จงเสริมกำลังกันและกัน
“พวกนี้แหละเป็นผู้ช่วยเสริมกำลังข้าพเจ้า.”—โกโลซาย 4:11, ล.ม.
1, 2. ทั้ง ๆ ที่เสี่ยง ทำไมเพื่อนของเปาโลจึงเข้าไปเยี่ยมท่านในที่คุมขัง?
การเป็นเพื่อนกับใครบางคนที่ทนทุกข์อยู่ในที่คุมขังอาจเป็นภัยแก่คุณ แม้แต่กรณีที่เพื่อนของคุณถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม. ผู้คุมอาจมองคุณด้วยความสงสัย จับตาดูการเคลื่อนไหวของคุณทุกฝีก้าวเพื่อแน่ใจว่าคุณจะไม่ก่อความผิด. ฉะนั้น ต้องมีความกล้าเพื่อจะติดต่อเป็นประจำกับเพื่อนของคุณและเยี่ยมเขาในที่คุมขัง.
2 กระนั้น เพื่อนบางคนของอัครสาวกเปาโลทำแบบนั้นจริง ๆ เมื่อราว ๆ 1,900 ปีมาแล้ว. พวกเขาไม่ลังเลที่จะเข้าเยี่ยมเปาโลในที่คุมขังเพื่อปลอบประโลม, หนุนใจ, และเสริมกำลังฝ่ายวิญญาณที่ท่านจำเป็นต้องได้รับ. ใครบ้างเป็นเพื่อนผู้ภักดีเหล่านี้? และเราจะเรียนอะไรได้จากความกล้า, ความภักดี, และมิตรภาพของพวกเขา?—สุภาษิต 17:17.
“ผู้ช่วยเสริมกำลัง”
3, 4. (ก) ห้าคนในบรรดาเพื่อน ๆ ของเปาโลคือใคร และพวกเขาเป็นเช่นอะไรแก่ท่าน? (ข) คำว่า “ผู้ช่วยเสริมกำลัง” หมายความเช่นไร?
3 ให้เราย้อนไปในประมาณปี ส.ศ. 60. อัครสาวกเปาโลถูกคุมขังอยู่ในกรุงโรมด้วยข้อกล่าวหาเท็จว่าปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง. (กิจการ 24:5; 25:11, 12) เปาโลกล่าวเจาะจงเป็นพิเศษถึงชื่อคริสเตียนห้าคนที่สนับสนุนท่านด้วยความภักดีดังนี้: ตุคิโก ตัวแทนที่มาจากแคว้นอาเซีย “เพื่อนทาสในองค์พระผู้เป็นเจ้า”; โอเนซิโม “พี่น้องที่ซื่อสัตย์และเป็นที่รัก” จากเมืองโกโลซาย; อะริศตาโค ชาวมาซิโดเนียในเมืองเทสซาโลนีกา และครั้งหนึ่งเคยเป็น “ผู้ถูกคุมขังด้วยกัน” กับเปาโล; มาระโก ลูกพี่ลูกน้องของบาระนาบาเพื่อนร่วมเดินทางกับเปาโลในงานมิชชันนารี และเป็นผู้เขียนพระธรรมกิตติคุณที่ใช้ชื่อของเขา; และยูซะโต หนึ่งในเพื่อนร่วมงานของอัครสาวกเปาโล “เพื่อราชอาณาจักรของพระเจ้า.” เปาโลกล่าวถึงห้าคนนี้ว่า “พวกนี้แหละเป็นผู้ช่วยเสริมกำลังข้าพเจ้า.”—โกโลซาย 4:7-11, ล.ม.
4 เปาโลกล่าวถ้อยคำที่มีพลังเมื่อกล่าวถึงความช่วยเหลือที่เพื่อนผู้ภักดีทำเพื่อท่าน. ท่านใช้คำภาษากรีก (พาเรโกเรีย) ที่ได้รับการแปลว่า “ผู้ช่วยเสริมกำลัง” ซึ่งพบครั้งเดียวในคัมภีร์ไบเบิลที่ข้อนี้. คำนี้มีความหมายกว้าง และมีการใช้คำนี้เป็นพิเศษในข้อความที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยา.a คำนี้แปลได้ว่า ‘การปลอบประโลม, การทำให้ทุเลา, หรือการบรรเทา.’ เปาโลจำต้องได้รับการเสริมกำลังอย่างนั้น และชายห้าคนนี้ให้สิ่งนี้แก่ท่าน.
เหตุที่เปาโลต้องการ “ผู้ช่วยเสริมกำลัง”
5. แม้ว่าเป็นอัครสาวก เปาโลต้องการอะไร และเราทุกคนจำต้องได้รับอะไรในบางครั้ง?
5 บางคนอาจประหลาดใจในความคิดที่ว่า เปาโลผู้เป็นอัครสาวกต้องการการเสริมกำลัง. กระนั้น ท่านต้องการการเสริมกำลังจริง ๆ. จริงอยู่ที่ว่าเปาโลมีความเชื่อเข้มแข็ง และท่านรอดชีวิตจากการทำร้ายร่างกายอย่างสาหัส, “ถูกโบยตีเกินขนาด,” “หวิดตายบ่อย ๆ,” อีกทั้งความเจ็บปวดอื่น ๆ มาแล้ว. (2 โกรินโธ 11:23-27, ฉบับแปลใหม่) แต่ท่านก็เป็นแค่มนุษย์ และมนุษย์เราทุกคนไม่คราวใดก็คราวหนึ่งก็จำต้องได้รับการปลอบประโลมและการเสริมความเชื่อด้วยความช่วยเหลือจากผู้อื่น. ข้อนี้เป็นจริงแม้แต่ในกรณีของพระเยซู. ในคืนสุดท้ายของพระองค์ ทูตสวรรค์องค์หนึ่งมาปรากฏแก่พระองค์ในสวนเกทเซมาเน และ “ชูกำลังพระองค์.”—ลูกา 22:43, ล.ม.
6, 7. (ก) ใครในกรุงโรมที่ทำให้เปาโลผิดหวัง และใครที่หนุนกำลังใจท่าน? (ข) พี่น้องคริสเตียนของเปาโลในกรุงโรมให้การช่วยเหลือแบบใดแก่ท่าน ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าพวกเขาเป็น “ผู้ช่วยเสริมกำลัง”?
6 เปาโลจำต้องได้รับการเสริมกำลังเช่นกัน. เมื่อมาถึงกรุงโรมฐานะผู้ต้องหา ท่านไม่ได้รับการต้อนรับฉันมิตรจากประชาชนร่วมชาติของท่าน. ชาวยิวเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่รับฟังข่าวสารราชอาณาจักร. หลังจากพวกผู้ใหญ่ในพวกยิวมาหาเปาโลในที่คุมขัง เรื่องราวจากพระธรรมกิจการกล่าวว่า “คำที่ท่านกล่าวนั้น บางคนก็เชื่อบางคนก็ไม่เชื่อ. เมื่อเขาไม่เห็นพ้องด้วยเขาก็จะลาไป.” (กิจการ 28:17, 24, 25) การที่พวกเขาขาดความหยั่งรู้ค่าต่อพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวาคงทำให้เปาโลปวดร้าวสักเพียงไร! ความรู้สึกแรงกล้าที่ท่านมีต่อเรื่องนี้เห็นได้ชัดจากจดหมายที่ท่านเขียนไปถึงประชาคมในกรุงโรมไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น ที่กล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความทุกข์หนักและความเจ็บร้อนในใจเสมอมิได้ขาด, จนข้าพเจ้าปรารถนาใคร่จะให้ข้าพเจ้าเองถูกสาปให้ขาดจากพระคริสต์เพราะเห็นแก่พี่น้องของข้าพเจ้า [ชาวยิว], คือญาติของข้าพเจ้าตามเนื้อหนัง.” (โรม 9:2, 3) กระนั้น ท่านพบเพื่อนแท้ผู้ภักดีในกรุงโรมจริง ๆ ซึ่งความกล้าและความรักของพวกเขาเล้าโลมใจท่าน. พวกเขาเป็นพี่น้องฝ่ายวิญญาณแท้ของท่าน.
7 พี่น้องห้าคนนี้พิสูจน์โดยวิธีใดว่าเป็นผู้ช่วยเสริมกำลัง? พวกเขาไม่ได้ปล่อยให้การที่เปาโลถูกคุมขังมาทำให้พวกเขาเลี่ยงไม่กล้าพบท่าน. แทนที่จะทำอย่างนั้น พวกเขาคอยให้การช่วยเหลือเป็นส่วนตัวแก่เปาโลด้วยความเต็มใจและความรัก ทำธุระต่าง ๆ ที่ท่านไม่สามารถทำได้เองเนื่องจากถูกกักขัง. ตัวอย่างเช่น พวกเขาทำหน้าที่ส่งข่าว นำส่งจดหมายต่าง ๆ ของเปาโลและถ่ายทอดคำสั่งสอนของท่านทางวาจาแก่ประชาคมต่าง ๆ และนำข่าวคราวที่หนุนกำลังใจมาบอกเปาโลในเรื่องสวัสดิภาพของพี่น้องในกรุงโรมและที่อื่น ๆ. พวกเขาคงได้จัดหาสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่ท่าน เช่น เสื้อกันหนาว, ม้วนกระดาษ, และเครื่องเขียน. (เอเฟโซ 6:21, 22; 2 ติโมเธียว 4:11-13) การกระทำที่เป็นประโยชน์เหล่านั้นทุกอย่างเสริมกำลังและหนุนใจอัครสาวกที่ถูกกักขังจนท่านสามารถเป็น “ผู้ช่วยเสริมกำลัง” แก่ผู้อื่น รวมถึงทั้งประชาคม.—โรม 1:11, 12.
วิธีเป็น “ผู้ช่วยเสริมกำลัง”
8. เราเรียนอะไรได้จากการที่เปาโลยอมรับด้วยความถ่อมใจว่าท่านต้องการ “ผู้ช่วยเสริมกำลัง”?
8 เราเรียนอะไรได้จากเรื่องราวของเปาโลกับเพื่อนร่วมงานห้าคนนี้? ขอให้เราพิจารณาบทเรียนหนึ่งเป็นพิเศษ กล่าวคือ ต้องมีใจกล้า อีกทั้งน้ำใจเสียสละ เพื่อจะช่วยผู้ที่อยู่ในสภาพยากลำบาก. นอกจากนี้ เราต้องถ่อมใจยอมรับว่าเราอาจต้องการความช่วยเหลือเช่นกันในยามที่เราประสบความทุกข์ยาก. เปาโลไม่เพียงแค่ยอมรับว่าท่านต้องการความช่วยเหลือ แต่ท่านอ่อนน้อมยอมรับความช่วยเหลือและยกย่องผู้ให้การช่วยเหลือนั้น. ท่านไม่ได้คิดว่าการยอมรับความช่วยเหลือจากคนอื่นแสดงถึงความอ่อนแอหรือความน่าอับอายของท่าน และเราก็ไม่ควรคิดอย่างนั้นเช่นกัน. ที่จะกล่าวว่าไม่มีวันที่เราจำเป็นต้องได้รับการเสริมกำลังนั้นก็คงจะเท่ากับกล่าวว่าเราเป็นยอดมนุษย์. อย่าลืมว่า ตัวอย่างของพระเยซูแสดงว่าแม้แต่มนุษย์สมบูรณ์ในบางโอกาสก็ยังอาจจำเป็นต้องร้องขอความช่วยเหลือ.—เฮ็บราย 5:7.
9, 10. อาจเกิดผลดีเช่นไรเมื่อคนเรายอมรับว่าเขาต้องการความช่วยเหลือ และนั่นอาจส่งผลอย่างไรต่อคนอื่นในครอบครัวและในประชาคม?
9 อาจเกิดผลดีหลายประการเมื่อผู้มีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบยอมรับว่าพวกเขามีขีดจำกัดและต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น. (ยาโกโบ 3:2) การยอมรับเช่นนั้นเสริมความผูกพันระหว่างผู้มีอำนาจหน้าที่กับผู้อยู่ใต้อำนาจนั้น ส่งเสริมให้เกิดการสนทนากันฉันเพื่อนแบบเปิดอก. ความถ่อมใจของผู้ที่เต็มใจยอมรับความช่วยเหลือจะเป็นการวางตัวอย่างแก่คนอื่น ๆ ที่อยู่ในสภาพการณ์คล้าย ๆ กัน. นี่แสดงว่าคนเหล่านั้นที่นำหน้าเป็นมนุษย์ธรรมดาและเข้าหาได้ง่าย.—ท่านผู้ประกาศ 7:20.
10 ตัวอย่างเช่น ลูก ๆ อาจรู้สึกง่ายขึ้นที่จะยอมรับการช่วยเหลือจากพ่อแม่ในการจัดการกับปัญหาและการล่อใจเมื่อรู้ว่าพ่อแม่ก็เจอปัญหาคล้าย ๆ กันเมื่อเป็นเด็ก. (โกโลซาย 3:21) นี่จึงเปิดทางไว้สำหรับการสนทนาระหว่างพ่อแม่กับลูก. การบอกวิธีแก้ปัญหาที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลักอาจทำได้อย่างบังเกิดผลมากกว่า และลูกอาจยอมรับทางแก้ปัญหานั้นได้ง่ายกว่า. (เอเฟโซ 6:4) เช่นเดียวกัน สมาชิกในประชาคมพร้อมจะรับเอาความช่วยเหลือจากผู้ปกครองมากขึ้นเมื่อรู้ว่าผู้ปกครองก็รับมือกับปัญหา, ความหวั่นกลัว, และความไม่แน่ใจเช่นเดียวกัน. (โรม 12:3; 1 เปโตร 5:3) อีกครั้งหนึ่ง การสนทนาที่ดีอาจติดตามมา อาจมีการให้คำแนะนำจากพระคัมภีร์ และนั่นทำให้ความเชื่อเข้มแข็งขึ้น. ขอจำไว้ว่า ปัจจุบันนี้พี่น้องชายหญิงของเราต้องการการเสริมกำลังยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา.—2 ติโมเธียว 3:1.
11. เหตุใดหลายคนในทุกวันนี้จึงต้องการ “ผู้ช่วยเสริมกำลัง”?
11 ไม่ว่าเราอยู่ที่ไหน, เป็นใคร, หรืออายุเท่าไร เราทุกคนย่อมจะประสบความเครียดเป็นครั้งคราวในชีวิต. เหตุการณ์แบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในโลกทุกวันนี้. (วิวรณ์ 12:12) สภาพอ่อนล้าทางกายหรืออารมณ์เช่นนั้นทดสอบคุณภาพความเชื่อของเรา. สภาพการณ์ยุ่งยากอาจเกิดขึ้นที่ทำงาน, ที่โรงเรียน, ในครอบครัว, หรือในประชาคม. ความเจ็บป่วยร้ายแรงหรือเหตุการณ์สะเทือนใจในอดีตอาจเป็นเหตุของความเครียด. หากคู่สมรส, ผู้ปกครอง, หรือเพื่อนให้การหนุนใจด้วยถ้อยคำที่คิดอย่างรอบคอบและเสนอการช่วยเหลือด้วยความกรุณา นั่นจะนำความบรรเทามาให้สักเพียงไร! การทำเช่นนั้นเปรียบได้กับยาที่ทาลงบนผิวที่ปวดแสบอย่างแท้จริง! ด้วยเหตุนี้ ถ้าคุณสังเกตเห็นพี่น้องของคุณคนหนึ่งอยู่ในสภาพอ่อนล้าเช่นนั้น จงเป็นผู้ช่วยเสริมกำลังแก่เขา! หรือถ้ามีปัญหายุ่งยากเป็นพิเศษที่ทำให้คุณหนักใจ จงขอความช่วยเหลือจากผู้มีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณ.—ยาโกโบ 5:14, 15.
วิธีที่ประชาคมช่วยได้
12. แต่ละคนในประชาคมสามารถทำอะไรเพื่อเสริมกำลังพี่น้องของตน?
12 ทุกคนในประชาคม รวมทั้งเยาวชน สามารถทำอะไรบางอย่างได้เพื่อเสริมกำลังผู้อื่น. ตัวอย่างเช่น การที่คุณเข้าร่วมประชุมและทำงานเผยแพร่เป็นประจำก็มีส่วนช่วยอย่างมากในการเสริมความเชื่อแก่คนอื่น ๆ. (เฮ็บราย 10:24, 25) ความซื่อสัตย์มั่นคงของคุณในงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์เป็นหลักฐานแสดงถึงความภักดีของคุณต่อพระยะโฮวา และแสดงว่าคุณตื่นตัวฝ่ายวิญญาณเสมอ แม้ว่าอาจประสบความยากลำบาก. (เอเฟโซ 6:18) ความซื่อสัตย์เช่นนั้นสามารถเสริมกำลังแก่ผู้อื่น.—ยาโกโบ 2:18.
13. อะไรอาจเป็นเหตุให้บางคนเลิกประกาศ และจะทำอะไรได้เพื่อช่วยพวกเขา?
13 บางครั้ง ความกดดันในชีวิตหรือปัญหายุ่งยากอื่น ๆ อาจทำให้บางคนเฉื่อยช้าลงหรือเลิกประกาศ. (มาระโก 4:18, 19) เราอาจไม่พบคนที่เลิกประกาศเหล่านั้น ณ การประชุมต่าง ๆ ของประชาคม. กระนั้น ในหัวใจของพวกเขาคงยังมีความรักต่อพระเจ้า. จะทำอะไรได้บ้างเพื่อเสริมความเชื่อของพวกเขา? พวกผู้ปกครองสามารถให้ความช่วยเหลืออย่างกรุณาโดยการไปเยี่ยมคนเหล่านี้. (กิจการ 20:35) คนอื่น ๆ ในประชาคมอาจถูกขอให้ช่วยเช่นกัน. การเยี่ยมเยียนด้วยความรักเช่นนี้เปรียบเหมือนยาที่มาในเวลาที่พอเหมาะพอดีเพื่อทำให้คนที่อ่อนกำลังด้านความเชื่อกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง.
14, 15. เปาโลให้คำแนะนำอะไรในเรื่องการเสริมกำลังผู้อื่น? จงยกตัวอย่างของประชาคมหนึ่งที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าน.
14 คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเราดังนี้: “ให้หนุนน้ำใจผู้ที่ท้อใจ, ให้ชูกำลังคนที่อ่อนกำลัง.” (1 เธซะโลนิเก 5:14) “ผู้ที่ท้อใจ” อาจพบว่าพวกเขาย่อท้อ และเขาไม่สามารถเอาชนะอุปสรรคที่พวกเขาเผชิญหากไม่ได้รับการช่วยเหลือ. คุณจะเป็นผู้ให้การช่วยเหลือดังกล่าวได้ไหม? ถ้อยคำที่ว่า “ชูกำลังคนที่อ่อนกำลัง” เคยมีการแปลว่า “จับให้แน่น” หรือ “เกาะติด” ผู้อ่อนกำลัง. พระยะโฮวาทรงรักและทะนุถนอมแกะทุกตัวของพระองค์. พระองค์ไม่ถือว่าพวกเขามีค่าเล็กน้อย และพระองค์ไม่ปรารถนาให้ใครสักคนลอยห่างไป. คุณจะช่วยประชาคมให้ “จับให้แน่น” ผู้ที่อ่อนกำลังฝ่ายวิญญาณ จนกว่าพวกเขาจะแข็งแรงขึ้นได้ไหม?—เฮ็บราย 2:1.
15 ผู้ปกครองคนหนึ่งไปเยี่ยมคู่สมรสคู่หนึ่งที่เลิกประกาศมานานหกปี. ผู้ปกครองคนนี้เขียนว่า “ความกรุณาและความห่วงใยรักใคร่ที่ทั้งประชาคม แสดงออกต่อพวกเขาก่อผลกระทบที่ทรงพลังมากจนกระตุ้นให้ทั้งสองกลับคืนสู่ฝูงแกะ.” พี่น้องหญิงที่เคยเลิกประกาศคนนี้รู้สึกเช่นไรจากการที่สมาชิกของประชาคมไปเยี่ยม? ตอนนี้เธอกล่าวว่า “สิ่งที่ช่วยเราให้กลับมารับใช้อีกครั้งคือ พี่น้องชายที่ไปเยี่ยมเรา หรือพี่น้องหญิงที่ไปด้วยกันกับเขา ไม่มีใครแสดงท่าทีที่ตำหนิหรือวิจารณ์เรา. แทนที่จะทำอย่างนั้น พวกเขาแสดงความเข้าใจและให้การหนุนใจจากพระคัมภีร์.”
16. ใครที่อยู่พร้อมเสมอเพื่อช่วยคนที่จำต้องได้รับการเสริมกำลัง?
16 ใช่แล้ว คริสเตียนที่มีน้ำใสใจจริงยินดีจะเป็นผู้ช่วยเสริมกำลังแก่คนอื่น ๆ. และเมื่อสภาพการณ์ในชีวิตของเราเปลี่ยนไป เราเองก็อาจเป็นผู้รับการเสริมกำลังจากพี่น้องของเรา. แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นไปได้ที่อาจไม่มีมนุษย์คนใดจะอยู่พร้อมให้การช่วยเหลือในเวลาที่เราต้องการความช่วยเหลือนั้น. อย่างไรก็ตาม มีแหล่งแห่งกำลังแหล่งหนึ่งซึ่งอยู่พร้อมจะช่วยเราเสมอ นั่นคือพระยะโฮวาพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 27:10.
พระยะโฮวา—แหล่งแห่งกำลังที่สำคัญที่สุด
17, 18. พระยะโฮวาเสริมกำลังพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์โดยวิธีใดบ้าง?
17 ขณะถูกตรึงอยู่บนหลัก พระเยซูทรงร้องเสียงดังว่า “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้าฝากวิญญาณข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์พระองค์.” (ลูกา 23:46, ล.ม.) จากนั้น พระองค์ก็สิ้นพระชนม์. ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น พระองค์ถูกจับกุม และเพื่อน ๆ ที่ใกล้ชิดที่สุดทอดทิ้งพระองค์และหนีไปด้วยความกลัว. (มัดธาย 26:56) พระเยซูถูกทิ้งให้อยู่ลำพังกับแหล่งแห่งกำลังแหล่งเดียวเท่านั้น คือพระบิดาของพระองค์ผู้สถิตในสวรรค์. กระนั้น การวางใจของพระองค์ในพระยะโฮวาไม่สูญเปล่า. ความภักดีที่พระเยซูมีต่อพระบิดาของพระองค์ได้รับการตอบแทนด้วยการที่พระยะโฮวาทรงเกื้อหนุนพระองค์ด้วยความภักดี.—บทเพลงสรรเสริญ 18:25, ล.ม.; เฮ็บราย 7:26, ล.ม.
18 ตลอดช่วงการรับใช้ของพระเยซูบนแผ่นดินโลก พระยะโฮวาทรงให้พระบุตรของพระองค์ได้รับสิ่งที่จำเป็นเพื่อจะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงจนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย. ตัวอย่างเช่น ทันทีหลังจากพระเยซูรับบัพติสมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นงานรับใช้ของพระองค์ พระองค์ได้ยินพระสุรเสียงของพระบิดาตรัสแสดงความโปรดปรานและยืนยันถึงความรักที่มีต่อพระองค์. เมื่อพระเยซูต้องการการเสริมกำลัง พระยะโฮวาทรงส่งทูตสวรรค์มาชูกำลัง. เมื่อพระเยซูเผชิญการทดสอบที่หนักหน่วงที่สุดในช่วงปลายชีวิตของพระองค์ทางแผ่นดินโลก พระยะโฮวาทรงสดับคำวิงวอนและคำทูลขอของพระองค์. แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยเสริมกำลังพระเยซู.—มาระโก 1:11, 13; ลูกา 22:43.
19, 20. เราแน่ใจได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาจะเสริมกำลังเราในยามที่ต้องการ?
19 พระยะโฮวาประสงค์จะเป็นแหล่งแห่งกำลังที่สำคัญที่สุดของเราด้วย. (2 โครนิกา 16:9) ผู้เป็นแหล่งที่แท้จริงแห่งพลังอันล้นเหลือและกำลังแข็งขันทั้งปวงนี้สามารถเป็นผู้ช่วยเสริมกำลังในยามที่เราต้องการ. (ยะซายา 40:26, ล.ม.) สงคราม, ความยากจน, ความเจ็บป่วย, ความตาย, หรือความไม่สมบูรณ์ของตัวเองอาจก่อความเครียดมากแก่เรา. ขณะที่การทดลองต่าง ๆ ในชีวิตดูเหมือนรุนแรงราวกับ “ศัตรูอันมีกำลัง” พระยะโฮวาสามารถเป็นกำลังและความเข้มแข็งของเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 18:17; เอ็กโซโด 15:2, ล.ม.) พระองค์มีสิ่งช่วยสำหรับเราที่มีพลังมาก นั่นคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์. โดยทางพระวิญญาณของพระองค์ พระยะโฮวาสามารถประทาน “แรงแก่ผู้ที่อิดโรย” เพื่อเขาจะสามารถ “กางปีกบินขึ้นไปดุจนกอินทรี.”—ยะซายา 40:29, 31.
20 พระวิญญาณของพระเจ้าเป็นพลังที่ทรงอานุภาพที่สุดในเอกภพ. เปาโลกล่าวดังนี้: “ข้าพเจ้ามีกำลังสำหรับทุกสิ่งโดยพระองค์ผู้ทรงประทานพลังให้ข้าพเจ้า.” ใช่แล้ว พระบิดาฝ่ายสวรรค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักของเราสามารถประทาน “กำลังที่มากกว่าปกติ” แก่เรา เพื่อเราจะอดทนต่อปัญหาที่ก่อความเจ็บปวดทั้งปวงจนกระทั่งพระองค์ทรงสร้าง “สิ่งสารพัตรขึ้นใหม่” ในอุทยานที่ทรงสัญญาไว้ซึ่งใกล้เข้ามาเต็มที.—ฟิลิปปอย 4:13, ล.ม.; 2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.; วิวรณ์ 21:4, 5.
[เชิงอรรถ]
a พจนานุกรมอธิบายศัพท์คัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและใหม่ฉบับสมบูรณ์ของไวน์ (ภาษาอังกฤษ) โดยดับเบิลยู. อี. ไวน์ กล่าวว่า “รูปกริยาของคำนี้ [พาเรโกเรีย] บ่งนัยถึงยาบรรเทาอาการปวดแสบระคายเคือง (ภาษาอังกฤษ ‘พาเรกอริค’).”
คุณจำได้ไหม?
• พี่น้องในกรุงโรมพิสูจน์อย่างไรว่าเป็น “ผู้ช่วยเสริมกำลัง” แก่เปาโล?
• เราสามารถเป็น “ผู้ช่วยเสริมกำลัง” ในประชาคมโดยทางใดบ้าง?
• พระยะโฮวาเป็นแหล่งแห่งกำลังที่สำคัญที่สุดอย่างไร?
[ภาพหน้า 18]
พวกพี่น้องพิสูจน์ว่าเป็น “ผู้ช่วยเสริมกำลัง” แก่เปาโลโดยสนับสนุนท่านด้วยความภักดี, หนุนกำลังใจ, และช่วยเหลือเป็นส่วนตัว
[ภาพหน้า 21]
ผู้ปกครองนำหน้าในการเสริมกำลังฝูงแกะ