ฮะโนคดำเนินกับพระเจ้าในโลกที่ดูหมิ่นพระองค์
พญามารยืนยันว่ามันสามารถชักนำผู้คนให้เหินห่างพระเจ้าได้ และบางครั้งก็ดูเหมือนว่ามันทำได้สำเร็จ. เพราะเวลาเกือบห้าศตวรรษหลังการตายของเฮเบล ไม่มีสักคนได้เป็นที่รู้จักฐานะผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา. ตรงกันข้าม การประพฤติชั่วร้ายและการดูหมิ่นพระองค์กลายเป็นภาวะปกติ.
ในช่วงเวลาที่มีการเสื่อมถอยฝ่ายวิญญาณดังกล่าว ฮะโนคปรากฏตัวขึ้นมาในฉากเหตุการณ์. การคำนวณเวลาโดยอาศัยคัมภีร์ไบเบิลบอกได้ว่าท่านเกิดปี 3404 ก่อนสากลศักราช. ฮะโนคต่างจากผู้คนในสมัยเดียวกัน ท่านเป็นบุคคลที่พระเจ้ายอมรับ. อัครสาวกเปาโลนับรวมท่านไว้ในกลุ่มผู้รับใช้พระยะโฮวา ซึ่งความเชื่อของคนเหล่านั้นเป็นตัวอย่างแก่ชนคริสเตียน. ฮะโนคคือใคร? ปัญหาหนักหน่วงอะไรที่ท่านต้องเผชิญ? ท่านรับมือกับปัญหาเหล่านั้นอย่างไร? และความซื่อสัตย์มั่นคงของท่านเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร?
ในสมัยอะโนศ ประมาณสี่ร้อยปีก่อนสมัยฮะโนค “มนุษย์ตั้งต้น . . . ออกพระนามพระยะโฮวา.” (เยเนซิศ 4:26) มีการใช้พระนามพระเจ้าตั้งแต่เริ่มประวัติศาสตร์มนุษยชาติ. ฉะนั้น การออกพระนามพระยะโฮวาที่เริ่มขึ้นสมัยที่อะโนศมีชีวิตนั้น ปรากฏชัดว่าหาใช่การออกพระนามด้วยความเชื่อศรัทธาหรือในการนมัสการอย่างบริสุทธิ์ไม่. ผู้คงแก่เรียนชาวฮีบรูบางคนยืนยันว่าน่าจะอ่านเยเนซิศ 4:26 ว่า “เริ่มหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ครั้นแล้วการหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้เริ่มขึ้น.” มนุษย์อาจใช้พระนามพระยะโฮวาเรียกตัวเอง หรือใช้เรียกคนอื่น ๆ ซึ่งโดยคนเหล่านี้พวกเขาทำทีเข้าเฝ้าพระเจ้าถวายการนมัสการ. หรืออาจใช้พระนามของพระองค์กับรูปเคารพ.
‘ฮะโนคดำเนินกับพระเจ้าองค์เที่ยงแท้’
ถึงแม้ฮะโนคถูกห้อมล้อมด้วยบรรดาผู้คนที่ดูหมิ่นพระเจ้า แต่ท่าน “ได้ดำเนินกับพระเจ้า” พระยะโฮวา. ไม่มีการกล่าวว่าบรรพบุรุษของท่าน เช่น เซธ, อะโนศ, เคนาน, มาฮะลาเลล, และยาเร็ตได้ดำเนินกับพระเจ้า. อย่างน้อย ๆ คนเหล่านี้ก็ไม่ได้ดำเนินกับพระเจ้าเท่ากับที่ฮะโนคได้ทำ ซึ่งดูเหมือนว่าวิถีชีวิตของฮะโนคทำให้ท่านต่างกันกับพวกเขา.—เยเนซิศ 5:3-27.
การดำเนินกับพระยะโฮวาแสดงนัยถึงความคุ้นเคยสนิทสนมกับพระเจ้า ซึ่งเป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะฮะโนคดำเนินชีวิตประสานกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. พระยะโฮวาทรงพอพระทัยความเลื่อมใสศรัทธาของฮะโนค. อันที่จริง คัมภีร์ฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์ กล่าวว่า “ฮะโนคได้เป็นที่ชอบพระทัย” พระเจ้า อัครสาวกเปาโลก็คิดแบบนี้ด้วยเช่นกัน.—เยเนซิศ 5:22; เฮ็บราย 11:5.
พื้นฐานแห่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างฮะโนคกับพระยะโฮวาคือความเชื่อของท่าน. ท่านคงต้องได้แสดงความเชื่อใน “พงศ์พันธุ์” แห่ง “ผู้หญิง” ของพระเจ้าที่ทรงสัญญาไว้. หากโดยส่วนตัวฮะโนคได้รู้จักคุ้นเคยกับอาดาม ท่านคงได้ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับการดำเนินการของพระเจ้ากับมนุษย์คู่แรกในสวนเอเดน. ความรู้ที่ฮะโนคมีเรื่องพระเจ้าทำให้ท่านเป็นบุคคลประเภท “แสวงหาพระองค์อย่างจริงใจ.”—เยเนซิศ 3:15; เฮ็บราย 11:6, 13, ล.ม.
ทั้งในกรณีของฮะโนคและของเรา ความสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวานั้นเรียกร้องไม่เพียงแต่ความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าเท่านั้น. ถ้าเราถือว่าความสนิทสนมกับใครสักคนเป็นสิ่งมีค่าเป็นพิเศษ ไม่จริงหรือที่ว่าทัศนะของเขามีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของเรา? เราหลีกเลี่ยงคำพูดหรือการกระทำที่อาจทำลายมิตรภาพนั้น. และถ้าเราคิดจะเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์บางอย่างของตัวเอง เราจะคำนึงถึงเช่นกันมิใช่หรือว่าการทำเช่นนั้นอาจส่งผลกระทบอย่างไรต่อสัมพันธภาพที่เรามีนั้น?
เช่นเดียวกัน ความปรารถนาที่จะรักษาสัมพันธภาพอันใกล้ชิดกับพระเจ้าก็เป็นพลังผลักดันสิ่งที่เรากระทำ. สิ่งจำเป็นต้องมีคือความรู้ถ่องแท้ในเรื่องที่พระองค์ทรงเห็นชอบและไม่เห็นชอบ. ครั้นแล้ว เราจำต้องให้ความรู้นั้นชี้นำ มุ่งมั่นพยายามให้พระองค์พอพระทัยทั้งในการคิดและการกระทำ.
ใช่แล้ว ที่จะดำเนินกับพระเจ้า เราต้องเป็นที่ชอบพระทัยของพระองค์. นี่เป็นสิ่งที่ฮะโนคได้ปฏิบัติตลอดหลายร้อยปี. ที่จริง รูปคำกริยาภาษาฮีบรูที่แสดงว่าฮะโนค “ได้ดำเนิน” กับพระเจ้าชี้ถึงการกระทำซ้ำ ๆ และอย่างต่อเนื่อง. บุรุษผู้ซื่อสัตย์อีกคนหนึ่งผู้ “ได้ดำเนินกับพระเจ้า” คือโนฮา.—เยเนซิศ 6:9.
ฮะโนคเป็นคนมีครอบครัว มีภรรยาและ “บุตรชายหญิงหลายคน.” บุตรชายคนหนึ่งคือมะธูเซลา. (เยเนซิศ 5:21, 22) ฮะโนคคงต้องทำสุดความสามารถทีเดียวเพื่อคอยดูแลครอบครัวของตนเป็นอย่างดี. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการดูหมิ่นพระเจ้าห้อมล้อมท่านอยู่ทุกด้าน การที่ท่านจะรับใช้พระเจ้าจึงไม่ง่าย. ลาเม็คบิดาของโนฮาอาจเป็นคนร่วมสมัยกับท่านเพียงคนเดียวที่แสดงความเชื่อในพระยะโฮวา. (เยเนซิศ 5:28, 29) กระนั้น ฮะโนคก็ยังปฏิบัติการนมัสการแท้ด้วยความกล้าหาญ.
มีอะไรช่วยให้ฮะโนครักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า? ไม่มีข้อสงสัย ท่านไม่ได้คบคนที่หมิ่นพระนามพระยะโฮวา หรือคบคนที่ไม่เหมาะสมจะเป็นเพื่อนของผู้นมัสการพระเจ้า. นอกจากนี้ การแสวงความช่วยเหลือของพระยะโฮวาโดยการอธิษฐานคงต้องเป็นกำลังเสริมความตั้งใจแน่วแน่ของฮะโนคให้หลีกเลี่ยงสิ่งซึ่งอาจเป็นเหตุให้พระผู้สร้างของท่านไม่พอพระทัย.
คำพยากรณ์ต่อต้านผู้ดูหมิ่นพระเจ้า
การรักษามาตรฐานสูงส่งเมื่อเราถูกห้อมล้อมด้วยผู้คนซึ่งดูหมิ่นพระเจ้าก็ยากอยู่แล้ว. แต่ฮะโนคยังได้ประกาศข่าวสารการพิพากษาต่อคนชั่วโดยไม่ยอมอะลุ่มอล่วย. ด้วยการชี้นำจากพระวิญญาณของพระเจ้า ฮะโนคกล่าวแถลงเชิงพยากรณ์ดังนี้: “นี่แน่ะ! พระยะโฮวาได้เสด็จมาพร้อมด้วยผู้บริสุทธิ์นับหมื่นของพระองค์ เพื่อสำเร็จโทษแก่ทุกคน และเพื่อตัดสินลงโทษคนดูหมิ่นพระเจ้าทุกคนเกี่ยวกับการกระทำที่ดูหมิ่นทุกอย่างของพวกเขา ซึ่งพวกเขาได้กระทำอย่างดูหมิ่น และเกี่ยวกับสิ่งอันน่าตกตะลึงทุกอย่างที่คนบาปผู้ดูหมิ่นพระเจ้าได้พูดต่อต้านพระองค์.”—ยูดา 14, 15, ล.ม.
ข่าวสารนั้นมีผลกระทบเช่นไรต่อคนที่หลงผิดไม่เชื่อพระเจ้า? นับว่ามีเหตุผลหากสันนิษฐานเอาว่าถ้อยคำที่เสียดแทงใจเช่นนั้นทำให้ฮะโนคไม่เป็นที่นิยมชมชอบ บางทีอาจก่อให้เกิดการพูดเยาะเย้ยและข่มขู่. บางคนคงอยากสังหารท่านเสียให้รู้แล้วรู้รอด. อย่างไรก็ดี ฮะโนคไม่กลัว. ท่านรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเฮเบลผู้ชอบธรรม และเช่นเดียวกับเฮเบล ฮะโนคตั้งใจแน่วแน่จะปฏิบัติพระเจ้าไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น.
“พระเจ้าทรงรับเขาไป”
ดูเหมือนว่าฮะโนคตกอยู่ในอันตรายถึงตายเมื่อ “พระเจ้าทรงรับเขาไป.” (เยเนซิศ 5:24) พระยะโฮวาไม่ปล่อยให้ผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ทนทุกข์อยู่ในเงื้อมมือศัตรูที่เหี้ยมโหด. ตามคำกล่าวของอัครสาวกเปาโล “ฮะโนคถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อจะไม่เห็นความตาย.” (เฮ็บราย 11:5, ล.ม.) หลายคนบอกว่าฮะโนคไม่ถึงแก่ความตาย เพราะพระเจ้าได้รับท่านไปสวรรค์และท่านมีชีวิตอยู่ต่อไปที่นั่น. อย่างไรก็ดี พระเยซูได้ตรัสอย่างชัดแจ้งดังนี้: “ไม่มีมนุษย์ผู้ใดได้ขึ้นไปยังสวรรค์ เว้นแต่ผู้นั้นที่ลงมาจากสวรรค์ คือบุตรมนุษย์.” พระเยซูทรงเป็น “ผู้ไปล่วงหน้า” ก่อนบรรดาผู้ที่ไปสู่สวรรค์.—โยฮัน 3:13, ล.ม.; เฮ็บราย 6:19, 20, ล.ม.
ดังนั้น เกิดอะไรขึ้นกับฮะโนค? การที่ท่าน “ถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อจะไม่เห็นความตาย” อาจหมายความว่า พระเจ้าบันดาลให้ท่านตกอยู่ในภวังค์เหมือนเห็นนิมิตเชิงพยากรณ์ และจากนั้นก็จบชีวิตท่านขณะที่ยังอยู่ในสภาพดังกล่าว. ภายใต้สถานการณ์เช่นนั้น ฮะโนคจึงไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดเนื่องด้วยความตาย. ครั้นแล้ว “ไม่มีใครพบเห็นท่านไม่ว่าที่ใด” ดูเหมือนว่าเพราะพระยะโฮวาได้กำจัดร่างกายของท่าน อย่างที่พระองค์ทรงกระทำกับร่างกายของโมเซ.—พระบัญญัติ 34:5, 6.
ฮะโนคมีอายุได้ 365 ปี ทว่าไม่ยืนยาวเหมือนคนส่วนใหญ่ที่อยู่ร่วมสมัยกับท่าน. แต่สำหรับผู้ที่รักพระยะโฮวาสิ่งสำคัญคือพวกเขารับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์ภักดีตราบชีวิตหาไม่. เรารู้ว่าฮะโนคได้ทำเช่นนั้นเพราะ “ก่อนถูกเปลี่ยนแปลง มีคำพยานถึงท่านว่าท่านทำให้พระเจ้าพอพระทัย.” พระคัมภีร์ไม่ได้เปิดเผยวิธีที่พระยะโฮวาติดต่อสื่อความกับฮะโนคในเรื่องนี้. กระนั้นก็ดี ก่อนฮะโนคตาย ท่านได้รับคำรับรองแน่นอนว่าท่านเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้า และเราย่อมแน่ใจได้ว่าพระยะโฮวาจะทรงระลึกถึงท่านในคราวการกลับเป็นขึ้นจากตาย.
เอาอย่างความเชื่อของฮะโนค
เราสามารถเลียนแบบอย่างความเชื่อของผู้คนที่เลื่อมใสพระเจ้าได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สมควร. (เฮ็บราย 13:7) ด้วยความเชื่อ ฮะโนคได้รับใช้เป็นผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์คนแรกของพระเจ้า. โลกในสมัยฮะโนคเหมือนโลกสมัยของเรา—เต็มไปด้วยความรุนแรง, หมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์, และดูหมิ่นพระเจ้า. อย่างไรก็ดี ฮะโนคแตกต่างจากโลก. ท่านมีความเชื่อแท้และเป็นแบบอย่างด้านความเลื่อมใสในพระเจ้า. ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงใช้ท่านประกาศข่าวการพิพากษาที่สำคัญ กระนั้น พระองค์ยังได้โปรดชูกำลังท่านอีกด้วย เพื่อจะประกาศการพิพากษานั้น. ฮะโนคได้ทำหน้าที่มอบหมายของท่านด้วยความกล้า และพระเจ้าทรงคุ้มครองป้องกันท่านยามเผชิญการต่อต้านจากฝ่ายศัตรู.
ถ้าพวกเราแสดงความเชื่อเยี่ยงฮะโนค พระยะโฮวาจะเพิ่มกำลังให้เราเข้มแข็งทำงานประกาศข่าวสารในสมัยสุดท้ายนี้. พระองค์จะทรงช่วยเราให้เผชิญการต่อต้านอย่างกล้าหาญ และความเลื่อมใสในพระเจ้าจะทำให้เราแตกต่างอย่างมากมายจากผู้ที่ดูหมิ่นพระเจ้า. ความเชื่อจะช่วยเราให้สามารถดำเนินกับพระเจ้าและประพฤติตนในแนวทางซึ่งทำให้พระหฤทัยของพระองค์ยินดี. (สุภาษิต 27:11) ด้วยความเชื่อ ฮะโนคผู้ชอบธรรมดำเนินกับพระยะโฮวาได้อย่างเป็นผลสำเร็จในโลกที่ดูหมิ่นพระเจ้า และเราก็สามารถทำได้เช่นกัน.
[กรอบหน้า 30]
ข้อความในคัมภีร์ไบเบิลยกจากพระธรรมฮะโนคหรือ?
พระธรรมฮะโนคเป็นพระธรรมนอกสารบบและเป็นคำจารึกที่อ้างว่าเป็นส่วนของคัมภีร์ไบเบิลแต่ไม่ถูกนับรวมเข้ากับสารบบคัมภีร์ไบเบิล. มีการอ้างอย่างผิด ๆ ว่าข้อเขียนดังกล่าวเป็นของฮะโนค. การผลิตอาจมีขึ้นในระหว่างศตวรรษที่สองกับศตวรรษแรกก่อน ส.ศ. เป็นผลงานรวบรวมนิทานเล่าขานของชาวยิวที่พูดเกินจริงอย่างไม่มีเหตุผลและไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ ดูเหมือนว่าเป็นผลิตผลของการขยายความจากส่วนเล็กน้อยในพระธรรมเยเนซิศที่พูดถึงฮะโนค. แค่ข้อเท็จจริงข้อนี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับผู้รักพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าจะไม่สนใจข้อเขียนนั้น.
ในคัมภีร์ไบเบิล เฉพาะพระธรรมยูดาเท่านั้นที่บรรจุถ้อยคำเชิงพยากรณ์ของฮะโนคที่ว่า “นี่แน่ะ! พระยะโฮวาได้เสด็จมาพร้อมด้วยผู้บริสุทธิ์นับหมื่นของพระองค์ เพื่อสำเร็จโทษแก่ทุกคน และเพื่อตัดสินลงโทษคนดูหมิ่นพระเจ้าทุกคนเกี่ยวกับการกระทำที่ดูหมิ่นทุกอย่างของพวกเขา ซึ่งพวกเขาได้กระทำอย่างดูหมิ่น และเกี่ยวกับสิ่งอันน่าตกตะลึงทุกอย่างที่คนบาปผู้ดูหมิ่นพระเจ้าได้พูดต่อต้านพระองค์.” (ยูดา 14, 15, ล.ม.) ผู้คงแก่เรียนหลายคนอ้างว่าคำพยากรณ์ของฮะโนคเกี่ยวกับผู้ดูหมิ่นพระเจ้าที่อยู่ร่วมสมัยกับท่านนั้นได้ยกมาจากพระธรรมฮะโนคโดยตรง. เป็นไปได้ไหมที่ยูดาใช้หนังสือนอกสารบบที่เชื่อถือไม่ได้นั้นเป็นแหล่งข้อมูลของท่าน?
ยูดาได้มารู้จักคำพยากรณ์ของฮะโนคอย่างไรนั้นไม่มีการเปิดเผยไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. ท่านอาจเพียงแต่ยกมาจากแหล่งข้อมูลทั่วไปอันเป็นคำสอนสืบปากที่เชื่อถือได้ซึ่งตกทอดมาแต่โบราณกาล. ดูเหมือนว่าเปาโลก็ได้ทำคล้าย ๆ กันเมื่อท่านได้เอ่ยชื่อยานเนและยามเบรนักเล่นกลประจำวังของฟาโรห์ซึ่งได้ต่อต้านโมเซ. หากผู้เขียนพระธรรมฮะโนคได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลเก่าแก่เช่นที่ว่า ทำไมเราจะปฏิเสธที่ยูดาได้เข้าถึงข้อมูลเช่นนั้นเหมือนกัน?a—เอ็กโซโด 7:11, 22; 2 ติโมเธียว 3:8.
ยูดาได้ข้อมูลข่าวสารของฮะโนคที่บอกแก่คนดูหมิ่นพระเจ้าโดยวิธีใดนั้นไม่สู้สำคัญนัก. ความเชื่อถือได้ของข่าวสารได้รับการยืนยันโดยข้อเท็จจริงที่ว่ายูดาได้เขียนโดยการดลใจจากพระเจ้า. (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเฝ้าพิทักษ์ท่านไว้จากการเขียนสิ่งใด ๆ ที่ไม่จริง.
[เชิงอรรถ]
a สาวกซะเตฟาโนก็เช่นกันได้ให้ข้อมูลซึ่งไม่พบที่ใดในคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. ข้อมูลว่าด้วยการศึกษาของโมเซในอียิปต์, ท่านได้หนีออกจากอียิปต์ตอนอายุ 40 ปี, ช่วง 40 ปีที่อยู่ในเมืองมิดยาน, และบทบาทของทูตสวรรค์ในการถ่ายทอดพระบัญญัติของโมเซ.—กิจการ 7:22, 23, 30, 38.
[ภาพหน้า 31]
ฮะโนคประกาศข่าวสารของพระยะโฮวาอย่างกล้าหาญ