“จงรักษาความประพฤติของท่านให้ดีงามท่ามกลางนานาชาติ”
“จงให้เกียรติคนทุกชนิด จงมีความรักต่อสังคมพี่น้องทั้งสิ้น.”—1 เปโตร 2:17, ล.ม.
1, 2. (ก) ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์คนหนึ่งแสดงความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา? (ข) ทำไมพยานพระยะโฮวาพยายามรักษามาตรฐานอันสูงส่งในเรื่องความประพฤติ?
หลายปีมาแล้ว ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์คนหนึ่งในอะมาริลโล รัฐเทกซัส สหรัฐ ได้ไปเยือนโบสถ์หลายแห่งในเขตนั้นและรายงานสิ่งที่เขาได้พบ. มีกลุ่มหนึ่งที่แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดซึ่งทำให้เขาประทับใจ. เขากล่าวว่า “เป็นเวลาสามปี ผมได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ประจำปีของพยานพระยะโฮวาที่อะมาริลโลซีวิกเซนเตอร์. ขณะที่ผมนั่งปะปนกับพวกเขา ผมไม่เคยเห็นใครจุดบุหรี่, เปิดฝากระป๋องเบียร์, หรือพูดจาหยาบคาย. พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่สะอาด, ประพฤติเรียบร้อย, แต่งกายสุภาพ, เป็นมิตรที่สุดเท่าที่ผมเคยพบ.” ความเห็นคล้าย ๆ กันนี้เกี่ยวกับพยานพระยะโฮวามีตีพิมพ์อยู่บ่อย ๆ ตามสื่อต่าง ๆ. ทำไมพยานพระยะโฮวาจึงมักจะได้รับการยกย่องจากคนที่มีความเชื่อทางศาสนาต่างจากพวกเขา?
2 ปกติแล้ว ไพร่พลของพระเจ้าได้รับการยกย่องเพราะพวกเขามีความประพฤติที่ดี. ขณะที่มาตรฐานความประพฤติทั่วไปในโลกกำลังตกต่ำลง พยานพระยะโฮวาถือว่ามาตรฐานอันสูงส่งของพวกเขาในเรื่องความประพฤติเป็นพันธะหน้าที่อย่างหนึ่งและเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการ. พยานพระยะโฮวารู้ว่าความประพฤติของพวกเขาทำให้คนอื่น ๆ มีความประทับใจในแง่ดีเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพี่น้องคริสเตียนของพวกเขา และรู้ว่าความประพฤติที่ดีเป็นการแนะนำความจริงที่พวกเขาประกาศ. (โยฮัน 15:8; ติโต 2:7, 8) ด้วยเหตุนั้น ให้เรามาพิจารณาว่ามีวิธีใดบ้างที่เราสามารถรักษาความประพฤติที่ดีของเราไว้ซึ่งเป็นการจรรโลงชื่อเสียงอันดีของพระยะโฮวาและพยานของพระองค์ และพิจารณาว่าตัวเราเองจะได้รับประโยชน์เช่นไรจากการทำอย่างนั้น.
ครอบครัวคริสเตียน
3. ครอบครัวคริสเตียนจำเป็นต้องได้รับการปกป้องจากอะไร?
3 ขอให้พิจารณาเรื่องความประพฤติของเราภายในวงครอบครัว. หนังสือดี นอยเยิน อินควิซิโทเริน: เรลีกีโอนส์ไฟรไฮท์ อูนด์ กลาวเบนส์ไนด์ (กลุ่มไต่สวนทางศาสนายุคใหม่: เสรีภาพและความอิจฉาทางศาสนา, ภาษาเยอรมัน) เขียนโดยเกร์ฮาร์ด เบเซียร์ กับ เอร์วีน คา. ชอยช์ กล่าวว่า “สำหรับ [พยานพระยะโฮวา] ครอบครัวเป็นสิ่งที่พวกเขาให้การปกป้องเป็นพิเศษ.” คำกล่าวนี้เป็นความจริง และในทุกวันนี้ครอบครัวจำเป็นต้องได้รับการปกป้องจากอันตรายหลายอย่าง. มีเด็ก ๆ ที่ “ไม่เชื่อฟังบิดามารดา” และพวกผู้ใหญ่ “ไม่มีความรักใคร่ตามธรรมชาติ” หรือ “ไม่มีการรู้จักบังคับตน.” (2 ติโมเธียว 3:2, 3, ล.ม.) ครอบครัวเป็นที่ที่มีการใช้ความรุนแรงต่อคู่สมรส, บิดามารดาทำร้ายหรือทอดทิ้งเด็ก ๆ, และเด็ก ๆ ขืนอำนาจ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและการทำผิดศีลธรรม หรือหนีออกจากบ้าน. ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากอิทธิพลของ ‘วิญญาณของโลก’ ที่ก่อความเสียหาย. (เอเฟโซ 2:1, 2) เราจำเป็นต้องปกป้องครอบครัวของเราจากวิญญาณดังกล่าว. โดยวิธีใด? โดยที่เราเอาใจใส่คำแนะนำและการชี้นำจากพระยะโฮวาที่ให้แก่สมาชิกครอบครัว.
4. สมาชิกครอบครัวคริสเตียนมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรต่อกันและกัน?
4 คู่สมรสคริสเตียนตระหนักว่าพวกเขามีพันธะที่จะสนองความจำเป็นทางอารมณ์, ทางวิญญาณ, และทางกายต่อกันและกัน. (1 โกรินโธ 7:3-5; เอเฟโซ 5:21-23; 1 เปโตร 5:7) บิดามารดาคริสเตียนมีหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญยิ่งต่อบุตรของตน. (สุภาษิต 22:6; 2 โกรินโธ 12:14; เอเฟโซ 6:4) และขณะที่เด็ก ๆ ในครอบครัวคริสเตียนโตขึ้น พวกเขาเรียนรู้ว่าตนเองก็มีหน้าที่รับผิดชอบเช่นเดียวกัน. (สุภาษิต 1:8, 9; 23:22; เอเฟโซ 6:1; 1 ติโมเธียว 5:3, 4, 8) การทำตามพันธะหน้าที่ในครอบครัวให้สำเร็จเรียกร้องความพยายาม, ความตั้งใจแน่วแน่, อีกทั้งน้ำใจแห่งความรักและการเสียสละตนเอง. แต่ยิ่งสมาชิกครอบครัวทำตามบทบาทที่พระเจ้ามอบหมายให้ตนได้มากเท่าใด พวกเขาก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อกันและกัน และต่อประชาคมมากขึ้นเท่านั้น. และที่สำคัญกว่าคือพวกเขาถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา พระเจ้าผู้ทรงก่อตั้งสถาบันครอบครัว.—เยเนซิศ 1:27, 28; เอเฟโซ 3:15.
ความสัมพันธ์แบบพี่น้องคริสเตียน
5. เราได้รับประโยชน์อะไรจากการคบหาสมาคมกับเพื่อนคริสเตียน?
5 ในฐานะคริสเตียน เรายังมีพันธะหน้าที่ต่อเพื่อนร่วมความเชื่อในประชาคมด้วย และว่ากันถึงที่สุดแล้ว ก็ต่อคนเหล่านั้นที่ประกอบกันขึ้นเป็น “สังคมพี่น้องทั้งสิ้น . . . ในโลก.” (1 เปโตร 5:9, ล.ม.) ความสัมพันธ์ที่เรามีกับประชาคมสำคัญยิ่งต่อสุขภาพฝ่ายวิญญาณของเรา. เมื่อเราคบหาสมาคมกับเพื่อนคริสเตียน เราเพลิดเพลินกับมิตรภาพที่ให้การชูใจและได้รับการบำรุงเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณจาก “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) ถ้าเราประสบปัญหา เราสามารถไปหาพี่น้องของเราเพื่อขอคำแนะนำที่ใช้การได้จริงซึ่งอาศัยพระคัมภีร์เป็นหลัก. (สุภาษิต 17:17; ท่านผู้ประกาศ 4:9; ยาโกโบ 5:13-18) เมื่อเราขัดสน พี่น้องของเราก็ไม่ทอดทิ้งเรา. ช่างเป็นพระพรจริง ๆ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งแห่งองค์การของพระเจ้า!
6. เปาโลแสดงเช่นไรว่าเรามีหน้าที่รับผิดชอบต่อคริสเตียนคนอื่น ๆ?
6 อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้สมทบกับประชาคมเพียงเพื่อจะเป็นฝ่ายรับ เราพร้อมที่จะเป็นผู้ให้ด้วย. อันที่จริง พระเยซูตรัสว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.” (กิจการ 20:35) อัครสาวกเปาโลเน้นถึงน้ำใจแห่งการให้ เมื่อท่านเขียนว่า “ให้เรายึดมั่นกับการประกาศอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความหวังของเราโดยไม่สั่นคลอน เพราะพระองค์ผู้ทรงสัญญานั้นสัตย์ซื่อ. และให้เราพิจารณาดูกันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี ไม่ขาดการประชุมร่วมกันเหมือนบางคนทำเป็นนิสัย แต่ชูใจซึ่งกันและกัน และให้มากขึ้นเมื่อท่านทั้งหลายเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.”—เฮ็บราย 10:23-25, ล.ม.
7, 8. เราแสดงน้ำใจแห่งการให้ทั้งภายในประชาคมและต่อคริสเตียนในประเทศอื่นอย่างไร?
7 ภายในประชาคม เรา “ประกาศ . . . ความหวังของเรา” เมื่อเราออกความเห็นระหว่างการประชุมหรือมีส่วนร่วมอย่างอื่นในระเบียบวาระ. การมีส่วนสนับสนุนการประชุมอย่างนั้นเป็นการชูใจพี่น้องของเราอย่างแน่นอน. นอกจากนี้ เรายังชูใจพี่น้องของเราเมื่อสนทนากับพวกเขาก่อนและหลังการประชุม. นั่นเป็นโอกาสที่เราสามารถหนุนกำลังผู้ที่อ่อนแอ, ปลอบโยนผู้ที่ซึมเศร้า, และปลอบประโลมผู้ที่เจ็บป่วย. (1 เธซะโลนิเก 5:14) คริสเตียนที่มีน้ำใจแห่งการให้ด้วยใจบริสุทธิ์อย่างที่กล่าวมานี้ทำให้หลายคนที่เข้าร่วมการประชุมกับเราเป็นครั้งแรกรู้สึกประทับใจในความรักที่พบเห็นท่ามกลางพวกเรา.—บทเพลงสรรเสริญ 37:21; โยฮัน 15:12; 1 โกรินโธ 14:25.
8 กระนั้น ความรักของเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในประชาคมของเราเอง. ความรักของเรานั้นแผ่คลุมไปถึงสังคมพี่น้องทั้งสิ้นทั่วโลก. ตัวอย่างเช่น ด้วยความรักอย่างนั้น จึงมีกล่องบริจาคเพื่อกองทุนหอประชุมราชอาณาจักรทั่วไปวางไว้ในหอประชุมส่วนใหญ่. หอประชุมราชอาณาจักรของเราอาจอยู่ในสภาพที่ดี แต่เรารู้ว่าเพื่อนคริสเตียนอีกมากมายในประเทศอื่นยังไม่มีสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการประชุม. เมื่อเราบริจาคเงินเข้ากองทุนนี้ เราแสดงความรักต่อพี่น้องเหล่านั้นแม้ว่าเราอาจไม่รู้จักพวกเขาเป็นส่วนตัว.
9. พยานพระยะโฮวามีความรักต่อกันและกันด้วยเหตุผลพื้นฐานอะไร?
9 ทำไมพยานพระยะโฮวามีความรักต่อกันและกัน? ก็เพราะพวกเขาทำตามพระบัญชาของพระเยซู. (โยฮัน 15:17) และความรักที่พวกเขามีต่อกันเป็นหลักฐานแสดงว่าพระวิญญาณของพระเจ้าดำเนินกิจท่ามกลางพวกเขาทั้งเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม. ความรักเป็น “ผลของพระวิญญาณ” อย่างหนึ่ง. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) เมื่อพยานพระยะโฮวาศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, เข้าร่วมการประชุมคริสเตียน, และอธิษฐานถึงพระเจ้าเป็นประจำ จึงทำให้พวกเขามีความรักต่อกันและกันเป็นเรื่องธรรมดา แม้ว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในโลกที่ ‘ความรักของคนเป็นอันมากเยือกเย็นลง.’—มัดธาย 24:12.
การติดต่อเกี่ยวข้องกับโลก
10. เรามีหน้าที่รับผิดชอบอะไรต่อโลก?
10 คำกล่าวของเปาโลที่ว่า “การประกาศอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความหวังของเรา” เตือนใจเราให้นึกถึงหน้าที่รับผิดชอบอีกอย่างหนึ่ง. การประกาศอย่างเปิดเผยนี้รวมถึงการประกาศข่าวดีแก่คนเหล่านั้นที่ยังไม่ได้เป็นพี่น้องคริสเตียนของเรา. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20; โรม 10:9, 10, 13-15) การประกาศเช่นนั้นเป็นการให้อีกรูปแบบหนึ่ง. การเข้าส่วนร่วมในงานประกาศเรียกร้องเวลา, พลังงาน, การเตรียมตัว, การฝึกฝน, และการใช้ทรัพยากรส่วนตัว. ถึงกระนั้น เปาโลเขียนว่า “ข้าพเจ้าเป็นหนี้ทั้งพวกเฮเลนและพวกต่างประเทศด้วย, เป็นหนี้ทั้งนักปราชญ์และคนเขลาด้วย. เหตุฉะนั้นส่วนข้าพเจ้าเต็มใจพร้อมที่จะประกาศกิตติคุณนั้นแก่ท่านทั้งหลายที่อยู่ในกรุงโรมด้วย.” (โรม 1:14, 15) เช่นเดียวกับเปาโล ขออย่าให้เราตระหนี่เมื่อชำระ “หนี้” ชนิดนี้.
11. อะไรคือหลักการในพระคัมภีร์สองข้อที่ควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลก อย่างไรก็ตาม เราตระหนักในเรื่องใด?
11 เรามีหน้าที่รับผิดชอบอย่างอื่นต่อคนเหล่านั้นที่ไม่ได้เป็นเพื่อนร่วมความเชื่อของเราอีกไหม? ถูกแล้ว. แน่ล่ะ เราตระหนักดีว่า “โลกทั้งสิ้นทอดตัวจมอยู่ในมารร้าย.” (1 โยฮัน 5:19) เราทราบด้วยว่าพระเยซูตรัสแก่เหล่าสาวกของพระองค์ว่า “พวกเขาไม่เป็นส่วนของโลก เหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก.” อย่างไรก็ตาม เราอาศัยอยู่ในโลก, หาเลี้ยงชีวิตอยู่ในโลก, และรับบริการต่าง ๆ จากโลก. (โยฮัน 17:11, 15, 16, ล.ม.) เราจึงมีพันธะหน้าที่หลายอย่างในโลก. พันธะหน้าที่เหล่านี้มีอะไรบ้าง? อัครสาวกเปโตรตอบคำถามนั้น. ท่านเขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงคริสเตียนในเอเชียน้อยไม่นานก่อนกรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย และตอนหนึ่งในจดหมายฉบับนี้ช่วยเรารักษาความสมดุลในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลก.
12. คริสเตียนเป็น “คนต่างด้าวและผู้อาศัยชั่วคราว” ในความหมายเช่นไร และในฐานะดังกล่าว พวกเขาควรละเว้นจากสิ่งใด?
12 ในเรื่องนี้ เปโตรเริ่มโดยกล่าวว่า “ดูก่อน พวกที่รัก ข้าพเจ้ากระตุ้นเตือนท่านทั้งหลายในฐานะเป็นคนต่างด้าวและผู้อาศัยชั่วคราวให้ละเว้นจากความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนัง ซึ่งความปรารถนาเหล่านั้นแหละต่อสู้กับจิตวิญญาณเรื่อยไป.” (1 เปโตร 2:11, ล.ม.) ในความหมายฝ่ายวิญญาณ คริสเตียนแท้เป็น “คนต่างด้าวและผู้อาศัยชั่วคราว” เนื่องจากความสนใจที่แท้จริงในชีวิตของพวกเขาคือ ความหวังเรื่องชีวิตนิรันดร์ในสวรรค์สำหรับคริสเตียนผู้ถูกเจิม และชีวิตนิรันดร์ในอุทยานบนแผ่นดินโลกสำหรับ “แกะอื่น.” (โยฮัน 10:16; ฟิลิปปอย 3:20, 21; เฮ็บราย 11:13; วิวรณ์ 7:9, 14-17) แต่ความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนังหมายถึงอะไร? สิ่งนี้รวมถึงความปรารถนาต่าง ๆ อย่างเช่น ความปรารถนาที่จะมั่งมี, ความปรารถนาจะมีชื่อเสียง, ความปรารถนาทางเพศที่ผิดศีลธรรม, และความปรารถนาที่เรียกกันว่าเป็น “ความอิจฉา” กับ “ความโลภ.”—โกโลซาย 3:5; 1 ติโมเธียว 6:4, 9; 1 โยฮัน 2:15, 16.
13. ความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนัง “ต่อสู้กับจิตวิญญาณ [ของเรา] เรื่อยไป” อย่างไร?
13 ความปรารถนาเหล่านั้น “ต่อสู้กับจิตวิญญาณ [ของเรา] เรื่อยไป” อย่างแท้จริง. ความปรารถนาเหล่านั้นเซาะกร่อนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าและจึงทำให้ความหวังฝ่ายคริสเตียนของเรา (“จิตวิญญาณ” หรือชีวิตของเรา) อยู่ในภาวะอันตราย. ยกตัวอย่าง ถ้าเราปลูกฝังความสนใจในสิ่งผิดศีลธรรม เราจะสามารถถวายตัวเรา “เป็นเครื่องบูชาอันมีชีวิตอยู่, บริสุทธิ์, ที่พระเจ้าทรงยอมรับได้” ไหม? ถ้าเราตกเข้าสู่กับดักของการนิยมวัตถุ เราจะ “แสวงหาราชอาณาจักร . . . ก่อนเสมอไป” ได้อย่างไรกัน? (โรม 12:1, 2, ล.ม.; มัดธาย 6:33, ล.ม.; 1 ติโมเธียว 6:17-19) แนวทางที่ดีกว่าคือติดตามตัวอย่างของโมเซ, ปฏิเสธสิ่งล่อใจของโลก, และให้การรับใช้พระยะโฮวาอยู่ในอันดับแรกในชีวิตของเรา. (มัดธาย 6:19, 20; เฮ็บราย 11:24-26) นั่นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะประสบความสำเร็จในการรักษาความสมดุลในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลก.
‘รักษาความประพฤติที่ดี’
14. ทำไมเราในฐานะคริสเตียนจึงพยายามรักษาความประพฤติที่ดี?
14 แนวปฏิบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่งพบในถ้อยคำถัดไปของเปโตร: “จงรักษาความประพฤติของท่านให้ดีงามท่ามกลางนานาชาติ เพื่อว่า ในสิ่งที่เขาพูดต่อต้านท่านทั้งหลายว่าเป็นคนทำชั่วนั้น เนื่องด้วยการกระทำที่ดีงามของท่านซึ่งเขาเป็นประจักษ์พยานนั้น เขาอาจสรรเสริญพระเจ้าในวันสำหรับการตรวจตราของพระองค์.” (1 เปโตร 2:12, ล.ม.) ในฐานะคริสเตียน เราพยายามประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี. ที่โรงเรียน เราตั้งใจศึกษาเล่าเรียน. ที่ทำงาน เราทำงานเต็มที่และซื่อสัตย์ แม้ว่านายจ้างดูเหมือนไม่มีเหตุผล. ในครอบครัวที่มีความเชื่อทางศาสนาต่างกัน สามีหรือภรรยาที่เป็นพยานฯ พยายามเป็นพิเศษที่จะทำตามหลักการคริสเตียน. การทำเช่นนี้ไม่ง่ายเสมอไป แต่เราทราบว่าความประพฤติอันเป็นแบบอย่างของเราทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย และบ่อยครั้งก่อผลกระทบที่ดีต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นพยานฯ.—1 เปโตร 2:18-20; 3:1.
15. เราทราบได้อย่างไรว่ามาตรฐานความประพฤติอันสูงส่งของพยานพระยะโฮวาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง?
15 ความสำเร็จของพยานพระยะโฮวาส่วนใหญ่ในการรักษาหลักศีลธรรมที่เป็นแบบอย่างเห็นได้จากความเห็นเกี่ยวกับพวกเขาที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา. ยกตัวอย่าง หนังสือพิมพ์อิล เตมโป ในอิตาลีรายงานว่า “ผู้คนที่มีพยานพระยะโฮวาเป็นเพื่อนร่วมงานเรียกพวกเขาว่าเป็นคนงานผู้สัตย์ซื่อ ซึ่งเชื่อมั่นในความเชื่อของตนจนอาจดูเหมือนว่าคลั่งไคล้ในความเชื่อนั้น; ถึงกระนั้น พวกเขาสมควรได้รับความนับถือเนื่องจากความสัตย์ซื่อมั่นคงด้านศีลธรรม.” หนังสือพิมพ์เฮรัลด์ แห่งบูเอโนสไอเรสในอาร์เจนตินากล่าวว่า “พยานพระยะโฮวาเป็นที่ยอมรับมาตลอดหลายปีว่าเป็นพลเมืองที่ขยันขันแข็ง, จริงจัง, มัธยัสถ์, และเกรงกลัวพระเจ้า.” ผู้คงแก่เรียนชาวรัสเซีย เซียร์เกย์ อีวานเยนโค กล่าวว่า “พยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกในฐานะประชาชนที่รักษากฎหมายโดยปราศจากด่างพร้อย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องเจตคติต่อการเสียภาษีอย่างเคร่งครัด.” ผู้จัดการอาคารแห่งหนึ่งในซิมบับเวที่พยานพระยะโฮวาใช้เป็นที่ประชุมภาคกล่าวว่า “ฉันเห็นพยานพระยะโฮวาหลายคนเก็บเศษกระดาษและทำความสะอาดห้องน้ำ. เมื่อพวกคุณจากไป พื้นที่จัดงานสะอาดกว่าเดิม. เด็กวัยรุ่นของพวกคุณมีหลักศีลธรรม. ฉันอยากให้มีพยานพระยะโฮวาเต็มอยู่ทั่วทั้งโลก.”
คริสเตียนกับการยอมอยู่ใต้อำนาจ
16. ความสัมพันธ์ของเรากับอำนาจฝ่ายบ้านเมืองเป็นอย่างไร และเพราะเหตุใด?
16 เปโตรยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคริสเตียนกับอำนาจฝ่ายบ้านเมืองด้วย. ท่านกล่าวว่า “เพื่อเห็นแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านทั้งหลายจงยอมอยู่ใต้อำนาจสิ่งที่มนุษย์ตั้งขึ้นทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงกว่า หรือผู้สำเร็จราชการซึ่งเป็นผู้ที่กษัตริย์ส่งมาเพื่อลงโทษผู้ทำชั่ว แต่ยกย่องผู้ทำดี. เพราะน้ำพระทัยของพระเจ้าเป็นอย่างนี้ คือว่า โดยการกระทำดี ท่านทั้งหลายอาจระงับคำพูดที่โง่เขลาของคนที่ไม่มีเหตุผล.” (1 เปโตร 2:13-15, ล.ม.) เราหยั่งรู้ค่าประโยชน์ที่ได้รับจากรัฐบาลที่มีการจัดระเบียบอย่างดี และเราเชื่อฟังกฎหมายของรัฐบาลนั้นและเสียภาษี ตามอย่างที่ถ้อยคำของเปโตรชี้แนะไว้. แม้ว่าเรายอมรับสิทธิ์ของรัฐบาลที่จะลงโทษผู้ละเมิดกฎหมายด้วยอำนาจที่พระเจ้าประทานให้ แต่เหตุผลหลักที่เรายอมตัวอยู่ใต้อำนาจฝ่ายบ้านเมืองนั้นเพื่อ “เห็นแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า.” นั่นเป็นพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. นอกจากนี้ เราไม่ต้องการจะนำคำตำหนิมาสู่พระนามของพระยะโฮวาเนื่องจากถูกลงโทษเพราะกระทำความผิด.—โรม 13:1, 4-7; ติโต 3:1; 1 เปโตร 3:17.
17. เมื่อ “คนที่ไม่มีเหตุผล” ต่อต้านเรา เรามั่นใจได้ในเรื่องใด?
17 น่าเสียดายที่ว่า “คนที่ไม่มีเหตุผล” ซึ่งมีอำนาจบางคนข่มเหงเราหรือต่อต้านเราในวิธีอื่น ๆ เช่น พยายามดำเนินแผนใส่ร้ายป้ายสีพวกเรา. ถึงกระนั้น เมื่อถึงเวลาที่พระยะโฮวาเห็นควร คำโกหกของคนเหล่านั้นถูกเปิดโปงเสมอ และ “คำพูดที่โง่เขลา” ของพวกเขาก็ถูกระงับไปจริง ๆ. ประวัติบันทึกของเราในเรื่องความประพฤติแบบคริสเตียนทำให้เห็นชัดอยู่แล้วว่าใครพูดความจริง. นั่นเป็นเหตุที่เจ้าหน้าที่ที่จริงใจของรัฐบาลมักกล่าวยกย่องพวกเราในฐานะผู้กระทำการดี.—โรม 13:3; ติโต 2:7, 8.
ทาสของพระเจ้า
18. ในฐานะคริสเตียน เราหลีกเลี่ยงการใช้เสรีภาพในทางที่ผิดได้โดยวิธีใด?
18 ถึงตอนนี้ เปโตรกล่าวเตือนว่า “จงเป็นเหมือนเสรีชน และกระนั้น จงรักษาเสรีภาพของท่านทั้งหลายไว้ ไม่ใช่ในฐานะเป็นสิ่งปกปิดความชั่ว แต่ในฐานะเป็นทาสของพระเจ้า.” (1 เปโตร 2:16, ล.ม.; ฆะลาเตีย 5:13) ในทุกวันนี้ ความรู้เกี่ยวกับความจริงในคัมภีร์ไบเบิลปลดปล่อยเราจากการเป็นทาสคำสอนเท็จทางศาสนา. (โยฮัน 8:32) นอกจากนั้น เรามีเจตจำนงเสรีและสามารถทำการเลือก. อย่างไรก็ตาม เราไม่ใช้เสรีภาพของเราอย่างผิด ๆ. เมื่อทำการเลือกเกี่ยวกับการคบหาสมาคม, เสื้อผ้า, การแต่งกาย, ความบันเทิง, แม้แต่อาหารและเครื่องดื่ม เราระลึกเสมอว่าคริสเตียนแท้เป็นทาสของพระเจ้า ไม่ทำตามใจตัวเอง. เราเลือกปรนนิบัติพระยะโฮวา แทนที่จะเป็นทาสความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนังของตนเองหรือติดตามแฟชั่นและกระแสนิยมของโลก.—ฆะลาเตีย 5:24; 2 ติโมเธียว 2:22; ติโต 2:11, 12.
19-21. (ก) เรามีทัศนะเช่นไรต่อผู้มีอำนาจฝ่ายบ้านเมือง? (ข) บางคนได้แสดง “ความรักต่อสังคมพี่น้องทั้งสิ้น” โดยวิธีใด? (ค) อะไรคือหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญที่สุดของเรา?
19 เปโตรกล่าวต่อไปว่า “จงให้เกียรติคนทุกชนิด จงมีความรักต่อสังคมพี่น้องทั้งสิ้น จงเกรงกลัวพระเจ้า จงให้เกียรติพระมหากษัตริย์.” (1 เปโตร 2:17, ล.ม.) เนื่องจากพระยะโฮวาพระเจ้ายอมให้มนุษย์มีอำนาจอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ เราจึงให้เกียรติอย่างเหมาะสมแก่คนเหล่านั้น. เรากระทั่งอธิษฐานเพื่อพวกเขาด้วยซ้ำ เพื่อว่าเราจะได้รับอนุญาตให้ทำงานรับใช้อย่างสงบสุขและด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า. (1 ติโมเธียว 2:1-4, ล.ม.) แต่ในขณะเดียวกัน เรา “มีความรักต่อสังคมพี่น้องทั้งสิ้น.” เราทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่สิ่งที่ก่อความเสียหาย แก่พี่น้องคริสเตียนของเราเสมอ.
20 เพื่อเป็นตัวอย่าง เมื่อประเทศหนึ่งในแอฟริกาแตกแยกเนื่องจากเกิดความรุนแรงระหว่างชาติพันธุ์ ความประพฤติของพยานพระยะโฮวาในฐานะคริสเตียนโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด. หนังสือพิมพ์เรฟอร์เมียร์เทอ เพรสเซอ ในสวิตเซอร์แลนด์รายงานว่า “ในปี 1995 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของแอฟริกา . . . ให้หลักฐานพิสูจน์ได้ว่าทุกคริสตจักรมีส่วนร่วม [ในความขัดแย้ง] เว้นแต่พวกพยานพระยะโฮวา.” เมื่อข่าวเหตุการณ์อันน่าเศร้านี้แพร่สะพัดออกไปสู่โลกภายนอก พยานพระยะโฮวาในยุโรปรีบส่งอาหารและความช่วยเหลือทางการแพทย์ไปให้พี่น้องของตนและคนอื่น ๆ ในดินแดนที่ประสบความทุกข์ยากนั้น. (ฆะลาเตีย 6:10) พวกเขาเอาใจใส่ถ้อยคำในสุภาษิต 3:27 ที่ว่า “อย่ากีดกันความดีไว้จากคนใด ๆ ที่เขาควรจะได้ความดีนั้น, ในเมื่อเจ้ามีอำนาจอยู่ในกำมืออาจจะทำได้.”
21 แต่ยังมีหน้าที่รับผิดชอบอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญกว่าเกียรติที่เราควรให้แก่อำนาจฝ่ายบ้านเมืองและสำคัญยิ่งกว่าความรักที่เราควรมีต่อพี่น้องของเราด้วยซ้ำ. สิ่งนั้นคืออะไร? เปโตรกล่าวว่า “จงเกรงกลัวพระเจ้า.” เราเป็นหนี้พระยะโฮวายิ่งกว่ามนุษย์คนใดมากนัก. เรื่องนี้เป็นจริงอย่างไร? และเราจะรักษาความสมดุลระหว่างพันธะหน้าที่ที่เรามีต่อพระเจ้ากับสิ่งที่เราควรให้แก่อำนาจฝ่ายบ้านเมืองได้อย่างไร? คำถามเหล่านี้จะได้รับคำตอบในบทความถัดไป.
คุณจำได้ไหม?
• คริสเตียนมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรภายในครอบครัว?
• เราจะแสดงน้ำใจแห่งการให้ภายในประชาคมได้อย่างไร?
• เรามีหน้าที่รับผิดชอบอะไรต่อโลก?
• มีผลประโยชน์อะไรบ้างจากการรักษามาตรฐานอันสูงส่งของเราในเรื่องความประพฤติ?
[ภาพหน้า 9]
ครอบครัวคริสเตียนจะเป็นแหล่งแห่งความยินดีอย่างยิ่งได้โดยวิธีใด?
[ภาพหน้า 10]
ทำไมพยานพระยะโฮวารักซึ่งกันและกัน?
[ภาพหน้า 10]
เราจะแสดงความรักต่อพี่น้องของเราได้อย่างไรถึงแม้ว่าเราไม่รู้จักพวกเขาเป็นส่วนตัว?