คริสเตียนแท้ทุกคนเป็นผู้เผยแพร่กิตติคุณ
“จงร้องเพลงแด่พระยะโฮวา จงสรรเสริญพระนามของพระองค์. วันต่อวันจงบอกข่าวดีเรื่องความรอดอันเนื่องมาจากพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 96:2, ล.ม.
1. ผู้คนจำเป็นต้องได้ยินได้ฟังข่าวดีอะไร และพยานพระยะโฮวาเป็นแบบอย่างอย่างไรในการเผยแพร่ข่าวเช่นนั้น?
ในโลกซึ่งมีภัยพิบัติเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน เป็นเรื่องที่ปลอบโยนอย่างแท้จริงที่ทราบว่าสงคราม, อาชญากรรม, ความหิวโหย, และการกดขี่จะหมดสิ้นไปในไม่ช้านี้ ดังที่คัมภีร์ไบเบิลได้แจ้งไว้. (บทเพลงสรรเสริญ 46:9; 72:3, 7, 8, 12, 16) จริง ๆ แล้ว นี่เป็นข่าวดีที่ทุกคนจำเป็นต้องได้ยินได้ฟังมิใช่หรือ? พยานพระยะโฮวาคิดอย่างนั้น. พวกเขาเป็นที่รู้จักทั่วทุกแห่งว่าเป็นกลุ่มชนที่ประกาศ “ข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งที่ดีกว่า.” (ยะซายา 52:7, ล.ม.) จริงอยู่ พยานฯ หลายคนถูกข่มเหงเพราะความเด็ดเดี่ยวของพวกเขาในการประกาศข่าวดีนี้. แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาเป็นห่วงสวัสดิภาพของผู้คน. และพยานฯ ได้สร้างประวัติไว้เป็นอย่างดีในเรื่องความมีใจแรงกล้าและความบากบั่นพากเพียร!
2. เหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้พยานพระยะโฮวามีใจแรงกล้าคืออะไร?
2 ความมีใจแรงกล้าของพยานพระยะโฮวาในปัจจุบันคล้ายคลึงกับคริสเตียนในศตวรรษแรก. หนังสือพิมพ์ของคริสตจักรโรมันคาทอลิก ลอสแซร์วาโตเร โรมาโน กล่าวไว้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับพวกเขาว่า “คริสเตียนในยุคแรกนั้น ทันทีที่รับบัพติสมา ก็รู้สึกว่าเขามีหน้าที่เผยแพร่กิตติคุณ. พวกทาสถ่ายทอดกิตติคุณปากต่อปาก.” เหตุใดพยานพระยะโฮวาจึงมีใจแรงกล้าเหมือนกับคริสเตียนในยุคแรก? ประการแรก เพราะข่าวดีที่พวกเขาประกาศมาจากพระยะโฮวาพระเจ้า. มีเหตุผลอื่นใดที่จะทำให้มีใจแรงกล้าได้ดีไปกว่าเหตุผลนี้? การประกาศของพวกเขาเป็นการตอบรับคำกล่าวของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “จงร้องเพลงแด่พระยะโฮวา จงสรรเสริญพระนามของพระองค์. วันต่อวัน จงบอกข่าวดีเรื่องความรอดอันเนื่องมาจากพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 96:2, ล.ม.
3. (ก) เหตุผลประการที่สองที่ทำให้พยานพระยะโฮวามีใจแรงกล้าคืออะไร? (ข) “ความรอดอันเนื่องมาจาก [พระเจ้า]” เกี่ยวข้องกับอะไร?
3 คำกล่าวของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญทำให้เรานึกถึงเหตุผลประการที่สองที่ทำให้พยานพระยะโฮวามีใจแรงกล้า. ข่าวสารที่พวกเขาประกาศเกี่ยวข้องกับความรอด. บางคนทำงานด้านการแพทย์, สังคม, เศรษฐกิจ, หรือด้านอื่น ๆ เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเพื่อนมนุษย์ และความพยายามเช่นนั้นเป็นเรื่องน่าชมเชย. แต่สิ่งใดก็ตามที่มนุษย์สามารถทำเพื่อผู้อื่นล้วนจำกัดเมื่อเทียบกับ “ความรอดอันเนื่องมาจาก [พระเจ้า].” โดยพระเยซูคริสต์ พระยะโฮวาจะทรงช่วยคนที่อ่อนน้อมให้หลุดพ้นจากบาป, ความเจ็บป่วย, และความตาย. ผู้ที่รับประโยชน์จะมีชีวิตตลอดไป! (โยฮัน 3:16, 36; วิวรณ์ 21:3, 4) ปัจจุบัน ความรอดเป็นสิ่งหนึ่งในบรรดา “การอัศจรรย์” ทั้งหลายที่คริสเตียนประกาศ เมื่อพวกเขาตอบรับถ้อยคำต่อไปนี้: “จงประกาศพระเกียรติของ [พระเจ้า] ในท่ามกลางชนประเทศทั้งปวง, และประกาศการอัศจรรย์ของพระองค์ในท่ามกลางบรรดามนุษย์โลก. เพราะพระยะโฮวาเป็นใหญ่, สมควรจะได้ความสรรเสริญมากยิ่ง: พระองค์เป็นที่เกรงขามยิ่งกว่าพระทั้งปวง.”—บทเพลงสรรเสริญ 96:3, 4.
ตัวอย่างของครูผู้ยิ่งใหญ่
4-6. (ก) เหตุผลประการที่สามที่ทำให้พยานพระยะโฮวามีใจแรงกล้าคืออะไร? (ข) พระเยซูทรงแสดงใจแรงกล้าในงานประกาศข่าวดีอย่างไร?
4 พยานพระยะโฮวามีใจแรงกล้าเพราะเหตุผลประการที่สามด้วย. พวกเขาดำเนินตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์. (1 เปโตร 2:21) มนุษย์สมบูรณ์ผู้นี้ยอมรับงานมอบหมายในการ “ประกาศข่าวดีแก่คนถ่อม” อย่างเต็มพระทัย. (ยะซายา 61:1, ล.ม.; ลูกา 4:17-21) ดังนั้น พระองค์จึงทรงเป็นผู้ประกาศข่าวดี. พระองค์ทรงเดินทางไปทั่วมณฑลแกลิลี (ฆาลิลาย) และยูเดีย (ยูดาย) “ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร.” (มัดธาย 4:23, ล.ม.) และเนื่องจากพระองค์ทรงทราบว่าหลายคนจะตอบรับข่าวดีนั้น พระองค์ตรัสแก่เหล่าสาวกว่า “การเกี่ยวนั้นเป็นการใหญ่นักหนา, แต่คนทำการยังน้อยอยู่. เหตุฉะนั้น จงอธิษฐานขอต่อเจ้าของของการเกี่ยวนั้น, ให้ใช้คนทำการหลายคนไปในการเกี่ยวของพระองค์.”—มัดธาย 9:37, 38.
5 สอดคล้องกับคำอธิษฐานของพระองค์เอง พระเยซูทรงฝึกอบรมคนอื่น ๆ ให้เป็นผู้เผยแพร่ข่าวดี. ในเวลาต่อมา พระองค์ทรงส่งเหล่าอัครสาวกออกไปให้ทำงานนี้กันเองและตรัสแก่พวกเขาว่า “ขณะที่พวกเจ้าไป จงประกาศ โดยบอกว่า ‘ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์มาใกล้แล้ว.’” หากพวกเขาจะจัดให้มีการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาในสังคมสมัยนั้นจะก่อประโยชน์ที่ใช้ได้จริงมากกว่าไหม? หรือว่าพวกเขาน่าจะเข้าไปเล่นการเมืองเพื่อต่อต้านการทุจริตซึ่งมีดาษดื่นในเวลานั้น? ไม่. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระเยซูทรงวางมาตรฐานไว้สำหรับคริสเตียนทุกคนซึ่งเป็นผู้เผยแพร่ข่าวดีเมื่อพระองค์ตรัสแก่เหล่าสาวกว่า “ขณะที่พวกเจ้าไป จงประกาศ.”—มัดธาย 10:5-7, ล.ม.
6 ต่อมา พระเยซูทรงส่งเหล่าสาวกออกไปอีกกลุ่มหนึ่งให้ประกาศว่า ‘ราชอาณาจักรของพระเจ้ามาใกล้แล้ว.’ เมื่อพวกเขากลับมารายงานความสำเร็จของการประกาศข่าวดีในที่ต่าง ๆ พระเยซูทรงยินดีอย่างยิ่ง. พระองค์ทรงอธิษฐานดังนี้: “โอพระบิดาเจ้าข้า. พระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก. ข้าพเจ้าโมทนาพระคุณของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงบังซ่อนสิ่งทั้งปวงนั้นจากผู้มีปัญญาและนักปราชญ์ และได้สำแดงให้ทารกแจ้ง.” (ลูกา 10:1, 8, 9, 21) เหล่าสาวกของพระเยซูซึ่งก่อนนั้นเคยเป็นชาวประมง, เกษตรกร, และอาชีพอื่นที่ใช้แรงกายเป็นเหมือนกับทารกเมื่อเทียบกับพวกหัวหน้าศาสนาของชาตินี้ซึ่งมีการศึกษาสูง. แต่เหล่าสาวกได้รับการฝึกอบรมให้ประกาศข่าวที่ดีที่สุดเหนือข่าวดีทั้งมวล.
7. หลังจากพระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ เหล่าสาวกของพระองค์ประกาศข่าวดีแก่ใครก่อน?
7 หลังจากพระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ เหล่าสาวกของพระองค์ยังคงเผยแพร่ข่าวดีเรื่องความรอดต่อไป. (กิจการ 2:21, 38-40) พวกเขาประกาศแก่ผู้ใดก่อน? พวกเขาไปหาผู้คนในชาติต่าง ๆ ที่ไม่รู้จักพระเจ้าไหม? ไม่ เขตงานแรกเริ่มของพวกเขาคืออิสราเอล ที่ซึ่งผู้คนรู้จักพระยะโฮวามานานกว่า 1,500 ปี. พวกเขามีสิทธิ์ที่จะประกาศในดินแดนซึ่งผู้คนนมัสการพระยะโฮวาอยู่แล้วไหม? ใช่แล้ว พวกเขามีสิทธิ์. พระเยซูตรัสแก่พวกเขาว่า “ท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเราในกรุงยะรูซาเลม, สิ้นทั้งมณฑลยูดาย, มณฑลซะมาเรีย, และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (กิจการ 1:8) ชาติอิสราเอลจำเป็นต้องได้ยินได้ฟังข่าวดีเช่นเดียวกับชาติอื่น ๆ.
8. พยานพระยะโฮวาในปัจจุบันเลียนแบบเหล่าสาวกของพระเยซูในศตวรรษแรกอย่างไร?
8 ในทำนองเดียวกัน พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้ประกาศไปทั่วโลก. พวกเขาร่วมงานกับทูตสวรรค์ที่โยฮันเห็นซึ่ง “มีข่าวดีนิรันดร์จะประกาศเป็นข่าวน่ายินดีแก่คนเหล่านั้นที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินโลก และแก่ทุกชาติและทุกตระกูล และทุกภาษาและทุกชนชาติ.” (วิวรณ์ 14:6, ล.ม.) ในปี 2001 พวกเขาทำงานขันแข็งใน 235 ดินแดนและเขตปกครอง ซึ่งก็รวมถึงประเทศที่ถือกันโดยทั่วไปว่าเป็นประเทศคริสเตียน. ผิดไหมที่พยานพระยะโฮวาจะประกาศในที่ซึ่งคริสต์ศาสนจักรได้ตั้งคริสตจักรของตนไว้แล้ว? บางคนบอกว่าผิดและอาจถึงกับถือว่าการประกาศข่าวดีเช่นนั้นเป็น “การขโมยแกะ.” อย่างไรก็ตาม พยานพระยะโฮวาจำได้ถึงความรู้สึกของพระเยซูที่ทรงมีต่อชาวยิวผู้มีใจถ่อมในสมัยของพระองค์. แม้ว่าพวกเขามีคณะปุโรหิตอยู่แล้ว พระเยซูไม่ทรงรีรอที่จะบอกข่าวดีแก่พวกเขา. พระองค์ “ทรงพระกรุณาเขา, ด้วยเขาอิดโรยกระจัดกระจายไปดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” (มัดธาย 9:36) เมื่อพยานพระยะโฮวาพบคนที่มีใจถ่อมซึ่งไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับพระยะโฮวาและราชอาณาจักรของพระองค์ พวกเขาควรเก็บข่าวดีเอาไว้ไม่บอกแก่คนเหล่านี้เพราะมีบางศาสนาที่อ้างว่ามีสิทธิปกครองพวกเขาอย่างนั้นไหม? โดยดำเนินตามตัวอย่างที่เหล่าอัครสาวกของพระเยซูวางไว้ เราจะไม่ทำอย่างนั้น. ข่าวดีต้องได้รับการประกาศ “ในประเทศทั้งปวง” โดยไม่มีข้อยกเว้น.—มาระโก 13:10, ล.ม.
คริสเตียนในยุคแรกทุกคนประกาศข่าวดี
9. ในศตวรรษแรก ใครบ้างในประชาคมคริสเตียนที่เข้าร่วมในงานประกาศ?
9 ใครเข้าร่วมงานประกาศในศตวรรษแรก? ข้อเท็จจริงแสดงว่าคริสเตียนทุกคนเป็นผู้เผยแพร่กิตติคุณ. นักประพันธ์ ดับเบิลยู. เอส. วิลเลียมส์ ชี้ว่า “มีหลักฐานโดยทั่วไปที่ชี้ว่าคริสเตียนทุกคนในคริสตจักรยุคแรกสุด . . . ประกาศกิตติคุณ.” คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 ว่า “เขาเหล่านั้น [ทุกคน ทั้งชายและหญิง] ก็ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์, จึงตั้งต้นพูดภาษาต่าง ๆ ตามที่พระวิญญาณได้ทรงโปรดให้พูด.” ผู้เผยแพร่กิตติคุณมีทั้งชายและหญิง, หนุ่มสาวและผู้สูงอายุ, ทาสและไท. (กิจการ 1:14; 2:1, 4, 17, 18; โยเอล 2:28, 29; ฆะลาเตีย 3:28) เมื่อการข่มเหงบีบให้คริสเตียนหลายคนหนีออกจากกรุงเยรูซาเลม “สานุศิษย์ทั้งหลายซึ่งกระจัดกระจายไปก็ได้เที่ยวประกาศพระคำนั้น.” (กิจการ 8:4) “สานุศิษย์ทั้งหลายซึ่งกระจัดกระจายไป” ทุกคนประกาศกิตติคุณ ไม่ใช่เฉพาะผู้ได้รับแต่งตั้งไม่กี่คน.
10. มีการทำงานมอบหมายสองประการอะไรให้สำเร็จก่อนระบบยิวจะถูกทำลาย?
10 เรื่องนี้ปรากฏว่าเป็นจริงตลอดช่วงแรก ๆ นั้น. พระเยซูทรงพยากรณ์ดังนี้: “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ; และครั้นแล้วอวสานจะมาถึง.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) สำเร็จเป็นจริงตามคำตรัสนี้ในศตวรรษแรก ข่าวดีได้รับ การประกาศอย่างกว้างขวางก่อนที่กองทัพโรมันจะทำลายระบบศาสนาและการเมืองของชาวยิว. (โกโลซาย 1:23) นอกจากนั้น สาวกทุกคนของพระเยซูเชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์ที่ว่า “เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) คริสเตียนยุคแรกไม่กระตุ้นผู้คนที่อ่อนน้อมให้เชื่อพระเยซูแล้วก็ทิ้งให้พวกเขาหาหนทางในการนมัสการพระเจ้าเอาเอง ดังที่นักเทศน์บางคนในสมัยปัจจุบันทำ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาสอนผู้คนให้เข้ามาเป็นสาวกของพระเยซู, จัดระเบียบให้พวกเขาเข้ามาร่วมกันเป็นประชาคม, และฝึกสอนพวกเขาเพื่อให้เขาเองสามารถประกาศข่าวดีและช่วยผู้อื่นให้เป็นสาวกต่อไป. (กิจการ 14:21-23) พยานพระยะโฮวาในปัจจุบันทำตามแบบอย่างดังกล่าว.
11. ใครในปัจจุบันมีส่วนร่วมในการประกาศข่าวที่ดีที่สุดแก่มนุษยชาติ?
11 พยานพระยะโฮวาบางคน ซึ่งดำเนินตามแบบอย่างของเปาโล, บาระนาบา, และคนอื่น ๆ ในศตวรรษแรก ได้ไปทำงานเป็นมิชชันนารีในต่างแดน. งานของพวกเขาก่อประโยชน์อย่างแท้จริง เนื่องจากพวกเขาไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือเขวไปจากงานมอบหมายของพวกเขาในการประกาศข่าวดีด้วยเหตุอื่นใด. พวกเขามุ่งปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเยซูที่ว่า “ขณะที่พวกเจ้าไป จงประกาศ.” อย่างไรก็ตาม พยานพระยะโฮวาส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นมิชชันนารีในต่างแดน. พยานฯ จำนวนมากทำงานหาเลี้ยงชีพ และหลายคนยังเรียนอยู่ในโรงเรียน. บางคนมีบุตรที่ต้องเลี้ยงดู. แต่พยานพระยะโฮวาทุกคนแบ่งปันข่าวดีที่พวกเขาได้เรียนรู้แก่ผู้อื่น. ไม่ว่าคนหนุ่มหรือผู้สูงอายุ ผู้ชายหรือผู้หญิง พวกเขาตอบรับคำกระตุ้นเตือนของคัมภีร์ไบเบิลด้วยความยินดีที่ว่า “จงประกาศพระคำ จงทำอย่างรีบด่วน ทั้งในยามเอื้ออำนวยและยามยากลำบาก.” (2 ติโมเธียว 4:2, ล.ม.) เช่นเดียวกับผู้เบิกร่องทางให้พวกเขาในศตวรรษแรก พวกเขา “สั่งสอนและประกาศข่าวดีเรื่องพระคริสต์เยซู .. . เรื่อยไปมิได้ขาด.” (กิจการ 5:42, ล.ม.) พวกเขาประกาศข่าวที่ดีที่สุดสำหรับมนุษยชาติ.
ชักจูงผู้อื่นให้เปลี่ยนศาสนาหรือเผยแพร่ข่าวดี?
12. การชักจูงผู้อื่นให้เปลี่ยนศาสนาได้กลายมาถูกมองอย่างไร?
12 ปัจจุบัน บางคนกล่าวว่าการชักจูงผู้อื่นให้เปลี่ยนศาสนาก่อผลเสียหาย. เอกสารหนึ่งซึ่งพิมพ์โดยสภาคริสตจักรโลกถึงกับกล่าวว่า ‘การชักจูงผู้อื่นให้เปลี่ยนศาสนาเป็นบาป.’ เพราะเหตุใด? วารสารคาทอลิก เวิลด์ รีพอร์ต กล่าวว่า “โดยที่ถูกตำหนิอยู่เสมอจากคริสตจักรออร์โทด็อกซ์ ‘การชักจูงผู้อื่นให้เปลี่ยนศาสนา’ จึงกลายมามีนัยของการบังคับ ให้เปลี่ยนความเชื่อแฝงอยู่.”
13. มีตัวอย่างอะไรบ้างเกี่ยวกับการชักจูงผู้อื่นให้เปลี่ยนศาสนาที่ก่อผลเสียหาย?
13 การชักจูงผู้อื่นให้เปลี่ยนศาสนาก่อผลเสียหายไหม? อาจก่อผลเสียหายได้. พระเยซูตรัสว่า การชักจูงผู้อื่นให้เปลี่ยนศาสนาที่พวกอาลักษณ์และฟาริซายทำนั้นก่อผลเสียหายต่อคนที่พวกเขาทำให้เปลี่ยนความเชื่อ. (มัดธาย 23:15) แน่นอน “การบังคับให้เปลี่ยนความเชื่อ” เป็นเรื่องผิด. ยกตัวอย่าง ตามที่นักประวัติศาสตร์โยเซฟุสกล่าวไว้ เมื่อจอห์น ฮีร์คานุสซึ่งเป็นพวกแมกคาบีพิชิตพวกอิดูเมีย เขา “อนุญาตให้พวกอิดูเมียอาศัยต่อไปในประเทศ ตราบเท่าที่พวกเขายอมทำสุหนัตและเต็มใจปฏิบัติตามกฎหมายของชาวยิว.” หากพวกอิดูเมียต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของยิว พวกเขาจะต้องถือปฏิบัติศาสนายิว. นักประวัติศาสตร์บอกเราว่าในศตวรรษที่แปดแห่งสากลศักราช ชาร์เลอมาญพิชิตพวกแซ็กซอนซึ่งเป็นชาวนอกรีตแห่งยุโรปเหนือและใช้กำลังอย่างป่าเถื่อนบังคับให้พวกแซ็กซอนเปลี่ยนความเชื่อ.a ทว่า การเปลี่ยนความเชื่อของพวกแซ็กซอนหรือพวกอิดูเมียเป็นไปอย่างจริงใจขนาดไหน? ยกตัวอย่างเช่น กษัตริย์เฮโรดชาวอิดูเมียซึ่งได้พยายามให้มีการสังหารพระกุมารเยซูนั้นมีความภักดีต่อพระบัญญัติของโมเซที่มีขึ้นโดยการดลใจจริงแท้ขนาดไหน?—มัดธาย 2:1-18.
14. มิชชันนารีบางคนของคริสต์ศาสนจักรทำอย่างไรในการกดดันผู้คนให้เปลี่ยนความเชื่อ?
14 ในปัจจุบัน มีการบังคับให้เปลี่ยนความเชื่อไหม? ในแง่หนึ่ง กล่าวได้ว่ามีบางกรณีที่เป็นอย่างนั้น. มีรายงานว่ามิชชันนารีบางคนของคริสต์ศาสนจักรเสนอให้ทุนการศึกษาในต่างประเทศแก่ผู้ที่พร้อมจะเปลี่ยนมาเข้ารีต. หรือพวกเขาอาจให้ผู้อพยพที่หิวโหยมานั่งฟังคำเทศน์เพื่อจะได้รับแจกอาหารปันส่วน. ตามถ้อยแถลงที่ออกในปี 1992 โดยที่ประชุมแห่งบิชอปนิกายออร์โทด็อกซ์ “บางครั้งการชักจูงให้เปลี่ยนศาสนาทำโดยอาศัยการล่อใจด้านวัตถุ และบางครั้งทำโดยอาศัยความรุนแรงในหลายรูปแบบ.”
15. พยานพระยะโฮวาชักจูงผู้อื่นให้เปลี่ยนศาสนาตามความหมายในปัจจุบันของคำนี้ไหม? จงอธิบาย.
15 การบังคับผู้คนให้เปลี่ยนศาสนาเป็นเรื่องผิด. แน่นอน พยานพระยะโฮวาไม่ได้ทำในลักษณะนี้.b ด้วยเหตุนั้น พวกเขาไม่ได้ชักจูงผู้อื่นให้เปลี่ยนศาสนาตามความหมายในปัจจุบันของคำนี้. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาประกาศข่าวดีแก่ทุกคน เช่นเดียวกับคริสเตียนในศตวรรษแรก. ใครก็ตามที่ตอบรับโดยสมัครใจได้รับเชิญให้รับความรู้มากขึ้นด้วยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. ผู้สนใจเหล่านี้เรียนรู้ที่จะมีความเชื่อในพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์ โดยอาศัยรากฐานที่หนักแน่นของความรู้อันถ่องแท้ในคัมภีร์ไบเบิล. ผลคือ พวกเขาร้องออกพระนามของพระเจ้า คือพระยะโฮวา เพื่อจะได้รับความรอด. (โรม 10:13, 14, 17) พวกเขาจะตอบรับข่าวดีหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะเลือกเอาเอง. ไม่มีการบังคับขู่เข็ญ. หากมีการบังคับใจกัน การเปลี่ยนความเชื่อย่อมจะไร้ความหมาย. เพื่อจะเป็นที่ยอมรับจากพระเจ้า การนมัสการต้องออกมาจากหัวใจ.—พระบัญญัติ 6:4, 5; 10:12.
การเผยแพร่กิตติคุณในสมัยปัจจุบัน
16. งานเผยแพร่กิตติคุณของพยานพระยะโฮวาได้เพิ่มทวีขึ้นอย่างไรในสมัยปัจจุบัน?
16 ตลอดสมัยปัจจุบัน พยานพระยะโฮวาได้ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรให้สำเร็จตามในมัดธาย 24:14 อย่างที่ยิ่งใหญ่กว่า. เครื่องมือเด่นที่พวกเขาใช้ในงานเผยแพร่กิตติคุณได้แก่วารสารหอสังเกตการณ์.c ในปี 1879 เมื่อได้มีการตีพิมพ์หอสังเกตการณ์ เป็นครั้งแรก วารสารนี้มียอดจำหน่ายประมาณ 6,000 เล่มในหนึ่งภาษา. ในปี 2001 หลังจากที่ผ่านไป 122 ปี ยอดจำหน่ายเพิ่มเป็น 23,042,000 เล่มใน 141 ภาษา. ควบคู่ไปกับการเพิ่มดังกล่าวได้แก่การเติบโตด้านกิจกรรมการเผยแพร่กิตติคุณของพยานพระยะโฮวา. ขอให้เทียบเวลาไม่กี่พันชั่วโมงในแต่ละปีที่ได้มีการใช้ในงานเผยแพร่กิตติคุณในศตวรรษที่ 19 กับเวลาถึง 1,169,082,225 ชั่วโมงที่ได้มีการอุทิศให้แก่งานประกาศในปี 2001. ขอให้พิจารณาการนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลฟรีโดยเฉลี่ย 4,921,702 รายในแต่ละเดือน. ได้มีการทำงานที่ดีให้สำเร็จผลอย่างมากมายจริง ๆ! และผู้ที่ทำงานนี้คือผู้ประกาศราชอาณาจักรที่ขันแข็ง 6,117,666 คน.
17. (ก) มีการนมัสการพระเท็จแบบใดบ้างในทุกวันนี้? (ข) ไม่ว่าจะพูดภาษาอะไร, ถือสัญชาติใด, หรือมีสถานภาพทางสังคมเช่นไร ทุกคนจำเป็นต้องทราบอะไร?
17 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “บรรดาพระของชนชาวประเทศต่าง ๆ เป็นรูปเคารพทั้งนั้น; แต่พระยะโฮวาได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 96:5) ในโลกทุกวันนี้ ผู้คนถือเอาชาตินิยม, สัญลักษณ์ประจำชาติ, คนเด่นดัง, สิ่งฝ่ายวัตถุ, และแม้กระทั่งความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่เขาบูชานมัสการ. (มัดธาย 6:24; เอเฟโซ 5:5; โกโลซาย 3:5) มหาตมา คานธี เคยกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้ามีความเห็นอันมั่นคงว่า . . . ยุโรปในทุกวันนี้เป็นแต่เพียงคริสเตียนในนาม. สิ่งที่ชาวยุโรปกำลังนมัสการกันจริง ๆ คือความมั่งคั่งร่ำรวย.” ข้อเท็จจริงคือ ข่าวดีจำเป็นต้องได้รับการประกาศออกไปให้ได้ยินทั่วทุกแห่ง. ทุกคน ไม่ว่าจะพูดภาษาอะไร, ถือสัญชาติใด, หรือมีสถานภาพทางสังคมเช่นไร จำเป็นต้องทราบเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์. เราปรารถนาให้ทุกคนตอบรับถ้อยคำดังต่อไปนี้ของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “จงถวายรัศมีและเดชานุภาพแก่พระองค์. จงถวายรัศมีแก่พระยะโฮวาให้สมกับพระนามของพระองค์”! (บทเพลงสรรเสริญ 96:7, 8) พยานพระยะโฮวาช่วยผู้อื่นให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาเพื่อพวกเขาจะสามารถถวายเกียรติแด่พระองค์ได้อย่างถูกต้อง. และผู้ที่ตอบรับได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวง. พวกเขาได้รับประโยชน์อะไร? จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a ตามที่บอกไว้ในสารานุกรมคาทอลิก ในช่วงที่มีการปฏิรูปศาสนา การบังคับประชาชนให้รับเชื่อศาสนาเป็นเรื่องที่เห็นได้จากคำขวัญซึ่งมีใจความว่า “ผู้ใดปกครองแผ่นดิน ผู้นั้นย่อมเป็นผู้กำหนดศาสนาประจำชาติ.”
b ในการประชุมของคณะกรรมาธิการเสรีภาพด้านศาสนานานาชาติประจำสหรัฐ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2000 ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่พยายามบังคับให้เปลี่ยนความเชื่อกับกิจกรรมของพยานพระยะโฮวา. ได้มีการให้ข้อสังเกตว่า เมื่อพยานพระยะโฮวาประกาศแก่ผู้อื่น พวกเขาทำในแบบที่ผู้ฟังสามารถจะบอกได้เลยว่า “ฉันไม่สนใจ” แล้วก็ปิดประตู.
c ชื่อเต็มของวารสารนี้คือ หอสังเกตการณ์ประกาศราชอาณาจักรของพระยะโฮวา.
คุณอธิบายได้ไหม?
• เหตุใดพยานพระยะโฮวาเป็นผู้เผยแพร่กิตติคุณที่มีใจแรงกล้า?
• เหตุใดพยานพระยะโฮวาประกาศแม้แต่ในที่ที่คริสต์ศาสนจักรได้ก่อตั้งคริสตจักรแล้ว?
• เหตุใดพยานพระยะโฮวาไม่ใช่ผู้ชักจูงผู้อื่นให้เปลี่ยนศาสนาตามความหมายในปัจจุบันของคำนี้?
• งานเผยแพร่กิตติคุณของพยานพระยะโฮวาก้าวหน้าเติบโตอย่างไรในสมัยปัจจุบัน?
[ภาพหน้า 9]
พระเยซูทรงเป็นผู้เผยแพร่กิตติคุณที่มีใจแรงกล้าและทรงฝึกอบรมผู้อื่นให้ทำงานอย่างเดียวกัน
[ภาพหน้า 10]
ทุกคนในประชาคมในศตวรรษแรกร่วมในการเผยแพร่กิตติคุณ
[ภาพหน้า 11]
การบังคับผู้คนให้เปลี่ยนศาสนาเป็นเรื่องผิด