จงติดสนิทอยู่กับการปกครองตามระบอบของพระเจ้า
“พระยะโฮวาทรงเป็นผู้พิพากษาของเรา พระยะโฮวาทรงเป็นผู้บัญญัติกฎหมายของเรา พระยะโฮวาทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของเรา.”—ยะซายา 33:22, ล.ม.
1. เหตุใดคนส่วนใหญ่สนใจเรื่องรัฐบาล?
รัฐบาลเป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจกันมาก. รัฐบาลที่ดีทำให้เกิดสันติสุขและความรุ่งเรือง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวดังนี้: “โดยการยุติธรรมกษัตริย์ย่อมตั้งแผ่นดินให้มั่นคง.” (สุภาษิต 29:4) ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลที่ไม่ดีทำให้เกิดความอยุติธรรม, การทุจริต, และการกดขี่. “เมื่อคนชั่วขึ้นปกครอง, ราษฎรต่างก็ถอนใจใหญ่.” (สุภาษิต 29:2) ตลอดประวัติศาสตร์ มนุษย์ได้ทดลองการปกครองมากมายหลายแบบ ทว่า น่าเศร้าที่บ่อยครั้งราษฎรต้อง “ถอนใจใหญ่” เนื่องด้วยการกดขี่ของพวกผู้ปกครองบ้านเมือง. (ท่านผู้ประกาศ 8:9) จะมีการปกครองแบบใดไหมที่ประสบผลสำเร็จในการนำความอิ่มใจพอใจอย่างถาวรมาสู่ราษฎร?
2. ทำไมคำว่า “ทีโอคราซี” จึงให้ภาพพรรณนาที่เหมาะกับการปกครองของยิศราเอลในสมัยโบราณ?
2 โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงรัฐบาลหนึ่งที่ไม่เหมือนรัฐบาลใดโดยเขียนดังนี้: “บางคนมอบอำนาจสูงสุดทางการเมืองให้แก่การปกครองแบบราชาธิปไตย ส่วนคนอื่นมอบให้แก่การปกครองแบบคณาธิปไตย แต่ก็มีอีกหลายคนที่มอบอำนาจให้แก่มวลชน. อย่างไรก็ตาม ผู้บัญญัติกฎหมายของเรา [โมเซ] หาได้ศรัทธาในองค์การทางการเมืองเหล่านี้ไม่ว่าแบบใด แต่ได้จัดให้มีโครงสร้างอย่างที่หากยอมให้เรียกก็อาจเรียกได้ว่า ‘ทีโอคราซี’ เพื่อใช้กับรัฐธรรมนูญที่ท่านเขียนขึ้น โดยมอบอำนาจอธิปไตยและอำนาจสิทธิ์ขาดทั้งมวลไว้ในพระหัตถ์ของพระเจ้า.” (ต่อต้านอะพิโอน เล่มสอง หน้า 164-165) ตามในพจนานุกรมคอนไซส์ ออกซฟอร์ด ทีโอคราซีหมายถึง “ระบอบการปกครองโดยพระเจ้า.” คำนี้ไม่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิล แต่ใช้พรรณนาถึงการปกครองของชาติยิศราเอลโบราณได้อย่างเหมาะเจาะ. แม้ว่าได้เปลี่ยนมามีกษัตริย์ที่ประจักษ์ด้วยตา แต่ผู้ปกครองที่แท้จริงของพวกเขาคือพระยะโฮวา. ยะซายาผู้พยากรณ์ชาวยิศราเอลกล่าวดังนี้: “พระยะโฮวาทรงเป็นผู้พิพากษาของเรา พระยะโฮวาทรงเป็นผู้บัญญัติกฎหมายของเรา พระยะโฮวาทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของเรา.”—ยะซายา 33:22, ล.ม.
ทีโอคราซีที่แท้จริงเป็นเช่นไร?
3, 4. (ก) ทีโอคราซีที่แท้จริงเป็นเช่นไร? (ข) ในอีกไม่ช้า การปกครองตามระบอบของพระเจ้าจะนำพระพรอะไรมาสู่มนุษยชาติทั้งมวล?
3 นับแต่ที่โยเซฟุสคิดคำนี้ขึ้นมา ก็มีสังคมหลายแห่งได้ชื่อว่าปกครองโดยระบอบทีโอคราซี. สังคมเหล่านี้บางแห่งดูเหมือนจะไม่ยอมให้มีเสรีภาพทางศาสนา, บ้าคลั่ง, และกดขี่อย่างโหดร้าย. สังคมเหล่านี้ปกครองโดยระบอบทีโอคราซีอย่างแท้จริงไหม? ไม่ใช่ตามความหมายที่โยเซฟุสใช้คำนี้. ปัญหาก็คือว่า ได้มีการขยายความหมายของคำ “ทีโอคราซี” นี้. สารานุกรม เดอะ เวิลด์ บุ๊ก นิยามคำนี้ว่าเป็น “การปกครองระบอบหนึ่งซึ่งนักบวชหรือคณะนักบวชเป็นผู้ปกครองรัฐ และสมาชิกของชนชั้นนักบวชมีอำนาจในกิจการด้านพลเรือนและศาสนา.” อย่างไรก็ตาม ทีโอคราซีที่แท้จริงไม่ใช่รัฐบาลที่ปกครองโดยคณะนักบวช. แท้จริงแล้ว ทีโอคราซีเป็นการปกครองโดยพระเจ้า การปกครองโดยพระผู้สร้างเอกภพ พระยะโฮวาพระเจ้า.
4 อีกไม่ช้า แผ่นดินโลกทั้งสิ้นจะอยู่ใต้การปกครองตามระบอบของพระเจ้า และเมื่อนั้นจะเป็นพระพรสักเพียงไร! “พระเจ้าเองจะทรงอยู่กับ [มนุษยชาติ]. และพระองค์จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของพวกเขา และความตายจะไม่มีอีกต่อไป ทั้งความทุกข์โศกหรือเสียงร้องหรือความเจ็บปวดจะไม่มีอีกเลย. สิ่งที่เคยมีอยู่เดิมนั้นผ่านพ้นไปแล้ว.” (วิวรณ์ 21:3, 4, ล.ม.) ไม่มีการปกครองใดโดยนักบวชที่เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดความสุขเช่นนั้นได้. เฉพาะแต่การปกครองของพระเจ้าเท่านั้นที่ทำได้. ฉะนั้น คริสเตียนแท้ไม่พยายามก่อตั้งทีโอคราซีด้วยการดำเนินการทางการเมือง. พวกเขาคอยท่าอย่างอดทนให้พระเจ้าทรงก่อตั้งการปกครองตามระบอบของพระองค์ขึ้นทั่วโลกตามเวลากำหนดและวิธีการของพระองค์เอง.—ดานิเอล 2:44.
5. ปัจจุบัน การปกครองตามระบอบของพระเจ้าที่แท้จริงดำเนินงานอยู่ที่ไหน และเกิดมีคำถามอะไรขึ้นมาเกี่ยวกับการปกครองนี้?
5 อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้การปกครองตามระบอบของพระเจ้าที่แท้จริงกำลังดำเนินงานอยู่. ที่ไหนล่ะ? ในท่ามกลางคนที่เต็มใจยอมตัวอยู่ใต้การปกครองของพระเจ้าและร่วมมือกันทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. ผู้ซื่อสัตย์เช่นนั้นได้ถูกรวบรวมเข้ามาเป็น “ประเทศ” ฝ่ายวิญญาณซึ่งครอบคลุมไปทั่วโลก ใน “ดินแดน” ทางฝ่ายวิญญาณของประเทศนี้. คนเหล่านี้ได้แก่ชนที่เหลือแห่ง “ยิศราเอลของพระเจ้า” พร้อมกับเพื่อนคริสเตียนของเขามากกว่าห้าล้านห้าแสนคน. (ยะซายา 66:8, ล.ม.; ฆะลาเตีย 6:16) คนเหล่านี้เป็นราษฎรของพระเยซูคริสต์ กษัตริย์ฝ่ายสวรรค์ผู้ที่พระยะโฮวาพระเจ้า “พระมหากษัตริย์แห่งนิรันดรกาล” ได้ทรงตั้งไว้ให้ครองราชบัลลังก์. (1 ติโมเธียว 1:17, ล.ม.; วิวรณ์ 11:15, ล.ม.) องค์การนี้เป็นองค์การตามระบอบของพระเจ้าในทางใด? สมาชิกขององค์การนี้มีทัศนะต่ออำนาจของรัฐบาลฝ่ายโลกอย่างไร? และหลักการของการปกครองตามระบอบของพระเจ้าได้รับการธำรงไว้โดยมนุษย์ที่ใช้อำนาจหน้าที่ภายในชาติฝ่ายวิญญาณของตนอย่างไร?
องค์การตามระบอบของพระเจ้า
6. องค์การที่เห็นได้อันประกอบด้วยมนุษย์จะปกครองโดยพระเจ้าได้โดยวิธีใด?
6 องค์การของมนุษย์จะปกครองโดยพระยะโฮวาผู้สถิตอยู่ในสวรรค์ที่ไม่ปรากฏแก่ตาได้อย่างไร? (บทเพลงสรรเสริญ 103:19) เป็นไปได้โดยคนซึ่งสมทบอยู่กับองค์การนี้ทำตามคำแนะนำที่มีขึ้นโดยการดลใจที่ว่า “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง.” (สุภาษิต 2:6; 3:5) พวกเขายอมให้พระเจ้าปกครองในขณะที่เขาถือรักษา “พระบัญญัติของพระคริสต์” และใช้หลักการของคัมภีร์ไบเบิลที่มีขึ้นโดยการดลใจในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน. (ฆะลาเตีย 6:2; 1 โกรินโธ 9:21; 2 ติโมเธียว 3:16; โปรดดูมัดธาย 5:22, 28, 39; 6:24, 33; 7:12, 21.) เพื่อจะทำได้อย่างนี้ พวกเขาต้องเป็นนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. (บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3) เช่นเดียวกับชาวเมืองเบรอยะในสมัยโน้นที่ “มีจิตใจสูง” พวกเขาไม่ติดตามมนุษย์ แต่ตรวจสอบความจริงของเรื่องต่าง ๆ ที่เขาเรียนในคัมภีร์ไบเบิลอยู่เป็นประจำ. (กิจการ 17:10, 11; บทเพลงสรรเสริญ 119:33-36) พวกเขาอธิษฐานเช่นเดียวกับท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญดังนี้: “ขอทรงสอนความดีแก่ข้าพเจ้า ความมีเหตุผลและความรู้เช่นนั้นแหละ เพราะข้าพเจ้าได้สำแดงความเชื่อในข้อบัญญัติของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:66, ล.ม.
7. ลำดับของการปกครองในระบอบของพระเจ้าเป็นเช่นไร?
7 ในทุกองค์การ ต้องมีบางคนที่ใช้อำนาจตามหน้าที่หรือให้การชี้นำ. พยานพระยะโฮวาก็เช่นเดียวกัน พวกเขาปฏิบัติตามโครงสร้างในเรื่องอำนาจหน้าที่ตามที่อัครสาวกเปาโลกล่าวสรุปไว้ว่า “พระคริสต์เป็นศีรษะของชายทุกคน, และชายเป็นศีรษะของหญิง, และพระเจ้าเป็นศีรษะของพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 11:3) สอดคล้องกับเรื่องนี้ เฉพาะชายที่มีคุณวุฒิเท่านั้นรับใช้ในฐานะผู้ปกครองในประชาคม. และแม้ว่าพระเยซูผู้เป็น “ศีรษะของชายทุกคน” ประทับอยู่ในสวรรค์ แต่ “ผู้ที่เหลืออยู่” แห่งพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระองค์ที่มีความหวังจะปกครองกับพระองค์ในสวรรค์ก็ยังคงอยู่บนแผ่นดินโลก. (วิวรณ์ 12:17; 20:6, ล.ม.) คนเหล่านี้ประกอบกันขึ้นเป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” คริสเตียนยอมอยู่ใต้อำนาจพระเยซู ซึ่งก็เท่ากับยอมอยู่ใต้อำนาจพระยะโฮวาผู้เป็นประมุขของพระเยซูด้วย โดยยอมรับการดูแลจากชนจำพวก “ทาส.” (มัดธาย 24:45-47; 25:40, ล.ม.) เมื่อเป็นอย่างนี้ การปกครองตามระบอบของพระเจ้าจึงเป็นระเบียบเรียบร้อย. “พระเจ้ามิใช่พระเจ้าแห่งความยุ่งเหยิง แต่เป็นพระเจ้าแห่งสันติสุข.”—1 โกรินโธ 14:33, ล.ม.
8. คริสเตียนผู้ปกครองสนับสนุนหลักการของระบอบของพระเจ้าอย่างไร?
8 คริสเตียนผู้ปกครองสนับสนุนหลักการตามระบอบของพระเจ้า เนื่องจากเขาตระหนักว่าเขารับผิดชอบต่อพระยะโฮวาสำหรับวิธีที่เขาใช้อำนาจหน้าที่ของตนที่มีขอบเขตจำกัด. (เฮ็บราย 13:17) และในการตัดสินใจ เขาอาศัยสติปัญญาของพระเจ้า ไม่ใช่ของตัวเอง. ในแง่นี้ เขาติดตามตัวอย่างของพระเยซู. พระองค์ทรงเป็นบุรุษที่ฉลาดสุขุมที่สุดที่เคยมีชีวิตบนโลก. (มัดธาย 12:42) ถึงกระนั้น พระองค์ตรัสบอกพวกยิวดังนี้: “พระบุตรจะทำสิ่งใดตามความริเริ่มของตนเองไม่ได้เลย เว้นแต่ที่ได้เห็นพระบิดาทรงกระทำ.” (โยฮัน 5:19, ล.ม.) นอกจากนี้ ผู้ปกครองมีเจตคติแบบเดียวกับกษัตริย์ดาวิดด้วย. กษัตริย์ดาวิดใช้อำนาจเพื่อทำหน้าที่อันสำคัญยิ่งตามระบอบของพระเจ้า. กระนั้น ท่านต้องการจะติดตามแนวทางของพระยะโฮวา ไม่ใช่ตามแนวทางของท่านเอง. ท่านอธิษฐานดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา ขอโปรดสั่งสอนข้าพเจ้าให้รู้จักวิถีทางของพระองค์ และทรงนำข้าพเจ้าไปตามทางแห่งความซื่อตรง.”—บทเพลงสรรเสริญ 27:11, ล.ม.
9. เกี่ยวกับความหวังและสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าซึ่งแตกต่างกันนั้น คริสเตียนที่อุทิศตัวมีทัศนะที่สมดุลเช่นไร?
9 บางคนถามว่า ยุติธรรมไหมที่เฉพาะชายที่มีคุณวุฒิเท่านั้นได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในประชาคม หรือยุติธรรมไหมที่บางคนมีความหวังฝ่ายสวรรค์ในขณะที่คนอื่นมีความหวังฝ่ายแผ่นดินโลก. (บทเพลงสรรเสริญ 37:29; ฟิลิปปอย 3:20) อย่างไรก็ตาม คริสเตียนที่อุทิศตัวตระหนักว่าการจัดเตรียมเหล่านี้มีระบุไว้ในพระคำของพระเจ้า. การจัดเตรียมเหล่านี้เป็นไปตามระบอบของพระเจ้า. หากจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดเตรียมเหล่านี้ ก็มักมาจากคนที่ไม่ยอมรับหลักการของคัมภีร์ไบเบิล. นอกจากนี้ คริสเตียนทราบว่าชายและหญิงเท่าเทียมกันในสายพระเนตรของพระยะโฮวาในเรื่องความรอด. (ฆะลาเตีย 3:28) สำหรับคริสเตียนแท้แล้ว การเป็นผู้นมัสการองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพเป็นสิทธิพิเศษสูงสุดเท่าที่จะมีได้ และเขามีความสุขที่ได้มีส่วนในบทบาทหน้าที่ใดก็ตามที่พระยะโฮวาทรงวางไว้ให้เขา. (บทเพลงสรรเสริญ 31:23; 84:10; 1 โกรินโธ 12:12, 13, 18) นอกจากนั้น ชีวิตนิรันดร์ไม่ว่าจะในสวรรค์หรือบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานต่างก็เป็นความหวังอันวิเศษสุดอย่างแท้จริง.
10. (ก) โยนาธานแสดงเจตคติที่ดีเช่นไร? (ข) คริสเตียนในปัจจุบันแสดงเจตคติแบบเดียวกับโยนาธานอย่างไร?
10 ฉะนั้น พยานพระยะโฮวาก็คล้ายกันกับโยนาธานผู้เกรงกลัวพระเจ้า ราชบุตรของกษัตริย์ซาอูล. โยนาธานน่าจะเป็นกษัตริย์ที่ดีเยี่ยมได้. แต่เนื่องจากความไม่ซื่อสัตย์ของซาอูล พระยะโฮวาทรงเลือกดาวิดให้เป็นกษัตริย์องค์ที่สองของยิศราเอล. โยนาธานรู้สึกขมขื่นด้วยเรื่องนี้ไหม? ไม่เลย. ท่านกลายมาเป็นสหายที่ดีของดาวิดและถึงกับช่วยปกป้องดาวิดไว้จากซาอูล. (1 ซามูเอล 18:1; 20:1-42) ในทำนองเดียวกัน คนที่มีความหวังฝ่ายแผ่นดินโลกไม่อิจฉาคนที่มีความหวังฝ่ายสวรรค์. และคริสเตียนแท้ไม่อิจฉาคนที่มีอำนาจตามระบอบของพระเจ้าในประชาคม. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขา “คำนึงถึงเขามากเป็นพิเศษด้วยความรัก” โดยตระหนักว่าคนเหล่านี้ทำงานหนักเพื่อประโยชน์ของพี่น้องฝ่ายวิญญาณ.—1 เธซะโลนิเก 5:12, 13, ล.ม.
ทัศนะตามระบอบของพระเจ้าในเรื่องการปกครองฝ่ายโลก
11. คริสเตียนที่ยอมตัวอยู่ใต้การปกครองตามระบอบของพระเจ้ามีทัศนะอย่างไรต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมือง?
11 ในเมื่อพยานพระยะโฮวาอยู่ภายใต้การปกครองตามระบอบของพระเจ้า พวกเขามีทัศนะอย่างไรต่อผู้ปกครองบ้านเมือง? พระเยซูตรัสว่าสาวกของพระองค์ “ไม่เป็นส่วนของโลก.” (โยฮัน 17:16, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม คริสเตียนตระหนักว่าเขาเป็นหนี้ “ซีซาร์” หรือรัฐบาลฝ่ายโลก. พระเยซูตรัสว่า “ของของซีซาร์ จงใช้คืนแก่ซีซาร์ แต่ของของพระเจ้าแด่พระเจ้า.” (มัดธาย 22:21, ล.ม.) ตามที่มีกล่าวในคัมภีร์ไบเบิล รัฐบาลมนุษย์ “ตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงต่ำโดยพระเจ้า.” พระยะโฮวาผู้เป็นที่มาของอำนาจทั้งสิ้นทรงอนุญาตให้รัฐบาลทั้งหลายดำรงอยู่ และพระองค์ทรงคาดหมายว่ารัฐบาลเหล่านี้จะทำดีต่อคนที่อยู่ใต้อำนาจของเขา. เมื่อเขาทำอย่างนั้น เขาก็เป็น “ผู้รับใช้ของพระเจ้า.” คริสเตียนยอมอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลที่ปกครองประเทศที่เขาอยู่ “เพราะเหตุสติรู้สึกผิดชอบของ [เขา].” (โรม 13:1-7, ล.ม.) แน่นอน หากรัฐเรียกร้องสิ่งที่ขัดกับกฎหมายของพระเจ้า คริสเตียนจะ “เชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์.”—กิจการ 5:29, ล.ม.
12. เมื่อคริสเตียนถูกเจ้าหน้าที่ข่มเหง เขาปฏิบัติตามตัวอย่างของใคร?
12 จะว่าอย่างไรเมื่อคริสเตียนแท้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลกดขี่? หากเป็นอย่างนั้น เขาก็จะติดตามตัวอย่างของคริสเตียนในสมัยแรกที่อดทนช่วงที่ประสบการกดขี่ข่มเหงมากมายหลายครั้ง. (กิจการ 8:1; 13:50) การทดสอบความเชื่อเหล่านี้หาใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมายไม่ เพราะพระเยซูได้ทรงเตือนไว้แล้วว่าจะต้องเกิดการทดสอบเช่นนี้. (มัดธาย 5:10-12; มาระโก 4:17) กระนั้น คริสเตียนในสมัยแรกไม่ได้โต้ตอบผู้ที่กดขี่เขา; ทั้งความเชื่อของเขาก็ไม่ได้อ่อนลงแม้อยู่ใต้ความกดดัน. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เขาปฏิบัติตามตัวอย่างของพระเยซู คือ “ครั้นเขากล่าวคำหยาบคายต่อพระองค์, พระองค์ไม่ได้กล่าวคำหยาบคายตอบแทนเลย เมื่อพระองค์ได้ทรงทนเอาการร้ายเช่นนั้น, พระองค์ไม่ได้ขู่ตวาด แต่ทรงฝากความของพระองค์ไว้แก่พระเจ้าผู้ทรงพิพากษาโดยชอบธรรม.” (1 เปโตร 2:21-23) ถูกแล้ว หลักการคริสเตียนมีชัยเหนือการปลุกปั่นของซาตาน—โรม 12:21.
13. พยานพระยะโฮวาตอบโต้การกดขี่และให้ร้ายป้ายสีโดยวิธีใด?
13 ในปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน. ในระหว่างศตวรรษนี้พยานพระยะโฮวาได้ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อนมากมายด้วยน้ำมือของผู้ปกครองทรราช สมจริงดังที่พระเยซูทรงตรัสไว้ล่วงหน้า. (มัดธาย 24:9, 13) ในบางประเทศ มีการแพร่คำโกหกและปล่อยข่าวลือให้เข้าใจผิด ๆ โดยคนที่พยายามจะกดดันให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเล่นงานคริสเตียนที่ซื่อสัตย์เหล่านี้. ถึงกระนั้น แม้ประสบ “เวลาลือกันว่าชั่ว” พยานฯ แนะนำตัวเองโดยการประพฤติอันดีงามของเขาว่าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า. (2 โกรินโธ 6:4, 8) เมื่อใดที่ทำได้ เขาก็จะยื่นคดีต่อเจ้าหน้าที่และต่อศาลของประเทศเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตน. เขาจะใช้ช่องทางใดก็ตามที่เปิดให้เพื่อปกป้องกิตติคุณต่อสาธารณชน. (ฟิลิปปอย 1:7) แต่เมื่อได้ทำทุกสิ่งที่สามารถทำได้ตามกฎหมายแล้ว เขาก็ปล่อยให้พระยะโฮวาทรงจัดการ. (บทเพลงสรรเสริญ 5:8-12; สุภาษิต 20:22) หากจำเป็น เขาก็ไม่กลัวที่จะทนรับความลำบากเพื่อเห็นแก่ความชอบธรรมเช่นเดียวกับคริสเตียนในสมัยแรก.—1 เปโตร 3:14-17; 4:12-14, 16.
จงถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าเป็นอันดับแรก
14, 15. (ก) คนที่สนับสนุนหลักการตามระบอบของพระเจ้าจัดให้อะไรมาเป็นอันดับแรก? (ข) ในโอกาสใดที่ซะโลโมวางตัวอย่างที่ดีในเรื่องความถ่อมในตำแหน่งหน้าที่ของท่าน?
14 เมื่อพระเยซูทรงสอนสาวกให้อธิษฐาน สิ่งแรกที่พระองค์ทรงเอ่ยถึงได้แก่การขอให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. (มัดธาย 6:9) สอดคล้องกับข้อนี้ คนที่ดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองตามระบอบของพระเจ้ามุ่งถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า ไม่ใช่เพื่อเกียรติยศสำหรับตัวเอง. (บทเพลงสรรเสริญ 29:1, 2) คัมภีร์ไบเบิลแจ้งว่าในศตวรรษแรก เรื่องนี้เป็นหินสะดุดสำหรับบางคนซึ่งปฏิเสธที่จะติดตามพระเยซูเพราะ “เขารักความสรรเสริญของมนุษย์” เขาชอบการยกย่องให้เกียรติจากมนุษย์. (โยฮัน 12:42, 43) จริงทีเดียว ต้องมีความถ่อมจึงจะสามารถเชิดชูพระยะโฮวายิ่งกว่าจะถือว่าตัวเองสำคัญ.
15 ซะโลโมแสดงเจตคติที่ดีในเรื่องนี้. ขอให้เปรียบเทียบกันดูระหว่างคำพูดของท่านในคราวการอุทิศพระวิหารอันสง่างามที่ท่านได้สร้างขึ้นกับคำพูดที่นะบูคัดเนซัรกล่าวเกี่ยวกับความสำเร็จอันเกริกก้องแห่งปราสาทราชวังของเขา. ด้วยความยโสโอหัง นะบูคัดเนซัรโอ้อวดดังนี้: “กรุงบาบูโลนใหญ่ไพศาลนี้มิใช่หรือที่เราได้สร้างไว้ให้เป็นราชฐานด้วยอานุภาพอันใหญ่หลวงของเรา, ไว้เป็นที่ผดุงสง่าราศีแห่งรัชของเรา?” (ดานิเอล 4:30) ตรงกันข้าม ซะโลโมกล่าวถึงความสำเร็จของท่านอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนดังนี้: “พระเจ้าจะทรงสถิตอยู่กับมนุษย์ที่แผ่นดินโลกจริงหรือ? ดูเถิด, ท้องฟ้ากับฟ้าชั้นยอดนั้นยังไม่พอเป็นที่สถิตของพระองค์; โบสถ์วิหารที่ข้าพเจ้าได้สร้างไว้นั้นก็ไม่พอยิ่งกว่านั้นเท่าไร!” (2 โครนิกา 6:14, 15, 18; บทเพลงสรรเสริญ 127:1) ซะโลโมมิได้ยกตัวเอง. ท่านทราบว่าท่านเป็นเพียงตัวแทนของพระยะโฮวา และเขียนว่า “เมื่อความจองหองมาถึงความละอายก็มาด้วย; แต่ปัญญาย่อมอาศัยอยู่กับผู้ถ่อมลง.”—สุภาษิต 11:2.
16. ผู้ปกครองพิสูจน์ตัวอย่างไรว่าเป็นพระพรที่แท้จริงโดยการที่เขาไม่ยกย่องตัวเอง?
16 คริสเตียนผู้ปกครองยกย่องพระยะโฮวาแบบเดียวกัน ไม่ใช่ยกตัวเอง. เขาติดตามคำแนะนำของเปโตรที่ว่า “ถ้าคนใดรับใช้ก็ให้เขารับใช้เสมือนพึ่งอาศัยในกำลังซึ่งพระเจ้าทรงประทานให้; เพื่อพระเจ้าจะได้รับการสรรเสริญในทุกสิ่งโดยทางพระเยซูคริสต์.” (1 เปโตร 4:11, ล.ม.) อัครสาวกเปาโลกล่าวถึง “ตำแหน่งผู้ดูแล” ไม่ใช่ในฐานะเป็นตำแหน่งที่เด่นดัง หากแต่เป็น “การงานที่ดี.” (1 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) ผู้ปกครองได้รับการแต่งตั้งให้รับใช้ ไม่ใช่ให้ใช้อำนาจครอบงำ. เขาเป็นครูและผู้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้า. (กิจการ 20:28; ยาโกโบ 3:1) ผู้ปกครองที่ถ่อมและเสียสละนับเป็นพระพรอย่างแท้จริงสำหรับประชาคม. (1 เปโตร 5:2, 3) “จงนับถือคนเช่นนั้น” และขอบพระคุณพระยะโฮวาที่โปรดจัดให้มีผู้ปกครองที่มีคุณวุฒิหลายคนเพื่อยกชูการปกครองตามระบอบของพระเจ้าใน “สมัยสุดท้าย” นี้.—ฟิลิปปอย 2:29; 2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.
“จงเป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า”
17. คนที่อยู่ภายใต้ระบอบของพระเจ้าเลียนแบบพระเจ้าในแนวทางใดบ้าง?
17 อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเตือนดังนี้: “จงเป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า ดังบุตรที่รัก.” (เอเฟโซ 5:1, ล.ม.) คนที่ยอมอยู่ใต้อำนาจตามระบอบของพระเจ้าพยายามเลียนแบบพระเจ้าเท่าที่มนุษย์ไม่สมบูรณ์จะทำได้. เพื่อเป็นตัวอย่าง คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระยะโฮวาดังนี้: “พระองค์เป็นศิลา กิจการของพระองค์สมบูรณ์พร้อม เพราะทางทั้งปวงของพระองค์ยุติธรรม. พระเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ซึ่งกับพระองค์นั้นไม่มีความอยุติธรรม; พระองค์ทรงชอบธรรมและซื่อตรง.” (พระบัญญัติ 32:3, 4, ล.ม.) เพื่อจะเลียนแบบพระเจ้าในแง่นี้ คริสเตียนพยายามเสริมสร้างความซื่อสัตย์, ความชอบธรรม, และทัศนะที่สมดุลเกี่ยวกับความยุติธรรม. (มีคา 6:8; 1 เธซะโลนิเก 3:6; 1 โยฮัน 3:7) เขาหลีกเลี่ยงหลายสิ่งที่กลายเป็นที่ยอมรับกันในโลก เช่น การผิดศีลธรรม, ความละโมบ, และความไม่รู้จักพอ. (เอเฟโซ 5:5) เนื่องจากผู้รับใช้ของพระยะโฮวาติดตามมาตรฐานของพระเจ้า ไม่ใช่ตามมาตรฐานของมนุษย์ องค์การของพระองค์จึงเป็นไปตามระบอบของพระเจ้า, สะอาด, และดีงาม.
18. คุณลักษณะเด่นของพระเจ้าคืออะไร และคริสเตียนสะท้อนคุณลักษณะนี้อย่างไร?
18 คุณลักษณะเด่นของพระยะโฮวาพระเจ้าคือความรัก. อัครสาวกโยฮันกล่าวว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก.” (1 โยฮัน 4:8) เนื่องจากระบอบของพระเจ้าหมายถึงการปกครองโดยพระเจ้า ระบอบนี้จึงปกครองด้วยความรัก. พระเยซูตรัสดังนี้: “โดยเหตุนี้คนทั้งปวงจะรู้ว่าเจ้าทั้งหลายเป็นสาวกของเรา ถ้าเจ้ามีความรักระหว่างพวกเจ้าเอง.” (โยฮัน 13:35, ล.ม.) องค์การตามระบอบของพระเจ้าได้แสดงออกซึ่งความรักอย่างโดดเด่นในสมัยสุดท้ายที่ยากลำบากนี้. ในช่วงที่มีการต่อสู้ฆ่าล้างชาติพันธุ์ในแอฟริกา พยานพระยะโฮวาแสดงความรักต่อทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ใด. ในช่วงที่เกิดสงครามในอดีตยูโกสลาเวีย พยานพระยะโฮวาทุกแห่งช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในขณะที่กลุ่มศาสนาอื่นเข้าส่วนในการกระทำที่เรียกกันว่าการล้างชาติพันธุ์. ในระดับส่วนตัว พยานพระยะโฮวาพยายามอย่างยิ่งที่จะใช้คำแนะนำของเปาโลที่ว่า “จงให้บรรดาความขมขื่นอย่างมุ่งร้ายและความโกรธเคืองและความโกรธแค้นและการตวาดเสียงและคำพูดหยาบหยามอยู่ห่างจากท่านทั้งหลายรวมทั้งความชั่วทุกอย่าง. แต่จงมีใจกรุณาต่อกัน, มีใจเมตตาอันอ่อนละมุน, ให้อภัยต่อกันด้วยใจกว้างเหมือนดังที่พระเจ้าทรงให้อภัยท่านทั้งหลายด้วยใจกว้างโดยทางพระคริสต์.”—เอเฟโซ 4:31, 32, ล.ม.
19. มีพระพรอะไรทั้งในเวลานี้และในอนาคตสำหรับคนที่ยอมตัวอยู่ภายใต้การปกครองตามระบอบของพระเจ้า?
19 ผู้ที่ยอมตัวอยู่ใต้การปกครองตามระบอบของพระเจ้าได้รับพระพรอันยิ่งใหญ่. คนเหล่านี้มีสันติสุขกับพระเจ้าและกับเพื่อนคริสเตียน. (เฮ็บราย 12:14; ยาโกโบ 3:17) ชีวิตเขามีจุดมุ่งหมาย. (ท่านผู้ประกาศ 12:13) เขามีความมั่นคงปลอดภัยทางฝ่ายวิญญาณตลอดจนมีความหวังที่แน่นอนสำหรับอนาคต. (บทเพลงสรรเสริญ 59:9) จริงทีเดียว เขาได้สัมผัสตัวอย่างของสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง ๆ เมื่อมนุษยชาติทั้งมวลอยู่ภายใต้การปกครองตามระบอบของพระเจ้า. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า เมื่อถึงตอนนั้น “[เขา] เหล่านั้นจะไม่ทำอันตราย, หรือทำความพินาศทั่วไปบนภูเขาอันบริสุทธิ์ของเรา; เพราะแผ่นดินโลกจะเต็มไปด้วยความรู้ฝ่ายพระยะโฮวาดุจน้ำท่วมเต็มมหาสมุทร.” (ยะซายา 11:9) ช่างจะเป็นสมัยที่ยอดเยี่ยมสักเพียงไร! ขอให้เราทำให้แน่ใจว่าจะมีที่สำหรับเราในอุทยานที่จะมีมาโดยการรักษาตัวติดสนิทอยู่กับการปกครองตามระบอบของพระเจ้าเสียแต่บัดนี้.
คุณอธิบายได้ไหม?
▫ การปกครองตามระบอบของพระเจ้าที่แท้จริงคืออะไร และจะพบการปกครองนี้ได้ที่ไหนในปัจจุบัน?
▫ คนเรายอมตัวอยู่ใต้การปกครองตามระบอบของพระเจ้าในชีวิตของเขาอย่างไร?
▫ ทุกคนที่อยู่ใต้การปกครองตามระบอบของพระเจ้ามุ่งถวายพระเกียรติแด่พระเจ้ายิ่งกว่าการทำเพื่อเกียรติยศสำหรับตัวเองอย่างไร?
▫ ผู้ที่สนับสนุนการปกครองตามระบอบของพระเจ้าเลียนแบบคุณลักษณะเยี่ยงพระเจ้าอะไรบ้าง?
[รูปภาพหน้า 17]
ซะโลโมถวายพระเกียรติแด่พระเจ้ายิ่งกว่าการทำเพื่อเกียรติยศสำหรับตัวเอง