คุณซื่อสัตย์ในทุกสิ่งไหม?
“คนที่สัตย์ซื่อในของเล็กที่สุดจะสัตย์ซื่อในของมากด้วย.”—ลูกา 16:10.
1. แนวทางหนึ่งที่แสดงว่าพระยะโฮวาทรงซื่อสัตย์คืออย่างไร?
ขณะที่ตะวันเคลื่อนคล้อยไป คุณสังเกตไหมว่าเกิดอะไรขึ้นกับเงาต้นไม้ที่ทอดอยู่บนพื้นดิน? เงาเปลี่ยนขนาดและทิศทางไปเรื่อย ๆ! ความพยายามและคำสัญญาต่าง ๆ ของมนุษย์บ่อยครั้งไม่มั่นคงเฉกเช่นเงา. ส่วนพระยะโฮวาพระเจ้า พระองค์ไม่ทรงเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป. สาวกยาโกโบกล่าวพาดพิงถึงพระองค์ฐานะเป็น “พระบิดาแห่งดวงสว่างทั้งหลายแห่งฟ้าสวรรค์” ว่า “กับพระองค์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เงาเปลี่ยนไป.” (ยาโกโบ 1:17, ล.ม.) พระยะโฮวาไม่ทรงเปลี่ยนแปลงและเชื่อถือได้ แม้แต่ในรายละเอียดเล็กน้อยที่สุด. พระองค์ทรงเป็น “พระเจ้าแห่งความจริง [“ความซื่อสัตย์,” ล.ม.].”—พระบัญญัติ 32:4.
2. (ก) เหตุใดเราควรตรวจสอบตัวเองเพื่อตัดสินว่าเราเป็นคนซื่อสัตย์หรือไม่? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไรเกี่ยวกับความซื่อสัตย์?
2 พระยะโฮวามองความวางใจได้ของผู้นมัสการพระองค์อย่างไร? ก็แบบเดียวกับที่ดาวิดมอง ผู้ซึ่งกล่าวถึงพวกเขาว่า “ตาของข้าพเจ้าจะคอยเพ่งดูข้าแผ่นดินที่สัตย์ซื่อ, เพื่อให้เขาอาศัยอยู่กับข้าพเจ้า: ผู้ใดที่ประพฤติทางดีรอบคอบผู้นั้นจะปฏิบัติข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 101:6) ใช่แล้ว พระยะโฮวามีความยินดีในความซื่อสัตย์ของผู้รับใช้พระองค์. ด้วยเหตุผลที่ดี อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ฝ่ายผู้อารักขาเหล่านั้นต้องเป็นคนสัตย์ซื่อทุกคน.” (1 โกรินโธ 4:2) การเป็นคนซื่อสัตย์เกี่ยวข้องกับอะไร? ในขอบเขตใดบ้างของชีวิตที่เราควรปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์? มีผลประโยชน์อะไรจากการ “ประพฤติทางดีรอบคอบ”?
ความหมายของการเป็นคนซื่อสัตย์
3. อะไรตัดสินว่าเราเป็นคนซื่อสัตย์หรือไม่?
3 เฮ็บราย 3:5 กล่าวว่า “โมเซนั้นสัตย์ซื่อ . . . อย่างคนรับใช้.” อะไรทำให้ผู้พยากรณ์โมเซซื่อสัตย์? ในการก่อสร้างและตั้งพลับพลา “พระยะโฮวาได้ตรัสสั่งให้โมเซทำประการใดท่านก็ได้กระทำดังนั้นทุกประการ.” (เอ็กโซโด 40:16) ในฐานะผู้นมัสการพระยะโฮวา เราแสดงความซื่อสัตย์โดยการรับใช้พระองค์ด้วยการเชื่อฟัง. แน่นอน นี่หมายรวมถึงการที่เรารักษาความภักดีต่อพระยะโฮวาขณะเผชิญการทดสอบที่ยากลำบากหรือการทดลองแสนสาหัส. อย่างไรก็ดี ความสำเร็จในการรับมือกับการทดสอบที่ใหญ่โตไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ตัดสินความซื่อสัตย์ของเรา. พระเยซูตรัสว่า “คนที่สัตย์ซื่อในของเล็กที่สุดจะสัตย์ซื่อในของมากด้วย, และคนที่อสัตย์ในของเล็กที่สุดจะอสัตย์ในของมากด้วย.” (ลูกา 16:10) เราต้องรักษาความซื่อสัตย์แม้แต่ในเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อย.
4, 5. การที่เราซื่อสัตย์ใน “ของเล็กที่สุด” เผยให้เห็นอะไร?
4 การเชื่อฟังใน “ของเล็กที่สุด” แต่ละวันนับว่าสำคัญด้วยเหตุผลสองประการ. ประการแรก นั่นเผยให้เห็นว่าเรารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับสิทธิของพระยะโฮวาที่จะปกครอง. ขอให้คิดถึงการทดสอบความภักดีที่อาดามกับฮาวา มนุษย์คู่แรกได้เผชิญ. นั่นไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ยากลำบากสำหรับเขา. ขณะที่สามารถรับประทานผลไม้ทุกชนิดในสวนเอเดนได้ เขาทั้งสองเพียงแต่ต้องละเว้นการรับประทานผลไม้จากต้นหนึ่งเท่านั้น นั่นคือ “ต้นไม้ที่ให้รู้ความดีและชั่ว.” (เยเนซิศ 2:16, 17) ความซื่อสัตย์ของเขาทั้งสองในการเชื่อฟังพระบัญชาง่าย ๆ นั้นจะแสดงให้เห็นว่ามนุษย์คู่แรกสนับสนุนการปกครองของพระยะโฮวา. การปฏิบัติตามคำแนะนำของพระยะโฮวาในชีวิตประจำวันของเราแสดงว่าเราสนับสนุนสิทธิในการปกครองของพระองค์.
5 ประการที่สอง เราประพฤติอย่างไรในเรื่อง “ของเล็กที่สุด” ก็จะส่งผลให้เราตอบสนองอย่างนั้นต่อ “ของมากด้วย” นั่นคือ เมื่อเราเผชิญกับประเด็นที่ใหญ่กว่าในชีวิต. ในเรื่องนี้ ขอพิจารณาสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับดานิเอลและเพื่อนชาวฮีบรูที่ซื่อสัตย์สามคนของท่าน คือฮะนันยา, มิซาเอล, และอะซาระยา. พวกเขาถูกพาไปเป็นเชลยที่บาบิโลนในปี 617 ก่อนสากลศักราช. ขณะที่ยังหนุ่ม คงจะอยู่ในช่วงวัยรุ่น ทั้งสี่คนได้มาอยู่ในราชสำนักของกษัตริย์นะบูคัดเนซัร. ที่ราชสำนัก “กษัตริย์ได้รับสั่งไว้ให้เขาเหล่านั้นได้รับประทานอาหารแบ่งมาจากเครื่องเสวยและดื่มเหล้าองุ่นซึ่งพระองค์ได้เสวย, ให้เอาเขาไปอบรมเลี้ยงดูสักสามปี, พอครบกำหนดสามปีแล้ว, เขาจะได้เฝ้าแหนหน้าพระที่นั่ง.”—ดานิเอล 1:3-5.
6. ดานิเอลกับเพื่อนชาวฮีบรูสามคนเผชิญการทดสอบอะไรในราชสำนักบาบิโลน?
6 อย่างไรก็ดี อาหารของกษัตริย์บาบิโลนได้ทำให้เกิดข้อท้าทายสำหรับหนุ่มชาวฮีบรูสี่คน. อาหารที่พระบัญญัติของโมเซห้ามรับประทานคงจะรวมอยู่ในเครื่องเสวยอันโอชะของกษัตริย์ด้วย. (พระบัญญัติ 14:3-20) สัตว์ที่ถูกฆ่าอาจไม่ได้เอาเลือดออกอย่างเหมาะสม และการรับประทานเนื้อสัตว์ดังกล่าวคงจะละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้า. (พระบัญญัติ 12:23-25) นอกจากนี้ อาจมีการถวายอาหารแก่รูปเคารพอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติท่ามกลางผู้นมัสการชาวบาบิโลนก่อนรับประทานอาหารร่วมกัน.
7. การเชื่อฟังของดานิเอลและเพื่อนสามคนแสดงให้เห็นถึงอะไร?
7 ข้อจำกัดว่าด้วยอาหารคงไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญสำหรับเหล่าข้าราชสำนักของกษัตริย์บาบิโลน. อย่างไรก็ดี ดานิเอลกับเพื่อนของท่านได้ปลงใจแน่วแน่ที่จะไม่ทำให้ตัวเองเป็นมลทินโดยการรับประทานอาหารต้องห้ามตามพระบัญญัติของพระเจ้าที่ให้แก่ชาติอิสราเอล. นี่เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความภักดีและความซื่อสัตย์ที่พวกเขามีต่อพระเจ้า. ดังนั้น พวกเขาจึงขอผักและน้ำเป็นอาหาร และได้รับตามคำขอ. (ดานิเอล 1:9-14) สำหรับบางคนในทุกวันนี้ สิ่งที่ชายหนุ่มสี่คนนี้ทำอาจดูเหมือนเป็นเรื่องไม่สำคัญ. อย่างไรก็ดี การที่พวกเขาเชื่อฟังพระเจ้าแสดงให้เห็นจุดยืนของพวกเขาในประเด็นเกี่ยวกับพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา.
8. (ก) ชาวฮีบรูสามคนเผชิญการทดสอบที่สำคัญอะไรเกี่ยวกับความภักดี? (ข) ผลของการทดสอบนั้นเป็นอย่างไร และเรื่องนี้เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นอะไร?
8 การพิสูจน์ความซื่อสัตย์ในสิ่งที่อาจดูเหมือนว่าเล็กน้อย ได้เตรียมเพื่อนสามคนของดานิเอลไว้เพื่อจะรับมือกับการทดลองที่ใหญ่กว่า. ขอพลิกไปที่พระธรรมดานิเอลบท 3 แล้วอ่านดูด้วยตัวคุณเองถึงวิธีที่ชาวฮีบรูสามคนได้เผชิญกับการลงโทษประหารชีวิตเนื่องจากไม่ยอมนมัสการรูปเคารพทองคำที่กษัตริย์นะบูคัดเนซัรได้ตั้งไว้. เมื่อถูกพาตัวมาอยู่เฉพาะพระพักตร์กษัตริย์ พวกเขาได้ประกาศความตั้งใจแน่วแน่ของตนด้วยความมั่นใจว่า “ถ้าต้องเป็นอย่างนั้น พระเจ้าของพวกข้าพเจ้าซึ่งพวกข้าพเจ้ารับใช้อยู่นั้นทรงสามารถช่วยพวกข้าพเจ้า. ข้าแต่ราชา พระองค์จะทรงช่วยพวกข้าพเจ้ารอดจากเตาไฟและจากเงื้อมพระหัตถ์ของฝ่าพระบาท. ถ้าไม่ ขอฝ่าพระบาททรงทราบ ข้าแต่ราชา พระเจ้าของฝ่าพระบาทหาใช่พระเจ้าที่พวกข้าพเจ้ารับใช้ไม่ และรูปทองคำซึ่งฝ่าพระบาทได้ทรงตั้งไว้นั้น พวกข้าพเจ้าจะไม่นมัสการ.” (ดานิเอล 3:17, 18, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงช่วยพวกเขาไหม? ผู้คุมที่จับชายหนุ่มเหล่านี้โยนเข้าไปในเตาไฟได้เสียชีวิต แต่ชาวฮีบรูที่ซื่อสัตย์สามคนได้ออกมาจากเตาโดยที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยมิได้ไหม้เกรียมเนื่องจากความร้อนในเตาไฟด้วยซ้ำ! แบบอย่างความซื่อสัตย์ของพวกเขาที่วางไว้อย่างดีได้ช่วยเตรียมพวกเขาไว้ให้ซื่อสัตย์ระหว่างการทดสอบที่สำคัญ. เรื่องนี้เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นความสำคัญของการซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อยมิใช่หรือ?
ความซื่อสัตย์เกี่ยวกับ “ทรัพย์สมบัติอธรรม”
9. บริบทของถ้อยคำที่พระเยซูตรัสดังบันทึกไว้ในลูกา 16:10 คืออะไร?
9 ก่อนแจ้งหลักการที่ว่าคนซึ่งซื่อสัตย์ในเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อยก็ซื่อสัตย์ในเรื่องที่สำคัญด้วย พระเยซูทรงแนะนำผู้ฟังพระองค์ว่า “จงกระทำให้มีมิตรสหายแก่ตัวด้วยทรัพย์สมบัติอธรรม, เพื่อเมื่อทรัพย์นั้นเสียไปแล้ว, เขาจะได้ต้อนรับท่านในที่อาศัยอันถาวรเป็นนิตย์.” ต่อจากนั้นพระองค์ได้ตรัสเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ในของเล็กที่สุด. ครั้นแล้ว พระองค์ตรัสว่า “เหตุฉะนั้น ถ้าท่านทั้งหลายไม่สัตย์ซื่อในทรัพย์สมบัติอธรรม, ใครจะมอบทรัพย์สมบัติอันแท้ให้แก่ท่านเล่า? . . . ไม่มีบ่าวผู้ใดจะปรนนิบัตินายสองนายได้ เพราะจะชังนายข้างหนึ่งและจะรักนายอีกข้างหนึ่ง, หรือจะนับถือนายฝ่ายหนึ่งและจะดูหมิ่นนายอีกฝ่ายหนึ่ง. ท่านทั้งหลายจะปฏิบัติพระเจ้าและจะปฏิบัติเงินทองด้วยก็ไม่ได้.”—ลูกา 16:9-13.
10. เราจะแสดงความซื่อสัตย์ในการใช้ “ทรัพย์สมบัติอธรรม” ได้โดยวิธีใด?
10 ตามบริบทนั้น การนำคำตรัสของพระเยซูที่พบในลูกา 16:10 มาใช้ทีแรกเกี่ยวข้องกับการใช้ “ทรัพย์สมบัติอธรรม” ซึ่งได้แก่สมบัติวัตถุของเรา. สมบัติวัตถุถูกเรียกว่าทรัพย์สมบัติอธรรมก็เพราะทรัพย์ดังกล่าว โดยเฉพาะเงิน อยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์ที่ผิดบาป. นอกจากนี้ ความปรารถนาจะได้ทรัพย์สินอาจนำไปสู่การกระทำที่ไม่ชอบธรรม. เราแสดงความซื่อสัตย์โดยใช้สติปัญญาในวิธีที่เราใช้สมบัติวัตถุของเรา. แทนที่จะใช้ทรัพย์สมบัติด้วยจุดมุ่งหมายที่เห็นแก่ตัว เราต้องการใช้ทรัพย์นั้นเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรและช่วยคนที่ขัดสน. โดยการเป็นคนซื่อสัตย์ในวิธีนี้ เราจึงผูกมิตรกับพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นเจ้าของ “ที่อาศัยอันถาวรเป็นนิตย์.” พระองค์ทั้งสองจะต้อนรับเราเข้าสู่สถานที่เหล่านี้ โดยประทานชีวิตถาวรให้เราในสวรรค์หรือไม่ก็ในอุทยานบนแผ่นดินโลก.
11. ทำไมเราไม่ควรลังเลในการชี้แจงแก่เจ้าของบ้านว่า เรายอมรับเงินบริจาคสำหรับงานทั่วโลกที่พยานพระยะโฮวาทำกันอยู่?
11 ขอพิจารณาด้วยเช่นกันถึงสิ่งที่เราเสนอให้ผู้คนซึ่งรับคัมภีร์ไบเบิลหรือสิ่งพิมพ์ที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักเมื่อเราประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรแก่เขา แล้วอธิบายว่าเรายอมรับเงินบริจาคสำหรับงานทั่วโลกที่ประชาชนของพระยะโฮวาทำกันอยู่. เรากำลังเสนอโอกาสให้พวกเขาที่จะใช้สมบัติวัตถุของตนอย่างฉลาดสุขุมมิใช่หรือ? ถึงแม้การใช้ลูกา 16:10 ทีแรกเกี่ยวข้องกับการใช้สมบัติวัตถุก็ตาม หลักการที่กล่าวในข้อนี้ยังนำมาใช้ได้ในขอบเขตอื่นของชีวิตด้วย.
ความซื่อตรงสำคัญจริง ๆ
12, 13. เราจะแสดงความซื่อตรงได้ในขอบเขตใดบ้าง?
12 อัครสาวกเปาโลได้เขียนว่า “เรามั่นใจว่า เรามีสติรู้สึกผิดชอบที่ดี เนื่องจากเราปรารถนาจะประพฤติตัวซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง.” (เฮ็บราย 13:18, ล.ม.) แน่นอนว่า “ทุกสิ่ง” รวมเอาทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องเงิน. เราชำระหนี้และภาษีตรงเวลาอย่างซื่อตรง. เพราะเหตุใด? เราทำเช่นนั้นเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบของเราและเนื่องจากความรักที่มีต่อพระเจ้าเป็นประการสำคัญและเป็นการเชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์. (โรม 13:5, 6) เราตอบสนองอย่างไรเมื่อพบสิ่งที่ไม่ใช่ของของเรา? เราหาทางจะคืนสิ่งนั้นให้ผู้เป็นเจ้าของโดยถูกต้อง. การทำเช่นนี้ช่างก่อผลเป็นการให้คำพยานที่ดีเสียจริง ๆ เมื่อเราอธิบายว่าอะไรได้กระตุ้นเราให้คืนทรัพย์สินแก่ผู้เป็นเจ้าของ!
13 การเป็นคนซื่อสัตย์และซื่อตรงในทุกสิ่งรวมไปถึงความซื่อตรงในที่ทำงานของเรา. ความซื่อตรงในนิสัยการทำงานของเรานำความสนใจไปสู่พระเจ้าที่เราเป็นตัวแทน. เราไม่ “ลักขโมย” เวลาโดยการเป็นคนเกียจคร้าน. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราทำงานอย่างขันแข็ง เหมือนทำถวายพระยะโฮวา. (เอเฟโซ 4:28; โกโลซาย 3:23) ประมาณกันว่าในประเทศหนึ่งทางยุโรป ลูกจ้างหนึ่งในสามซึ่งขอใบรับรองแพทย์เพื่อลาป่วยได้ทำเช่นนั้นอย่างไม่ซื่อตรง. ผู้รับใช้แท้ของพระเจ้าไม่กุเรื่องขึ้นมาเพื่อหาทางเลี่ยงไม่ไปทำงาน. บางครั้ง พยานพระยะโฮวาได้รับการเสนอให้เลื่อนตำแหน่งเพราะนายจ้างสังเกตเห็นความซื่อตรงและการขยันทำงาน.—สุภาษิต 10:4.
ความซื่อสัตย์ในงานเผยแพร่คริสเตียนของเรา
14, 15. มีวิธีใดบ้างที่เราสามารถพิสูจน์ตัวว่าซื่อสัตย์ในงานเผยแพร่คริสเตียน?
14 เราแสดงความซื่อสัตย์ในงานเผยแพร่ที่มอบหมายให้เราโดยวิธีใด? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ให้เราถวายคำสรรเสริญพระเจ้าเป็นเครื่องบูชาเสมอ . . . คือผลแห่งริมฝีปากที่กล่าวสรรเสริญพระนามของพระองค์.” (เฮ็บราย 13:15) วิธีสำคัญที่สุดที่จะแสดงความซื่อสัตย์ในงานเผยแพร่ตามบ้านคือการมีส่วนร่วมในงานนี้เป็นประจำ. ไฉนเราจะปล่อยให้เดือนหนึ่งผ่านไปโดยไม่ได้ให้คำพยานเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์? การมีส่วนร่วมในงานประกาศเป็นประจำยังช่วยเราให้ปรับปรุงทักษะและประสิทธิภาพของเราด้วย.
15 อีกวิธีหนึ่งที่ดีที่จะแสดงความซื่อสัตย์ในการรับใช้ตามบ้านคือนำข้อเสนอแนะที่พบในหอสังเกตการณ์ และพระราชกิจของเรา มาใช้. เมื่อเราเตรียมตัวและใช้การเสนอที่แนะไว้หรือการเสนอแบบอื่นที่ตรงกับสภาพจริง เราพบว่างานเผยแพร่ของเราบังเกิดผลมากขึ้นมิใช่หรือ? เมื่อเราพบคนที่แสดงความสนใจในข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร เราติดตามผู้สนใจโดยทันทีไหม? และจะว่าอย่างไรกับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่เราอาจเริ่มกับคนที่สนใจ? เราเป็นคนเชื่อถือได้และนำการศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำไหม? การที่เราพิสูจน์ว่าซื่อสัตย์ในงานเผยแพร่อาจทำให้ตัวเราและคนที่ฟังเราได้รับชีวิต.—1 ติโมเธียว 4:15, 16.
การอยู่ต่างหากจากโลก
16, 17. เราจะแสดงให้เห็นว่าเราอยู่ต่างหากจากโลกในทางใดบ้าง?
16 ในคำอธิษฐานถึงพระเจ้า พระเยซูตรัสเกี่ยวกับเหล่าผู้ติดตามพระองค์ว่า “ข้าพเจ้ามอบพระคำของพระองค์แก่พวกเขาแล้ว แต่โลกได้เกลียดชังเขา เพราะเขาไม่เป็นส่วนของโลก เหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก. ข้าพเจ้าทูลขอพระองค์ มิให้นำพวกเขาไปจากโลก แต่ขอทรงพิทักษ์เขาไว้เพราะตัวชั่วร้าย. พวกเขาไม่เป็นส่วนของโลก เหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก.” (โยฮัน 17:14-16, ล.ม.) เราอาจยืนหยัดมั่นคงและตั้งใจแน่วแน่ที่จะอยู่ต่างหากจากโลกในประเด็นใหญ่ ๆ เช่น เรื่องความเป็นกลาง, วันหยุดและธรรมเนียมทางศาสนา, รวมทั้งการผิดศีลธรรม. แต่จะว่าอย่างไรกับเรื่องที่เล็กกว่า? เป็นไปได้ไหมที่เราอาจได้รับอิทธิพลจากแนวทางของโลก โดยไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วยซ้ำ? ตัวอย่างเช่น หากเราไม่ระวัง ก็ง่ายสักเพียงไรที่รูปแบบการแต่งกายของเราอาจไม่มีสง่าราศีและไม่เหมาะสม! การเป็นคนซื่อสัตย์เรียกร้อง “[ความ] สุภาพและมีสุขภาพจิตดี” ในเรื่องการแต่งกายและการประดับตัว. (1 ติโมเธียว 2:9, 10, ล.ม.) ใช่แล้ว “ไม่ว่าทางใด เราไม่เป็นเหตุให้สะดุด เพื่องานรับใช้ของเราจะไม่เป็นที่ติเตียน; แต่ในทุกวิถีทางเราแนะนำตัวเองว่าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า.”—2 โกรินโธ 6:3, 4, ล.ม.
17 เนื่องจากความปรารถนาที่จะถวายเกียรติพระยะโฮวา เราจึงแต่งกายแบบที่สง่างามเพื่อเข้าร่วมการประชุมของประชาคม. เป็นเช่นเดียวกัน ณ การประชุมใหญ่ต่าง ๆ เมื่อเราพบปะกันโดยมีคนเป็นจำนวนมาก. การแต่งกายของเราต้องเหมาะกับกาลเทศะและเรียบร้อย. การแต่งกายเช่นนี้เป็นการให้คำพยานแก่คนอื่นซึ่งสังเกตดูเรา. แม้แต่ทูตสวรรค์ก็สังเกตดูการกระทำของเรา เช่นเดียวกับที่ได้สังเกตดูการกระทำของเปาโลและเพื่อนคริสเตียนของท่าน. (1 โกรินโธ 4:9) ที่จริง เราควรแต่งกายอย่างเหมาะสมเสมอ. สำหรับบางคน ความซื่อสัตย์ในการเลือกเสื้อผ้าอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในสายพระเนตรของพระเจ้านี่เป็นเรื่องสำคัญ.
พระพรสำหรับความซื่อสัตย์
18, 19. พระพรอะไรเป็นผลมาจากความซื่อสัตย์?
18 มีการกล่าวถึงคริสเตียนแท้ในฐานะเป็น “คนต้นเรือนที่ดีแห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าที่แสดงออกในวิธีต่าง ๆ.” ในฐานะเช่นนั้น พวกเขา “พึ่งอาศัยในกำลังซึ่งพระเจ้าทรงประทานให้.” (1 เปโตร 4:10, 11, ล.ม.) นอกจากนี้ ในฐานะคนต้นเรือน เราได้รับมอบสิ่งที่ไม่ใช่เป็นของตัวเราเอง นั่นคือการสำแดงพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า รวมทั้งงานเผยแพร่ด้วย. ในการพิสูจน์ตัวเป็นคนต้นเรือนที่ดี เราอาศัยกำลังที่พระเจ้าประทานให้ “กำลังที่มากกว่าปกติ.” (2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.) ช่างเป็นการฝึกที่ดีอะไรเช่นนี้เพื่อช่วยเราเผชิญการทดลองใด ๆ ก็ตามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต!
19 ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญได้ร้องเพลงว่า “ดูกรท่านผู้ชอบธรรมทั้งหลาย, จงรักพระยะโฮวาเถิด, พระยะโฮวาทรงรักษาคนที่สัตย์ซื่อ.” (บทเพลงสรรเสริญ 31:23) ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่ที่จะพิสูจน์ตัวซื่อสัตย์ มั่นใจเต็มที่ว่าพระยะโฮวาทรงเป็น “ผู้ช่วยให้รอดของคนทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งของคนซื่อสัตย์.”—1 ติโมเธียว 4:10, ล.ม.
คุณจำได้ไหม?
• ทำไมเราควร “สัตย์ซื่อในของเล็กที่สุด”?
• เราจะพิสูจน์ตัวซื่อสัตย์ได้อย่างไร
ในการเป็นคนซื่อตรง?
ในงานเผยแพร่?
ในการอยู่ต่างหากจากโลก?
[ภาพหน้า 26]
ผู้ที่สัตย์ซื่อในของเล็กที่สุด ก็จะสัตย์ซื่อในของมากด้วย
[ภาพหน้า 29]
“ประพฤติตัวซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง”
[ภาพหน้า 29]
วิธีที่ดีอย่างหนึ่งในการแสดงความซื่อสัตย์คือเตรียมตัวอย่างดีสำหรับงานเผยแพร่ตามบ้าน
[ภาพหน้า 30]
จงแต่งกายและประดับตัวอย่างสุภาพ