จงประกาศเพื่อทำให้คนเป็นสาวก
“เมื่อปริสกิลลาและอะคีลัสได้ยิน [อะโปลโลส] พูด จึงรับเขามาและอธิบายทางของพระเจ้าแก่เขาให้ถูกต้องยิ่งขึ้น.”—กิจการ 18:26, ล.ม.
1. (ก) ถึงแม้ “รุ่งโรจน์ด้วยพระวิญญาณ” แต่อะโปลโลสยังขาดอะไรไป? (ข) อะโปลโลสจำเป็นต้องทำอะไรเพื่อจะให้ส่วนที่ขาดไปทางฝ่ายวิญญาณครบถ้วน?
ปริสกิลลากับอะคีลัส คู่สามีภรรยาคริสเตียนในสมัยศตวรรษแรก เฝ้าดูอะโปลโลสบรรยายที่ธรรมศาลาแห่งหนึ่งในเมืองเอเฟโซส์. ด้วยโวหารและความสามารถในการโน้มน้าวใจของท่าน อะโปลโลสจับความสนใจของผู้ฟัง. ท่าน “รุ่งโรจน์ด้วยพระวิญญาณ” และ “สอนเรื่องพระเยซูอย่างถูกต้อง.” อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าอะโปลโลส “รู้เฉพาะเรื่องบัพติสมาของโยฮันเท่านั้น.” สิ่งที่อะโปลโลสประกาศเกี่ยวกับพระคริสต์เป็นความจริง แต่ยังมีบางส่วนขาดไป. ปัญหาคือว่าความรู้ของท่านเรื่องพระคริสต์ยังไม่ครบถ้วน. อะโปลโลสจำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้ของท่านในเรื่องบทบาทของพระคริสต์ในการทำให้พระประสงค์ของพระยะโฮวาสำเร็จ.—กิจการ 18:24-26, ล.ม.
2. ปริสกิลลากับอะคีลัสรับเอางานอะไรที่ท้าทาย?
2 โดยไม่รีรอ ปริสกิลลากับอะคีลัสเสนอตัวที่จะช่วยเหลือให้อะโปลโลสเป็นผู้ถือรักษา “สิ่งสารพัตร” ที่พระคริสต์บัญชาไว้. (มัดธาย 28:19, 20) บันทึกกล่าวว่าทั้งสอง “รับ [อะโปลโลส] มาและอธิบายทางของพระเจ้าแก่เขาให้ถูกต้องยิ่งขึ้น.” อย่างไรก็ตาม มีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับอะโปลโลสที่อาจทำให้คริสเตียนบางคนรู้สึกลังเลใจที่จะสอนเขา. นั่นเป็นเรื่องอะไร? และเราจะเรียนอะไรได้จากความพยายามของปริสกิลลากับอะคีลัสในการพิจารณาพระคัมภีร์กับอะโปลโลส? การพิจารณาเรื่องราวในอดีตนี้จะช่วยเรามุ่งความสนใจไปยังการเริ่มการศึกษาพระคัมภีร์ตามบ้านได้อย่างไร?
สนใจต่อความจำเป็นของผู้คน
3. เหตุใดภูมิหลังของอะโปลโลสจึงไม่ได้เหนี่ยวรั้งปริสกิลลากับอะคีลัสไม่ให้สอนเขา?
3 ฐานะผู้มีเชื้อสายยิว ดูเหมือนว่าอะโปลโลสได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นในนครอะเล็กซานเดรีย. ขณะนั้นอะเล็กซานเดรียเป็นนครหลวงของอียิปต์ เป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับสูง และขึ้นชื่อในเรื่องหอสมุดขนาดใหญ่. นครนี้มีชุมชนชาวยิวขนาดใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงผู้คงแก่เรียนหลายคน. ด้วยเหตุนี้ พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูฉบับแปลภาษากรีกซึ่งเป็นที่รู้จักว่าเซปตัวจินต์ จึงได้รับการแปลที่นี่. ไม่น่าประหลาดใจที่อะโปลโลส “ชำนาญมากในพระคัมภีร์”! อะคีลัสกับปริสกิลลาเป็นช่างทำเต็นท์. ความสามารถในการพูดของอะโปลโลสทำให้พวกเขาไม่กล้าเสนอความช่วยเหลือไหม? เปล่าเลย. เนื่องด้วยความรัก ทั้งสองคำนึงถึงตัวเขา, ความจำเป็นของเขา, และวิธีที่จะสามารถช่วยเขา.
4. อะโปลโลสได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นต้องได้รับจากที่ไหนและอย่างไร?
4 ไม่ว่าอะโปลโลสจะมีความสามารถในการพูดเพียงไรก็ตาม เขาจำเป็นต้องได้รับการสอน. ความช่วยเหลือที่เขาจำเป็นต้องได้รับจะหาไม่ได้จากสถาบันการศึกษาระดับสูงไม่ว่าที่ไหน แต่จะพบได้จากท่ามกลางเพื่อนสมาชิกในประชาคมคริสเตียน. อะโปลโลสจะได้ประโยชน์จากความรู้ต่าง ๆ ที่จะทำให้เขามีความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการจัดเตรียมของพระเจ้าเรื่องความรอด. ปริสกิลลากับอะคีลัส “รับเขามาและอธิบายทางของพระเจ้าแก่เขาให้ถูกต้องยิ่งขึ้น.”
5. อาจกล่าวอะไรได้เกี่ยวกับสภาพฝ่ายวิญญาณของปริสกิลลากับอะคีลัส?
5 ปริสกิลลากับอะคีลัสมีความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณและมีฐานรากที่มั่นคงในความเชื่อ. ทั้งคู่คง ‘เตรียมพร้อมเสมอที่จะโต้ตอบต่อหน้าทุกคนซึ่งเรียกเหตุผลสำหรับความหวังของพวกเขา’ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนรวย, คนจน, คนมีความรู้, หรือเป็นทาส. (1 เปโตร 3:15, ล.ม.) อะคีลัสกับภรรยาสามารถ “ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง.” (2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่าทั้งคู่เป็นนักศึกษาพระคัมภีร์ที่เอาจริงเอาจัง. อะโปลโลสได้รับผลกระทบอย่างลึกซึ้งจากคำสอนที่อาศัย ‘พระคำของพระเจ้า ซึ่งมีชีวิต ทรงพลัง’ และกระทบหัวใจ.—เฮ็บราย 4:12, ล.ม.
6. เรารู้ได้อย่างไรว่าอะโปลโลสหยั่งรู้ค่าความช่วยเหลือที่เขาได้รับ?
6 อะโปลโลสหยั่งรู้ค่าแบบอย่างที่เขาได้รับจากผู้สอน และกลายเป็นผู้ที่มีทักษะมากขึ้นในการทำให้คนเป็นสาวก. เขาใช้ความรู้ของตนในงานประกาศข่าวดีอย่างบังเกิดผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางชาวยิว. อะโปลโลสเป็นประโยชน์อย่างมากในการพูดจูงใจชาวยิวเรื่องพระคริสต์. เนื่องจาก “มีความสามารถมากทางพระคัมภีร์” เขาสามารถพิสูจน์ให้ชาวยิวเห็นว่า เหล่าผู้พยากรณ์ในอดีตล้วนแต่คอยท่าการเสด็จมาของพระคริสต์. (กิจการ 18:24, ฉบับแปลคิงดอม อินเตอร์ลิเนียร์) บันทึกกล่าวเพิ่มเติมว่าอะโปลโลสเดินทางต่อไปยังมณฑลอะคายะ ที่นั่น “ท่านได้ช่วยเหลือคนทั้งหลายที่ได้เชื่อโดยพระคุณนั้นเป็นอย่างยิ่ง. ด้วยท่านได้โต้แย้งพวกยูดายโดยแข็งแรงต่อหน้าคนทั้งปวง, และชี้แจงยกหลักในพระคัมภีร์อ้างให้เห็นว่าพระคริสต์นั้นคือพระเยซู.”—กิจการ 18:27, 28.
เรียนรู้จากตัวอย่างของผู้สอนคนอื่น
7. อะคีลัสกับปริสกิลลากลายมาเป็นผู้สอนที่ชำนาญได้อย่างไร?
7 อะคีลัสกับปริสกิลลากลายมาเป็นผู้สอนพระคำของพระเจ้าที่ชำนาญได้อย่างไร? นอกจากความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาส่วนตัวและการเข้าร่วมประชุมแล้ว การคบหาสมาคมอย่างใกล้ชิดกับอัครสาวกเปาโลคงจะมีส่วนช่วยอย่างมาก. เปาโลพำนักที่บ้านของปริสกิลลากับอะคีลัสในเมืองโครินท์เป็นเวลานาน 18 เดือน. พวกเขาทำงานเย็บและซ่อมเต็นท์ด้วยกัน. (กิจการ 18:2, 3) ขอให้นึกภาพการสนทนากันอย่างลึกซึ้งในเรื่องพระคัมภีร์ที่คงต้องมีตามมา. และการคบหาสมาคมกับเปาโลอย่างนั้นต้องเป็นประโยชน์ต่อสภาพฝ่ายวิญญาณของทั้งสองเป็นแน่! สุภาษิต 13:20 (ล.ม.) กล่าวว่า “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา.” การคบหาสมาคมที่ดีมีผลกระทบในทางดีต่ออุปนิสัยฝ่ายวิญญาณของพวกเขา.—1 โกรินโธ 15:33.
8. ปริสกิลลากับอะคีลัสได้เรียนรู้อะไรจากการสังเกตงานรับใช้ของเปาโล?
8 เมื่อปริสกิลลากับอะคีลัสสังเกตดูเปาโลฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักร พวกเขาได้เห็นครูที่ดีในภาคปฏิบัติ. เรื่องราวในพระธรรมกิจการกล่าวว่า เปาโล “ได้สั่งสอนและโต้แย้งกับเขาในธรรมศาลา [ในเมืองโครินท์] ทุกวันซะบาโต, ได้ชักชวนทั้งชาติยูดายและชาติเฮเลนให้เชื่อ.” ต่อมา เมื่อซีลากับติโมเธียวมาร่วมสมทบ ท่านก็ “มีใจร้อนรนในการประกาศพระคำ [“ทุ่มเทตัวกับพระคำ,” ล.ม.], และเป็นพยานแก่ชาติยูดายว่าพระคริสต์นั้นเป็นพระเยซู.” เมื่อคนในธรรมศาลาไม่ค่อยสนใจนัก ปริสกิลลากับอะคีลัสก็สังเกตเห็นว่าเปาโลเปลี่ยนไปประกาศที่อื่นที่น่าจะมีการตอบรับมากกว่า คือที่บ้านหลังถัดไปจากธรรมศาลา. ที่นั่น เปาโลสามารถช่วยกริศโป “นายธรรมศาลา” ให้เข้ามาเป็นสาวก. ปริสกิลลากับอะคีลัสคงสังเกตเห็นว่า การทำให้กริศโปเข้ามาเป็นสาวกส่งผลกระทบที่ดีต่อผู้คนในเขตทำงาน. บันทึกกล่าวว่า “กริศโป . . . กับทั้งครอบครัวของท่านได้เชื่อถือพระเจ้า. และชาวโกรินโธหลายคนเมื่อได้ฟังแล้วก็ได้เชื่อถือและรับบัพติศมา.”—กิจการ 18:4-8.
9. ตัวอย่างของเปาโลส่งผลกระทบอย่างไรต่อปริสกิลลากับอะคีลัส?
9 ปริสกิลลากับอะคีลัส และผู้ประกาศราชอาณาจักรคนอื่น ๆ ได้เลียนแบบตัวอย่างงานรับใช้ของเปาโล. ท่านอัครสาวกกระตุ้นคริสเตียนคนอื่น ๆ ดังนี้: “จงเป็นผู้เลียนแบบข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าเป็นผู้เลียนแบบพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 11:1, ล.ม.) สอดคล้องกับตัวอย่างของเปาโล ปริสกิลลากับอะคีลัสช่วยอะโปลโลสให้เข้าใจคำสอนคริสเตียนอย่างถูกต้องยิ่งขึ้น. ส่วนอะโปลโลสก็ช่วยสอนคนอื่นต่อไป. ไม่ต้องสงสัยว่า ปริสกิลลากับอะคีลัสคงได้ช่วยหลายคนในกรุงโรม, เมืองโครินท์, และเมืองเอเฟโซส์ให้เข้ามาเป็นสาวก.—กิจการ 18:1, 2, 18, 19; โรม 16:3-5.
10. คุณได้เรียนอะไรจากกิจการบท 18 ที่จะช่วยคุณในงานทำให้คนเป็นสาวก?
10 เราเรียนอะไรได้จากการพิจารณากิจการบท 18? เช่นเดียวกับที่อะคีลัสและปริสกิลลาคงได้เรียนรู้จากเปาโล เราก็อาจปรับปรุงความสามารถของเราในการทำให้คนเป็นสาวกให้ดีขึ้นได้เช่นกัน โดยการติดตามตัวอย่างของผู้สอนพระคำพระเจ้าที่ดี. เราอาจทำงานร่วมกับคนที่ “ทุ่มเทตัวกับพระคำ” และคนที่ “ให้คำพยานอย่างถี่ถ้วน” แก่คนอื่น ๆ. (กิจการ 18:5, ล.ม.; ฉบับแปลคิงดอม อินเตอร์ลิเนียร์) เราสามารถสังเกตวิธีที่พวกเขาเข้าถึงหัวใจของผู้คนด้วยการใช้ทักษะการสอนที่โน้มน้าวใจ. ทักษะดังกล่าวอาจช่วยเราในงานทำคนให้เป็นสาวก. เมื่อมีใครสักคนศึกษาพระคัมภีร์กับเรา เราอาจเสนอแนะให้เขาเชิญสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนบ้านมาร่วมศึกษาด้วย. หรือเราอาจขอเขาแนะนำให้เรารู้จักใครอื่นที่เราอาจเสนอการศึกษาพระคัมภีร์ได้.—กิจการ 18:6-8.
สร้างโอกาสเพื่อจะทำคนให้เป็นสาวก
11. จะพบสาวกใหม่ได้ที่ไหน?
11 เปาโลและเพื่อนคริสเตียนของท่านพยายามทำคนให้เป็นสาวกด้วยการประกาศตามบ้านเรือน, ในตลาด, หรือขณะเดินทาง—ที่จริงแล้ว ทุกหนแห่ง. ฐานะคนงานราชอาณาจักรคนหนึ่งที่มีใจแรงกล้าและพยายามทำคนให้เป็นสาวก คุณจะทำงานรับใช้ในลักษณะใหม่ ๆ ที่คุณไม่เคยทำมาก่อนได้ไหม? คุณจะใช้โอกาสต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์เพื่อเสาะหาคนที่เหมาะสมและประกาศแก่พวกเขาได้ไหม? เพื่อนผู้ประกาศข่าวดีของเราพบผู้ที่ได้เข้ามาเป็นสาวกโดยวิธีใดบ้าง? ทีแรก ให้เราพิจารณาการให้คำพยานทางโทรศัพท์.
12-14. เพื่อแสดงถึงผลประโยชน์ของการให้คำพยานทางโทรศัพท์ จงเล่าถึงประสบการณ์ของคุณเอง หรือจากที่กล่าวไว้ในวรรค 12 ถึง 14.
12 ขณะที่ให้คำพยานตามบ้านเรือนในบราซิล คริสเตียนคนหนึ่งซึ่งเราจะเรียกเธอว่ามาเรียได้ให้แผ่นพับใบหนึ่งแก่หญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังออกมาจากอพาร์ตเมนต์. โดยใช้หัวเรื่องของแผ่นพับเป็นคำนำ มาเรียถามว่า “คุณอยากรู้จักคัมภีร์ไบเบิลดีขึ้นไหมคะ?” ผู้หญิงคนนี้ตอบว่า “ก็อยากเหมือนกันค่ะ แต่ติดตรงที่ว่าดิฉันเป็นครู และเวลาก็หมดไปกับการสอน.” มาเรียอธิบายว่าอาจจะพิจารณาเรื่องในพระคัมภีร์กันทางโทรศัพท์ก็ได้. หญิงสาวคนนี้ให้หมายเลขโทรศัพท์ไว้กับมาเรีย และเย็นวันนั้นเอง เธอเริ่มศึกษาทางโทรศัพท์โดยใช้จุลสารพระผู้สร้างทรงเรียกร้องอะไรจากเรา?a
13 ขณะให้คำพยานทางโทรศัพท์ ผู้รับใช้เต็มเวลาคนหนึ่งในเอธิโอเปียตกใจที่ได้ยินเสียงเอ็ดตะโรแว่วมาทางปลายสายขณะที่กำลังพูดโทรศัพท์อยู่กับชายคนหนึ่ง. ชายคนนั้นขอให้เธอโทรกลับมาภายหลัง. เมื่อเธอโทรกลับไป เขาขอโทษและบอกว่าตอนที่เธอโทรหาเขาครั้งก่อนนั้น เขากับภรรยากำลังทะเลาะกันอย่างรุนแรง. พี่น้องหญิงใช้โอกาสจากคำพูดนี้เพื่อชี้ไปยังคำแนะนำอันฉลาดสุขุมที่คัมภีร์ไบเบิลให้ไว้เพื่อจัดการกับปัญหาครอบครัว. เธอบอกเขาว่าหลายครอบครัวได้ประโยชน์จากหนังสือเคล็ดลับสำหรับความสุขในครอบครัว ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา. หลังจากส่งหนังสือไปให้สองสามวัน พี่น้องหญิงก็โทรไปหาผู้ชายคนนี้อีกครั้ง. เขาบอกเธอด้วยความตื่นเต้นดีใจว่า “หนังสือเล่มนี้รักษาชีวิตสมรสของผมไว้!” ที่จริงแล้ว เขาถึงกับให้ครอบครัวมาอยู่พร้อมหน้ากันเพื่อจะแบ่งปันแง่คิดดี ๆ ที่เขาอ่านพบในหนังสือนั้น. การศึกษาพระคัมภีร์ได้เริ่มขึ้น และไม่นาน ชายคนนี้ก็เริ่มเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ.
14 ผู้ประกาศราชอาณาจักรคนหนึ่งในเดนมาร์กซึ่งเริ่มการศึกษาพระคัมภีร์รายหนึ่งด้วยการให้คำพยานทางโทรศัพท์เล่าว่า “ผู้ดูแลการรับใช้สนับสนุนให้ฉันเข้าร่วมในการให้คำพยานทางโทรศัพท์. ทีแรก ฉันลังเล แต่มาวันหนึ่ง ฉันรวบรวมความกล้าและก็เริ่มโทรไปบ้านหลังแรก. ซอนยารับสาย และหลังจากสนทนากันสั้น ๆ เธอตอบตกลงจะรับหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล. เย็นวันหนึ่ง เราคุยกันเรื่องการทรงสร้าง และเธออยากอ่านหนังสือชีวิต—เกิดขึ้นมาอย่างไร? โดยวิวัฒนาการหรือมีผู้สร้าง?b ฉันบอกว่าคงจะดีถ้าเราจะเจอหน้ากันและคุยกันในเรื่องดังกล่าว. เธอเห็นด้วย. ซอนยาเตรียมพร้อมสำหรับการศึกษาเมื่อฉันไปถึง และเราได้ศึกษากันทุกสัปดาห์นับแต่นั้น.” พี่น้องหญิงคริสเตียนของเรากล่าวในตอนท้ายว่า “หลายปีมาแล้วที่ฉันอธิษฐานขอให้มีรายศึกษาพระคัมภีร์สักราย แต่ก็ไม่คาดคิดว่าจะได้รายหนึ่งจากการให้คำพยานทางโทรศัพท์.”
15, 16. คุณสามารถเล่าประสบการณ์อะไรที่แสดงถึงผลประโยชน์จากการเป็นคนตื่นตัวในการหาวิธีต่าง ๆ เพื่อเริ่มการศึกษาพระคัมภีร์?
15 หลายคนกำลังประสบผลดีจากการทำตามคำแนะนำที่ให้เราให้คำพยานแก่ผู้คนในทุกแห่ง. สตรีคริสเตียนคนหนึ่งในสหรัฐจอดรถใกล้กับรถขนส่งสินค้าคันหนึ่งในลานจอด. เมื่อผู้หญิงในรถนั้นหันมามองเธอ พี่น้องหญิงของเราเริ่มอธิบายถึงลักษณะงานให้การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลของเรา. ผู้หญิงคนนั้นฟัง ก้าวออกจากรถมายังรถพี่น้องเรา และพูดว่า “ฉันดีใจมากที่คุณจอดรถคุยกับฉัน. ฉันไม่ได้รับหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลของพวกคุณมานานแล้ว. ฉันอยากจะเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอีกครั้ง. คุณจะศึกษากับฉันได้ไหม?” โดยวิธีนี้ พี่น้องหญิงของเราได้สร้างโอกาสที่เป็นประโยชน์ต่อการแบ่งปันข่าวดี.
16 พี่น้องหญิงคนหนึ่งในสหรัฐซึ่งแวะเยี่ยมบ้านพักคนชราแห่งหนึ่งมีประสบการณ์ต่อไปนี้: เธอเข้าพบผู้อำนวยการคนหนึ่งในสถานสงเคราะห์นั้น และบอกเขาว่าเธออยากจะอาสาช่วยสนองความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของผู้ที่พักอาศัยในนั้น. พี่น้องหญิงของเรากล่าวอีกว่าเธอยินดีจะจัดการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลให้ฟรีเป็นประจำทุกสัปดาห์กับทุกคนที่ประสงค์จะศึกษา. ผู้อำนวยการอนุญาตให้เธอเข้าเยี่ยมตามห้องพักต่าง ๆ. ไม่นาน เธอก็ได้นำการศึกษากับผู้พักอาศัยรวม 26 คน สัปดาห์ละสามครั้ง ซึ่งคนหนึ่งในนั้นสามารถเข้าร่วมการประชุมกับเราเป็นประจำ.
17. บ่อยครั้ง อะไรเป็นวิธีที่บังเกิดผลในการเริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้าน?
17 สำหรับผู้ประกาศราชอาณาจักรหลายคน การเสนอการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลโดยตรงเกิดผลดี. เช้าวันหนึ่ง ประชาคมหนึ่งที่มีผู้ประกาศทั้งหมด 105 คนพยายามเป็นพิเศษที่จะเสนอการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเจ้าของบ้านทุกคนที่พวกเขาพบ. มีผู้เข้าร่วมงานประกาศ 86 คน และหลังจากใช้เวลาสองชั่วโมงในการประกาศ พวกเขาพบว่าเริ่มการศึกษาไปได้แล้วอย่างน้อย 15 ราย.
เสาะหาบุคคลที่เหมาะสมต่อ ๆ ไป
18, 19. เราควรจดจำพระบัญชาอะไรที่สำคัญของพระเยซูไว้เสมอ และเราควรตั้งใจที่จะทำอะไรเพื่อจะบรรลุเป้าหมายนั้น?
18 ฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักร คุณอาจอยากลองทำตามคำแนะนำต่าง ๆ ที่กล่าวมาในบทความนี้. แน่ล่ะ นับว่าสุขุมที่จะคำนึงถึงธรรมเนียมในท้องถิ่นด้วยเมื่อพิจารณาวิธีให้คำพยาน. สำคัญที่สุด ให้เราจดจำพระบัญชาของพระเยซูไว้เสมอที่ให้เสาะหาบุคคลที่เหมาะสมและช่วยคนเหล่านั้นให้เข้ามาเป็นสาวก.—มัดธาย 10:11; 28:19.
19 เพื่อจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ขอให้เรา “ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง.” เราสามารถทำอย่างนั้นด้วยการโน้มน้าวใจที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลักอย่างหนักแน่น. นี่จะช่วยเราให้เข้าถึงหัวใจของผู้ที่รับฟังและกระตุ้นพวกเขาให้ลงมือปฏิบัติ. ถ้าเราหมายพึ่งพระยะโฮวาพร้อมด้วยการอธิษฐาน เราจะมีส่วนในการช่วยบางคนให้เข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์. และนี่เป็นงานที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างแท้จริง! ฉะนั้น ขอให้เรา “ทำสุดความสามารถเพื่อสำแดงตนให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า” ถวายพระเกียรติแด่พระยะโฮวาเสมอฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักรที่มีใจแรงกล้า ซึ่งทำการประกาศโดยมีเป้าหมายจะทำคนให้เป็นสาวก.—2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
b จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณจำได้ไหม?
• ทำไมอะโปลโลสจึงจำเป็นต้องได้รับการอธิบายทางของพระเจ้าให้ถูกต้องยิ่งขึ้น?
• ปริสกิลลากับอะคีลัสเรียนรู้จากอัครสาวกเปาโลด้วยวิธีใดบ้าง?
• คุณได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับงานทำให้คนเป็นสาวกจากกิจการบท 18?
• คุณจะสร้างโอกาสที่จะทำให้คนเป็นสาวกอย่างไร?
[ภาพหน้า 18]
ปริสกิลลากับอะคีลัส ‘อธิบายทางของพระเจ้าแก่อะโปลโลสให้ถูกต้องยิ่งขึ้น’
[ภาพหน้า 20]
อะโปลโลสกลายเป็นผู้ที่มีทักษะในการทำให้คนเป็นสาวก
[ภาพหน้า 21]
เปาโลประกาศในทุกแห่งหนที่ท่านไป
[ภาพหน้า 23]
สร้างโอกาสที่จะประกาศ