บิดามารดาทั้งหลาย จงจัดหาสิ่งจำเป็นให้แก่ครอบครัว
‘ถ้าแม้ผู้ใดไม่เลี้ยงดูคนในบ้านเรือนของตน . . . ผู้นั้นก็ปฏิเสธความเชื่อเสียแล้ว.’—1 ติโมเธียว 5:8.
1, 2. (ก) ทำไมจึงเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจเมื่อเห็นทุกคนในครอบครัวมาร่วมการประชุมคริสเตียนด้วยกัน? (ข) มีข้อท้าทายอะไรบ้างสำหรับหลายครอบครัวที่จะมาประชุมให้ทัน?
เมื่อมองไปรอบ ๆ ในประชาคมคริสเตียนก่อนเริ่มการประชุม คุณอาจเห็นเด็ก ๆ แต่งกายสะอาดเรียบร้อยนั่งเคียงข้างพ่อแม่ของเขา. น่าชื่นใจมิใช่หรือที่เห็นหลักฐานซึ่งแสดงว่ามีความรักอยู่ในครอบครัวเหล่านั้น คือมีความรักต่อพระยะโฮวาและความรักต่อกันและกัน? อย่างไรก็ตาม เราอาจไม่ได้ทันคิดว่าพวกเขาได้พยายามกันมากแค่ไหนเพื่อจะมาให้ทันการประชุม.
2 พ่อแม่ส่วนใหญ่จะมีธุระยุ่งทั้งวันอยู่แล้ว และคืนไหนที่มีการประชุม ชีวิตครอบครัวก็ยิ่งวุ่นเข้าไปอีก. มีอาหารที่ต้องตระเตรียม งานบ้านที่จะต้องทำ และมีการบ้านที่ต้องทำให้เสร็จ. พ่อแม่จะรับภาระหนักที่สุด ต้องคอยดูแลให้แน่ใจว่าทุกคนสะอาดสะอ้าน ได้กินอาหาร และพร้อมที่จะไปให้ทัน. แน่นอน ปัญหาที่ไม่คาดคิดก็อาจเกิดกับลูก ๆ ในเวลาที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุด. ลูกคนโตอาจทำกางเกงขาดขณะกำลังเล่น. น้องสุดท้องทำอาหารหกเลอะเทอะ. ลูก ๆ เริ่มทะเลาะกัน. (สุภาษิต 22:15) ผลเป็นอย่างไร? แม้พ่อแม่จะเตรียมการไว้อย่างดีที่สุดแล้วก็ตาม แต่แผนการนั้นก็อาจไม่เป็นตามที่วางไว้. ถึงกระนั้น ครอบครัวดังกล่าวก็ยังไปถึงหอประชุมก่อนเริ่มการประชุมพอสมควรแทบทุกครั้งไป. นับว่าเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจเราเสียจริง ๆ เมื่อเห็นพวกเขาที่หอประชุมทุกสัปดาห์ ปีแล้วปีเล่า ขณะที่เด็ก ๆ เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่และรับใช้พระยะโฮวา!
3. เรารู้ได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาเห็นความสำคัญของครอบครัวเป็นอย่างมาก?
3 แม้ว่าการทำหน้าที่ของคุณฐานะบิดามารดาจะลำบากยุ่งยากในบางครั้ง หรือถึงกับทำให้หมดแรง แต่คุณก็มั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาเห็นค่าความพยายามของคุณ. พระยะโฮวาเป็นผู้ริเริ่มตั้งครอบครัวขึ้น. ด้วยเหตุนี้ พระคำของพระองค์จึงกล่าวว่าทุกครอบครัว “มีนาม” หรือดำรงอยู่ เนื่องจากพระยะโฮวา. (เอเฟโซ 3:14, 15, ล.ม.) ดังนั้น เมื่อคุณผู้เป็นบิดาหรือมารดาพยายามทำบทบาทของคุณในครอบครัวอย่างดี คุณกำลังถวายพระเกียรติพระผู้ทรงอำนาจสูงสุดในเอกภพ. (1 โกรินโธ 10:31) นี่ถือเป็นสิทธิพิเศษอย่างใหญ่หลวงไม่ใช่หรือ? ฉะนั้น จึงนับว่าเหมาะที่เราจะพิจารณาหน้าที่มอบหมายซึ่งพระยะโฮวามอบแก่ผู้เป็นบิดามารดา. ในบทความนี้ เราจะพิจารณาหน้าที่ในการเลี้ยงดู ครอบครัว. ให้เรามาพิจารณาการสนองความจำเป็นสามด้านซึ่งพระเจ้าคาดหมายจากบิดามารดา.
การสนองความจำเป็นด้านวัตถุ
4. ในครอบครัว พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมเช่นไรในเรื่องการจัดหาสิ่งจำเป็นแก่บุตร?
4 อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ถ้าแม้ผู้ใดไม่เลี้ยงดูวงศ์ญาติของตน, และคนในบ้านเรือนของตนยิ่งกว่าผู้อื่น, ผู้นั้นก็ปฏิเสธความเชื่อเสียแล้ว, และซ้ำชั่วยิ่งกว่าคนที่ไม่ได้เชื่อเลย.” (1 ติโมเธียว 5:8) คำ “ผู้ใด” ในที่นี้เปาโลนึกถึงใคร? ท่านหมายถึงหัวหน้าครอบครัว ซึ่งปกติแล้วก็คือบิดา. นอกจากนั้น พระเจ้ามอบบทบาทที่มีเกียรติให้ผู้หญิงเป็นผู้ช่วยสามีของเธอด้วย. (เยเนซิศ 2:18, ล.ม.) สตรีในสมัยคัมภีร์ไบเบิลบ่อยครั้งช่วยสามีหาเลี้ยงครอบครัว. (สุภาษิต 31:13, 14, 16) ในปัจจุบัน ครอบครัวที่มีแต่พ่อหรือแม่ที่เลี้ยงดูลูกฝ่ายเดียวมีมากขึ้นเรื่อย ๆ.a คริสเตียนหลายคนที่เป็นบิดาหรือมารดาฝ่ายเดียวกำลังเอาใจใส่อย่างดีในการเลี้ยงดูบุตร. แน่นอน ถ้าครอบครัวมีครบทั้งบิดามารดา และบิดาเป็นผู้นำครอบครัว ก็ย่อมจะเป็นสิ่งที่ดีเยี่ยม.
5, 6. (ก) ผู้ที่พยายามหาเลี้ยงครอบครัวเผชิญข้อท้าทายอะไรบ้าง? (ข) การรักษาทัศนะเช่นไรต่องานอาชีพจะช่วยให้คริสเตียนที่เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวมีความอุตสาหะพยายาม?
5 การเลี้ยงดูแบบไหนที่เปาโลคิดถึงเมื่อท่านกล่าวใน 1 ติโมเธียว 5:8? บริบทบ่งชี้ว่าท่านกำลังกล่าวโดยตรงถึงสิ่งจำเป็นด้านวัตถุของครอบครัว. ในโลกทุกวันนี้ หัวหน้าครอบครัวอาจเผชิญอุปสรรคมากมายในการจัดหาให้แก่ครอบครัวทางด้านนี้. ความยากลำบากทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นทั่วไปในโลก เช่นเดียวกันกับการปลดคนงาน อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และค่าครองชีพที่สูงขึ้น. อะไรสามารถช่วยผู้หาเลี้ยงครอบครัวให้อุตสาหะพยายามเมื่อเผชิญข้อท้าทายเหล่านั้น?
6 ผู้หาเลี้ยงครอบครัวไม่ควรลืมว่าเขากำลังทำบทบาทที่ตนได้รับมอบจากพระยะโฮวา. คำพูดของเปาโลซึ่งพระเจ้าดลใจให้กล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้แต่ไม่ยอมทำเช่นนั้นเปรียบได้กับคนที่ “ปฏิเสธความเชื่อ.” คริสเตียนจะทำอย่างสุดกำลังเพื่อไม่ให้ตนอยู่ในฐานะเช่นนั้นจำเพาะพระเจ้า. ถึงกระนั้น น่าเศร้าที่หลายคนในโลกทุกวันนี้ไม่มี “ความรักใคร่ตามธรรมชาติ.” (2 ติโมเธียว 3:1, 3, ล.ม.) ที่จริงแล้ว มีบิดามากมายที่หลบเลี่ยงหน้าที่รับผิดชอบ ทอดทิ้งครอบครัวของตน. สามีที่เป็นคริสเตียนจะไม่ใจไม้ไส้ระกำแบบนั้นในการหาเลี้ยงครอบครัว. ต่างจากทัศนะของหลายคนที่ทำงานอย่างเดียวกันกับเขา คริสเตียนมองว่าแม้แต่งานต่ำต้อยอย่างยิ่งก็เป็นงานที่มีเกียรติและสำคัญ เป็นการงานที่ทำให้เขาเป็นที่ชอบพระทัยพระยะโฮวาพระเจ้า เพราะเป็นงานที่ช่วยให้เขาหาเลี้ยงครอบครัวได้.
7. ทำไมจึงเหมาะที่บิดามารดาจะไตร่ตรองแบบอย่างของพระเยซู?
7 นอกจากนี้ หัวหน้าครอบครัวอาจเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่จะไตร่ตรองแบบอย่างอันสมบูรณ์พร้อมของพระเยซู. ขออย่าลืมว่าในคำพยากรณ์ คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระเยซูว่าเป็น “บิดาองค์ถาวร” ของเรา. (ยะซายา 9:6, 7) ฐานะที่เป็น “อาดามคนสุดท้าย” พระเยซูเป็นประหนึ่งบิดาของมวลมนุษย์ที่สำแดงความเชื่อแทน “มนุษย์คนแรกคืออาดาม.” (1 โกรินโธ 15:45, ล.ม.) ต่างจากอาดามซึ่งในที่สุดปรากฏว่าเป็นบิดาที่เห็นแก่ตัวและสนองแต่ความปรารถนาของตนเอง พระเยซูทรงเป็นบิดาที่สมบูรณ์แบบ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระองค์ว่า “เช่นนี้แหละเรารู้จักความรัก, คือว่าเพราะพระองค์ได้ทรงยอมวางชีวิต [“สละชีวิต,” ล.ม.] ของพระองค์ลงเพื่อเราทั้งหลาย.” (1 โยฮัน 3:16) ใช่แล้ว พระเยซูเต็มพระทัยสละชีวิตของพระองค์เพื่อผู้อื่น. อย่างไรก็ตาม ในเรื่องที่สำคัญน้อยกว่านั้นในชีวิตประจำวัน พระองค์ก็ยังจัดให้ความจำเป็นของผู้อื่นมาก่อนของพระองค์เองเช่นเดียวกันด้วย. คุณผู้เป็นบิดามารดาควรเลียนแบบน้ำใจเสียสละตัวเองอย่างนั้น.
8, 9. (ก) บิดามารดาอาจเรียนรู้อะไรได้จากนก ซึ่งหาอาหารมาเลี้ยงลูกโดยไม่คำนึงความเหนื่อยยากของตัวเอง? (ข) บิดามารดาคริสเตียนหลายคนแสดงน้ำใจเสียสละอย่างไร?
8 บิดามารดาสามารถเรียนรู้ได้มากในเรื่องความรักอย่างไม่เห็นแก่ตัวจากคำตรัสของพระเยซูที่กล่าวแก่ประชาชนที่ดื้อด้านของพระเจ้าว่า “เราใคร่จะรวบรวมลูกของเจ้าไว้เนือง ๆ เหมือนแม่ไก่กกลูกอยู่ใต้ปีกของมัน.” (มัดธาย 23:37) ในที่นี้พระเยซูให้ภาพพรรณนาที่เห็นได้ชัดที่แม่ไก่ใช้ปีกปกป้องลูก ๆ ของมัน. จริงที่บิดามารดาอาจเรียนรู้ได้มากจากสัญชาตญาณของแม่นกในการปกป้อง ซึ่งพร้อมจะเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องลูก ๆ ของมันให้พ้นอันตราย. กระนั้น สิ่งที่นกทำเพื่อลูกของมันในแต่ละวันก็น่าสังเกตด้วย. พวกมันบินไปมาอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อหาอาหาร. แม้แต่เมื่อใกล้จะหมดแรง พวกมันก็ยังป้อนอาหารใส่ปากลูก ๆ ที่เพิ่งฟักออกมาเป็นตัว ซึ่งจะกลืนลงท้องแล้วก็มักจะส่งเสียงร้องขออีก. สัตว์หลายชนิดที่พระยะโฮวาทรงสร้าง “มีปัญญาโดยสัญชาตญาณ” ในวิธีที่พวกมันเอาใจใส่ดูแลความจำเป็นลูก ๆ ของมัน.—สุภาษิต 30:24, ล.ม.
9 เมื่อเทียบกันแล้ว บิดามารดาคริสเตียนทั่วโลกกำลังแสดงน้ำใจเสียสละอย่างน่าชมเชยคล้ายกันนั้น. คุณคงรู้สึกว่า ดีกว่าที่จะให้อันตรายเกิดขึ้นกับตัวคุณเองแทนที่จะยอมให้เกิดขึ้นกับลูกของคุณ. นอกจากนั้น คุณยังเต็มใจเสียสละตัวเองทุก ๆ วันในการหาเลี้ยงครอบครัว. พวกคุณหลายคนตื่นนอนแต่เช้าตรู่เพื่อไปทำงานที่เหน็ดเหนื่อยหรือน่าเหนื่อยหน่าย. คุณทำงานหนักเพื่อให้ครอบครัวมีอาหารที่มีประโยชน์รับประทาน. คุณพยายามทำให้แน่ใจว่าลูก ๆ ของคุณจะมีเสื้อผ้าที่สะอาด มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และได้รับการศึกษาอย่างเพียงพอ. และคุณออกแรงพยายามทำอย่างนั้นไม่หยุดหย่อนวันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า. การเสียสละตัวเองและการเพียรอดทนเช่นนั้นเป็นที่ชอบพระทัยพระยะโฮวาอย่างแน่นอน! (เฮ็บราย 13:16) แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็ไม่ลืมว่ามีการจัดหาสิ่งจำเป็นให้แก่ครอบครัวในด้านอื่น ๆ อีกที่สำคัญกว่า.
การสนองความจำเป็นด้านวิญญาณ
10, 11. ความจำเป็นด้านใดที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ และบิดามารดาคริสเตียนต้องทำอะไรก่อนเพื่อจะสนองความจำเป็นของบุตรในด้านนี้?
10 สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการเลี้ยงดูในด้านวัตถุคือการสนองความจำเป็นในด้านวิญญาณ. พระเยซูตรัสว่า “มนุษย์จะบำรุงชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้, แต่ด้วยบรรดาโอวาทซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า.” (มัดธาย 4:4; 5:3) บิดามารดาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสนองความจำเป็นด้านวิญญาณ?
11 ในเรื่องนี้ คงไม่มีข้อความใดในพระคัมภีร์ที่มีการอ้างถึงบ่อยเท่ากับพระบัญญัติ 6:5-7. ขอคุณเปิดคัมภีร์ไบเบิลและอ่านข้อเหล่านั้น. เป็นที่น่าสังเกตว่าบิดามารดาได้รับพระบัญชาเป็นอันดับแรกให้สร้างสัมพันธภาพของตนเองกับพระเจ้า พัฒนาความรักต่อพระยะโฮวาและรับพระคำของพระองค์เข้าไว้ในหัวใจของพวกเขา. ใช่แล้ว คุณต้องเป็นนักศึกษาพระคำของพระเจ้าที่เอาจริงเอาจัง อ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำและใคร่ครวญสิ่งที่ได้อ่านนั้น เพื่อคุณจะพัฒนาความเข้าใจและความรักต่อแนวทาง, หลักการ, และกฎหมายของพระยะโฮวาอย่างแท้จริง. ผลที่จะได้รับก็คือ หัวใจของคุณจะเปี่ยมล้นด้วยความจริงอันน่าประทับใจจากคัมภีร์ไบเบิลซึ่งจะทำให้คุณรู้สึกยินดี, ยำเกรง, และรักพระยะโฮวา. คุณจะมีสิ่งดี ๆ มากมายที่จะถ่ายทอดแก่บุตรของคุณ.—ลูกา 6:45.
12. บิดามารดาอาจติดตามแบบอย่างพระเยซูอย่างไรในการพร่ำสอนความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลแก่บุตร?
12 บิดามารดาที่เลื่อมใสพระเจ้าพร้อมจะทำตามคำแนะนำในพระบัญญัติ 6:7 (ล.ม.) ที่ให้ “พร่ำสอน” พระคำของพระยะโฮวาแก่บุตรในทุกโอกาส. การ “พร่ำสอน” หมายถึงการสอนและตอกย้ำลงไปในจิตใจด้วยการพูดซ้ำบ่อย ๆ. พระยะโฮวารู้ดีว่าเราทุกคน โดยเฉพาะเด็ก ๆ นั้น จำเป็นต้องได้รับการย้ำหลาย ๆ ครั้งเพื่อจะเรียนรู้. ด้วยเหตุนี้ พระเยซูจึงใช้วิธีสอนย้ำหลายครั้งในงานรับใช้ของพระองค์. ตัวอย่างเช่น เมื่อสอนสาวกให้เป็นคนถ่อมใจแทนที่จะหยิ่งทะนงและมีน้ำใจแข่งขันชิงดี พระองค์หาหลากหลายวิธีในการกล่าวย้ำหลักการนั้น. พระองค์สอนโดยการหาเหตุผล, ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ, และแม้กระทั่งสาธิตให้ดู. (มัดธาย 18:1-4; 20:25-27; โยฮัน 13:12-15) แต่ที่น่าทึ่งคือพระเยซูไม่เคยแสดงให้เห็นว่าพระองค์ขาดความอดทน. เช่นเดียวกัน บิดามารดาจำเป็นต้องหาวิธีต่าง ๆ เพื่อสอนความจริงพื้นฐานที่สำคัญ ๆ แก่บุตรของตน และสอนหลักการของพระยะโฮวาซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยความอดทนจนกว่าบุตรจะซึมซับและนำหลักการนั้นไปใช้.
13, 14. มีโอกาสใดบ้างที่บิดามารดาสามารถพร่ำสอนความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลแก่บุตร และโดยใช้อะไรช่วยสอน?
13 ช่วงการศึกษาประจำครอบครัวเป็นโอกาสเหมาะที่สุดสำหรับการสอนเช่นนั้น. จริง ๆ แล้ว การศึกษาประจำครอบครัวแบบที่น่าเพลิดเพลินและเสริมสร้างซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ครอบครัวมีความเชื่อที่มั่นคงแข็งแรง. ครอบครัวคริสเตียนตลอดทั่วโลกเพลิดเพลินกับการศึกษาดังกล่าว โดยใช้ประโยชน์จากสรรพหนังสือที่องค์การของพระยะโฮวาจัดให้ และปรับการศึกษาประจำครอบครัวให้เหมาะกับความจำเป็นของบุตร. หนังสือจงเรียนจากครูผู้ยิ่งใหญ่ เป็นหนังสือที่ช่วยได้มากในเรื่องนี้ เช่นเดียวกันกับหนังสือคำถามที่หนุ่มสาวถาม—คำตอบที่ได้ผล.b อย่างไรก็ตาม การศึกษาประจำครอบครัวไม่ใช่ช่วงเดียวที่จะสอนบุตร.
14 ดังที่กล่าวในพระบัญญัติ 6:7 มีหลายโอกาสที่บิดามารดาสามารถพูดคุยกับบุตรเกี่ยวกับพระยะโฮวาและคำสอนของพระองค์. ไม่ว่าจะเดินไปด้วยกัน ช่วยกันทำงานบ้าน หรือระหว่างการพักผ่อนหย่อนใจ คุณอาจพบโอกาสต่าง ๆ ที่จะเสริมสร้างบุตรในด้านความเชื่อ. แน่นอน คุณไม่จำเป็นต้อง “เทศนา” บุตรด้วยความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลอยู่ร่ำไป. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น จงพยายามรักษาการสนทนาในครอบครัวให้เป็นแบบที่เสริมสร้างและเป็นไปในแง่ฝ่ายวิญญาณ. ตัวอย่างเช่น วารสารตื่นเถิด! มีบทความต่าง ๆ มากมายที่ครอบคลุมหัวเรื่องที่หลากหลาย. บทความเหล่านี้อาจใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการสนทนาในเรื่องงานสร้างสรรค์ของพระยะโฮวาเกี่ยวกับสัตว์นานาชนิด สถานที่ต่าง ๆ ที่มีธรรมชาติที่สวยงามทั่วโลก อีกทั้งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่หลากหลายรูปแบบอย่างน่าทึ่งในหมู่ผู้คน. การสนทนาแบบนี้อาจกระตุ้นให้บุตรอยากอ่านสรรพหนังสือที่จัดเตรียมโดยชนชั้นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมมากขึ้น.—มัดธาย 24:45-47.
15. บิดามารดาอาจช่วยบุตรโดยวิธีใดให้มองการประกาศว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและให้ความอิ่มใจพอใจ?
15 การพูดคุยกับบุตรแบบที่เสริมสร้างจะช่วยคุณตอบสนองความจำเป็นด้านวิญญาณอีกอย่างหนึ่ง. เด็ก ๆ ในครอบครัวคริสเตียนจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะบอกเล่าความเชื่อของตนกับคนอื่น ๆ อย่างบังเกิดผล. ขณะที่พูดคุยกันในบางจุดที่น่าสนใจจากวารสารหอสังเกตการณ์ หรือตื่นเถิด! คุณอาจหาทางที่จะให้บุตรเห็นวิธีใช้จุดเหล่านั้นในงานประกาศ. ตัวอย่างเช่น คุณอาจถามลูกว่า “ลูกว่าดีไหมถ้าคนอื่น ๆ ได้รู้เรื่องนี้เกี่ยวกับพระยะโฮวาด้วย? ลูกคิดว่าเราจะทำอย่างไรดีเพื่อให้พวกเขาสนใจเรื่องนี้?” การสนทนาในลักษณะนี้อาจช่วยให้ลูกสนใจที่จะแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้อยู่นี้ให้กับคนอื่น ๆ มากขึ้น. แล้วเมื่อลูกไปประกาศด้วยกันกับคุณ พวกเขาก็เห็นการนำเอาสิ่งที่ได้พูดคุยกันมาใช้ในภาคปฏิบัติจริง ๆ. พวกเขาอาจเรียนรู้ด้วยว่าการประกาศเป็นงานที่น่าสนใจและให้ความสุข ก่อความพอใจยินดีอย่างมาก.—กิจการ 20:35.
16. บุตรอาจเรียนรู้อะไรจากการฟังคำอธิษฐานของบิดามารดา?
16 นอกจากนี้ บิดามารดายังสนองความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของลูกด้วยเมื่อเขาอธิษฐาน. พระเยซูสอนสาวกอธิษฐาน และพระองค์อธิษฐานกับพวกเขาในหลายโอกาส. (ลูกา 11:1-13) ลองนึกดูสิว่าพวกสาวกจะเรียนรู้ได้มากสักเพียงไรโดยการร่วมอธิษฐานกับพระบุตรของพระยะโฮวาเอง! คล้ายกัน ลูกของคุณอาจเรียนรู้ได้มากจากคำอธิษฐานของคุณ. ตัวอย่างเช่น ลูกอาจเรียนรู้ว่าพระยะโฮวาต้องการให้เราพูดกับพระองค์อย่างไม่อั้นจากหัวใจ เข้าเฝ้าพระองค์ในเรื่องใดก็ได้ที่เรากังวลใจ. ถูกแล้ว คำอธิษฐานของคุณอาจช่วยลูก ๆ เรียนรู้ความจริงที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ พวกเขาสามารถมีสัมพันธภาพกับพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์.—1 เปโตร 5:7.
สนองความจำเป็นด้านอารมณ์
17, 18. (ก) คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นความสำคัญของการแสดงความรักต่อบุตรอย่างไร? (ข) บิดาควรเลียนแบบพระยะโฮวาอย่างไรในการแสดงความรักต่อบุตร?
17 แน่นอน บุตรมีความจำเป็นที่สำคัญยิ่งในด้านอารมณ์ด้วย. พระคำของพระเจ้าบอกให้บิดามารดาทราบว่าการสนองความจำเป็นในด้านนี้มีความสำคัญเพียงไร. ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงที่อ่อนวัยได้รับการกระตุ้นเตือนให้ “รักบุตรของตน.” การรักบุตรเกี่ยวข้องกับการที่คุณแม่ที่อ่อนวัยต้องมี “สติ.” (ติโต 2:4 ล.ม.) เป็นเรื่องสมควรอย่างแท้จริงที่มารดาพึงแสดงความรักต่อบุตร. การทำเช่นนี้สอนบุตรให้แสดงความรัก และจะยังประโยชน์แก่เขาไปตลอดชีวิต. ในอีกด้านหนึ่ง การละเลยไม่แสดงความรักต่อบุตรเป็นการกระทำที่ไร้สติ. นั่นจะก่อความปวดร้าวใหญ่หลวง และก็เท่ากับว่าเราไม่ติดตามแบบอย่างของพระยะโฮวา ผู้ทรงแสดงความรักอย่างเหลือล้นต่อเรา ทั้ง ๆ ที่เราไม่สมบูรณ์.—บทเพลงสรรเสริญ 103:8-14.
18 พระยะโฮวาถึงกับเป็นฝ่ายริเริ่มในการแสดงความรักต่อเหล่าบุตรของพระองค์ที่อยู่บนแผ่นดินโลก. ดังที่กล่าวใน 1 โยฮัน 4:19 “พระองค์ได้ทรงรักเราก่อน.” โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณผู้เป็นบิดาควรติดตามแบบอย่างของพระยะโฮวา คือเป็นฝ่ายริเริ่มสร้างความผูกพันรักใคร่กับบุตรของคุณ. คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นบิดาให้หลีกเลี่ยงการยั่วบุตรให้ขัดเคืองใจ “เกรงว่าเขาจะท้อใจ.” (โกโลซาย 3:21) มีไม่กี่อย่างที่จะยั่วบุตรให้ขัดเคืองใจได้มากไปกว่าการที่ลูกรู้สึกว่าพ่อหรือแม่ไม่รักหรือไม่เห็นค่าของเขา. บิดาที่รู้สึกลังเลใจที่จะเผยความรู้สึกของตนออกมา ควรระลึกถึงตัวอย่างของพระยะโฮวา. พระยะโฮวาถึงกับตรัสลงมาจากสวรรค์เพื่อแสดงความพอพระทัยและความรักต่อพระบุตรของพระองค์. (มัดธาย 3:17; 17:5) นั่นคงจะเป็นที่ชูใจพระเยซูสักเพียงไร! เช่นเดียวกัน ลูก ๆ จะมีความเข้มแข็งและได้กำลังใจอย่างมากจากการที่พ่อแม่เผยให้ลูกทราบจากใจจริงว่าเขาเป็นที่รักเป็นที่พึงพอใจของพ่อแม่.
19. ทำไมการตีสอนจึงสำคัญ และบิดามารดาคริสเตียนพยายามหาจุดที่พอเหมาะพอดีในเรื่องใด?
19 แน่นอน ความรักที่บิดามารดามีต่อบุตรไม่ได้แสดงออกเพียงแค่ทางคำพูด. ส่วนใหญ่แล้วความรักแสดงออกโดยการกระทำ. การจัดหาสิ่งจำเป็นด้านวัตถุและการบำรุงเลี้ยงในด้านความเชื่อก็เป็นการแสดงความรักของบิดามารดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบิดามารดาทำเช่นนั้นในวิธีที่สื่อให้รู้ว่าทำด้วยแรงกระตุ้นจากความรักเป็นสำคัญ. นอกจากนี้ การตีสอนก็เป็นการแสดงออกที่สำคัญถึงความรักของบิดามารดา. ที่จริงแล้ว “พระยะโฮวารักผู้ใด พระองค์ทรงตีสอนผู้นั้น.” (เฮ็บราย 12:6, ล.ม.) ในทางตรงกันข้าม การที่บิดามารดาละเลยการตีสอนแสดงว่าพวกเขาไม่รักบุตรของตน! (สุภาษิต 13:24) พระยะโฮวาทรงหาจุดที่พอเหมาะพอดีในการตีสอนเสมอ และทรงตีสอน “ตามขนาดที่เหมาะสม.” (ยิระมะยา 46:28, ล.ม.) การหาจุดที่พอเหมาะพอดีดังกล่าวนั้นไม่ง่ายเสมอไปสำหรับบิดามารดาที่ไม่สมบูรณ์. ถึงกระนั้น การที่คุณพยายามทุกทางเพื่อให้การตีสอนอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมก็นับว่าคุ้มค่าความพยายาม. การตีสอนที่หนักแน่นและทำด้วยความรักจะช่วยบุตรให้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบผลดีและมีความสุขในชีวิต. (สุภาษิต 22:6) บิดามารดาคริสเตียนทุกคนต้องการให้บุตรเป็นเช่นนั้นมิใช่หรือ?
20. โดยวิธีใดที่บิดามารดาจะให้บุตรมีโอกาสดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ที่จะ “เลือกเอาชีวิต”?
20 เมื่อคุณผู้เป็นบิดามารดาทำหน้าที่สำคัญที่พระยะโฮวามอบไว้ให้คุณ คือ สนองความจำเป็นแก่บุตรในด้านวัตถุ, ด้านวิญญาณ, และด้านอารมณ์ คุณจะได้รับผลตอบแทนอย่างใหญ่หลวง. การทำเช่นนั้นเป็นการให้บุตรของคุณมีโอกาสดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เพื่อ “เลือกเอาชีวิต” ซึ่งจะยังผลให้เขา “มีชีวิตอยู่ต่อไป.” (พระบัญญัติ 30:19, ล.ม.) บุตรที่เลือกรับใช้พระยะโฮวาและคงอยู่บนเส้นทางสู่ชีวิตขณะที่เขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ นำความปลาบปลื้มมาสู่บิดามารดาของตนอย่างเหลือล้น. (บทเพลงสรรเสริญ 127:3-5) ความปลาบปลื้มเช่นนั้นจะคงอยู่ตลอดไป! กระนั้น เยาวชนจะสรรเสริญพระยะโฮวาในทางใดได้บ้างในขณะนี้? บทความถัดไปจะพิจารณาเรื่องนี้.
[เชิงอรรถ]
a ในบทความนี้ โดยทั่วไปแล้วจะพูดถึงผู้เลี้ยงดูครอบครัวที่เป็นฝ่ายชาย. แต่หลักการยังใช้ได้กับสตรีคริสเตียนซึ่งเป็นเสาหลักในการเลี้ยงดูครอบครัวด้วยเช่นกัน.
b จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณจะตอบอย่างไร?
บิดามารดาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสนองความจำเป็นของบุตร
• ในด้านวัตถุ?
• ในด้านวิญญาณ?
• ในด้านอารมณ์?
[ภาพหน้า 18]
นกมากมายทำงานหนักเพื่อหาอาหารให้ลูกของมันโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
[ภาพหน้า 20]
บิดามารดาต้องสร้างสัมพันธภาพของตนเองกับพระเจ้าก่อน
[ภาพหน้า 20, 21]
บิดามารดาหาโอกาสได้มากมายที่จะสอนบุตรเกี่ยวกับพระผู้สร้าง
[ภาพหน้า 22]
ลูก ๆ จะมีความเข้มแข็งและได้กำลังใจจากการที่พ่อแม่พึงพอใจในตัวเขา