เครื่องบูชาถวายคำสรรเสริญที่พระยะโฮวาทรงพอพระทัย
‘จงถวายร่างกายของท่านเป็นเครื่องบูชาอันมีชีวิตอยู่, บริสุทธิ์, ที่พระเจ้าทรงยอมรับได้.’—โรม 12:1, ล.ม.
1. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับคุณค่าของเครื่องบูชาภายใต้พระบัญญัติของโมเซ?
“เนื่องจากพระบัญญัติมีเงาของสิ่งดีที่จะมีมา แต่ไม่ใช่ตัวจริงของสิ่งนั้นทีเดียว ด้วยเครื่องบูชาอย่างเดียวกันซึ่งพวกเขาถวายต่อเนื่องกันมาทุกปี มนุษย์ไม่อาจทำให้คนที่เข้ามาถวายสมบูรณ์ได้เลย.” (เฮ็บราย 10:1, ล.ม.) ในที่นี้ ซึ่งเป็นข้อความตอนหนึ่งที่เด่นทีเดียว อัครสาวกเปาโลยืนยันว่าเครื่องบูชาทั้งหมดที่ถวายภายใต้พระบัญญัติของโมเซมิได้มีคุณค่าถาวรในแง่ที่เกี่ยวข้องกับความรอดของมนุษย์.—โกโลซาย 2:16, 17.
2. เหตุใดจึงไม่เปล่าประโยชน์ที่จะพยายามเข้าใจข้อมูลโดยละเอียดในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับของถวายและเครื่องบูชาแห่งพระบัญญัติ?
2 นี่หมายความไหมว่าเนื้อหาในเพนทาทุกเกี่ยวกับของถวายและเครื่องบูชาไม่มีคุณค่าเลยสำหรับคริสเตียนในทุกวันนี้? อันที่จริง ในช่วงหนึ่งปีเศษ ๆ มานี้ คนที่สมัครเข้าโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าในประชาคมต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวาทั่วโลกเพิ่งจะได้อ่านโดยตลอดในพระธรรมห้าเล่มแรกนี้ของคัมภีร์ไบเบิล. บางคนพากเพียรอ่านและทำความเข้าใจรายละเอียดทั้งหมด. ความพยายามทั้งหมดนี้ของพวกเขาเปล่าประโยชน์ไหม? ไม่เป็นเช่นนั้นแน่ เพราะ “ทุกสิ่งที่เขียนไว้คราวก่อนได้เขียนไว้สั่งสอนพวกเรา เพื่อว่า โดยการอดทนของเราและโดยการปลอบโยนจากพระคัมภีร์เราจะมีความหวัง.” (โรม 15:4, ล.ม.) ดังนั้น จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ‘คำสั่งสอน’ และ “การปลอบโยน” อะไรที่เรารวบรวมได้จากข้อมูลที่อยู่ในพระบัญญัติเกี่ยวกับของถวายและเครื่องบูชา?
เพื่อสั่งสอนและปลอบโยนเรา
3. เรามีความจำเป็นพื้นฐานอะไร?
3 แม้ว่าไม่มีข้อเรียกร้องให้ถวายเครื่องบูชาตามตัวอักษรในลักษณะที่กำหนดไว้โดยพระบัญญัติ เราก็ยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในสิ่งที่เครื่องบูชาให้ประโยชน์แก่ชาวยิศราเอลในระดับหนึ่ง นั่นก็คือ การได้รับอภัยบาปและความโปรดปรานจากพระเจ้า. เนื่องจากเราไม่ถวายเครื่องบูชาตามตัวอักษรอีกต่อไป เราจะได้รับประโยชน์เช่นนั้นได้อย่างไร? หลังจากที่ชี้ถึงข้อจำกัดของเครื่องบูชาที่เป็นสัตว์ เปาโลประกาศว่า “ครั้น [พระเยซู] เสด็จเข้ามาในโลกแล้ว, พระองค์จึงตรัสว่า, ‘เครื่องบูชาและของบรรณาการพระองค์ไม่ทรงประสงค์, แต่พระองค์ได้ทรงจัดเตรียมกายประทานแก่ข้าพเจ้า. เครื่องบูชาเพลิงและเครื่องบูชาแก้บาปพระองค์หาชอบพระทัยไม่.’ ขณะนั้นข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า, ‘ข้าแต่พระเจ้า, ข้าพเจ้ามาเพื่อจะให้น้ำพระทัยของพระองค์สำเร็จ, ตามคัมภีร์ที่เขียนไว้กล่าวถึงข้าพเจ้าแล้วนั้น.’ ”—เฮ็บราย 10:5-7.
4. เปาโลใช้บทเพลงสรรเสริญ 40:6-8 กับพระเยซูคริสต์อย่างไร?
4 โดยยกข้อความจากบทเพลงสรรเสริญ 40:6-8 เปาโลชี้ว่าพระเยซูไม่ได้เสด็จมาเพื่อทำให้ ‘เครื่องบูชาและของบรรณาการ, เครื่องบูชาเพลิงและเครื่องบูชาแก้บาป’ คงอยู่ตลอดไป ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เป็นที่พอพระทัยพระเจ้าอีกต่อไปเมื่อถึงสมัยที่เปาโลเขียนข้อความนี้. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระเยซูเสด็จมาด้วยพระกายที่เตรียมไว้โดยพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์ กายซึ่งสอดคล้องตรงกันในทุกแง่กับกายที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้เมื่อพระองค์ทรงสร้างอาดาม. (เยเนซิศ 2:7; ลูกา 1:35; 1 โกรินโธ 15:22, 45) ในฐานะพระบุตรผู้สมบูรณ์ของพระเจ้า พระเยซูมีบทบาทในฐานะเป็น “พงศ์พันธุ์” ของหญิง ตามที่บอกล่วงหน้าไว้ที่เยเนซิศ 3:15 (ล.ม.). พระองค์ทรงดำเนินการตามขั้นตอนที่จะ ‘บดขยี้หัวซาตาน’ แม้ว่าพระเยซูเองจะถูก “บดขยี้ส้นเท้า.” โดยวิธีนี้ พระเยซูกลายมาเป็นเครื่องมือที่พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมไว้เพื่อความรอดของมนุษยชาติ ซึ่งมนุษย์ที่ซื่อสัตย์ได้เฝ้าคอยนับตั้งแต่สมัยของเฮเบล.
5, 6. คริสเตียนมีวิธีที่ดีกว่าเช่นไรในการเข้าเฝ้าพระเจ้า?
5 เปาโลกล่าวถึงบทบาทพิเศษของพระเยซูดังนี้: “พระเจ้าได้ทรงกระทำพระองค์ผู้ทรงไม่มีบาปให้บาปเพราะเห็นแก่เรา เพื่อเราจะได้เป็นคนชอบธรรมของพระเจ้าทางพระองค์.” (2 โกรินโธ 5:21, ฉบับแปลใหม่) วลี “ทรงกระทำ . . . ให้บาป” อาจแปลได้ด้วยว่า ‘ทรงทำให้เป็นเครื่องบูชาไถ่บาป.’ อัครสาวกโยฮันกล่าวว่า “พระองค์ทรงเป็นเครื่องบูชาระงับพระพิโรธสำหรับบาปของเรา แต่ไม่ใช่สำหรับบาปของเราเท่านั้นแต่สำหรับบาปของทั้งโลกด้วย.” (1 โยฮัน 2:2, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น แม้ว่าชาวยิศราเอลมีวิธีการชั่วคราวในการเข้าเฝ้าพระเจ้าโดยอาศัยเครื่องบูชา คริสเตียนมีพื้นฐานที่ดีกว่าสำหรับการไปถึงพระเจ้า นั่นคือเครื่องบูชาของพระเยซูคริสต์. (โยฮัน 14:6; 1 เปโตร 3:18) หากเราแสดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมให้และเชื่อฟังพระองค์ เราก็เช่นกันสามารถได้รับการอภัยบาป รวมทั้งได้รับความโปรดปรานและพระพรจากพระเจ้า. (โยฮัน 3:17, 18) เรื่องนี้ให้การปลอบโยนมิใช่หรือ? อย่างไรก็ตาม เราจะแสดงได้อย่างไรว่าเรามีความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่?
6 หลังจากอธิบายว่าคริสเตียนมีพื้นฐานที่ดีกว่าสำหรับการเข้าเฝ้าพระเจ้า อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงจุดสำคัญ ๆ ดังที่เราอ่านที่เฮ็บราย 10:22-25 (ล.ม.) เกี่ยวกับสามวิธีที่เราสามารถแสดงความเชื่อของเราและความหยั่งรู้ค่าต่อการจัดเตรียมด้วยความรักของพระเจ้า. แม้ว่าคำเตือนสติของเปาโลโดยหลักใหญ่แล้วมุ่งไปยังคนเหล่านั้นที่จะได้ “เข้าไปในที่บริสุทธิ์”—กล่าวคือ เหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ถูกเรียกจากสวรรค์—แต่มนุษย์ทั้งสิ้นจำเป็นอย่างแน่นอนต้องเอาใจใส่ถ้อยคำที่เปาโลเขียนโดยการดลใจ หากเขาต้องการจะได้รับประโยชน์จากเครื่องบูชาระงับพระพิโรธของพระเยซู.—เฮ็บราย 10:19.
จงถวายเครื่องบูชาที่สะอาดและไร้มลทิน
7. (ก) เฮ็บราย 10:22 สะท้อนให้เห็นอย่างไรถึงสิ่งที่ได้มีการทำกันในการถวายเครื่องบูชา? (ข) ต้องทำอะไรเพื่อทำให้แน่ใจว่าเครื่องบูชาเป็นที่ยอมรับของพระเจ้า?
7 ในประการแรก เปาโลกระตุ้นคริสเตียนดังนี้: “ให้เราเข้าเฝ้าด้วยหัวใจซื่อตรงด้วยความเชื่อมั่นเต็มที่ มีหัวใจซึ่งถูกพรมชำระจากสติรู้สึกผิดชอบที่ชั่วและกายซึ่งล้างชำระด้วยน้ำสะอาด.” (เฮ็บราย 10:22, ล.ม.) ลักษณะคำที่ใช้ในที่นี้สะท้อนอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่ได้มีการทำกันในการถวายเครื่องบูชาอันเป็นแบบอย่างภายใต้พระบัญญัติ. นี่นับว่าเหมาะทีเดียว เพราะเพื่อจะให้เครื่องบูชาเป็นที่ยอมรับ ต้องถวายด้วยแรงกระตุ้นที่ถูกต้อง รวมทั้งต้องสะอาดและไร้มลทิน. สัตว์บูชานั้นมาจากฝูง กล่าวคือเป็นสัตว์สะอาด และ “ไม่พิการ” ไม่มีตำหนิ. หากเครื่องบูชาเป็นสัตว์ปีก ก็ต้องเป็นนกเขาหรือนกพิราบหนุ่ม. หากบรรลุข้อเรียกร้องดังกล่าว “เครื่องบูชานั้นจะเป็นที่ให้มีความชอบและเป็นที่ไถ่โทษของผู้นั้น.” (เลวีติโก 1:2-4, 10, 14; 22:19-25) สำหรับเครื่องบูชาธัญชาตินั้นไม่ใส่เชื้อ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเสื่อม; อีกทั้งไม่ใส่น้ำผึ้ง ซึ่งอาจเป็นได้ว่าหมายถึงน้ำเชื่อมที่ทำจากผลไม้ ซึ่งมักจะทำให้เกิดการหมัก. เมื่อเครื่องบูชา—ไม่ว่าสัตว์หรือธัญชาติ—ถูกถวายบนแท่น ก็จะมีการเติมเกลือซึ่งช่วยกันไม่ให้บูดเน่า.—เลวีติโก 2:11-13.
8. (ก) มีข้อเรียกร้องอะไรสำหรับคนที่ถวายเครื่องบูชา? (ข) เราจะทำให้แน่ใจได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงยอมรับการนมัสการของเรา?
8 จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับผู้ที่ถวายเครื่องบูชา? พระบัญญัติกล่าวว่าใครก็ตามที่มาเฝ้าจำเพาะพระยะโฮวาจะต้องสะอาดและไร้มลทิน. ก่อนอื่น คนที่เป็นมลทินเนื่องด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งต้องถวายเครื่องบูชาไถ่บาปหรือไถ่ความผิดเพื่อฟื้นฟูฐานะที่สะอาดของเขาจำเพาะพระยะโฮวา เพื่อเครื่องบูชาเผาหรือเครื่องบูชาสมานไมตรีจะเป็นที่พระองค์ทรงยอมรับได้. (เลวีติโก 5:1-6, 15, 17) ด้วยเหตุนั้น เราหยั่งรู้ค่าความสำคัญของการรักษาฐานะที่สะอาดจำเพาะพระยะโฮวาอยู่เสมอไหม? หากเราต้องการให้การนมัสการของเราได้รับการยอมรับจากพระเจ้า เราต้องว่องไวในการแก้ไขสิ่งใดก็ตามที่เป็นการละเมิดกฎหมายของพระเจ้า. เราควรว่องไวในการรับเอาวิธีการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่พระเจ้าประทานให้—“บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ของประชาคม” และพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็น “เครื่องบูชาระงับพระพิโรธสำหรับบาปของเรา.”—ยาโกโบ 5:14, ล.ม.; 1 โยฮัน 2:1, 2, ล.ม.
9. มีความแตกต่างที่สำคัญอะไรระหว่างเครื่องบูชาที่ถวายแด่พระยะโฮวากับเครื่องบูชาที่ถวายแก่พระเท็จ?
9 ที่จริง การเน้นในเรื่องความไร้มลทินไม่ว่าแบบหนึ่งแบบใดเป็นข้อแตกต่างสำคัญระหว่างเครื่องบูชาที่ถวายแด่พระยะโฮวากับเครื่องบูชาที่ถวายแก่พระเท็จโดยผู้คนในชาติต่าง ๆ ที่อยู่โดยรอบชาติยิศราเอล. ในอรรถาธิบายเกี่ยวกับลักษณะเด่นดังกล่าวนี้ของเครื่องบูชาในพระบัญญัติของโมเซ หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “เราจะสังเกตได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยกับการเสี่ยงทายหรือการทำนาย; ไม่มีการแสดงความคลั่งไคล้ทางศาสนา, การตัดส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายตัวเอง, หรือการค้าประเวณีเพื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์, พิธีกรรมเพื่อการเจริญพันธุ์ที่เร้าราคะและปราศจากการเหนี่ยวรั้งถูกห้ามเด็ดขาด; ไม่มีการบูชายัญมนุษย์; ไม่มีการถวายเครื่องบูชาสำหรับคนตาย.” ทั้งหมดนี้ดึงความสนใจมาที่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง: พระยะโฮวาทรงเป็นองค์บริสุทธิ์ และพระองค์ไม่ทรงมองข้ามหรือเห็นชอบกับบาปหรือความเสื่อมทรามแบบใดก็ตาม. (ฮะบาฆูค 1:13) การนมัสการและเครื่องบูชาที่ถวายแด่พระองค์ต้องสะอาดและไร้มลทินในทางกาย, ทางศีลธรรม, และฝ่ายวิญญาณ.—เลวีติโก 19:2; 1 เปโตร 1:14-16.
10. ประสานกันกับคำเตือนสติของเปาโลดังบันทึกที่โรม 12:1, 2 เราควรพินิจพิเคราะห์ตัวเองเช่นไร?
10 เมื่อคำนึงถึงข้อนี้ เราควรพินิจพิเคราะห์ตัวเราเองในทุกด้านของชีวิตเพื่อให้แน่ใจว่าการรับใช้ที่เราถวายแด่พระยะโฮวานั้นพระองค์ทรงยอมรับได้. เราไม่ควรคิดว่า ตราบใดเรามีส่วนร่วมบ้างในการประชุมคริสเตียนและในงานรับใช้ ก็ไม่สำคัญว่าเราจะทำอะไรในชีวิตส่วนตัว. เราไม่ควรคิดด้วยว่า การมีส่วนร่วมในกิจการงานคริสเตียนทำให้เราได้รับการยกเว้นจากความจำเป็นที่จะยึดมั่นอยู่กับกฎหมายของพระเจ้าในขอบเขตอื่น ๆ ของชีวิตเรา. (โรม 2:21, 22) เราไม่อาจคาดหมายพระพรและความโปรดปรานจากพระเจ้าได้ หากเราปล่อยให้สิ่งใดก็ตามที่ไม่สะอาดหรือเป็นมลทินในสายพระเนตรของพระองค์มาแปดเปื้อนความคิดและการกระทำของเรา. ขอให้จำคำกล่าวของเปาโลเอาไว้ ที่ว่า “พี่น้องทั้งหลาย อาศัยความเมตตาสงสารของพระเจ้า ข้าพเจ้าวิงวอนท่านทั้งหลายให้ถวายร่างกายของท่านเป็นเครื่องบูชาอันมีชีวิตอยู่, บริสุทธิ์, ที่พระเจ้าทรงยอมรับได้, เป็นการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์พร้อมด้วยความสามารถของท่านในการหาเหตุผล. และจงเลิกถูกนวดปั้นตามระบบนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงโดยเปลี่ยนความคิดจิตใจของท่านเสียใหม่ เพื่อท่านทั้งหลายจะพิสูจน์แก่ตัวเองในเรื่องพระทัยประสงค์อันดี ที่น่ารับไว้และสมบูรณ์พร้อมของพระเจ้า.”—โรม 12:1, 2, ล.ม.
จงถวายคำสรรเสริญเป็นเครื่องบูชาอย่างสุดหัวใจ
11. มีอะไรรวมอยู่ด้วยในวลี “การประกาศอย่างเปิดเผย” ดังกล่าวไว้ที่เฮ็บราย 10:23?
11 ในจดหมายถึงชาวฮีบรูข้อต่อมา เปาโลดึงความสนใจมาที่แง่สำคัญแห่งการนมัสการแท้: “ให้เรายึดมั่นกับการประกาศอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความหวังของเราโดยไม่สั่นคลอน เพราะพระองค์ผู้ทรงสัญญานั้นสัตย์ซื่อ.” (เฮ็บราย 10:23, ล.ม.) วลี “การประกาศอย่างเปิดเผย” นี้ตามตัวอักษรหมายถึง “การประกาศยืนยันความเชื่อ” และเปาโลยังกล่าวด้วยถึงการถวาย “คำสรรเสริญเป็นเครื่องบูชา.” (เฮ็บราย 13:15, ล.ม.) ทั้งนี้จึงเป็นการเตือนใจเราให้นึกถึงเครื่องบูชาแบบที่มนุษย์อย่างเฮเบล, โนฮา, และอับราฮามได้ถวาย.
12, 13. ชาวยิศราเอลยอมรับอะไรเมื่อเขาถวายเครื่องบูชาเผา และเราจะทำอะไรได้เพื่อสะท้อนถึงน้ำใจอย่างเดียวกัน?
12 เมื่อชาวยิศราเอลถวายเครื่องบูชาเผา เขาถวาย “แด่พระยะโฮวาด้วยใจสมัคร.” (เลวีติโก 1:3, ล.ม.) โดยเครื่องบูชาเช่นนั้น เขาได้สมัครใจประกาศอย่างเปิดเผยหรือยอมรับพระพรและความรักกรุณาอันอุดมของพระยะโฮวาต่อไพร่พลของพระองค์. พึงจำไว้ว่า ลักษณะเด่นของเครื่องบูชาเผาคือเครื่องบูชาทั้งหมดถูกเผาบนแท่น—สัญลักษณ์อันเหมาะเจาะของความเลื่อมใสและการอุทิศทั้งหมด. ประสานกับข้อนี้ เราแสดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่และแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อการจัดเตรียมนั้น เมื่อเราถวาย ‘คำสรรเสริญเป็นเครื่องบูชา คือผลแห่งริมฝีปาก’ อย่างเต็มใจและสุดหัวใจแด่พระยะโฮวา.
13 แม้ว่าคริสเตียนไม่ถวายเครื่องบูชาตามตัวอักษร—ไม่ว่าสัตว์หรือพืช—พวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบที่จะให้คำพยานในเรื่องข่าวดีเกี่ยวกับราชอาณาจักรและทำให้คนเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) คุณฉวยประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่เพื่อมีส่วนร่วมในการประกาศอย่างเปิดเผยถึงข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าไหม เพื่อให้อีกหลาย ๆ คนได้ทราบสิ่งดียอดเยี่ยมที่พระเจ้าทรงมีไว้สำหรับมนุษยชาติที่เชื่อฟัง? คุณเต็มใจใช้เวลาและพลังงานในการสอนผู้ที่สนใจและช่วยพวกเขาให้เข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ไหม? การที่เรามีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในงานรับใช้นั้นก็เป็นเช่นเดียวกับกลิ่นที่ทำให้สงบของเครื่องบูชาเผา คือเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้า.— 1 โกรินโธ 15:58.
จงชื่นชมยินดีในมิตรภาพกับพระเจ้าและมนุษย์
14. คำกล่าวของเปาโลที่เฮ็บราย 10:24, 25 คล้ายคลึงกับแนวคิดในเรื่องเครื่องบูชาสมานไมตรีอย่างไร?
14 ในที่สุด เปาโลดึงความสนใจของเรามาที่สัมพันธภาพกับเพื่อนคริสเตียนขณะที่เรานมัสการพระเจ้า. “ให้เราพิจารณาดูกันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี ไม่ละการประชุมร่วมกันเหมือนบางคนทำเป็นนิสัย แต่ชูใจซึ่งกันและกัน และให้มากขึ้นเมื่อท่านทั้งหลายเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.” (เฮ็บราย 10:24, 25, ล.ม.) วลี “เพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี,” “การประชุมร่วมกัน,” และ “ชูใจซึ่งกันและกัน” ล้วนแต่ทำให้เรานึกถึงสิ่งที่เครื่องบูชาสมานไมตรีในชาติยิศราเอลให้ประโยชน์แก่ไพร่พลของพระเจ้า.
15. เราเห็นความคล้ายคลึงอะไรระหว่างเครื่องบูชาสมานไมตรีกับการประชุมคริสเตียน?
15 คำ “เครื่องบูชาสมานไมตรี” นี้บางครั้งแปลกันว่า “เครื่องบูชาแห่งสันติสุข.” คำภาษาฮีบรูสำหรับ “สันติสุข” ในที่นี้เป็นคำพหูพจน์ ซึ่งอาจส่อนัยว่าการมีส่วนร่วมในเครื่องบูชาเช่นนั้นยังผลเป็นสันติสุขกับพระเจ้าและสันติสุขกับเพื่อนผู้นมัสการ. เกี่ยวกับเครื่องบูชาสมานไมตรีนี้ ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “นี่นับเป็นช่วงเวลาแห่งมิตรภาพที่มีความสุขกับพระเจ้าแห่งสัญญาไมตรีอย่างแท้จริง ซึ่งพระองค์ทรงถ่อมพระองค์ลงมาเป็นแขกของชาติยิศราเอล ณ มื้ออาหารแห่งเครื่องบูชานี้ ในขณะเดียวกับที่พระองค์ทรงเป็นเจ้าภาพของพวกเขาอยู่เสมอ.” ข้อนี้เตือนใจเราให้นึกถึงคำสัญญาของพระเยซูที่ว่า “มีสองหรือสามคนร่วมประชุมกัน ณ ที่ใดในนามของเรา เราอยู่ท่ามกลางเขาที่นั่น.” (มัดธาย 18:20, ล.ม.) ทุกครั้งที่เราเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน เราได้รับประโยชน์จากการคบหาสมาคมที่เสริมสร้าง, การสั่งสอนที่หนุนกำลังใจ, และประโยชน์จากความคิดที่ว่าพระเยซูคริสต์เจ้าของเราทรงอยู่ด้วยกับเรา. นั่นทำให้การประชุมคริสเตียนเป็นโอกาสแห่งความยินดีและเสริมสร้างความเชื่ออย่างแท้จริง.
16. เมื่อคิดถึงเครื่องบูชาสมานไมตรี อะไรทำให้การประชุมคริสเตียนน่ายินดีเป็นพิเศษ?
16 ในการถวายเครื่องบูชาสมานไมตรี ไขมันทั้งหมด—ที่หุ้มลำไส้, ไต, และพังผืดที่หุ้มตับ, และที่ตะโพก, ตลอดจนหางของแกะซึ่งมีไขมันสะสมอยู่มาก—ถูกถวายแด่พระยะโฮวาด้วยการเผา ทำให้เกิดควันโขมงบนแท่นบูชา. (เลวีติโก 3:3-16) ไขมันถือว่าเป็นส่วนที่อุดมที่สุดและดีที่สุดของสัตว์. การถวายมันสัตว์บนแท่นบูชาแสดงสัญลักษณ์ของการถวายสิ่งดีที่สุดแด่พระยะโฮวา. สิ่งที่ทำให้การประชุมคริสเตียนน่ายินดีเป็นพิเศษก็คือ เราไม่เพียงแต่รับการสอนอย่างเดียว แต่ยังได้ถวายคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวาด้วย. เราทำอย่างนี้ด้วยการมีส่วนร่วม—ด้วยความพยายามอย่างดีที่สุดแต่ไม่โอ้อวด—ในการร้องเพลงอย่างสุดหัวใจ, ฟังอย่างตั้งใจ, และแสดงความเห็นเมื่อมีโอกาส. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องออกมาดังนี้: “ท่านทั้งหลายจงสรรเสริญพระยะโฮวา. จงร้องเพลงบทใหม่ถวายพระยะโฮวา, จงสรรเสริญพระองค์ในสันนิบาตของพวกผู้ชอบธรรม.”—บทเพลงสรรเสริญ 149:1.
พระพรอันอุดมจากพระยะโฮวาคอยเราอยู่
17, 18. (ก) ซะโลโมถวายเครื่องบูชาอันยิ่งใหญ่อะไรในคราวการอุทิศพระวิหารในกรุงยะรูซาเลม? (ข) ประชาชนได้รับพระพรเช่นไรอันเป็นผลมาจากพิธีการ ณ การอุทิศพระวิหาร?
17 ในคราวการอุทิศพระวิหารในกรุงยะรูซาเลมอย่างเป็นทางการ ในเดือนที่เจ็ดปี 1026 ก.ส.ศ. กษัตริย์ซะโลโมถวาย “เครื่องบูชาอันยิ่งใหญ่แด่พระยะโฮวา” ซึ่งประกอบไปด้วย “เครื่องบูชาเผาและเครื่องบูชาธัญชาติและส่วนที่เป็นมันของเครื่องบูชาสมานไมตรี.” นอกเหนือจากสิ่งที่ถวายเป็นเครื่องบูชาธัญชาติแล้ว ได้มีการถวายโค 22,000 ตัวและแกะ 120,000 ตัวเป็นเครื่องบูชาในโอกาสนี้.—1 กษัตริย์ 8:62-65, ล.ม.
18 คุณนึกภาพออกไหมว่าต้องใช้จ่ายไปสักเท่าไรและต้องทำงานมากขนาดไหนในพิธีการอันใหญ่โตเช่นนั้น? ถึงกระนั้น พระพรที่ชาติยิศราเอลได้รับเห็นได้ชัดว่ามีค่ายิ่งกว่านั้นมากนัก. เมื่องานเลี้ยงนี้สิ้นสุดลง ซะโลโม “ก็ทรงให้พลไพร่ทั้งปวงเลิกกลับไป: และเขาทั้งหลายก็ได้ถวายชัยมงคลแก่กษัตริย์, และก็ได้เข้าไปในทับอาศัยของตนโดยใจรื่นเริงยินดีเพราะความเมตตากรุณาทั้งสิ้น ซึ่งพระยะโฮวาได้ทรงกระทำแก่ดาวิดผู้ทาสของพระองค์, และแก่พวกยิศราเอลพลไพร่ของพระองค์.” (1 กษัตริย์ 8:66) จริงทีเดียว ดังที่ซะโลโมได้เขียนไว้ “พระพรของพระยะโฮวากระทำให้เกิดความมั่งคั่ง; และพระองค์จะไม่เพิ่มความทุกข์ยากให้เลย.”—สุภาษิต 10:22.
19. เราจะทำอะไรได้เพื่อรับพระพรอันยิ่งใหญ่จากพระยะโฮวาในขณะนี้และตลอดไป?
19 เรากำลังมีชีวิตในช่วงเวลาที่ “เงาของสิ่งดีที่จะมีมา” ได้ถูกทดแทนโดย “ตัวจริงของสิ่งนั้นทีเดียว.” (เฮ็บราย 10:1, ล.ม.) พระเยซูคริสต์ ผู้ทรงรับบทบาทเป็นองค์ยิ่งใหญ่ที่มหาปุโรหิตเล็งถึง ได้เข้าในสวรรค์แล้วและเสนอคุณค่าแห่งพระโลหิตของพระองค์เองเพื่อไถ่ถอนคนเหล่านั้นทั้งหมดที่แสดงความเชื่อในเครื่องบูชาของพระองค์. (เฮ็บราย 9:10, 11, 24-26) โดยอาศัยเครื่องบูชาอันยิ่งใหญ่และโดยการถวายคำสรรเสริญเป็นเครื่องบูชาที่สะอาดและไร้มลทินแด่พระเจ้าอย่างสุดหัวใจ เราก็เช่นกันจะดำเนินชีวิตด้วย “ใจรื่นเริงยินดี” และมองตรงไปยังพระพรอันอุดมจากพระยะโฮวา.—มาลาคี 3:10.
คุณจะตอบอย่างไร?
• คำสั่งสอนและการปลอบโยนอะไรที่เรารวบรวมได้จากข้อมูลในพระบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องบูชาและของถวาย?
• อะไรคือข้อเรียกร้องประการแรกเพื่อเครื่องบูชาจะเป็นที่ยอมรับ และข้อเรียกร้องนี้มีความหมายเช่นไรสำหรับเรา?
• เราจะถวายอะไรได้ซึ่งเทียบได้กับเครื่องบูชาเผาด้วยใจสมัคร?
• การประชุมคริสเตียนเปรียบได้กับเครื่องบูชาสมานไมตรีในทางใดบ้าง?
[ภาพหน้า 18]
พระยะโฮวาทรงจัดให้มีเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูเพื่อความรอดของมนุษยชาติ
[ภาพหน้า 20]
เพื่อการรับใช้ของเราจะเป็นที่ยอมรับของพระยะโฮวา เราต้องปราศจากมลทินไม่ว่าจะแบบใดก็ตาม
[ภาพหน้า 21]
เรายอมรับอย่างเปิดเผยถึงความดีของพระยะโฮวาเมื่อเรามีส่วนร่วมในงานรับใช้