พระพรมีแก่ผู้ที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า
“ข้าแต่พระยะโฮวา . . . พวกเขาจะกราบลงจำเพาะพระองค์, และจะถวายพระเกียรติแด่พระนามของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 86:9, ล.ม.
1. เหตุใดเราจึงสามารถนำพระเกียรติมาสู่พระเจ้าในวิธีที่ดีเยี่ยมกว่าวิธีที่สิ่งทรงสร้างที่ปราศจากชีวิตสามารถทำได้?
พระยะโฮวาสมควรจะได้รับคำสรรเสริญจากสิ่งทรงสร้างทั้งสิ้น ของพระองค์. ขณะที่สิ่งทรงสร้างที่ปราศจากชีวิตนำพระเกียรติมาสู่พระองค์โดยไร้ถ้อยคำ มนุษย์เรามีความสามารถในการคิดหาเหตุผล, เข้าใจ, แสดงความขอบคุณ, และนมัสการ. ด้วยเหตุนี้ ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญจึงบอกเราว่า “มนุษย์โลกทั้งสิ้น, จงบรรเลงเพลงไพเราะสรรเสริญพระเจ้า; จงร้องเพลงถวายเกียรติยศแก่พระนามของพระองค์: ให้ความสรรเสริญนั้นเป็นสง่าราศีแก่พระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 66:1, 2.
2. ใครที่ตอบรับคำบัญชาให้ถวายพระเกียรติแด่พระนามของพระเจ้า และเพราะเหตุใด?
2 มนุษยชาติส่วนใหญ่ไม่ยอมรับว่ามีพระเจ้า หรือไม่ก็ปฏิเสธที่จะถวายพระเกียรติแด่พระองค์. แม้เป็นเช่นนั้น พยานของพระยะโฮวามากกว่าหกล้านคน ใน 235 ดินแดน แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเห็น ‘คุณลักษณะต่าง ๆ ของพระเจ้าอันไม่ประจักษ์แก่ตา’ โดยทางสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงสร้าง และ “ได้ยิน” คำบอกกล่าวอันปราศจากสำเนียงของสิ่งทรงสร้าง. (โรม 1:20, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 19:2, 3) โดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล พวกเขายังได้มารู้จักและรักพระยะโฮวาด้วย. บทเพลงสรรเสริญ 86:9, 10 (ล.ม.) บอกล่วงหน้าว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา ชนประเทศทั้งปวงที่พระองค์ได้ทรงสร้างจะพากันมา, และพวกเขาจะกราบลงจำเพาะพระองค์, และจะถวายพระเกียรติแด่พระนามของพระองค์. เพราะพระองค์ทรงเป็นใหญ่และกระทำสิ่งน่าอัศจรรย์; พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า, พระองค์แต่ผู้เดียว.”
3. “ชนฝูงใหญ่” ถวาย “การรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ . . . ทั้งวันทั้งคืน” อย่างไร?
3 คล้ายกัน วิวรณ์ 7:9, 15 (ล.ม.) กล่าวถึง “ชนฝูงใหญ่” แห่งผู้นมัสการว่าพวกเขา “ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่ [พระเจ้า] ทั้งวันทั้งคืนในพระวิหารของพระองค์.” นี่ใช่ว่าพระเจ้าเรียกร้องให้ผู้รับใช้พระองค์สรรเสริญพระองค์ไม่หยุดตามตัวอักษรจริง ๆ แต่ว่าผู้นมัสการพระองค์เป็นองค์การระดับโลก. ฉะนั้น ขณะที่ดินแดนส่วนหนึ่งเป็นเวลากลางคืน ผู้รับใช้ของพระเจ้าในอีกซีกหนึ่งของโลกก็กำลังขะมักเขม้นในการให้คำพยาน. โดยวิธีนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าดวงอาทิตย์ไม่เคยตกสำหรับผู้ที่นำพระเกียรติมาสู่พระยะโฮวา. ในอีกไม่ช้า “ทุกสิ่งที่หายใจ” จะพากันเปล่งเสียงร้องสรรเสริญพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 150:6, ล.ม.) แต่ในระหว่างนี้ เราแต่ละคนจะทำอะไรได้เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า? เราอาจเผชิญข้อท้าทายอะไรบ้าง? และมีพระพรอะไรบ้างคอยท่าคนเหล่านั้นที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า? เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ขอเราพิจารณาเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับชาวอิสราเอลตระกูลฆาด.
ข้อท้าทายสมัยโบราณ
4. คนตระกูลฆาดเผชิญข้อท้าทายอะไร?
4 ก่อนเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญา ชาวอิสราเอลตระกูลฆาดขอตั้งหลักแหล่งในพื้นที่ซึ่งเหมาะกับการเลี้ยงสัตว์ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน. (อาฤธโม 32:1-5) การใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจะทำให้พวกเขาต้องรับมือกับข้อท้าทายต่าง ๆ ที่ยากยิ่ง. ตระกูลต่าง ๆ ที่อยู่ฝั่งตะวันตกจะมีหุบเขาจอร์แดนเป็นสิ่งขวางกั้นทางธรรมชาติเพื่อป้องกันการรุกรานทางทหาร. (ยะโฮซูอะ 3:13-17) แต่สำหรับดินแดนต่าง ๆ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนนั้น หนังสือภูมิประเทศทางประวัติศาสตร์ของดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (ภาษาอังกฤษ) โดย จอร์จ อาดัม สมิท กล่าวว่า “[ดินแดนเหล่านั้น] เป็นผืนราบโดยตลอด แผ่ออกสู่ที่ราบสูงอาหรับอันกว้างใหญ่ แทบไม่มีอะไรขวางกั้น. อาณาเขตเหล่านั้นจึงถูกรุกรานได้โดยง่ายตลอดเวลาจากพวกเร่ร่อนที่ต้องการที่ดิน ซึ่งบางส่วนแห่กันมาที่นั่นทุกปีเพื่อหาทุ่งหญ้าสำหรับสัตว์.”
5. ยาโคบสนับสนุนลูกหลานของฆาดให้ทำอย่างไรเมื่อถูกโจมตี?
5 คนตระกูลฆาดจะรับมือกับการเบียดเบียนไม่หยุดหย่อนเช่นนั้นได้อย่างไร? หลายศตวรรษก่อนหน้านั้น ยาโคบบรรพบุรุษของพวกเขาได้กล่าวพยากรณ์ไว้ก่อนจะสิ้นใจว่า “ฝ่ายฆาดจะมีกองทัพมาย่ำยีเขา; แต่เขาจะกลับตามไล่ตีกองทัพนั้น.” (เยเนซิศ 49:19) ฟังดูเผิน ๆ คำพูดนี้อาจชวนให้ห่อเหี่ยวใจ. แต่ที่แท้แล้ว ถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำสั่งแก่ชาวฆาดให้ทำการต่อสู้. ยาโคบรับรองแก่พวกเขาว่า หากมีการรุกล้ำเช่นนั้น ชาวฆาดจะไล่ตามตีผู้บุกรุกให้ล่าถอยกลับไปอย่างน่าอดสู.
ข้อท้าทายต่อการนมัสการของเราสมัยปัจจุบัน
6, 7. สภาพการณ์ของคริสเตียนในปัจจุบันคล้ายกันอย่างไรกับของคนตระกูลฆาด?
6 เช่นเดียวกับคนตระกูลฆาด ไม่มีอะไรขวางกั้นคริสเตียนในทุกวันนี้ให้พ้นจากความบีบคั้นและภาระหนักอันเนื่องจากระบบของซาตาน. ไม่มีการปกป้องอย่างอัศจรรย์เพื่อเราจะไม่ต้องต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้น. (โยบ 1:10-12) หลายคนในพวกเราต้องรับมือความกดดันเมื่อไปโรงเรียน, ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ, และในการเลี้ยงดูบุตร. และก็มีความกดดันที่มาจากภายในด้วย. บางคนต้องทนกับ “เสี้ยนหนามในเนื้อหนัง” ในรูปแบบของความเจ็บป่วยร้ายแรงหรือทุพพลภาพ. (2 โกรินโธ 12:7-10) บางคนเป็นทุกข์กับความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า. “ยามทุกข์ร้อน” ของวัยชราอาจทำให้คริสเตียนสูงอายุไม่สามารถรับใช้พระยะโฮวาด้วยพละกำลังที่พวกเขาเคยมี.—ท่านผู้ประกาศ 12:1.
7 นอกจากนั้น อัครสาวกเปาโลเตือนใจเราว่า เรามีการ “ต่อสู้กับบรรดาวิญญาณอันชั่วในสถานอากาศ.” (เอเฟโซ 6:12) เราต้องเผชิญ “วิญญาณของโลก” อยู่เสมอ นั่นคืออิทธิพลที่ชักจูงให้เกิดการขืนอำนาจกับความเสื่อมทางศีลธรรม ซึ่งซาตานและผีปิศาจของมันส่งเสริม. (1 โกรินโธ 2:12; เอเฟโซ 2:2, 3) เช่นเดียวกับโลตผู้ยำเกรงพระเจ้า พวกเราในทุกวันนี้อาจเป็นทุกข์กับสิ่งผิดศีลธรรมที่ผู้คนรอบข้างพูดและกระทำกัน. (2 เปโตร 2:7) เรายังตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกซาตานโจมตีโดยตรงด้วย. ซาตานกำลังทำสงครามกับชนที่เหลือผู้ถูกเจิม “ซึ่งปฏิบัติตามข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระเจ้าและมีงานเป็นพยานถึงพระเยซู.” (วิวรณ์ 12:17, ล.ม.) “แกะอื่น” ของพระเยซูก็ประสบการโจมตีจากซาตานเช่นกันในรูปแบบของการสั่งห้ามและการกดขี่ข่มเหง.—โยฮัน 10:16.
ยอมจำนนหรือต่อสู้?
8. เราควรตอบสนองอย่างไรต่อการโจมตีของซาตาน และเพราะเหตุใด?
8 เราควรตอบสนองอย่างไรต่อการโจมตีของซาตาน? เช่นเดียวกับตระกูลฆาดสมัยโบราณ เราต้องแข็งแรงฝ่ายวิญญาณและต่อสู้ตามการชี้นำของพระเจ้า. น่าเศร้า บางคนเริ่มยอมจำนนต่อแรงกดดันของชีวิต และละเลยหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายวิญญาณของตน. (มัดธาย 13:20-22) พยานฯ คนหนึ่งกล่าวถึงเหตุที่มีผู้เข้าร่วมการประชุมในประชาคมของเขาน้อยดังนี้: “จริง ๆ แล้วพี่น้องอ่อนล้า. พวกเขาเผชิญความกดดันอย่างหนัก.” เป็นที่ยอมรับ ผู้คนในทุกวันนี้มีสาเหตุมากมายที่จะเหนื่อยล้า. จึงง่ายที่การนมัสการพระเจ้าจะถูกมองว่าเป็นความกดดันอีกอย่างหนึ่ง เป็นพันธะที่เป็นภาระ. แต่ทัศนะเช่นนั้นฟังขึ้นหรือถูกต้องไหม?
9. การรับแอกของพระคริสต์จะทำให้สดชื่นอย่างไร?
9 ขอให้พิจารณาถ้อยคำที่พระเยซูตรัสแก่ฝูงชนในสมัยของพระองค์ซึ่งเหน็ดเหนื่อยเช่นกันเนื่องจากความกดดันของชีวิต: “บรรดาผู้ที่ทำงานหนักและมีภาระมาก จงมาหาเรา และเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น.” พระเยซูหมายความว่า ความสดชื่นจะเกิดจากการลดงานรับใช้พระเจ้าของผู้นั้นลงไหม? ตรงกันข้าม พระเยซูตรัสว่า “จงรับแอกของเราไว้บนเจ้าทั้งหลายและเรียนจากเรา เพราะเรามีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม และเจ้าจะได้ความสดชื่นสำหรับจิตวิญญาณของเจ้า.” แอกคือโครงไม้หรือโลหะที่ทำให้มนุษย์หรือสัตว์แบกสัมภาระหนัก ๆ ได้. ถ้าเป็นอย่างนั้น จะมีใครต้องการรับแอกอย่างนี้ไว้ไหม? เรา “มีภาระมาก” อยู่แล้วมิใช่หรือ? ใช่ แต่ข้อความภาษากรีกในที่นี้แปลได้อีกอย่างว่า “จงเข้ามาอยู่ใต้แอกของเราด้วยกันกับเรา.” คิดดูสิ พระเยซูเสนอว่าจะช่วยเราแบกภาระ! เราไม่จำเป็นต้องแบกภาระดังกล่าวลำพังด้วยกำลังของเราเอง.—มัดธาย 9:36; 11:28, 29, ล.ม., เชิงอรรถ; 2 โกรินโธ 4:7.
10. ผลจะเป็นเช่นไรถ้าเราบากบั่นในการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า?
10 เมื่อเรารับแอกแห่งการเป็นสาวก เรากำลังต่อสู้กับซาตาน. ยาโกโบ 4:7 สัญญาว่า “จงต่อสู้กับมาร และมันจะหนีไปจากท่าน.” นี่ไม่ได้หมายความว่าการต่อสู้มารเป็นเรื่องง่าย ๆ. การรับใช้พระเจ้าเกี่ยวข้องกับความบากบั่นอย่างมาก. (ลูกา 13:24) แต่คัมภีร์ไบเบิลให้คำสัญญาดังต่อไปนี้ไว้ที่บทเพลงสรรเสริญ 126:5 ว่า “คนที่หว่านพืชด้วยน้ำตาไหลจะเก็บเกี่ยวผลด้วยความยินดี.” ถูกแล้ว เราไม่ได้นมัสการพระเจ้าที่ไม่หยั่งรู้ค่า. พระองค์เป็น “ผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง” และอวยพรคนเหล่านั้นที่ถวายพระเกียรติแด่พระองค์.—เฮ็บราย 11:6, ล.ม.
การถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักร
11. งานประกาศเป็นสิ่งป้องกันเราจากการโจมตีของซาตานอย่างไร?
11 พระเยซูทรงบัญชาว่า “ฉะนั้น จงไปทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก.” งานประกาศเป็นวิธีสำคัญที่สุดในการถวาย “เครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญ” แด่พระเจ้า. (มัดธาย 28:19, ล.ม.; เฮ็บราย 13:15, ล.ม.) การ ‘สวมเท้า’ ของเราด้วย “ข่าวดีแห่งสันติสุข” เป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ใน “ยุทธภัณฑ์ครบชุด” ของเรา ซึ่งเป็นชุดป้องกันเราจากการโจมตีของซาตาน. (เอเฟโซ 6:11-15, ล.ม.) การสรรเสริญพระเจ้าในงานประกาศเป็นวิธีอันดีเยี่ยมในการเสริมสร้างความเชื่อของเรา. (2 โกรินโธ 4:13) การทำเช่นนั้นช่วยเราไม่ให้คิดในแง่ลบ. (ฟิลิปปอย 4:8) การเข้าส่วนร่วมในงานประกาศทำให้เราได้ชื่นชมกับการคบหาอย่างที่เสริมสร้างกับเพื่อนร่วมนมัสการ.
12, 13. การเข้าร่วมเป็นประจำในงานประกาศก่อประโยชน์แก่ครอบครัวอย่างไร? จงยกตัวอย่าง.
12 งานประกาศอาจเป็นกิจกรรมที่ก่อประโยชน์แก่ครอบครัวด้วย. แน่นอน เด็ก ๆ จำต้องมีนันทนาการในปริมาณที่เหมาะสม. อย่างไรก็ตาม เวลาที่ครอบครัวใช้ไปในงานประกาศไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อ. พ่อแม่สามารถทำให้งานประกาศก่อความเพลิดเพลินมากขึ้นโดยฝึกฝนลูก ๆ ให้มีประสิทธิภาพในงานประกาศ. เด็ก ๆ มักจะเพลิดเพลินกับสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีมิใช่หรือ? โดยการแสดงความสมดุล ไม่คาดหมายจากลูก ๆ มากกว่าที่เขาสามารถทำได้ พ่อแม่สามารถช่วยลูก ๆ ให้ประสบความยินดีในงานประกาศ.—เยเนซิศ 33:13, 14.
13 นอกจากนี้ ครอบครัวที่สรรเสริญพระเจ้าร่วมกันจะเกิดความผูกพันที่แนบแน่น. ขอให้พิจารณาตัวอย่างของพี่น้องหญิงคนหนึ่งที่มีลูกห้าคนถูกสามีที่ไม่เชื่อทิ้งไป. เธอจึงเผชิญข้อท้าทายในการเริ่มเข้าสู่งานอาชีพและการจัดหาสิ่งฝ่ายวัตถุให้ลูก ๆ. เธอเหนื่อยล้าจนละเลยผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณของลูก ๆ ไหม? เธอเล่าว่า “ฉันศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับสรรพหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลอย่างจริงจัง และพยายามนำสิ่งที่ได้อ่านไปใช้. ฉันพาลูก ๆ ไปประชุมและออกประกาศตามบ้านเป็นประจำ. ผลจากความพยายามของฉันหรือคะ? ลูกทั้งห้าคนรับบัพติสมา.” การเข้าร่วมอย่างเต็มที่ในการประกาศจะช่วยคุณได้เช่นกันในการพยายามอบรมเลี้ยงดูลูก ๆ “ด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.”—เอเฟโซ 6:4, ล.ม.
14. (ก) เยาวชนจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าได้โดยวิธีใดที่โรงเรียน? (ข) อะไรสามารถช่วยเยาวชนไม่ให้ “รู้สึกละอายในเรื่องข่าวดี”?
14 เยาวชนทั้งหลาย หากคุณอยู่ในประเทศที่ไม่มีกฎหมายสั่งห้ามงานประกาศ คุณถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยการให้คำพยานที่โรงเรียนไหม หรือว่าคุณปล่อยให้ความกลัวมนุษย์ยับยั้งคุณไว้? (สุภาษิต 29:25) พยานฯ วัย 13 ปีคนหนึ่งในเปอร์โตริโกเขียนว่า “หนูไม่เคยรู้สึกอายที่จะประกาศที่โรงเรียนเพราะหนูรู้ว่านี่คือความจริง. หนูมักจะยกมือในชั้นเรียนเพื่อบอกสิ่งที่หนูได้เรียนรู้จากคัมภีร์ไบเบิล. ในช่วงพัก หนูจะไปห้องสมุดและอ่านหนังสือหนุ่มสาวถาม.”a พระยะโฮวาอวยพรความพยายามของเธอไหม? เธอรายงานว่า “บางครั้งเพื่อนนักเรียนก็เข้ามาถามคำถามต่าง ๆ และถึงกับบอกว่าอยากได้หนังสือนั้นบ้าง.” หากที่ผ่านมาคุณลังเลใจในเรื่องนี้ คุณอาจต้องพิสูจน์แก่ตัวเองในเรื่อง “พระทัยประสงค์อันดี ที่น่ารับไว้และสมบูรณ์พร้อมของพระเจ้า” โดยการหมั่นศึกษาส่วนตัว. (โรม 12:2, ล.ม.) เมื่อคุณมั่นใจว่าสิ่งที่คุณเรียนรู้เป็นความจริง คุณจะไม่มีวัน “รู้สึกละอายในเรื่องข่าวดี.”—โรม 1:16, ล.ม.
‘ประตูที่เปิดอยู่’ สำหรับงานรับใช้
15, 16. “ประตูใหญ่ซึ่งนำไปสู่การงาน” อะไรที่คริสเตียนบางคนเข้าไป และผลเป็นพระพรประการใด?
15 อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ประตูใหญ่ซึ่งนำไปสู่การงาน” เปิดแก่ท่านแล้ว. (1 โกรินโธ 16:9, ล.ม.) สภาพการณ์ของคุณทำให้เป็นไปได้ไหมที่คุณจะเข้าประตูไปสู่การงานเพิ่มขึ้น? เพื่อเป็นตัวอย่าง การเข้าร่วมงานไพโอเนียร์ประจำหรือสมทบเกี่ยวข้องกับการอุทิศเวลา 70 หรือ 50 ชั่วโมงต่อเดือนให้กับงานประกาศ. เป็นธรรมดาที่เพื่อนคริสเตียนย่อมจะหยั่งรู้ค่าไพโอเนียร์เนื่องด้วยงานรับใช้อย่างซื่อสัตย์ของพวกเขา. แต่การที่ไพโอเนียร์ใช้เวลามากกว่าในงานรับใช้ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเหนือกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาปลูกฝังเจตคติที่พระเยซูสนับสนุนว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นบ่าวที่ไม่มีบุญคุณต่อนาย, ข้าพเจ้าได้กระทำตามหน้าที่ซึ่งข้าพเจ้าควรกระทำเท่านั้น.”—ลูกา 17:10.
16 การเป็นไพโอเนียร์เรียกร้องการมีวินัยกับตัวเอง, การจัดระเบียบส่วนตัว, และความเต็มใจที่จะเสียสละ. แต่พระพรที่ตามมานั้นคุ้มค่ามาก. ไพโอเนียร์สาวคนหนึ่งชื่อทามิกา กล่าวว่า “การสามารถจะใช้คำแห่งความจริงของพระเจ้าได้อย่างถูกต้องนั้นเป็นพระพรอย่างแท้จริง. เมื่อคุณเป็นไพโอเนียร์ คุณใช้คัมภีร์ไบเบิลบ่อยมาก. ตอนนี้เมื่อฉันไปตามบ้าน ฉันสามารถคิดถึงข้อคัมภีร์ที่เหมาะกับแต่ละคนที่ฉันคุยด้วย.” (2 ติโมเธียว 2:15) ไพโอเนียร์คนหนึ่งชื่อไมกากล่าวว่า “การเห็นว่าความจริงส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างไรนั้นเป็นพระพรอันน่าพิศวงอีกอย่างหนึ่ง.” เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ชื่อแมตทิวกล่าวคล้าย ๆ กันถึงความยินดีจาก “การเห็นผู้คนเข้ามาในความจริง. ไม่มีความยินดีอื่นใดจะมาแทนที่ได้.”
17. คริสเตียนคนหนึ่งเอาชนะความรู้สึกหวั่นกลัวงานไพโอเนียร์ได้อย่างไร?
17 คุณจะคิดถึงการเข้าสู่งานไพโอเนียร์ได้ไหม? บางที คุณอยากจะทำอย่างนั้น แต่ก็รู้สึกว่าไม่มีความสามารถพอ. พี่น้องหญิงวัยสาวคนหนึ่งที่ชื่อเคนยาทายอมรับว่า “ดิฉันเคยรู้สึกหวั่นกลัวงานไพโอเนียร์. ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถ ไม่รู้ว่าจะเตรียมคำนำหรือหาเหตุผลจากพระคัมภีร์อย่างไร.” อย่างไรก็ดี ผู้ปกครองได้มอบหมายพี่น้องหญิงไพโอเนียร์ที่มีประสบการณ์ให้ทำงานด้วยกันกับเธอ. เคนยาทาเล่าว่า “ดิฉันรู้สึกสนุกเมื่อทำงานกับเธอ. นั่นทำให้ดิฉันอยากเป็นไพโอเนียร์.” ด้วยการให้กำลังใจและการฝึกอบรมบ้าง คุณอาจจะอยากเป็นไพโอเนียร์ด้วยเหมือนกัน.
18. คนที่เข้าสู่งานรับใช้ประเภทมิชชันนารีอาจประสบพระพรอะไร?
18 งานไพโอเนียร์อาจเปิดประตูไปสู่สิทธิพิเศษอื่น ๆ ในงานรับใช้. ตัวอย่างเช่น คู่สมรสบางคู่อาจมีคุณสมบัติที่จะเข้ารับการฝึกอบรมเป็นมิชชันนารีเพื่อจะถูกส่งไปทำงานประกาศในต่างแดน. พวกมิชชันนารีต้องปรับตัวเข้ากับประเทศใหม่ บางทีอาจหมายถึง ภาษาใหม่, วัฒนธรรมใหม่, และอาหารชนิดใหม่. แต่พระพรนานัปการทำให้ความไม่สะดวกเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญ. มิลเดร็ด มิชชันนารีในเม็กซิโกที่ผ่านประสบการณ์มามากคนหนึ่งกล่าวว่า “ฉันไม่เคยรู้สึกเสียใจเลยที่ตัดสินใจเป็นมิชชันนารี. นี่เป็นความปรารถนาของฉันตั้งแต่เป็นเด็ก.” เธอได้รับพระพรอะไร? “ในประเทศของฉัน การหาใครสักคนที่จะศึกษาพระคัมภีร์เป็นเรื่องยาก. ที่นี่ ฉันเคยมีนักศึกษาถึง 4 รายที่เริ่มออกประกาศพร้อมกัน”!
19, 20. งานรับใช้ที่เบเธล, งานรับใช้นานาชาติ, และโรงเรียนฝึกอบรมเพื่องานรับใช้ นำพระพรมาสู่หลายคนอย่างไร?
19 คนเหล่านั้นที่ทำงานรับใช้ที่เบเธล ณ สำนักงานสาขาต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวาก็ได้รับพระพรมากมายเช่นกัน. สเวน พี่น้องชายวัยหนุ่มคนหนึ่งที่รับใช้ในเยอรมนี กล่าวถึงงานของเขาที่เบเธลว่า “ผมรู้สึกว่าผมกำลังทำอะไรบางอย่างที่มีคุณค่าถาวร. ผมอาจใช้ทักษะความชำนาญของผมในทางโลก. แต่นั่นก็คงจะเหมือนกับการฝากเงินไว้ในธนาคารที่กำลังจะล้มละลาย.” จริงอยู่ การรับใช้ฐานะอาสาสมัครที่ไม่ได้รับค่าจ้างเกี่ยวข้องกับการเสียสละ. แต่สเวนกล่าวว่า “เมื่อคุณกลับไปห้องพัก คุณรู้ว่าทุกสิ่งที่คุณทำไปในวันนั้นก็เพื่อพระยะโฮวา. และนั่นก่อความรู้สึกที่ ‘วิเศษ.’”
20 พี่น้องอีกจำนวนหนึ่งชื่นชมกับพระพรในงานรับใช้นานาชาติ ทำงานก่อสร้างสำนักงานสาขาในต่างแดน. สามีภรรยาคู่หนึ่งที่ทำงานมอบหมายมาแล้วในแปดประเทศเขียนว่า “พี่น้องที่นี่วิเศษมาก. เป็นเรื่องแสนเศร้าที่จะต้องจากที่นี่ไป ซึ่งนับเป็นครั้งที่แปดที่เราหัวใจ ‘สลาย.’ ประสบการณ์ที่เราได้รับนั้นยอดเยี่ยมจริง ๆ!” นอกจากนั้น ก็มีโรงเรียนฝึกอบรมเพื่องานรับใช้. โรงเรียนนี้ให้การฝึกอมรมทางฝ่ายวิญญาณแก่พี่น้องชายโสดที่มีคุณวุฒิ. ผู้สำเร็จการศึกษาคนหนึ่งเขียนว่า “เป็นเรื่องยากมากสำหรับผมที่จะหาถ้อยคำมาแสดงความขอบคุณสำหรับโรงเรียนที่ดีเยี่ยมอย่างนี้. มีองค์การอื่นใดอีกที่จะพยายามมากเพียงนี้เพื่อให้การฝึกอบรม?”
21. คริสเตียนทุกคนเผชิญข้อท้าทายอะไรในการรับใช้พระเจ้า?
21 ใช่แล้ว มีประตูสู่การงานหลายประตูเปิดอยู่. จริงอยู่ พวกเราส่วนใหญ่ไม่สามารถไปรับใช้ที่เบเธลหรือในต่างแดน. พระเยซูเองก็ยอมรับว่าคริสเตียนจะเกิด “ผล” ในปริมาณต่างกันเนื่องจากสภาพการณ์ที่แตกต่างกันไป. (มัดธาย 13:23) ฉะนั้น ข้อท้าทายสำหรับเราที่เป็นคริสเตียนคือการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากสภาพการณ์ของเรา—เข้าส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการรับใช้พระยะโฮวาเท่าที่สภาพการณ์ของเราอำนวยให้. เมื่อเราทำอย่างนั้น เรากำลังถวายพระเกียรติแด่พระยะโฮวา และมั่นใจได้ว่าพระองค์ทรงปีติยินดียิ่ง. ขอพิจารณาเอทเทิลพี่น้องหญิงสูงอายุในบ้านพักคนชราเป็นตัวอย่าง. เธอให้คำพยานเป็นประจำแก่คนที่อยู่ร่วมบ้านพักเดียวกัน และให้คำพยานทางโทรศัพท์ด้วย. แม้ว่ามีขีดจำกัด เธอทำงานรับใช้ของเธออย่างสิ้นสุดจิตวิญญาณ.—มัดธาย 22:37.
22. (ก) มีวิธีใดอีกที่เราสามารถนำพระเกียรติมาสู่พระเจ้า? (ข) สมัยอันน่าพิศวงอะไรคอยท่าเราอยู่?
22 แม้กระนั้น จำไว้ว่าการประกาศไม่ได้เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่เราจะนำพระเกียรติมาสู่พระยะโฮวา. โดยการประพฤติและการปรากฏตัวของเราอย่างที่เป็นแบบอย่าง ทั้งในที่ทำงาน, ที่โรงเรียน, และที่บ้าน เราทำให้พระทัยพระยะโฮวาปีติยินดี. (สุภาษิต 27:11) สุภาษิต 28:20 (ฉบับแปลใหม่) ให้คำรับรองว่า “คนที่ซื่อสัตย์จะได้รับพรมากมาย.” ฉะนั้น เราควร “หว่านมาก” ในงานรับใช้พระเจ้า และแน่ใจว่าจะเก็บเกี่ยวพระพรมากมาย. (2 โกรินโธ 9:6) เมื่อทำเช่นนั้น เราจะมีสิทธิพิเศษได้อยู่ในสมัยอันน่าพิศวงที่ “ทุกสิ่งที่หายใจ” จะถวายพระเกียรติแด่พระยะโฮวาอย่างที่พระองค์สมควรจะได้รับอย่างยิ่ง!—บทเพลงสรรเสริญ 150:6, ฉบับแปลใหม่.
[เชิงอรรถ]
a หนังสือคำถามที่หนุ่มสาวถาม—คำตอบที่ได้ผล จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณจำได้ไหม?
• ประชาชนของพระเจ้ารับใช้พระยะโฮวา “ทั้งวันทั้งคืน” อย่างไร?
• คนตระกูลฆาดเผชิญข้อท้าทายอะไร และนั่นสอนอะไรแก่คริสเตียนในทุกวันนี้?
• งานประกาศเป็นสิ่งป้องกันเราจากการโจมตีของซาตานอย่างไร?
• บางคนเข้าใน “ประตู” อะไรที่เปิดอยู่ และพวกเขาได้รับพระพรอะไรบ้าง?
[ภาพหน้า 15]
เช่นเดียวกับชาวฆาดที่ต่อสู้กองกำลังที่เที่ยวปล้นสะดม คริสเตียนต้องต่อสู้การโจมตีของซาตาน
[ภาพหน้า 17]
เราชื่นชมกับการคบหาที่เสริมสร้างในงานประกาศ
[ภาพหน้า 18]
งานไพโอเนียร์อาจเปิดประตูไปสู่สิทธิพิเศษอื่น ๆ ในงานรับใช้ อย่างเช่น:
1. งานรับใช้นานาชาติ
2. งานรับใช้ที่เบเธล
3. งานรับใช้ประเภทมิชชันนารี