จงใฝ่ใจทางพระวิญญาณและมีชีวิต!
“การใฝ่ใจทางพระวิญญาณหมายถึงชีวิต.”—โรม 8:6, ล.ม.
1, 2. คัมภีร์ไบเบิลเทียบให้เห็นความแตกต่างเช่นไรระหว่าง “เนื้อหนัง” กับ “พระวิญญาณ”?
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะรักษาฐานะที่สะอาดทางศีลธรรมจำเพาะพระเจ้าท่ามกลางสังคมที่เสื่อมทรามซึ่งยกย่องการสนองความปรารถนาทางเนื้อหนัง. อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์เทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “เนื้อหนัง” กับ “พระวิญญาณ” โดยขีดเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างผลอันร้ายกาจของการปล่อยตัวให้เนื้อหนังที่ผิดบาปครอบงำกับผลอันเป็นพระพรของการยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าดำเนินกิจในชีวิตเรา.
2 ยกตัวอย่าง พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “พระวิญญาณเป็นที่ให้ชีวิต ส่วนเนื้อหนังไม่มีประโยชน์อันใด. ถ้อยคำซึ่งเราได้กล่าวแก่เจ้าทั้งหลายนั้นเป็นพระวิญญาณและเป็นชีวิต.” (โยฮัน 6:63, ล.ม.) อัครสาวกเปาโลเขียนถึงคริสเตียนในเมืองฆะลาเตียว่า “ราคะตัณหาของเนื้อหนังย่อมต่อสู้พระวิญญาณ, และพระวิญญาณก็ต่อสู้เนื้อหนัง ด้วยว่าทั้งสองฝ่ายเป็นปฏิปักษ์กัน.” (ฆะลาเตีย 5:17) เปาโลยังกล่าวด้วยว่า “คนใดที่หว่านโดยคำนึงถึงเนื้อหนังของตนเองจะเกี่ยวเก็บการเปื่อยเน่าจากเนื้อหนังนั้น แต่คนที่หว่านโดยคำนึงถึงพระวิญญาณจะเกี่ยวเก็บชีวิตชั่วนิรันดร์จากพระวิญญาณนั้น.”—ฆะลาเตีย 6:8, ล.ม.
3. อะไรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะหลุดพ้นจากความปรารถนาและแนวโน้มที่ผิด ๆ?
3 พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา—พลังปฏิบัติการของพระองค์—สามารถขุดรากถอนโคน “ความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนัง” และอำนาจครอบงำที่ก่อความเสียหายจากเนื้อหนังที่ผิดบาปของเรา. (1 เปโตร 2:11, ล.ม.) เพื่อจะหลุดพ้นจากพันธนาการแห่งแนวโน้มที่ผิด ๆ นับว่าสำคัญยิ่งที่เราต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระเจ้า เพราะเปาโลเขียนไว้ว่า “การใฝ่ใจทางเนื้อหนังหมายถึงความตาย แต่การใฝ่ใจทางพระวิญญาณหมายถึงชีวิตและสันติสุข.” (โรม 8:6, ล.ม.) การใฝ่ใจทางพระวิญญาณหมายถึงอะไร?
“การใฝ่ใจทางพระวิญญาณ”
4. “การใฝ่ใจทางพระวิญญาณ” หมายความเช่นไร?
4 เมื่อเปาโลเขียนเกี่ยวกับ “การใฝ่ใจทางพระวิญญาณ” ท่านใช้คำกรีกที่หมายถึง “แนวทางแห่งความคิด, ความตั้งใจ, . . . เป้าหมาย, ความปรารถนาอันแรงกล้า, ความบากบั่น.” คำกริยาที่เกี่ยวข้องหมายถึง “คิด, ใส่ใจในแนวทางบางอย่าง.” ด้วยเหตุนั้น การใฝ่ใจทางพระวิญญาณหมายถึงการให้พลังปฏิบัติการของพระยะโฮวาควบคุม, มีอิทธิพลเหนือ, และผลักดันเรา. การใฝ่ใจทางพระวิญญาณแสดงถึงว่าเราเต็มใจให้ความคิด, แนวโน้ม, และความปรารถนาของเราเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจปฏิบัติการแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าอย่างเต็มที่.
5. เราควรอยู่ภายใต้อำนาจปฏิบัติการของพระวิญญาณบริสุทธิ์ถึงขนาดไหน?
5 เปาโลเน้นว่าเราควรอยู่ภายใต้อำนาจปฏิบัติการของพระวิญญาณบริสุทธิ์ถึงขนาดไหน เมื่อท่านกล่าวถึงการเป็น ‘ทาสโดยพระวิญญาณ.’ (โรม 7:6, ล.ม.) โดยอาศัยความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู คริสเตียนได้รับการปลดปล่อยจากการถูกบาปครอบงำ และด้วยเหตุนั้นจึง “ตาย” แก่สภาพเดิมของตนในฐานะทาสของบาป. (โรม 6:2, 11) คนที่ตายโดยนัยอย่างนี้ยังคงมีชีวิตฝ่ายกาย และบัดนี้เป็นอิสระที่จะติดตามพระคริสต์ในฐานะ “ทาสของความชอบธรรม.”—โรม 6:18-20.
การเปลี่ยนแปลงที่โดดเด่น
6. คนที่กลายมาเป็น “ทาสของความชอบธรรม” ผ่านการเปลี่ยนแปลงเช่นไร?
6 การเปลี่ยนแปลงจากการเป็น “ทาสบาป” มาเป็น “ทาสของความชอบธรรม” นับว่าโดดเด่นจริง ๆ. เปาโลเขียนเกี่ยวกับบางคนที่ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นดังนี้: ‘ได้ทรงชำระท่านทั้งหลายให้สะอาด ได้ทรงทำให้ท่านทั้งหลายบริสุทธิ์ ได้ประกาศให้ท่านทั้งหลายเป็นผู้ชอบธรรมในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราและด้วยพระวิญญาณแห่งพระเจ้าของเรา.’—โรม 6:17, 18; 1 โกรินโธ 6:11, ล.ม.
7. เหตุใดจึงสำคัญที่จะมีทัศนะของพระยะโฮวาในเรื่องต่าง ๆ?
7 เพื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งเช่นนั้น อันดับแรกเราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับทัศนะของพระยะโฮวาในเรื่องต่าง ๆ. หลายศตวรรษมาแล้ว ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญทูลวิงวอนพระเจ้าอย่างแรงกล้าว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงโปรดให้ข้าพเจ้ารู้ทางของพระองค์ . . . ขอทรงแนะนำสอนข้าพเจ้าตามความสัตย์จริงของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 25:4, 5) พระยะโฮวาทรงสดับคำอธิษฐานของดาวิด และพระองค์ทรงสามารถตอบคำอธิษฐานเช่นนั้นของผู้รับใช้พระองค์ในสมัยปัจจุบันด้วย. เนื่องจากแนวทางของพระเจ้าและความจริงของพระองค์สะอาดและบริสุทธิ์ การคิดรำพึงถึงแนวทางและความจริงนั้นย่อมจะเป็นประโยชน์หากเราถูกล่อใจให้สนองความปรารถนาของเนื้อหนังที่ไม่สะอาด.
บทบาทอันสำคัญยิ่งของพระคำของพระเจ้า
8. เหตุใดจึงจำเป็นที่เราต้องศึกษาคัมภีร์ไบเบิล?
8 คัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า เป็นผลงานของพระวิญญาณของพระองค์. ด้วยเหตุนั้น วิธีสำคัญวิธีหนึ่งที่จะให้พระวิญญาณดำเนินกิจในตัวเราคือการอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิล—ทุกวันหากเป็นไปได้. (1 โกรินโธ 2:10, 11; เอเฟโซ 5:18) การบรรจุจิตใจและหัวใจของเราด้วยความจริงและหลักการของคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยเราให้ต้านทานการโจมตีสภาพฝ่ายวิญญาณของเรา. ถูกแล้ว เมื่อการล่อใจให้ทำผิดศีลธรรมเกิดขึ้น พระวิญญาณของพระเจ้าสามารถช่วยเราให้ระลึกถึงข้อเตือนใจในพระคัมภีร์และหลักการที่ชี้นำซึ่งสามารถช่วยเสริมความตั้งใจแน่วแน่ของเราที่จะประพฤติสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 119:1, 2, 99; โยฮัน 14:26) ด้วยเหตุนั้น เราจึงไม่ถูกหลอกให้ดำเนินในแนวทางผิด.— 2 โกรินโธ 11:3.
9. การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเสริมกำลังเราอย่างไรให้ตั้งใจแน่วแน่จะรักษาสัมพันธภาพของเรากับพระยะโฮวา?
9 เมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์อย่างจริงใจและอย่างขยันขันแข็งต่อ ๆ ไปโดยอาศัยสรรพหนังสือที่ใช้หลักจากคัมภีร์ไบเบิล พระวิญญาณของพระเจ้ามีผลกระทบต่อจิตใจและหัวใจของเรา ทำให้เรานับถือมาตรฐานของพระยะโฮวาอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น. สัมพันธภาพของเรากับพระเจ้ากลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา. เมื่อเผชิญการล่อใจ ความคิดที่ว่าการทำสิ่งผิดอาจให้ความเพลิดเพลินสักเพียงไรจะไม่วนเวียนอยู่ในจิตใจ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราจะเป็นห่วงทันทีในเรื่องการรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระยะโฮวา. ความหยั่งรู้ค่าอย่างยิ่งต่อสัมพันธภาพที่เรามีกับพระองค์กระตุ้นเราให้ลงมือต่อสู้แนวโน้มใด ๆ ที่อาจทำลายหรือทำให้สัมพันธภาพนั้นเสียหาย.
“ข้าพเจ้ารักข้อกฎหมาย ของพระองค์มากเพียงใด!”
10. เหตุใดการเชื่อฟังกฎหมายของพระยะโฮวาจึงจำเป็นเพื่อจะใฝ่ใจทางพระวิญญาณ?
10 หากเราต้องการใฝ่ใจทางพระวิญญาณ การมีความรู้ในพระคำของพระเจ้ายังไม่พอ. กษัตริย์ซะโลโมมีความเข้าใจที่ดีมากเกี่ยวกับมาตรฐานของพระยะโฮวา แต่ท่านกลับไม่ได้ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานนั้นในช่วงท้ายของชีวิตท่าน. (1 กษัตริย์ 4:29, 30; 11:1-6) หากเราใฝ่ใจทางพระวิญญาณ เราจะมองเห็นความจำเป็นไม่เพียงเพื่อจะทราบสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าว แต่รวมไปถึงเพื่อจะเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้าอย่างสุดหัวใจ. นั่นหมายถึงการตรวจสอบมาตรฐานของพระยะโฮวาอย่างถี่ถ้วนและพยายามอย่างขยันขันแข็งที่จะปฏิบัติตาม. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญมีเจตคติเช่นนั้น. ท่านร้องเพลงดังนี้: “ข้าพเจ้ารักข้อกฎหมายของพระองค์มากเพียงใด! ข้าพเจ้าคำนึงถึงตลอดวัน.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:97, ล.ม.) เมื่อเราเป็นห่วงอย่างแท้จริงในการปฏิบัติตามกฎหมายของพระเจ้า เราเริ่มแสดงคุณลักษณะแบบพระเจ้า. (เอเฟโซ 5:1, 2) แทนที่จะถูกชักจูงให้ทำผิดอย่างไม่อาจขัดขืน เราแสดงผลแห่งพระวิญญาณ และความปรารถนาที่จะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยทำให้เราหันหนีจาก “การของเนื้อหนัง” อันชั่วร้าย.—ฆะลาเตีย 5:16, 19-23; บทเพลงสรรเสริญ 15:1, 2.
11. คุณจะอธิบายอย่างไรว่ากฎหมายของพระยะโฮวาที่ห้ามการผิดประเวณีเป็นการปกป้องสำหรับเรา?
11 เราจะพัฒนาความนับถือและความรักอย่างลึกซึ้งต่อกฎหมายของพระยะโฮวาได้อย่างไร? วิธีหนึ่งคือโดยพิจารณาถึงคุณค่าของกฎหมายนี้อย่างละเอียด. ขอให้พิจารณากฎหมายของพระเจ้าซึ่งจำกัดความสัมพันธ์ทางเพศไว้เฉพาะกับคู่สมรสและห้ามการผิดประเวณีและการเล่นชู้. (เฮ็บราย 13:4) การเชื่อฟังกฎหมายนี้ทำให้เราขาดบางสิ่งที่ดีไหม? พระบิดาฝ่ายสวรรค์ผู้เปี่ยมด้วยความรักจะตรากฎหมายที่ไม่อนุญาตให้เราได้รับบางสิ่งที่เป็นประโยชน์ไหม? ไม่เป็นอย่างนั้นแน่! ขอให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของหลายคนที่ไม่ได้ดำเนินชีวิตประสานกับมาตรฐานทางศีลธรรมของพระยะโฮวา. บ่อยครั้ง การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงปรารถนาทำให้พวกเขาทำแท้ง หรืออาจทำให้เข้าสู่การสมรสก่อนเวลาอันควรและไม่มีความสุข. หลายคนต้องเลี้ยงดูบุตรโดยที่ไม่มีสามีหรือภรรยา. นอกจากนั้น คนที่ทำผิดประเวณีเสี่ยงต่อการติดโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์. (1 โกรินโธ 6:18) และหากผู้รับใช้ของพระยะโฮวาทำผิดประเวณี ผลกระทบทางอารมณ์อาจรุนแรงมาก. การพยายามระงับความรู้สึกที่ถูกทิ่มแทงจากสติที่รู้สึกผิดอาจทำให้นอนไม่หลับและทุกข์ทรมานใจ. (บทเพลงสรรเสริญ 32:3, 4; 51:3) ดังนั้น เห็นได้ชัดมิใช่หรือว่ากฎหมายของพระยะโฮวาที่ห้ามการผิดประเวณีมีไว้เพื่อปกป้องเรา? ใช่แล้ว การรักษาความสะอาดด้านศีลธรรมให้ประโยชน์มากจริง ๆ!
จงอธิษฐานขอความช่วยเหลือ จากพระยะโฮวา
12, 13. เหตุใดจึงเหมาะที่จะอธิษฐานเมื่อถูกความปรารถนาที่ผิดบาปรุมเร้า?
12 แน่นอน เพื่อจะใฝ่ใจทางพระวิญญาณจำเป็นต้องอธิษฐานด้วยความรู้สึกจากหัวใจ. นับว่าเหมาะที่จะทูลขอความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระเจ้า เพราะพระเยซูตรัสว่า “ถ้าท่านเอง . . . ยังรู้จักให้ของดีแก่บุตรของตน, ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใดพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่คนทั้งปวงที่ขอจากพระองค์.” (ลูกา 11:13) ในคำอธิษฐาน เราสามารถแสดงว่าเราหมายพึ่งพระวิญญาณให้ช่วยเหลือในจุดที่เราอ่อนแอ. (โรม 8:26, 27) หากเราตระหนักว่าความปรารถนาหรือเจตคติที่ผิดบาปกำลังมีผลต่อเรา หรือหากเพื่อนร่วมความเชื่อที่รักของเราชี้ให้เราเห็น นับว่าสุขุมที่จะกล่าวอย่างเจาะจงถึงปัญหานี้ในคำอธิษฐานของเราและทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าในการเอาชนะแนวโน้มเหล่านั้น.
13 พระยะโฮวาทรงสามารถช่วยเราให้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ชอบธรรม, บริสุทธิ์สะอาด, มีคุณความดี, และน่าสรรเสริญ. และช่างเหมาะสักเพียงไรที่จะอ้อนวอนพระองค์อย่างจริงจังให้ “สันติสุขแห่งพระเจ้า” ป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของเรา! (ฟิลิปปอย 4:6-8) ด้วยเหตุนั้น ให้เราอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาในการ “ติดตามความชอบธรรม, ความเลื่อมใสในพระเจ้า, ความเชื่อ, ความรัก, ความอดทน, มีใจอ่อนโยน.” (1 ติโมเธียว 6:11-14, ล.ม.) ด้วยความช่วยเหลือจากพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา ความกระวนกระวายใจและการล่อใจจะไม่ทวีขึ้นถึงจุดที่ควบคุมไว้ไม่ได้. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น จะเห็นได้ชัดว่าชีวิตของเรามีความสงบซึ่งพระเจ้าทรงโปรดประทานแก่เรา.
อย่าทำให้พระวิญญาณโศกเศร้า
14. เหตุใดพระวิญญาณของพระเจ้าเป็นพลังเพื่อความบริสุทธิ์สะอาด?
14 ผู้รับใช้ที่อาวุโสของพระยะโฮวาใช้คำแนะนำของเปาโลกับตัวเอง ที่ว่า “อย่าดับไฟแห่งพระวิญญาณ.” (1 เธซะโลนิเก 5:19, ล.ม.) เนื่องจากพระวิญญาณของพระเจ้าเป็น “พระวิญญาณแห่งความบริสุทธิ์” จึงสะอาด, บริสุทธิ์, ศักดิ์สิทธิ์. (โรม 1:4) เมื่อดำเนินกิจในตัวเรา พระวิญญาณนั้นจึงเป็นพลังเพื่อความบริสุทธิ์หรือความสะอาด. พระวิญญาณช่วยป้องกันรักษาเราไว้ในวิถีชีวิตที่สะอาดซึ่งเด่นชัดในเรื่องการเชื่อฟังพระเจ้า. (1 เปโตร 1:2) กิจปฏิบัติใดก็ตามที่ไม่สะอาดย่อมถือได้ว่าเป็นความไม่นับถือต่อพระวิญญาณ และนั่นอาจก่อผลเสียหายร้ายแรง. เป็นเช่นนั้นอย่างไร?
15, 16. (ก) เราอาจทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้าโดยวิธีใด? (ข) เราจะหลีกเลี่ยงการทำให้พระวิญญาณของพระยะโฮวาโศกเศร้าได้อย่างไร?
15 เปาโลเขียนว่า “อย่าทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าโศกเศร้า ซึ่งโดยพระวิญญาณนั้นท่านทั้งหลายถูกประทับตราสำหรับวันแห่งการปลดปล่อยโดยค่าไถ่.” (เอเฟโซ 4:30, ล.ม.) พระคัมภีร์ระบุว่าพระวิญญาณของพระยะโฮวาเป็นตราประทับหรือ “หลักฐานของสิ่งที่จะมีมา” สำหรับคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ กล่าวคืออมตชีพในสวรรค์. (2 โกรินโธ 1:22, ล.ม.; 1 โกรินโธ 15:50-57; วิวรณ์ 2:10) พระวิญญาณของพระเจ้าสามารถชี้นำผู้ถูกเจิมและสหายของพวกเขาที่มีความหวังทางแผ่นดินโลกให้ดำเนินชีวิตที่ซื่อสัตย์และสามารถช่วยพวกเขาให้หลีกเลี่ยงการทำบาป.
16 ท่านอัครสาวกเตือนให้ระวังแนวโน้มที่นำไปสู่ความเท็จ, การขโมย, ความประพฤติที่น่าละอาย, และอื่น ๆ. หากเราปล่อยตัวให้ลอยห่างไปหาสิ่งเช่นนี้ นั่นย่อมเท่ากับเรากำลังดำเนินตรงกันข้ามกับคำแนะนำในพระคำของพระเจ้าซึ่งเขียนขึ้นโดยการดลใจจากพระวิญญาณ. (เอเฟโซ 4:17-29; 5:1-5) เมื่อเป็นอย่างนั้น เราคงจะทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าโศกเศร้าในระดับหนึ่ง และนั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการหลีกเลี่ยงอย่างแน่นอน. ในลักษณะเดียวกัน หากมีใครในพวกเราเริ่มเพิกเฉยคำแนะนำในพระคำของพระยะโฮวา เราอาจเริ่มสร้างเจตคติหรือนิสัยที่อาจยังผลให้เราทำบาปอย่างจงใจและสูญเสียความโปรดปรานจากพระเจ้าไปโดยสิ้นเชิง. (เฮ็บราย 6:4-6) แม้ว่าเราอาจไม่ได้ทำบาปในขณะนี้ เราอาจกำลังมุ่งไปในแนวทางนั้น. โดยดำเนินตรงกันข้ามกับการนำของพระวิญญาณ เราจะทำให้พระวิญญาณโศกเศร้า. นอกจากนี้ คงจะเป็นการแข็งขืนต่อพระยะโฮวาผู้ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์และทำให้พระองค์โศกเศร้า. ในฐานะผู้ที่รักพระเจ้า เราไม่ปรารถนาจะทำเช่นนั้น. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราควรอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาเพื่อที่เราจะไม่ทำให้พระวิญญาณของพระองค์โศกเศร้า แต่สามารถนำพระเกียรติมาสู่พระนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์ด้วยการใฝ่ใจทางพระวิญญาณต่อ ๆ ไป.
จงใฝ่ใจทางพระวิญญาณต่อ ๆ ไป
17. เราอาจตั้งเป้าหมายฝ่ายวิญญาณอะไรได้บ้าง และเหตุใดการตั้งเป้าเช่นนี้จึงนับว่าสุขุม?
17 วิธีหนึ่งที่เราควรเอาใจใส่ในการใฝ่ใจทางพระวิญญาณต่อ ๆ ไปคือการตั้งเป้าหมายฝ่ายวิญญาณและพยายามบรรลุ. ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและสภาพการณ์ของเรา เป้าหมายของเราอาจได้แก่การปรับปรุงนิสัยในการศึกษา, การเพิ่มเวลาในงานประกาศ, หรือการเอื้อมแขนเพื่อรับเอาสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น รับใช้เต็มเวลาในฐานะไพโอเนียร์, เบเธไลต์, หรือมิชชันนารี. ทั้งนี้จะทำให้จิตใจของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนใจทางฝ่ายวิญญาณ และจะช่วยเราไม่ให้ยอมแพ้ต่อความอ่อนแอของเราในฐานะมนุษย์ หรือไม่ถูกผลักดันโดยเป้าหมายฝ่ายวัตถุและความปรารถนาที่ไม่เป็นตามหลักพระคัมภีร์แบบที่เห็นทั่วไปในระบบนี้. นี่ย่อมเป็นแนวทางที่สุขุมแน่นอน เพราะพระเยซูทรงกระตุ้นว่า “อย่าสะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตัวในโลก, ที่ตัวหนอนและสนิมอาจทำลายเสียได้, และที่ขโมยอาจขุดช่องล้วงลักเอาไปได้. แต่จงสะสมทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์, ที่หนอนหรือสนิมทำลายเสียไม่ได้, และที่ไม่มีขโมยขุดช่องล้วงลักเอาไปได้. เพราะว่าทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ไหน, ใจของท่านก็อยู่ที่นั่นด้วย.”—มัดธาย 6:19-21.
18. เหตุใดจึงสำคัญมากที่จะใฝ่ใจทางพระวิญญาณอยู่เสมอในสมัยสุดท้ายนี้?
18 การใฝ่ใจทางพระวิญญาณและการข่มห้ามความปรารถนาทางโลกเป็นแนวทางแห่งสติปัญญาอย่างแน่นอนใน “สมัยสุดท้าย” นี้. (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) อนึ่ง “โลกกับความปรารถนาของโลกกำลังผ่านพ้นไป แต่ผู้ที่ทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าจะดำรงอยู่ตลอดไปเป็นนิตย์.” (1 โยฮัน 2:15-17, ล.ม.) หากคริสเตียนวัยเยาว์ติดตามเป้าหมายอย่างเช่นการรับใช้เต็มเวลา การใฝ่ใจทางพระวิญญาณอาจเป็นเหมือนแสงสว่างนำทางในช่วงที่เปลี่ยนเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยที่เริ่มเป็นผู้ใหญ่. เมื่อถูกกดดันให้ประนีประนอม เขาก็จะมองได้ทะลุปรุโปร่งว่าเขาต้องการบรรลุผลสำเร็จอะไรบ้างในงานรับใช้ของพระยะโฮวา. บุคคลที่ใฝ่ใจสิ่งฝ่ายวิญญาณเช่นนั้นจะถือว่าไม่ฉลาดสุขุมหรือกระทั่งโง่เขลาด้วยซ้ำที่จะยอมสละการบรรลุเป้าฝ่ายวิญญาณ เพื่อเห็นแก่การมุ่งติดตามสิ่งฝ่ายวัตถุหรือความเพลิดเพลินอย่างหนึ่งอย่างใดที่การทำบาปอาจให้ได้. จำไว้ว่าโมเซผู้มีใจฝักใฝ่ฝ่ายวิญญาณ “เห็นว่าที่จะทนการเคี่ยวเข็ญด้วยกันกับพลไพร่ของพระเจ้าดีกว่ามีใจยินดีในการชั่วสักเวลาหนึ่ง.” (เฮ็บราย 11:24, 25) ไม่ว่าหนุ่มหรือสูงอายุ เราเลือกคล้าย ๆ กันเมื่อเราใฝ่ใจทางพระวิญญาณอยู่เสมอแทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับเนื้อหนังที่ผิดบาป.
19. เราจะได้รับประโยชน์เช่นไรหากเราใฝ่ใจทางพระวิญญาณอยู่เสมอ?
19 “การใฝ่ใจทางเนื้อหนังหมายถึงการเป็นศัตรูกับพระเจ้า” ในขณะที่ “การใฝ่ใจทางพระวิญญาณหมายถึงชีวิตและสันติสุข.” (โรม 8:6, 7, ล.ม.) หากเราใฝ่ใจทางพระวิญญาณเสมอ เราจะมีสันติสุขอันล้ำค่า. หัวใจเราและความสามารถด้านจิตใจจะได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้นจากอิทธิพลของสภาพผิดบาปของเรา. เราจะสามารถต้านทานได้ดีขึ้นต่อการล่อใจให้ทำผิด. และเราจะได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อจะรับมือได้ในการต่อสู้ระหว่างเนื้อหนังกับพระวิญญาณซึ่งมีอยู่ตลอด.
20. เหตุใดเราสามารถมั่นใจว่าเป็นไปได้ที่จะมีชัยในการต่อสู้ระหว่างเนื้อหนังกับพระวิญญาณ?
20 โดยการใฝ่ใจทางพระวิญญาณต่อ ๆ ไป เรารักษาไว้ซึ่งสัมพันธภาพที่สำคัญยิ่งกับพระยะโฮวาผู้ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตและพระวิญญาณบริสุทธิ์. (บทเพลงสรรเสริญ 36:9; 51:11) ซาตานพญามารและผู้ที่มันใช้เป็นเครื่องมือกำลังทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อทำลายสัมพันธภาพของเรากับพระยะโฮวาพระเจ้า. พวกมันพยายามเข้าควบคุมจิตใจของเรา โดยรู้อยู่ว่าหากเรายอม นั่นย่อมจะนำไปสู่การเป็นศัตรูกับพระเจ้าและความตายในที่สุด. แต่เราสามารถได้ชัยในการต่อสู้ระหว่างเนื้อหนังกับพระวิญญาณ. เปาโลมีประสบการณ์เช่นนั้น เพราะในข้อความที่เขียนเกี่ยวกับการต่อสู้ของท่านเอง ทีแรกท่านถามว่า “ใครหนอจะช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากกายแห่งความตายนี้?” จากนั้น เพื่อชี้ว่าเป็นไปได้ที่จะได้รับการช่วยเหลือ ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอบพระคุณของพระเจ้าโดยพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” (โรม 7:21-25) เราก็เช่นกันสามารถขอบพระคุณพระเจ้าโดยทางพระคริสต์สำหรับการที่พระองค์ทรงจัดให้มีวิธีรับมือความอ่อนแอของมนุษย์ และใฝ่ใจทางพระวิญญาณต่อ ๆ ไปโดยที่มีความหวังอันเยี่ยมยอดคือชีวิตนิรันดร์.—โรม 6:23.
คุณจำได้ไหม?
• การใฝ่ใจทางพระวิญญาณหมายความเช่นไร?
• เราจะยอมให้พระวิญญาณของพระยะโฮวาดำเนินกิจในตัวเราได้อย่างไร?
• จงอธิบายว่าในการต่อสู้กับบาป ทำไมจึงสำคัญที่จะศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, เชื่อฟังกฎหมายของพระยะโฮวา, และอธิษฐานถึงพระองค์.
• การตั้งเป้าฝ่ายวิญญาณช่วยเราได้อย่างไรให้รักษาตัวอยู่ในเส้นทางสู่ชีวิต?
[ภาพหน้า 16]
การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลช่วยเราให้ต้านทานการโจมตี สภาพฝ่ายวิญญาณของเรา
[ภาพหน้า 17]
เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาเพื่อจะเอาชนะความปรารถนาที่ผิดบาป
[ภาพหน้า 18]
เป้าหมายฝ่ายวิญญาณช่วยเราได้ให้ใฝ่ใจทางพระวิญญาณอยู่เสมอ