ความมั่งคั่งแท้ในโลกใหม่ของพระเจ้า
เดวิดa คริสเตียนซึ่งเป็นสามีและบิดาได้ย้ายไปสหรัฐ โดยมั่นใจว่าเขาได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง. ถึงแม้ไม่อยากทิ้งภรรยากับลูก ๆ ไป แต่เขาก็รู้สึกแน่ใจว่าจะสามารถทำให้ทุกคนในครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้นได้เพียงแต่ถ้าเขามีเงินมากขึ้น. ดังนั้น เขาจึงยอมรับคำเชิญจากญาติพี่น้องที่อยู่ในนิวยอร์ก และไม่นานก็ได้งานทำที่นั่น.
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภาพที่เดวิดมองในแง่ดีก็เริ่มเลือนราง. เขาไม่ค่อยมีเวลาในการทำกิจกรรมทางฝ่ายวิญญาณ. มาถึงจุดหนึ่ง เขาแทบจะหมดความเชื่อในพระเจ้า. เขาไม่ได้ตระหนักถึงสภาพที่แท้จริงของตัวเองจนกระทั่งเขายอมจำนนต่อการล่อใจทางด้านศีลธรรมในที่สุด. การที่เขาเพ่งเล็งในความมั่งคั่งทางด้านวัตถุค่อย ๆ พาเขาออกห่างจากทุกสิ่งที่สำคัญจริง ๆ สำหรับเขา. เขาต้องทำการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง.
เช่นเดียวกับเดวิด ทุกปีมีหลายคนอพยพออกจากบ้านเกิดที่ยากจน โดยหวังว่าจะทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของตนดีขึ้น. กระนั้น บ่อยครั้งทีเดียวพวกเขาประสบความเสียหายร้ายแรงทางฝ่ายวิญญาณ. บางคนสงสัยว่า ‘คริสเตียนสามารถแสวงหาความมั่งคั่งทางด้านวัตถุและยังมั่งมีจำเพาะพระเจ้าด้วยได้ไหม?’ นักเขียนและนักเทศน์ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบบอกว่าเรื่องนี้มีทางเป็นไปได้. แต่ดังที่เดวิดและคนอื่น ๆ ได้เรียนรู้ การได้สิ่งหนึ่งมาโดยไม่เสียอีกสิ่งหนึ่งไปอาจเป็นเรื่องยาก.—ลูกา 18:24.
เงินไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย
แน่นอน เงินเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น. เช่นเดียวกับสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ หลายอย่าง ในตัวมันเองแล้วไม่มีอะไรที่ไม่ดีหรือชั่วร้าย. ที่จริง เงินเป็นเพียงสิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยน. ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการใช้อย่างเหมาะสม เงินก็อาจส่งเสริมจุดประสงค์ที่ดีได้. ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลยอมรับว่า “เงินก็เป็นเครื่องปกป้อง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากความยากจน. (ท่านผู้ประกาศ 7:12) สำหรับบางคนแล้ว อย่างน้อยดูเหมือนว่า “เงินก็จัดให้ได้ทุกอย่าง.”—ท่านผู้ประกาศ 10:19, ฉบับแปลใหม่.
พระคัมภีร์ตำหนิความเกียจคร้านและสนับสนุนการทำงานอย่างขยันขันแข็ง. เราต้องเลี้ยงดูครอบครัวของเรา และหากเรามีเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย เราก็มี “อะไร ๆ แจกให้แก่คนเหล่านั้นที่ขัดสน.” (เอเฟโซ 4:28; 1 ติโมเธียว 5:8) นอกจากนี้ แทนที่จะส่งเสริมการหักห้ามใจตนเอง คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราให้ชื่นชมกับทรัพย์สมบัติของเรา. มีการสั่งให้เรา “รับส่วน [ของเรา]” และชื่นชมยินดีกับผลจากงานหนักของเรา. (ท่านผู้ประกาศ 5:18-20, ฉบับแปลใหม่) ที่จริง มีตัวอย่างหลายเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับชายและหญิงที่ซื่อสัตย์ซึ่งเป็นคนร่ำรวย.
บุรุษซื่อสัตย์ซึ่งเป็นคนร่ำรวย
อับราฮาม ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าเป็นเจ้าของฝูงแกะและปศุสัตว์จำนวนมาก, มีเงินทองมากมาย, รวมทั้งครัวเรือนขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยคนใช้นับร้อย. (เยเนซิศ 12:5; 13:2, 6, 7) โยบผู้ชอบธรรมก็มีทรัพย์สมบัติมากมายด้วย เช่น ปศุสัตว์, คนรับใช้, ทองคำและเงิน. (โยบ 1:3; 42:11, 12) บุรุษสองคนนี้ร่ำรวยแม้จะวัดโดยมาตรฐานในปัจจุบัน แต่ท่านก็มั่งมีจำเพาะพระเจ้าด้วย.
อัครสาวกเปาโลเรียกอับราฮามว่า “บิดาของคนทั้งปวงที่เชื่อ.” อับราฮามไม่ตระหนี่หรือผูกพันอยู่กับทรัพย์สมบัติของท่านมากเกินไป. (โรม 4:11; เยเนซิศ 13:9; 18:1-8) เช่นเดียวกัน พระเจ้าเองทรงพรรณนาถึงโยบว่า “เป็นคนดีรอบคอบและชอบธรรม.” (โยบ 1:8) ท่านพร้อมเสมอที่จะช่วยคนยากจนและผู้ที่เป็นทุกข์. (โยบ 29:12-16) ทั้งอับราฮามและโยบต่างก็ไว้วางใจในพระเจ้าแทนที่จะวางใจในทรัพย์สมบัติของตน.—เยเนซิศ 14:22-24; โยบ 1:21, 22; โรม 4:9-12.
กษัตริย์ซะโลโมเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง. ในฐานะรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ของพระเจ้าในกรุงเยรูซาเลม ซะโลโมได้รับไม่เพียงแต่สติปัญญาจากพระเจ้า แต่ยังได้รับทรัพย์สมบัติและสง่าราศีอย่างมากมายด้วย. (1 กษัตริย์ 3:4-14) ตลอดชีวิตส่วนใหญ่ของท่าน ท่านเป็นคนซื่อสัตย์. แต่ในช่วงบั้นปลาย “พระทัยของ [ซะโลโม] หาดีรอบคอบเฉพาะพระยะโฮวา . . . ไม่.” (1 กษัตริย์ 11:1-8) ที่จริง ประสบการณ์ที่น่าเศร้าของท่านเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นหลุมพรางธรรมดาบางอย่างของความมั่งคั่งทางด้านวัตถุ. ขอพิจารณาหลุมพรางบางประการ.
หลุมพรางของความมั่งคั่ง
อันตรายร้ายแรงที่สุดคือการกลายเป็นคนรักเงินและสิ่งที่เงินซื้อได้. ความมั่งคั่งทำให้บางคนเกิดความอยากได้ใคร่มีซึ่งไม่มีวันทำให้อิ่มได้. ในช่วงต้นรัชกาล ซะโลโมได้สังเกตแนวโน้มเช่นนี้ในตัวคนอื่น ๆ. ท่านได้เขียนว่า “คนรักเงิน, ไม่อิ่มด้วยเงิน; และคนรักกำไร, ไม่รู้อิ่มด้วยความมั่งคั่ง; นี่อีกเป็นอนิจจังด้วย.” (ท่านผู้ประกาศ 5:10) ทั้งพระเยซูและเปาโลได้เตือนคริสเตียนในภายหลังเกี่ยวกับความรักซึ่งมีอันตรายแฝงอยู่นี้.—มาระโก 4:18, 19; 2 ติโมเธียว 3:2.
เมื่อเงินกลายเป็นสิ่งที่เราสนใจในอันดับแรกแทนที่จะเป็นเพียงเครื่องมือในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ เราก็อาจได้รับผลกระทบอย่างง่ายดายจากการล่อใจทางด้านศีลธรรมทุกรูปแบบ รวมทั้งการโกหก, การขโมย, และการหักหลัง. ยูดาอิศการิโอด อัครสาวกคนหนึ่งของพระคริสต์ได้ทรยศต่อนายของตนเพื่อจะได้เงินแค่ 30 แผ่น. (มาระโก 14:11; โยฮัน 12:6) เมื่อรักเงินมากเกินไป บางคนถึงกับนมัสการเงินแทนพระเจ้า. (1 ติโมเธียว 6:10) เพราะฉะนั้น คริสเตียนควรพยายามที่จะเป็นคนซื่อตรงเสมอในเรื่องแรงจูงใจที่แท้จริงของเขาในการหาเงินมากขึ้น.—เฮ็บราย 13:5.
การแสวงหาความมั่งคั่งยังก่อให้เกิดอันตรายที่แฝงเร้นมากกว่านี้ด้วย. ประการแรก การมีทรัพย์สมบัติมากมายมักจะส่งเสริมการไว้ใจตัวเอง. พระเยซูทรงรวมเอาเรื่องนี้ไว้ด้วยเมื่อตรัสถึง “อำนาจล่อลวงของทรัพย์สมบัติ.” (มัดธาย 13:22, ล.ม.) ในทำนองเดียวกัน ยาโกโบผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลได้เตือนคริสเตียนไม่ให้ลืมพระเจ้าแม้แต่เมื่อวางแผนทำธุรกิจ. (ยาโกโบ 4:13-16) เนื่องจากเงินดูเหมือนทำให้เราไม่ต้องพึ่งอาศัยใครในระดับหนึ่ง สำหรับคนเหล่านั้นที่มีเงิน ก็มีอันตรายอยู่เนือง ๆ ที่จะวางใจเงินของตนแทนที่จะวางใจพระเจ้า.—สุภาษิต 30:7-9; กิจการ 8:18-24.
ประการที่สอง ดังที่เดวิดซึ่งกล่าวถึงในตอนต้นได้ประสบ การแสวงหาความมั่งคั่งมักทำให้คนเราสิ้นเปลืองเวลาและความพยายามมากมายจนค่อย ๆ ดึงเขาไปจากการแสวงหาทางฝ่ายวิญญาณ. (ลูกา 12:13-21) สำหรับคนมั่งมีแล้ว ยังมีการล่อใจอยู่เรื่อยไปให้ใช้สิ่งที่ตนมีเพื่อทำกิจกรรมที่น่าเพลิดเพลินหรืองานอดิเรกส่วนตัวเป็นประการสำคัญ.
การที่ซะโลโมตกต่ำทางฝ่ายวิญญาณนั้น เป็นไปได้ไหมว่าส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการที่ท่านปล่อยให้ความเป็นอยู่อย่างหรูหราฟุ่มเฟือยทำให้จิตสำนึกของท่านด้านชาไป? (ลูกา 21:34) ท่านทราบข้อห้ามโดยตรงของพระเจ้าที่ห้ามการสมรสกับคนต่างประเทศ. กระนั้น ในที่สุดท่านได้รวบรวมผู้หญิงราว ๆ พันคนไว้ในฮาเร็ม. (พระบัญญัติ 7:3) เพราะปรารถนาที่จะเอาอกเอาใจบรรดามเหสีและนางสนมต่างชาติ ท่านจึงได้พยายามดำเนินการแบบรวมความเชื่อเพื่อเอาใจผู้หญิงเหล่านั้น. ดังที่ได้กล่าวก่อนหน้านี้ พระทัยของซะโลโมค่อย ๆ หันเหไปจากพระยะโฮวา.
เห็นได้ชัด ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคำแนะนำของพระเยซูที่ว่า “ท่านจะปฏิบัติพระเจ้าและจะปฏิบัติเงินทองด้วยก็ไม่ได้” นั้นเป็นความจริง. (มัดธาย 6:24) ดังนั้นแล้ว คริสเตียนจะประสบผลสำเร็จในการรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่คนส่วนใหญ่เผชิญอยู่ในขณะนี้ได้อย่างไร? สำคัญยิ่งกว่านั้น มีความหวังอะไรไหมสำหรับชีวิตในวันข้างหน้าที่ดีกว่า?
ความมั่งคั่งแท้มีอยู่ข้างหน้า
ไม่เหมือนกับอับราฮามปฐมบรรพบุรุษและโยบ รวมทั้งชาติอิสราเอล เหล่าสาวกของพระเยซูได้รับงานมอบหมายที่จะ “ทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) การทำงานมอบหมายนี้ให้สำเร็จเรียกร้องเวลาและความพยายาม ซึ่งมิฉะนั้นแล้วก็อาจใช้ไปในการมุ่งติดตามทางโลก. เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่เราทำได้เพื่อจะประสบผลสำเร็จคือทำตามที่พระเยซูทรงสั่งให้เราทำที่ว่า “ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป แล้วสิ่งอื่นเหล่านี้ทั้งหมดจะเพิ่มเติมให้แก่ท่าน.”—มัดธาย 6:33, ล.ม.
ภายหลังที่เดวิดเกือบจะสูญเสียครอบครัวรวมทั้งความเชื่อและสัมพันธภาพกับพระเจ้า ในที่สุดเขาก็สามารถทำให้ชีวิตกลับมาเข้าร่องเข้ารอย. ดังที่พระเยซูทรงสัญญา เมื่อเดวิดเริ่มจัดให้การศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, การอธิษฐาน, และงานรับใช้อยู่อันดับแรกในชีวิตของเขาแล้ว สิ่งอื่น ๆ ก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง. ความสัมพันธ์ของเขากับภรรยาและลูก ๆ ก็ค่อย ๆ กลับมาเหมือนเดิม. เขาได้ความยินดีและความอิ่มใจคืนมา. เขายังคงทำงานหนัก. ชีวิตของเขาไม่ได้เปลี่ยนจากการเป็นคนยากไร้มาเป็นผู้มั่งคั่ง. ถึงกระนั้น เขาได้เรียนรู้บทเรียนอันทรงคุณค่าบางอย่างจากประสบการณ์อันเจ็บปวดของตัวเอง.
เดวิดได้คิดทบทวนการตัดสินใจที่ย้ายไปสหรัฐ และเขาได้ตั้งใจว่าจะไม่มีวันยอมให้เงินมีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของเขาอีก. ตอนนี้เขารู้ว่าสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในชีวิต ซึ่งก็คือครอบครัวที่มีความรัก, มิตรสหายที่ดี, และสัมพันธภาพกับพระเจ้า เป็นสิ่งที่ไม่อาจหามาได้ด้วยเงิน. (สุภาษิต 17:17; 24:27; ยะซายา 55:1, 2) ที่จริง ความซื่อสัตย์มั่นคงทางด้านศีลธรรมมีคุณค่ายิ่งกว่าความมั่งคั่งทางด้านวัตถุมากนัก. (สุภาษิต 19:1; 22:1) เดวิดได้ตั้งใจแน่วแน่พร้อมกับครอบครัวของเขาที่จะจัดลำดับความสำคัญอย่างเหมาะสม.—ฟิลิปปอย 1:10.
ความพยายามของมนุษย์ที่จะสร้างสังคมที่มีความมั่งคั่งแท้แต่มีศีลธรรมได้ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า. อย่างไรก็ดี พระเจ้าได้ทรงสัญญาว่าราชอาณาจักรของพระองค์จะจัดให้มีสิ่งฝ่ายวัตถุและสิ่งฝ่ายวิญญาณอย่างบริบูรณ์ซึ่งเราจำเป็นต้องมีเพื่อจะดำรงชีวิตอย่างที่น่าพอใจ. (บทเพลงสรรเสริญ 72:16; ยะซายา 65:21-23) พระเยซูได้ทรงสอนว่าเพื่อจะมีความสุขอย่างแท้จริงเราต้องสำนึกถึงความจำเป็นด้านวิญญาณของเราก่อน. (มัดธาย 5:3) ดังนั้น ไม่ว่าเราร่ำรวยหรือยากจน การจัดให้สิ่งฝ่ายวิญญาณอยู่ในอันดับแรกขณะนี้เป็นแนวทางดีที่สุดที่ใคร ๆ ในพวกเราสามารถเตรียมตัวได้สำหรับโลกใหม่ของพระเจ้าที่รออยู่ข้างหน้า. (1 ติโมเธียว 6:17-19) โลกดังกล่าวจะเป็นสังคมที่มั่งคั่งอย่างแท้จริงทางด้านวัตถุ ทั้งยังดำเนินชีวิตตามมาตรฐานด้านศีลธรรมอันสูงส่งด้วย.
[เชิงอรรถ]
a นามสมมุติ.
[ภาพหน้า 5]
โยบไว้วางใจในพระเจ้า ไม่ใช่ในทรัพย์สมบัติ
[ภาพหน้า 7]
สิ่งที่มีค่ามากที่สุดในชีวิตไม่อาจหามาได้ด้วยเงิน