรวดเร็วจนกระทั่งคำถามที่ว่า “ครอบครัวจะอยู่รอดไหม?” กลายเป็นคำถามที่เหมาะมากขึ้นทุกที.
ทำไมยากทีเดียวสำหรับสามีภรรยาหลายคู่จริง ๆ ที่จะผูกพันกันและรักษาไว้ซึ่งครอบครัวที่ปรองดองกัน? อะไรคือเคล็ดลับของคนเหล่านั้นที่ได้ผูกพันกันตลอดช่วงชีวิตอันยาวนาน ฉลองวันครบรอบแต่งงานปีที่ 25 และปีที่ 50 ของตนอย่างมีความสุข? อนึ่ง มีรายงานในปี 1983 ว่าชายหญิงคู่หนึ่งในอาเซอร์ไบจานอดีตสาธารณรัฐของโซเวียตได้ฉลองวันครบรอบแต่งงานปีที่ 100—ตอนอายุ 126 และ 116 ปีตามลำดับ.
ภัยคุกคามคืออะไร?
ในหลายประเทศพื้นฐานบางประการสำหรับการหย่าที่ถูกต้องตามกฎหมายคือการเล่นชู้, การทารุณจิตใจหรือร่างกาย, การทอดทิ้ง, โรคพิษสุราเรื้อรัง, การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ, ภาวะวิกลจริต, การมีสามีหรือภรรยาสองคนในเวลาเดียวกัน, และการติดยาเสพย์ติด. อย่างไรก็ดี สาเหตุธรรมดามากกว่าคือการที่เจตคติพื้นฐานต่อการสมรสและชีวิตครอบครัวตามแบบที่สืบทอดกันมานมนานได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างไม่กี่สิบปีมานี้. ความนับถือต่อการจัดเตรียมเรื่องการสมรสซึ่งถือกันมานานว่าศักดิ์สิทธิ์นั้นได้ถูกเซาะกร่อน. ผู้ผลิตดนตรี, ภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์ซึ่งเป็นคนโลภ, และสรรพหนังสือซึ่งเป็นที่นิยมได้ยกย่องสิ่งที่เรียกกันว่าเสรีภาพทางเพศ, การผิดศีลธรรม, ความประพฤติหละหลวม, และรูปแบบชีวิตที่มุ่งแต่ตัวเอง. พวกเขาได้ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ทำให้จิตใจและหัวใจแปดเปื้อนสำหรับเด็กและผู้ใหญ่เช่นกัน.
การสำรวจประชามติในปี 1996 แสดงว่า 22 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกันกล่าวว่าเรื่องชู้สาวแบบลักลอบนั้นบางครั้งอาจเป็นผลดีต่อชีวิตสมรส. อัฟทอนบลาเดท หนึ่งในหนังสือพิมพ์ใหญ่ที่สุดของสวีเดนฉบับพิเศษ ได้สนับสนุนผู้หญิงให้หย่าเนื่องจาก “นั่นทำให้สภาพการณ์ดีขึ้น.” นักจิตวิทยาและนักมานุษยวิทยาที่โด่งดังบางคนถึงกับคาดคะเนว่ามนุษย์ “ถูกตั้งโปรแกรมไว้” โดยวิวัฒนาการให้เปลี่ยนคู่ทุก ๆ สองสามปี. กล่าวอีกนัยหนึ่ง พวกเขากำลังชี้แนะว่าเรื่องชู้สาวแบบลักลอบและการหย่าเป็นเรื่องธรรมชาติ. บางคนถึงกับอ้างว่าการหย่าของบิดามารดาอาจเป็นประโยชน์ต่อบุตร เตรียมเขาไว้ที่จะรับมือกับการหย่าของตัวเองสักวันหนึ่งข้างหน้า!
หนุ่มสาวหลายคนไม่ปรารถนาที่จะดำเนินชีวิตครอบครัวแบบที่สืบทอดกันมานมนาน โดยมีพ่อ, แม่, และลูกอีกต่อไป. “ฉันนึกไม่ออกเรื่องการอยู่กับคู่คนเดียวกันตลอดชีวิต” เป็นทัศนะที่นิยมกัน. หนุ่มเดนมาร์กวัย 18 ปีบอกว่า “การแต่งงานเป็นเหมือนคริสต์มาส ก็แค่เทพนิยายเท่านั้นเอง. ผมไม่เชื่อในเรื่องนั้นเลย.” นอรีน เบิร์นจากสภาสตรีแห่งชาติในไอร์แลนด์ กล่าวว่า “มีความรู้สึกกันว่า จะแต่งงานไปให้ยุ่งยากทำไม แล้วต้องมานั่งทำงานบ้าน. ออกไปนอนกับผู้ชายโดยไม่มีข้อผูกมัดก็พอแล้ว . . . ผู้หญิงจำนวนมากตัดสินใจว่าไม่ต้องมีผู้ชายก็ได้เพื่อจะอยู่รอด.”
ครอบครัวที่มีบิดาหรือมารดาฝ่ายเดียวกำลังเพิ่มขึ้น
ตลอดทั่วยุโรปเจตคติแบบนี้ได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการเป็นมารดาไร้คู่. บิดาหรือมารดาไร้คู่เหล่านี้บางคนเป็นวัยรุ่นซึ่งรู้สึกว่าการตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนนั้นไม่ใช่ข้อผิดพลาด. บางคนเป็นผู้หญิงที่ต้องการเลี้ยงดูลูกตามลำพัง. ส่วนใหญ่เป็นมารดาที่อยู่กินกับบิดาชั่วระยะหนึ่ง โดยไม่มีโครงการที่จะแต่งงานกับเขาแต่อย่างใด. วารสารนิวส์วีก พิมพ์เรื่องหน้าปกในปีที่แล้วด้วยคำถามว่า “การดับสูญของชีวิตสมรสหรือ?” วารสารนั้นแจ้งว่า เฉลี่ยของเด็กที่เกิดนอกสายสมรสกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุโรป และดูเหมือนไม่มีใครใส่ใจ. สวีเดนอาจอยู่ในอันดับแรกสุด โดยมีครึ่งหนึ่งของทารกทั้งหมดที่นั่นเกิดนอกสายสมรส. ในเดนมาร์กและนอร์เวย์มีเกือบครึ่งหนึ่ง และในฝรั่งเศสกับอังกฤษ มีราว ๆ 1 ใน 3.
ในสหรัฐ ครอบครัวที่มีทั้งบิดาและมารดาได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา. รายงานหนึ่งแจ้งว่า “ในปี 1960 . . . 9 เปอร์เซ็นต์ของเด็กทั้งหมดอยู่ในบ้านที่มีบิดาหรือมารดาไร้คู่. พอถึงปี 1990 จำนวนนั้นพุ่งพรวดขึ้นเป็น 25 เปอร์เซ็นต์. ปัจจุบัน 27.1 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอเมริกันทั้งหมดเกิดในครอบครัวที่มีบิดาหรือมารดาไร้คู่ เป็นจำนวนที่กำลังเพิ่มขึ้น. . . . ตั้งแต่ปี 1970 จำนวนของครอบครัวที่มีบิดาหรือมารดาฝ่ายเดียวได้เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า. นักวิจัยบางคนบอกว่า ครอบครัวตามแบบที่สืบทอดกันมานมนานตกอยู่ในอันตรายในทุกวันนี้เสียจนเกือบจะสูญสิ้นอยู่แล้ว.”
ในประเทศที่คริสตจักรโรมันคาทอลิกได้สูญเสียอำนาจด้านศีลธรรมไปมาก ครอบครัวที่มีบิดาหรือมารดาไร้คู่กำลังเพิ่มขึ้น. น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของครอบครัวอิตาลีที่ประกอบด้วยพ่อ, แม่, ลูก, และครอบครัวตามแบบที่สืบทอดกันมานมนานกำลังถูกแทนที่ด้วยคู่สมรสที่ไม่มีบุตรและครอบครัวที่มีบิดาหรือมารดาฝ่ายเดียว.
ที่แท้แล้ว ระบบสวัสดิการในบางประเทศสนับสนุนผู้คนไม่ให้แต่งงาน. มารดาไร้คู่ซึ่งได้รับเงินสงเคราะห์จากรัฐบาลจะไม่ได้รับหากเธอแต่งงาน. มารดาไร้คู่ในเดนมาร์กได้รับเงินสงเคราะห์ในการดูแลบุตรเพิ่ม และในบางท้องถิ่น มารดาที่อายุต่ำกว่า 18 ปีได้รับเงินสดเพิ่มและได้ค่าเช่าบ้านด้วย. ดังนั้น เรื่องเงินพัวพันอยู่ด้วย. อาล์ฟ บี. สเวนส์สันอ้างว่า การหย่าหนึ่งรายในสวีเดนทำให้ต้องใช้เงินของผู้เสียภาษีไประหว่าง 250,000 ถึง 375,000 ดอลลาร์เป็นเงินสงเคราะห์, ค่าที่พักอาศัย, และเงินช่วยเหลือของรัฐบาล.
คริสตจักรต่าง ๆ ในคริสต์ศาสนจักรดูเหมือนดำเนินการเล็กน้อยหรือไม่ทำอะไรเลยเพื่อพยายามพลิกผันแนวโน้มที่ยังความเสียหายร้ายแรงนี้ในท่ามกลางครอบครัวต่าง ๆ. นักเทศน์หลายคนปล้ำสู้กับวิกฤตการณ์ในครอบครัวของตนเองอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้จึงรู้สึกไร้ความสามารถในการช่วยคนอื่น. บางคนดูเหมือนจะสนับสนุนการหย่าด้วยซ้ำ. อัฟทอนบลาเดท ฉบับวันที่ 15 เมษายน 1996 รายงานว่านักเทศน์สตีเฟน แอลเลนจากเมืองแบรดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ได้ประกอบพิธีหย่าเป็นพิเศษ ซึ่งเขาแนะว่าควรใช้เป็นพิธีหย่าอย่างเป็นทางการในคริสตจักรของอังกฤษทั้งหมด. “นั่นเป็นพิธีในการเยียวยาเพื่อช่วยคนให้ยอมรับและปรับตัวเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา. นั่นช่วยเขาตระหนักว่าพระเจ้ายังทรงรักเขาอยู่และปลดปล่อยเขาจากความเจ็บปวด.”
ดังนั้น สถาบันครอบครัวกำลังมุ่งไปที่ไหน? มีความหวังไหมในการที่ครอบครัวจะอยู่รอด? แต่ละครอบครัวจะรักษาไว้ซึ่งเอกภาพขณะถูกคุกคามอย่างหนักเช่นนั้นได้ไหม? โปรดพิจารณาบทความถัดไป.
[แผนภูมิ หน้า 5]
การสมรสในปีหนึ่ง ๆ เมื่อเทียบกับการหย่าในบางประเทศ
ประเทศ ปี การสมรส การหย่า
คิวบา 1992 191,837 63,432
แคนาดา 1992 164,573 77,031
เช็ก, สาธารณรัฐ 1993 66,033 30,227
ญี่ปุ่น 1993 792,658 188,297
เดนมาร์ก 1993 31,507 12,991
นอร์เวย์ 1993 19,464 10,943
เปอร์โตริโก 1992 34,222 14,227
ฝรั่งเศส 1991 280,175 108,086
มัลดิเวส 1991 4,065 2,659
เยอรมนี 1993 442,605 156,425
รัสเซีย, สหพันธ์ 1993 1,106,723 663,282
สวีเดน 1993 34,005 21,673
สหรัฐ 1993 2,334,000 1,187,000
สหราชอาณาจักร 1992 356,013 174,717
ออสเตรเลีย 1993 113,255 48,324
เอสโตเนีย 1993 7,745 5,757
(อาศัยหนังสือประจำปีสถิติจำนวนประชากร 1994, สหประชาชาติ, นิวยอร์ก 1996)