เรื่องราวชีวิตจริง
การแสวงหาราชอาณาจักรเป็นอันดับแรก—ชีวิตที่มั่นคงและเป็นสุข
เล่าโดยเจทา ซุเนล
หลังอาหารเช้า เราได้ยินคำประกาศทางวิทยุกระจายเสียงว่า “พยานพระยะโฮวาเป็นกลุ่มผิดกฎหมาย และการดำเนินงานของเขาถูกสั่งห้าม.”
นั่นคือปี 1950 พวกเราผู้หญิงสี่คนวัย 20 เศษ ๆ รับใช้ฐานะมิชชันนารีของพยานพระยะโฮวาที่สาธารณรัฐโดมินิกัน. เราไปอยู่ที่นั่นแล้วหนึ่งปี.
งานมิชชันนารีใช่ว่าเป็นเป้าหมายในชีวิตของฉันเสมอมา. จริงอยู่ ฉันเคยเข้าโบสถ์ตอนเด็ก ๆ. แต่คุณพ่อเลิกไปโบสถ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1. ในวันที่ฉันตกลงรับศีลเข้าคริสตจักรเอพิสโคพัลปี 1933 บิชอปได้อ่านพระคัมภีร์เพียงข้อเดียวเท่านั้น แล้วเริ่มพูดเรื่องการเมือง. คุณแม่ผิดหวังมากจนไม่ไปโบสถ์อีกเลยตั้งแต่นั้น.
วิถีชีวิตของพวกเราเปลี่ยนไป
พวกเราห้าคนเป็นลูกของวิลเลียม คาร์ลกับแมรี แอดัมส์. ลูกชายได้แก่ดอน, โจเอล, และคาร์ล. จอยน้องสาวของฉันเป็นลูกคนสุดท้อง ส่วนฉันเป็นลูกคนโต. ตอนที่ฉันคงอายุประมาณ 13 ปี วันหนึ่งหลังโรงเรียนเลิก ฉันเห็นแม่กำลังอ่านหนังสือเล่มเล็กซึ่งพยานพระยะโฮวาเป็นผู้จัดพิมพ์. ชื่อหนังสือคือราชอาณาจักรเป็นความหวังของโลก (ภาษาอังกฤษ). แม่บอกฉันว่า “นี่แหละคือความจริง.”
คุณแม่บอกเรื่องราวที่ได้เรียนรู้จากคัมภีร์ไบเบิลแก่ลูกทุกคน. โดยทางคำพูดและตัวอย่าง แม่ทำให้พวกเราเข้าใจชัดเจนถึงความสำคัญของคำแนะนำของพระเยซูที่ว่า “จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน.”—มัดธาย 6:33, ล.ม.
ใช่ว่าฉันจะใส่ใจอยากฟังไปเสียทุกครั้ง. มีอยู่ครั้งหนึ่งฉันบอกแม่ว่า “แม่คะ งดเทศน์ให้ลูกฟังเสียทีเถอะค่ะ ไม่อย่างนั้น ลูกจะไม่ช่วยแม่เช็ดจานอีก.” แต่แม่ไม่ละลดที่จะพูดคุยกับพวกเราอย่างผ่อนหนักผ่อนเบา. แม่จะพาลูกทุกคนเดินไปร่วมประชุมศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำที่บ้านคลารา ไรอัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเราในเมืองเอล์มเฮิสต์ รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐ.
นอกจากนั้น คลาราเป็นครูสอนเปียโนอีกด้วย. เมื่อนักเรียนของเธอขึ้นแสดงความสามารถในด้านดนตรีซึ่งจัดทุกปี เธอจะถือโอกาสพูดเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าและความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย. ด้วยเหตุที่ฉันสนใจดนตรี และได้ฝึกเรียนไวโอลินตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ ฉันจึงได้ฟังสิ่งที่คลาราพูด.
มิช้ามินาน พวกเราเด็ก ๆ ก็เริ่มไปกับแม่เพื่อเข้าร่วมการประชุมของประชาคมที่อยู่ทางตะวันตกของนครชิคาโก. เป็นการเดินทางระยะไกลโดยรถประจำทางและรถราง ทว่ามันเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมพวกเราแต่เนิ่น ๆ ให้เข้าใจความหมายของการแสวงหาราชอาณาจักรเป็นอันดับแรก. ปี 1938 สามปีหลังจากแม่รับบัพติสมา ฉันได้ไปร่วมการประชุมใหญ่ของพยานพระยะโฮวาในชิคาโกกับแม่. การประชุมครั้งนี้เป็นหนึ่งใน 50 เมืองที่มีการเชื่อมสายโทรศัพท์ติดต่อกัน ณ โอกาสนั้นโดยเฉพาะ. ฉันซาบซึ้งตรึงใจมากจากสิ่งที่ฉันได้ยิน ณ ที่นั่น.
กระนั้น ความรักที่ฉันมีต่อดนตรีเป็นพลังดึงดูดใจฉันอย่างลึกซึ้งด้วย. ฉันเรียนจบชั้นมัธยมปลายในปี 1938 และคุณพ่อเตรียมการจะให้ฉันเรียนต่อในโรงเรียนสอนดนตรีของรัฐที่ชิคาโก. ดังนั้น ช่วงสองปีต่อมา ฉันได้ศึกษาดนตรีและเล่นในวงดนตรีออร์เคสตราสองวง และคิดว่าจะยึดงานด้านนี้เป็นงานประจำชีพ.
เฮอร์เบิร์ต บัตเลอร์ ครูสอนไวโอลินของฉันได้ย้ายจากยุโรปมาอยู่ในประเทศสหรัฐ. ดังนั้น ฉันจึงให้หนังสือเล่มเล็กผู้ลี้ภัยa แก่เขา คิดว่าเขาคงจะอ่าน. เขาได้อ่านจริง และหลังชั่วโมงสอนในสัปดาห์ถัดมา เขาพูดว่า “เจทา เธอเล่นได้ดีทีเดียว และถ้าเธอเรียนต่อไปเรื่อย ๆ เธอจะสามารถทำงานกับวงดนตรีออร์เคสตราที่ออกอากาศทางวิทยุได้ หรือไม่ก็งานสอนดนตรี.” แล้วเขาพูดต่อพลางเอานิ้วมือแตะหนังสือเล่มที่ฉันให้ “แต่ครูคิดว่าจิตใจของเธอผูกพันอยู่กับข่าวสารในหนังสือนี้. เธอน่าจะทำงานด้านนี้ ถือเป็นงานประจำชีวิตไปเลย.”
ฉันคิดหนักในเรื่องนี้. แทนที่จะเรียนต่อในโรงเรียนสอนดนตรี ฉันตอบรับการชวนของแม่ไปยังการประชุมใหญ่ของพยานพระยะโฮวาที่เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน ในเดือนกรกฎาคม 1940. พวกเรากางเต็นท์จัดเป็นที่พักแรมชั่วคราวในเมืองรถพ่วง. แน่ละ ฉันเอาไวโอลินติดตัวไปด้วย และมีโอกาสได้เล่นในวงออร์เคสตรา ณ การประชุมใหญ่ครั้งนั้น. แต่ในเมืองรถพ่วงนั้นฉันพบไพโอเนียร์หลายคน (ผู้เผยแพร่ประเภทเต็มเวลา). พวกเขาร่าเริงเบิกบานกันทุกคน. ฉันตัดสินใจรับบัพติสมาและกรอกใบสมัครเพื่อทำงานเป็นไพโอเนียร์. ฉันอธิษฐานขอพระยะโฮวาช่วยฉันที่จะทำงานรับใช้เต็มเวลาต่อไปตลอดชีวิต.
ฉันเริ่มงานไพโอเนียร์ที่บ้านเกิดของฉัน. ต่อมา ฉันไปเผยแพร่ที่ชิคาโก. ปี 1943 ฉันย้ายไปรัฐเคนทักกี. หน้าร้อนปีนั้น ไม่นานก่อนเริ่มการประชุมภาค ฉันได้รับจดหมายเชิญเข้าโรงเรียนกิเลียดเป็นรุ่นที่สอง ที่นั่นฉันจะได้รับการฝึกอบรมสำหรับงานมิชชันนารี. ชั้นเรียนจะเริ่มต้นในเดือนกันยายน 1943.
ระหว่างการประชุมภาคในฤดูร้อนปีนั้น ฉันพักที่บ้านพยานฯ คนหนึ่งซึ่งอนุญาตให้ฉันเลือกเสื้อผ้าชุดไหนก็ได้ตามใจชอบจากตู้เสื้อผ้าลูกสาวเธอ. ลูกสาวของเธอสมัครเป็นทหาร และบอกมารดาแจกปันข้าวของทุกอย่างของเธอให้คนอื่นไป. สำหรับฉันเห็นว่าสิ่งของจำเป็นเหล่านี้เป็นการจัดเตรียมซึ่งสมจริงตามคำสัญญาของพระเยซูที่ว่า “ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป แล้วสิ่งอื่นเหล่านี้ทั้งหมดจะเพิ่มเติมให้แก่ท่าน.” (มัดธาย 6:33, ล.ม.) เวลาห้าเดือนที่กิเลียดผ่านไปอย่างรวดเร็ว และพอถึงวันจบหลักสูตรวันที่ 31 มกราคม 1944 ฉันคาดหมายด้วยใจแรงกล้าจะทำงานรับใช้เป็นมิชชันนารี.
ทุกคนในครอบครัวได้เลือกเอางานรับใช้เต็มเวลาเช่นกัน
คุณแม่สมัครเป็นไพโอเนียร์ในปี 1942. ตอนนั้น น้องชายสามคนของฉันและน้องสาวอีกคนหนึ่งยังเรียนหนังสืออยู่. แม่มักจะไปพบน้อง ๆ หลังโรงเรียนเลิกแล้วพาพวกเขาออกไปเผยแพร่ด้วยกัน. แม่ยังได้สอนพวกเขาให้ช่วยกันทำงานบ้านด้วย. บ่อยครั้งกว่าแม่จะเข้านอนได้ก็ดึกโข เพราะต้องรีดผ้าและทำงานอื่น ๆ ที่ควรทำให้เสร็จ ทั้งนี้เพื่อแม่จะออกไปทำงานรับใช้ตอนกลางวันได้.
ช่วงเดือนมกราคม ปี 1943 ขณะที่ฉันเป็นไพโอเนียร์ในรัฐเคนทักกี ดอนน้องชายได้เริ่มงานไพโอเนียร์เช่นกัน. เรื่องนี้ทำให้คุณพ่อผิดหวัง เพราะท่านหวังจะให้ลูกทุกคนเรียนจบวิทยาลัยเหมือนพ่อกับแม่. หลังรับใช้เป็นไพโอเนียร์เกือบสองปี ดอนได้รับเชิญให้ร่วมงานรับใช้เต็มเวลาต่อโดยไปเป็นคนหนึ่งของคณะทำงานในสำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาในบรุกลิน นิวยอร์ก.
โจเอลได้เริ่มงานไพโอเนียร์ในเดือนมิถุนายน ปี 1943 เมื่อยังอยู่ที่บ้าน. ระหว่างนั้นเขาพยายามชวนพ่อให้เข้าร่วมการประชุมใหญ่แต่ไม่สำเร็จ. อย่างไรก็ดี หลังจากโจเอลพยายามเริ่มการศึกษาพระคัมภีร์ตามบ้านให้ได้สักรายหนึ่งในเขตงาน แต่ไม่เคยได้สักที คุณพ่อจึงตกลงให้โจเอลนำการศึกษากับท่านเสียเอง โดยใช้หนังสือ “ความจริงจะทำให้ท่านเป็นอิสระ” (ภาษาอังกฤษ). พ่อตอบคำถามได้ไม่ยาก แต่ท่านยืนกรานจะให้โจเอลค้นหาข้อคัมภีร์มาพิสูจน์สิ่งที่กล่าวไว้ในหนังสือ. การทำเช่นนั้นช่วยโจเอลรับเอาความจริงของคัมภีร์ไบเบิลไว้เป็นของตนเอง.
โจเอลคาดหวังคณะกรรมการเกณฑ์ทหารจะให้เขารับการยกเว้นไม่ถูกเกณฑ์เหมือนดอน เพราะเป็นผู้เผยแพร่ศาสนา. แต่เมื่อคณะกรรมการเห็นหน้าตาโจเอลดูเป็นเด็กรุ่น จึงปฏิเสธการยกเว้นไม่จัดเข้าในข่ายผู้เผยแพร่ศาสนา แถมส่งหนังสือแจ้งให้ไปรายงานตัวปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพ. ครั้นโจเอลไม่ยอมไปเกณฑ์ทหาร จึงมีการออกหมายจับ. หลังจากตำรวจหน่วยสืบสวนกลางสืบหาตัวได้แล้ว โจเอลถูกคุมขังสามวันในเรือนจำที่กุ๊กเคาน์ตี.
คุณพ่อเอาบ้านของเราเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวเขาออกจากเรือนจำ. ภายหลัง พ่อได้ใช้วิธีเดียวกันนี้กับพยานฯ หนุ่มบางคนที่ประสบสถานการณ์คล้าย ๆ กัน. คุณพ่อเดือดดาลมากในเรื่องไม่เป็นธรรมแบบนี้ และท่านถึงกับพาโจเอลเดินทางไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อตรวจสอบดูว่า จะมีโอกาสยื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่. ในที่สุด โจเอลก็ถูกนับอยู่ในประเภทผู้เผยแพร่ศาสนา และเป็นอันว่าคดีถูกยกฟ้อง. คุณพ่อเขียนเล่าในจดหมายส่งถึงฉันในเขตมอบหมายงานมิชชันนารีว่า “พ่อคิดว่าชัยชนะครั้งนี้พระยะโฮวาสมควรได้รับคำสรรเสริญ!” พอปลายเดือนสิงหาคม 1946 โจเอลได้รับคำเชิญให้ไปทำงานฐานะสมาชิกคณะผู้ทำงาน ณ สำนักงานใหญ่ที่บรุกลินเช่นกัน.
คาร์ลสมัครทำงานไพโอเนียร์หลายครั้งในช่วงโรงเรียนปิดภาคฤดูร้อนก่อนเรียนจบชั้นมัธยมปลายเมื่อต้นปี 1947 และต่อมาเริ่มรับใช้ในฐานะไพโอเนียร์ประจำ. ระหว่างนั้นสุขภาพของพ่อไม่ค่อยจะแข็งแรง ด้วยเหตุนี้ คาร์ลจึงช่วยดูแลธุรกิจของพ่อชั่วระยะหนึ่งก่อนรับงานมอบหมายไปเป็นไพโอเนียร์ในพื้นที่อื่น. ปลายปี 1947 คาร์ลเริ่มงานรับใช้ร่วมกับดอนและโจเอลฐานะเป็นสมาชิกครอบครัวเบเธล ณ สำนักงานใหญ่ที่บรุกลิน.
เมื่อจอยจบชั้นมัธยมปลายแล้ว เธอก็เริ่มงานไพโอเนียร์. และปี 1951 เธอสมทบพวกพี่ชายที่เบเธล. เธอมีหน้าที่เป็นแม่บ้านทำความสะอาด และทำงานที่แผนกการบอกรับวารสารด้วย. ปี 1955 เธอแต่งงานกับโรเจอร์ มอร์แกน สมาชิกครอบครัวเบเธลเช่นเดียวกัน. หลังจากนั้นราว ๆ เจ็ดปี ทั้งสองตัดสินใจจะมีครอบครัวของตัวเอง จึงได้ลาออกจากเบเธล. ในเวลาต่อมา เขาให้กำเนิดและเลี้ยงดูลูกสองคน ซึ่งก็รับใช้พระยะโฮวาเช่นกัน.
เมื่อลูกต่างก็ทำงานรับใช้เต็มเวลากันหมดทุกคนแล้ว คุณแม่ก็ให้การสนับสนุนพ่ออันควรแก่ความจำเป็น พ่อจึงได้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาและรับบัพติสมาในปี 1952. ตลอดเวลา 15 ปีจนกระทั่งสิ้นชีวิต คุณพ่อเป็นเจ้าความคิดที่ปราดเปรื่องในการค้นหาวิธีที่จะแบ่งปันความจริงเรื่องราชอาณาจักรแก่คนอื่น ทั้ง ๆ ที่การเจ็บไข้ได้ป่วยทำให้ท่านมีขีดจำกัดหลายอย่าง.
หลังจากได้พักงานไพโอเนียร์ไว้ระยะหนึ่งเพราะพ่อป่วย แม่ก็ยังทำงานไพโอเนียร์อย่างต่อเนื่องอีกกระทั่งสิ้นชีวิต. ท่านไม่เคยมีรถยนต์และขี่จักรยานไม่เป็น. แม้ว่าแม่เป็นคนร่างเตี้ยแต่มักจะเดินไปไหนมาไหนและบ่อยครั้งก็เดินไปนำการศึกษาพระคัมภีร์ถึงหมู่บ้านชนบทที่ห่างไกล.
เข้าในเขตงานฐานะมิชชันนารี
หลังจบหลักสูตรการศึกษาจากโรงเรียนกิเลียด กลุ่มพวกเราไพโอเนียร์ทำงานอยู่ประมาณหนึ่งปีกับประชาคมทางเหนือของนครนิวยอร์ก ระหว่างรอเอกสารและหนังสือเดินทาง. ในที่สุด ปี 1945 เราถึงได้เดินทางไปยังเขตมอบหมายที่ประเทศคิวบา ซึ่งที่นั่นเราค่อย ๆ ปรับตัวทีละน้อยให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่. งานประกาศของเราได้รับการตอบรับอย่างดี และไม่นานพวกเราทุกคนสามารถนำการศึกษาพระคัมภีร์ได้หลายราย. เราประกาศในประเทศนี้ประมาณสี่ปี. ครั้นแล้วเราได้รับมอบหมายให้ไปที่สาธารณรัฐโดมินิกัน. วันหนึ่ง ฉันพบผู้หญิงซึ่งเร่งเร้าให้ฉันไปเยี่ยมลูกค้าของเธอที่ชื่อซูซัน อองฟรัวชาวฝรั่งเศส ซึ่งต้องการความช่วยเหลือให้เข้าใจคัมภีร์ไบเบิล.
ซูซันเป็นคนยิว และเมื่อฮิตเลอร์บุกยึดประเทศฝรั่งเศส สามีได้ย้ายเธอกับลูกสองคนไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง. ซูซันไม่รอช้าที่จะบอกเล่าเรื่องราวที่เธอกำลังเรียนรู้แก่คนอื่น. ทีแรกเธอคุยกับหญิงคนนั้นที่ขอร้องให้ฉันไปเยี่ยม ต่อมาคุยกับบลองช์ เพื่อนจากฝรั่งเศส. ทั้งสองคนก้าวหน้าจนถึงขั้นรับบัพติสมา.
ซูซันถามฉันว่า “ฉันควรทำอย่างไรเพื่อจะช่วยลูกได้?” ลูกชายของเธอเรียนแพทย์ ส่วนลูกสาวเรียนเต้นบัลเลต์ โดยหวังจะเต้นรำที่เรดิโอซิตีมิวสิกฮอลล์ในนครนิวยอร์ก. ซูซันบอกรับวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ให้ลูกทั้งสองได้อ่าน. ผลคือ ลูกชายของซูซัน, ภรรยาของเขา, และน้องสาวคู่แฝดของภรรยา ทุกคนเข้ามาเป็นพยานฯ. หลุยส์ สามีซูซันรู้สึกเป็นกังวลที่ภรรยาสนใจพยานพระยะโฮวา เพราะตอนนั้นรัฐบาลสาธารณรัฐโดมินิกันสั่งห้ามงานของเรา. แต่หลังจากทุกคนในครอบครัวย้ายไปอยู่ที่สหรัฐ ในที่สุดเขาได้เข้ามาเป็นพยานฯ เช่นกัน.
ถูกสั่งห้ามแต่ยังคงรับใช้ต่อไป
ถึงแม้มีการสั่งห้ามกิจการของพยานพระยะโฮวาในสาธารณรัฐโดมินิกันไม่นานหลังจากพวกเราถูกมอบหมายไปอยู่ที่นั่นเมื่อปี 1949 เรามุ่งมั่นตั้งใจไว้แล้วที่จะเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะผู้ปกครองยิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์. (กิจการ 5:29) เราแสวงหาราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นอันดับแรก ด้วยการประกาศข่าวดีแก่ผู้คน ดังที่พระเยซูทรงสั่งเหล่าสาวกให้ทำ. (มัดธาย 24:14) อย่างไรก็ดี เราเรียนรู้ที่จะ “ระแวดระวังเหมือนงู และกระนั้นไม่เป็นพิษเป็นภัยเหมือนนกพิราบ” ขณะที่เราประกาศ. (มัดธาย 10:16, ล.ม.) ยกตัวอย่าง ไวโอลินของฉันนับเป็นเครื่องช่วยที่วิเศษ. เมื่อฉันนำการศึกษาพระคัมภีร์ ฉันเอาไวโอลินติดตัวไปเสมอ. ผู้ที่ศึกษาพระคัมภีร์กับฉันไม่ได้มาเป็นนักไวโอลิน แต่หลายครอบครัวมาเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา!
หลังการสั่งห้าม พวกเราผู้หญิงสี่คน มีแมรี อันโยล, โซเฟีย โซวิอัก, อีดิท มอร์แกนและฉันได้ย้ายจากบ้านมิชชันนารีในเมืองซานฟรานซิสโก เด มาโครีสไปอยู่บ้านมิชชันนารีในสาขาที่กรุงซานโตโดมิงโก. แต่ทุก ๆ เดือนฉันเดินทางไปสอนดนตรีในเขตงานมอบหมายเดิม. ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงมีทางทำได้ที่จะนำอาหารฝ่ายวิญญาณซุกลงในหีบไวโอลินเอาไปฝากพี่น้องคริสเตียนของเรา แถมขากลับก็มีรายงานการให้คำพยานของพี่น้องติดตัวมาด้วย.
เมื่อพี่น้องจากซานฟรานซิสโก เด มาโครีสถูกคุมขังที่เรือนจำซานติอาโก เนื่องจากการยืนหยัดของคริสเตียนในเรื่องความเป็นกลาง บางคนเอาเงินฝากฉันไปให้พวกเขา หรือเมื่อทำได้ก็เอาพระคัมภีร์ติดตัวไป และนำข่าวคราวมาบอกครอบครัวของเขาด้วย. ที่เรือนจำซานติอาโก เมื่อยามเห็นหีบไวโอลินที่ฉันหนีบไว้ใต้รักแร้ เขาถามว่า “หีบนั้นสำหรับอะไร?” ฉันตอบเขาไปว่า “ให้ความบันเทิงแก่คนเหล่านั้น.”
หนึ่งในหลาย ๆ เพลงที่ฉันเล่นเป็นเพลงซึ่งแต่งโดยพยานฯ คนหนึ่งระหว่างอยู่ในค่ายกักกันของนาซี. เวลานี้เป็นเพลงบท 29 ในหนังสือเพลงของพยานพระยะโฮวา. ฉันเล่นเพลงนี้เพื่อพี่น้องของเราที่ถูกคุมขังจะได้ฝึกขับร้องเพลงนี้.
ฉันรู้มาว่าพยานฯ หลายคนถูกย้ายเข้าไปทำงานในไร่ของประธานาธิบดีทรูฮิลโย ผู้นำรัฐบาลสมัยนั้น. มีคนบอกฉันว่าไร่อยู่ใกล้เส้นทางเดินรถโดยสาร. ดังนั้น ประมาณเที่ยงวัน ฉันลงจากรถและถามทิศทางที่เข้าไปในไร่. ชายเจ้าของร้านเล็ก ๆ ชี้มือไปทางเทือกเขา และเสนอให้ฉันขี่ม้าของเขาไปและให้เด็กผู้ชายคนหนึ่งนำทาง ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าฉันต้องฝากไวโอลินไว้เป็นหลักประกันว่าฉันจะคืนม้าให้เขา.
เลยเนินเขาเหล่านั้นไป เราต้องลุยข้ามแม่น้ำ ตอนที่ม้าว่ายน้ำข้ามฝั่งเราสองคนต้องนั่งบนหลังมัน. ที่นั่นเรามองเห็นฝูงนกแก้วขนสีเขียวแซมสีน้ำเงินเหมือนประกายรุ้งสดใสท่ามกลางแสงแดด. ช่างเป็นภาพสวยงามเสียนี่กระไร! ฉันทูลอธิษฐานว่า “พระยะโฮวา ขอบคุณพระองค์ที่ทรงสร้างนกให้มีสีสันสวยงามเหลือเกิน.” ในที่สุด เราไปถึงไร่ตอนบ่ายสี่โมง. ทหารรักษาการณ์ใจดีได้ปล่อยให้ฉันพูดกับพี่น้อง ทั้งได้อนุญาตฉันมอบสิ่งของทุกอย่างไว้กับพี่น้อง รวมถึงคัมภีร์ไบเบิลขนาดเล็กที่ฉันนำมาด้วย.
ระหว่างเดินทางกลับ ฉันอธิษฐานตลอดทางเพราะมืดแล้ว. พอมาถึงร้านนั้น เราเปียกโชกทั้งตัวเพราะถูกฝน. เนื่องจากรถเที่ยวสุดท้ายออกไปแล้ว ฉันจึงขอร้องชายเจ้าของร้านช่วยโบกรถบรรทุกที่ผ่านทางนั้นให้ฉันได้นั่งไปด้วย. ฉันกล้าไปกับผู้ชายสองคนในรถคันนั้นเชียวหรือ? คนหนึ่งถามฉันว่า “คุณรู้จักโซฟีหรือเปล่า? เธอศึกษากับน้องสาวผม.” ฉันแน่ใจว่านี่เป็นการตอบคำอธิษฐานของฉันจากพระยะโฮวา! ชายทั้งสองได้นำฉันไปถึงซานโตโดมิงโกอย่างปลอดภัย.
ปี 1953 ฉันเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่ไปจากสาธารณรัฐโดมินิกันเพื่อเข้าร่วมการประชุมนานาชาติของพยานพระยะโฮวา ณ สนามกีฬาแยงกีในนครนิวยอร์ก. ทุกคนในครอบครัวฉัน รวมทั้งคุณพ่ออยู่ที่นั่นพร้อมหน้า. หลังจากรายงานเรื่องความก้าวหน้าในการประกาศในสาธารณรัฐโดมินิกันแล้ว ฉันกับแมรี อันโยลเพื่อนมิชชันนารีได้มีส่วนบ้างเล็กน้อยในระเบียบวาระ ด้วยการสาธิตวิธีที่เราทำงานประกาศภายใต้คำสั่งห้าม.
ชื่นชมยินดีเป็นพิเศษเนื่องมาจากงานเยี่ยมหมวด
ฤดูร้อนปีนั้นฉันพบรูดอล์ฟ ซุเนล หนึ่งปีต่อมา เขากลายเป็นสามีของฉัน. ครอบครัวของเขาได้เข้ามาเป็นพยานฯ ในเมืองแอลเลเกนี รัฐเพนซิลเวเนียไม่นานหลังสงครามโลกครั้งที่ 1. เขาต้องโทษติดคุกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะคริสเตียนที่เป็นกลาง หลังจากนั้นเขาได้รับเอางานรับใช้ที่เบเธลในบรุกลิน นิวยอร์ก. ภายหลังการแต่งงานของเราไม่นาน เขาได้รับการเชิญให้เยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ฐานะผู้ดูแลเดินทาง. จากนั้นเรื่อยมาตลอดเวลา 18 ปี ฉันได้ร่วมเดินทางไปกับเขาในงานเยี่ยมหมวด.
งานเยี่ยมหมวดทำให้เราเดินทางไปทั่วรัฐเพนซิลเวเนีย, เวสต์เวอร์จิเนีย, นิวแฮมป์เชียร์, และแมสซาชูเซตส์ นอกเหนือจากที่อื่น ๆ หลายแห่ง. ตามปกติเราพักในบ้านของพี่น้องคริสเตียนของเรา. เรารู้สึกชื่นชมยินดีเป็นพิเศษเมื่อได้รู้จักคุ้นเคยกับพวกเขาเป็นอย่างดีและได้ทำงานรับใช้พระยะโฮวาร่วมกัน. พี่น้องได้แสดงความรักและความเอื้อเฟื้อต่อเราอย่างอบอุ่นและจริงใจเสมอ. หลังจากโจเอลแต่งงานกับแมรี อันโยล เพื่อนของฉันสมัยเป็นมิชชันนารี ทั้งสองได้ใช้เวลาสามปีในงานเดินทางเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ทั่วรัฐเพนซิลเวเนียและมิชิแกน. ต่อมา ในปี 1958 โจเอลได้รับเชิญเป็นสมาชิกครอบครัวเบเธลอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้มากับแมรี.
คาร์ลเข้ามาอยู่ที่เบเธลประมาณเจ็ดปีแล้วตอนที่เขาได้รับมอบหมายงานเยี่ยมหมวดราว ๆ สองสามเดือนเพื่อจะมีประสบการณ์มากขึ้น. ภายหลังเขาได้เป็นผู้สอนที่โรงเรียนกิเลียด. ปี 1963 คาร์ลแต่งงานกับบ๊อบบี้ เธอได้รับใช้อย่างซื่อสัตย์ที่เบเธลจนกระทั่งสิ้นชีวิตเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2002.
ระหว่างหลายปีที่ดอนทำงานในเบเธล เขาได้เดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง เพื่อรับใช้พี่น้องที่ทำงานในสำนักงานสาขาและในเขตงานมิชชันนารี. ภาระหน้าที่ของเขานำเขาไปถึงโลกซีกตะวันออก, แอฟริกา, ยุโรป, และหลายภูมิภาคของทวีปอเมริกา. บ่อยครั้ง ดอโลเรสภรรยาผู้ภักดีของดอนร่วมเดินทางไปด้วย.
สภาพการณ์ของเราเปลี่ยนไป
หลังจากป่วยเรื้อรังอยู่นาน คุณพ่อก็เสียชีวิต แต่ก่อนตาย ท่านบอกฉันว่าท่านสุขใจเหลือเกินที่พวกเราได้เลือกรับใช้พระยะโฮวาพระเจ้า. ท่านพูดว่าเราได้รับพระพรมากมายหลายประการ มากยิ่งกว่าที่อาจจะได้จากการศึกษาในวิทยาลัยอย่างที่คุณพ่อเคยมุ่งหมายไว้. เมื่อฉันช่วยคุณแม่จัดเก็บข้าวของย้ายไปอยู่ในทำเลใกล้บ้านจอยน้องสาวฉันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ฉันกับสามีได้รับงานมอบหมายเป็นไพโอเนียร์ในนิวอิงแลนด์ เพื่อเราจะได้อยู่ใกล้แม่สามี ซึ่งในตอนนั้นจำเป็นต้องได้การช่วยเหลือจากเรา. ภายหลังการตายของแม่สามี คุณแม่ฉันมาอยู่กับเราเป็นเวลา 13 ปี. ครั้นแล้ว ณ วันที่ 18 มกราคม 1987 ท่านก็เสร็จสิ้นภารกิจทางแผ่นดินโลกและจากไปเมื่ออายุ 93 ปี.
บ่อยครั้ง เมื่อเพื่อน ๆ ชมเชยท่านที่ได้เลี้ยงลูกทุกคนให้รักและรับใช้พระยะโฮวา คุณแม่จะพูดอย่างถ่อมตนว่า “บังเอิญดิฉันได้ปลูกหว่านเมล็ดลงใน ‘ดิน’ ดีกระมัง.” (มัดธาย 13:23) นับว่าเป็นพระพรอย่างแท้จริงที่เรามีพ่อแม่ที่เกรงกลัวพระเจ้า ผู้ได้วางตัวอย่างอันดีให้เรา ทั้งในด้านความกระตือรือร้นและความถ่อมใจ!
ราชอาณาจักรยังคงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก
พวกเราจัดให้ราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในชีวิตของเราอยู่เรื่อยไป และได้พยายามเสมอมาที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของพระเยซูในเรื่องการแจกปันให้ผู้อื่น. (ลูกา 6:38; 14:12-14) และเมื่อทำเช่นนั้น พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมให้เราอย่างเหลือล้นตามความจำเป็น. ชีวิตของเรามั่นคงและเป็นสุข.
ฉันกับรูดี้ยังรักดนตรีไม่เสื่อมคลาย. ช่างเป็นโอกาสที่น่าเพลิดเพลินเสียจริง ๆ เมื่อบางคนที่ชื่นชอบดนตรีเช่นกันได้มาพบปะสังสรรค์กันที่บ้านของเราตอนหัวค่ำ และเราเล่นดนตรีด้วยกัน. แม้ฉันไม่ได้ยึดดนตรีเป็นงานประจำชีพ ทว่ามันช่วยเติมความยินดีให้แก่ชีวิต. เวลานี้ฉันกับสามีชื่นชมเมื่อมองเห็นผลงานการรับใช้ของเราฐานะไพโอเนียร์ คือผู้คนที่เราได้มีส่วนช่วยเหลือตลอดหลายปีที่ผ่านมา.
แม้เวลานี้เรามีปัญหาสุขภาพ ฉันพูดได้เลยว่าชีวิตของเราเปี่ยมด้วยความสุขและมั่นคงในงานรับใช้เต็มเวลา 60 กว่าปี. ทุกเช้าเมื่อฉันตื่นขึ้นมา ฉันขอบคุณพระยะโฮวาที่พระองค์ได้ตอบคำอธิษฐานของฉัน ตอนที่ฉันเริ่มทำงานรับใช้เต็มเวลาหลายปีมาแล้ว และฉันคิดรำพึงว่า ‘เอ วันนี้ฉันสามารถจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้การแสวงหาราชอาณาจักรมาเป็นอันดับแรก?’
[เชิงอรรถ]
a จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา แต่ไม่พิมพ์อีกแล้ว.
[ภาพหน้า 24]
ครอบครัวของเราเมื่อปี 1948 (จากซ้ายไปขวา): จอย, ดอน, คุณแม่, โจเอล, คาร์ล, ฉัน, และคุณพ่อ
[ภาพหน้า 25]
คุณแม่เป็นตัวอย่างด้านความกระตือรือร้นในงานรับใช้
[ภาพหน้า 26]
คาร์ล, ดอน, โจเอล, จอย, และฉันในปัจจุบัน กว่า 50 ปีต่อมา
[ภาพหน้า 27]
จากซ้ายไปขวา: ฉัน, แมรี อันโยล, โซเฟีย โซวิอัก, และอีดิท มอร์แกน สมัยเป็นมิชชันนารีในสาธารณรัฐโดมินิกัน
[ภาพหน้า 28]
กับแมรี (คนซ้าย) ที่สนามกีฬาแยงกี ปี 1953
[ภาพหน้า 29]
กับสามีระหว่างเดินทางเยี่ยมหมวด