การเอาใจใส่ผู้สูงอายุ—หน้าที่รับผิดชอบของคริสเตียน
“จนกระทั่งเจ้าแก่ เราก็คือพระองค์นั้น เราจะอุ้มเจ้าจนเจ้าถึงผมหงอก.”—ยะซายา 46:4, ฉบับแปลใหม่.
1, 2. การเอาใจใส่ของพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ต่างจากของบิดามารดาที่เป็นมนุษย์อย่างไร?
พ่อแม่ที่รักและเป็นห่วงลูกจะเลี้ยงดูลูก ๆ ของตนตั้งแต่วัยทารก เด็ก ตลอดจนกระทั่งวัยรุ่น. แม้เมื่อลูกพ้นวัยหนุ่มสาวเป็นผู้ใหญ่แล้วและมีครอบครัวของตนเอง พ่อแม่ก็ยังให้การเอาใจใส่และการเกื้อหนุนต่อ ๆ ไปด้วยความรัก.
2 แม้มนุษย์มีขีดจำกัดในสิ่งที่เขาสามารถทำได้เพื่อบุตรของตน แต่พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงสามารถให้การเอาใจใส่และการเกื้อหนุนด้วยความรักแก่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์เสมอ. พระยะโฮวาตรัสแก่ประชาชนที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้ในครั้งโบราณว่า “จนกระทั่งเจ้าแก่ เราก็คือพระองค์นั้น เราจะอุ้มเจ้าจนเจ้าถึงผมหงอก.” (ยะซายา 46:4, ฉบับแปลใหม่) นี่เป็นคำตรัสที่ให้กำลังใจคริสเตียนสูงอายุอย่างแท้จริง! พระยะโฮวาไม่เคยทอดทิ้งผู้ที่รักษาความภักดีต่อพระองค์. แทนที่จะทำอย่างนั้น พระองค์ให้คำมั่นสัญญาว่าจะค้ำจุน, ช่วยเหลือ, และชี้นำพวกเขาไปตลอดชีวิต แม้กระทั่งเข้าสู่วัยชรา.—บทเพลงสรรเสริญ 48:14.
3. จะมีการพิจารณาอะไรในบทความนี้?
3 เราจะเลียนแบบความห่วงใยด้วยความรักของพระยะโฮวาที่มีต่อผู้สูงอายุได้อย่างไร? (เอเฟโซ 5:1, 2) ขอเราพิจารณาวิธีต่าง ๆ ที่บุตร, ผู้ดูแลในประชาคม, และคริสเตียนแต่ละคน สามารถทำได้เพื่อเอาใจใส่ความจำเป็นของสมาชิกสูงวัยของสังคมพี่น้องทั่วโลก.
หน้าที่รับผิดชอบของเราฐานะบุตร
4. บุตรที่เป็นคริสเตียนมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรต่อบิดามารดาของตน?
4 “จงนับถือบิดามารดาของตน.” (เอเฟโซ 6:2; เอ็กโซโด 20:12) ด้วยข้อความนี้ที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมความหมายที่ยกมาจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู อัครสาวกเปาโลเตือนใจบุตรให้ระลึกถึงหน้าที่รับผิดชอบของตนที่มีต่อบิดามารดา. แต่ถ้อยคำดังกล่าวนำมาใช้กับการเอาใจใส่ผู้สูงอายุอย่างไร? ตัวอย่างหนึ่งที่อบอุ่นใจจากสมัยก่อนยุคคริสเตียนจะช่วยเราตอบคำถามนี้.
5. (ก) อะไรบ่งชี้ว่าโยเซฟไม่ได้ลืมหน้าที่ของบุตรที่มีต่อบิดา? (ข) การนับถือบิดามารดาหมายรวมถึงอะไร และโยเซฟวางตัวอย่างที่ดีเยี่ยมอะไรในเรื่องนี้?
5 เป็นเวลานานกว่า 20 ปี โยเซฟขาดการติดต่อกับบิดาของท่านที่ชรา คือยาโคบปฐมบรรพบุรุษ. อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่าความรักระหว่างบุตรกับบิดาที่โยเซฟมีต่อยาโคบไม่ได้เหือดหายไป. ที่จริง ตอนที่โยเซฟเผยตัวแก่พวกพี่ชายว่าจริง ๆ แล้วท่านเป็นใคร ท่านถามว่า “บิดาเรายังมีชีวิตอยู่หรือ?” (เยเนซิศ 43:7, 27; 45:3) ในคราวนั้น แผ่นดินคะนาอันได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการกันดารอาหาร. โยเซฟจึงฝากข้อความไปถึงบิดาว่า “ขอไปหาลูก อย่าได้ช้า พ่อจะได้อาศัยอยู่ในเมืองโกเชน และพ่อจะได้อยู่ใกล้ลูก . . . ลูกจะบำรุงรักษาพ่อที่นั่น.” (เยเนซิศ 45:9-11, ฉบับแปลใหม่; 47:12) ถูกแล้ว การนับถือบิดามารดาที่สูงอายุหมายรวมถึงการปกป้องและจัดหาสิ่งฝ่ายวัตถุให้แก่ท่าน ในคราวที่ท่านไม่สามารถดูแลตัวเองได้. (1 ซามูเอล 22:1-4; โยฮัน 19:25-27) โยเซฟรับเอาหน้าที่รับผิดชอบดังกล่าวด้วยความยินดี.
6. โยเซฟแสดงความรักจากใจจริงต่อบิดาของท่านอย่างไร และเราจะเลียนแบบตัวอย่างท่านอย่างไร?
6 ด้วยการหนุนหลังจากพระยะโฮวา โยเซฟกลายเป็นผู้ที่มั่งคั่งและมีอำนาจมากคนหนึ่งในอียิปต์. (เยเนซิศ 41:40) แต่ท่านไม่ได้ถือว่าตัวเองสำคัญหรือมีธุระยุ่งเกินไปที่จะแสดงความนับถือบิดาผู้มีอายุ 130 ปี. พอรู้ว่ายาโคบ (หรือยิศราเอล) เดินทางมาใกล้ “โยเซฟก็จัดรถไปยังเมืองโฆเซ็นรับยิศราเอลผู้เป็นบิดา; เมื่อพบบิดาก็กอดคอไว้ร้องไห้ด้วยความรักอยู่ช้านาน.” (เยเนซิศ 46:26, 27) การต้อนรับนี้ไม่ใช่แค่เป็นการแสดงความนับถือตามพิธี. โยเซฟรักบิดาผู้สูงอายุของท่านอย่างยิ่ง และไม่อายที่จะแสดงความรักออกมา. ถ้าเรามีบิดามารดาที่สูงอายุ เราแสดงความรักต่อท่านอย่างไม่อั้นแบบเดียวกันนั้นไหม?
7. ทำไมยาโคบจึงอยากให้มีการฝังศพตัวท่านในแผ่นดินคะนาอัน?
7 ยาโคบมีความเลื่อมใสต่อพระยะโฮวาจวบจนกระทั่งสิ้นชีวิต. (เฮ็บราย 11:21) เนื่องด้วยความเชื่อของท่านในคำสัญญาของพระเจ้า ยาโคบขอให้ฝังศพท่านในแผ่นดินคะนาอัน. โยเซฟให้ความนับถือบิดาของตนโดยทำตามคำขอดังกล่าว แม้ว่าจะต้องใช้ความพยายามและเสียค่าใช้จ่ายอยู่ไม่น้อย.—เยเนซิศ 47:29-31; 50:7-14.
8. (ก) อะไรเป็นแรงกระตุ้นหลักของเราในการเอาใจใส่บิดามารดาที่สูงอายุ? (ข) ผู้รับใช้เต็มเวลาคนหนึ่งทำอะไรเพื่อเอาใจใส่บิดามารดาของเขาที่สูงอายุ? (ดูกรอบหน้า 17.)
8 อะไรกระตุ้นโยเซฟให้เอาใจใส่บิดาของท่าน? ขณะที่ความรักและความสำนึกบุญคุณต่อผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูท่านเป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง แต่ไม่มีข้อสงสัยว่าโยเซฟคงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยด้วย. เราควรปรารถนาอย่างนั้นเช่นกัน. เปาโลเขียนว่า “ถ้าแม่ม่ายคนใดมีลูกหลาน, ก็ให้ลูกหลานนั้นเรียนเพื่อให้รู้จักที่จะเมตตาคนในบ้านเรือนของตนก่อน, และให้ตอบแทนคุณบิดามารดา, เพราะว่าการอย่างนี้เป็นที่ชอบจำเพาะพระพักตร์พระเจ้า.” (1 ติโมเธียว 5:4) ใช่แล้ว ความรักต่อพระยะโฮวาและความเคารพยำเกรงพระองค์จะกระตุ้นเราให้เอาใจใส่บิดามารดาที่สูงอายุ ไม่ว่าการทำเช่นนั้นจะยากลำบากอย่างไรก็ตาม.a
วิธีที่ผู้ปกครองแสดงว่าเขาห่วงใย
9. พระยะโฮวาแต่งตั้งใครให้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะ ซึ่งรวมถึงคริสเตียนสูงอายุ?
9 เมื่อใกล้วาระสุดท้ายของชีวิตที่ยืนยาวของยาโคบ ท่านกล่าวถึงพระยะโฮวาว่าเป็น “พระเจ้าผู้ทรงบำรุงเลี้ยงชีวิตข้าพเจ้าตั้งแต่เกิดมาจนวันนี้.” (เยเนซิศ 48:15, ฉบับแปลใหม่) ในปัจจุบัน พระยะโฮวาบำรุงเลี้ยงผู้รับใช้ของพระองค์ที่อยู่บนแผ่นดินโลกโดยทางเหล่าคริสเตียนผู้ดูแลหรือผู้ปกครอง ภายใต้การชี้นำจากพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ “ผู้บำรุงเลี้ยงองค์สำคัญ.” (1 เปโตร 5:2-4, ล.ม.) พวกผู้ดูแลจะเลียนแบบพระยะโฮวาโดยวิธีใดเมื่อพวกเขาเอาใจใส่สมาชิกสูงวัยในหมู่ฝูงแกะ?
10. มีการทำอะไรบ้างเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุแก่คริสเตียนสูงอายุ? (ดูกรอบหน้า 19.)
10 ไม่นานหลังก่อตั้งประชาคมคริสเตียน เหล่าอัครสาวกแต่งตั้งชาย “เจ็ดคน . . . ซึ่งมีชื่อเสียงดีประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และสติปัญญา” ให้ดูแลการแจกจ่ายอาหารประจำวันแก่บรรดาหญิงม่ายคริสเตียนที่ขัดสน. (กิจการ 6:1-6) ต่อมา เปาโลสั่งติโมเธียวซึ่งเป็นผู้ดูแลให้ทำบัญชีรายชื่อหญิงม่ายสูงอายุผู้เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งมีสิทธิ์จะได้รับความช่วยเหลือด้านวัตถุ. (1 ติโมเธียว 5:3, 9, 10) ทุกวันนี้ก็เช่นกัน เหล่าผู้ดูแลในประชาคมประสานงานกันด้วยความเต็มใจเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คริสเตียนสูงอายุเมื่อเกิดความจำเป็นขึ้น. แต่การเอาใจใส่ผู้สูงอายุที่ซื่อสัตย์ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น.
11. พระเยซูตรัสเช่นไรเกี่ยวกับหญิงม่ายขัดสนที่ถวายเงินบริจาคจำนวนเล็กน้อย?
11 เมื่อใกล้เวลาสิ้นสุดงานรับใช้ของพระเยซูทางแผ่นดินโลก พระองค์เสด็จประทับตรงหน้าตู้เก็บเงินถวายในพระวิหารและ “ทรงพิเคราะห์ดูประชาชนเอาเงินมาใส่ไว้ในตู้นั้น.” จากนั้น มีคนคนหนึ่งที่ทำให้พระองค์สนพระทัยเป็นพิเศษ. บันทึกกล่าวว่า “มีหญิงม่ายคนหนึ่งเป็นคนจนเอาทองแดงสองแผ่น ประมาณสองสตางค์มาใส่ไว้.” พระเยซูทรงเรียกเหล่าสาวกมา แล้วตรัสแก่พวกเขาว่า “เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า, หญิงม่ายจนคนนี้ได้ใส่ไว้ในตู้เก็บเงินถวายมากกว่าคนทั้งปวงที่ใส่ไว้นั้น เพราะว่าคนทั้งปวงนั้นได้เอาเงินเหลือใช้ของเขามาใส่ไว้, แต่ผู้หญิงนี้ขัดสนที่สุดยังได้เอาเงินที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตของตนมาใส่จนหมด.” (มาระโก 12:41-44) ถ้าพูดถึงค่าเงินแล้ว เงินบริจาคของหญิงม่ายมีค่าน้อยนิด แต่พระเยซูทรงทราบว่าพระบิดาของพระองค์ผู้สถิตในสวรรค์ทรงถือว่าการแสดงความเลื่อมใสอย่างสิ้นสุดจิตวิญญาณเช่นนั้นมีค่ามากอย่างยิ่ง. ไม่ว่าหญิงม่ายยากจนคนนี้จะอายุเท่าไร พระเยซูไม่ได้มองข้ามสิ่งที่เธอกระทำ.
12. ผู้ปกครองจะแสดงความหยั่งรู้ค่าโดยวิธีใดต่อการสนับสนุนที่คริสเตียนสูงอายุกระทำ?
12 เช่นเดียวกับพระเยซู คริสเตียนผู้ดูแลไม่ได้มองข้ามสิ่งที่ผู้สูงอายุกระทำในการสนับสนุนการนมัสการแท้. ผู้ปกครองมีเหตุที่จะให้คำชมเชยผู้สูงอายุ เพราะคนเหล่านี้เข้าร่วมในงานเผยแพร่, มีส่วนร่วมในการประชุม, ก่ออิทธิพลในทางเสริมสร้างแก่ประชาคม, และมีความเพียรอดทน. คำพูดหนุนใจจากใจจริงสามารถช่วยผู้สูงอายุให้มี “เหตุที่จะปีติยินดี” ในงานรับใช้ศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขากระทำ โดยวิธีนี้จึงป้องกันไม่ให้พวกเขาเกิดความท้อใจเพราะไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่คริสเตียนคนอื่น ๆ สามารถทำได้ หรือกับสิ่งที่ตนเองเคยทำได้ในอดีต.—ฆะลาเตีย 6:4, ล.ม.
13. ผู้ปกครองสามารถเอาความสามารถและประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาใช้ในทางใดบ้าง?
13 ผู้ปกครองสามารถแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อการสนับสนุนอันมีค่าจากเหล่าคริสเตียนสูงอายุด้วยการเอาประสบการณ์และความสามารถของพวกเขามาใช้. บางครั้งบางคราว ผู้สูงอายุที่เป็นแบบอย่างที่ดีอาจถูกสัมภาษณ์หรือให้ทำการสาธิต. ผู้ปกครองคนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “ผู้ฟังตั้งอกตั้งใจฟังมากเมื่อผมสัมภาษณ์พี่น้องสูงอายุที่เลี้ยงดูลูก ๆ ให้เติบโตในความจริง.” ผู้ปกครองในอีกประชาคมหนึ่งรายงานว่า พี่น้องหญิงไพโอเนียร์คนหนึ่งอายุ 71 ปีประสบความสำเร็จในการช่วยผู้ประกาศราชอาณาจักรหลายคนให้สม่ำเสมอในงานประกาศ. เธอยังสนับสนุนคนเหล่านั้นให้ทำ “สิ่งจำเป็นพื้นฐาน” เช่น การอ่านคัมภีร์ไบเบิลกับข้อคัมภีร์ประจำวัน แล้วคิดรำพึงในสิ่งที่อ่าน.
14. ผู้ปกครองคณะหนึ่งแสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างไรต่อเพื่อนผู้ปกครองคนหนึ่งที่สูงอายุ?
14 พวกผู้ปกครองถือว่าการสนับสนุนจากเพื่อนผู้ปกครองสูงอายุมีค่าเช่นกัน. โชเซ ซึ่งมีอายุ 70 กว่าปีและรับใช้เป็นผู้ปกครองมาหลายสิบปีแล้ว เข้ารับการผ่าตัดใหญ่เมื่อไม่นานมานี้. เมื่อระยะพักฟื้นกินเวลานาน เขาคิดถึงการสละสิทธิพิเศษในการรับใช้ฐานะผู้ดูแลผู้เป็นประธาน. “ปฏิกิริยาของผู้ปกครองคนอื่น ๆ ทำให้ผมประหลาดใจ” โชเซเล่า. “แทนที่จะรับข้อเสนอของผม พวกเขาถามว่าผมจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออะไรเพื่อจะเอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบของผมได้ต่อ ๆ ไป.” ด้วยความช่วยเหลือจากผู้ปกครองคนหนึ่งที่อ่อนวัยกว่า โชเซสามารถรับใช้ฐานะผู้ดูแลผู้เป็นประธานต่อไปด้วยความชื่นชมยินดี และนี่เป็นพระพรแก่ประชาคม. เพื่อนผู้ปกครองคนหนึ่งกล่าวว่า “พวกพี่น้องหยั่งรู้ค่าการงานที่โชเซทำในฐานะผู้ปกครองอย่างมาก. พวกเขารักและนับถือโชเซเนื่องด้วยประสบการณ์และตัวอย่างด้านความเชื่อของเขา. เขาทำประโยชน์ให้แก่ประชาคมเรามากทีเดียว.”
การเอาใจใส่กันและกัน
15. เหตุใดคริสเตียนทุกคนพึงสนใจสวัสดิภาพของผู้สูงอายุที่อยู่ท่ามกลางพวกเขา?
15 ไม่ใช่เฉพาะบุตรที่มีบิดามารดาสูงอายุกับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมเท่านั้นที่ควรเอาใจใส่ผู้สูงอายุ. โดยเปรียบประชาคมคริสเตียนกับร่างกายมนุษย์ เปาโลเขียนว่า “พระเจ้าทรงประกอบร่างกาย โดยให้เกียรติมากขึ้นแก่ส่วนที่ขาด เพื่อจะไม่มีการแตกแยกกันในร่างกาย แต่ให้อวัยวะทั้งหลายในร่างกายต่างเอาใจใส่กัน.” (1 โกรินโธ 12:24, 25, ล.ม.) ฉบับแปลใหม่อ่านว่า “ให้อวัยวะทุกส่วนพะวงซึ่งกันและกัน.” เพื่อประชาคมคริสเตียนจะดำเนินงานอย่างประสานกลมเกลียวกัน สมาชิกแต่ละคนต้องพะวงหรือห่วงใยสวัสดิภาพของเพื่อนร่วมความเชื่อ ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุ.—ฆะลาเตีย 6:2.
16. เราจะแสดงความสนใจต่อผู้สูงอายุโดยวิธีใดเมื่อเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน?
16 การประชุมคริสเตียนทำให้เรามีโอกาสดีเยี่ยมที่จะแสดงความสนใจต่อผู้สูงอายุ. (ฟิลิปปอย 2:4; เฮ็บราย 10:24, 25) เราใช้เวลาสนทนากับผู้สูงอายุในโอกาสเช่นนั้นไหม? ขณะที่อาจเหมาะสมที่จะสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพ เราจะ “แบ่งปันของประทานฝ่ายวิญญาณ” ได้ไหม บางทีโดยการเล่าประสบการณ์ที่เสริมสร้างหรือแบ่งปันข้อคิดจากพระคัมภีร์? เนื่องจากผู้สูงอายุบางคนลุกไปไหนมาไหนไม่สะดวก คงจะเป็นความกรุณาถ้าเราจะเป็นฝ่ายเข้าไปหาเขา แทนที่จะคาดหมายให้เขาเข้ามาหาเรา. หากผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องการได้ยิน เราอาจต้องพูดช้าลงและออกเสียงชัด ๆ. และหากจะให้มี “การให้กำลังใจกันและกัน” อย่างแท้จริง เราก็ต้องตั้งใจฟังสิ่งที่ผู้สูงอายุพูด.—โรม 1:11, 12, ล.ม.
17. เราจะแสดงความห่วงใยอย่างไรต่อคริสเตียนสูงอายุที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน?
17 แล้วถ้าผู้สูงอายุบางคนมาเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนไม่ได้ล่ะ? ยาโกโบ 1:27 (ล.ม.) แสดงว่าการ “เอาใจใส่ลูกกำพร้าและหญิงม่ายในความทุกข์ยากของเขา” เป็นหน้าที่ของเรา. ความหมายอย่างหนึ่งของคำกริยาในภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “เอาใจใส่” คือ “เยี่ยม.” (กิจการ 15:36) และผู้สูงอายุจะหยั่งรู้ค่าการเยี่ยมของเราอย่างแท้จริง! ขณะถูกคุมขังในกรุงโรมประมาณปี ส.ศ. 65 เปาโล “ผู้ชราแล้ว” เหมือนกับอยู่ลำพังคนเดียว. ท่านอยากพบติโมเธียวเพื่อนร่วมงานของท่านอย่างยิ่ง และเขียนว่า “ท่านจงอุสส่าห์มาหาข้าพเจ้าโดยเร็ว.” (ฟิเลโมน 9; 2 ติโมเธียว 1:3, 4; 4:9) แม้ผู้สูงอายุไม่ได้ถูกคุมขังจริง ๆ แต่บางคนในพวกเขาต้องอยู่แต่ในบ้านเนื่องจากปัญหาสุขภาพ. พวกเขาอาจเหมือนกับกำลังกล่าวว่า ‘ขอพยายามมาเยี่ยมฉันให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้.’ เรากำลังตอบรับคำขอนี้ไหม?
18. อะไรอาจเป็นผลดีจากการไปเยี่ยมผู้สูงอายุ?
18 อย่าประเมินผลดีจากการไปเยี่ยมพี่น้องฝ่ายวิญญาณสูงอายุต่ำเกินไป. เมื่อคริสเตียนชื่อโอเนซิโฟโรอยู่ในกรุงโรม เขาพยายามสืบเสาะหาเปาโลจนพบ และเมื่อพบแล้ว ก็ ‘ทำให้ท่านชื่นใจบ่อย ๆ.’ (2 ติโมเธียว 1:16, 17) พี่น้องหญิงสูงอายุคนหนึ่งกล่าวว่า “ฉันชอบใช้เวลาอยู่ด้วยกันกับคนที่อายุอ่อนกว่า. สิ่งที่ฉันชอบที่สุดคือ พวกเขาปฏิบัติกับฉันเหมือนเป็นสมาชิกครอบครัวของเขาเอง. การทำอย่างนี้หนุนใจฉันมากทีเดียว.” คริสเตียนสูงอายุอีกคนหนึ่งกล่าวว่า “ฉันหยั่งรู้ค่ามาก เมื่อมีใครส่งการ์ดให้ฉัน, โทรมาคุยกับฉันแค่เพียงไม่กี่นาที, หรือมาเยี่ยมฉันสักช่วงสั้น ๆ. นั่นทำให้ฉันเหมือนกับได้สูดอากาศบริสุทธิ์.”
พระยะโฮวาประทานบำเหน็จแก่ผู้ที่เอาใจใส่
19. พระพรอะไรบ้างจะเป็นผลของการเอาใจใส่ผู้สูงอายุ?
19 การเอาใจใส่ผู้สูงอายุนำพระพรมาให้มากมาย. การคบหากับผู้สูงอายุและการสามารถเอาความรู้และประสบการณ์ของพวกเขามาใช้ก็เป็นสิทธิพิเศษอยู่แล้ว. ผู้ให้การเอาใจใส่จะมีความสุขอันเนื่องมาจากการให้ และรู้สึกบรรลุผลสำเร็จพร้อมทั้งสงบใจที่ได้ทำหน้าที่รับผิดชอบตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์. (กิจการ 20:35) ยิ่งกว่านั้น คนที่เอาใจใส่ผู้สูงอายุไม่ต้องกลัวว่าตัวเองจะถูกทอดทิ้งในวัยชรา. พระคำของพระเจ้ารับรองแก่เราว่า “บุคคลที่ใจกว้างขวางย่อมได้รับความมั่งคั่ง บุคคลที่รดน้ำ เขาเองจะรับการรดน้ำ.”—สุภาษิต 11:25, ฉบับแปลใหม่.
20, 21. พระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรต่อผู้เอาใจใส่ผู้สูงอายุ และอะไรควรเป็นความตั้งใจมุ่งมั่นของเรา?
20 พระยะโฮวาประทานบำเหน็จแก่บุตรที่ยำเกรงพระเจ้า, เหล่าผู้ดูแล, และคริสเตียนคนอื่น ๆ ที่มีความห่วงใย เนื่องจากพวกเขาเอาใจใส่ความจำเป็นของเพื่อนร่วมความเชื่อผู้สูงอายุอย่างใจกว้าง. น้ำใจเช่นนั้นสอดคล้องกับสุภาษิตที่ว่า “คนที่เอ็นดูเผื่อแผ่แก่คนยากจนเปรียบเหมือนได้ให้พระยะโฮวาทรงยืมไป; และพระองค์จะทรงตอบแทนคุณความดีของเขา.” (สุภาษิต 19:17) หากความรักกระตุ้นเราให้เอ็นดูเผื่อแผ่คนยากจน พระเจ้าทรงถือว่าการให้นั้นเปรียบเหมือนให้พระองค์ทรงยืมไป แล้วพระองค์จะใช้คืนด้วยพระพรต่าง ๆ. พระองค์จะใช้คืนเราเช่นกัน ที่ได้ให้การเอาใจใส่ด้วยความรักแก่เพื่อนผู้นมัสการสูงอายุ ซึ่งหลายคนในพวกเขา ‘ยากจนในโลกนี้ แต่มั่งมีในความเชื่อ.’—ยาโกโบ 2:5, ฉบับแปลใหม่.
21 พระเจ้าพระทัยกว้างจริง ๆ ในการตอบแทน! การตอบแทนอย่างล้นเหลือของพระองค์รวมไปถึงชีวิตนิรันดร์. สำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวาส่วนใหญ่ การตอบแทนนั้นจะหมายถึงชีวิตยืนยาวไม่สิ้นสุดบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน ที่ซึ่งผลจากบาปที่ตกทอดมาจะถูกกำจัดไป และผู้สูงอายุที่ซื่อสัตย์จะได้รับความแข็งแรงกระปรี้กระเปร่าแห่งวัยหนุ่มสาวกลับคืนมา. (วิวรณ์ 21:3-5) ขณะที่เราคอยท่าสมัยที่น่าปรารถนาเช่นนั้น ขอให้เราทำหน้าที่รับผิดชอบสำหรับคริสเตียนต่อ ๆ ไปในการเอาใจใส่ผู้สูงอายุ.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับคำแนะนำที่ใช้ได้จริงเกี่ยวกับวิธีเอาใจใส่บิดามารดาที่สูงอายุ โปรดดูตื่นเถิด! 8 กุมภาพันธ์ 1994 (ภาษาอังกฤษ) หน้า 3-10.
คุณจะตอบอย่างไร?
• บุตรจะแสดงความนับถือบิดามารดาสูงอายุโดยวิธีใด?
• ผู้ปกครองแสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างไรต่อสมาชิกสูงวัยในหมู่ฝูงแกะ?
• คริสเตียนแต่ละคนสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงความสนใจจากใจจริงต่อผู้สูงอายุ?
• พระพรอะไรบ้างเป็นผลจากการเอาใจใส่คริสเตียนสูงอายุ?
[กรอบหน้า 17]
เมื่อพ่อแม่ของเขาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ
ฟิลิปกำลังรับใช้ฐานะอาสาสมัครทำงานก่อสร้าง อยู่ในไลบีเรีย ในปี 1999 เมื่อเขาได้รับข่าวว่าพ่อป่วยหนัก. เนื่องจากเชื่อว่าลำพังแม่เขาคนเดียวคงไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ เขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเพื่อจัดการเรื่องการรักษาพยาบาลให้พ่อ.
ฟิลิปเล่าว่า “การตัดสินใจกลับบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมรู้สึกถึงพันธะที่มีต่อพ่อแม่ของผมเป็นอันดับแรก.” ในช่วงสามปีต่อมา เขาย้ายพ่อกับแม่ไปอยู่ในบ้านที่เหมาะสมมากกว่า และด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนคริสเตียนในท้องถิ่น เขาได้ปรับปรุงบ้านให้เหมาะกับความจำเป็นพิเศษของพ่อ.
ตอนนี้แม่ของฟิลิปพร้อมมากขึ้นสำหรับการรับมือกับปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงของสามี. เมื่อเร็ว ๆ นี้ ฟิลิปสามารถตอบรับคำเชิญเข้าทำงานเป็นอาสาสมัคร ณ สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในมาซิโดเนีย.
[กรอบหน้า 19]
พวกเขาไม่ละเลยความจำเป็นของเธอ
เมื่อเอดา คริสเตียนวัย 85 ปีในออสเตรเลีย ต้องอยู่แต่ในบ้านเพราะสุขภาพไม่แข็งแรง พวกผู้ปกครองในประชาคมจัดเตรียมให้ความช่วยเหลือแก่เธอ. พวกเขาจัดพี่น้องกลุ่มหนึ่งที่จะช่วยเธอได้. เพื่อนร่วมความเชื่อเหล่านี้ยินดีช่วยเอาใจใส่ดูแลงานต่าง ๆ เช่น ทำความสะอาดบ้าน, ซักเสื้อผ้า, ทำอาหาร, และออกไปทำธุระให้.
ความช่วยเหลือดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว. จนถึงปัจจุบัน มีเพื่อนพยานฯ มากกว่า 30 คนแล้วที่ให้การช่วยเหลือเอดา. พวกเขายังคงไปเยี่ยมเธอ, อ่านสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลให้เธอฟัง, คอยแจ้งข่าวเรื่องความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณของสมาชิกภายในประชาคม, และอธิษฐานร่วมกับเธอเป็นประจำ.
ผู้ปกครองคนหนึ่งในประชาคมนั้นให้ความเห็นว่า “ผู้ที่เอาใจใส่ดูแลเอดาถือเป็นสิทธิพิเศษที่ได้ช่วยเหลือเธอ. หลายคนได้รับการกระตุ้นจากการที่เธอรับใช้อย่างซื่อสัตย์มาตลอดหลายสิบปี และการละเลยไม่เอาใจใส่ความจำเป็นของเธอนั้นเป็นเรื่องเหลือคิดสำหรับพวกเขา.”
[ภาพหน้า 16]
เราแสดงความรักต่อบิดามารดาสูงอายุอย่างไม่อั้นไหม?
[ภาพหน้า 18]
ทุกคนในประชาคมสามารถแสดงความรักของเขาต่อเพื่อนร่วมความเชื่อผู้สูงอายุ