วิธีที่ความทุพพลภาพจะหมดสิ้นไป
ลองนึกภาพดูสิ ตาของคนตาบอดเห็นได้, หูของคนหูหนวกได้ยินเสียงทุกชนิด, ลิ้นของคนใบ้ร้องเพลงด้วยความยินดี, และเท้าของคนง่อยยืนมั่นคงและเดินไปมาได้! เรามิได้กำลังพูดถึงความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่กำลังพูดถึงผลจากการแทรกแซงของพระเจ้าเพื่อมนุษยชาติ. คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าว่า “ขณะนั้นตาของคนตาบอดจะเห็นได้, และหูของคนหูหนวกจะยินได้. แล้วคนง่อยจะเต้นได้ดุจดังอีเก้ง, และลิ้นของคนใบ้จะร้องเพลง.” (ยะซายา 35:5, 6) กระนั้น เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคำพยากรณ์อันน่าทึ่งจริง ๆ นี้จะกลายเป็นจริง?
แรกทีเดียว เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงอยู่บนแผ่นดินโลกนี้ พระองค์ทรงรักษาผู้คนที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัยและผู้ที่ทุพพลภาพทุกรูปแบบจริง ๆ. ยิ่งกว่านั้น การอัศจรรย์ส่วนใหญ่ที่พระเยซูทรงกระทำมีประจักษ์พยานรู้เห็นมากมาย แม้แต่เหล่าศัตรูของพระองค์ด้วยซ้ำ. ที่จริง มีอย่างน้อยครั้งหนึ่งที่พวกผู้ต่อต้านที่ช่างสงสัยได้ซักไซ้เรื่องการรักษาของพระเยซูอย่างละเอียดโดยมุ่งหวังจะให้ร้ายพระองค์. แต่พวกเขาต้องผิดหวังอย่างยิ่ง เมื่อการกระทำทั้งสิ้นของพวกเขากลับเป็นการยืนยันว่าการอัศจรรย์ของพระเยซูเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง. (โยฮัน 9:1, 5-34) หลังจากที่พระเยซูทรงทำการอัศจรรย์ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้อีกครั้งหนึ่ง พวกเขาพากันกล่าวด้วยความข้องขัดใจว่า “เราจะทำอย่างไรกัน เพราะว่าชายผู้นี้กระทำหมายสำคัญหลายประการ?” (โยฮัน 11:47, ล.ม.) อย่างไรก็ดี ประชาชนทั่วไปมิได้ไร้ซึ่งความรู้สึกเช่นคนเหล่านี้ เนื่องจากมีหลายคนได้เริ่มเชื่อในพระเยซู.—โยฮัน 2:23; 10:41, 42; 12:9-11.
การอัศจรรย์ของพระเยซู—ภาพล่วงหน้าของการเยียวยาทั่วโลก
การอัศจรรย์ของพระเยซูไม่เพียงพิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นมาซีฮาและพระบุตรของพระเจ้าเท่านั้น. แต่การอัศจรรย์เหล่านี้ยังได้ทำให้มีรากฐานสำหรับความเชื่อในคำสัญญาของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า มนุษยชาติที่เชื่อฟังจะได้รับการรักษาในอนาคต. คำสัญญาเหล่านี้รวมถึงคำพยากรณ์ในยะซายาบท 35 ซึ่งมีการกล่าวถึงในย่อหน้าแรกของบทความนี้. ยะซายา 33:24 กล่าวเกี่ยวกับสุขภาพในอนาคตของมนุษย์ที่เกรงกลัวพระเจ้าไว้ดังนี้: “จะไม่มีใครที่อาศัยอยู่ที่นั่นพูดว่า, ‘ข้าพเจ้าป่วยอยู่.’” คล้ายคลึงกัน วิวรณ์ 21:4 สัญญาว่า “พระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุก ๆ หยดจากตาของเขา ความตายจะไม่มีต่อไป การคร่ำครวญและร้องไห้และการเจ็บปวดอย่างหนึ่งอย่างใดจะไม่มีอีกเลย เพราะเหตุการณ์ที่ได้มีอยู่แต่ดั้งเดิมนั้น [ความลำบากและความทุกข์ที่มีในทุกวันนี้] ได้ล่วงพ้นไปแล้ว.”
ผู้คนอธิษฐานเสมอที่จะให้ให้คำพยากรณ์เหล่านี้สำเร็จเป็นจริง เมื่อพวกเขากล่าวตามคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซู ซึ่งมีส่วนหนึ่งกล่าวว่า “ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่. พระทัยของพระองค์สำเร็จในสวรรค์อย่างไร, ก็ให้สำเร็จในแผ่นดินโลกเหมือนกัน.” (มัดธาย 6:10) ถูกแล้ว พระทัยประสงค์ของพระเจ้านั้นรวมถึงแผ่นดินโลกและมนุษยชาติด้วย. โรคภัยและความทุพพลภาพทั้งปวงซึ่งแม้ทรงยอมให้มีอยู่เนื่องด้วยเหตุผลบางประการก็จะหมดสิ้นไปในไม่ช้า; สิ่งเหล่านี้จะไม่ทำความเสียหายแก่ “ม้าวางเท้า” ของพระเจ้าอยู่เรื่อยไป.—ยะซายา 66:1.a
ได้รับการรักษาโดยไม่เจ็บปวดและไม่เสียค่า
ไม่ว่าผู้คนจะทนทุกข์ทรมานด้วยโรคใด พระเยซูทรงรักษาเขาให้หายโดยไม่เจ็บปวด, ไม่ชักช้า, และไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ. ด้วยเหตุนั้น คำเล่าลือเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงแพร่ออกไปรวดเร็วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ช้า “ประชาชนเป็นอันมากมาเฝ้าพระองค์พาคนง่อย, คนตาบอด, คนใบ้, คนเขยก, และคนเจ็บอื่น ๆ หลายคนมาวางใกล้พระบาทของพระเยซู, แล้วพระองค์ทรงรักษาเขาให้หาย.” ผู้คนมีปฏิกิริยาเช่นไร? บันทึกของมัดธายฐานะประจักษ์พยานบอกต่อไปว่า “คนเหล่านั้นก็มีความอัศจรรย์ใจเมื่อเห็นคนใบ้พูดได้, คนเขยกหายปกติ, คนง่อยเดินได้, คนตาบอดเห็นได้, แล้วเขาก็สรรเสริญพระเจ้าของชาติยิศราเอล.”—มัดธาย 15:30, 31.
พึงสังเกตว่าผู้ที่ได้รับการรักษาจากพระเยซูนั้นไม่ได้ถูกคัดเลือกจากฝูงชนเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นวิธีที่พวกคนหลอกลวงมักใช้. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น บรรดาญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงของผู้เจ็บป่วยได้พาคนเหล่านั้น “มาวางใกล้พระบาทของพระเยซู, แล้วพระองค์ทรงรักษาเขาให้หาย.” ตอนนี้ ขอให้เราทบทวนตัวอย่างที่เด่น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นความสามารถของพระเยซูในการเยียวยารักษา.
ตาบอด: เมื่อพระเยซูประทับในกรุงเยรูซาเลม พระองค์ทรงรักษาชายคนหนึ่งซึ่ง “ตาบอดมาแต่กำเนิด” ให้เห็นได้. ชายคนนี้เป็นที่รู้จักกันดีในเมืองนั้นว่าเป็นขอทานตาบอด. ดังนั้น คุณคงจะนึกภาพออกถึงความตื่นเต้นและเสียงเซ็งแซ่ของผู้คนเมื่อเห็นชายคนนั้นเดินไปมาและตามองเห็นได้! อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่รู้สึกยินดี. เนื่องจากไม่พอใจที่ก่อนหน้านี้พระเยซูได้กล่าวเปิดโปงความชั่วร้ายของตน สมาชิกบางคนของกลุ่มลัทธิยิวที่โดดเด่นและทรงอิทธิพลซึ่งเรียกว่าพวกฟาริซายได้พยายามอย่างสุดกำลังที่จะหาหลักฐานว่า พระเยซูใช้เล่ห์เหลี่ยมในการรักษา. (โยฮัน 8:13, 42-44; 9:1, ล.ม., 6-31) ดังนั้น พวกเขาจึงซักไซ้ไล่เลียงชายที่พระเยซูได้ทรงรักษานั้น, และบิดามารดาของเขา, แล้วก็ตัวเขาอีกครั้งหนึ่ง. แต่การไต่สวนของพวกฟาริซายกลับกลายเป็นเพียงการยืนยันความเป็นจริงของการอัศจรรย์ของพระเยซู ซึ่งทำให้พวกเขาโกรธแค้น. ด้วยความงุนงงในความดันทุรังของผู้เคร่งศาสนาที่หน้าซื่อใจคดเหล่านี้ ชายที่ตาหายบอดจึงกล่าวว่า “ตั้งแต่เดิมมาไม่มีใครได้ยินว่าผู้ใดได้เปิดตาของคนที่ตาบอดแต่กำเนิด. ถ้าคนนั้นไม่ได้มาจากพระเจ้าแล้ว, ก็คงทำอะไรไม่ได้.” (โยฮัน 9:32, 33) เพราะการแสดงออกถึงความเชื่อที่จริงใจและหลักแหลมเช่นนี้ พวกฟาริซายจึงได้ “ไล่ผู้นั้นเสีย” ซึ่งบ่งชี้ว่าพวกเขาได้ขับไล่ชายที่ครั้งหนึ่งเคยตาบอดนั้นออกจากธรรมศาลา.—โยฮัน 9:22, 34.
หูหนวก: ขณะพระเยซูประทับอยู่ในแคว้นเดคาโปลิส (เดกาโปลี) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน (ยาระเดน) ประชาชน “พาชายหูหนวกพูดติดอ่างคนหนึ่งมาหาพระองค์.” (มาระโก 7:31, 32, ฉบับแปลใหม่) พระเยซูไม่เพียงแต่ทรงรักษาชายคนนั้น แต่พระองค์ยังได้แสดงให้เห็นว่าทรงหยั่งเห็นเข้าใจลึกซึ้งต่อความรู้สึกของคนหูหนวก ซึ่งอาจจะอายเมื่อถูกห้อมล้อมด้วยฝูงชน. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า พระเยซูทรงพาชายหูหนวกนั้น “ออกจากประชาชนไปอยู่ต่างหาก” และจึงทรงรักษาเขา. อีกครั้งหนึ่งที่ผู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหลายต่าง “ประหลาดใจนักหนา” และพูดกันว่า “สรรพสิ่งซึ่งพระองค์ทรงกระทำนั้นล้วนแต่ดี คนหูหนวกก็ยินได้, และคนใบ้ก็พูดได้.”—มาระโก 7:33-37.
อัมพาต: ขณะพระเยซูประทับอยู่ที่เมืองเคเปอร์นาอุม (กัปเรนาอูม) ประชาชนมาหาพระองค์พร้อมกับคนง่อยคนหนึ่งซึ่งนอนอยู่บนที่นอน. (มัดธาย 9:2) ข้อ 6 ถึง 8 พรรณนาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น. “[พระเยซู] จึงตรัสสั่งคนง่อยว่า, ‘จงลุกขึ้นยกที่นอนไปบ้านเถิด.’ เขาจึงลุกขึ้นไปบ้านของตน. แต่เมื่อประชาชนเห็นดังนั้นก็อัศจรรย์ใจ, แล้วได้ยกยอสรรเสริญพระเจ้าผู้ได้ทรงประทานฤทธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ดังนั้นแก่มนุษย์.” นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งด้วยที่พระเยซูทรงกระทำการอัศจรรย์ท่ามกลางเหล่าสาวกของพระองค์และพวกศัตรู. สังเกตว่า สาวกของพระเยซู ซึ่งไม่ได้ถูกปิดตาด้วยความเกลียดชังและอคติ ได้ “ยกยอสรรเสริญพระเจ้า” เนื่องด้วยสิ่งที่เขาได้รู้เห็นนั้น.
โรคภัยไข้เจ็บ: “คนโรคเรื้อนคนหนึ่งมาหา [พระเยซู] คุกเข่าลงทูลวิงวอนพระองค์ว่า ‘เพียงแต่พระองค์จะโปรดก็จะทรงบันดาลให้ข้าพระองค์หายโรคได้’ พระเยซูทรงสงสารเขาจึงทรงยื่นพระหัตถ์ถูกต้องคนนั้นตรัสแก่เขาว่า ‘เราพอใจแล้ว จงหายเถิด’ ในทันใดนั้นโรคเรื้อนก็หาย.” (มาระโก 1:40-42, ฉบับแปลใหม่) สังเกตว่าพระเยซูไม่ได้ทรงรักษาชายผู้นั้นอย่างเสียไม่ได้ แต่ด้วยความรู้สึกสงสารอย่างแท้จริง. ลองนึกภาพตัวคุณเป็นโรคเรื้อนดูสิ. คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าในทันทีทันใดและโดยปราศจากความเจ็บปวด คุณได้รับการรักษาให้หายจากโรคร้ายที่น่ากลัวซึ่งเคยทำให้ร่างกายของคุณค่อย ๆ ผิดรูปผิดร่างไปและทำให้คุณเป็นที่รังเกียจของสังคม? ไม่ต้องสงสัย คุณคงเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดชายโรคเรื้อนอีกคนหนึ่งซึ่งได้รับการรักษาโดยการอัศจรรย์จึง “กราบลงที่พระบาทของพระเยซูโมทนาพระคุณของพระองค์.”—ลูกา 17:12-16, ฉบับแปลใหม่.
อาการบาดเจ็บ: การอัศจรรย์ครั้งสุดท้ายที่พระเยซูทรงกระทำก่อนจะทรงถูกจับกุมและถูกตรึงคือการรักษาอาการบาดเจ็บ. ด้วยการกระทำอย่างหุนหันพลันแล่นต่อคนเหล่านั้นที่มาจับกุมพระเยซู อัครสาวกเปโตร “มีดาบจึงชักออกฟันทาสคนหนึ่งของมหาปุโรหิตถูกหูข้างขวาขาดไป.” (โยฮัน 18:3-5, 10) บันทึกเหตุการณ์เดียวกันนี้ในลูกาบอกเราว่าพระเยซู “ทรงต่อใบหูคนนั้นให้หายปกติ.” (ลูกา 22:50, 51) อีกครั้งหนึ่งที่การกระทำด้วยความเมตตาสงสารนั้นอยู่ในสายตาของบรรดามิตรสหายของพระเยซูและพวกศัตรูของพระองค์ ซึ่งในเหตุการณ์นี้ก็คือ เหล่าคนที่มาจับกุมพระเยซูนั่นเอง.
ถูกแล้ว ยิ่งเราพิจารณาการอัศจรรย์ของพระเยซูอย่างละเอียดมากเท่าไร เราก็ยิ่งมองเห็นความเป็นจริงของการอัศจรรย์เหล่านี้เด่นชัดยิ่งขึ้นเท่านั้น. (2 ติโมเธียว 3:16) และดังที่กล่าวข้างต้น การศึกษาเรื่องนี้ควรเสริมให้เรามีความเชื่อที่เข้มแข็งขึ้นในเรื่องคำสัญญาของพระเจ้าที่จะเยียวยารักษามนุษยชาติที่เชื่อฟัง. คัมภีร์ไบเบิลนิยามความเชื่อของคริสเตียนว่าเป็น “ความคาดหมายที่แน่นอน ในสิ่งซึ่งหวังไว้ เป็นการแสดงออกเด่นชัด ถึงสิ่งที่เป็นจริง ถึงแม้ไม่ได้เห็นสิ่งนั้นก็ตาม.” (เฮ็บราย 11:1, ล.ม.) เห็นชัดว่า พระเจ้าทรงสนับสนุนการมีความเชื่อที่มั่นคงซึ่งอาศัยพยานหลักฐาน มิใช่หลับหูหลับตาเชื่อหรือเพียงเพราะมีความคาดหวัง. (1 โยฮัน 4:1) เมื่อเราได้มาซึ่งความเชื่อเช่นนั้น เราจะพบว่าเราเป็นคนที่แข็งแรงขึ้น, สุขภาพดีขึ้น, และมีความสุขมากขึ้นทางฝ่ายวิญญาณ.—มัดธาย 5:3; โรม 10:17.
การเยียวยารักษาฝ่ายวิญญาณต้องมาก่อน!
ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงหลายคนไม่มีความสุข. บางคนถึงกับพยายามฆ่าตัวตายเนื่องจากพวกเขาไม่มีความหวังสำหรับอนาคต หรือมิฉะนั้นก็เพราะรู้สึกว่าชีวิตของเขาเต็มไปด้วยปัญหา. ที่แท้แล้ว พวกเขาก็เป็นคนทุพพลภาพทางด้านวิญญาณ ซึ่งในสายพระเนตรของพระเจ้าสภาพดังกล่าวร้ายแรงยิ่งกว่าการไร้สมรรถภาพทางกายเสียอีก. (โยฮัน 9:41) ตรงกันข้าม หลายคนที่ทุพพลภาพทางกาย อย่างเช่นคริสเตียนและจูเนียร์ซึ่งได้กล่าวถึงในบทความก่อนกลับมีชีวิตที่มีความสุขและน่าพอใจ. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? นั่นเป็นเพราะพวกเขามีสุขภาพดีฝ่ายวิญญาณและได้รับการเสริมพลังจากความหวังที่แน่นอนซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก.
โดยพาดพิงถึงความต้องการที่พิเศษเฉพาะของเราฐานะมนุษย์ พระเยซูตรัสว่า “มนุษย์จะบำรุงชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้, แต่ด้วยบรรดาโอวาทซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า.” (มัดธาย 4:4) ถูกแล้ว ต่างจากสิ่งทรงสร้างประเภทสัตว์ มนุษย์ต้องการมากกว่าสิ่งค้ำจุนร่างกายด้านวัตถุ. เนื่องจากถูกสร้างตาม “แบบฉายา” ของพระเจ้า เราจึงต้องการอาหารฝ่ายวิญญาณ ซึ่งได้แก่ความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและวิธีที่เราจะดำเนินชีวิตลงรอยกับพระประสงค์ของพระเจ้าและกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. (เยเนซิศ 1:27; โยฮัน 4:34) ความรู้ของพระเจ้าเติมความหมายให้กับชีวิตของเราและทำให้เราเปี่ยมไปด้วยพลังทางฝ่ายวิญญาณ. นอกจากนั้น ความรู้ดังกล่าวยังได้วางรากฐานสำหรับชีวิตนิรันดร์ในอุทยานบนแผ่นดินโลกไว้ด้วย. พระเยซูตรัสดังนี้: “นี่แหละเป็นชีวิตนิรันดร์, คือว่าให้เขารู้จักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว. และรู้จักผู้ที่พระองค์ทรงใช้มาคือพระเยซูคริสต์.”—โยฮัน 17:3.
เป็นที่น่าสังเกตว่าคนร่วมสมัยเดียวกับพระเยซูมิได้เรียกพระองค์ว่า “ผู้รักษา” แต่เรียกว่า “อาจารย์.” (ลูกา 3:12; 7:40) เพราะเหตุใด? ก็เนื่องจากพระเยซูทรงสอนประชาชนถึงเรื่องทางแก้ที่ถาวร สำหรับปัญหาต่าง ๆ ของมนุษยชาติ ซึ่งได้แก่ราชอาณาจักรของพระเจ้านั่นเอง. (ลูกา 4:43; โยฮัน 6:26, 27) รัฐบาลฝ่ายสวรรค์นี้ซึ่งบริหารงานโดยพระเยซูคริสต์จะปกครองทั่วทั้งโลก และจะทำให้คำสัญญาทั้งหมดของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์และถาวรสำหรับมนุษยชาติที่ชอบธรรมและแผ่นดินโลกซึ่งเป็นบ้านของพวกเขาสำเร็จเป็นจริง. (วิวรณ์ 11:15) นั่นคือเหตุผลที่ในคำอธิษฐานแบบอย่างของพระองค์ พระเยซูทรงเชื่อมโยงการมาของราชอาณาจักรเข้ากับการที่พระทัยประสงค์ของพระเจ้าจะสำเร็จบนแผ่นดินโลกนี้.—มัดธาย 6:10.
สำหรับหลายคนที่ทุพพลภาพ การเรียนรู้เกี่ยวกับความหวังอันน่าตื่นเต้นนี้ได้ทำให้น้ำตาแห่งความเศร้าของพวกเขากลายเป็นน้ำตาแห่งความยินดี. (ลูกา 6:21) ที่จริง พระเจ้าจะทรงทำมากกว่าการขจัดความเจ็บป่วยและความทุพพลภาพ; พระองค์จะทรงลบล้างต้นเหตุแห่งความทุกข์ของมนุษย์เลยทีเดียว ซึ่งก็คือบาปนั่นเอง. ที่จริง ยะซายา 33:24 และมัดธาย 9:2-7 ซึ่งได้อ้างถึงก่อนหน้านี้ได้เชื่อมโยงความเจ็บป่วยเข้ากับสภาพผิดบาปของมนุษย์เรา. (โรม 5:12) ดังนั้น ด้วยเหตุที่บาปจะถูกกำจัดออกไป ในที่สุดมนุษยชาติจะชื่นชมกับ “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า” ซึ่งเป็นเสรีภาพที่รวมถึงความสมบูรณ์ของจิตใจและร่างกาย.—โรม 8:21, ล.ม.
อาจเป็นการง่ายที่ผู้มีสุขภาพดีอยู่แล้วจะมองดูสภาพการณ์ของตนว่าเป็นเรื่องธรรมดา. แต่คนที่ต้องทนทุกข์กับประสบการณ์ชีวิตอันขมขื่นเนื่องจากความทุพพลภาพคงไม่คิดเช่นนั้น. พวกเขารู้ว่าสุขภาพและชีวิตเป็นสิ่งมีค่ามากเพียงไรและสิ่งต่าง ๆ อาจเปลี่ยนไปได้ในทันทีทันใดและโดยไม่ได้คาดล่วงหน้า. (ท่านผู้ประกาศ 9:11) ดังนั้น เราหวังว่าผู้ที่ทุพพลภาพในกลุ่มผู้อ่านของเราคงจะได้พิจารณาเป็นพิเศษถึงเรื่องคำสัญญาอันยอดเยี่ยมของพระเจ้าที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. พระเยซูได้ทรงประทานชีวิตของพระองค์เพื่อรับรองความสำเร็จเป็นจริงของคำสัญญาเหล่านี้. มีการรับประกันใดอีกหรือที่จะดีไปกว่านี้?—มัดธาย 8:16, 17; โยฮัน 3:16.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับการพิจารณาในรายละเอียดเกี่ยวด้วยสาเหตุที่พระเจ้าทรงยอมให้มีความทุกข์ โปรดดูจุลสารพระเจ้าทรงใฝ่พระทัยในพวกเราจริง ๆ หรือ? จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.