คุณมีเหตุผลที่จะมั่นใจได้ไหมในความหวังเรื่องอุทยาน?
“ข้าพเจ้ารู้จักชายคนหนึ่งผู้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับพระคริสต์ . . . เขาถูกรับเข้าสู่อุทยาน.” —2 โกรินโธ 12:2, 4, ล.ม.
1. คำสัญญาอะไรในคัมภีร์ไบเบิลเป็นที่ดึงดูดใจหลายคน?
อุทยาน. คุณจำได้ไหมว่าคุณรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินคำสัญญาของพระเจ้าเรื่องอุทยานบนแผ่นดินโลกเป็นครั้งแรก? คุณอาจคิดนึกถึงตอนที่คุณเรียนรู้ว่า ‘ตาของคนตาบอดจะเห็นได้, หูของคนหูหนวกจะได้ยิน, และจะมีน้ำพุพลุ่งขึ้นในป่ากันดาร’ ในสภาพแวดล้อมอันงามสะพรั่ง. หรือเกี่ยวกับคำพยากรณ์เรื่องหมาป่าอยู่กับลูกแกะ และลูกแพะอยู่กับเสือดาวล่ะ? คุณคงตื่นเต้นมิใช่หรือที่ได้อ่านจากคัมภีร์ไบเบิลว่าคนที่คุณรักซึ่งเสียชีวิตไปจะกลับมามีชีวิตอีกพร้อมกับความหวังที่จะได้อยู่ในอุทยาน?—ยะซายา 11:6; 35:5, 6; โยฮัน 5:28, 29.
2, 3. (ก) ทำไมจึงกล่าวได้ว่าความหวังของคุณที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลใช่ว่าปราศจากมูลฐาน? (ข) เรามีพื้นฐานอะไรอีกสำหรับความหวังที่เรามี?
2 ความหวังของคุณใช่ว่าปราศจากมูลฐาน. คุณมีเหตุผลที่จะเชื่อคำสัญญาในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องอุทยาน. ตัวอย่างเช่น คุณมั่นใจในถ้อยคำที่พระเยซูตรัสกับคนร้ายที่ถูกตรึงว่า “เจ้าจะอยู่กับเราในอุทยาน.” (ลูกา 23:43, ล.ม.) คุณมั่นใจในคำสัญญาที่ว่า “ตามคำสัญญาของพระองค์นั้น เราจึงคอยท่าท้องฟ้าอากาศใหม่และแผ่นดินโลกใหม่, ซึ่งจะเป็นที่ที่ความชอบธรรมจะดำรงอยู่.” คุณมั่นใจด้วยเช่นกันในคำสัญญาที่พระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยด; ความตายจะไม่มีอีกต่อไป; ความเศร้าโศก, เสียงร้อง, และความเจ็บปวดจะหมดไป. คำสัญญาเหล่านี้หมายความว่าจะมีอุทยานบนแผ่นดินโลกอีก!—2 เปโตร 3:13; วิวรณ์ 21:4.
3 พื้นฐานอีกประการหนึ่งสำหรับความหวังเรื่องอุทยานนี้ก็คืออะไรบางอย่างที่คริสเตียนทั่วโลกประสบอยู่แล้วในขณะนี้. พื้นฐานนั้นคืออะไร? พระเจ้าได้ทรงสร้างอุทยานฝ่ายวิญญาณและนำประชาชนของพระองค์เข้าสู่อุทยานนั้น. คำว่า “อุทยานฝ่ายวิญญาณ” อาจดูเหมือนเป็นนามธรรม เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่มีการบอกล่วงหน้าไว้แล้วถึงอุทยานนี้ และอุทยานนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง.
นิมิตเกี่ยวกับอุทยาน
4. สองโกรินโธ 12:2-4 กล่าวถึงนิมิตอะไร และดูเหมือนว่าใครได้รับนิมิตดังกล่าว?
4 เกี่ยวกับอุทยานฝ่ายวิญญาณนี้ ขอให้สังเกตสิ่งที่อัครสาวกเปาโลเขียน: “ข้าพเจ้าได้รู้จักคนหนึ่งผู้เลื่อมใสในพระคริสต์ เขาถูกรับขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นที่สาม . . . ข้าพเจ้าได้รู้จักคนเช่นนั้น (แต่จะไปด้วยกายหรือด้วยปราศจากกายข้าพเจ้าไม่รู้ พระเจ้าทรงทราบ) ว่าเขาถูกรับขึ้นไปยังเทพอุทยาน [“ถูกรับเข้าสู่อุทยาน,” ล.ม.], และได้ยินสำเนียงซึ่งจะพูดเป็นคำไม่ได้. และมนุษย์จะบรรยายไม่ได้เลย.” (2 โกรินโธ 12:2-4) เปาโลเขียนข้อความนี้ถัดจากส่วนที่ท่านกล่าวปกป้องฐานะอัครสาวกของท่าน. ยิ่งกว่านั้น คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กล่าวถึงคนอื่นใดที่มีประสบการณ์ดังกล่าว และเปาโลเป็นคนที่บอกเรื่องนี้แก่เรา. ฉะนั้น คงต้องเป็นเปาโลนั่นเองที่ได้รับนิมิตนี้. ในประสบการณ์เหนือธรรมชาตินี้ ท่านเข้าสู่ “อุทยาน” ใด?—2 โกรินโธ 11:5, 23-31.
5. อะไรไม่ใช่สิ่งที่เปาโลเห็น และด้วยเหตุนั้น “อุทยาน” ที่ท่านเห็นจึงเป็นอุทยานแบบใด?
5 บริบทของข้อเหล่านี้ไม่ได้บ่งชี้ว่า “สวรรค์ชั้นที่สาม” พาดพิงถึงชั้นบรรยากาศรอบโลก, อวกาศนอกโลก, หรือเอกภพอื่นใดอย่างที่นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์บางคนคาดว่ามี. บ่อยครั้ง คัมภีร์ไบเบิลใช้เลขสามเป็นสัญลักษณ์แสดงการเน้น, ความแรงกล้า, หรือความแข็งแรงที่เพิ่มเข้ามา. (ท่านผู้ประกาศ 4:12; ยะซายา 6:3; มัดธาย 26:34, 75; วิวรณ์ 4:8) ฉะนั้น สิ่งที่เปาโลเห็นในนิมิตนั้นได้รับการยกสู่ระดับสูงหรือยกชูขึ้น เป็นในเชิงฝ่ายวิญญาณ.
6. ความเป็นไปอย่างไรในประวัติศาสตร์ช่วยเราให้เข้าใจนิมิตที่เปาโลเห็น?
6 คำพยากรณ์ในยุคก่อนจากคัมภีร์ไบเบิลช่วยเราให้เข้าใจเรื่องนี้. หลังจากประชาชนของพระองค์ในครั้งโบราณแสดงตัวว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ พระเจ้าปลงพระทัยให้ชาวบาบิโลนมาโจมตีอาณาจักรยูดาห์และกรุงเยรูซาเลม. การโจมตีนั้นถึงจุดสุดยอดด้วยความพินาศย่อยยับในปี 607 ก่อน ส.ศ. ตามการคำนวณวันเวลาในคัมภีร์ไบเบิล. คำพยากรณ์กล่าวว่าแผ่นดินจะอยู่ในสภาพร้างเปล่าเป็นเวลา 70 ปี จากนั้นพระเจ้าจะปล่อยให้ชาวยิวที่กลับใจกลับมาฟื้นฟูการนมัสการแท้. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 537 ก่อน ส.ศ. เป็นต้นมา. (พระบัญญัติ 28:15, 62-68; 2 กษัตริย์ 21:10-15; 24:12-16; 25:1-4; ยิระมะยา 29:10-14) แต่เกิดอะไรขึ้นกับแผ่นดินนั้นจริง ๆ? ระหว่างช่วง 70 ปีนั้น แผ่นดินกลายเป็นป่ารกกันดาร เป็นที่อาศัยของหมาใน. (ยิระมะยา 4:26; 10:22) แม้กระนั้น ก็มีคำสัญญาว่า “พระยะโฮวา . . . จะเล้าโลมกรุงซีโอน, พระองค์จะปลอบโยนบรรดาที่ชำรุดทรุดโทรม; พระองค์จะกระทำให้ป่าดงกลายเป็นสวนเอเดน, ป่าทรายกลายเป็นอุทยานของพระยะโฮวา.”—ยะซายา 51:3.
7. จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากความร้างเปล่า 70 ปี?
7 คำสัญญานั้นเกิดขึ้นจริงหลังจาก 70 ปีผ่านไป. ด้วยการอวยพรจากพระเจ้า สภาพเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น. ขอให้วาดมโนภาพคำพรรณนาต่อไปนี้: “ป่ารกและที่แห้งแล้งจะยินดี, และป่าทรายจะชื่นชม, จะมีดอกเหมือนกับดอกบัว, จะมีดอกดก, และชื่นชมร้องเพลงอย่างเบิกบาน . . . คนง่อยจะเต้นได้ดุจดังอีเก้ง, และลิ้นของคนใบ้จะร้องเพลง; เพราะน้ำจะพุขึ้นในป่ารก, และจะเกิดลำธารขึ้นในป่าทราย. ทรายที่ร้อนระอุจะกลับเป็นบ่อน้ำ, และดินที่แตกระแหงจะเกิดมีน้ำพลุ่งขึ้นมา: ฝูงแกะของเจ้าจะนอนลงในที่อยู่ของหมาใน, กออ้อและกอแขมจะขึ้นเต็มในที่อยู่ของนกกระจอกเทศ.”—ยะซายา 35:1-7.
ประชาชนที่ได้รับการฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงสภาพ
8. เราทราบได้อย่างไรว่ายะซายาบท 35 เพ่งเล็งไปยังผู้คนเป็นสำคัญ?
8 ช่างเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากอะไรเช่นนั้น! สภาพร้างเปล่าเปลี่ยนไปเป็นอุทยาน. กระนั้น คำพยากรณ์นี้และคำพยากรณ์อื่น ๆ ซึ่งวางใจได้แสดงว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้คนด้วย เช่นเดียวกับแผ่นดินที่รกร้างเปลี่ยนเป็นแผ่นดินที่มีพืชผลอุดมสมบูรณ์. ทำไมจึงกล่าวได้เช่นนั้น? ยะซายาเพ่งเล็งไปยัง “คนเหล่านั้นที่พระยะโฮวาทรงไถ่ไว้” ผู้จะกลับสู่แผ่นดินของพวกเขา “ด้วยโห่ร้องยินดี” และประสบ “ความปลาบปลื้มและความปีติยินดี.” (ยะซายา 35:10, ล.ม.) ข้อความดังกล่าวไม่ได้ใช้กับผืนดินจริง ๆ แต่ใช้กับผู้คน. นอกจากนี้ ในข้ออื่น ๆ ยะซายายังบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับผู้คนที่ถูกนำกลับสู่ซีโอนว่า “เขาจะได้ถูกเรียกว่าเป็นคนชอบธรรมมั่นคงดังต้นโอ๊ก, ที่พระยะโฮวาทรงปลูกไว้ . . . ด้วยว่าพื้นแผ่นดินทำให้หน่อผุดขึ้นมา . . . พระยะโฮวาเจ้าก็จะทรงให้ความชอบธรรมและความสรรเสริญจำเริญวัฒนาขึ้นต่อหน้าประชาชาติ.” ยะซายากล่าวถึงประชาชนของพระเจ้าด้วยว่า “พระยะโฮวาจะนำเจ้าอยู่เรื่อย ๆ . . . และจะให้เจ้าเกิดกำลังวังชา, และเจ้าจะเหมือนดังสวนที่มีน้ำรดบริบูรณ์.” (ยะซายา 58:11; 61:3, 11; ยิระมะยา 31:10-12) ฉะนั้น สิ่งแวดล้อมของแผ่นดินจริง ๆ จะเปลี่ยนสภาพไปในทางที่ดีขึ้นฉันใด จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับชาวยิวที่ถูกนำกลับมาฉันนั้น.
9. “อุทยาน” อะไรที่เปาโลได้เห็น และสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริงเมื่อไร?
9 เหตุการณ์แบบอย่างครั้งประวัติศาสตร์นี้ช่วยเราให้เข้าใจสิ่งที่เปาโลเห็นในนิมิต. สิ่งที่ท่านเห็นจะเกี่ยวข้องกับประชาคมคริสเตียน ซึ่งท่านเรียกว่าเป็น “ไร่นาของพระเจ้า” และควรจะต้องเกิดผล. (1 โกรินโธ 3:9) นิมิตดังกล่าวจะสำเร็จเป็นจริงเมื่อไร? เปาโลเรียกสิ่งที่ท่านเห็นนั้นว่า “การสำแดง [“การเปิดเผย,” ล.ม.]” ซึ่งบอกให้ทราบบางสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต. ท่านทราบว่าจะเกิดการออกหากครั้งใหญ่ขึ้นหลังจากท่านเสียชีวิต. (2 โกรินโธ 12:1; กิจการ 20:29, 30; 2 เธซะโลนิเก 2:3, 7) ขณะที่ผู้ออกหากแพร่หลายและดูเหมือนว่าบดบังพวกเขา คริสเตียนแท้คงจะดูไม่เหมือนกับไร่นาหรือสวนที่เจริญงอกงามสักเท่าไร. กระนั้น จะมีสมัยหนึ่งที่การนมัสการแท้จะได้รับการยกชูขึ้นอีกครั้ง. ประชาชนของพระเจ้าจะได้รับการฟื้นฟู เพื่อ ‘ผู้ชอบธรรมจะสามารถรุ่งเรืองอยู่ในแผ่นดิน [หรือราชอาณาจักร] พระบิดาของเขาดุจแสงดวงอาทิตย์.’ (มัดธาย 13:24-30, 36-43) สิ่งนั้นเกิดขึ้นจริงไม่กี่ปีหลังจากที่ราชอาณาจักรของพระเจ้าได้รับการสถาปนาขึ้นในสวรรค์. และเมื่อเวลาดำเนินไปหลายทศวรรษ ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าประชาชนของพระเจ้าชื่นชมกับอุทยานฝ่ายวิญญาณตามที่เปาโลเห็นล่วงหน้าในนิมิตนั้น.
10, 11. ทำไมเรากล่าวได้ว่าเราอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณทั้งที่พวกเราไม่สมบูรณ์?
10 จริงอยู่ เรารู้ว่าเราแต่ละคนเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เราจึงไม่แปลกใจที่เกิดปัญหาขึ้นท่ามกลางพวกเราเป็นครั้งคราว เหมือนที่เกิดขึ้นท่ามกลางคริสเตียนสมัยเปาโล. (1 โกรินโธ 1:10-13; ฟิลิปปอย 4:2, 3; 2 เธซะโลนิเก 3:6-14) ถึงอย่างนั้น ขอให้คิดถึงอุทยานฝ่ายวิญญาณที่เราประสบอยู่ในขณะนี้. เมื่อเทียบกับสภาพเมื่อก่อนที่ป่วยฝ่ายวิญญาณ บัดนี้เราได้รับการรักษาแล้ว. และขอให้เทียบสภาพที่เคยอดอยากฝ่ายวิญญาณกับสภาพที่เราอิ่มหนำอยู่ในเวลานี้. แทนที่จะลำบากเหมือนอยู่ในแผ่นดินอันแห้งแล้งฝ่ายวิญญาณ ประชาชนของพระเจ้าได้รับความโปรดปรานและพระพรที่หลั่งลงมามากมาย. (ยะซายา 35:1, 7) แทนที่จะมองไม่เห็นในความมืดมิดฝ่ายวิญญาณประดุจอยู่ในคุกมืด เราเห็นลำแสงแห่งอิสรภาพและความโปรดปรานจากพระเจ้า. หลายคนที่แต่ก่อนแทบไม่เคยได้ยินคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลก็มาได้ยินและเข้าใจสิ่งที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์. (ยะซายา 35:5) ตัวอย่างเช่น พยานพระยะโฮวาหลายล้านคนทั่วโลกได้ศึกษาคำพยากรณ์ของดานิเอลข้อต่อข้อ. หลังจากนั้น พวกเขาก็ได้พิจารณาพระธรรมยะซายาแต่ละบทอย่างละเอียด. อาหารฝ่ายวิญญาณที่ให้ความสดชื่นเช่นนั้นเป็นหลักฐานว่าเราอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณมิใช่หรือ?
11 นอกจากนี้ ขอให้คิดถึงการเปลี่ยนแปลงนิสัยของผู้มีใจสุจริตจากทุกภูมิหลังที่พยายามเข้าใจพระคำของพระเจ้าและนำไปใช้. โดยหลัก ๆ พวกเขาได้พยายามขจัดลักษณะนิสัยดุร้ายที่เคยมีในตัวเขา. คุณอาจเคยได้พยายามเช่นนั้นมาแล้วและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเกิดขึ้น พี่น้องฝ่ายวิญญาณของคุณก็ได้ทำอย่างเดียวกัน. (โกโลซาย 3:8-14) ฉะนั้น ขณะที่คุณอยู่ในประชาคมของพยานพระยะโฮวา คุณอยู่กับผู้คนที่ได้เปลี่ยนไปเป็นคนที่สร้างสันติและน่าคบยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา. เปล่าหรอก พวกเขายังไม่สมบูรณ์ แต่ก็กล่าวได้ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นสิงโตที่อันตรายหรือสัตว์ป่าดุร้าย. (ยะซายา 35:9) มิตรภาพฝ่ายวิญญาณอันสงบสุขนี้ชี้ถึงอะไร? เห็นได้ชัดว่า เราประสบสภาพฝ่ายวิญญาณที่เราเรียกได้อย่างเหมาะสมว่าอุทยานฝ่ายวิญญาณ. และอุทยานฝ่ายวิญญาณของเราเป็นภาพเล็งถึงอุทยานจริง ๆ บนแผ่นดินโลกที่เราจะได้อาศัยอยู่หากเรารักษาความภักดีต่อพระเจ้า.
12, 13. เราต้องทำอะไรเพื่อจะคงอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณของเรา?
12 ถึงกระนั้น ยังมีบางสิ่งที่เราต้องไม่มองข้าม. พระเจ้าบอกชาวอิสราเอลว่า “เจ้าทั้งหลายจงรักษาบัญญัติทั้งปวง ซึ่งเราได้สั่งเจ้าทั้งหลายในวันนี้, เพื่อเจ้าทั้งหลายจะมีกำลัง, และเข้าไปปกครองแผ่นดินซึ่งจะไปอยู่นั้น.” (พระบัญญัติ 11:8) เลวีติโก 20:22, 24 กล่าวถึงแผ่นดินเดียวกันนั้นว่า “เจ้าทั้งหลายจงรักษาบัญญัติทั้งปวง, และประพฤติตามข้อปรนนิบัติทั้งปวงของเรา; เพื่อมิให้แผ่นดินเมืองที่เราจะพาเจ้าไปอยู่นั้นสำรอกคายเจ้าออกเสีย. แต่เราได้ว่าแก่เจ้าว่าเจ้าจะอยู่ในแผ่นดินเมืองนั้น, แผ่นดินเมืองนั้นเราจะให้เจ้าเป็นของมรดก: คือแผ่นดินที่มีน้ำนมและน้ำผึ้งอันบริบูรณ์.” ถูกแล้ว กรรมสิทธิ์ในแผ่นดินตามคำสัญญาขึ้นอยู่กับสัมพันธภาพที่ดีกับพระยะโฮวาพระเจ้า. เนื่องจากชาวอิสราเอลไม่เชื่อฟังพระองค์ พระเจ้าจึงปล่อยให้ชาวบาบิโลนมาพิชิตและนำพวกเขาออกไปจากสถานที่อาศัยของเขา.
13 อาจมีหลายสิ่งที่เราชื่นชอบเกี่ยวกับอุทยานฝ่ายวิญญาณของเรา. บรรยากาศเป็นที่ชื่นตาชื่นใจ. เรามีสันติสุขกับคริสเตียนที่ได้พยายามเปลี่ยนแปลงนิสัยที่เคยดุร้าย. พวกเขาพยายามเป็นคนกรุณาและมีน้ำใจ. กระนั้น ที่จะคงอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณไม่ใช่แค่ต้องมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนเหล่านี้เท่านั้น. เราต้องมีสัมพันธภาพที่ดีกับพระยะโฮวาและการกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ด้วย. (มีคา 6:8) เราเข้ามาสู่อุทยานฝ่ายวิญญาณนี้ด้วยความสมัครใจ แต่เราอาจลอยห่างออกไป หรือถูกขับออกไปได้ หากเราไม่พยายามรักษาสัมพันธภาพกับพระเจ้า.
14. อะไรจะช่วยเราให้คงอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณ?
14 ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยเราคือการที่เราเสริมกำลังด้วยพระคำของพระเจ้าอยู่เสมอ. ขอสังเกตคำเปรียบในบทเพลงสรรเสริญ 1:1-3 ที่ว่า “ความสุขย่อมมีแก่ผู้ที่ไม่ดำเนินตามคำชักชวนของคนชั่ว . . . ความยินดีของผู้นั้นอยู่ในพระบัญญัติของพระยะโฮวา; และเขาคิดรำพึงอยู่ในพระธรรมของพระองค์ทั้งกลางวันและกลางคืน. เขาเป็นดุจดังต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมทางน้ำ, ซึ่งเกิดผลตามฤดู, ใบก็ไม่รู้เหี่ยวแห้ง; และบรรดากิจการที่เขากระทำนั้นก็เจริญขึ้น.” นอกจากนี้ สรรพหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลจากทาสสัตย์ซื่อและสุขุมทำให้อาหารฝ่ายวิญญาณมีอยู่พร้อมในอุทยานฝ่ายวิญญาณ.—มัดธาย 24:45-47.
การทำให้ภาพอุทยานชัดขึ้นในใจของคุณ
15. ทำไมโมเซไม่สามารถนำชาติอิสราเอลเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญา แต่ท่านได้เห็นอะไร?
15 ขอพิจารณาภาพล่วงหน้าอีกอย่างหนึ่งของอุทยาน. หลังจากชาติอิสราเอลรอนแรมในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลา 40 ปี โมเซนำพวกเขาไปยังที่ราบโมอาบทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน. เนื่องจากความผิดที่โมเซทำก่อนหน้านี้ พระยะโฮวาจึงตัดสินว่าท่านจะไม่ได้นำชาติอิสราเอลข้ามแม่น้ำจอร์แดน. (อาฤธโม 20:7-12; 27:12, 13) โมเซทูลอ้อนวอนพระเจ้าดังนี้: “ขอพระองค์ทรงโปรดอนุญาตให้ข้าพระองค์ข้ามไปดูแผ่นดินอันดีที่อยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน.” แม้ว่าโมเซจะไม่ได้เข้าไป แต่หลังจากที่ท่านขึ้นไปบนภูเขาพิสกาห์ (ฟิศฆา) และเห็นส่วนต่าง ๆ ของแผ่นดินนั้น ท่านคงได้เห็นว่าแผ่นดินนั้นเป็น “แผ่นดินอันดี.” คุณคิดว่าแผ่นดินนั้นเป็นอย่างไร?—พระบัญญัติ 3:25-27, ฉบับแปลใหม่.
16, 17. (ก) แผ่นดินตามคำสัญญาในสมัยโบราณต่างจากที่เป็นอยู่ในสมัยนี้อย่างไร? (ข) ทำไมเราเชื่อได้ว่าแผ่นดินตามคำสัญญาเคยอยู่ในสภาพดั่งอุทยานมาก่อน?
16 ถ้าคุณคิดโดยดูจากลักษณะส่วนใหญ่ที่ดินแดนนั้นเป็นอยู่ในสมัยนี้ คุณอาจคิดถึงแผ่นดินแห้งแล้งที่เป็นผืนทราย, หิน, และมีอากาศร้อนระอุ. แต่ก็มีเหตุผลจะเชื่อว่าในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ดินแดนทั้งหมดนั้นต่างจากที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มากทีเดียว. ดร. วอลเตอร์ ซี. เลาเดอร์มิลก์ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำและดินอธิบายไว้ในวารสารไซเยนติฟิก อเมริกัน ว่า ผืนดินในดินแดนนั้น “เสียหายเนื่องจากการใช้อย่างผิด ๆ มาเป็นเวลาพันปี.” นักวิชาการด้านการเกษตรผู้นี้เขียนว่า “ ‘ทะเลทราย’ ซึ่งเข้ามาแทนที่แผ่นดินที่เคยอุดมสมบูรณ์นั้น เป็นผลจากน้ำมือมนุษย์ ไม่ใช่ธรรมชาติ.” ที่จริง งานวิจัยของเขาแสดงว่า “แผ่นดินนี้เคยเป็นอุทยานเลี้ยงปศุสัตว์.” ปรากฏชัดว่าการที่มนุษย์ใช้ผืนดินอย่างผิด ๆ ทำให้ที่ที่เคยเป็น “อุทยานเลี้ยงปศุสัตว์” เสียหายไป.a
17 เมื่อคุณคิดรำพึงสิ่งที่อ่านพบในคัมภีร์ไบเบิล คุณก็คงเห็นว่ามีเหตุผลที่จะลงความเห็นเช่นนั้น. ขอคิดถึงคำรับรองที่พระยะโฮวาตรัสแก่ประชาชนของพระองค์ผ่านทางโมเซที่ว่า “แผ่นดินซึ่งเจ้าทั้งหลายจะปกครองนั้น, มีภูเขาและมีหุบเขา, ซึ่งมีน้ำฝนจากฟ้ารดอยู่, และเป็นแผ่นดินซึ่งพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าทรงบำรุงอยู่.”—พระบัญญัติ 11:8-12.
18. ยะซายา 35:2 คงทำให้ชาวอิสราเอลพลัดถิ่นมโนภาพแผ่นดินตามคำสัญญาว่าจะเป็นเช่นไร?
18 แผ่นดินตามคำสัญญามีความเขียวชอุ่มและอุดมสมบูรณ์จนแค่เอ่ยถึงสถานที่บางแห่งก็ทำให้คิดนึกถึงสภาพที่เปรียบดังอุทยานแล้ว. เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากคำพยากรณ์ในยะซายาบท 35 ซึ่งสำเร็จเป็นจริงครั้งแรกคราวที่ชาวอิสราเอลกลับจากบาบิโลน. ยะซายาบอกล่วงหน้าว่า “ถิ่นนี้จะผลิดอกแน่นอน และถิ่นนี้จะชื่นชมยินดีจริง ๆ ด้วยความเบิกบานและด้วยโห่ร้องดีใจ. สง่าราศีแห่งเลบานอน ความงดงามของคาร์เมลและชาโรน จะต้องยกให้ถิ่นนี้. จะมีคนเหล่านั้นที่เห็นสง่าราศีของพระยะโฮวา ความรุ่งโรจน์งดงามแห่งพระเจ้าของเรา.” (ยะซายา 35:2, ล.ม.) การเอ่ยถึงเลบานอน (ละบาโนน), คาร์เมล (คาระเม็ล), และชาโรน คงทำให้ชาวอิสราเอลมโนภาพถึงสภาพที่งดงามและน่ารื่นรมย์.
19, 20. (ก) จงพรรณนาเกี่ยวกับที่ราบชาโรนในสมัยโบราณ. (ข) วิธีหนึ่งที่จะเสริมความหวังของเราเรื่องอุทยานคืออะไร?
19 ให้เราพิจารณาชาโรนเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นที่ราบริมทะเลระหว่างทะเลใหญ่หรือทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับเทือกเขาในซะมาเรีย. (ดูรูปหน้า 10) ที่ราบชาโรนเป็นที่รู้จักในเรื่องความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์. เนื่องจากมีน้ำบริบูรณ์ จึงเหมาะเป็นที่เลี้ยงปศุสัตว์ และยังมีป่าต้นโอ๊กทางตอนเหนือด้วย. (1 โครนิกา 27:29; เพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโม 2:1; ยะซายา 65:10) ด้วยเหตุนี้ ยะซายา 35:2 จึงบอกล่วงหน้าถึงการฟื้นฟูและแผ่นดินอันงามสะพรั่ง ที่เปลี่ยนสภาพเป็นดุจอุทยาน. คำพยากรณ์ดังกล่าวยังชี้ไปถึงอุทยานฝ่ายวิญญาณที่น่ารื่นรมย์ ตามที่ต่อมาเปาโลได้เห็นในนิมิตด้วย. ท้ายที่สุด คำพยากรณ์นี้ร่วมกับคำพยากรณ์อื่น ๆ เสริมความหวังของเราในเรื่องอุทยานบนแผ่นดินโลกสำหรับมนุษยชาติ.
20 ขณะที่เราอาศัยในอุทยานฝ่ายวิญญาณ เราสามารถเสริมความหยั่งรู้ค่าของเราต่ออุทยานนี้และความหวังที่จะมีอุทยานจริง ๆ บนแผ่นดินโลก. โดยวิธีใด? โดยทำความเข้าใจสิ่งที่เราอ่านในคัมภีร์ไบเบิลให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น. บ่อยครั้ง คำพรรณนาและคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงสถานที่บางแห่ง. คุณอยากเข้าใจดีขึ้นไหมว่าสถานที่เหล่านั้นอยู่ที่ไหน และเกี่ยวข้องกันอย่างไรทางภูมิศาสตร์กับสถานที่อื่น ๆ? ในบทความถัดไป เราจะพิจารณาว่าคุณจะทำเช่นนั้นได้โดยวิธีใดและรับประโยชน์จากการทำเช่นนั้น.
[เชิงอรรถ]
a เดนิส เบรี กล่าวในหนังสือภูมิศาสตร์คัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) ดังนี้: “ชนิดของพืชพรรณที่เคยมีอยู่ตามธรรมชาติตั้งแต่ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลนั้นคงได้เปลี่ยนไปมากทีเดียว.” เพราะเหตุใด? “มนุษย์ต้องการใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิงและสำหรับก่อสร้าง และด้วยเหตุนี้ . . . มนุษย์จึงเริ่มตัดโค่นต้นไม้ ซึ่งเป็นการเปิดทางให้หน้าดินถูกลมฟ้าอากาศทำลายเสียหาย. ผลจากการที่มนุษย์แทรกแซงสิ่งแวดล้อมนี้คือ ภูมิอากาศ . . . ค่อย ๆ กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการทำลายพืชพรรณ.”
คุณจำได้ไหม?
• “อุทยาน” อะไรที่เปาโลได้เห็นในนิมิต?
• ยะซายาบท 35 สำเร็จเป็นจริงครั้งแรกอย่างไร และเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เปาโลเห็นในนิมิตอย่างไร?
• เราจะเสริมความหยั่งรู้ค่าและเพิ่มพูนความเข้าใจของเราในเรื่องอุทยานฝ่ายวิญญาณและความหวังที่จะมีอุทยานบนแผ่นดินโลกได้โดยวิธีใด?
[ภาพหน้า 10]
ที่ราบชาโรน ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งในแผ่นดินตามคำสัญญา
[ที่มาของภาพ]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.
[ภาพหน้า 12]
โมเซได้เห็นว่านั่นเป็น “แผ่นดินอันดี”