คนจากภูมิหลังต่ำต้อยแปลคัมภีร์ไบเบิล
ในปี 1835 เฮนรี นอตต์ ช่างก่ออิฐชาวอังกฤษกับจอห์น เดวีส์ คนฝึกงานขายของชำชาวเวลส์ ได้มาถึงตอนสิ้นสุดของโครงการขนาดใหญ่โครงการหนึ่ง. หลังจากทำงานหนักมานานกว่า 30 ปี ในที่สุดพวกเขาก็แปลคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มเป็นภาษาตาฮิตีเสร็จ. ชายซึ่งมาจากภูมิหลังที่ต่ำต้อยสองคนนี้ได้เผชิญข้อท้าทายอะไรบ้าง และอะไรคือผลจากการทุ่มเททำงานด้วยใจรักเช่นนั้น?
“การตื่นตัวครั้งใหญ่”
ระหว่างครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 บรรดาสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหวชาวโปรเตสแตนต์กลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า เดอะ เกรท อเวกเคนนิง หรือ อเวกเคนนิง (การตื่นตัวครั้งใหญ่) ทำงานประกาศศาสนากันตามลานสาธารณะในหมู่บ้าน และบริเวณใกล้ ๆ เหมืองกับโรงงานต่าง ๆ ในบริเตน. เป้าหมายของพวกเขาคือเพื่อเข้าถึงกลุ่มชนชั้นแรงงาน. เหล่าผู้ประกาศกลุ่มการตื่นตัวฯ สนับสนุนการแจกจ่ายคัมภีร์ไบเบิลอย่างกระตือรือร้น.
วิลเลียม แครีย์ คริสเตียนนิกายแบพติสต์ผู้ริเริ่มกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมก่อตั้งสมาคมมิชชันนารีแห่งลอนดอน (แอลเอ็มเอส) ซึ่งตั้งขึ้นในปี 1795. สมาคมแอลเอ็มเอสฝึกอบรมผู้คนที่เต็มใจจะเรียนภาษาของถิ่นต่าง ๆ และทำงานเป็นมิชชันนารีในเขตแปซิฟิกใต้. เป้าหมายของมิชชันนารีเหล่านี้คือเพื่อจะประกาศกิตติคุณด้วยภาษาของคนในท้องถิ่น.
เกาะตาฮิตีที่เพิ่งค้นพบได้ไม่นานกลายเป็นเขตงานแรกของมิชชันนารีจากสมาคมแอลเอ็มเอส. สำหรับเหล่าสมาชิกของกลุ่มการตื่นตัวฯ หมู่เกาะเหล่านี้เป็น ‘สถานอันมืดมน’ ของลัทธินอกรีต เป็นทุ่งนาที่พร้อมจะเก็บเกี่ยว.
คนจากภูมิหลังต่ำต้อยทำงานใหญ่ได้
เพื่อจะทำงานเก็บเกี่ยวนี้ มิชชันนารีประมาณ 30 คนซึ่งถูกเลือกอย่างรีบร้อนและขาดความพร้อมก็ลงเรือโดยสารชื่อดัฟฟ์ ซึ่งแอลเอ็มเอสซื้อไว้. รายงานฉบับหนึ่งลงรายการ “นักเทศน์ที่ได้รับแต่งตั้ง [ไม่ได้รับการฝึกเป็นทางการ] สี่คน, ช่างไม้หกคน, ช่างทำรองเท้าสองคน, ช่างก่ออิฐสองคน, ช่างทอผ้าสองคน, ช่างตัดเสื้อสองคน, ผู้จัดการร้านค้าหนึ่งคน, ช่างทำเครื่องอานม้าหนึ่งคน, คนรับใช้หนึ่งคน, คนสวนหนึ่งคน, หมอหนึ่งคน, ช่างโลหะหนึ่งคน, ช่างทำถังไม้หนึ่งคน, คนงานโรงงานผลิตฝ้ายหนึ่งคน, ช่างทำหมวกหนึ่งคน, คนงานโรงงานทอผ้าหนึ่งคน, ช่างทำตู้หนึ่งคน, ผู้เป็นภรรยาห้าคน, และเด็กสามคน.”
เครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่มิชชันนารีเหล่านี้มีเพื่อจะคุ้นเคยกับภาษาเดิมของคัมภีร์ไบเบิลคือ พจนานุกรมกรีก-อังกฤษหนึ่งเล่มกับคัมภีร์ไบเบิลที่มีพจนานุกรมภาษาฮีบรูอีกหนึ่งเล่ม. ระหว่างเจ็ดเดือนที่อยู่ในทะเล พวกมิชชันนารีจดจำคำภาษาตาฮิตีบางคำจากรายการคำศัพท์ที่ผู้เคยไปเยือนตาฮิตีได้ทำไว้ ส่วนใหญ่แล้วเขียนโดยพวกที่เคยยึดอำนาจบนเรือเบาน์ตี. ในที่สุด เรือดัฟฟ์ ก็มาถึงตาฮิตี และในวันที่ 7 มีนาคม ปี 1797 พวกมิชชันนารีก็ขึ้นฝั่ง. อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านไปหนึ่งปี มิชชันนารีส่วนใหญ่ก็เริ่มท้อและออกจากเกาะไป. เหลือมิชชันนารีเพียงเจ็ดคนเท่านั้น.
หนึ่งในเจ็ดคนนั้นคือ เฮนรี นอตต์ อดีตช่างก่ออิฐวัยเพียง 23 ปี. พิจารณาจากจดหมายฉบับแรก ๆ ที่เขาเขียน เห็นได้ว่าเขาได้รับการศึกษาเพียงขั้นพื้นฐาน. อย่างไรก็ตาม เขาได้พิสูจน์ให้เห็นแต่แรกทีเดียวว่าเขามีพรสวรรค์ในการเรียนภาษาตาฮิตี. มีการกล่าวถึงเขาว่าเป็นคนจริงใจ, ไม่เรื่องมาก, และน่าคบ.
ในปี 1801 นอตต์ได้รับเลือกให้เป็นคนสอนภาษาตาฮิตีแก่มิชชันนารีเก้าคนที่มาใหม่. คนหนึ่งในกลุ่มนี้คือ จอห์น เดวีส์ หนุ่มชาวเวลส์วัย 28 ปีซึ่งเป็นนักเรียนที่มีความสามารถและเป็นคนขยันขันแข็ง มีนิสัยอ่อนโยนและใจกว้าง. ต่อมาไม่นาน ชายหนุ่มทั้งสองก็ตัดสินใจจะร่วมกันแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาตาฮิตี.
งานที่ยากลำบาก
อย่างไรก็ตาม การแปลเป็นภาษาตาฮิตีเป็นงานที่ยากมากเพราะในเวลานั้นภาษาตาฮิตียังไม่มีภาษาเขียน. พวกมิชชันนารีต้องเรียนภาษาจากการฟังเพียงอย่างเดียว. พวกเขาไม่มีทั้งพจนานุกรมหรือหนังสือไวยากรณ์. ลักษณะเสียงภาษาตาฮิตีที่เกิดจากการหายใจออกและขณะเดียวกันปิดช่องเส้นเสียงในลำคอ, สระที่ติดกันเป็นพืด (ถึงขนาดที่ในหนึ่งคำอาจมีสระมากถึงห้าเสียง), และพยัญชนะที่มีไม่กี่ตัวทำให้พวกมิชชันนารีท้อใจมาก. พวกเขาโอดครวญว่า “คำหลายคำมีแต่สระเท่านั้น และสระแต่ละตัวก็ออกเสียงหนึ่งเสียง.” พวกเขายอมรับว่าไม่สามารถ “จับเสียงของคำต่าง ๆ ได้ชัดเจนซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น.” พวกเขาถึงกับคิดกันว่าได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริงด้วยซ้ำ!
สิ่งที่เพิ่มความลำบากให้อีกคือ บางครั้งคำบางคำถูกห้ามไม่ให้ใช้ หรือเป็นคำต้องห้ามในภาษาตาฮิตี ทำให้ต้องหาคำอื่นมาใช้แทน. พวกคำที่มีความหมายเหมือนกันก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ปวดหัว. คำที่แปลว่า “การอธิษฐาน” มีมากกว่า 70 คำในภาษาตาฮิตี. โครงสร้างประโยคภาษาตาฮิตีซึ่งแตกต่างจากภาษาอังกฤษอย่างสิ้นเชิงก็เป็นข้อท้าทายอีกอย่างหนึ่งด้วย. แต่แม้จะมีความยุ่งยากมากมายเช่นนั้น ทีละเล็กทีละน้อยพวกมิชชันนารีได้รวบรวมคำต่าง ๆ ไว้เป็นรายการ ซึ่งในที่สุดเดวีส์ได้นำมาพิมพ์เป็นพจนานุกรมซึ่งบรรจุคำศัพท์ 10,000 คำอีก 50 ปีให้หลัง.
นอกจากนั้น การเขียนภาษาตาฮิตีเป็นเรื่องท้าทายเช่นกัน. พวกมิชชันนารีพยายามจะเขียนภาษาตาฮิตีโดยใช้วิธีการสะกดแบบที่ใช้กันอยู่ในภาษาอังกฤษ. แต่ตัวอักษรลาตินที่ใช้ในภาษาอังกฤษไม่ตรงกับเสียงภาษาตาฮิตี. ดังนั้น พวกมิชชันนารีจึงมีเรื่องต้องพิจารณาตกลงกันไม่จบสิ้นเกี่ยวกับการออกเสียงคำและการสะกด. บ่อยครั้งที่มิชชันนารีจะคิดวิธีการสะกดขึ้นเองเนื่องจากพวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกในแถบทะเลใต้ที่แปลงภาษาพูดเป็นภาษาเขียน. พวกเขาไม่รู้เลยว่างานของพวกเขาจะกลายเป็นต้นแบบสำหรับภาษาอื่น ๆ อีกหลายภาษาที่ใช้กันในแถบแปซิฟิกใต้.
ขาดแคลนเครื่องมือ แต่ความสามารถล้นเหลือ
ผู้แปลทั้งสองมีหนังสืออ้างอิงที่จะใช้ได้เพียงไม่กี่เล่ม. สมาคมแอลเอ็มเอสแนะให้พวกเขาใช้เท็กซ์ทุส เรเซ็พทุส และพระคัมภีร์ฉบับแปลคิง เจมส์ เป็นคู่มือหลัก. นอตต์ได้ขอให้แอลเอ็มเอสส่งพจนานุกรมภาษาฮีบรูและภาษากรีกมาเพิ่ม รวมถึงคัมภีร์ไบเบิลทั้งสองภาษาด้วย. ไม่มีใครรู้ว่าเขาได้รับหนังสือเหล่านั้นหรือไม่. ส่วนเดวีส์ก็ได้ตำราทางวิชาการบางเล่มจากเพื่อน ๆ ชาวเวลส์. บันทึกต่าง ๆ แสดงว่าอย่างน้อยเขามีพจนานุกรมภาษากรีก, คัมภีร์ไบเบิลภาษาฮีบรู, พระคัมภีร์ภาคพันธะสัญญาใหม่ภาษากรีก, และฉบับแปลเซปตัวจินต์.
ในเวลานั้น กิจกรรมการประกาศของพวกมิชชันนารียังไม่เกิดผล. แม้ว่าพวกมิชชันนารีจะอยู่ในตาฮิตีมา 12 ปีแล้ว แต่ไม่มีชาวเกาะรับบัพติสมาแม้แต่คนเดียว. ในที่สุด สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อก็ทำให้พวกมิชชันนารีทั้งหมดต้องหนีไปยังออสเตรเลีย เว้นแต่นอตต์ผู้เด็ดเดี่ยว. ในช่วงหนึ่ง นอตต์เป็นมิชชันนารีเพียงคนเดียวที่ยังอยู่ในหมู่เกาะวินด์วาร์ดซึ่งอยู่ในกลุ่มหมู่เกาะโซไซเอตี แต่เมื่อกษัตริย์โพมาเรที่สองเสด็จหนีไปประทับที่เกาะโมโอเรียซึ่งอยู่ใกล้เคียง นอตต์จึงออกจากเกาะไปอยู่ที่นั่นด้วย.
อย่างไรก็ตาม การย้ายที่อยู่ของนอตต์ไม่ได้ทำให้งานแปลต้องยุติ และหลังจากเดวีส์อยู่ในออสเตรเลียได้สองปี เขาก็มาสบทบกับนอตต์อีกครั้ง. ก่อนเดวีส์จะมา นอตต์ได้ศึกษาภาษาฮีบรูและภาษากรีกจนมีความเชี่ยวชาญในทั้งสองภาษา. ดังนั้น เขาจึงเริ่มแปลพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูบางส่วนเป็นภาษาตาฮิตี. เขาเลือกแปลส่วนของคัมภีร์ไบเบิลที่มีเรื่องราวซึ่งคนพื้นเมืองจะเข้าใจได้ง่าย.
โดยทำงานร่วมกับเดวีส์อย่างใกล้ชิด นอตต์เริ่มแปลกิตติคุณของลูกาซึ่งแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ปี 1814. เขาเรียบเรียงงานแปลเป็นภาษาตาฮิตีที่ฟังเป็นธรรมชาติ โดยมีเดวีส์เป็นผู้สอบทานงานแปลกับต้นฉบับ. ในปี 1817 กษัตริย์โพมาเรที่สองทรงขอพิมพ์หน้าแรกของกิตติคุณของลูกา. พระองค์ทรงพิมพ์โดยใช้แท่นพิมพ์ด้วยมือขนาดเล็กที่นำเข้ามาในโมโอเรียโดยมิชชันนารีกลุ่มอื่น. เรื่องราวการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาตาฮิตีคงไม่สมบูรณ์หากไม่ได้กล่าวถึงชายชาวตาฮิตีผู้ซื่อสัตย์ชื่อตัวฮีนที่อยู่กับพวกมิชชันนารีตลอดเวลาหลายปีและช่วยพวกเขาให้เข้าใจรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ของภาษาตาฮิตี.
เสร็จสิ้นการแปล
ในปี 1819 หลังจากพวกเขาทำงานหนักมาหกปี ส่วนของกิตติคุณทั้งสี่เล่ม, กิจการของอัครสาวก, และพระธรรมบทเพลงสรรเสริญก็แล้วเสร็จ. แท่นพิมพ์ที่พวกมิชชันนารีกลุ่มใหม่นำเข้ามาช่วยให้การพิมพ์และการแจกจ่ายพระธรรมต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องง่ายขึ้น.
ถัดจากนั้นเป็นช่วงเวลาของการทุ่มเทอย่างเต็มที่กับกิจกรรมการแปล, การพิสูจน์อักษร, และการแก้ไข. หลังจากอยู่ที่ตาฮิตีได้ 28 ปี นอตต์ก็ล้มป่วยในปี 1825 และสมาคมแอลเอ็มเอสอนุญาตให้เขาลงเรือกลับไปยังอังกฤษ. น่าดีใจที่ในเวลานั้นการแปลพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว. นอตต์แปลส่วนที่เหลือของคัมภีร์ไบเบิลต่อระหว่างการเดินทางและระหว่างที่เขาพำนักอยู่ในอังกฤษ. เขากลับมาที่ตาฮิตีในปี 1827. แปดปีต่อมา ในเดือนธันวาคม ปี 1835 เขาก็เลิกแปล. หลังจากกว่า 30 ปีที่ได้ทำงานอย่างหนัก คัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มก็ได้รับการแปลจนเสร็จ.
ในปี 1836 นอตต์เดินทางกลับไปอังกฤษเพื่อจะนำคัมภีร์ไบเบิลครบชุดภาษาตาฮิตีไปพิมพ์ที่ลอนดอน. ในวันที่ 8 มิถุนายน ปี 1838 นอตต์ผู้ปลื้มปีติได้นำคัมภีร์ไบเบิลภาษาตาฮิตีฉบับแรกขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย. เป็นที่เข้าใจได้ทีเดียวว่า นี่คงเป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจอย่างยิ่งสำหรับอดีตช่างก่ออิฐผู้เดินทางมากับเรือดัฟฟ์ เมื่อ 40 ปีก่อนและได้ฝังตัวอยู่กับวัฒนธรรมของชาวตาฮิตีเพื่อทำงานชิ้นใหญ่นี้ที่กินเวลาทั้งชีวิตของเขาให้เสร็จสิ้น.
สองเดือนต่อมา นอตต์มุ่งหน้ากลับไปยังแปซิฟิกใต้พร้อมกับลังไม้ 27 ลังที่บรรจุคัมภีร์ไบเบิลครบชุดภาษาตาฮิตีรุ่นแรกจำนวน 3,000 เล่ม. หลังจากแวะที่ซิดนีย์เขาก็ล้มป่วยอีก แต่เขาไม่ยอมแยกจากลังไม้ล้ำค่าเหล่านั้น. เมื่อหายป่วยแล้ว เขามาถึงตาฮิตีในปี 1840 โดยมีฝูงชนยืนออกันด้วยใจจดจ่อเพื่อรอรับคัมภีร์ไบเบิลภาษาตาฮิตี. นอตต์เสียชีวิตที่ตาฮิตีในเดือนพฤษภาคม ปี 1844 เมื่ออายุได้ 70 ปี.
ผลกระทบที่กว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม งานของนอตต์ยังคงอยู่. งานแปลของเขามีผลกระทบต่อภาษาต่าง ๆ ในแถบโพลีนีเซียอย่างกว้างขวาง. โดยการแปลงภาษาตาฮิตีให้อยู่ในรูปของตัวเขียน พวกมิชชันนารีได้ช่วยรักษาภาษานี้ไว้. นักเขียนคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “นอตต์เป็นผู้กำหนดภาษาตาฮิตีที่มีระบบไวยากรณ์ที่เป็นมาตรฐาน. เพื่อจะเรียนภาษาตาฮิตีแท้จำเป็นต้องพึ่งคัมภีร์ไบเบิลเสมอ.” งานที่กินเวลาเนิ่นนานของผู้แปลเหล่านี้ได้ช่วยเก็บรักษาคำศัพท์นับหมื่น ๆ คำไว้ไม่ให้ถูกลืม. หนึ่งศตวรรษต่อมา นักเขียนคนหนึ่งกล่าวว่า “คัมภีร์ไบเบิลฉบับที่โดดเด่นของนอตต์เป็นผลงานภาษาตาฮิตีชั้นยอด ทุกคนต่างยอมรับในเรื่องนี้.”
งานชิ้นสำคัญนี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อชาวตาฮิตีเท่านั้น แต่ยังได้วางรากฐานไว้สำหรับการแปลภาษาอื่น ๆ ในแถบแปซิฟิกใต้ด้วย. ตัวอย่างเช่น ผู้แปลในหมู่เกาะคุกและหมู่เกาะซามัวได้ใช้ฉบับแปลของนอตต์เป็นต้นแบบ. ผู้แปลคนหนึ่งบอกว่า “ที่จริงแล้ว ผมติดตามแบบอย่างของมิสเตอร์นอตต์ ซึ่งผมได้ศึกษางานแปลของเขาอย่างละเอียด.” มีรายงานว่าผู้แปลอีกคนหนึ่ง ‘ได้วางพระธรรมบทเพลงสรรเสริญภาษาฮีบรู, ภาษาอังกฤษ, และภาษาตาฮิตีไว้ตรงหน้า ขณะที่เขาแปลบทเพลงสรรเสริญของดาวิดเป็นภาษาซามัว.’
โดยติดตามตัวอย่างของกลุ่มการตื่นตัวฯ แห่งอังกฤษ มิชชันนารีในตาฮิตีได้ส่งเสริมการรู้หนังสืออย่างกระตือรือร้น. ที่จริง ในช่วงเวลามากกว่าหนึ่งศตวรรษ คัมภีร์ไบเบิลเป็นเพียงหนังสือเล่มเดียวที่ประชาชนตาฮิตีจะหาอ่านได้. ด้วยเหตุนี้ คัมภีร์ไบเบิลจึงได้กลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมชาวตาฮิตี.
หนึ่งในข้อดีเยี่ยมหลายอย่างที่พบในฉบับแปลของนอตต์ คือพระนามพระเจ้าที่ปรากฏอยู่หลายแห่งทั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูและภาษากรีก. ผลคือ ทุกวันนี้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักดีในตาฮิตีและในเกาะต่าง ๆ ของตาฮิตี. กระทั่งปรากฏในโบสถ์โปรเตสแตนต์บางแห่งด้วยซ้ำ. อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน พระนามพระเจ้าถูกเชื่อมโยงเข้ากับพยานพระยะโฮวาและการประกาศด้วยใจแรงกล้าของพวกเขา ซึ่งโดยการทำเช่นนั้น พวกเขาได้ทำให้คัมภีร์ไบเบิลภาษาตาฮิตีซึ่งนอตต์กับเพื่อนร่วมงานได้แปลไว้มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย. และความพยายามอย่างไม่ท้อถอยของผู้แปลอย่างเฮนรี นอตต์ ทำให้เราได้สำนึกว่าเราควรรู้สึกขอบคุณเพียงไรที่พระคำของพระเจ้ามีอยู่พร้อมสำหรับคนส่วนมากในทุกวันนี้.
[ภาพหน้า 26]
ส่วนแรก ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลที่มีการแปลเป็นภาษาตาฮิตี ปี 1815. มีพระนามพระยะโฮวาปรากฏอยู่
เฮนรี นอตต์ (1774-1844) ผู้เป็นหลักในการแปลคัมภีร์ไบเบิลภาษาตาฮิตี
[ที่มาของภาพ]
Tahitian Bible: Copyright the British Library (3070.a.32); Henry Nott and letter: Collection du Musée de Tahiti et de ses Îles, Punauia, Tahiti; catechism: With permission of the London Missionary Society Papers, Alexander Turnbull Library, Wellington, New Zealand
[ภาพหน้า 28]
หนังสือคู่มือถามตอบปี 1801 ฉบับสองภาษา ตาฮิตีและเวลส์ ซึ่งมีพระนามพระเจ้าปรากฏอยู่
[ที่มาของภาพ]
With permission of the London Missionary Society Papers, Alexander Turnbull Library, Wellington, New Zealand
[ภาพหน้า 29]
โบสถ์โปรเตสแตนต์ที่มีพระนามพระยะโฮวาอยู่ด้านหน้า ที่เกาะฮัวฮิเน เฟรนช์โปลินีเซีย
[ที่มาของภาพ]
Avec la permission du Pasteur Teoroi Firipa