พวกแมกคาบีคือใคร?
สำหรับหลายคน ยุคของพวกแมกคาบีเป็นเหมือนกล่องดำที่คั่นระหว่างตอนที่พระธรรมเล่มสุดท้ายของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเขียนเสร็จกับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์. เหมือนกับที่รายละเอียดบางอย่างถูกเปิดเผยเมื่อตรวจดูกล่องดำของเครื่องบินหลังเครื่องบินตก ความเข้าใจบางอย่างก็อาจได้มาโดยการตรวจสอบยุคของพวกแมกคาบีอย่างละเอียด ซึ่งเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปสำหรับชาติยิว.
พวกแมกคาบีคือใคร? พวกเขาก่อผลกระทบลัทธิยูดายอย่างไรก่อนการมาของมาซีฮาตามคำพยากรณ์?—ดานิเอล 9:25, 26.
กระแสคลื่นแห่งคตินิยมกรีก
อะเล็กซานเดอร์มหาราชพิชิตดินแดนต่าง ๆ ตลอดเส้นทางจากกรีซจนถึงอินเดีย (336-323 ก.ส.ศ.). อาณาจักรอันไพศาลของเขาเป็นปัจจัยหนึ่งในการแพร่คตินิยมกรีก คือภาษาและวัฒนธรรมของกรีซ. ข้าราชการและทหารของอะเล็กซานเดอร์แต่งงานกับสตรีในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการรวมวัฒนธรรมของกรีกกับของต่างชาติเข้าด้วยกัน. หลังจากอะเล็กซานเดอร์สิ้นชีพ อาณาจักรของเขาถูกแบ่งกันในหมู่นายพลของเขา. ในตอนต้นศตวรรษที่สอง ก.ส.ศ. อันติโอคุสที่ 3 แห่งราชวงศ์เซลิวคิดชาวกรีกในซีเรียได้ยึดอิสราเอลจากการยึดครองของปโตเลมีชาวกรีกแห่งอียิปต์. ชาวยิวในอิสราเอลได้รับผลกระทบอย่างไรจากการปกครองของชาวกรีก?
นักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งเขียนดังนี้: “เนื่องจากชาวยิวไม่อาจเลี่ยงการติดต่อกับเพื่อนบ้านที่เป็นชาวกรีก และยังไม่อาจเลี่ยงการติดต่อกับชาวยิวด้วยกันที่อยู่ในต่างแดนซึ่งรับเอาคตินิยมกรีก การรับเอาวัฒนธรรมกรีกและแนวคิดแบบกรีกจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจเลี่ยงได้. . . . แค่อยู่ในยุคของกรีกก็ถูกวัฒนธรรมกรีกกลืนเสียแล้ว!” ชาวยิวรับเอาชื่อในภาษากรีก. พวกเขารับเอาธรรมเนียมและการแต่งกายแบบกรีกมากบ้างน้อยบ้าง. พลังที่ซ่อนเร้นของการดูดกลืนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ.
การทุจริตของพวกปุโรหิต
ในหมู่ชาวยิวที่รับผลกระทบจากอิทธิพลกรีกง่ายที่สุดก็คือพวกปุโรหิต. สำหรับปุโรหิตเหล่านั้นหลายคน การยอมรับคตินิยมกรีกหมายถึงการให้โอกาสลัทธิยูดายก้าวหน้าไปพร้อมกับยุคสมัย. ชาวยิวเช่นนั้นคนหนึ่งคือเจสัน (ในภาษาฮีบรูเรียกว่า โยชัว) น้องชายของมหาปุโรหิตโอไนอัสที่ 3. ขณะที่โอไนอัสไปที่อันติออก เจสันให้สินบนพวกผู้มีอำนาจของกรีก. ทำไม? ก็เพื่อจูงใจพวกนั้นให้แต่งตั้งเจสันเป็นมหาปุโรหินแทนโอไนอัส. ผู้ปกครองชาวกรีกในราชวงศ์เซลิวคิดคือ อันติโอคุส เอพิฟาเนส (175-164 ก.ส.ศ.) ยินดีรับสินบน. ผู้ปกครองชาวกรีกไม่เคยเข้าแทรกแซงในเรื่องตำแหน่งมหาปุโรหิตของชาวยิวมาก่อนเลย แต่อันติโอคุสจำเป็นต้องมีเงินทุนสำหรับการทหาร. นอกจากนี้ เขายินดีให้มีผู้นำชาวยิวซึ่งส่งเสริมคตินิยมกรีกด้วยความกระตือรือร้นมากขึ้น. ตามคำขอของเจสัน อันติโอคุสอนุญาตให้ยะรูซาเลมมีสถานะเป็นกรุง (โพลิส) หนึ่งของกรีซ. และเจสันได้สร้างสถานออกกำลังกายให้แห่งหนึ่งซึ่งหนุ่มชาวยิวและแม้แต่พวกปุโรหิตด้วยได้มาแข่งกีฬากัน.
การทรยศย่อมก่อการทรยศ. สามปีต่อมา เมเนเลอัส ซึ่งคงไม่เคยอยู่ในเชื้อสายปุโรหิตเลยได้เสนอสินบนสูงกว่า และเจสันจึงหนีไป. เพื่อจ่ายให้อันติโอคุส เมเนเลอัสได้เอาเงินจำนวนมากจากคลังทรัพย์ของพระวิหาร. เนื่องจากโอไนอัสที่ 3 (ถูกเนรเทศอยู่ในอันติออก) พูดต่อต้านเรื่องนี้ เมเนเลอัสจึงจัดการให้ฆ่าเขาเสีย.
เมื่อมีข่าวลือแพร่ออกไปว่าอันติโอคุสสิ้นชีพ เจสันจึงกลับมายังกรุงยะรูซาเลมพร้อมกับคนหนึ่งพันเพื่อพยายามยึดตำแหน่งมหาปุโรหิตจากเมเนเลอัส. แต่อันติโอคุสไม่ได้สิ้นชีพ. เมื่อได้ยินถึงการลงมือของเจสันและความวุ่นวายในหมู่ชาวยิวซึ่งเป็นการขัดขวางนโยบายต่าง ๆ ของเขาในการแพร่วัฒนธรรมกรีก อันติโอคุสจึงตอบโต้ด้วยความรุนแรง.
อันติโอคุสลงมือ
ในหนังสือของเขาชื่อ พวกแมกคาบี โมเช เพิร์ลมัน เขียนว่า “แม้บันทึกต่าง ๆ ไม่ให้รายละเอียดชัดแจ้ง อันติโอคุสดูเหมือนลงความเห็นว่า การยอมให้ชาวยิวมีเสรีภาพทางศาสนาเป็นความผิดพลาดทางการเมือง. สำหรับเขา การกบฏครั้งหลังสุดในยะรูซาเลมไม่ได้เกิดขึ้นจากแรงกระตุ้นทางศาสนาล้วน ๆ แต่ยังเกิดจากบรรยากาศแบบนิยมอียิปต์ซึ่งแพร่หลายในยูดาย และความคิดทางการเมืองเช่นนี้เคยทำให้เกิดการแสดงออกที่เป็นอันตรายอย่างชัดแจ้ง เพราะมีแต่ชาวยิวเท่านั้นในบรรดาพลเมืองของอันติโอคุสที่ได้แสวงหาและได้รับอนุญาตให้มีการแบ่งแยกทางศาสนาอย่างมากมาย. . . . เขาตัดสินใจว่าเรื่องนี้จะต้องยุติ.”
อับบา เอบัน รัฐบุรุษและผู้คงแก่เรียนชาวอิสราเอลสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาดังนี้: “ในช่วงติด ๆ กันในปี 168 และ 167 [ก.ส.ศ.] ชาวยิวถูกสังหารหมู่, พระวิหารถูกปล้น, กิจปฏิบัติในศาสนาของชาวยิวถูกห้าม. การรับสุหนัตกลายเป็นเรื่องที่อาจมีโทษถึงประหาร การถือวันซะบาโตก็เช่นกัน. การหมิ่นประมาทถึงขีดสุดเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 167 เมื่อมีการตั้งแท่นบูชาสำหรับซูศขึ้นในพระวิหารตามราชโองการของอันติโอคุส และชาวยิวต้องถวายเนื้อหมู ซึ่งเป็นสิ่งมลทินแน่นอนตามกฎหมายของชาวยิว แก่พระของชาวกรีก.” ในช่วงเวลานี้ เมเนเลอัสกับชาวยิวที่รับเอาคตินิยมกรีกคนอื่น ๆ ยังคงอยู่ในตำแหน่งของตน ทำหน้าที่ในพระวิหารซึ่งตอนนี้เป็นมลทิน.
ขณะที่ชาวยิวจำนวนมากยอมรับคตินิยมกรีก มีกลุ่มใหม่ที่เรียกตัวเองว่าฮาซิดิม คือพวกเคร่งศาสนา ได้สนับสนุนการเชื่อฟังพระบัญญัติของโมเซอย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้น. เหล่าสามัญชนซึ่งในตอนนี้รู้สึกสะอิดสะเอียนกับพวกปุโรหิตที่รับเอาคตินิยมกรีก จึงมาเข้ากับพวกฮาซิดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ. ช่วงเวลาแห่งการพลีชีพเพื่อความเชื่อเริ่มขึ้นเมื่อชาวยิวทั่วประเทศถูกบีบให้ปฏิบัติตามธรรมเนียมและการบูชายัญของชาวนอกรีตหรือมิฉะนั้นก็ตาย. หนังสือนอกสารบบของพวกแมกคาบีให้เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับชาย, หญิง, และเด็ก ๆ ที่ยอมตายเสียดีกว่ายอมอะลุ่มอล่วย.
พวกแมกคาบีตอบโต้
ปฏิบัติการรุนแรงของอันติโอคุสกระตุ้นชาวยิวจำนวนมากให้ต่อสู้เพื่อศาสนาของตน. ในเมืองโมดีอินซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของยะรูซาเลม ใกล้กับเมืองลอดในสมัยปัจจุบัน ปุโรหิตชื่อมัตตาเทียสถูกเรียกมาที่ใจกลางเมือง. เนื่องจากมัตตาเทียสได้รับความนับถือจากผู้คนในท้องถิ่นนั้น ผู้แทนกษัตริย์จึงพยายามจูงใจเขาให้มีส่วนร่วมในการบูชายัญแบบนอกรีต เพื่อจะรักษาชีวิตตนเองและเพื่อวางแบบอย่างสำหรับคนอื่น ๆ. เมื่อมัตตาเทียสปฏิเสธ ชาวยิวอีกคนหนึ่งก้าวออกมาและพร้อมจะอะลุ่มอล่วย. ด้วยความรู้สึกโกรธแค้น มัตตาเทียสคว้าอาวุธขึ้นมาฆ่าชายคนนั้น. ด้วยความตกตะลึงเนื่องจากปฏิกิริยาอันรุนแรงของชายสูงอายุผู้นี้ ทหารกรีกจึงตอบโต้ช้า. ในไม่กี่วินาที มัตตาเทียสได้สังหารข้าราชการชาวกรีกด้วย. บุตรชายห้าคนของมัตตาเทียสและชาวเมืองเอาชนะกองทหารกรีกก่อนที่พวกเขาทันป้องกันตัวเองได้.
มัตตาเทียสตะโกนว่า ‘ให้ทุกคนที่มีใจแรงกล้าเพื่อพระบัญญัติตามข้าพเจ้ามา.’ เพื่อหนีให้พ้นการแก้แค้น เขากับบุตรจึงหนีไปยังแถบภูเขา. และเมื่อคำพูดเกี่ยวกับปฏิบัติการของพวกเขาแพร่ออกไป ชาวยิว (ซึ่งรวมทั้งพวกฮาซิดิมจำนวนมาก) จึงเข้าร่วมกับพวกเขา.
มัตตาเทียสแต่งตั้งยูดาห์บุตรชายของตนให้ควบคุมปฏิบัติการทางทหาร. อาจเป็นเพราะความเชี่ยวชาญในการรบของยูดาห์ก็ได้ที่เขาถูกเรียกว่า แมกคาบี ซึ่งหมายถึง “ค้อน.” มัตตาเทียสกับบุตรทั้งห้าถูกเรียกว่าพวกฮัสโมเนียน ชื่อที่ได้จากชื่อเมืองเฮ็ศโมนหรือจากบรรพบุรุษชื่อดังกล่าว. (ยะโฮซูอะ 15:27) แต่เนื่องจากยูดาห์แมกคาบีได้กลายเป็นบุคคลเด่นในช่วงการกบฏ ทั้งครอบครัวจึงถูกเรียกว่าพวกแมกคาบี.
เอาพระวิหารคืน
ในช่วงปีแรกแห่งการกบฏ มัตตาเทียสกับบุตรสามารถจัดกองทัพเล็ก ๆ ขึ้นมากองหนึ่ง. กองทหารกรีกเข้าโจมตีกลุ่มนักสู้ฮาซิดิมในวันซะบาโตมากกว่าหนึ่งครั้ง. แม้พวกเขาสามารถป้องกันตัวเองได้ แต่พวกเขาก็ไม่ยอมละเมิดวันซะบาโต. ดังนั้น การสังหารหมู่จึงเกิดขึ้น. มัตตาเทียส ซึ่งในตอนนี้ถูกถือว่าเป็นผู้มีอำนาจทางศาสนา จึงตั้งกฎขึ้นมาข้อหนึ่งซึ่งอนุญาตให้ชาวยิวป้องกันตัวเองได้ในวันซะบาโต. กฎข้อนี้ไม่เพียงให้หลักการใหม่แก่พวกกบฏเท่านั้น แต่ยังวางแบบแผนไว้ในลัทธิยูดายด้วยในเรื่องการอนุญาตให้ผู้นำศาสนาปรับเปลี่ยนกฎหมายยิวให้เข้ากับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป. คัมภีร์ทัลมุดแสดงถึงแนวโน้มเช่นนี้ในข้อความในสมัยต่อมาดังนี้: “ให้พวกเขาละเมิดซะบาโตหนึ่งเพื่อพวกเขาจะทำให้หลายซะบาโตเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.”—โยมา 85ข.
ภายหลังบิดาผู้ชราสิ้นชีพ ยูดาห์ แมกคาบีได้กลายเป็นผู้นำของพวกกบฏโดยไม่มีใครโต้แย้ง. เมื่อตระหนักว่าตนไม่สามารถจะเอาชนะศัตรูด้วยการรบซึ่งหน้า เขาจึงคิดวิธีการขึ้นใหม่ซึ่งเหมือนการรบแบบกองโจรในสมัยปัจจุบัน. เขาเข้าตีกองทหารของอันติโอคุสในแถบที่พวกนั้นไม่อาจพึ่งวิธีการป้องกันตัวแบบธรรมดาได้. ในการรบหลายครั้งหลายหน ยูดาห์ประสบผลสำเร็จในการเอาชนะกองทหารที่มีกำลังรบมากกว่าฝ่ายตนอย่างท่วมท้น.
เมื่อเผชิญการแข่งขันชิงดีภายในและอำนาจของโรมที่เพิ่มขึ้น พวกผู้ปกครองแห่งจักรวรรดิเซลิวคิดจึงเป็นห่วงน้อยลงในเรื่องการบังคับให้เป็นไปตามราชโองการให้ต่อต้านชาวยิว. เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเปิดช่องให้ยูดาห์บุกเข้าโจมตีถึงประตูกรุงยะรูซาเลมเลยทีเดียว. ในเดือนธันวาคมปี 165 ก.ส.ศ. (หรืออาจเป็นปี 164 ก.ส.ศ.) เขากับกองทหารของเขาได้ยึดเอาพระวิหาร, ชำระภาชนะต่าง ๆ ของพระวิหาร, และทำการอุทิศใหม่—หลังจากพระวิหารถูกล่วงละเมิดสามปีพอดี. ชาวยิวทำการฉลองเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์นี้ทุกปีในช่วงฮานุกกาห์ คือเทศกาลฉลองการอุทิศ.
การเมืองอยู่เหนือความเลื่อมใส
พวกกบฏได้บรรลุเป้าหมายแล้ว. คำสั่งห้ามการปฏิบัติลัทธิยูดายถูกยกเลิก. การนมัสการและการถวายเครื่องบูชาที่พระวิหารได้รับการฟื้นฟู. ถึงตอนนี้ เมื่อเป็นที่พึงพอใจแล้ว พวกฮาซิดิมจึงออกจากกองทัพของยูดาห์ แมกคาบีและกลับบ้าน. แต่ยูดาห์มีความคิดอีกอย่าง. เขามีกองทัพที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี ฉะนั้น เขาน่าจะใช้กองทัพนั้นเพื่อสถาปนารัฐของชาวยิวที่เป็นเอกราชมิใช่หรือ? ถึงตอนนี้ สาเหตุทางศาสนาที่ก่อการกบฏนั้นถูกแทนที่ด้วยแรงกระตุ้นทางการเมือง. ดังนั้น การสู้รบจึงมีต่อไป.
เพื่อหาการสนับสนุนในการต่อสู้ของตนกับการยึดครองของเซลิวคิด ยูดาห์ แมกคาบีจึงทำสนธิสัญญากับโรม. ถึงแม้เขาถูกฆ่าในการรบในปี 160 ก.ส.ศ. พวกน้อง ๆ ของเขาก็สู้ต่อไป. โจนาทานน้องชายยูดาห์พลิกแพลงเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้เหล่าผู้ครองจักรวรรดิเซลิวคิดเห็นชอบกับการแต่งตั้งเขาเป็นมหาปุโรหิตและผู้ปกครองในยูเดีย แม้ว่ายังอยู่ใต้อำนาจปกครองของพวกนั้นก็ตาม. เมื่อโจนาทานถูกลวง, ถูกจับ, และถูกฆ่าเนื่องด้วยแผนการของพวกซีเรีย ซิมีโอนน้องชายของเขาซึ่งเป็นน้องชายคนสุดท้องจึงขึ้นมาแทน. ภายใต้การปกครองของซิมีโอน ร่องรอยท้าย ๆ ของการยึดครองของจักรวรรดิเซลิวคิดก็ถูกขจัดออกไป (ในปี 141 ก.ส.ศ.). ซิมีโอนฟื้นความเป็นพันธมิตรกับโรมขึ้นอีกและพวกผู้นำชาวยิวยอมรับเขาเป็นผู้ปกครองและมหาปุโรหิต. ด้วยเหตุนี้ ราชวงศ์ฮัสโมเนียนที่เป็นเอกราชจึงถูกสถาปนาด้วยน้ำมือของพวกแมกคาบี.
พวกแมกคาบีได้ตั้งการนมัสการขึ้นอีก ณ พระวิหารก่อนการมาของมาซีฮา. (เทียบกับโยฮัน 1:41, 42; 2:13-17.) แต่ก็เหมือนกับที่ความมั่นใจในคณะปุโรหิตถูกทำลายไปโดยการปฏิบัติของพวกปุโรหิตที่รับเอาคตินิยมกรีก ความมั่นใจนั้นถูกสั่นคลอนหนักยิ่งกว่าเสียอีกโดยพวกฮัสโมเนียน. แท้จริงแล้ว การปกครองโดยพวกปุโรหิตที่มีจิตใจมุ่งทางการเมืองแทนที่จะเป็นกษัตริย์จากเชื้อสายของดาวิดผู้ซื่อสัตย์ไม่ได้นำพระพรแท้มาสู่ประชาชนชาวยิวเลย.—2 ซามูเอล 7:16; บทเพลงสรรเสริญ 89:3, 4, 35, 36.
[รูปภาพหน้า 21]
มัตตาเทียส บิดาของยูดาห์ แมกคาบี ตะโกนว่า ‘ให้ทุกคนที่มีใจแรงกล้าเพื่อพระบัญญัติตามข้าพเจ้ามา’
[ที่มาของภาพ]
Mattathias appealing to the Jewish refugees/The Doré Bible Illustrations/Dover Publications