จะจัดการอย่างไรกับความท้อแท้ใจ?
คนเราจะเอาชนะความท้อแท้ใจได้อย่างไร? เรื่องนี้เป็นปัญหาที่มีการยกขึ้นมาพิจารณากับผู้ดูแลเดินทางหลายคน ซึ่งเข้าเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวาเป็นประจำ. คำตอบของผู้ดูแลเหล่านี้อาจช่วยเราให้วิเคราะห์สาเหตุต่าง ๆ แห่งความท้อแท้ใจและแนวทางแก้ไขสภาพการณ์นี้ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับคริสเตียนคนหนึ่งคนใดก็ได้.
เพื่อจัดการกับความท้อแท้ใจ จำเป็นต้องทำมากกว่าการวิเคราะห์ แต่อาการต่าง ๆ อาจรวมถึงการไม่ใส่ใจจะอธิษฐานหรือศึกษาส่วนตัว การไม่เข้าร่วมประชุมสม่ำเสมอ ไม่มีความกระตือรือร้น และกระทั่งความรู้สึกเฉยเมยต่อเพื่อนคริสเตียน. อย่างไรก็ดี สัญญาณบ่งบอกที่ชัดแจ้งที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ ขาดความกระตือรือร้นที่จะทำงานเผยแพร่. ขอให้เราตรวจดูอาการต่าง ๆ และพิจารณาทางแก้ไขบางประการ.
ความท้อแท้ใจในงานเผยแพร่ของเรา
พระเยซูคริสต์ทรงตระหนักถึงความยากลำบากที่ควบคู่กับงานมอบหมายที่จะทำให้คนเป็นสาวก. (มัดธาย 28:19, 20) พระองค์ทรงส่งเหล่าสาวกออกไปดุจ “แกะอยู่ท่ามกลางหมาป่า” โดยทรงทราบว่ากิจการงานประกาศจะทำให้เขาได้รับการข่มเหง. (มัดธาย 10:16-23, ล.ม.) กระนั้น เรื่องนี้หาใช่เหตุผลที่เขาจะรู้สึกท้อใจ. อันที่จริง การข่มเหงมักจะทำให้ผู้รับใช้ของพระเจ้าซึ่งหมายพึ่งพระยะโฮวาอย่างจริงใจได้รับการเสริมกำลังให้เข้มแข็ง.—กิจการ 4:29-31; 5:41, 42.
แม้ในยามที่สาวกของพระคริสต์ไม่ได้ประสบการข่มเหงที่รุนแรง แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะเป็นที่ชื่นชอบเสมอไป. (มัดธาย 10:11-15) เช่นเดียวกัน งานประกาศสั่งสอนของพยานพระยะโฮวาทุกวันนี้ก็ไม่สะดวกง่ายดายไปเสียทุกครั้ง.a หลายคนถือว่าการเชื่อพระเจ้านั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัว ซึ่งเขาไม่ต้องการจะพิจารณา. ส่วนคนอื่น ๆ ไม่อยากเกี่ยวข้องกับองค์การศาสนาซึ่งตนมีอคติบางอย่าง. โดยไม่สงสัย การไม่แยแส การไม่บังเกิดผล หรือปัญหาหลากหลายอื่น ๆ อาจเป็นที่มาแห่งความท้อแท้ใจซึ่งเอาชนะยาก. จะชนะอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ได้โดยวิธีใด?
การได้รับผลที่ดีกว่า
ความชื่นชมยินดีที่เราได้จากงานรับใช้นั้น ส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องกับการบรรลุผล. ทีนี้เราจะทำงานรับใช้ที่บังเกิดผลมากขึ้นโดยวิธีใด? พวกเราเป็น “ผู้จับคน.” (มาระโก 1:16-18) ชาวประมงในประเทศอิสราเอลโบราณออกหาปลาในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่เขาจับปลาได้มากที่สุด. พวกเราก็เช่นกันจำต้องวิเคราะห์เขตงานของเรา เพื่อว่าเราออกไป “จับปลา” ในเวลาที่คนส่วนใหญ่อยู่บ้านและตอบรับข่าวสารของเราได้ดีกว่า. นั่นอาจเป็นตอนเย็น, วันสุดสัปดาห์, หรือเวลาอื่นนอกจากที่กล่าว. ดังผู้ดูแลเดินทางคนหนึ่งกล่าวว่า วิธีนี้ใช้ได้ผลในย่านที่ประชาชนทำงานตลอดวัน. เขาตั้งข้อสังเกตว่า บ่อยครั้งการให้คำพยานในช่วงเย็นบังเกิดผลดีมาก. อนึ่ง การให้คำพยานทางโทรศัพท์ หรือเมื่อสบโอกาสก็ทำให้เราสามารถพบประชาชนได้มากขึ้น.
ความอุตสาหะพากเพียรในงานรับใช้ก่อผลดี. งานประกาศข่าวราชอาณาจักรในยุโรปตะวันออกและบางประเทศในแอฟริกาก้าวหน้าเป็นอย่างดี และทั้งนี้เกิดผลเป็นการเพิ่มทวีที่น่าพอใจ. ในทำนองเดียวกัน ได้มีการตั้งหลายประชาคมเพิ่มขึ้นในท้องที่ซึ่งเคยมองว่าไม่เกิดผล หรือแม้แต่ในเขตงานซึ่งทำกันบ่อย ๆ. อย่างไรก็ตาม สมมุติว่างานรับใช้ของคุณไม่เกิดผลอย่างที่กล่าวมาล่ะ?
การคงไว้ซึ่งทัศนะที่ดี
การมีเป้าหมายอย่างแจ่มชัดในใจตามที่พระเยซูทรงวางไว้ย่อมช่วยเราไม่กลายเป็นคนท้อใจเมื่อประสบความเฉยเมยในระหว่างที่เราทำงานเผยแพร่. พระคริสต์ทรงประสงค์ให้เหล่าสาวกของพระองค์เสาะหาบุคคลที่เหมาะสม ไม่ใช่ทำงานเพื่อจะได้ผู้คนจำนวนมากมาเข้าศาสนา. ในหลายโอกาสพระองค์ทรงชี้ว่าผู้คนจำนวนมากจะไม่ยอมรับข่าวดี เหมือนชาวยิศราเอลส่วนใหญ่ไม่เชื่อฟังพวกผู้พยากรณ์ในกาลโบราณ.—ยะเอศเคล 9:4; มัดธาย 10:11-15; มาระโก 4:14-20.
ผู้ที่ “สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของตน” จะรับเอา “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักร” ด้วยความรู้สึกขอบคุณ. (มัดธาย 5:3, ล.ม.; 24:14, ล.ม.) พวกเขาต้องการรับใช้พระเจ้าในแนวทางที่พระองค์ทรงกำหนดไว้. ด้วยเหตุนี้ ผลงานจากกิจกรรมของเราจึงเกี่ยวเนื่องกับสภาพหัวใจของผู้คนยิ่งกว่าความสามารถของเราในการเสนอข่าวสาร. แน่ละ ตัวเราเองก็ต้องพยายามเต็มที่เพื่อทำให้ข่าวดีเป็นที่ดึงดูดใจ. กระนั้น ผลที่จะได้ย่อมขึ้นอยู่กับพระเจ้า เพราะพระเยซูตรัสดังนี้: “ไม่มีผู้ใดจะมาถึงเราได้เว้นแต่พระบิดาผู้ทรงใช้เรามาจะชักนำเขา.”—โยฮัน 6:44, ล.ม.
งานเผยแพร่ของเราทำให้พระนามพระยะโฮวาเป็นที่รู้จัก. ผู้คนจะรับฟังหรือไม่ก็ตาม กิจกรรมการประกาศของเราเป็นส่วนเสริมความน่านับถือแห่งพระนามบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา. ยิ่งกว่านั้น โดยที่เราทำงานเผยแพร่กิตติคุณ เราพิสูจน์ตัวว่าเราเป็นสาวกของพระคริสต์ และเรามีสิทธิพิเศษได้ร่วมงานมอบหมายที่สำคัญยิ่งซึ่งกำลังทำกันอยู่ในสมัยของเรานี้.—มัดธาย 6:9; โยฮัน 15:8.
ความท้อแท้ใจและความสัมพันธ์กับผู้คน
ความสัมพันธ์บางอย่างระหว่างบุคคล ไม่ว่าภายในครอบครัวหรือในประชาคมอาจเป็นสาเหตุของความท้อแท้ใจได้. ยกตัวอย่าง มีความรู้สึกว่าไม่มีคนเข้าใจเรา. ความไม่สมบูรณ์ของเพื่อนร่วมความเชื่อก็อาจทำให้เราท้อใจเช่นกัน. อีกครั้งหนึ่ง พระคัมภีร์จะช่วยเราได้มากทีเดียว.
“สังคมแห่งพี่น้องทั้งสิ้น” ทั่วโลกประกอบกันเป็นครอบครัวใหญ่ฝ่ายวิญญาณ. (1 เปโตร 2:17, ล.ม.) แต่ความรู้สึกที่ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอาจค่อย ๆ เลือนหายไปเมื่อเกิดความยุ่งยากอันเนื่องมาจากบุคลิกภาพไม่ตรงกัน. เห็นได้ชัดว่า คริสเตียนศตวรรษแรกก็หลีกไม่พ้นปัญหาดังกล่าว เพราะอัครสาวกเปาโลต้องย้ำเตือนพวกเขาหลายครั้งให้อยู่ด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพ. ยกตัวอย่าง ท่านตักเตือนสตรีคริสเตียนสองคน—ยุโอเดียและซุนตุเค—ให้แก้ไขการแตกแยกกัน.—1 โกรินโธ 1:10; เอเฟโซ 4:1-3; ฟิลิปปอย 4:2, 3, ล.ม.
หากเรื่องที่กล่าวมานี้เป็นปัญหา เราจะปลุกความรักอย่างจริงใจที่มีต่อพี่น้องชายหญิงของเราขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร? โดยที่เราเตือนตัวเองว่าพระคริสต์ได้วายพระชนม์เพื่อเขา และพวกเขาก็เหมือนกับเราได้สำแดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระองค์. อนึ่ง เราพึงจดจำเสมอว่าพี่น้องของเราหลายคนพร้อมจะเลียนแบบพระเยซูคริสต์ ด้วยการเสี่ยงชีวิตเพื่อเรา.
หลายปีมาแล้ว ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เด็กหนุ่มพยานฯ คนหนึ่งไม่ได้ลังเลใจที่จะคว้ากระเป๋าเดินทางที่บรรจุระเบิดซึ่งวางอยู่นอกหอประชุม. เขาวิ่งลงบันไดหลายช่วงก่อนโยนกระเป๋านั้นลงไปในอ่างน้ำพุ แล้วมันระเบิดขึ้นที่นั่น. เมื่อถูกถามว่ามีอะไรกระตุ้นเขาให้เสี่ยงชีวิตแบบนี้ เขาตอบว่า “ผมรู้ว่าชีวิตพวกเราอยู่ในอันตราย. ผมจึงคิดว่าหากผมตายคนเดียวจะดีกว่าพวกเราตายกันหมด.”b ช่างเป็นพระพรอะไรเช่นนั้นที่มีเพื่อนแบบนี้ผู้ซึ่งพร้อมปฏิบัติตามตัวอย่างของพระเยซูอย่างใกล้ชิด!
นอกจากนี้ พวกเราอาจใคร่ครวญถึงน้ำใจที่แสดงถึงการร่วมมือกันในท่ามกลางเหล่าพยานพระยะโฮวาระหว่างอยู่ในค่ายกักกันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง.c หลังจากนั้นอีก พี่น้องชายหญิงของเราในประเทศมาลาวีก็ได้ยืนหยัดอย่างซื่อสัตย์มั่นคงเช่นกันฐานะเป็นคริสเตียนแท้. ความคิดที่ว่าพี่น้องในประชาคมของเราจะปฏิบัติอย่างเดียวกันนั้นภายใต้สภาพการณ์อันยากลำบาก จะไม่กระตุ้นเราบ้างเชียวหรือให้มองข้ามสิ่งที่ก่อความตึงเครียดและความยุ่งยากแต่ละวัน หรืออย่างน้อยก็ลดหย่อนผ่อนปรนให้น้อยลง? หากเราพัฒนาจิตใจอย่างพระคริสต์ การติดต่อสัมพันธ์กันทุก ๆ วันระหว่างเรากับเพื่อนผู้นมัสการจะเป็นแหล่งที่ยังความสดชื่น ไม่ใช่ทำให้ท้อใจ.
ความรู้สึกท้อแท้เฉพาะตัว
“ความคาดหมายที่เลื่อนไปทำให้หัวใจเจ็บป่วย แต่สิ่งที่ปรารถนาเป็นเหมือนต้นไม้แห่งชีวิตเมื่อได้มา.” (สุภาษิต 13:12, ล.ม.) ในสายตาของผู้รับใช้บางคนของพระยะโฮวาเห็นว่าอวสานของระบบนี้ไม่ได้มาเร็วทันใจ. คริสเตียนพบว่าพวกเรากำลังอยู่ในช่วง ‘วิกฤติซึ่งยากจะรับมือได้’ เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ คนที่ไม่มีความเชื่อ.—2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.
อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับคนไม่มีความเชื่อ คริสเตียนก็น่าจะปีติยินดีที่ได้เข้าใจว่าสภาพการณ์ยากลำบากเหล่านี้เป็น “หมายสำคัญ” แสดงการประทับของพระเยซู ซึ่งบ่งชี้ว่าอีกไม่นาน ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะนำระบบชั่วนี้สู่อวสาน. (มัดธาย 24:3-14) แม้ในคราวที่สภาพการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น—ดังที่จะเกิดขึ้นแน่นอนในระหว่าง “ความทุกข์ลำบากใหญ่”—เหตุการณ์เหล่านี้ก็ยังคงเป็นแหล่งที่มาของความปีติยินดีแก่พวกเรา เพราะแสดงว่าโลกใหม่ของพระเจ้ากำลังจะมาถึง.—มัดธาย 24:21; 2 เปโตร 3:13.
ความคิดที่ว่าการเข้าแทรกแซงของราชอาณาจักรในกิจธุระสมัยปัจจุบันจะยังไม่เกิดขึ้น อาจเป็นเหตุให้คริสเตียนทุ่มเทเวลามากขึ้นทุกทีกับการแสวงหาวัตถุปัจจัย. หากเขาปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น งานอาชีพและการบันเทิงแย่งเอาเวลาและกำลังทั้งหมดที่เขามีอยู่ ก็คงยากที่เขาจะปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบตามหลักพระคัมภีร์ให้สำเร็จได้อย่างเหมาะสม. (มัดธาย 6:24, 33, 34) ทัศนะดังกล่าวก่อความคับข้องใจ และดังนั้น จึงเกิดความท้อแท้ใจ. ผู้ดูแลเดินทางคนหนึ่งให้ความเห็นดังนี้: “ไม่ได้เป็นไปตามสภาพจริงหรอก หากจะพยายามเลียนแบบการดำรงชีวิตแบบโลกใหม่ในระบบนี้.”
การแก้ไขที่ดีที่สุดสองวิธี
ครั้นได้วินิจฉัยสาเหตุแล้ว ปัจเจกบุคคลจะพบวิธีการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร? การศึกษาส่วนตัวเป็นวิธีหนึ่งที่ดีเยี่ยมซึ่งสามารถจะทำได้. เพราะเหตุใด? ผู้ดูแลเดินทางคนหนึ่งบอกว่า “การศึกษาส่วนตัวสะกิดใจเราว่าทำไมเราถึงต้องทำสิ่งที่เรากำลังทำอยู่.” นอกจากนั้น อีกคนหนึ่งได้ชี้แจงว่า “หากถือเอาการประกาศสั่งสอนเป็นเพียงพันธะหน้าที่ ในที่สุดจะกลายเป็นภาระหนัก.” แต่การศึกษาส่วนตัวที่ดีย่อมช่วยให้เราได้มุมมองอันแจ่มชัดเกี่ยวกับบทบาทของเรากลับคืนมาอีก ขณะที่เราเข้าไปใกล้อวสานมากขึ้นทุกที. ในแนวความคิดเดียวกันนี้ พระคัมภีร์เตือนเราครั้งแล้วครั้งเล่าในเรื่องความจำเป็นที่ต้องรับการเลี้ยงดูอย่างอิ่มหนำฝ่ายวิญญาณเพื่อจะมีความสุขจริง ๆ ในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3; 19:7-10; 119:1, 2.
บรรดาผู้ปกครองสามารถช่วยคนอื่น ๆ ให้รับมือได้กับความท้อแท้ใจ โดยไปเยี่ยมให้การบำรุงเลี้ยงที่หนุนกำลังใจเขา. ระหว่างเยี่ยมเป็นการส่วนตัวเช่นนี้ ผู้ปกครองจะแสดงให้เห็นว่าพวกเราแต่ละคนมีค่า และมีบทบาทสำคัญท่ามกลางไพร่พลของพระยะโฮวา. (1 โกรินโธ 12:20-26) เมื่ออ้างถึงเพื่อนคริสเตียน ผู้ปกครองคนหนึ่งพูดว่า “ที่จะเน้นคุณค่าพวกเขา ผมให้เขานึกย้อนไปถึงสิ่งที่เขาได้ทำสำเร็จในอดีต. ผมชี้ให้เขาเห็นว่าเขามีค่าในสายพระเนตรของพระยะโฮวาและพระองค์ได้ประทานพระโลหิตพระบุตรเพื่อประโยชน์ของเขา. การชักเหตุผลอย่างนี้ได้การตอบรับที่ดีเสมอ. ครั้นใช้วิธีนี้เสริมด้วยข้ออ้างอิงที่มีน้ำหนักจากคัมภีร์ไบเบิล คนเหล่านั้นซึ่งรู้สึกท้อใจก็อยู่ในสภาพที่จะตั้งเป้าหมายใหม่ เป็นต้นว่า การอธิษฐานและการศึกษารวมทั้งการอ่านคัมภีร์ไบเบิลด้วยกันในฐานะเป็นครอบครัว.”—เฮ็บราย 6:10.
ระหว่างการเยี่ยมเพื่อบำรุงเลี้ยง ผู้ปกครองพึงระวังจะไม่ทำให้ดูเหมือนว่าไม่มีทางจะให้พระเจ้าพอพระทัย. แทนที่จะทำอย่างนั้น ผู้ปกครองจะช่วยเพื่อนผู้นมัสการที่ท้อใจเห็นว่าแอกที่สาวกของพระเยซูต้องรับแบกไว้นั้นพอเหมาะและเบา. ผลที่ตามมาคือ งานรับใช้ฝ่ายคริสเตียนของเราเป็นแหล่งที่ยังความชื่นชมยินดี.—มัดธาย 11:28-30.
การพิชิตความท้อแท้ใจ
ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เป็นสาเหตุ ความท้อใจเป็นสิ่งที่ยังความเสียหายซึ่งจะต้องสู้กับมัน. แต่พึงจำไว้ว่า ไม่ได้มีลำพังเราคนเดียวในการต่อสู้เช่นนี้. ถ้าเราท้อใจ ก็จงรับเอาการช่วยเหลือจากเพื่อนคริสเตียน โดยเฉพาะบรรดาผู้ปกครอง. โดยกระทำเช่นนั้น ความรู้สึกท้อแท้ของเราอาจจะผ่อนคลายลง.
ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด เราต้องหมายพึ่งการช่วยเหลือจากพระเจ้าในการเอาชนะความท้อแท้ใจ. หากเราไว้วางใจในพระยะโฮวาอย่างจริงใจ พระองค์จะทรงช่วยเราเอาชนะความท้อแท้ใจได้อย่างแท้จริง. (บทเพลงสรรเสริญ 55:22; ฟิลิปปอย 4:6, 7) ในกรณีใดก็แล้วแต่ ในฐานะเป็นไพร่พลของพระองค์ เราจะร่วมความรู้สึกได้กับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญซึ่งร้องดังนี้: “ความสุขย่อมมีแก่พลไพร่ที่รู้จักเสียงชื่นใจนั้น: ข้าแต่พระยะโฮวา, เขาดำเนินไปในแสงสว่างแห่งพระพักตร์ของพระองค์. เขาทั้งหลายชื่นใจยินดีในพระนามของพระองค์ตลอดวัน; และเขาถูกสถาปนาขึ้นในความชอบธรรมของพระองค์. เพราะพระองค์เป็นสง่าราศีแห่งกำลังของเขา; และสิงค์ของพวกข้าพเจ้าจะถูกสถาปนาขึ้นในพระเดชพระคุณของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 89:15-17.
[เชิงอรรถ]
a โปรดอ่านบทความ “ข้อท้าทายการประกาศตามบ้าน” ในวารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 15 พฤษภาคม 1981.
b โปรดดูตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) หน้า 12, 13 ของฉบับ 22 กุมภาพันธ์ 1985 จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
c ดูบทความ “ผมมีชีวิตรอดจาก ‘ทางเดินมรณะ’” ในวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 มีนาคม 1981 หน้า 6 และ “การรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงในค่ายนาซี เยอรมนี” ในวารสารตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 มิถุนายน 1985.
[รูปภาพหน้า 31]
การเยี่ยมบำรุงเลี้ยงที่เสริมสร้างจากผู้ปกครองที่มีความรักใคร่ย่อมช่วยคริสเตียนเอาชนะความท้อแท้ใจได้