การตัดสินที่สนับสนุนสิทธิในการเลือก
ไม่ใช่ใครอื่น นอกจากบุคคลที่รุ่งโรจน์สง่างามที่สุดในเอกภพทั้งสิ้นนั่นเองซึ่งสนับสนุนการเลือกโดยได้รับการชี้แจง. พระองค์คือพระผู้สร้างของเรา. โดยที่ทรงความรู้ไม่จำกัดในเรื่องความต้องการของมนุษย์ พระองค์ทรงเอื้อเฟื้อประทานการสั่งสอน, คำเตือน, และการชี้นำเกี่ยวกับแนวทางอันสุขุมที่พึงยึดเอา. กระนั้น พระองค์มิได้ทรงมองข้ามเจตจำนงเสรีซึ่งพระองค์ทรงโปรดประทานแก่สิ่งมีชีวิตที่มีเชาวน์ปัญญาทั้งหลายของพระองค์. โมเซผู้พยากรณ์ของพระเจ้าได้สะท้อนให้เห็นทัศนะของพระองค์ที่ว่า “เราได้ตั้งชีวิตและความตาย, กับความอวยพรและความแช่งไว้ตรงหน้าเจ้าทั้งหลาย; เหตุฉะนี้เจ้าทั้งหลายจะเลือกเอาข้างชีวิต, ตัวเจ้าและเผ่าพันธุ์ของเจ้าจะได้มีชีวิตจำเริญอยู่.”—พระบัญญัติ 30:19.
หลักข้อนี้ส่งผลกระทบแวดวงการแพทย์. แนวความคิดเรื่องการเลือกโดยได้รับการชี้แจง หรือการยินยอมโดยได้รับการชี้แจง ค่อย ๆ ได้รับการยอมรับในญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ ซึ่งในอดีตเรื่องนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้กันทั่วไป. นายแพทย์มิจิทะโระ นะกะมุระ ให้คำอธิบายเกี่ยวกับการยินยอมโดยได้รับการชี้แจงดังนี้: “นี่เป็นแนวคิดที่ให้แพทย์ชี้แจงแก่ผู้ป่วยด้วยภาษาซึ่งเข้าใจง่ายเกี่ยวกับการป่วย, การพยากรณ์โรค, วิธีการรักษา, และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้, โดยนับถือสิทธิของผู้ป่วยในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาสำหรับตนเอง.”—วารสารการแพทย์ญี่ปุ่น (ภาษาญี่ปุ่น).
เป็นเวลาหลายปีที่พวกแพทย์ในญี่ปุ่นได้เสนอเหตุผลหลายหลากเพื่อคัดค้านการปฏิบัติกับผู้ป่วยแบบนี้ และศาลเคยมีแนวโน้มจะคล้อยตามแนวปฏิบัติของแพทย์. ดังนั้น จึงเป็นจุดเปลี่ยนอันสำคัญเมื่อ ทะเกะโอะ อินะบะ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลสูงแห่งโตเกียวได้อ่านคำตัดสินในเรื่องการเลือกโดยได้รับการชี้แจงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1998. คำตัดสินนั้นมีว่าอย่างไร และอะไรคือประเด็นที่ทำให้มีการดำเนินคดีนี้?
ย้อนไปในเดือนกรกฎาคม 1992 มิซะเอะ ทะเกะดะ อายุ 63 ปี ซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาคนหนึ่ง ได้มาติดต่อกับโรงพยาบาลของสถาบันแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว. เธอได้รับการวินิจฉัยโรคว่าเป็นเนื้องอกร้ายของตับและจำเป็นต้องรับการผ่าตัด. ด้วยความปรารถนาแรงกล้าจะเชื่อฟังคำสั่งในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งห้ามการใช้เลือดอย่างผิด ๆ เธอได้บอกให้แพทย์ของเธอทราบชัดเจนถึงความต้องการจะรับการรักษาแบบไม่ใช้เลือดเท่านั้น. (เยเนซิศ 9:3, 4; กิจการ 15:29) พวกแพทย์ได้ยอมรับหนังสือปลดเปลื้องความรับผิดไว้แล้วซึ่งทำให้พวกเขาและโรงพยาบาลพ้นความรับผิดใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการตัดสินใจของเธอ. พวกเขารับรองกับเธอว่าพวกเขาจะปฏิบัติตามนั้น.
แต่พอหลังการผ่าตัด และในขณะที่มิซะเอะยังไม่ฟื้น เธอได้รับการถ่ายเลือด ซึ่งขัดกับความประสงค์ที่เธอบอกไว้ชัดแจ้งแล้ว. ความพยายามต่าง ๆ เพื่อเก็บเรื่องการถ่ายเลือดโดยไม่ได้รับอนุญาตไว้เป็นความลับถูกเปิดโปงเมื่อลูกจ้างโรงพยาบาลคนหนึ่งดูเหมือนทำให้เรื่องนั้นรั่วไหลให้นักข่าวคนหนึ่งรู้. คุณคงเข้าใจได้ว่าสตรีคริสเตียนที่จริงใจผู้นี้รู้สึกข้องขัดใจแค่ไหนเมื่อทราบถึงการถ่ายเลือดโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น. เธอไว้วางใจคณะแพทย์ เชื่อว่าพวกเขาจะรักษาคำพูดและนับถือความเชื่อมั่นทางศาสนาของเธอ. เนื่องด้วยความปวดร้าวสาหัสทางอารมณ์ที่เธอได้รับเนื่องจากการละเมิดความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยอย่างร้ายแรง และด้วยความหวังจะให้มีกรณีตัวอย่างซึ่งคงจะช่วยคนอื่นให้พ้นจากการปฏิบัติผิด ๆ ทางแพทย์ที่คล้ายกัน เธอจึงนำเรื่องขึ้นฟ้องศาล.
ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมของประชาชน
ผู้พิพากษาสามนายแห่งศาลชั้นต้นของโตเกียวได้พิจารณาคดีนี้และตัดสินให้แพทย์ชนะคดี และดังนั้น จึงขัดกับสิทธิในการยินยอมโดยได้รับการชี้แจง. ในคำตัดสินของพวกเขาซึ่งมีการอ่านเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1997 พวกเขากล่าวว่า ความพยายามใด ๆ เพื่อทำสัญญาให้ทำการรักษาโดยไม่ใช้เลือดอย่างสิ้นเชิงนั้นเป็นโมฆะ. พวกเขาให้เหตุผลว่า คงเป็นการฝ่าฝืนโคโจ เรียวโซคุa หรือกฎเกณฑ์ทางสังคม ที่แพทย์จะทำข้อตกลงพิเศษว่าจะไม่ใช้เลือดแม้จะเกิดสถานการณ์วิกฤติขึ้นก็ตาม. ความเห็นของพวกเขาคือว่า หน้าที่หลักของแพทย์คือการช่วยชีวิตด้วยวิธีดีที่สุดที่เขาทำได้ ฉะนั้น สัญญานั้นย่อมไม่มีผลบังคับตั้งแต่ต้น ไม่ว่าความเชื่อมั่นทางศาสนาของผู้ป่วยเป็นเช่นไร. พวกเขาตัดสินว่า ในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย ความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญย่อมสำคัญกว่าคำขอเกี่ยวกับการรักษาทางแพทย์ใด ๆ ที่ผู้ป่วยอาจทำไว้ล่วงหน้า.
นอกจากนั้น พวกผู้พิพากษายังกล่าวว่า ด้วยเหตุผลเดียวกัน ถึงแม้ได้รับการคาดหมายให้อธิบายขั้นตอนดำเนินการพื้นฐาน, ผลกระทบ, และความเสี่ยงของการผ่าตัดที่เสนอแนะ แพทย์ “อาจข้ามไปไม่ต้องบอกว่าตนตั้งใจจะใช้เลือดหรือไม่.” คำตัดสินของพวกเขาคือ “เป็นเรื่องที่ไม่อาจกำหนดได้ว่าเป็นการผิดกฎหมายหรือไม่ถูกต้อง ที่พวกแพทย์ในฐานะจำเลยซึ่งเข้าใจความประสงค์ของโจทก์แล้วที่ไม่ยอมรับการถ่ายเลือดไม่ว่าภายใต้สภาพการณ์ใด ๆ และทำทีราวกับว่าพวกตนจะนับถือความประสงค์ของเธอ และด้วยเหตุนั้นจึงเป็นเหตุให้เธอยอมรับการผ่าตัดที่กำลังเป็นประเด็นในคดีนี้.” ความคิดเห็นก็คือ ถ้าพวกแพทย์แสดงท่าทีอย่างอื่น ผู้ป่วยคงปฏิเสธการผ่าตัดและออกจากโรงพยาบาล.
การตัดสินของศาลทำให้เหล่าผู้สนับสนุนการยินยอมโดยได้รับการชี้แจงรู้สึกตกตะลึงและท้อแท้. ในการพิจารณาคำตัดสินคดีของทะเกะดะและสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันในเรื่องการยินยอมโดยได้รับการชี้แจงในญี่ปุ่น ศาสตราจารย์ ทะกะโอะ ยะมะดะ ผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าด้านกฎหมายแพ่งเขียนว่า “หากยอมให้การหาเหตุผลในคำตัดสินนี้มีผลใช้บังคับอยู่ละก็ การปฏิเสธการถ่ายเลือดและหลักกฎหมายในเรื่องการยินยอมโดยได้รับการชี้แจงก็จะกลายเป็นดั่งเทียนไขที่ริบหรี่ในสายลม.” (วารสารกฎหมาย โฮะงะคุ เคียวชิตสึ) เขาตำหนิอย่างแรงว่าการบังคับถ่ายเลือดเป็น “การละเมิดอย่างร้ายแรงต่อความไว้วางใจ คล้ายกับการลอบทำร้าย.” ศาสตราจารย์ยะมะดะกล่าวเพิ่มเติมว่า การกระทำที่ทำลายความไว้วางใจเช่นนั้น “ไม่ควรยอมให้มีอย่างเด็ดขาด.”
นิสัยเสงี่ยมเจียมตัวของมิซะเอะทำให้การต้องตกเป็นจุดสนใจของสาธารณชนเป็นเรื่องยากสำหรับเธอ. แต่เมื่อตระหนักว่าเธออาจมีส่วนร่วมในการปกป้องพระนามของพระยะโฮวาและมาตรฐานอันชอบธรรมเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของเลือด เธอจึงตั้งใจแน่วแน่จะทำส่วนของเธอ. เธอเขียนถึงที่ปรึกษาด้านกฎหมายของเธอว่า “ดิฉันเป็นแค่ธุลี หรืออาจน้อยกว่าด้วยซ้ำ. ดิฉันสงสัยว่าทำไมคนไร้ความสามารถอย่างดิฉันจึงถูกใช้. แต่เมื่อดิฉันพยายามทำอย่างที่พระยะโฮวาผู้ทรงสามารถทำให้ก้อนหินเปล่งเสียงได้นั้นตรัส พระองค์จะทรงประทานพลังแก่ดิฉัน.” (มัดธาย 10:18; ลูกา 19:40) บนที่ยืนของพยานระหว่างการพิจารณาคดี เธออธิบายด้วยเสียงสั่นเครือถึงความเจ็บปวดทางอารมณ์ที่เธอได้รับเนื่องจากการทรยศต่อความไว้วางใจนั้น. “ดิฉันรู้สึกถูกทำร้าย เหมือนผู้หญิงที่ถูกข่มขืน.” คำให้การเป็นพยานของเธอทำให้หลายคนที่อยู่ในห้องพิพากษาคดีวันนั้นต้องหลั่งน้ำตา.
การให้กำลังใจที่ทำให้ประหลาดใจ
เนื่องจากการตัดสินของศาลชั้นต้น คดีจึงถูกอุทธรณ์ถึงศาลสูงทันที. การแถลงการณ์เปิดศาลอุทธรณ์เริ่มในเดือนกรกฎาคม 1997 และมิซะเอะซึ่งตอนนี้ซูบซีดแต่ตั้งใจแน่วแน่ก็อยู่ที่นั่นในเก้าอี้ล้อ. มะเร็งกำเริบอีก และเธออ่อนแอลงเรื่อย ๆ. มิซะเอะได้รับกำลังใจมากทีเดียวเมื่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลให้คำชี้แจงเป็นพิเศษถึงแนวทางที่ศาลตั้งใจจะปฏิบัติ. เขาบอกชัดว่าศาลอุทธรณ์มีความเห็นไม่ตรงกับการลงความเห็นของศาลชั้นต้นที่ว่า แพทย์มีสิทธิ์จะไม่คำนึงถึงความประสงค์ของผู้ป่วย โดยทำทีราวกับว่าเขาจะปฏิบัติตามแต่กลับแอบตั้งใจจะทำอย่างอื่น. ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลกล่าวว่า ศาลจะไม่สนับสนุนหลักจริยธรรมการปกครองแบบพ่อลูกที่ว่า “ชิระชิมุ เบะกะระซุ, โยะระชิมุ เบะชิ”b หมายความว่า “ให้พวกเขาไม่รู้ต่อ ๆ ไปและพึ่งพา” แพทย์. ต่อมามิซะเอะบอกว่า “ดิฉันยินดีมากที่ได้ยินความคิดเห็นที่เที่ยงธรรมของท่านผู้พิพากษา ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการตัดสินก่อนหน้านี้โดยศาลชั้นต้น.” เธอบอกอีกว่า “นี่แหละที่ดิฉันได้อธิษฐานขอต่อพระยะโฮวา.”
ในเดือนถัดมามิซะเอะก็เสียชีวิต แวดล้อมด้วยครอบครัวที่เธอรักและคณะแพทย์จากอีกโรงพยาบาลหนึ่งที่เข้าใจและนับถือความเชื่อมั่นอย่างจริงใจของเธอ. มะซะมิบุตรชายของเธอกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวซึ่งแม้จะเสียใจมากแต่ก็ตั้งใจแน่วแน่จะคอยดูแลให้คดีนี้ถึงที่สุดสอดคล้องกับความปรารถนาของเธอ.
คำตัดสิน
ในที่สุด เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1998 ผู้พิพากษาสามนายแห่งศาลสูงได้อ่านคำตัดสินของตนซึ่งกลับคำตัดสินของศาลชั้นต้น. ห้องพิพากษาคดีขนาดเล็กเต็มไปด้วยผู้สื่อข่าว, นักวิชาการ, และคนอื่น ๆ ซึ่งติดตามฟังการพิจารณาคดีนี้โดยไม่ขาด. หนังสือพิมพ์และสถานีโทรทัศน์ที่สำคัญ ๆ ต่างก็รายงานเกี่ยวกับการตัดสินนี้. พาดหัวข่าวบางฉบับบอกว่า “ศาลบอกว่าผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาได้”; “ศาลสูง: การถ่ายเลือดเป็นการละเมิดสิทธิ์”; “แพทย์ที่ทำการบังคับถ่ายเลือดแพ้คดี”; และ “พยานพระยะโฮวาได้รับค่าเสียหายจากการถ่ายเลือด.”
รายงานข่าวต่าง ๆ เกี่ยวกับการตัดสินต่างก็ถูกต้องและแสดงความเห็นด้วยอย่างท่วมท้น. หนังสือพิมพ์เดอะ เดลี โยะมิอุริ รายงานดังนี้: “ผู้พิพากษาทะเกะโอะ อินะบะกล่าวว่า เป็นการไม่ถูกต้องที่แพทย์จะดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยได้ปฏิเสธแล้ว.” หนังสือพิมพ์นี้ยังบอกอย่างชัดแจ้งว่า “พวกแพทย์ที่ได้ทำ [การถ่ายเลือด] ตัดโอกาสเธอที่จะเลือกการรักษา.”
หนังสือพิมพ์อะซะฮิ ชิมบุน ระบุว่า แม้ในคดีนี้ศาลเชื่อว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอว่ามีสัญญาอยู่ ซึ่งคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า จะไม่มีการใช้เลือดแม้แต่ในสถานการณ์ที่อันตรายถึงชีวิตก็ตาม พวกผู้พิพากษาก็ไม่เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นในเรื่องที่ว่าสัญญาดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย: “หากมีข้อตกลงที่ทำอย่างรอบคอบแล้วระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องว่า จะไม่มีการถ่ายเลือดไม่ว่าภายใต้สภาพการณ์ใด ๆ ศาลนี้จะไม่ถือว่าสัญญานั้นขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและ ดังนั้นจึงเป็นโมฆะ.” นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์นี้ยังชี้ถึงความเห็นของพวกผู้พิพากษาที่ว่า “มนุษย์ทุกคนคงจะตายสักวันหนึ่ง และแต่ละคนย่อมสามารถตัดสินใจเองในเรื่องกระบวนการสู่เวลาตายนั้น.”
ตามจริงแล้วพวกพยานพระยะโฮวาได้ค้นคว้าเรื่องนี้และเชื่อมั่นว่าตนกำลังเลือกทางดีที่สุดเพื่อมีชีวิตอยู่. การนั้นรวมถึงการปฏิเสธความเสี่ยงต่าง ๆ จากการถ่ายเลือดซึ่งเป็นที่ทราบกันและจึงยอมรับขั้นตอนการรักษาต่าง ๆ ที่ไม่ใช้เลือดแทน ซึ่งใช้กันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศและประสานกับกฎหมายของพระเจ้า. (กิจการ 21:25) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญชาวญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งระบุว่า “ในความเป็นจริงแล้ว การปฏิเสธการรักษา [ด้วยการถ่ายเลือด] ที่เป็นประเด็นแห่งคดีนั้นไม่ใช่เรื่องการเลือก ‘วิธีตาย’ แต่เป็นการเลือกวิธีมีชีวิตอยู่ต่างหาก.”
คำตัดสินโดยศาลสูงควรเตือนแพทย์ทั้งหลายว่า ขอบเขตแห่งสิทธิในการตัดสินตามดุลยพินิจของพวกเขานั้นไม่ได้กว้างขวางอย่างที่บางคนเคยคิด. และคำตัดสินนี้ควรยังผลให้โรงพยาบาลมากขึ้นกำหนดคำชี้แนะด้านจริยธรรม. แม้ว่าคำตัดสินของศาลนี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปและเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยซึ่งก่อนหน้านั้นไม่ค่อยมีสิทธิจะตัดสินใจในเรื่องการรักษาตัวเขาก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ทุกฝ่ายที่ยอมรับคำตัดสินนี้อย่างจริงใจ. โรงพยาบาลของรัฐแห่งนั้นและแพทย์สามคนนั้นได้อุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลสูงสุด. ดังนั้น เราต้องคอยดูว่าศาลสูงสุดของญี่ปุ่นจะสนับสนุนสิทธิของผู้ป่วยหรือไม่ ดังที่องค์บรมมหิศรแห่งเอกภพทรงสนับสนุน.
[เชิงอรรถ]
a แนวความคิดที่ไม่ได้นิยามตามกฎหมายซึ่งละไว้ให้เจ้าหน้าที่ทางกฎหมายเป็นผู้ตีความและใช้.
b นี่คือหลักการของพวกเจ้าผู้ครองนครในยุคของโทะกุงะวะในเรื่องวิธีที่พวกเขาควรปกครองราษฎรของตน.