จงเพลิดเพลินกับ “ชีวิตแท้”
พระยะโฮวาพระเจ้าได้ทรงประทานความสำนึกในเรื่องนิรันดรกาลให้มนุษย์. (ท่านผู้ประกาศ 3:11, ฉบับแปลใหม่) นี่ทำให้มนุษย์รู้สึกหมดเรี่ยวหมดแรงเมื่อเผชิญกับความตาย แต่ขณะเดียวกันก็ปลุกเร้าความปรารถนาที่ไม่มีวันเหือดหายในตัวเขาที่จะมีชีวิตอยู่.
คัมภีร์ไบเบิลบริสุทธิ์ พระคำของพระเจ้าซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจเสนอความหวังที่เลิศล้ำให้เรา. (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) พระยะโฮวาผู้ทรงเป็นแก่นแท้ของความรักไม่อาจสร้างมนุษย์พร้อมด้วยความสามารถที่จะเข้าใจแนวคิดเรื่องนิรันดรกาล แต่แล้วกลับตัดสินลงโทษเขาให้มีชีวิตอยู่เพียงไม่กี่ปี. การสร้างเราเพื่อให้ประสบความทุกข์ทรมานเนื่องจากสภาพการณ์ของเรานั้นตรงกันข้ามชัด ๆ กับบุคลิกภาพของพระเจ้า. เรามิได้ถูกสร้างเหมือน “สัตว์ที่หาเหตุผลไม่เป็น เกิดมาโดยธรรมชาติเพื่อจะถูกจับทำลายเสีย.”—2 เปโตร 2:12, ล.ม.
เมื่อสร้างอาดามและฮาวาพร้อมด้วยความรู้สึกเรื่องนิรันดรกาลที่ติดตัวมา พระยะโฮวาพระเจ้าได้ทรงสร้างสิ่งที่ “ดีนัก” พระองค์ทรงสร้างเขาทั้งสองพร้อมด้วยศักยภาพในการมีชีวิตอยู่ตลอดไป. (เยเนซิศ 1:31) แต่น่าเศร้า มนุษย์คู่แรกใช้เจตจำนงเสรีของเขาในทางผิด ไม่เชื่อฟังข้อห้ามที่ชัดเจนจากพระผู้สร้าง และทำให้ความสมบูรณ์แรกเดิมของเขาสูญเสียไป. ผลก็คือ เขาเสียชีวิต ทั้งได้ถ่ายทอดความไม่สมบูรณ์และความตายมาสู่ลูกหลานของเขา.—เยเนซิศ 2:17; 3:1-24; โรม 5:12.
คัมภีร์ไบเบิลมิได้ปล่อยให้บรรยากาศของความลึกลับปกคลุมจุดมุ่งหมายของชีวิตและสิ่งที่ความตายหมายถึง. พระคัมภีร์บอกว่าในสภาพความตาย “ไม่มีการงาน, หรือโครงการ, หรือความรู้หรือสติปัญญา” และบอกว่าคนตายแล้ว “ไม่รู้อะไรเลย.” (ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10) พูดอีกอย่างหนึ่ง คนตายไม่มีชีวิต. คำสอนเรื่องจิตวิญญาณอมตะไม่ได้มาจากคัมภีร์ไบเบิล ดังนั้น ไม่มีความลึกลับเข้าใจยากที่ต้องอธิบายเกี่ยวกับสภาพของคนตาย.—เยเนซิศ 3:19; บทเพลงสรรเสริญ 146:4; ท่านผู้ประกาศ 3:19, 20; ยะเอศเคล 18:4.a
พระเจ้าทรงมีพระประสงค์; พระองค์มิได้สร้างแผ่นดินโลก “เพื่อให้เปล่าประโยชน์.” พระองค์ทรงปั้นแผ่นดินโลก “เพื่อเป็นที่อาศัย” ของมนุษย์สมบูรณ์ในสภาพอุทยาน และพระเจ้าไม่ได้เปลี่ยนพระประสงค์ของพระองค์. (ยะซายา 45:18, ล.ม.; มาลาคี 3:6) เพื่อให้เรื่องนี้กลายเป็นจริง พระองค์ทรงส่งพระบุตรมายังแผ่นดินโลก. โดยคงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ พระเยซูคริสต์ทรงจัดให้มีวิถีทางที่จะไถ่มนุษยชาติจากบาปและความตาย. ที่จริง พระเยซูตรัสว่า “พระเจ้าทรงรักโลกมากถึงกับทรงประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่สำแดงความเชื่อในพระองค์นั้นจะไม่ถูกทำลายแต่มีชีวิตนิรันดร์.”—โยฮัน 3:16, ล.ม.
นานมาแล้ว พระเจ้าทรงสัญญาว่าพระองค์จะสร้าง “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่.” (ยะซายา 65:17; 2 เปโตร 3:13, ล.ม.) นั่นจะหมายรวมถึงการที่พระองค์ทรงเลือกกลุ่มคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์จำนวนจำกัดสำหรับชีวิตในสวรรค์. พวกเขาประกอบกันเป็นศูนย์กลางการปกครองร่วมกับพระเยซูคริสต์. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงชนกลุ่มนี้ว่าเป็น “ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์” หรือ “ราชอาณาจักรของพระเจ้า” ซึ่งจะบริหาร “สิ่งต่าง ๆ ที่แผ่นดินโลก.” (มัดธาย 4:17, ล.ม.; 12:28, ล.ม.; เอเฟโซ 1:10, ล.ม.; วิวรณ์ 5:9, 10; 14:1, 3) หลังจากทำลายความชั่วช้าทั้งมวลบนโลกของเราและชำระโลกให้สะอาดแล้ว พระเจ้าจะนำสังคมมนุษย์ใหม่ที่ชอบธรรม หรือ “แผ่นดินโลกใหม่” เข้ามา. สังคมใหม่ดังกล่าวจะประกอบด้วยประชาชนซึ่งพระเจ้าทรงคุ้มครองผ่านพินาศกรรมของระบบชั่วนี้ที่กำลังจะมาถึง. (มัดธาย 24:3, 7-14, 21; วิวรณ์ 7:9, 13, 14) คนเหล่านั้นที่ถูกนำกลับคืนสู่ชีวิตโดยทางการกลับเป็นขึ้นจากตายที่ทรงสัญญาไว้จะมาสมทบกับพวกเขา.—โยฮัน 5:28, 29; กิจการ 24:15.
“ชีวิตแท้” ต่อจากนั้น
เพื่อเป็นการยืนยันถึงคำพรรณนาที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับชีวิตบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานในอนาคต พระเจ้าตรัสว่า “จงดูเถิด, เรากำลังสร้างสิ่งสารพัตรขึ้นใหม่.” (วิวรณ์ 21:5) เป็นไปไม่ได้ที่จิตใจมนุษย์จะเข้าใจเต็มที่ถึงพระราชกิจที่น่าอัศจรรย์ซึ่งพระเจ้าจะทรงทำเพื่อมนุษยชาติ. พระเจ้าจะสร้างอุทยานทั่วโลกตามแบบของสวนเอเดน. (ลูกา 23:43) เช่นเดียวกับในสวนเอเดน ความสวยงามและความน่าเพลิดเพลินของสีสัน, เสียง, และรสชาติจะมีบริบูรณ์. ความยากจนและการขาดแคลนอาหารจะไม่มีอีกต่อไป เพราะคัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับสมัยนั้นว่า “เหตุการณ์ที่ได้มีอยู่แต่ดั้งเดิมนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว.” (วิวรณ์ 21:4; บทเพลงสรรเสริญ 72:16) จะไม่มีใครพูดอีกต่อไปว่า “ข้าพเจ้าป่วยอยู่” เพราะความเจ็บป่วยจะถูกขจัดตลอดกาล. (ยะซายา 33:24) ถูกแล้ว สาเหตุทั้งมวลของความเจ็บปวดจะสูญสิ้นไป รวมทั้งความตาย ศัตรูที่มีมานานแล้วของมนุษยชาติ. (1 โกรินโธ 15:26) ในนิมิตที่น่าพิศวงเกี่ยวกับ “แผ่นดินโลกใหม่” สังคมมนุษย์ใหม่ภายใต้การปกครองของพระคริสต์ อัครสาวกโยฮันได้ยินเสียงกล่าวว่า “[พระเจ้า] จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของพวกเขา และความตายจะไม่มีอีกต่อไป ทั้งความทุกข์โศกหรือเสียงร้องหรือความเจ็บปวดจะไม่มีอีกเลย.” อะไรหรือสามารถนำมาซึ่งการปลอบโยนและความยินดียิ่งไปกว่าความสำเร็จเป็นจริงของคำสัญญาข้อนี้ของพระเจ้า?
ในการพรรณนาชีวิตอนาคต คัมภีร์ไบเบิลเน้นเป็นพิเศษถึงสภาพการณ์ซึ่งจะสนองความปรารถนาด้านศีลธรรมและด้านวิญญาณของมนุษย์. อุดมการณ์ที่ดีงามทั้งมวลซึ่งมนุษยชาติได้ต่อสู้ให้ได้มาจนกระทั่งปัจจุบันโดยไร้ผลนั้น ก็จะบรรลุได้อย่างเต็มที่. (มัดธาย 6:10) ในบรรดาสิ่งเหล่านี้ก็คือความปรารถนาในเรื่องความยุติธรรม ซึ่งยังคงไม่ได้รับการสนองตอบเนื่องจากมนุษย์มักได้รับความทุกข์จากผู้กดขี่ที่โหดเหี้ยมซึ่งปกครองเหนือคนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง. (ท่านผู้ประกาศ 8:9) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนเชิงพยากรณ์ถึงสภาพการณ์ภายใต้การปกครองของพระคริสต์ว่า “ในสมัยของพระองค์นั้นผู้ชอบธรรมจะเจริญขึ้น, และความสงบสุขจะมีบริบูรณ์.”—บทเพลงสรรเสริญ 72:7.
ความเสมอภาค เป็นความปรารถนาอีกอย่างหนึ่งที่หลายคนได้ทำการเสียสละเพื่อสิ่งนี้. ใน “การสร้างใหม่” นั้น พระเจ้าจะลบล้างการเลือกที่รักมักที่ชัง. (มัดธาย 19:28, ล.ม.) ทุกคนจะมีศักดิ์ศรีเหมือนกัน. นี่จะไม่ใช่ความเสมอภาคซึ่งตั้งขึ้นโดยระบบการปกครองของรัฐบาลที่เข้มงวดบางรูปแบบ. ตรงกันข้าม สาเหตุของการเลือกที่รักมักที่ชังจะถูกขจัด รวมทั้งความโลภและความหยิ่งซึ่งนำมนุษย์ไปสู่การแสวงหาการมีอำนาจเหนือคนอื่น หรือเพื่อสั่งสมทรัพย์สินจำนวนมหาศาล. ยะซายาได้พยากรณ์ว่า “เขาจะสร้างบ้านเรือนและจะได้อยู่เป็นแน่; และเขาจะทำสวนองุ่นแล้วได้กินผลแน่นอน. เขาจะไม่สร้างแล้วคนอื่นอยู่อาศัย; เขาจะไม่ปลูกแล้วคนอื่นได้กิน.”—ยะซายา 65:21, 22, ล.ม.
มนุษย์ทั้งเป็นรายบุคคลและเป็นหมู่คณะประสบความทุกข์สักเพียงไรเนื่องจากการนองเลือดในการสู้รบ! สภาพการณ์นี้ได้ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่การฆ่าเฮเบลจนกระทั่งถึงสงครามต่าง ๆ ในสมัยปัจจุบัน. มนุษย์ได้หวังและคอยอย่างลม ๆ แล้ง ๆ ให้มีการตั้งสันติภาพ มานานสักเพียงไร! ในอุทยานที่ได้รับการฟื้นฟู มนุษย์ทุกคนจะรักสันติและอ่อนน้อม พวกเขาจะ “ชื่นชมยินดีด้วยความสงบสุขอันบริบูรณ์.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:11.
ยะซายา 11:9 กล่าวว่า “แผ่นดินโลกจะเต็มไปด้วยความรู้ฝ่ายพระยะโฮวาดุจน้ำท่วมเต็มมหาสมุทร.” เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ที่ได้รับเป็นมรดก พร้อมกับปัจจัยอื่น ๆ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราในทุกวันนี้จะเข้าใจเต็มที่ถึงขอบเขตของถ้อยคำเหล่านั้น. ความรู้ที่สมบูรณ์พร้อมของพระเจ้าจะทำให้เราเป็นเอกภาพกับพระองค์โดยวิธีใดและนั่นจะยังผลด้วยความยินดีเต็มที่อย่างไร เราอาจยังจะต้องได้เรียนรู้. แต่เนื่องจากพระคัมภีร์แจ้งให้เราทราบว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าองค์ยอดเยี่ยมด้วยอำนาจ, สติปัญญา, ความยุติธรรม, และความรัก เราจึงสามารถมั่นใจได้ว่าพระองค์จะสดับคำอธิษฐานทั้งสิ้นของประชากรแห่ง “แผ่นดินโลกใหม่.”
“ชีวิตแท้” เป็นสิ่งแน่นอน—จงฉวยไว้!
สำหรับหลายคนแล้ว ชีวิตถาวรในโลกที่ดีกว่าเป็นเพียงความเพ้อฝันหรือภาพลวงตา. อย่างไรก็ตาม สำหรับคนเหล่านั้นที่มีความเชื่อในคำสัญญาของคัมภีร์ไบเบิลอย่างแท้จริง ความหวังนี้เป็นสิ่งแน่นอน เป็นเหมือนสมอสำหรับชีวิตของเขา. (เฮ็บราย 6:19) เช่นเดียวกับสมอยึดเรือไว้ให้มั่นคงและป้องกันมิให้เรือลอยไป ความหวังเกี่ยวกับชีวิตถาวรทำให้คนเรามั่นคงและมั่นใจและทำให้เขาสามารถเผชิญกับความยุ่งยากที่ร้ายแรงในชีวิตและกระทั่งเอาชนะความยุ่งยากเหล่านั้นได้.
เราแน่ใจได้ว่าพระเจ้าจะทรงทำให้คำสัญญาของพระองค์สำเร็จเป็นจริง. พระองค์กระทั่งทรงจัดให้มีการรับประกันโดยตรัสคำปฏิญาณ เป็นคำมั่นสัญญาที่เปลี่ยนไม่ได้. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “พระเจ้า เมื่อพระองค์ทรงหมายพระทัยจะสำแดงให้ผู้ที่รับมรดกแห่งคำสัญญานั้นรู้แน่ยิ่งขึ้นในเรื่องความไม่แปรปรวนแห่งพระประสงค์ของพระองค์นั้น จึงได้ทรงให้คำปฏิญาณแถมไว้ด้วย เพื่อว่าโดยสองสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนได้ซึ่งในนั้นเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจะตรัสมุสา เรา . . . อาจได้รับการหนุนกำลังใจมากเพื่อจะยึดมั่นกับความหวังที่ตั้งไว้ตรงหน้าเรา.” (เฮ็บราย 6:17, 18, ล.ม.) “สองสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนได้” ซึ่งพระเจ้าไม่เคยยกเลิกนั้นคือคำสัญญาและคำปฏิญาณของพระองค์ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับความคาดหวังของเรา.
ความเชื่อในคำสัญญาของพระเจ้าให้การปลอบโยนมากมายและให้กำลังฝ่ายวิญญาณ. ยะโฮซูอะ ผู้นำของประชาชนชาติยิศราเอล มีความเชื่อเช่นนั้น. เมื่อยะโฮซูอะกล่าวคำบรรยายอำลาแก่ชนยิศราเอลนั้น ท่านเป็นคนชราและรู้ว่าท่านจวนจะสิ้นชีวิต. กระนั้น ท่านได้แสดงพลังและความภักดีที่ไม่มีวันสลายซึ่งเกิดจากความไว้วางใจเต็มที่ในคำสัญญาของพระเจ้า. หลังจากบอกว่าท่านกำลังจะไป “ในทางแห่งมนุษย์โลกทั้งสิ้น” วิถีทางที่นำมวลมนุษยชาติไปสู่ความตาย ยะโฮซูอะกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายก็รู้แน่ในใจว่า, ในสิ่งสารพัตรอันดีนั้น, ซึ่งยะโฮวาพระเจ้าของท่านทรงตรัสถึงท่านแล้วหาได้ขาดสักสิ่งเดียวไม่; สรรพสิ่งเหล่านั้นก็สำเร็จแก่ท่านแล้ว, ไม่ขาดเหลือสักสิ่งเดียว.” ถูกแล้ว ยะโฮซูอะได้กล่าวซ้ำสามครั้งว่า พระเจ้าทรงรักษาคำสัญญาทั้งสิ้น ของพระองค์เสมอ.—ยะโฮซูอะ 23:14.
คุณก็เช่นกันสามารถมีความเชื่ออย่างเดียวกันในคำสัญญาของพระเจ้าเกี่ยวกับโลกใหม่ซึ่งจะถูกตั้งขึ้นในไม่ช้า. โดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างจริงจัง คุณก็จะมาเข้าใจว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ใด และเหตุใดพระองค์คู่ควรกับความไว้วางใจของคุณอย่างเต็มที่. (วิวรณ์ 4:11) อับราฮาม, ซารา, ยิศฮาค, ยาโคบ, และผู้ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ ในสมัยโบราณมีความเชื่อที่ไม่มีวันสลาย อาศัยการที่เขามีความรู้อย่างใกล้ชิดสนิทสนมกับพระยะโฮวา พระเจ้าเที่ยงแท้. พวกเขามั่นคงอยู่ในความหวัง ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงคือพวกเขา “มิได้รับผลตามคำสัญญา” ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ก็ตาม. กระนั้น “[พวกเขา] ก็แลเห็นแต่ไกลและยินดีต้อนรับไว้.”—เฮ็บราย 11:13, ล.ม.
โดยเข้าใจคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล ขณะนี้เราเห็นการใกล้เข้ามาของ “วันใหญ่ของพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ” ซึ่งในระหว่างช่วงนั้นแผ่นดินโลกจะได้รับการชำระให้ปราศจากความชั่วทั้งมวล. (วิวรณ์ 16:14, 16, ล.ม.) เช่นเดียวกับชนผู้ซื่อสัตย์ในสมัยโบราณ เราต้องรักษาความคาดหวังอย่างมั่นใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคตเอาไว้ โดยได้รับแรงจูงใจจากความเชื่ออีกทั้งความรักต่อพระเจ้าและต่อ “ชีวิตแท้.” การที่โลกใหม่ใกล้เข้ามานั้นเป็นแรงกระตุ้นที่มีพลังสำหรับคนเหล่านั้นที่แสดงความเชื่อในพระยะโฮวาและผู้ซึ่งรักพระองค์. เราต้องปลูกฝังความเชื่อและความรักดังกล่าวเพื่อจะได้รับความพอพระทัยของพระเจ้าและการคุ้มครองระหว่างวันใหญ่ของพระองค์ซึ่งใกล้เข้ามาแล้ว.—ซะฟันยา 2:3; 2 เธซะโลนิเก 1:3; เฮ็บราย 10:37-39.
ดังนั้น คุณรักชีวิตไหม? และคุณปรารถนา “ชีวิตแท้” มากกว่านั้นอีกไหม—ชีวิตในฐานะผู้รับใช้ซึ่งเป็นที่ยอมรับของพระเจ้า พร้อมกับความหวังเกี่ยวกับอนาคตที่มีความสุข ถูกแล้ว โดยคำนึงถึงชีวิตถาวร? หากนั่นเป็นสิ่งที่คุณแสวงหา จงเอาใจใส่ฟังคำกระตุ้นเตือนของอัครสาวกเปาโลซึ่งเขียนว่า เราควร ‘ฝากความหวังของเรา ไม่ใช่กับทรัพย์ที่ไม่แน่นอน แต่กับพระเจ้า.’ เปาโลกล่าวต่อไปว่า “ให้ร่ำรวยด้วยการกระทำอันดี” ซึ่งเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า เพื่อจะ “ยึดเอาชีวิตแท้ให้มั่น.”—1 ติโมเธียว 6:17-19, ล.ม.
โดยยอมรับคำเสนอการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา คุณสามารถได้รับความรู้ที่ “หมายถึงชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 17:3, ล.ม.) ด้วยความรัก คัมภีร์ไบเบิลบันทึกคำเชิญจากพระบิดาข้อนี้ให้แก่ทุกคนที่ว่า “ศิษย์ของเราเอ๋ย, อย่าลืมโอวาทของเรา; แต่จงให้ใจของเจ้ารักษาบัญญัติทั้งหลายของเรา: เพราะว่าบัญญัตินั้นจะเพิ่มวันและปีเดือนทั้งหลายแห่งชีวิตของเจ้า, กับสันติสุขให้แก่เจ้า.”—สุภาษิต 3:1, 2.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับการพิจารณาที่ละเอียดเกี่ยวกับหัวเรื่องนี้ โปรดดูจุลสารเกิดอะไรขึ้นกับเราเมื่อเราตาย? จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.