พวกฮิวเกนอตหนีสู่เสรีภาพ
“ในนามแห่งกษัตริย์และราชินี . . . เราจึงขอประกาศว่า ชาวฝรั่งเศส ที่เป็นโปรเตสแตนต์ทุกคนซึ่งจะมาหาที่ลี้ภัยและย้ายมาอยู่ในราชอาณาจักรของเรานี้ จะไม่เพียงได้รับการคุ้มครองโดยอังกฤษเท่านั้น . . . แต่เรายังจะพยายามในทุกวิถีทางและวิธีการที่สมเหตุผลเพื่อสนับสนุน, อนุเคราะห์, และช่วยเหลือพวกเขา . . . เพื่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขาในดินแดนนี้จะสะดวกสบายและไม่ยุ่งยาก.”
นั่นคือข้อความในคำประกาศของกษัตริย์วิลเลียมและราชินีแมรีแห่งอังกฤษในปี 1689. แต่ว่าทำไมชาวฝรั่งเศสที่เป็นโปรเตสแตนต์ หรือตามที่รู้จักกันว่าพวกฮิวเกนอต จึงต้องหาที่ลี้ภัยและการคุ้มครองนอกประเทศฝรั่งเศส? ทำไมการที่พวกเขาหนีจากฝรั่งเศสเมื่อประมาณ 300 ปีมาแล้วจึงเป็นเรื่องที่พวกเราทุกวันนี้พึงสนใจ?
ยุโรปในศตวรรษที่สิบหกย่อยยับเนื่องด้วยสงครามและความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับศาสนา. ฝรั่งเศสซึ่งมีสงครามศาสนา (1562-1598) ระหว่างพวกคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ก็หนีไม่พ้นความสับสนวุ่นวายนี้. อย่างไรก็ตาม ในปี 1598 กษัตริย์เฮนรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศสได้ลงพระปรมาภิไธยในราชกฤษฎีกาที่ยอมทนให้มีศาสนาอื่น ๆ คือราชกฤษฎีกาแห่งนองเตซึ่งอนุญาตให้พวกโปรเตสแตนต์ฮิวเกนอตมีเสรีภาพทางศาสนาอยู่บ้าง. การยอมรับสองศาสนาให้ถูกต้องตามกฎหมายเช่นนี้เป็นเรื่องเด่นในยุโรป. การยอมรับดังกล่าวได้ยุติความสับสนวุ่นวายทางศาสนาซึ่งสร้างรอยแผลเป็นแก่ฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 16 มานานกว่า 30 ปี.
ถึงแม้มีเจตนาจะให้ “มีผลใช้ถาวรและไม่มีการเพิกถอน” ก็ตาม ในปี 1685 ราชกฤษฎีกาแห่งนองเตก็ถูกเพิกถอนโดยราชกฤษฎีกาแห่งฟงแตนโบล. ต่อมาภายหลัง วอลแตร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสพรรณนาถึงการเพิกถอนครั้งนี้ว่าเป็น “หนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของฝรั่งเศส.” ไม่ช้าราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้กระตุ้นให้พวกฮิวเกนอตราว 200,000 คนหนีไปยังประเทศอื่น. กระนั้น เกิดผลระยะยาวจากการอพยพครั้งนี้. แต่เพราะเหตุใดราชกฤษฎีกาฉบับก่อนซึ่งส่งเสริมการยอมทนให้มีศาสนาอื่นจึงถูกเพิกถอน?
ถูกต่อต้านตั้งแต่เริ่มต้น
แม้ว่าราชกฤษฎีกาแห่งนองเตใช้บังคับนานเกือบ 90 ปี นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งกล่าวว่า ราชกฤษฎีกาฉบับนี้ “สิ้นสภาพเมื่อถูกเพิกถอนในปี 1685” แล้ว. แท้ที่จริง ราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่มีพื้นฐานมั่นคง. ตั้งแต่เริ่มต้น ราชกฤษฎีกานี้ส่งเสริมสิ่งที่มีพรรณนาไว้ว่าเป็น “สงครามเย็น” ระหว่างพวกนักเทศน์นักบวชคาทอลิกกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “อาร์. พี. อาร์.” (ที่เรียกกันว่า ศาสนาปฏิรูป) ตั้งแต่มีราชกฤษฎีกานี้ออกมาในปี 1598 จนถึงราว ๆ ปี 1630 การต่อต้านราชกฤษฎีกาแห่งนองเตวนเวียนอยู่รอบ ๆ การโต้คารมกันระหว่างพวกโปรเตสแตนต์กับพวกคาทอลิกและการพิมพ์งานเขียนของนิกายต่าง ๆ. อย่างไรก็ตาม การไม่ยอมทนให้มีศาสนาอื่นนั้นมีหลายโฉมหน้า.
หลังจากทำสงครามกับพวกโปรเตสแตนต์ตั้งแต่ปี 1621 ถึงปี 1629 รัฐบาลฝรั่งเศสได้พยายามบีบพวกเขาให้เข้าสู่คอกแกะของคาทอลิกโดยใช้มาตรการบีบบังคับต่าง ๆ นานา. มีการทำให้การราวีนี้รุนแรงขึ้นอีกโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 “กษัตริย์แห่งอาทิตย์.” นโยบายการกดขี่ข่มเหงของพระองค์นำไปสู่การเพิกถอนราชกฤษฎีกาแห่งนองเต.
การบีบบังคับ
ส่วนหนึ่งของการบีบบังคับคือ สิทธิของพลเมืองที่เป็นชาวโปรเตสแตนต์ถูกถอนไปทีละอย่าง ๆ. ในช่วงปี 1657 ถึงปี 1685 ข้อกำหนดต่าง ๆ ราว 300 ข้อซึ่งมักเสนอแนะโดยพวกนักเทศน์นักบวชถูกตราขึ้นใช้กับพวกฮิวเกนอต. ข้อกำหนดเหล่านั้นใช้บังคับชีวิตของพวกเขาในทุกแง่ทุกมุม. ยกตัวอย่าง มีการห้ามไม่ให้พวกฮิวเกนอตประกอบอาชีพมากมายเหลายด้าน เช่น แพทย์, กฎหมาย, และแม้แต่งานผดุงครรภ์. นักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งให้เหตุผลในเรื่องงานผดุงครรภ์ดังนี้: “เป็นไปได้อย่างไรที่จะฝากชีวิตคนเราไว้กับคนนอกรีตซึ่งมีเป้าหมายจะทำลายระเบียบที่มีอยู่?”
อุ้งมือที่บังคับกดขี่ยิ่งกระชับแน่นขึ้นอีกในปี 1677. ฮิวเกนอตคนใดก็ตามที่ถูกจับได้ว่าพยายามทำให้ชาวคาทอลิกเปลี่ยนความเชื่อต้องถูกปรับหนึ่งพันปอนด์ฝรั่งเศส. เงินทุนของประเทศที่ได้จากภาษีที่เรียกเก็บสูงเกินควรถูกใช้เพื่อบีบให้พวกฮิวเกนอตเปลี่ยนความเชื่อ. ในปี 1675 นักเทศน์นักบวชคาทอลิกถวายเงิน 4.5 ล้านปอนด์ฝรั่งเศสแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กล่าวว่า “บัดนี้พระองค์จะต้องดำเนินการแสดงความขอบคุณจนถึงที่สุดด้วยการใช้ราชอำนาจของพระองค์เพื่อกวาดล้างพวกนอกศาสนาออกไปให้หมดสิ้น.” กลยุทธ์ใน “การซื้อ” คนให้เปลี่ยนความเชื่อเช่นนี้ยังผลให้มีผู้เปลี่ยนมานับถือคาทอลิกประมาณ 10,000 คนภายในสามปี.
ในปี 1663 การเปลี่ยนความเชื่อไปเป็นโปรเตสแตนต์ถูกทำให้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย. นอกจากนั้น ยังมีข้อจำกัดด้วยว่าพวกฮิวเกนอตจะอาศัยอยู่ที่ไหนได้บ้าง. ตัวอย่างมาตรการแบบตกขอบอย่างหนึ่งได้แก่ข้อที่ว่า เด็กที่อายุเจ็ดขวบอาจมานับถือคาทอลิกได้แม้จะขัดความประสงค์ของบิดามารดา. บิดามารดาที่เป็นโปรเตสแตนต์มีพันธะต้องสนับสนุนด้านการเงินแก่การศึกษาที่ลูก ๆ ของตนได้รับจากนักเทศน์ชาวเจซูอิตหรือนักเทศน์คาทอลิกอื่น ๆ.
อาวุธอีกอย่างหนึ่งในการบีบบังคับพวกฮิวเกนอตคือ คงปานญี ดู แซง-ซาเครมอง (คณะปฏิบัติงานศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งทำงานอย่างลับ ๆ. นี่เป็นองค์การของพวกคาทอลิกซึ่งนักประวัติศาสตร์ ชานีน การีซอง บอกว่า เท่ากับ “ข่ายงานมหึมา” ที่ครอบคลุมทั่วทั้งฝรั่งเศสทีเดียว. โดยมีอำนาจบุกเข้าถึงในแวดวงสังคมชั้นสูงสุด องค์การนี้ไม่ขาดทั้งเงินสนับสนุนและข้อมูลโดยละเอียด. การีซองอธิบายว่า กลยุทธ์ของคณะนี้มีมากมาย “มีตั้งแต่การกดดันให้ขัดขวาง, จัดให้มีการด่าประจาน คณะปฏิบัติงานนี้ใช้ทุกวิธีเพื่อทำให้ชุมชนโปรเตสแตนต์อ่อนแอ.” กระนั้น พวกฮิวเกนอตส่วนใหญ่ยังอยู่ในฝรั่งเศสระหว่างช่วงเวลาแห่งการกดขี่ข่มเหงนี้. นักประวัติศาสตร์การีซองให้ข้อสังเกตว่า “เป็นเรื่องยากจะเข้าใจว่าทำไมพวกโปรเตสแตนต์ถึงไม่ไปจากอาณาจักรนี้ให้มากกว่านั้นในขณะที่ความเป็นปฏิปักษ์ต่อพวกเขาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ.” อย่างไรก็ตาม การหนีสู่เสรีภาพก็ได้กลายเป็นเรื่องที่ต้องทำในที่สุด.
ย้อนสู่จุดเริ่มต้น
สนธิสัญญาสันติภาพแห่งนีเมเกน (1678) และสนธิสัญญาพักรบแห่งแรทิสบัน (1684) ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พ้นจากการทำสงครามกับต่างประเทศ. ในอังกฤษซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของช่องแคบ ชาวคาทอลิกคนหนึ่งได้เป็นกษัตริย์ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1685. พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงใช้สถานการณ์ใหม่นี้ให้เป็นประโยชน์ได้. ไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น พวกนักเทศน์นักบวชคาทอลิกในฝรั่งเศสได้เสนอข้อบังคับสี่ข้อของกาลีกันซึ่งจำกัดอำนาจของโปป. ด้วยเหตุนั้น โปป อินโนเซนต์ที่ 11 “จึงถือว่าคริสตจักรแห่งฝรั่งเศสแทบเป็นพวกที่สนับสนุนการแตกแยก.” ฉะนั้น โดยการเพิกถอนราชกฤษฎีกาแห่งนองเต พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงสามารถกู้ชื่อเสียงที่มัวหมองและฟื้นฟูความสัมพันธ์ตามปกติกับโปป.
นโยบายที่กษัตริย์องค์นี้มีต่อพวกโปรเตสแตนต์ได้มาเป็นที่แจ่มแจ้ง. วิธีการที่นุ่มนวล (การชักชวนและการออกกฎหมาย) ดูเหมือนไม่ได้ผล. อีกด้านหนึ่ง การปราบปรามด้วยกำลังเมื่อไม่นานนี้กลับประสบผลสำเร็จ.a ดังนั้น ในปี 1685 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงลงพระปรมาภิไธยในราชกฤษฎีกาแห่งฟงแตนโบล ซึ่งเพิกถอนราชกฤษฎีกาแห่งนองเต. การกดขี่ข่มเหงอย่างรุนแรงควบคู่ไปกับการเพิกถอนราชกฤษฎีกานี้ทำให้พวกฮิวเกนอตตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าในช่วงก่อนมีราชกฤษฎีกาแห่งนองเตเสียอีก. บัดนี้พวกเขาจะทำอย่างไร?
จะซ่อน, จะสู้, หรือจะหนี?
พวกฮิวเกนอตบางคนเลือกนมัสการอย่างลับ ๆ. เนื่องด้วยสถานที่ชุมนุมของพวกเขาถูกทำลายและการนมัสการอย่างเปิดเผยถูกห้าม พวกเขาหันไปหา ‘คริสตจักรในทะเลทราย’ หรือการนมัสการแบบใต้ดินนั่นเอง. พวกเขาทำเช่นนี้ทั้ง ๆ ที่รู้ข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ที่จัดการชุมนุมเช่นนั้นเสี่ยงต่อการถูกลงโทษถึงตาย ตามกฎหมายที่รัฐผ่านออกมาในเดือนกรกฎาคม 1686. พวกฮิวเกนอตบางคนยอมสาบานละทิ้งความเชื่อของตน โดยคิดว่าทีหลังค่อยเปลี่ยนกลับมาถือตามเดิมอีกก็คงจะได้. ผู้ที่เปลี่ยนความเชื่อเหล่านั้นปฏิบัติศาสนาคาทอลิกเพียงเปลือกนอกเท่านั้นซึ่งคงมีการเลียนแบบโดยคนชั่วอายุต่อ ๆ มา.
รัฐบาลพยายามรวบรวมพวกที่เปลี่ยนความเชื่อให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน. เพื่อจะได้งานทำ ผู้ที่เปลี่ยนความเชื่อมาใหม่ ๆ ต้องยื่นหนังสือรับรองการเป็นคาทอลิกที่เซ็นชื่อโดยบาทหลวงประจำเขตซึ่งคอยสังเกตการเข้าร่วมที่โบสถ์. หากเด็ก ๆ ยังไม่ได้รับบัพติสมาและไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างชาวคาทอลิก พวกเขาอาจถูกนำไปจากบิดามารดาของตนได้. โรงเรียนต่าง ๆ ต้องส่งเสริมการศึกษาของคาทอลิก. มีการพยายามผลิตหนังสือทางศาสนาที่สนับสนุนคาทอลิกขึ้นสำหรับ “ประชาชนแห่งพระธรรม [คัมภีร์ไบเบิล]” ดังที่เขาเรียกพวกโปรเตสแตนต์. รัฐบาลได้พิมพ์หนังสือมากกว่าหนึ่งล้านเล่มและส่งไปยังเขตที่มีคนจำนวนมากได้เปลี่ยนความเชื่อ. มาตรการนี้รุนแรงมากถึงขนาดที่ว่า ถ้ามีผู้ที่ป่วยหนักปฏิเสธพิธีกรรมสุดท้ายของคาทอลิกและภายหลังเขาหายป่วย เขาจะถูกตัดสินลงโทษให้จำคุกหรือไม่ก็ให้เป็นฝีพายตลอดชีวิต. และเมื่อเขาตายในเวลาต่อมา ศพเขาจะถูกโยนทิ้งราวกับขยะ และทรัพย์สิ่งของของเขาจะถูกยึดเป็นของรัฐ.
พวกฮิวเกนอตบางคนหันไปพึ่งการต่อต้านด้วยอาวุธ. ในเขตเทือกเขาเซแวนส์ พวกฮิวเกนอตซึ่งเป็นนักต่อสู้ที่เรียกกันว่าพวกกามีซาร์ด ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในด้านความมีใจแรงกล้าทางศาสนา ได้ก่อการปฏิวัติในปี 1702. เพื่อตอบโต้การซุ่มโจมตีและการเข้าโจมตีตอนกลางคืนของพวกกามีซาร์ด กองทหารรัฐบาลจึงได้เผาหมู่บ้านต่าง ๆ. ถึงแม้การโจมตีอย่างประปรายของพวกฮิวเกนอตมีต่อเนื่องอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง พอถึงปี 1710 กองทัพอันเกรียงไกรของพระเจ้าหลุยส์ก็ได้บดขยี้พวกกามีซาร์ด.
ปฏิกิริยาอีกอย่างของพวกฮิวเกนอตคือ หนีจากฝรั่งเศส. การอพยพนี้เคยเรียกกันว่าการกระจัดกระจายไปอยู่ต่างประเทศอย่างแท้จริง. พวกฮิวเกนอตส่วนใหญ่แทบไม่มีอะไรเลยเมื่อพวกเขาจากไป เพราะรัฐได้ยึดทรัพย์สินของพวกเขา คริสตจักรคาทอลิกได้ทรัพย์มากมายนั้นไปส่วนหนึ่ง. ดังนั้น การหนีจึงไม่ง่าย. รัฐบาลฝรั่งเศสลงมือจัดการทันทีกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฝ้าจับตาดูเส้นทางออกและตรวจค้นตามเรือต่าง ๆ. พวกสลัดปล้นเรือที่ออกจากฝรั่งเศส เพราะจะได้รางวัลสำหรับการจับตัวพวกที่หนี. พวกฮิวเกนอตที่ถูกจับได้ว่าหนีถูกลงโทษอย่างรุนแรง. ที่ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีกคือ พวกสายลับที่ทำงานในชุมชนต่าง ๆ พยายามค้นหาชื่อของผู้ที่วางแผนหนีและเส้นทางหนีของคนเหล่านั้น. จดหมายที่ถูกยึดกลางทาง, การปลอมเอกสาร, และกลอุบายต่าง ๆ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา.
ที่ลี้ภัยซึ่งให้การต้อนรับ
การหนีของพวกฮิวเกนอตจากฝรั่งเศส และการที่พวกเขาได้รับการต้อนรับในประเทศเจ้าบ้านทั้งหลายนั้น เป็นที่รู้กันว่าเป็นการลี้ภัย. พวกฮิวเกนอตได้หนีไปยังฮอลแลนด์, สวิตเซอร์แลนด์, เยอรมนี, และอังกฤษ. ต่อมามีบางคนไปยังสแกนดิเนเวีย, อเมริกา, ไอร์แลนด์, เวสต์อินดิส, แอฟริกาใต้, และรัสเซีย.
หลายประเทศในยุโรปได้ผ่านราชกฤษฎีกาออกมาซึ่งสนับสนุนพวกฮิวเกนอตให้เข้าเมือง. ในบรรดาข้อเสนอที่เร้าให้สนใจเหล่านั้นก็ได้แก่ การเปลี่ยนสัญชาติโดยไม่ต้องเสียเงิน, การยกเว้นภาษี, และการเป็นสมาชิกฟรีในสมาคมการค้า. ตามที่นักประวัติศาสตร์ เอลีซาเบ็ท ลาบรูส กล่าว พวกฮิวเกนอตนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็น “พวกหนุ่ม ๆ ซึ่ง . . . เป็นพลเมืองที่กล้าคิดกล้าทำ มีพลัง มีศีลธรรมจรรยาดีเยี่ยม.” ด้วยเหตุนี้ ฝรั่งเศสที่กำลังเรืองอำนาจจึงสูญเสียคนทำงานที่ชำนาญในหลายสาขาอาชีพ. ถูกแล้ว “ทรัพย์สมบัติ, ความสำเร็จและเทคนิค” ต่างไปยังต่างแดน. ปัจจัยทางศาสนาและการเมืองต่างก็มีส่วนทำให้มีการเสนอที่ลี้ภัยแก่พวกฮิวเกนอต. แต่ผลระยะยาวของการย้ายถิ่นนี้เป็นเช่นไร?
การเพิกถอนราชกฤษฎีกาแห่งนองเตและการกดขี่ข่มเหงที่ตามมานั้นกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาไม่พึงพอใจจากนานาชาติ. วิลเลียมแห่งออเรนจ์สามารถใช้ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อฝรั่งเศสให้เป็นประโยชน์เพื่อขึ้นเป็นผู้ปกครองเนเธอร์แลนด์. ด้วยความช่วยเหลือจากนายทหารที่เป็นพวกฮิวเกนอต เขายังได้เป็นกษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่อีกด้วย โดยเข้าแทนที่กษัตริย์เจมส์ที่ 2 ซึ่งเป็นชาวคาทอลิก. นักประวัติศาสตร์ ฟิลิป ชูตาร์ ชี้แจงว่า “นโยบายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เกี่ยวกับพวกโปรเตสแตนต์นั้นเป็นหนึ่งในแนวทางหลัก ๆ แห่งการโค่นกษัตริย์เจมส์ที่ 2 [และ] การก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรออกส์เบอร์ก. . . . เหตุการณ์ต่าง ๆ [เหล่านี้] เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในประวัติศาสตร์ของยุโรป ซึ่งนำไปสู่การที่มหาอำนาจอังกฤษขึ้นมาแทนที่มหาอำนาจฝรั่งเศส.”
พวกฮิวเกนอตมีบทบาทสำคัญด้านวัฒนธรรมในยุโรป. พวกเขาใช้เสรีภาพที่ได้มาใหม่เพื่อผลิตหนังสือซึ่งช่วยขัดเกลาหลักปรัชญาแห่งยุคสว่างและแนวคิดของการยอมทนให้มีความเห็นที่แตกต่าง. ตัวอย่างเช่น ชาวโปรเตสแตนต์ที่เป็นชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งได้แปลงานเขียนของจอห์น ล็อก นักปรัชญาชาวอังกฤษ ซึ่งเผยแพร่แนวคิดเรื่องสิทธิที่มีตั้งแต่กำเนิด. นักเขียนชาวโปรเตสแตนต์คนอื่น ๆ เน้นความสำคัญของเสรีภาพแห่งสติรู้สึกผิดชอบ. แนวคิดที่ว่าการเชื่อฟังพวกผู้ปกครองมีข้อจำกัดและอาจมองข้ามไปได้หากพวกผู้ปกครองละเมิดสัญญาที่มีอยู่ระหว่างตนกับประชาชนนั้นค่อย ๆ ขยายตัวขึ้น. ดังนั้น ตามที่นักประวัติศาสตร์ ชาลส์ รีด อธิบาย การเพิกถอนราชกฤษฎีกาแห่งนองเตเป็น “หนึ่งในปัจจัยที่เห็นได้ชัดของการปฏิวัติในฝรั่งเศส.”
ได้บทเรียนไหม?
เมื่อการกดขี่ข่มเหงก่อผลในทางตรงข้ามและทำให้รัฐสูญเสียบุคคลทรงคุณค่าหลายคน มาควิส เดอ โวบอง ที่ปรึกษาทางทหารของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงเร่งให้พระองค์นำราชกฤษฎีกาแห่งนองเตกลับมาใช้ใหม่ โดยกล่าวว่า “การเปลี่ยนความเชื่อในหัวใจนั้นเป็นสิทธิ์ของพระเจ้าเท่านั้น.” ถ้าเช่นนั้น ทำไมประเทศฝรั่งเศสจึงไม่ได้บทเรียนและเปลี่ยนการตัดสินใจเป็นตรงกันข้าม? ปัจจัยอย่างหนึ่งที่แน่ ๆ คือว่า กษัตริย์เกรงว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้รัฐอ่อนแอ. นอกจากนี้ มีประโยชน์ที่จะสนับสนุนการฟื้นฟูของคาทอลิกและการไม่ยอมทนให้มีศาสนาอื่นในฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17.
เหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงการเพิกถอนนั้นทำให้บางคนถามว่า “สังคมจะอนุญาตและยอมทนให้มีความเชื่อที่หลากหลายได้แค่ไหน?” จริง ๆ แล้ว ตามที่พวกนักประวัติศาสตร์ได้สังเกต เป็นไปไม่ได้ที่จะพิจารณาเรื่องพวกฮิวเกนอตโดยไม่คิดถึงเรื่อง “กลไกแห่งอำนาจและความเสื่อมทรามของอำนาจ.” ในสังคมต่าง ๆ ทุกวันนี้ซึ่งมีชนหลายเชื้อชาติและการแบ่งแยกทางศาสนาทวีขึ้นเรื่อย ๆ การที่พวกฮิวเกนอตหนีสู่เสรีภาพเป็นสิ่งย้ำเตือนที่บาดใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อการเมืองที่ถูกผลักดันโดยคริสตจักรมีความสำคัญเหนือกว่าผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน.
[เชิงอรรถ]
a ดูกรอบในหน้า 28.
[กรอบหน้า 28]
การปราบปรามด้วยกำลัง
ซึ่งเปลี่ยนความเชื่อโดยการทำให้หวาดกลัว
บางคนมองดูหน่วยปราบปรามนั้นว่าเป็น “มิชชันนารีที่ดีเยี่ยม.” แต่ในพวกฮิวเกนอตแล้ว หน่วยปราบปรามนี้ทำให้ประหวั่นพรั่นพรึง และในบางครั้งทั้งหมู่บ้านจะเปลี่ยนความเชื่อไปนับถือคาทอลิกเมื่อได้ยินว่ากองนี้มาถึง. แต่หน่วยปราบปรามเหล่านี้เป็นใคร?
หน่วยปราบปรามนี้คือพวกทหารติดอาวุธจำนวนมากที่พักในบ้านของพวกฮิวเกนอตด้วยความมุ่งหมายจะทำให้เจ้าของบ้านหวาดกลัว. การใช้กองทหารอย่างนี้เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นการปราบปรามด้วยกำลัง. เพื่อเพิ่มภาระที่วางบนครอบครัวเหล่านั้นให้หนักขึ้น จำนวนทหารที่ส่งไปยังบ้านหนึ่ง ๆ ไม่ได้สัดส่วนกับโภคทรัพย์ของครอบครัวนั้น. หน่วยปราบปรามนี้ได้รับอำนาจให้ทารุณครอบครัวเหล่านั้น ทำให้พวกเขาไม่ได้หลับไม่ได้นอนและทำลายข้าวของ. ถ้าเจ้าของบ้านสาบานจะตัดขาดจากความเชื่อแบบโปรเตสแตนต์ พวกหน่วยปราบปรามก็จะจากไป.
หน่วยปราบปรามดังกล่าวถูกใช้เพื่อทำให้การเปลี่ยนความเชื่อบรรลุผลในปี 1681 ในปัวตู ทางตะวันตกของฝรั่งเศส เขตที่มีพวกฮิวเกนอตอยู่หนาแน่นมาก. ภายในไม่กี่เดือน มี 30,000 คนถึง 35,000 คนเปลี่ยนความเชื่อ. มีการใช้วิธีเดียวกันเมื่อปี 1685 ในเขตอื่น ๆ ที่มีพวกฮิวเกนอตอยู่. ภายในไม่กี่เดือน มีการบรรลุผลด้วยการที่ 300,000 คนถึง 400,000 คนสาบานว่าตัดขาดจากความเชื่อ.
ตามคำกล่าวของนักประวัติศาสตร์ ชาง เกนยาร์ การประสบผลสำเร็จของหน่วยปราบปรามนี้ “ได้ทำให้การเพิกถอน [ราชกฤษฎีกาแห่งนองเตที่ยอมทนให้มีศาสนาอื่น] เป็นเรื่องไม่อาจเลี่ยงได้ เพราะบัดนี้ การเพิกถอนนั้นดูเหมือนเป็นไปได้แล้ว.”
[ที่มาของภาพ]
© Cliché Bibliothèque Nationale de France, Paris
[รูปภาพหน้า 25]
คำประกาศนี้ในปี 1689 เสนอที่ลี้ภัยแก่ชาวฝรั่งเศสที่เป็นโปรเตสแตนต์ซึ่งแสวงหาการหลุดพ้นจากการกดขี่ทางศาสนา
[ที่มาของภาพ]
By permission of The Huguenot Library, Huguenot Society of Great Britain and Ireland, London
[รูปภาพหน้า 26]
การเพิกถอนราชกฤษฎีกาแห่งนองเต, 1685 (หน้าแรกของประกาศการเพิกถอน)
[ที่มาของภาพ]
Documents conservés au Centre Historique des Archives nationales à Paris
[รูปภาพหน้า 26]
โบสถ์โปรเตสแตนต์หลายแห่งถูกทำลาย
[ที่มาของภาพ]
© Cliché Bibliothèque Nationale de France, Paris