สันติภาพเวสท์ฟาเลียช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุโรป
“สำหรับเหล่าประมุขของประเทศหรือรัฐต่าง ๆ ในยุโรปหลายคนแล้ว การรวมตัวกันอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้ ณ ที่นี่ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยอย่างแน่นอน.” โรมัน เฮิร์ทโซค อดีตประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้กล่าวถ้อยคำนี้ในเดือนตุลาคม 1998. ขณะที่เขากล่าว มีผู้ฟังคือกษัตริย์สี่พระองค์, ราชินีสี่พระองค์, เจ้าชายสองพระองค์, และแกรนด์ดุ๊กท่านหนึ่ง รวมทั้งประธานาธิบดีอีกหลายคน. การรวมตัวกันครั้งนี้มีสภายุโรปเป็นผู้สนับสนุน ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญในรอบ 50 ปีของประวัติศาสตร์รัฐเยอรมนียุคใหม่. นี่เป็นโอกาสอะไร?
เดือนตุลาคมปี 1998 เป็นการครบรอบปีที่ 350 ของสนธิสัญญาสันติภาพเวสท์ฟาเลีย. ข้อตกลงสันติภาพมักเป็นจุดหักเหของประวัติศาสตร์ และในแง่นี้สนธิสัญญาเวสท์ฟาเลียเป็นอะไรบางอย่างที่พิเศษ. การลงนามในสนธิสัญญานี้ในปี 1648 เป็นการยุติสงครามสามสิบปีและเป็นการบ่งชี้ถึงการกำเนิดของยุโรปยุคใหม่ในฐานะเป็นทวีปแห่งรัฐเอกราช.
ระบบเก่าถูกสั่นคลอน
ในยุคกลาง สถาบันที่ทรงอำนาจมากที่สุดในยุโรปคือคริสตจักรโรมันคาทอลิกและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์. จักรวรรดินี้ประกอบด้วยเขตปกครองของพวกขุนนางทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่หลายร้อยแห่งซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในปัจจุบันคือออสเตรีย, สาธารณรัฐเช็ก, ฝั่งตะวันออกของฝรั่งเศส, เยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์, ประเทศต่าง ๆ ในพื้นที่ต่ำ (เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก, และเนเธอร์แลนด์), และบางส่วนของอิตาลี. เนื่องจากเขตปกครองต่าง ๆ ดังกล่าวของเยอรมนีกินพื้นที่ส่วนใหญ่ในจักรวรรดินี้ จึงเป็นที่รู้จักกันในฐานะจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แห่งชาติเยอรมัน. แต่ละเขตจะมีขุนนางปกครองตนเองภายใต้อำนาจของจักรพรรดิ. จักรพรรดิเองทรงเป็นโรมันคาทอลิกจากราชวงศ์ฮับสบูร์กแห่งออสเตรีย. เพราะฉะนั้น เนื่องด้วยอำนาจของโปปและจักรวรรดิ ยุโรปจึงอยู่ในกำมือของโรมันคาทอลิกอย่างแน่นหนา.
อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษที่ 16 และ 17 ระบบนั้นก็ถูกสั่นคลอน. ความไม่พอใจความฟุ้งเฟ้อของคริสตจักรโรมันคาทอลิกได้แพร่กระจายไปทั่วยุโรป. นักปฏิรูปศาสนาอย่างเช่นมาร์ติน ลูเทอร์และจอห์น แคลวินเรียกร้องให้กลับไปหามาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิล. ลูเทอร์และแคลวินได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง และจากการเคลื่อนไหวในครั้งนั้นก่อให้เกิดการปฏิรูปและนิกายโปรเตสแตนต์ขึ้น. การปฏิรูปทำให้เกิดการแบ่งแยกจักรวรรดิออกเป็นสามความเชื่อคือ คาทอลิก, ลูเทอรัน, และคาลวินิสต์.
ชาวคาทอลิกมองชาวโปรเตสแตนต์ด้วยความสงสัยและชาวโปรเตสแตนต์ก็ดูถูกชาวคาทอลิกที่เป็นคู่ปรับ. บรรยากาศเช่นนี้จึงนำไปสู่การก่อตั้งสหภาพโปรเตสแตนต์และสันนิบาตคาทอลิกในช่วงต้นศตวรรษที่ 17. ขุนนางบางคนของจักรวรรดิเข้าร่วมกับสหภาพ บางคนเข้าร่วมกับสันนิบาต. ยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจักรวรรดิ จึงเต็มไปด้วยความหวาดระแวง หากมีการจุดชนวนแห่งความขัดแย้งเพียงนิดเดียวก็สามารถส่งผลให้ทุกสิ่งวอดวายได้. ในที่สุด เมื่อชนวนนั้นถูกจุดขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานถึง 30 ปี.
การจุดชนวนที่นำไปสู่ความรุนแรงจนทำให้ยุโรปลุกเป็นไฟ
ผู้ปกครองชาวโปรเตสแตนต์พยายามบีบให้ราชวงศ์ฮับสบูร์กที่เป็นคาทอลิกยินยอมที่จะให้มีเสรีภาพมากขึ้นในการนมัสการ. แต่การยินยอมนี้เป็นแบบชักช้าไม่เต็มใจ และในปี 1617-1618 มีการบังคับให้ปิดโบสถ์ของลูเทอรันในโบฮีเมีย (สาธารณรัฐเช็ก) สองแห่ง. การทำเช่นนี้ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองแก่พวกขุนนางของโปรเตสแตนต์ ทำให้พวกเขาลุกฮือเข้าไปในพระราชวัง ณ กรุงปรากและจับเจ้าหน้าที่ชาวคาทอลิกสามคนโยนลงมาจากหน้าต่างชั้นบน. การกระทำเช่นนี้เป็นการจุดชนวนที่ทำให้ยุโรปลุกเป็นไฟ.
แม้พวกเขาอ้างว่าติดตามพระเยซูคริสต์เจ้าชายแห่งสันติสุข แต่ตอนนี้สมาชิกของศาสนาที่เป็นปรปักษ์กลับต่อสู้ห้ำหั่นกันเอง. (ยะซายา 9:6) ในยุทธการไวต์ เมาน์เทน สหภาพโปรเตสแตนต์พ่ายแพ้สันนิบาตคาทอลิกอย่างยับเยิน. พวกขุนนางชาวโปรเตสแตนต์ถูกประหารชีวิตที่ย่านการค้าในกรุงปราก. ตลอดทั่วทั้งโบฮีเมีย ทรัพย์สินของชาวโปรเตสแตนต์ที่ไม่ยอมเปลี่ยนความเชื่อจะถูกริบและแบ่งกันในหมู่คาทอลิก. หนังสือ 1648—ครีค อุนด์ ฟรีเดน อิน ออยโรปา (1648—สงครามและสันติภาพในยุโรป) พรรณนาการยึดทรัพย์สินเช่นนี้ว่าเป็น “หนึ่งในการเปลี่ยนมือเจ้าของที่ดินครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีในยุโรปตอนกลาง.”
จากจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางศาสนาในโบฮีเมียลุกลามกลายเป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจระหว่างชาติต่าง ๆ. ตลอด 30 ปีต่อมา เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, สเปน, และสวีเดนถูกดึงให้เข้าร่วมในสงคราม. เนื่องจากบ่อยครั้งถูกกระตุ้นด้วยความละโมบและการกระหายอำนาจ ผู้ปกครองทั้งของคาทอลิกและโปรเตสแตนต์จะใช้อุบายทุกวิถีทางเพื่อจะได้เป็นใหญ่ในด้านการเมืองและได้รับผลประโยชน์ทางการค้า. สงครามสามสิบปีถูกแบ่งออกเป็นช่วง ๆ แต่ละช่วงเรียกตามชื่อปฏิปักษ์คนสำคัญ ๆ ของจักรพรรดิ. ตามแหล่งอ้างอิงหลายแหล่งกล่าวไว้ สงครามแบ่งเป็นสี่ช่วงคือ สงครามโบฮีเมียและปาลาไตน์, สงครามเดนมาร์ก-โลว์เออร์แซกโซนี, สงครามสวีเดน, และสงครามฝรั่งเศส-สวีเดน. การต่อสู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในดินแดนของจักรวรรดิ.
อาวุธที่ใช้ในสมัยนั้นมีทั้งปืนสั้น, ปืนคาบศิลา, ปืนครก, และปืนใหญ่ โดยมีสวีเดนเป็นผู้จัดหาอาวุธ. คาทอลิกและโปรเตสแตนต์ต่อสู้กัน. เหล่าทหารที่เข้าประจัญบานพากันตะโกนว่า “ซานตา มาเรีย” หรือไม่ก็ “พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา.” กองทหารปล้นสะดมตามเส้นทางที่ข้ามผ่านดินแดนต่าง ๆ ของเยอรมนี ปฏิบัติต่อฝ่ายตรงข้ามและพลเรือนเยี่ยงสัตว์. สงครามเลวร้ายลงจนกลายเป็นความป่าเถื่อน. ช่างแตกต่างเสียจริง ๆ จากสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลพยากรณ์ไว้ว่า “ประเทศต่อประเทศจะไม่ยกดาบขึ้นต่อสู้กัน, และเขาจะไม่ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป”!—มีคา 4:3.
ชาวเยอรมันชั่วอายุนั้นเติบโตขึ้นโดยรู้จักแต่เรื่องของสงครามเท่านั้น และประชาชนที่เหนื่อยหน่ายก็ปรารถนาเหลือเกินที่จะมีสันติภาพ. ดูเหมือนว่า สันติภาพคงจะเกิดขึ้นได้ถ้าเหล่าผู้ปกครองไม่มีการต่อสู้ช่วงชิงผลประโยชน์ทางการเมืองกัน. สงครามกลายเป็นเรื่องทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่สูญเสียลักษณะที่เกี่ยวข้องกับศาสนาไปและกลายเป็นเรื่องทางโลกมากขึ้นทุกที. ที่น่าแปลกก็คือ บุคคลหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นคนที่มีตำแหน่งสูงในคริสตจักรคาทอลิก.
คาร์ดินัลริเชอลิเยอกุมอำนาจ
ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของอาร์มองด์ชอง ดู เปลสซิคือคาร์ดินัล เดอ ริเชอลิเยอ. ตั้งแต่ปี 1624 ถึง 1642 เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศสด้วย. ริเชอลิเยอมีเป้าหมายให้ฝรั่งเศสกุมอำนาจส่วนใหญ่ในยุโรป. เพื่อจะทำตามเป้าหมายนั้น เขาพยายามบ่อนทำลายอำนาจของราชวงศ์ฮับสบูร์กซึ่งเป็นคาทอลิกเช่นเดียวกับเขา. เขาทำอย่างไร? โดยให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่กองทัพโปรเตสแตนต์ที่อยู่ในดินแดนของเยอรมนี, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, และสวีเดน ซึ่งทั้งหมดล้วนต่อสู้กับราชวงศ์ฮับสบูร์ก.
ในปี 1635 ริเชอลิเยอส่งกองทัพของฝรั่งเศสเข้าร่วมในสงครามเป็นครั้งแรก. หนังสือวีวัท พัค—เอส เลเบ เดอร์ ฟรีเด! (สันติภาพจงเจริญ!) อธิบายว่า ในช่วงสุดท้าย “สงครามสามสิบปีไม่ได้เป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ทางศาสนาอีกต่อไป. . . . สงครามกลับกลายเป็นการช่วงชิงความเป็นใหญ่ทางการเมืองในยุโรป.” สิ่งที่เริ่มต้นเป็นความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ จบลงด้วยการที่คาทอลิกร่วมมือกับโปรเตสแตนต์ต่อสู้กับคาทอลิกอีกฝ่ายหนึ่ง. สันนิบาตคาทอลิกซึ่งอ่อนแออยู่แล้วในช่วงต้นทศวรรษ 1630 ได้ถูกยุบในปี 1635.
การประชุมเพื่อสันติภาพในเวสท์ฟาเลีย
ยุโรปเสียหายย่อยยับจากการปล้นสะดม, การเข่นฆ่า, การข่มขืน, และโรคภัย. มีความต้องการสันติภาพเพิ่มมากขึ้นทุกทีเนื่องจากตระหนักว่าไม่มีใครเป็นผู้ชนะในสงคราม. หนังสือวีวัท พัค—เอส เลเบ เดอร์ ฟรีเด! ให้ข้อสังเกตว่า “ในที่สุด เมื่อใกล้จะสิ้นทศวรรษ 1630 ขุนนางทั้งหลายก็ตระหนักว่ากำลังทางทหารไม่อาจช่วยพวกเขาบรรลุเป้าหมายได้อีกต่อไป.” แต่ถ้าสันติภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาแล้ว จะมีการบรรลุเรื่องนี้ได้อย่างไร?
จักรพรรดิเฟอร์ดินันด์ที่สามแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์, พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งฝรั่งเศส, และราชินีคริสตินาแห่งสวีเดนเห็นพ้องกันว่าควรจัดให้มีการประชุมขึ้นในสถานที่ที่ทุกฝ่ายที่ทำสงครามกันจะมาประชุมและเจรจาข้อตกลงเรื่องสันติภาพ. สถานที่สองแห่งที่ถูกเลือกสำหรับการเจรจากันคือ เมืองออสนาบรึกและมึนสเตอร์ในแคว้นเวสท์ฟาเลียของเยอรมนี. มีการเลือกสองเมืองนี้เพราะอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองหลวงของสวีเดนและฝรั่งเศส. เริ่มในปี 1643 คณะผู้แทนประมาณ 150 คณะ ซึ่งบางคณะมาพร้อมกับที่ปรึกษาจำนวนมาก ได้มาถึงเมืองทั้งสอง คณะทูตคาทอลิกรวมตัวกันที่เมืองมึนสเตอร์ ตัวแทนโปรเตสแตนต์อยู่ในเมืองออสนาบรึก.
ในตอนแรก ได้มีการวางระเบียบปฏิบัติเพื่อกำหนดเรื่องต่าง ๆ เช่น ตำแหน่งและระดับชั้นของทูต, ลำดับที่นั่ง, และขั้นตอนดำเนินการ. ต่อมา เริ่มมีการเจรจาสันติภาพโดยมีการยื่นข้อเสนอจากคณะผู้แทนฝ่ายหนึ่งไปยังอีกฝ่ายหนึ่งโดยผ่านคนกลาง. หลังจากเกือบห้าปีผ่านไปในขณะที่สงครามยังคงดำเนินอยู่ ได้มีการทำข้อตกลงเรื่องสันติภาพขึ้น. สนธิสัญญาเวสท์ฟาเลียประกอบด้วยเอกสารมากกว่าหนึ่งฉบับ. ข้อตกลงฉบับหนึ่งมีการลงนามระหว่างจักรพรรดิเฟอร์ดินันด์ที่สามกับสวีเดนที่เมืองออสนาบรึก อีกฉบับหนึ่งระหว่างจักรพรรดิกับฝรั่งเศสที่เมืองมึนสเตอร์.
เมื่อข่าวเรื่องสนธิสัญญาแพร่สะพัดออกไป ได้เริ่มมีการเฉลิมฉลองขึ้น. สงครามที่เริ่มต้นด้วยการจุดชนวนที่นำไปสู่ความรุนแรงจบลงด้วยการจุดดอกไม้ไฟจริง ๆ. ท้องฟ้าของเมืองต่าง ๆ สว่างไสวด้วยดอกไม้ไฟ. มีการสั่นระฆังในโบสถ์, ใช้ปืนใหญ่ยิงสลุต, และผู้คนพากันร้องเพลงตามถนนหนทาง. ตอนนี้ยุโรปสามารถคาดหวังในเรื่องสันติภาพถาวรได้แล้วไหม?
สันติภาพถาวรอาจเกิดขึ้นได้ไหม?
สนธิสัญญาเวสท์ฟาเลียรับรองหลักการในเรื่องอำนาจอธิปไตย. นั่นหมายความว่าแต่ละฝ่ายของสนธิสัญญาตกลงที่จะเคารพสิทธิในเขตแดนของฝ่ายอื่นและไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศนั้น ๆ. ด้วยเหตุนี้ ยุโรปยุคใหม่ในฐานะทวีปแห่งรัฐเอกราชได้ถือกำเนิดขึ้น. ในบรรดารัฐเหล่านี้ บางรัฐได้ประโยชน์จากสนธิสัญญานี้มากกว่ารัฐอื่น ๆ.
ฝรั่งเศสผงาดขึ้นมามีอำนาจ รวมทั้งเนเธอร์แลนด์และสวิตเซอร์แลนด์ได้รับเอกราช. สำหรับดินแดนต่าง ๆ ของเยอรมนีซึ่งหลายดินแดนได้รับความเสียหายย่อยยับจากสงคราม สนธิสัญญานี้ทำให้มีข้อเสียเปรียบ. ชะตากรรมของเยอรมนีถูกกำหนดโดยชาติอื่น ๆ ในระดับหนึ่ง. สารานุกรมบริแทนนิกาฉบับใหม่ รายงานว่า “ส่วนได้ส่วนเสียที่ขุนนางเยอรมันได้รับถูกกำหนดโดยผลประโยชน์ของประเทศที่มีอิทธิพลคือ ฝรั่งเศส, สวีเดน, และออสเตรีย.” แทนที่จะได้รับการชักนำเข้ามารวมกันเป็นชาติเดียว เขตปกครองต่าง ๆ ของเยอรมนีถูกแบ่งออกเหมือนเมื่อก่อน. ยิ่งกว่านั้น บางส่วนของเยอรมนีถูกยกให้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ปกครองจากประเทศอื่น เช่น ส่วนต่าง ๆ ของแม่น้ำสายหลักของเยอรมนีอันได้แก่ แม่น้ำไรน์, แม่น้ำเอลเบ, และแม่น้ำโอเดอร์.
นิกายคาทอลิก, ลูเทอรัน, และคาลวินิสต์ได้รับการรับรองให้มีฐานะเท่าเทียมกัน. แต่ไม่ใช่ทุกคนจะพอใจในเรื่องนี้. โปปอินโนเซนต์ที่สิบต่อต้านสนธิสัญญานี้อย่างรุนแรงโดยประกาศให้เป็นโมฆะ. แต่กระนั้น ขอบเขตทางศาสนาที่ได้กำหนดขึ้นนี้ส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักตลอดสามศตวรรษต่อมา. แม้ว่าเสรีภาพทางศาสนาสำหรับปัจเจกบุคคลยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็ใกล้เข้ามาขั้นหนึ่งแล้ว.
สนธิสัญญานี้ทำให้สงครามสามสิบปีสิ้นสุดลง และพร้อมกันนั้นก็ยุติความเป็นปฏิปักษ์กันส่วนใหญ่. นี่เป็นสงครามใหญ่ทางศาสนาครั้งสุดท้ายของยุโรป. สงครามไม่ได้หมดไป แต่เปลี่ยนจากสาเหตุพื้นฐานในเรื่องศาสนามาเป็นสงครามที่เกี่ยวกับการเมืองหรือการค้า. นั่นไม่ได้หมายความว่าศาสนาสูญเสียอิทธิพลทั้งสิ้นที่มีต่อฝ่ายต่าง ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กันในยุโรป. ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง เข็มขัดของทหารเยอรมันมีคำจารึกที่หัวเข็มขัดซึ่งฟังคุ้นหูที่ว่า “พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา.” ระหว่างที่มีการสู้รบอันน่าสยดสยองเหล่านั้น ทั้งคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ต่างก็ร่วมมือกันอีกครั้งหนึ่งต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามที่เป็นคาทอลิกและโปรเตสแตนต์.
เห็นได้ชัดว่า สนธิสัญญาแห่งเวสท์ฟาเลียไม่ได้ก่อให้เกิดสันติภาพถาวร. อย่างไรก็ตาม มนุษยชาติที่เชื่อฟังจะประสบกับสันติภาพเช่นนั้นในไม่ช้า. พระยะโฮวาพระเจ้าจะทรงนำสันติภาพถาวรมาสู่มนุษยชาติโดยทางราชอาณาจักรมาซีฮาของพระบุตรของพระองค์คือพระเยซูคริสต์. ภายใต้รัฐบาลนี้ ศาสนาแท้เพียงศาสนาเดียวจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดเอกภาพ ไม่ใช่การแบ่งแยก. จะไม่มีใครทำสงคราม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางศาสนาหรือเหตุอื่น ๆ. ช่างจะเป็นการปลดเปลื้องอย่างแท้จริงเมื่อราชอาณาจักรนี้ปกครองเหนือแผ่นดินโลกและ “สันติสุขจะไม่รู้สิ้นสุด”!—ยะซายา 9:6, 7.
[คำโปรยหน้า 21]
สิ่งที่เริ่มต้นเป็นการขัดแย้งระหว่างคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์จบลงด้วยการที่คาทอลิกร่วมมือกับโปรเตสแตนต์ต่อสู้กับคาทอลิกอีกฝ่ายหนึ่ง
[คำโปรยหน้า 22]
เหล่าทหารที่เข้าประจัญบานพากันตะโกนว่า “ซานตา มาเรีย” หรือไม่ก็ “พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา”
[ภาพหน้า 21]
คาร์ดินัลริเชอลิเยอ
[ภาพหน้า 23]
ภาพวาดสมัยศตวรรษที่สิบหกแสดงถึงความขัดแย้งระหว่างลูเทอร์, แคลวิน, และโปป
[ที่มาของภาพหน้า 20]
From the book Spamers Illustrierte Weltgeschichte VI
[ที่มาของภาพหน้า 23]
Religious leaders struggling: From the book Wider die Pfaffenherrschaft; map: The Complete Encyclopedia of Illustration/J. G. Heck