ถูกเกลียดชังเพราะความเชื่อของพวกเขา
“คนทั้งปวงจะเกลียดชังท่านเพราะนามของเรา.”—มัดธาย 10:22.
1, 2. คุณจะเล่าประสบการณ์ในชีวิตจริงที่พยานพระยะโฮวาประสบเนื่องด้วยการปฏิบัติความเชื่อทางศาสนาได้ไหม?
เจ้าของร้านที่สุจริตคนหนึ่งที่เกาะครีตถูกจับหลายสิบครั้งและถูกส่งตัวขึ้นศาลแห่งประเทศกรีซครั้งแล้วครั้งเล่า. เมื่อรวมแล้วเขาติดคุกอยู่นานกว่าหกปี ห่างไกลจากภรรยาและลูก ๆ ห้าคน. ที่ประเทศญี่ปุ่น นักเรียนอายุ 17 ปีคนหนึ่งถูกไล่ออกจากโรงเรียน แม้ว่าเขามีความประพฤติดีและมีผลการเรียนดีที่สุดในชั้นซึ่งมีนักเรียน 42 คน. ที่ประเทศฝรั่งเศส หลายคนถูกไล่ออกจากงานอย่างกะทันหัน แม้ว่าพวกเขามีประวัติการทำงานดีเยี่ยมในฐานะคนงานที่ขยันและสำนึกในหน้าที่. ประสบการณ์ในชีวิตจริงเหล่านี้มีอะไรที่เหมือนกัน?
2 ทุกคนที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นพยานพระยะโฮวา. “อาชญากรรม” ที่เขาทำล่ะ? โดยพื้นฐานแล้ว คือการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา. โดยเชื่อฟังคำสอนของพระเยซูคริสต์ เจ้าของร้านคนนั้นได้บอกความเชื่อของเขาแก่คนอื่น ๆ. (มัดธาย 28:19, 20) เขาถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่โดยใช้กฎหมายข้อหนึ่งของกรีซที่ล้าสมัยซึ่งบัญญัติไว้ว่าการพยายามชักจูงผู้อื่นให้เปลี่ยนศาสนาเป็นความผิดทางอาญา. นักเรียนคนนั้นถูกไล่ออกจากโรงเรียนเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบซึ่งได้รับการอบรมจากคัมภีร์ไบเบิลไม่อนุญาตให้เขาเข้าร่วมในการฝึกเคนโด (วิชาดาบญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นวิชาบังคับ. (ยะซายา 2:4) และคนที่ถูกไล่ออกจากงานที่ประเทศฝรั่งเศสได้รับแจ้งว่าเหตุผลประการเดียวที่พวกเขาถูกไล่ออกก็คือการที่เขาแสดงตัวว่าเป็นพยานพระยะโฮวา.
3. เหตุใดการประสบความทุกข์ยากอย่างหนักโดยน้ำมือของผู้อื่นไม่ค่อยได้เกิดขึ้นกับพยานพระยะโฮวาส่วนใหญ่?
3 ประสบการณ์อันเลวร้ายเช่นนั้นเป็นตัวอย่างของสิ่งที่พยานพระยะโฮวาในบางประเทศต้องทนรับในระยะหลัง ๆ นี้. อย่างไรก็ตาม สำหรับพยานพระยะโฮวาส่วนใหญ่แล้ว การประสบความทุกข์หนักโดยน้ำมือของผู้อื่นไม่ค่อยได้เกิดขึ้น. ไพร่พลพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกเนื่องด้วยความประพฤติที่ดี อันเป็นชื่อเสียงซึ่งทำให้ใครก็ตามที่ต้องการทำอันตรายแก่พวกเขาไม่มีเหตุผลที่ฟังขึ้น. (1 เปโตร 2:11, 12) พวกเขาไม่คบคิดกันวางแผนร้ายหรือยุ่งเกี่ยวในพฤติกรรมที่ก่อความเสียหาย. (1 เปโตร 4:15) ตรงกันข้าม พวกเขาพยายามดำเนินชีวิตตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลที่ให้ยอมอยู่ในอำนาจของพระเจ้าเป็นอันดับแรก ถัดลงมาคือยอมอยู่ในอำนาจรัฐบาลฝ่ายโลก. พวกเขาเสียภาษีที่กฎหมายเรียกร้องและพยายามอย่างยิ่งที่จะ “รักษาสันติสุขกับคนทั้งปวง.” (โรม 12:18, ล.ม.; 13:6, 7; 1 เปโตร 2:13-17) ในงานสอนคัมภีร์ไบเบิล พวกเขาสนับสนุนส่งเสริมให้ถือรักษากฎหมาย, ค่านิยมในครอบครัว, และหลักศีลธรรมอันดี. หลายรัฐบาลได้ชมเชยพวกเขาว่าเป็นพลเมืองที่เคารพกฎหมาย. (โรม 13:3) กระนั้น ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในย่อหน้าแรกของเรื่องนี้ บางครั้งพวกเขาตกเป็นเป้าของการต่อต้าน—ในบางประเทศ ถึงกับถูกรัฐบาลสั่งห้าม. นั่นควรทำให้เราประหลาดใจไหม?
“ราคา” ของการเป็นสาวก
4. ตามคำตรัสของพระเยซู คนเราอาจคาดหมายอะไรเมื่อเข้ามาเป็นสาวกของพระองค์?
4 พระเยซูคริสต์ไม่ได้ทรงทิ้งไว้ให้สงสัยถึงสิ่งที่จะเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการเป็นสาวกของพระองค์. พระองค์ทรงบอกเหล่าสาวกว่า “ทาสไม่ใหญ่กว่านายของตน. ถ้าเขาได้ข่มเหงเรา เขาก็จะข่มเหงเจ้าด้วย.” พระเยซูทรงถูกเกลียดชัง “โดยไร้เหตุ.” (โยฮัน 15:18-20, 25, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ [สดุดี] 69:4, ฉบับแปลใหม่; ลูกา 23:22) เหล่าสาวกของพระองค์สามารถคาดหมายสิ่งเดียวกัน คือการต่อต้านโดยไม่มีมูลเหตุอันควร. พระองค์ทรงเตือนพวกเขามากกว่าหนึ่งครั้งว่า “ท่านจะตกเป็นเป้าแห่งความเกลียดชัง.”—มัดธาย 10:22; 24:9, ล.ม.
5, 6. (ก) เพราะเหตุใดพระเยซูจึงทรงกระตุ้นเตือนคนเหล่านั้นที่จะเป็นสาวกให้ “คิดราคา”? (ข) ถ้าอย่างนั้น เพราะเหตุใดเราไม่ควรแปลกใจเมื่อเราประสบการต่อต้าน?
5 ด้วยเหตุนั้น พระเยซูทรงกระตุ้นคนที่จะเป็นผู้ติดตามพระองค์ให้ “คิดราคา” ของการเป็นสาวก. (ลูกา 14:28) เพราะเหตุใด? ไม่ใช่เพื่อจะตัดสินใจว่าเขาควรเข้ามาเป็นสาวกของพระองค์หรือไม่ แต่เพื่อจะได้ตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำในสิ่งที่เกี่ยวข้องให้สำเร็จ. เราต้องเตรียมพร้อมเพื่อจะอดทนการทดลองหรือความยากลำบากใด ๆ ที่มาพร้อมกับสิทธิพิเศษนี้. (ลูกา 14:27) ไม่มีใครบังคับเราให้รับใช้พระยะโฮวาในฐานะสาวกของพระคริสต์. เป็นการตัดสินใจโดยสมัครใจ; และเป็นการตัดสินใจที่อยู่บนฐานของความรู้ ด้วย. เราทราบอยู่ก่อนแล้วว่านอกเหนือจากพระพรที่เราจะได้รับจากการเข้าสู่สัมพันธภาพที่ได้อุทิศตัวแด่พระเจ้า เราจะตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง.” ดังนั้น เราไม่แปลกใจเมื่อพบการต่อต้าน. เราได้ “คิดราคา” ไว้แล้ว และเราเตรียมพร้อมเต็มที่ที่จะชำระตามราคานั้น.—1 เปโตร 4:12-14.
6 เหตุใดบางคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางคนด้วย ต้องการต่อต้านคริสเตียนแท้? เพื่อได้คำตอบ ขอให้พิจารณาสองกลุ่มศาสนาในศตวรรษแรกสากลศักราช. ทั้งสองกลุ่มถูกเกลียดชัง—แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างกันมาก.
เกลียดชังและถูกเกลียดชัง
7, 8. คำสอนอะไรซึ่งสะท้อนถึงการเหยียดคนต่างชาติ และยังผลให้มีการพัฒนาเจตคติเช่นไรขึ้นในหมู่ชาวยิว?
7 เมื่อถึงศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช ชาติยิศราเอลอยู่ภายใต้การปกครองของโรม และลัทธิยูดายซึ่งเป็นระบบศาสนาของยิวโดยส่วนใหญ่แล้วตกอยู่ในกำมือที่กดขี่ของพวกผู้นำอย่างพวกอาลักษณ์และฟาริซาย. (มัดธาย 23:2-4) พวกผู้นำที่คลั่งศาสนาเหล่านี้อ้างคำสั่งจากพระบัญญัติของโมเซเกี่ยวกับการอยู่ต่างหากจากชาติต่าง ๆ และบิดเบือนคำสั่งดังกล่าวนี้เพื่อเรียกร้องให้เหยียดคนที่ไม่ใช่ชาวยิว. ด้วยการทำอย่างนั้น พวกเขาได้สร้างศาสนาหนึ่งขึ้นมาซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดความเกลียดชังต่อคนต่างชาติ และในทางกลับกันก็ก่อให้เกิดความเกลียดชังจากคนต่างชาติ.
8 ไม่ใช่เรื่องยากที่ผู้นำชาวยิวจะสั่งสอนให้ดูถูกคนต่างชาติ เนื่องจากชาวยิวในเวลานั้นถือว่าคนต่างชาติเป็นคนชั่วร้าย. พวกหัวหน้าศาสนาสอนว่าห้ามผู้หญิงชาวยิวอยู่ตามลำพังกับคนต่างชาติโดยเด็ดขาด เพราะพวกเขา “ต้องสงสัยว่าหยาบช้าลามก.” ผู้ชายชาวยิวต้องไม่ “อยู่ตามลำพังกับพวกเขาเป็นเวลานาน ๆ เนื่องจากพวกเขาต้องสงสัยว่าทำให้โลหิตตก.” นมที่รีดโดยชาวต่างชาติจะดื่มไม่ได้เว้นไว้แต่มีชาวยิวอยู่ด้วยเพื่อคอยดูวิธีการรีด. โดยได้รับอิทธิพลจากพวกผู้นำของเขา ชาวยิวกลายเป็นชนที่แยกตัวอยู่ต่างหากและมีการกีดกันอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น.—เทียบกับโยฮัน 4:9.
9. คำสอนของพวกผู้นำชาวยิวเกี่ยวข้องกับผู้ที่ไม่ใช่ชาวยิวก่อผลเช่นไร?
9 คำสอนดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับผู้ซึ่งไม่ใช่ชาวยิวย่อมไม่ได้ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวยิวกับคนต่างชาติ. คนต่างชาติจึงเริ่มถือว่าชาวยิวเป็นพวกที่เกลียดชังมนุษยชาติทั้งมวล. ทาซิทุสนักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน (เกิดประมาณปีสากลศักราช 56) กล่าวถึงชาวยิวว่า “พวกเขามองดูมนุษยชาตินอกเหนือจากพวกเขาด้วยความเกลียดชังยิ่งเยี่ยงคนที่เป็นศัตรู.” ทาซิทุสยังอ้างด้วยว่าคนต่างชาติที่เปลี่ยนเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือศาสนายิวถูกสอนให้ปฏิเสธประเทศชาติของตนและถือว่าครอบครัวและเพื่อน ๆ ไร้ค่า. โดยทั่วไปแล้ว ชาวโรมันยอมทนต่อชาวยิวซึ่งมีจำนวนมากพอที่ทำให้พิชิตยาก. แต่การกบฏของชาวยิวในปี ส.ศ. 66 กระตุ้นให้มีการตอบโต้อย่างรุนแรงจากชาวโรมัน ซึ่งนำไปสู่การทำลายกรุงยะรูซาเลมในปี ส.ศ. 70.
10, 11. (ก) พระบัญญัติของโมเซเรียกร้องให้ปฏิบัติต่อคนต่างชาติเช่นไร? (ข) เราได้บทเรียนอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับลัทธิยูดาย?
10 ทัศนะเช่นนั้นต่อชาวต่างชาติเมื่อเทียบกับแบบแห่งการนมัสการที่มีบอกไว้ในพระบัญญัติของโมเซแล้วเป็นอย่างไร? พระบัญญัติส่งเสริมให้แยกอยู่ต่างหากจากชาติต่าง ๆ จริง แต่ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องชาวยิศราเอลเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อปกป้องการนมัสการบริสุทธิ์ของพวกเขา. (ยะโฮซูอะ 23:6-8) แม้กระนั้น พระบัญญัติเรียกร้องให้ปฏิบัติต่อชาวต่างชาติด้วยความยุติธรรมและอย่างไม่ลำเอียงตลอดจนแสดงความเอื้อเฟื้อต่อเขา—ตราบเท่าที่เขามิได้ฝ่าฝืนกฎหมายของชาติยิศราเอลอย่างชัดแจ้ง. (เลวีติโก 24:22) โดยทิ้งเจตนารมณ์แท้จริงซึ่งเปี่ยมด้วยเหตุผลอันเห็นได้ชัดในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนต่างชาติ พวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวในสมัยพระเยซูก่อตั้งแบบแห่งการนมัสการที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดความเกลียดชังและถูกเกลียดชัง. ท้ายที่สุด ชาติยิวในศตวรรษแรกก็สูญเสียความโปรดปรานของพระยะโฮวา.—มัดธาย 23:38.
11 มีบทเรียนสำหรับเราไหมในเรื่องนี้? มีซิ! เจตคติที่ถือว่าตัวเองชอบธรรมและเหนือกว่าซึ่งดูถูกคนที่ไม่ได้มีความเชื่ออย่างเดียวกับเราไม่ใช่การแสดงออกอย่างถูกต้องในการนมัสการบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา อีกทั้งไม่ได้ทำให้พระองค์พอพระทัย. ขอให้พิจารณาดูคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ในศตวรรษแรก. พวกเขาไม่ได้เกลียดคนที่ไม่ใช่คริสเตียน หรือลุกฮือขึ้นกบฏต่อโรม. อย่างไรก็ตาม พวกเขาตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง.” เพราะเหตุใด? และใครเกลียดชังพวกเขา?
คริสเตียนในยุคแรก—ถูกใครเกลียดชัง?
12. พระคัมภีร์แสดงไว้ชัดเจนอย่างไรว่าพระเยซูทรงประสงค์ให้เหล่าสาวกมีทัศนะที่สมดุลต่อผู้ที่ไม่ใช่คริสเตียน?
12 จากคำสอนของพระเยซู จะเห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงประสงค์ให้เหล่าสาวกมีทัศนะที่สมดุลต่อผู้ที่ไม่ใช่คริสเตียน. ในด้านหนึ่งนั้น พระองค์ตรัสว่าสาวกของพระองค์จะแยกอยู่ต่างหากจากโลก กล่าวคือพวกเขาจะเลี่ยงเจตคติและการกระทำที่ขัดกับแนวทางอันชอบธรรมของพระยะโฮวา. พวกเขาจะรักษาตัวเป็นกลางในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสงครามและการเมืองด้วย. (โยฮัน 17:14, 16) ในทางตรงกันข้าม แทนที่จะสอนให้ดูถูกผู้ที่ไม่ใช่คริสเตียน พระเยซูทรงมีรับสั่งให้เหล่าสาวก “รักศัตรู.” (มัดธาย 5:44) อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนดังนี้: “ถ้าศัตรูของท่านหิว จงให้เขากิน; ถ้าเขากระหาย จงให้เขาดื่ม.” (โรม 12:20, ล.ม.) นอกจากนี้ ท่านยังบอกด้วยว่าให้คริสเตียน “กระทำการดีแก่คนทั้งปวง.”—ฆะลาเตีย 6:10.
13. เหตุใดพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวต่อต้านเหล่าสาวกของพระคริสต์อย่างมาก?
13 กระนั้น ไม่ช้าเหล่าสาวกของพระคริสต์ก็พบว่าตัวเองตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง” จากสามแหล่ง. แหล่งแรกได้แก่ พวกหัวหน้าศาสนาชาวยิว. ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่คริสเตียนดึงดูดความสนใจของพวกเขาอย่างรวดเร็ว! คริสเตียนมีมาตรฐานสูงด้านศีลธรรมและความซื่อสัตย์มั่นคง และพวกเขาบอกข่าวสารที่จุดประกายความหวังด้วยใจแรงกล้ายิ่ง. หลายพันคนละทิ้งลัทธิยูดายและรับเอาหลักการคริสเตียน. (กิจการ 2:41; 4:4; 6:7) ในสายตาของพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิว เหล่าสาวกชาวยิวของพระเยซูนั้นเป็นได้ก็แต่เพียงผู้ออกหากเท่านั้น! (เทียบกับกิจการ 13:45.) พวกผู้นำที่โกรธแค้นเหล่านี้รู้สึกว่าศาสนาคริสเตียนหักล้างจารีตประเพณีของพวกเขา. ก็แน่ละ ศาสนานี้ถึงกับปฏิเสธทัศนะของพวกเขาต่อคนต่างชาติ! นับจากปี ส.ศ. 36 เป็นต้นมา ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาเป็นคริสเตียน ร่วมในความเชื่อเดียวกันและรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ แบบเดียวกับคริสเตียนชาวยิว.—กิจการ 10:34, 35.
14, 15. (ก) เหตุใดคริสเตียนถูกผู้นมัสการนอกรีตเกลียดชัง? จงให้ตัวอย่าง. (ข) คริสเตียนในยุคแรกตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง” ของกลุ่มใดซึ่งเป็นกลุ่มที่สาม?
14 แหล่งที่สอง คริสเตียนประสบความเกลียดชังจากผู้นมัสการนอกรีต. ตัวอย่างเช่น ในเมืองเอเฟโซโบราณ ศาลจำลองรูปพระแม่อาร์เทมิสซึ่งทำด้วยเงินเป็นธุรกิจที่ทำกำไรงาม. แต่เมื่อเปาโลประกาศที่นั่น ชาวเอเฟโซจำนวนมากตอบรับและเลิกนมัสการพระแม่อาร์เทมิส. เนื่องจากกระทบกระเทือนการค้าของเขา พวกช่างเงินจึงก่อการจลาจล. (กิจการ 19:24-41) เหตุการณ์คล้าย ๆ กันนี้ได้เกิดขึ้นอีกหลังจากที่ศาสนาคริสเตียนแพร่เข้าไปในบิตุเนีย (ปัจจุบันอยู่ที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของตุรกี). ไม่นานหลังจากที่พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเสร็จสมบูรณ์ พลินีผู้อ่อนวัยกว่าซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งบิตุเนียรายงานว่า วิหารนอกรีตถูกปล่อยทิ้งไว้และการขายฟ่อนหญ้าสำหรับสัตว์บูชายัญซบเซาลงไปมาก. คริสเตียนถูกกล่าวโทษและถูกกดขี่ เนื่องจากการนมัสการของพวกเขาไม่อนุญาตให้ใช้สัตว์บูชายัญและห้ามนมัสการรูปเคารพ. (เฮ็บราย 10:1-9; 1 โยฮัน 5:21) เห็นได้ชัด การขยายตัวของศาสนาคริสเตียนมีผลกระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการนอกรีต และคนที่สูญเสียทั้งการค้าและเงินจึงรู้สึกขุ่นเคืองศาสนาคริสเตียน.
15 แหล่งที่สาม คริสเตียนตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง” ของชาวโรมันเลือดรักชาติ. ตอนแรก ชาวโรมันรู้จักคริสเตียนว่าเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และอาจเข้าใจด้วยว่าเป็นกลุ่มคลั่งศาสนา. ทว่าในเวลาต่อมา เพียงการประกาศตัวว่าเป็นคริสเตียนก็กลายเป็นความผิดที่อาจมีโทษถึงตาย. เหตุใดพลเมืองที่สุจริตซึ่งใช้ชีวิตเป็นคริสเตียนจึงถูกมองว่าสมควรเป็นเหยื่อการกดขี่และความตาย?
คริสเตียนในยุคแรก—ทำไมจึงถูกเกลียดชังในโลกโรมัน?
16. ในทางใดบ้างที่คริสเตียนรักษาตัวอยู่ต่างหากจากโลก และเหตุใดเรื่องนี้ทำให้พวกเขาไม่เป็นที่นิยมชมชอบในโลกโรมัน?
16 ในชั้นแรก คริสเตียนถูกเกลียดชังในโลกโรมันเพราะพวกเขาปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของตน. ตัวอย่างเช่น พวกเขารักษาตัวอยู่ต่างหากจากโลก. (โยฮัน 15:19) ดังนั้น พวกเขาไม่รับตำแหน่งทางการเมือง และปฏิเสธการรับราชการทหาร. ผลก็เป็นอย่างที่เอากุสตุส เนอันเดอร์นักประวัติศาสตร์กล่าวไว้ พวกเขา “ถูกมองว่าเป็นคนที่ตายแล้วต่อโลก และไร้ประโยชน์สำหรับกิจการทุกอย่างของชีวิต.” การไม่เป็นส่วนของโลกยังหมายถึงการหลีกเลี่ยงแนวทางอันชั่วช้าของโลกโรมันที่เสื่อมทรามด้วย. วิลล์ ดูแรนต์นักประวัติศาสตร์อธิบายว่า “ประชาคมคริสเตียนเล็ก ๆ รบกวนความรู้สึกของโลกนอกรีตซึ่งคลั่งไคล้ความเพลิดเพลินเนื่องด้วยความศรัทธาในศาสนาและความประพฤติอันดีงามของพวกเขา.” (1 เปโตร 4:3, 4) ชาวโรมันกดขี่และประหารชีวิตคริสเตียน ซึ่งก็อาจจะด้วยความพยายามจะทำให้เสียงแห่งสติรู้สึกผิดชอบที่รบกวนใจพวกเขาเงียบลง.
17. อะไรแสดงให้เห็นว่างานประกาศของคริสเตียนในศตวรรษแรกมีประสิทธิภาพ?
17 คริสเตียนในศตวรรษแรกประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าด้วยใจแรงกล้าอย่างเด็ดเดี่ยว. (มัดธาย 24:14) เมื่อถึงประมาณปี ส.ศ. 60 เปาโลสามารถกล่าวได้ว่าข่าวดีได้ “ประกาศแล้วแก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.” (โกโลซาย 1:23) พอสิ้นศตวรรษแรก เหล่าสาวกของพระเยซูก็ได้ทำให้ผู้คนเป็นสาวกตลอดทั่วทั้งจักรวรรดิโรมัน—ทั้งในเอเชีย, ยุโรป, และแอฟริกา! แม้แต่สมาชิกบางคนของ “ชาววังกษัตริย์กายะซา” ก็ได้เข้ามาเป็นคริสเตียน.a (ฟิลิปปอย 4:22) การประกาศด้วยใจแรงกล้านี้กระตุ้นให้เกิดความขุ่นเคืองใจ. เนอันเดอร์กล่าวว่า “ศาสนาคริสเตียนก้าวรุดหน้าไปอย่างสม่ำเสมอในหมู่ประชาชนทุกฐานะตำแหน่ง และมีทีท่าว่าจะโค่นล้มศาสนาประจำรัฐ.”
18. การถวายความเลื่อมใสศรัทธาโดยเฉพาะแด่พระยะโฮวาทำให้คริสเตียนขัดแย้งกับรัฐบาลแห่งโรมอย่างไร?
18 สาวกของพระเยซูถวายความเลื่อมใสศรัทธาโดยเฉพาะแด่พระยะโฮวา. (มัดธาย 4:8-10) อาจเป็นได้ว่าแง่มุมนี้แห่งการนมัสการของพวกเขาทำให้พวกเขาขัดแย้งกับโรมยิ่งกว่าปัจจัยอื่นใด. ชาวโรมันยอมให้มีศาสนาอื่น ตราบใดที่ผู้นับถือศาสนาเหล่านั้นเข้าร่วมในการนมัสการจักรพรรดิด้วย. คริสเตียนในยุคแรกไม่สามารถเข้าร่วมในการนมัสการเช่นนั้นได้. พวกเขาถือว่าตนต้องให้การต่ออำนาจที่สูงกว่ารัฐแห่งโรม ซึ่งก็คือพระยะโฮวาพระเจ้า. (กิจการ 5:29) ผลคือ ไม่ว่าคริสเตียนจะเป็นพลเมืองที่ดีสักเพียงไรในด้านอื่นทุกด้าน เขาก็ถูกมองว่าเป็นศัตรูของรัฐ.
19, 20. (ก) ใครที่เป็นสาเหตุใหญ่ของการแพร่คำใส่ร้ายป้ายสีอันชั่วร้ายเกี่ยวกับคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์? (ข) มีการโจมตีคริสเตียนด้วยข้อกล่าวหาเท็จอะไร?
19 ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่คริสเตียนผู้ซื่อสัตย์ตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง” ในโลกโรมัน: ผู้คนพร้อมจะเชื่อคำให้ร้ายป้ายสีเกี่ยวกับพวกเขา ซึ่งพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวมีส่วนอย่างมากในการแพร่คำใส่ร้ายเหล่านี้. (กิจการ 17:5-8) ประมาณปี ส.ศ. 60 หรือ 61 เมื่อเปาโลอยู่ในกรุงโรมรอการพิพากษาจากจักรพรรดิเนโร พวกผู้นำชาวยิวกล่าวถึงคริสเตียนดังนี้: “พวกที่ถือลัทธินี้ก็ถูกติเตียนทุกแห่ง.” (กิจการ 28:22) เนโรคงได้ยินได้ฟังเรื่องราวให้ร้ายเกี่ยวกับพวกเขาอย่างไม่ต้องสงสัย. ในปี ส.ศ. 64 เมื่อเนโรถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของเพลิงไหม้ที่เผาผลาญกรุงโรม มีรายงานว่าเขาเลือกคริสเตียนซึ่งถูกใส่ร้ายอยู่แล้วให้เป็นแพะรับบาป. ดูเหมือนนี่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดคลื่นแห่งการกดขี่ข่มเหงอย่างรุนแรงซึ่งมุ่งหมายจะกำจัดคริสเตียนให้สิ้นซาก.
20 ข้อกล่าวหาเท็จที่มีต่อคริสเตียนมักเป็นส่วนผสมระหว่างคำโกหกล้วน ๆ กับการบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเชื่อของพวกเขา. เนื่องจากพวกเขานับถือพระเจ้าองค์เดียวและไม่นมัสการจักรพรรดิ พวกเขาจึงถูกตราหน้าว่าเป็นพวกอเทวนิยม. เนื่องจากสมาชิกครอบครัวที่ไม่ใช่คริสเตียนบางคนต่อต้านญาติที่เป็นคริสเตียน คริสเตียนจึงถูกกล่าวหาว่าทำให้ครอบครัวแตกแยก. (มัดธาย 10:21) พวกเขาถูกตราหน้าว่าเป็นมนุษย์กินคน ซึ่งตามที่แหล่งข้อมูลบางแหล่งกล่าว คำกล่าวหานี้เกิดจากการบิดเบือนคำตรัสของพระเยซูในคราวการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า.—มัดธาย 26:26-28.
21. คริสเตียนตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง” ด้วยเหตุผลสองประการอะไร?
21 ดังนั้น คริสเตียนที่ซื่อสัตย์ตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง” ของชาวโรมันด้วยเหตุผลพื้นฐานสองประการ: (1) ความเชื่อและกิจปฏิบัติของพวกเขาที่ยึดถือตามคัมภีร์ไบเบิล และ (2) การกล่าวหาอย่างผิด ๆ ต่อพวกเขา. ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด พวกผู้ต่อต้านมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือการกำจัดศาสนาคริสเตียน. แน่นอน ผู้ยุยงที่แท้จริงให้กดขี่คริสเตียนเป็นผู้ต่อต้านที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ กล่าวคือกองกำลังแห่งวิญญาณชั่วที่ไม่ปรากฏแก่ตา.—เอเฟโซ 6:12.
22. (ก) ตัวอย่างอะไรแสดงว่าพยานพระยะโฮวาพยายาม “กระทำดีต่อคนทั้งปวง”? (ดูในกรอบในหน้า 11.) (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความต่อไป?
22 เช่นเดียวกับคริสเตียนในยุคแรก พยานพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบันตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง” ในหลายดินแดน. กระนั้น พวกเขาไม่ได้เกลียดชังผู้ที่ไม่เป็นพยานฯ; อีกทั้งพวกเขาไม่ได้เป็นแหล่งแห่งการก่อกบฏต่อต้านรัฐบาล. ตรงกันข้าม พวกเขาเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกว่าแสดงความรักแท้ที่เอาชนะเครื่องกีดขวางทุกอย่างด้านสังคม, เชื้อชาติ, และชาติพันธุ์. ถ้าอย่างนั้น เหตุใดพวกเขาถูกข่มเหง? และพวกเขาตอบโต้การต่อต้านอย่างไร? จะมีการพิจารณาคำถามดังกล่าวนี้ในบทความต่อไป.
[เชิงอรรถ]
a วลีที่ว่า “ชาววังกษัตริย์กายะซา” ไม่จำเป็นต้องหมายถึงสมาชิกแห่งเชื้อวงศ์ที่ใกล้ชิดของเนโรซึ่งปกครองอยู่ในตอนนั้น. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น วลีนี้อาจใช้หมายถึงพนักงานวังและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ซึ่งอาจทำหน้าที่รับใช้ในวังอย่างเช่นทำอาหารและทำความสะอาดให้แก่พระราชวงศ์ของจักรพรรดิและเจ้าพนักงาน.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เหตุใดพระเยซูทรงกระตุ้นเตือนคนที่คิดจะเป็นผู้ติดตามพระองค์ให้คิดราคาของการเป็นสาวก?
▫ ทัศนะโดยทั่วไปต่อผู้ที่ไม่ใช่ชาวยิวมีผลเช่นไรต่อลัทธิยูดาย และเราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?
▫ คริสเตียนที่ซื่อสัตย์ในยุคแรกเผชิญการต่อต้านจากสามแหล่งใดบ้าง?
▫ คริสเตียนในยุคแรกตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง” ของชาวโรมันด้วยเหตุผลพื้นฐานอะไร?
[กรอบหน้า 11]
‘การกระทำดีต่อคนทั้งปวง’
พยานพระยะโฮวาพยายามอย่างยิ่งที่จะเอาใจใส่คำแนะเตือนของคัมภีร์ไบเบิลที่ให้ “กระทำดีต่อคนทั้งปวง.” (ฆะลาเตีย 6:10, ล.ม.) ในยามที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น ความรักต่อเพื่อนบ้านกระตุ้นพวกเขาให้ช่วยเหลือคนที่ไม่ได้มีทัศนะทางศาสนาแบบเดียวกับเขา. ตัวอย่างเช่น ในระหว่างเหตุการณ์ร้ายแรงในประเทศรวันดาในปี 1994 พยานฯ จากยุโรปอาสาไปที่แอฟริกาเพื่อให้การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์. ได้มีการจัดตั้งค่ายพักและหน่วยพยาบาลภาคสนามที่มีการจัดระเบียบอย่างดีอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือ. อาหาร, เสื้อผ้า, และผ้าห่มจำนวนมากมายถูกส่งมาทางอากาศ. จำนวนผู้อพยพที่ได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในครั้งนี้มีจำนวนมากกว่าสามเท่าของจำนวนพยานฯ ในท้องที่แห่งนั้น.
[รูปภาพหน้า 9]
คริสเตียนในศตวรรษแรกประกาศข่าวดีด้วยใจแรงกล้าอย่างเด็ดเดี่ยว