บิดามารดาทั้งหลาย ตัวอย่างของคุณสอนอะไร?
“จงประพฤติอย่างพระเจ้า, เหมือนเป็นบุตรที่รัก และจงประพฤติในความรัก.”—เอเฟโซ 5:1, 2.
1. การชี้นำแบบใดที่พระยะโฮวาทรงจัดไว้สำหรับมนุษย์คู่แรก?
พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ริเริ่มการจัดเตรียมในเรื่องครอบครัว. ทุกครอบครัวมีอยู่ก็เนื่องด้วยพระองค์ เนื่องจากพระองค์ทรงตั้งครอบครัวแรกขึ้นและทรงประทานอำนาจในการสืบลูกหลานแก่มนุษย์คู่แรก. (เอเฟโซ 3:14, 15) พระองค์ทรงจัดคำแนะนำสั่งสอนพื้นฐานให้แก่อาดามและฮาวาในเรื่องหน้าที่รับผิดชอบและให้โอกาสแก่เขามากมายที่จะใช้ความริเริ่มด้วยตัวเองเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวให้ลุล่วง. (เยเนซิศ 1:28-30; 2:6, 15-22) หลังจากที่อาดามและฮาวาทำบาป สภาพการณ์ที่ครอบครัวทั้งหลายต้องรับมือกลายเป็นเรื่องซับซ้อนยิ่งขึ้น. ถึงกระนั้น พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมด้วยความรักให้มีแนวชี้นำซึ่งจะช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ให้รับมือสภาพการณ์เช่นนั้นได้.
2. (ก) พระยะโฮวาทรงเสริมคำแนะนำที่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยคำสอนทางวาจาโดยวิธีใดบ้าง? (ข) บิดามารดาจำเป็นต้องถามตัวเองเช่นไร?
2 ในฐานะพระครูองค์ยิ่งใหญ่ของเรา พระยะโฮวาได้ทรงทำยิ่งกว่าการจัดให้มีแนวปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเราควรทำอะไรและอะไรที่เราควรหลีกเลี่ยง. ในสมัยโบราณ พระองค์ทรงเสริมคำสั่งสอนที่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยคำสอนทางวาจาของพวกปุโรหิตและผู้พยากรณ์ตลอดจนประมุขครอบครัว. พระองค์ทรงใช้ใครให้สอนด้วยวาจาเช่นนั้นในสมัยของเรา? คริสเตียนผู้ปกครองและบิดามารดานั่นเอง. ถ้าคุณเป็นบิดาหรือมารดา คุณกำลังทำส่วนของคุณในการสอนครอบครัวของคุณในแนวทางของพระยะโฮวาไหม?—สุภาษิต 6:20-23.
3. ประมุขครอบครัวสามารถเรียนรู้อะไรจากพระยะโฮวาในเรื่องการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ?
3 ควรสั่งสอนอย่างไรในครอบครัว? พระยะโฮวาทรงวางแบบอย่างไว้. พระองค์ทรงแจ้งไว้อย่างชัดเจนว่าอะไรดีอะไรไม่ดี และพระองค์ทรงตรัสซ้ำหลายครั้งหลายคราว. (เอ็กโซโด 20:4, 5; พระบัญญัติ 4:23, 24; 5:8, 9; 6:14, 15; ยะโฮซูอะ 24:19, 20) พระองค์ทรงใช้คำถามที่กระตุ้นความคิด. (โยบ 38:4, 8, 31) โดยอาศัยอุทาหรณ์และตัวอย่างในชีวิตจริง พระองค์ทรงปลุกเร้าความรู้สึกของเราและนวดปั้นหัวใจเรา. (เยเนซิศ 15:5; ดานิเอล 3:1-29) บิดามารดาทั้งหลาย คุณพยายามเลียนตามแบบอย่างนี้ไหมเมื่อคุณสอนลูก ๆ?
4. เราเรียนอะไรจากพระยะโฮวาในเรื่องการตีสอน และเหตุใดการตีสอนจึงสำคัญ?
4 พระยะโฮวาทรงยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง แต่พระองค์ทรงเข้าใจถึงผลของความไม่สมบูรณ์. ดังนั้น ก่อนพระองค์จะลงโทษ พระองค์ทรงสอนและประทานคำเตือนและข้อเตือนสติหลาย ๆ ครั้งแก่มนุษย์ผู้ไม่สมบูรณ์. (เยเนซิศ 19:15, 16; ยิระมะยา 7:23-26) เมื่อพระองค์ทรงตีสอน พระองค์ทรงทำในขอบเขตที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป. (บทเพลงสรรเสริญ 103:10, 11; ยะซายา 28:26-29) หากว่านั่นเป็นแนวทางที่เราทำกับลูก ๆ ของเรา ก็นับเป็นหลักฐานแสดงว่าเรารู้จักพระยะโฮวา และจะทำให้ง่ายขึ้นสำหรับลูก ๆ ที่จะเรียนรู้จักพระองค์ด้วย.—ยิระมะยา 22:16; 1 โยฮัน 4:8.
5. บิดามารดาสามารถเรียนอะไรจากพระยะโฮวาเกี่ยวกับการฟัง?
5 ที่น่าทึ่งก็คือ ในฐานะพระบิดาฝ่ายสวรรค์ผู้เปี่ยมด้วยความรัก พระยะโฮวาทรงฟัง. พระองค์ไม่เพียงแต่ออกคำสั่ง. พระองค์ทรงสนับสนุนเราให้ระบายความในใจของเราต่อพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 62:8) และหากความรู้สึกที่เราแสดงออกนั้นไม่ถูกต้องเสียทีเดียว พระองค์ไม่ทรงแผดพระสุรเสียงดุว่าจากฟ้าสวรรค์. พระองค์ทรงสอนเราอย่างอดทน. ด้วยเหตุนั้น คำแนะนำของอัครสาวกเปาโลช่างเหมาะสักเพียงไรที่ว่า “จงเป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า ดังบุตรที่รัก”! (เอเฟโซ 4:31–5:1, ล.ม.) ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมสักเพียงไรที่พระยะโฮวาทรงวางไว้สำหรับบิดามารดาที่พยายามจะสั่งสอนบุตรของตน! นั่นเป็นตัวอย่างที่กระทบใจเราและทำให้เราปรารถนาจะดำเนินในแนวทางชีวิตของพระองค์.
ผลกระทบของตัวอย่าง
6. เจตคติและตัวอย่างของบิดามารดามีผลกระทบอย่างไรต่อบุตร?
6 นอกจากการสั่งสอนด้วยวาจาแล้ว ตัวอย่างมีผลกระทบที่ลึกซึ้งต่อเด็ก ๆ. ไม่ว่าบิดามารดาจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่บุตรของเขาจะเลียนแบบเขา. บิดามารดาอาจรู้สึกดีใจ แต่บางครั้งก็อาจรู้สึกตกใจ เมื่อเขาได้ยินลูกพูดสิ่งที่เขาเองได้พูด. เมื่อทั้งการกระทำและเจตคติของบิดามารดาสะท้อนถึงความหยั่งรู้ค่าสิ่งฝ่ายวิญญาณอย่างลึกซึ้ง นั่นย่อมส่งผลกระทบในทางดีต่อบุตร.—สุภาษิต 20:7.
7. ตัวอย่างแบบไหนที่ยิพธาซึ่งเป็นบิดาวางไว้สำหรับบุตรสาว และพร้อมด้วยผลเช่นไร?
7 ผลของตัวอย่างที่บิดามารดาวางไว้มีแสดงไว้อย่างชัดเจนในคัมภีร์ไบเบิล. ยิพธาซึ่งเป็นผู้ที่พระยะโฮวาทรงใช้ให้นำชาติยิศราเอลจนประสบชัยชนะเหนือชาวอำโมนก็เป็นบิดาด้วย. บันทึกเกี่ยวกับคำตอบของท่านที่ให้แก่กษัตริย์แห่งอำโมนบ่งบอกว่ายิพธาคงต้องได้อ่านอยู่บ่อย ๆ ถึงประวัติศาสตร์ที่บันทึกเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของพระยะโฮวากับชาติยิศราเอล. ท่านอ้างถึงประวัติศาสตร์ได้อย่างไม่ติดขัด และท่านแสดงความเชื่อที่เข้มแข็งในพระยะโฮวา. ไม่ต้องสงสัยว่า ตัวอย่างของท่านช่วยบุตรสาวของท่านให้พัฒนาความเชื่อและน้ำใจเสียสละตนที่เธอแสดงออกในการทำงานรับใช้ตลอดชีวิตในฐานะหญิงโสดที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา.—วินิจฉัย 11:14-27, 34-40; เทียบกับยะโฮซูอะ 1:8.
8. (ก) บิดามารดาซามูเอลแสดงเจตคติที่ดีเช่นไร? (ข) เจตคติดังกล่าวให้ประโยชน์แก่ซามูเอลอย่างไร?
8 เมื่อยังเป็นเด็กซามูเอลเป็นตัวอย่างที่น่าเลียนแบบ เมื่อเป็นผู้พยากรณ์ท่านซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าตลอดชีวิตของท่าน. คุณอยากให้บุตรของคุณเป็นอย่างท่านไหม? จงวิเคราะห์ตัวอย่างของเอ็ลคานาและฮันนาซึ่งเป็นบิดามารดาของซามูเอล. แม้ว่าสภาพการณ์ในครัวเรือนของเขาไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งสองขึ้นไปยังเมืองซีโลเป็นประจำเพื่อนมัสการที่พลับพลาศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตั้งอยู่ที่นั่น. (1 ซามูเอล 1:3-8, 21) ขอให้สังเกตถึงความลึกซึ้งของความรู้สึกที่ฮันนาอธิษฐาน. (1 ซามูเอล 1:9-13) สังเกตว่าทั้งสองรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความสำคัญของการทำตามคำสัญญาที่ได้ให้ไว้กับพระเจ้า. (1 ซามูเอล 1:22-28) ไม่ต้องสงสัยเลยว่าตัวอย่างที่ดีของบิดามารดาช่วยซามูเอลให้พัฒนาคุณสมบัติที่จะทำให้ท่านสามารถติดตามแนวทางที่ถูกต้อง—แม้ในยามที่ผู้คนรอบตัวท่านซึ่งควรจะรับใช้พระยะโฮวามิได้แสดงความนับถือต่อแนวทางของพระเจ้า. ในเวลาต่อมา พระยะโฮวาทรงมอบหน้าที่รับผิดชอบให้ซามูเอลเป็นผู้พยากรณ์ของพระองค์.—1 ซามูเอล 2:11, 12; 3:1-21.
9. (ก) มีอิทธิพลเช่นไรที่บ้านซึ่งมีผลดีต่อติโมเธียว? (ข) ติโมเธียวเติบโตขึ้นเป็นบุคคลแบบไหน?
9 คุณอยากให้บุตรชายของคุณเป็นเหมือนติโมเธียวซึ่งเป็นชายหนุ่มที่ได้กลายมาเป็นเพื่อนร่วมงานของอัครสาวกเปาโลไหม? บิดาของติโมเธียวไม่ใช่ผู้เชื่อถือ แต่มารดาและยายของท่านวางตัวอย่างที่ดีในการหยั่งรู้ค่าสิ่งฝ่ายวิญญาณ. ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งนี้ช่วยวางรากฐานที่ดีไว้สำหรับชีวิตของติโมเธียวในฐานะคริสเตียน. เราทราบว่ายูนิเกมารดาของท่านและโลอีผู้เป็นยาย มี “ความเชื่ออันแท้ [“ที่ปราศจากความหน้าซื่อใจคด,” ล.ม.].” การดำเนินชีวิตของเขาในฐานะคริสเตียนไม่ใช่การเสแสร้ง; ทั้งสองดำเนินชีวิตประสานอย่างแท้จริงกับสิ่งที่เขาประกาศตัวว่าเชื่อ และสอนหนุ่มน้อยติโมเธียวให้ทำอย่างเดียวกัน. ติโมเธียวพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นคนที่ไว้ใจได้และเอาใจใส่ดูแลสวัสดิภาพของผู้อื่นอย่างแท้จริง.—2 ติโมเธียว 1:5; ฟิลิปปอย 2:20-22.
10. (ก) ตัวอย่างอะไรที่อยู่นอกบ้านซึ่งอาจมีผลกระทบต่อบุตรของเรา? (ข) เราควรมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบปรากฏออกมาทางคำพูดหรือเจตคติของลูก ๆ?
10 ตัวอย่างที่มีผลกระทบต่อลูก ๆ ของเราไม่ได้มีเฉพาะแต่ภายในบ้านเท่านั้น. ยังมีเด็ก ๆ ที่เรียนด้วยกัน, บรรดาครูซึ่งมีหน้าที่นวดปั้นจิตใจที่อ่อนเยาว์, ผู้คนที่เชื่อฝังหัวว่าทุกคนควรปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมที่ฝังรากลึกของเผ่าหรือชุมชน, นักกีฬาชื่อดังที่ได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วไปสำหรับความสำเร็จของเขา, และข้าราชการที่ความประพฤติของเขาเป็นข่าวเด่น. เด็กหลายล้านคนยังต้องเผชิญกับความทารุณโหดร้ายของสงครามด้วย. เป็นเรื่องน่าแปลกใจไหมถ้าสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบปรากฏออกมาทางคำพูดหรือเจตคติของลูก ๆ เรา? เราจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเป็นอย่างนั้น? การดุด่าหรือการเทศนาอย่างรุนแรงช่วยแก้ปัญหาไหม? แทนที่จะแสดงปฏิกิริยาทันทีต่อบุตร ย่อมดีกว่ามิใช่หรือที่จะถามตัวเองว่า ‘มีอะไรบ้างไหมในแนวทางที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อเราซึ่งอาจช่วยให้มองเห็นวิธีที่จะจัดการปัญหานี้?’—เทียบกับโรม 2:4.
11. เมื่อบิดามารดาทำผิดพลาด อาจมีผลกระทบต่อเจตคติของบุตรอย่างไร?
11 แน่ละ บิดามารดาที่ไม่สมบูรณ์ย่อมไม่อาจจัดการปัญหาต่าง ๆ ด้วยวิธีที่ดีที่สุดได้เสมอ. เขาคงจะทำอะไรผิดพลาดบ้างในบางครั้ง. เมื่อบุตรตระหนักอย่างนี้ ความนับถือที่เขามีต่อบิดามารดาจะลดน้อยลงไปไหม? อาจเป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะถ้าบิดามารดาพยายามกลบเกลื่อนข้อผิดพลาดของตนโดยแสดงอำนาจอย่างฉุนเฉียว. แต่ผลจะออกมาต่างกันมากเลยทีเดียวถ้าบิดามารดาถ่อมใจและยอมรับตรง ๆ ถึงข้อผิดพลาดของตน. ในเรื่องนี้ เขาสามารถวางแบบอย่างที่มีค่ามากไว้สำหรับบุตรซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะทำอย่างเดียวกัน.—ยาโกโบ 4:6.
สิ่งที่ตัวอย่างของเราสามารถสอน
12, 13. (ก) บุตรจำเป็นต้องเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความรัก และจะสอนเรื่องนี้ได้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพที่สุด? (ข) เหตุใดจึงสำคัญที่บุตรจะเรียนรู้ในเรื่องความรัก?
12 มีบทเรียนอันมีค่ามากมายที่สามารถสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเมื่อสอนด้วยวาจาควบคู่ไปกับการวางตัวอย่างที่ดี. ขอพิจารณาบางตัวอย่าง.
13 การแสดงความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว: บทเรียนอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดซึ่งจะถูกเสริมให้หนักแน่นยิ่งขึ้นโดยตัวอย่างได้แก่ความหมายของความรัก. “เราทั้งหลายเกิดความรัก. ก็เพราะ [พระเจ้า] ได้ทรงรักเราก่อน.” (1 โยฮัน 4:19) พระองค์ทรงเป็นแหล่งกำเนิดและตัวอย่างอันดีเลิศของความรัก. ความรักตามหลักการ คืออะกาʹเป มีกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลมากกว่า 100 ครั้ง. ความรักแบบนี้เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ระบุตัวคริสเตียนแท้. (โยฮัน 13:35) ความรักเช่นนั้นจะต้องแสดงต่อพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ รวมทั้งมนุษย์แสดงต่อกันและกัน—แม้แต่ต่อคนที่เราอาจไม่ได้รู้สึกชอบ. (มัดธาย 5:44, 45; 1 โยฮัน 5:3) ความรักนี้ต้องอยู่ในหัวใจเราและแสดงหลักฐานในชีวิตของเราเสียก่อน เราจึงจะสอนลูก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพให้มีความรักเช่นนี้. การกระทำดังกว่าคำพูด. ภายในครอบครัว เด็กจำเป็นต้องเห็นและสัมผัสความรักและคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกัน เช่น ความรักใคร่สนิทสนม. หากปราศจากสิ่งเหล่านี้ พัฒนาการของเด็กก็จะชะงักงันทั้งทางกาย, ทางจิตใจ, และทางอารมณ์. นอกจากนี้ เด็กจำเป็นต้องเห็นวิธีแสดงออกซึ่งความรักและความรักใคร่อย่างเหมาะสมต่อเพื่อนคริสเตียนนอกวงครอบครัวด้วย.—โรม 12:10; 1 เปโตร 3:8.
14. (ก) บุตรจะได้รับการสอนโดยวิธีใดให้ทำงานที่ดีมีคุณภาพซึ่งจะนำความอิ่มใจพอใจมาให้? (ข) จะทำเช่นนี้ในกรณีครอบครัวของคุณได้อย่างไร?
14 การเรียนรู้วิธีทำงาน: งานเป็นแง่มุมหลักอย่างหนึ่งของชีวิต. เพื่อจะรู้สึกนับถือตนเอง คนเราจำต้องเรียนรู้วิธีที่จะทำงานที่ดีมีคุณภาพ. (ท่านผู้ประกาศ 2:24; 2 เธซะโลนิเก 3:10) หากเด็กได้รับมอบหมายงานซึ่งแทบไม่มีการแนะสอนให้เลย แล้วก็ถูกดุด่าว่าทำงานไม่ดี เขาก็คงไม่ได้เรียนรู้ที่จะทำงานที่มีคุณภาพ. แต่เมื่อเด็กเรียนรู้จากการลงมือทำงานด้วยกันกับบิดามารดาและได้รับคำชมเชยตามสมควร คงมีโอกาสมากกว่าที่เขาจะเรียนรู้ที่จะทำงานอย่างที่นำความอิ่มใจมาให้. ถ้ามีตัวอย่างของบิดามารดาควบคู่ไปกับการอธิบายให้เข้าใจ เด็กก็อาจเรียนรู้ไม่เพียงวิธีทำงานให้เสร็จ แต่ยังได้เรียนรู้ด้วยถึงวิธีแก้ปัญหา, วิธีที่จะพากเพียรทำงานจนสำเร็จ, และวิธีที่จะหาเหตุผลและตัดสินใจ. ภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นนี้ เขาสามารถได้รับการช่วยเหลือให้ตระหนักว่าพระยะโฮวาก็ทรงทำงานด้วย, พระองค์ทรงทำงานอย่างดี, และพระเยซูทรงเลียนแบบพระบิดาของพระองค์. (เยเนซิศ 1:31; สุภาษิต 8:27-31; โยฮัน 5:17) หากครอบครัวทำงานด้านการเกษตรหรือทำธุรกิจ สมาชิกครอบครัวบางคนอาจทำงานด้วยกัน. หรือมารดาอาจสอนบุตรชายหรือบุตรสาวให้ทำอาหารและล้างจานหลังรับประทานเสร็จ. บิดาที่ทำงานนอกบ้านอาจวางโครงการบางอย่างไว้ที่จะทำด้วยกันกับลูก ๆ ที่บ้าน. นับเป็นประโยชน์สักเพียงไรเมื่อบิดามารดาไม่เพียงแต่คิดถึงการทำงานที่เร่งด่วนให้เสร็จ ๆ ไป แต่คิดถึงการเตรียมลูก ๆ ไว้ให้พร้อมสำหรับชีวิตด้วย!
15. จะสอนบทเรียนในเรื่องความเชื่อได้โดยวิธีใดบ้าง? จงยกตัวอย่าง.
15 การรักษาความเชื่อเมื่อเผชิญความยากลำบาก: ความเชื่อเป็นแง่มุมสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิตเราด้วย. เมื่อพิจารณาเรื่องความเชื่อในการศึกษาประจำครอบครัว เด็ก ๆ อาจเรียนรู้ที่จะอธิบายความหมายของความเชื่อ. พวกเขาอาจได้รู้ด้วยถึงหลักฐานที่ทำให้ความเชื่อเริ่มงอกงามขึ้นในหัวใจของเขา. แต่เมื่อพวกเขาเห็นบิดามารดาแสดงความเชื่อที่ไม่สั่นคลอนขณะเผชิญการทดลองที่รุนแรง ตัวอย่างนั้นอาจส่งผลกระทบต่อเขาชั่วชีวิตเลยทีเดียว. นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งที่ประเทศปานามาถูกสามีขู่จะไล่ออกจากบ้านถ้าเธอไม่เลิกรับใช้พระยะโฮวา. ถึงกระนั้น เธอกับลูกเล็ก ๆ สี่คนก็ยังเดิน 16 กิโลเมตรแล้วขึ้นรถประจำทางต่ออีก 30 กิโลเมตรเป็นประจำเพื่อไปยังหอประชุมราชอาณาจักรที่ใกล้ที่สุด. โดยได้รับการกระตุ้นใจจากตัวอย่างดังกล่าว สมาชิกครอบครัวของเธอประมาณ 20 คนได้รับเอาแนวทางแห่งความจริง.
การวางตัวอย่างในการอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน
16. เหตุใดจึงมีคำแนะนำให้อ่านคัมภีร์ไบเบิลร่วมกับครอบครัวทุกวัน?
16 ธรรมเนียมอันมีค่าที่สุดอย่างหนึ่งที่ครอบครัวใดก็ตามสามารถตั้งไว้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบิดามารดาและเป็นตัวอย่างให้ลูก ๆ เลียนตาม คือการอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ. หากเป็นไปได้ จงอ่านส่วนหนึ่งจากคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน. ปริมาณไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด. สิ่งที่สำคัญกว่ามากคือความสม่ำเสมอและวิธีที่อ่าน. สำหรับเด็ก ๆ อาจเสริมการอ่านคัมภีร์ไบเบิลด้วยการฟังตลับเทปบันทึกเสียงหนังสือของฉันเกี่ยวด้วยเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล หากว่ามีในภาษาของคุณ. การอ่านข้อความจากพระคำของพระเจ้าทุก ๆ วันช่วยเรารักษาความคิดของพระเจ้าให้อยู่ในตำแหน่งสำคัญ. และถ้าการอ่านคัมภีร์ไบเบิลเช่นนั้นไม่ใช่เพียงต่างคนต่างอ่านแต่อ่านด้วยกันทั้งครอบครัว ก็จะสามารถช่วยคนในครัวเรือนทั้งหมดให้ดำเนินในแนวทางของพระยะโฮวา. มีการสนับสนุนให้ทำเช่นนั้น ณ การประชุมภาค “วิถีชีวิตตามแนวทางของพระเจ้า” เมื่อไม่นานมานี้ ในละครที่ชื่อครอบครัวทั้งหลาย—จงทำให้การอ่านพระคัมภีร์ทุกวันเป็นวิถีชีวิตของคุณ!—บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3.
17. การอ่านคัมภีร์ไบเบิลร่วมกับครอบครัวและการจำข้อพระคัมภีร์สำคัญ ๆ ช่วยอย่างไรในการใช้คำแนะนำที่เอเฟโซ 6:4?
17 การอ่านคัมภีร์ไบเบิลด้วยกันเป็นครอบครัวสอดคล้องกับสิ่งที่อัครสาวกเปาโลเขียนในจดหมายที่มีขึ้นโดยการดลใจถึงคริสเตียนในเมืองเอเฟโซ ที่ว่า “ท่านทั้งหลายผู้เป็นบิดา อย่ายั่วบุตรของท่านให้ขัดเคืองใจ แต่จงอบรมเขาด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) นั่นหมายความอย่างไร? “การปรับความคิดจิตใจ” ตามตัวอักษรหมายถึง “การใส่ความคิดจิตใจใน”; ดังนั้น คริสเตียนที่เป็นบิดาได้รับการกระตุ้นให้ใส่พระทัยของพระยะโฮวาพระเจ้าเข้าไว้ในตัวบุตร เพื่อช่วยเขาให้เรียนรู้จักความคิดของพระเจ้า. การสนับสนุนลูก ๆ ให้จำข้อพระคัมภีร์สำคัญ ๆ ก็อาจช่วยให้บรรลุผลดังกล่าวได้. เป้าหมายคือเพื่อให้ความคิดของพระยะโฮวาชี้นำความคิดของลูก ๆ เพื่อความปรารถนาและการประพฤติของพวกเขาจะได้สะท้อนถึงมาตรฐานของพระองค์เพิ่มขึ้นเป็นลำดับไม่ว่าบิดามารดาอยู่ด้วยหรือไม่. คัมภีร์ไบเบิลเป็นรากฐานสำหรับความคิดเช่นนั้น.—พระบัญญัติ 6:6, 7.
18. เมื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิล อาจจำเป็นต้องมีอะไรเพื่อ (ก) เข้าใจข้อพระคัมภีร์อย่างแจ่มแจ้ง? (ข) ได้รับประโยชน์จากคำแนะนำในข้อนั้น? (ค) ตอบสนองต่อสิ่งที่ข้อพระคัมภีร์นั้นเผยให้เห็นเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระยะโฮวา? (ง) ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่มีกล่าวไว้เกี่ยวกับเจตคติและการกระทำของผู้คน?
18 แน่ละ เพื่อคัมภีร์ไบเบิลจะมีผลกระทบต่อชีวิตเรา เราต้องเข้าใจสิ่งที่พระคัมภีร์กล่าว. สำหรับหลายคนแล้ว เพื่อจะเข้าใจเช่นนั้นได้จำเป็นต้องอ่านส่วนต่าง ๆ มากกว่าหนึ่งครั้ง. เพื่อจะเข้าใจแจ่มแจ้งในคำบางคำ เราอาจจำเป็นต้องค้นดูในพจนานุกรมหรือในหนังสือการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ). หากข้อพระคัมภีร์นั้นเป็นคำแนะนำหรือคำสั่ง จงใช้เวลาสนทนากันถึงสภาพการณ์ในสมัยของเราที่เหมาะจะนำข้อนั้นไปใช้. แล้วคุณอาจถามว่า ‘การใช้คำแนะนำนี้จะให้ประโยชน์แก่เราได้อย่างไร?’ (ยะซายา 48:17, 18) ถ้าข้อพระคัมภีร์นั้นบอกเกี่ยวกับแง่มุมบางอย่างแห่งพระประสงค์ของพระยะโฮวา จงถามว่า ‘ชีวิตของเราได้รับผลกระทบอย่างไรจากข้อนี้?’ อาจเป็นได้ที่คุณกำลังอ่านเรื่องราวที่บอกเกี่ยวกับเจตคติและการกระทำของผู้คน. คนเหล่านั้นกำลังประสบความกดดันอะไรในชีวิต? พวกเขารับมือความกดดันเหล่านั้นอย่างไร? เราสามารถได้รับประโยชน์อย่างไรจากตัวอย่างของเขา? จงกันเวลาไว้เสมอเพื่อพิจารณาว่าเรื่องราวที่อ่านมีความหมายอย่างไรต่อชีวิตของเราในปัจจุบัน.—โรม 15:4; 1 โกรินโธ 10:11.
19. โดยการเป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า เราจะให้อะไรแก่บุตรของเรา?
19 ช่างเป็นวิธีที่ดีอะไรเช่นนี้ที่จะประทับความคิดของพระเจ้าลงในจิตใจและหัวใจของเรา! โดยวิธีนี้ เราจะได้รับการช่วยเหลืออย่างแท้จริงให้เป็น “ผู้เลียนแบบพระเจ้า ดังบุตรที่รัก.” (เอเฟโซ 5:1, ล.ม.) และเราจะวางแบบอย่างซึ่งเหมาะสมอย่างแท้จริงที่ลูกของเราจะเลียนตาม.
คุณจำได้ไหม?
▫ บิดามารดาอาจได้รับประโยชน์โดยวิธีใดจากแบบอย่างของพระยะโฮวา?
▫ เหตุใดการสั่งสอนบุตรด้วยวาจาต้องควบคู่ไปกับตัวอย่างที่ดีของบิดามารดา?
▫ บทเรียนอะไรบ้างที่สอนได้ดีที่สุดโดยตัวอย่างของบิดามารดา?
▫ เราจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่โดยวิธีใดจากการอ่านคัมภีร์ไบเบิลกับครอบครัว?
[รูปภาพหน้า 10]
หลายครอบครัวเพลิดเพลินกับการอ่านคัมภีร์ไบเบิลด้วยกันทุกวัน