“ให้ผู้อ่านใช้ความสังเกตเข้าใจ”
“เมื่อเจ้าทั้งหลายมองเห็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้ร้างเปล่า . . . ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์ . . . ครั้นแล้วให้คนที่อยู่ในแคว้นยูเดียเริ่มหนีไปยังภูเขา.”—มัดธาย 24:15, 16, ล.ม.
1. คำเตือนที่พระเยซูทรงให้ไว้ดังที่พบในลูกา 19:43, 44 ยังผลเช่นไร?
ความตื่นตัวของเราต่อภัยพิบัติที่คืบใกล้เข้ามาอาจช่วยเราให้หลีกเลี่ยงภัยนั้นได้. (สุภาษิต 22:3) ดังนั้น ขอนึกภาพถึงสถานการณ์ของคริสเตียนในกรุงยะรูซาเลมภายหลังการโจมตีของพวกโรมันในปีสากลศักราช 66. พระเยซูได้เตือนไว้แล้วว่ากรุงนี้จะถูกล้อมและทำลาย. (ลูกา 19:43, 44) ชาวยิวส่วนใหญ่ไม่สนใจฟังพระองค์. แต่เหล่าสาวกเอาใจใส่คำเตือนของพระองค์. ผลคือ พวกเขาปลอดภัยจากความหายนะแห่งปี ส.ศ. 70.
2, 3. เหตุใดเราควรสนใจคำพยากรณ์ของพระเยซูดังบันทึกไว้ที่มัดธาย 24:15-21?
2 ในคำพยากรณ์หนึ่งซึ่งมีความหมายสำหรับเราในปัจจุบัน พระเยซูได้ทรงระบุถึงหมายสำคัญที่ประกอบด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งก็รวมถึงสงคราม, การขาดแคลนอาหาร, แผ่นดินไหว, โรคระบาด, และการกดขี่คริสเตียนที่ประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. (มัดธาย 24:4-14; ลูกา 21:10-19) นอกจากนี้ พระเยซูยังได้ให้เค้าเงื่อนที่จะช่วยเหล่าสาวกให้ทราบว่าอวสานใกล้จะถึงแล้ว—‘สิ่งน่าสะอิดสะเอียนที่ทำให้ร้างเปล่าซึ่งตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์.’ (มัดธาย 24:15) ให้เรามาตรวจสอบดูคำที่มีความหมายเหล่านี้กันอีกครั้งเพื่อดูว่าคำเหล่านี้จะส่งผลกระทบชีวิตของเราในเวลานี้และในอนาคตได้อย่างไร.
3 หลังจากได้ให้หมายสำคัญดังกล่าวแล้ว พระเยซูตรัสว่า “เมื่อเจ้าทั้งหลายมองเห็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้ร้างเปล่า ดังที่ดานิเอลผู้พยากรณ์ได้กล่าวไว้นั้น ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์ (ให้ผู้อ่านใช้ความสังเกตเข้าใจ) ครั้นแล้วให้คนที่อยู่ในแคว้นยูเดียเริ่มหนีไปยังภูเขา. ให้คนที่อยู่บนหลังคาแบนอย่าลงมาเพื่อเอาข้าวของออกจากบ้านของตน; และให้คนที่อยู่ในทุ่งอย่ากลับบ้านมาเก็บเสื้อชั้นนอกของตน. วิบัติแก่หญิงมีครรภ์และคนเหล่านั้นที่ให้นมแก่ทารกในวันเหล่านั้น! จงเฝ้าอธิษฐานขออย่าให้การหนีของเจ้าทั้งหลายเกิดขึ้นในฤดูหนาวหรือในวันซะบาโต; เพราะครั้นแล้วจะเกิดความทุกข์ลำบากใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มมีโลก.”—มัดธาย 24:15-21, ล.ม.
4. อะไรแสดงว่ามัดธาย 24:15 มีความสำเร็จเป็นจริงในศตวรรษแรก?
4 เรื่องราวที่มาระโกและลูกาเขียนให้รายละเอียดเสริม. ในที่ที่มัดธายใช้คำว่า “ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์” มาระโก 13:14 กล่าวว่า “ตั้งอยู่ในที่ซึ่งไม่สมควรจะตั้ง.” ลูกา 21:20 เพิ่มคำตรัสของพระเยซูว่า “เมื่อท่านเห็นกองทัพมาตั้งล้อมรอบกรุงยะรูซาเลม, เมื่อนั้นท่านจงรู้ว่าความพินาศของกรุงนั้นก็ใกล้เข้ามาแล้ว.” นี่ช่วยเราให้เห็นว่าความสำเร็จเป็นจริงครั้งแรกเกี่ยวข้องกับการโจมตีของพวกโรมันต่อกรุงยะรูซาเลมและพระวิหารของกรุงนี้—สถานอันบริสุทธิ์สำหรับชาวยิวแต่ไม่ใช่สถานอันบริสุทธิ์อีกต่อไปสำหรับพระยะโฮวา—ซึ่งเริ่มในปี ส.ศ. 66. ความร้างเปล่าอย่างสิ้นเชิงเกิดขึ้นเมื่อพวกโรมันทำลายทั้งกรุงและพระวิหารในปี ส.ศ. 70. อะไรคือ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ในตอนนั้น? และสิ่งนี้ “ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์” อย่างไร? คำตอบสำหรับคำถามดังกล่าวจะช่วยให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความสำเร็จเป็นจริงในสมัยปัจจุบัน.
5, 6. (ก) เหตุใดผู้อ่านพระธรรมดานิเอลบท 9 จำเป็นต้องใช้ความสังเกตเข้าใจ? (ข) คำพยากรณ์ของพระเยซูเกี่ยวกับ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” สำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
5 พระเยซูทรงกระตุ้นผู้อ่านให้ใช้ความสังเกตเข้าใจ. ผู้อ่านที่อ่านอะไร? น่าจะเป็นดานิเอลบท 9. ที่นั่น เราพบคำพยากรณ์ข้อหนึ่งซึ่งชี้ถึงเวลาที่พระมาซีฮาจะปรากฏและบอกล่วงหน้าว่าพระองค์จะ “ถูกตัดขาด” หลังจากสามปีครึ่ง. คำพยากรณ์นี้กล่าวว่า “บนปีกของสิ่งอันน่าสะอิดสะเอียน ก็จะมีผู้ซึ่งทำให้ร้างเปล่า; และจนกระทั่งถึงการทำลายล้าง สิ่งซึ่งถูกตัดสินจะเทลงมาบนที่ร้างเปล่าอยู่ด้วย.”—ดานิเอล 9:26, 27, ล.ม.; โปรดดูดานิเอล 11:31; 12:11 ด้วย.
6 ชาวยิวคิดว่าข้อนี้เกี่ยวข้องกับการดูหมิ่นพระวิหารโดยอันทิโอกุสที่สี่เมื่อประมาณ 200 ปีก่อนหน้านั้น. อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงชี้ให้เห็นอีกอย่างหนึ่ง โดยกระตุ้นให้ใช้ความสังเกตเข้าใจเพราะ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” นั้นยังจะต้องมาปรากฏและตั้งอยู่ใน “สถานบริสุทธิ์.” เห็นได้ชัดว่า พระเยซูกำลังตรัสถึงกองทัพโรมันที่จะยกมาในปี ส.ศ. 66 พร้อมกับธงที่โดดเด่น. ธงแบบนี้ ซึ่งใช้กันมานานแล้ว เป็นเสมือนรูปเคารพและเป็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนสำหรับชาวยิว.a ทว่า พวกเขาจะ “ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์” เมื่อไร? เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อกองทัพโรมัน พร้อมกับธงประจำกองทัพ โจมตีกรุงยะรูซาเลมและพระวิหารของกรุงนี้ซึ่งชาวยิวถือว่าบริสุทธิ์. พวกโรมันถึงกับเริ่มขุดใต้กำแพงตรงบริเวณพระวิหาร. จริงทีเดียว สิ่งซึ่งน่าสะอิดสะเอียนนานมาแล้วบัดนี้ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์!—ยะซายา 52:1; มัดธาย 4:5; 27:53; กิจการ 6:13.
“สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” สมัยปัจจุบัน
7. คำพยากรณ์อะไรของพระเยซูกำลังสำเร็จเป็นจริงในสมัยของเรา?
7 นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เราได้เห็นหมายสำคัญของพระเยซูซึ่งบันทึกไว้ในมัดธายบท 24 สำเร็จเป็นจริงในขอบเขตที่กว้างกว่า. กระนั้น พึงระลึกถึงคำตรัสของพระองค์ที่ว่า “เมื่อเจ้าทั้งหลายมองเห็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้ร้างเปล่า . . . ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์ . . . ครั้นแล้วให้คนที่อยู่ในแคว้นยูเดียเริ่มหนีไปยังภูเขา.” (มัดธาย 24:15, 16, ล.ม.) แง่มุมนี้ของคำพยากรณ์ต้องสำเร็จเป็นจริงในสมัยของเรานี้ด้วย.
8. เป็นเวลานานหลายปี พยานพระยะโฮวาได้ระบุตัว “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ในสมัยปัจจุบันอย่างไร?
8 โดยแสดงถึงความมั่นใจของผู้รับใช้ของพระยะโฮวาว่าคำพยากรณ์นี้จะสำเร็จเป็นจริง หอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 มกราคม 1921 พิจารณาเรื่องนี้โดยชี้ถึงความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง. หลังจากนั้น ในฉบับ 15 ธันวาคม 1929 (ภาษาอังกฤษ) ที่หน้า 374 หอสังเกตการณ์ กล่าวอย่างหนักแน่นว่า “แนวโน้มโดยรวมของสันนิบาตชาติคือการชักนำผู้คนออกห่างจากพระเจ้าและพระคริสต์ และด้วยเหตุนั้น องค์การนี้จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ร้างเปล่า เป็นผลผลิตของซาตาน และสิ่งน่าเกลียดในคลองพระเนตรพระเจ้า.” ดังนั้น ในปี 1919 “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ปรากฏออกมา. ในเวลาต่อมา สันนิบาตชาติถูกแทนที่โดยสหประชาชาติ. พยานพระยะโฮวาได้เปิดเผยนานมาแล้วว่าองค์การเพื่อสันติภาพของมนุษยชาติทั้งสององค์การนี้เป็นที่น่าสะอิดสะเอียนในคลองพระเนตรพระเจ้า.
9, 10. ความเข้าใจในตอนแรก ๆ เกี่ยวกับความทุกข์ลำบากใหญ่มีผลอย่างไรต่อทัศนะของเราในเรื่องเวลาที่ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” จะตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์?
9 บทความก่อนได้สรุปความเห็นที่ช่วยให้เข้าใจกระจ่างยิ่งขึ้นในหลายส่วนของมัดธายบท 24 และ 25. คำอธิบายบางอย่างนับว่าเหมาะไหมเกี่ยวกับ ‘สิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์’? ดูเหมือนว่าเป็นเช่นนั้น. คำพยากรณ์ของพระเยซูผูกโยง ‘การตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์’ เข้ากับการเกิดขึ้นอย่างฉับพลันของ “ความทุกข์ลำบาก” ที่มีบอกไว้ล่วงหน้า. ฉะนั้น แม้ว่า “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” มีอยู่นานแล้ว ความเกี่ยวพันระหว่าง ‘การตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์’ ของมันกับความทุกข์ลำบากใหญ่ควรมีผลกระทบต่อความคิดของเรา. เป็นเช่นนั้นอย่างไร?
10 ครั้งหนึ่งไพร่พลของพระเจ้าเคยเข้าใจว่าช่วงแรกแห่งความทุกข์ลำบากใหญ่เริ่มต้นในปี 1914 และช่วงสุดท้ายจะมาถึง ณ สงครามอาร์มาเก็ดดอน. (วิวรณ์ 16:14, 16; เทียบกับหอสังเกตการณ์ [ภาษาอังกฤษ] ฉบับ 1 เมษายน 1939 หน้า 110.) ดังนั้น เราเข้าใจได้ว่าทำไมจึงเคยมีการคิดกันว่า “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ในสมัยหลังต้องได้มาตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่นาน.
11, 12. ในปี 1969 มีการให้ทัศนะที่ปรับเปลี่ยนใหม่เช่นไรเกี่ยวกับความทุกข์ลำบากใหญ่?
11 อย่างไรก็ตาม ในปีต่อ ๆ มาเราได้มาเข้าใจต่างไปจากเดิม. ในวันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม 1969 ณ การประชุมนานาชาติ “สันติสุขบนแผ่นดินโลก” ที่นครนิวยอร์ก เอฟ. ดับเบิลยู. แฟรนซ์ ซึ่งตอนนั้นเป็นรองนายกสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ ได้ให้คำบรรยายที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง. ในการทบทวนความเข้าใจที่เคยมีเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของพระเยซู บราเดอร์แฟรนซ์กล่าวดังนี้: “ได้เคยมีการให้คำอธิบายว่า ‘ความทุกข์ลำบากใหญ่’ ได้เริ่มต้นแล้วในปี 1914 และไม่ถูกปล่อยให้ดำเนินไปจนถึงที่สุดในตอนนั้น หากแต่พระเจ้าทรงยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน 1918. นับแต่นั้นมา พระเจ้าทรงปล่อยให้มีช่วงว่างเว้นเพื่อคริสเตียนผู้ถูกเลือกสรรซึ่งเป็นชนที่เหลือผู้ถูกเจิมจะมีโอกาสทำการงานของตน ก่อนที่พระองค์จะปล่อยให้ส่วนสุดท้ายแห่ง ‘ความทุกข์ลำบากใหญ่’ ดำเนินต่อไป ณ สงครามอาร์มาเก็ดดอน.”
12 จากนั้นก็ได้มีการให้คำอธิบายซึ่งมีการปรับเปลี่ยนที่สำคัญ: “เพื่อจะตรงกันกับเหตุการณ์ในศตวรรษแรก . . . สิ่งที่ ‘ความทุกข์ลำบากใหญ่’ ในศตวรรษแรกเล็งถึงไม่ได้เริ่มต้นในปี 1914. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับคู่เทียบของยะรูซาเลมในสมัยปัจจุบันในปี 1914-1918 เป็นเพียง ‘การเริ่มต้นของความปวดร้าวแห่งความทุกข์’ . . . ‘ความทุกข์ลำบากใหญ่’ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนยังคงอยู่ข้างหน้า เพราะนั่นหมายถึงพินาศกรรมของจักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ (รวมทั้งคริสต์ศาสนจักรด้วย) ตามมาด้วย ‘สงครามแห่งวันใหญ่ของพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ’ ณ อาร์มาเก็ดดอน.” นี่ย่อมหมายความว่าความทุกข์ลำบากใหญ่ทั้งหมดยังคงเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต.
13. เหตุใดจึงสมเหตุผลที่จะกล่าวว่า “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” จะมา “ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์” ในอนาคต?
13 เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสังเกตเข้าใจว่า “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์เมื่อไร. ขอระลึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในศตวรรษแรก. พวกโรมันโจมตีกรุงยะรูซาเลมในปี ส.ศ. 66 แต่พวกเขาถอนทัพกลับอย่างกะทันหัน ซึ่งเปิดโอกาสให้ “เนื้อหนัง” ซึ่งก็คือเหล่าคริสเตียนได้รับความรอด. (มัดธาย 24:22, ล.ม.) สอดคล้องกับข้อเท็จจริงดังกล่าว เราคาดหมายว่าความทุกข์ลำบากใหญ่จะเริ่มในอีกไม่ช้า แต่จะถูกตัดให้สั้นลงเพื่อเห็นแก่ผู้ถูกเลือกสรรของพระเจ้า. โปรดสังเกตจุดสำคัญ: ในเหตุการณ์ที่เป็นแบบอย่างในคราวโบราณ ‘สิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์’ มีความเกี่ยวข้องกับการโจมตีของพวกโรมันภายใต้การนำของนายพลกัลลุสในปี ส.ศ. 66. เหตุการณ์ในสมัยปัจจุบันที่คล้ายกับการโจมตีนั้น—การปะทุของความทุกข์ลำบากใหญ่—ยังคงไม่ได้เกิดขึ้น. ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า “สิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้ร้างเปล่า” ซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ปี 1919 จะมาตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์ในอนาคต.b เรื่องนี้จะเกิดขึ้นอย่างไร? และเราอาจได้รับผลกระทบอย่างไร?
การโจมตีในอนาคต
14, 15. วิวรณ์บท 17 ช่วยเราอย่างไรให้เข้าใจเหตุการณ์ซึ่งนำไปสู่อาร์มาเก็ดดอน?
14 พระธรรมวิวรณ์พรรณนาถึงการโจมตีทำลายศาสนาเท็จในอนาคต. บท 17 พรรณนาถึงการพิพากษาของพระเจ้าต่อ “บาบูโลนใหญ่ แม่ของหญิงแพศยาทั้งหลาย”—จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ. คริสต์ศาสนจักรมีบทบาทสำคัญและอ้างว่ามีสัมพันธภาพกับพระเจ้าทางสัญญาไมตรี. (เทียบกับยิระมะยา 7:4.) ศาสนาเท็จ ซึ่งก็รวมทั้งคริสต์ศาสนจักรด้วย ได้มีความสัมพันธ์ที่ผิดกฎหมายกับ “กษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก” นานแล้ว แต่ความสัมพันธ์นี้จะยุติลงด้วยการทำให้ศาสนาเหล่านั้นร้างเปล่า. (วิวรณ์ 17:2, 5, ล.ม.) ด้วยฝีมือของผู้ใด?
15 วิวรณ์ให้ภาพพรรณนาถึง “สัตว์ร้ายสีแดงเข้มตัวหนึ่ง” ซึ่งเคยเป็นอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง, หายไป, แล้วก็กลับมาอีกครั้ง. (วิวรณ์ 17:3, 8) สัตว์ร้ายนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองของโลก. รายละเอียดที่ให้ไว้ในคำพยากรณ์ช่วยเราให้ระบุตัวสัตว์ร้ายอันเป็นสัญลักษณ์นี้ได้ว่าคือองค์การเพื่อสันติภาพซึ่งมีขึ้นในปี 1919 ในนามสันนิบาตชาติ (“สิ่งน่าสะอิดสะเอียน”) และบัดนี้ได้แก่องค์การสหประชาชาติ. วิวรณ์ 17:16, 17 แสดงว่าพระเจ้าจะใส่ความคิดไว้ในใจของผู้ปกครองมนุษย์บางคนที่เด่นอยู่ในจำพวก “สัตว์ร้าย” นี้ ให้จัดการทำให้จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จร้างเปล่า. การโจมตีนั้นจะเป็นสัญญาณบอกถึงการปะทุของความทุกข์ลำบากใหญ่.
16. มีเหตุการณ์ที่น่าสังเกตอะไรกำลังเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับศาสนา?
16 เนื่องจากการเริ่มต้นของความทุกข์ลำบากใหญ่ยังอยู่ในอนาคต ‘การตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์’ จึงเป็นเหตุการณ์ที่ยังอยู่ในวันข้างหน้าด้วยไหม? ตามหลักฐานแล้วน่าจะเป็นอย่างนั้น. ในขณะที่ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ปรากฏขึ้นมาในช่วงต้นศตวรรษนี้และจึงอยู่มาหลายทศวรรษแล้ว แต่สิ่งน่าสะอิดสะเอียนนี้จะตั้งอยู่ “ในสถานบริสุทธิ์” ในลักษณะที่พิเศษเฉพาะในอนาคตอันใกล้นี้. เช่นเดียวกับที่สาวกของพระคริสต์ในศตวรรษแรกต้องจับตามองอย่างกระตือรือร้นว่า ‘การตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์’ จะเกิดขึ้นอย่างไร คริสเตียนในสมัยปัจจุบันก็ต้องทำเช่นเดียวกัน. ต้องยอมรับว่า เราจะต้องคอยความสำเร็จเป็นจริงที่แท้จริงจึงจะทราบรายละเอียดทั้งหมด. กระนั้น น่าสังเกตว่าในบางดินแดนเริ่มมีการตั้งข้อรังเกียจต่อศาสนาอย่างที่สังเกตเห็นได้ และกำลังมีมากขึ้นเรื่อย ๆ. ส่วนทางการเมืองบางหน่วยซึ่งสมคบกับอดีตคริสเตียนที่ได้หันเหไปจากความเชื่อแท้กำลังส่งเสริมความเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาทั่วไปและโดยเฉพาะต่อคริสเตียนแท้. (บทเพลงสรรเสริญ 94:20, 21; 1 ติโมเธียว 6:20, 21) ผลก็คือ แม้แต่ในเวลานี้อำนาจทางการเมืองก็กำลัง “สู้รบกับพระเมษโปดก” และดังระบุในวิวรณ์ 17:14 (ล.ม.) การต่อสู้นี้จะดุเดือดยิ่งขึ้น. ในขณะที่พวกเขาไม่อาจลงมือได้ตามตัวอักษรต่อพระเมษโปดกของพระเจ้า—พระเยซูคริสต์ผู้อยู่ในฐานะอันสูงส่งและมีสง่าราศี—พวกเขายังจะแสดงความเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงต่อผู้นมัสการแท้ของพระเจ้าด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ “เหล่าผู้บริสุทธิ์” ของพระองค์. (ดานิเอล 7:25; เทียบกับโรม 8:27; โกโลซาย 1:2; วิวรณ์ 12:17.) เรามีคำรับรองจากพระเจ้าว่าพระเมษโปดกและคนที่อยู่กับพระองค์จะมีชัย.—วิวรณ์ 19:11-21.
17. เราอาจกล่าวได้เช่นไรโดยไม่ยืนกรานความคิดของตนในเรื่องวิธีที่ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” จะตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์?
17 เราทราบว่าความร้างเปล่าคอยท่าศาสนาเท็จอยู่. บาบูโลนใหญ่ “เมามายด้วยเลือดของเหล่าผู้บริสุทธิ์” และประพฤติตัวราวกับราชินี แต่ความพินาศของนางนั้นเป็นเรื่องแน่นอน. อิทธิพลที่ไม่สะอาดซึ่งเธอใช้ครอบงำกษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลกจะเปลี่ยนไปอย่างน่าตกตะลึง เมื่อความสัมพันธ์นั้นกลายเป็นความเกลียดชังอย่างรุนแรงจาก ‘เขาสิบเขาและสัตว์ร้าย.’ (วิวรณ์ 17:6, 16, ล.ม.; 18:7, 8) เมื่อ “สัตว์ร้ายสีแดงเข้ม” โจมตีหญิงแพศยาทางศาสนา “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” จะตั้งอยู่อย่างเป็นภัยคุกคามในที่ซึ่งคริสต์ศาสนจักรถือว่าบริสุทธิ์.c ดังนั้น ความร้างเปล่าจะเริ่มต้นกับคริสต์ศาสนจักรที่ขาดความเชื่อ ซึ่งแสดงตัวว่าตนบริสุทธิ์.
“หนี”—โดยวิธีใด?
18, 19. มีการให้เหตุผลอะไรเพื่อแสดงว่าการ “หนีไปยังภูเขา” จะไม่หมายถึงการเปลี่ยนศาสนา?
18 หลังจากบอกล่วงหน้าถึง ‘การตั้งอยู่ของสิ่งน่าสะอิดสะเอียนในสถานบริสุทธิ์’ พระเยซูเตือนผู้มีความสังเกตเข้าใจให้ลงมือกระทำ. พระองค์หมายความไหมว่าเมื่อล่วงเลยไปจนถึงเวลานั้นแล้ว—เมื่อ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” นั้น “ตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์”—ผู้คนมากมายจะหนีออกจากศาสนาเท็จและรับเอาการนมัสการแท้? คงไม่ใช่เช่นนั้น. ขอพิจารณาความสำเร็จเป็นจริงในครั้งแรก. พระเยซูตรัสว่า “ให้ผู้ที่อยู่ในแขวงยูดาย หนีไปยังภูเขา ผู้ที่อยู่บนดาดฟ้าหลังคาตึกอย่าให้ลงไปเก็บเอาสิ่งของในตึกของตนเลย ผู้ที่อยู่ตามทุ่งนา อย่าให้กลับไปเอาเสื้อผ้าของตน. แต่ในวันเหล่านั้นวิบัติแก่หญิงที่มีครรภ์หรือมีลูกอ่อนกินนมอยู่. ท่านทั้งหลายจงอธิษฐานขอเพื่อท่านจะไม่ต้องหนีเมื่อฤดูหนาว.”—มาระโก 13:14-18.
19 พระเยซูมิได้ตรัสว่าเฉพาะคนที่อยู่ในกรุงยะรูซาเลมที่จำต้องออกจากที่นั่น เสมือนหนึ่งว่าจุดสำคัญที่พระองค์ต้องการชี้คือพวกเขาต้องออกไปจากศูนย์กลางแห่งการนมัสการของชาวยิว; อีกทั้งคำเตือนของพระองค์ก็หาได้กล่าวถึงการเปลี่ยนศาสนา—การหนีจากศาสนาเท็จและรับเอาศาสนาแท้. เหล่าสาวกของพระเยซูย่อมไม่จำเป็นต้องรับคำเตือนเกี่ยวกับการหนีจากศาสนาหนึ่งไปอีกศาสนาหนึ่ง; พวกเขาเป็นคริสเตียนแท้อยู่แล้ว. และการโจมตีในปี ส.ศ. 66 ก็ไม่ได้จูงใจผู้ถือลัทธิยูดายในกรุงยะรูซาเลมและทั่วแคว้นยูเดียให้ละทิ้งศาสนานั้นแล้วรับเอาศาสนาคริสเตียน. ศาสตราจารย์ไฮน์ริค เกรตซ์กล่าวว่าพวกคนที่ไล่ตามพวกโรมันที่ถอยหนีได้กลับมาที่กรุงนั้น: “พวกเซลอต ซึ่งตะเบ็งเสียงร้องเพลงแสดงชัยชนะในสงคราม กลับมาที่กรุงยะรูซาเลม (วันที่ 8 ตุลาคม) หัวใจของพวกเขาเต้นแรงด้วยความหวังในเสรีภาพและอิสรภาพที่ทำให้เบิกบานยินดี. . . . พระเจ้าได้ทรงช่วยพวกเขาเหมือนที่พระองค์ได้ทรงช่วยบรรพบุรุษของพวกเขาด้วยพระเมตตามิใช่หรือ? ไม่มีความหวั่นกลัวเกี่ยวกับอนาคตในหัวใจของพวกเซลอต.”
20. สาวกในสมัยแรกตอบรับอย่างไรต่อคำเตือนของพระเยซูที่ให้หนีไปยังภูเขา?
20 ถ้าอย่างนั้น ชนผู้ถูกเลือกสรรในตอนนั้นซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วมีจำนวนเล็กน้อยทำตามคำแนะนำของพระเยซูอย่างไร? โดยการออกจากแคว้นยูเดียและหนีไปที่ภูเขาข้ามแม่น้ำยาระเดนไป พวกเขาแสดงว่าตนไม่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของระบบยิว ไม่ว่าทางการเมืองหรือศาสนา. พวกเขาทิ้งไร่นาบ้านช่อง ไม่รวบรวมทรัพย์สินจากบ้านของเขาเสียด้วยซ้ำ. ด้วยความเชื่อมั่นในการคุ้มครองและการเกื้อหนุนจากพระยะโฮวา พวกเขาจัดให้การนมัสการพระองค์มาก่อนสิ่งอื่นใดที่อาจดูเหมือนสำคัญ.—มาระโก 10:29, 30; ลูกา 9:57-62.
21. เราไม่จำเป็นต้องคาดหมายผลเช่นไรเมื่อ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” โจมตี?
21 ทีนี้ ขอพิจารณาความสำเร็จเป็นจริงที่ใหญ่กว่า. เราได้กระตุ้นเตือนผู้คนมาหลายทศวรรษแล้วให้ออกมาจากศาสนาเท็จแล้วรับเอาการนมัสการแท้. (วิวรณ์ 18:4, 5) หลายล้านคนได้ทำเช่นนั้น. คำพยากรณ์ของพระเยซูไม่ได้ระบุว่าความทุกข์ลำบากใหญ่ปะทุเมื่อใด ผู้คนจำนวนมากจะหันมาหาการนมัสการบริสุทธิ์; ที่แน่ ๆ คือ ไม่ได้มีการเปลี่ยนศาสนาของพวกยิวเป็นกลุ่มใหญ่ในปี ส.ศ. 66. กระนั้น คริสเตียนแท้จะมีสิ่งจูงใจที่ยิ่งใหญ่เพื่อจะทำตามคำเตือนของพระเยซูและหนีไป.
22. การทำตามคำแนะนำของพระเยซูในเรื่องการหนีไปที่ภูเขาอาจหมายรวมถึงสิ่งใด?
22 ในปัจจุบัน พวกเราไม่สามารถทราบรายละเอียดครบถ้วนเกี่ยวกับความทุกข์ลำบากใหญ่ แต่เราสามารถสรุปได้อย่างมีเหตุผลว่าสำหรับพวกเราแล้ว การหนีที่พระเยซูตรัสถึงจะไม่ใช่การหนีทางภูมิศาสตร์. ไพร่พลของพระเจ้าอยู่ทั่วลูกโลก แทบจะทุกมุมโลก. แต่เราสามารถแน่ใจได้ว่า เมื่อจำเป็นต้องหนี คริสเตียนจะยังคงต้องรักษาความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างพวกเขาเองกับองค์การศาสนาเท็จต่อไป. นับว่าสำคัญด้วยที่พระเยซูทรงเตือนว่าอย่ากลับไปที่บ้านของตนเพื่อเอาเสื้อผ้าหรือสิ่งของอื่น ๆ. (มัดธาย 24:17, 18) ดังนั้น อาจมีการทดสอบในวันข้างหน้าว่าทัศนะของเราในเรื่องวัตถุเป็นอย่างไร; วัตถุเป็นสิ่งสำคัญที่สุดหรือความรอดที่จะมีแก่ทุกคนที่อยู่ฝ่ายพระเจ้าสำคัญกว่า? ถูกแล้ว การหนีของเราอาจเกี่ยวข้องกับความลำบากและการขาดแคลนบ้าง. เราต้องพร้อมจะทำสิ่งใดก็ตามที่จำเป็น เช่นเดียวกับคู่เทียบของเราในศตวรรษแรกซึ่งหนีจากแคว้นยูเดียไปยังพีเรียข้ามแม่น้ำยาระเดนไป.
23, 24. (ก) เราจะพบการคุ้มครองได้จากแหล่งไหนเท่านั้น? (ข) คำเตือนของพระเยซูเกี่ยวกับ ‘สิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งตั้งในสถานบริสุทธิ์’ ควรมีผลต่อเราเช่นไร?
23 เราต้องแน่ใจว่าพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์ที่คล้ายกับขุนเขาเป็นที่คุ้มภัยของเราเสมอไป. (2 ซามูเอล 22:2, 3; บทเพลงสรรเสริญ 18:2; ดานิเอล 2:35, 44) นั่นคือที่ซึ่งเราจะพบการคุ้มครอง! เราจะไม่เลียนแบบมวลมนุษยชาติที่จะหนีไปยัง “ถ้ำ” และซ่อน “ตามหินผาแห่งภูเขาต่าง ๆ” ซึ่งก็คือองค์การและสถาบันต่าง ๆ ของมนุษย์ที่อาจคงอยู่ในชั่วระยะสั้น ๆ หลังบาบูโลนใหญ่ถูกทำให้ร้างเปล่า. (วิวรณ์ 6:15, ล.ม.; 18:9-11) จริงอยู่ เมื่อเวลาผ่านไปความลำบากอาจมากขึ้น—เหมือนกับที่เป็นเช่นนั้นในปี ส.ศ. 66 สำหรับหญิงมีครรภ์ซึ่งหนีออกจากแคว้นยูเดียหรือใครก็ตามที่ต้องหนีท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บและมีฝน. แต่เราสามารถมั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะทรงทำให้ความรอดเป็นไปได้. ขอให้เราเสริมความไว้วางใจของเราในพระยะโฮวาและพระบุตรผู้ซึ่งเวลานี้กำลังครองราชย์ฐานะกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเสียแต่บัดนี้.
24 ไม่มีเหตุผลที่เราจะมีชีวิตด้วยความหวาดหวั่นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น. พระเยซูมิได้ทรงประสงค์ให้สาวกของพระองค์ในสมัยโน้นกลัว และพระองค์ไม่ทรงประสงค์ให้พวกเรากลัวด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะในขณะนี้หรือในวันข้างหน้า. พระองค์ทรงเตือนเราเพื่อให้เราสามารถเตรียมหัวใจและจิตใจไว้พร้อม. ถึงอย่างไร คริสเตียนที่เชื่อฟังจะไม่ถูกลงโทษเมื่อความพินาศเกิดแก่ศาสนาเท็จและส่วนที่เหลือของระบบที่ชั่วช้านี้. พวกเขาจะสังเกตเข้าใจและเอาใจใส่คำเตือนเกี่ยวกับ ‘สิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์.’ และพวกเขาจะลงมือกระทำอย่างเฉียบขาดตามความเชื่อที่ไม่สั่นคลอนของตน. ขอเราอย่าลืมคำสัญญาของพระเยซูที่ว่า “ผู้ใดทนได้จนถึงที่สุดผู้นั้นจะรอด.”—มาระโก 13:13.
[เชิงอรรถ]
a “ธงของพวกโรมันได้รับการดูแลอย่างดีพร้อมกับการบูชาทางศาสนาในวิหารที่กรุงโรม; และความเคารพนับถือของพวกโรมันต่อธงของตนก็เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนที่พวกเขาประสบชัยชนะเหนือชาติอื่น ๆ . . . [สำหรับพวกทหารแล้ว ธงนี้] อาจเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก. ทหารโรมันสาบานตนภายใต้ธงของพวกเขา.”—สารานุกรมบริแทนนิกา ฉบับพิมพ์ที่ 11.
b พึงสังเกตว่า ในขณะที่ความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำตรัสของพระเยซูในปี ส.ศ. 66-70 สามารถช่วยเราให้เข้าใจวิธีที่คำตรัสเหล่านี้จะสำเร็จเป็นจริง ณ ความทุกข์ลำบากใหญ่ แต่ความสำเร็จเป็นจริงทั้งสองครั้งนี้ไม่อาจตรงกันได้ทุกอย่างเนื่องจากความสำเร็จในแต่ละครั้งเกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างกัน.
c โปรดดูหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) 15 ธันวาคม 1975 หน้า 741-744.
คุณจำได้ไหม?
▫ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียนซึ่งทำให้ร้างเปล่า” ปรากฏตัวออกมาในศตวรรษแรกอย่างไร?
▫ เหตุใดจึงมีเหตุผลที่จะคิดว่า “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” สมัยปัจจุบันจะตั้งอยู่ในสถานบริสุทธิ์ในอนาคต?
▫ พระธรรมวิวรณ์บอกล่วงหน้าถึงการโจมตีอะไรโดย “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน”?
▫ ‘การหนี’ แบบใดที่เราเองยังอาจจำเป็นต้องทำ?
[รูปภาพหน้า 16]
บาบูโลนใหญ่ถูกเรียกว่า “แม่ของหญิงแพศยาทั้งหลาย”
[รูปภาพหน้า 17]
สัตว์ร้ายสีแดงเข้มในพระธรรมวิวรณ์บท 17 คือ “สิ่งน่าสะอิดสะเอียน” ที่พระเยซูตรัสถึง
[รูปภาพหน้า 18]
สัตว์ร้ายสีแดงเข้มจะโจมตีศาสนาจนย่อยยับ