การรับใช้ในประชาคมที่พูดภาษาต่างประเทศ
อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นทูตสวรรค์อีกองค์หนึ่งบินไปตลอดทั่วท้องฟ้า, นำกิตติคุณอันเจริญเป็นนิตย์ไปประกาศแก่ชนชาวโลกทั้งปวง, แก่ทุกประเทศ, ทุกชาติ, ทุกภาษา, และทุกคณะ.” (วิวรณ์ 14:6) นิมิตเชิงพยากรณ์ดังกล่าวกำลังสำเร็จเป็นจริง เพราะข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้ากำลังได้รับการประกาศไปทั่วโลกในภาษาต่าง ๆ มากมาย. ภาษาเหล่านี้หลายภาษาพูดกันในหมู่ผู้ที่ย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนไปอยู่ในประเทศอื่น. คนเหล่านี้ก็เช่นกันกำลังได้ยินข่าวดีจากพยานที่มีใจแรงกล้าของพระยะโฮวาซึ่งได้เรียนอีกภาษาหนึ่ง.
คุณเป็นคนหนึ่งในหมู่พยานฯ ที่กำลังรับใช้ในประชาคมที่พูดภาษาต่างประเทศไหม? หรือบางทีคุณอาจกำลังคิดจะทำเช่นนั้นอยู่? เพื่อที่ความพยายามของคุณจะบรรลุผลสำเร็จ คุณจำเป็นต้องมีแรงกระตุ้นที่ไม่เห็นแก่ตัวและมีทัศนคติที่เหมาะสม. เนื่องจากเป้าหมายของคุณคือการช่วยคนอื่นให้เรียนความจริงจากพระคำของพระเจ้า คุณก็มีแรงกระตุ้นที่เหมาะสมที่สุด นั่นคือความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนบ้าน. (มัดธาย 22:37-39; 1 โกรินโธ 13:1) ความปรารถนาที่จะช่วยคนอื่น ๆ ให้มารู้จักพระเจ้าเป็นแรงกระตุ้นที่มีพลังมากยิ่งกว่าเพียงแค่ความต้องการที่จะเพลิดเพลินกับการคบหาสมาคม, อาหาร, และวัฒนธรรมของคนชาติอื่นหรือกลุ่มอื่น. การเรียนภาษาใหม่ดูจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคุณไหม? ถ้าเช่นนั้น การมีทัศนะที่ถูกต้องจะช่วยได้. เจมส์ ซึ่งเรียนภาษาญี่ปุ่นกล่าวว่า “อย่ายอมให้ภาษามาทำให้คุณกลัว.” การตระหนักว่ามีคนมากมายได้ประสบความสำเร็จมาแล้วจะช่วยคุณให้พยายามต่อไปและรักษาทัศนะในแง่บวกเอาไว้. แล้วคุณจะเรียนภาษาใหม่ได้อย่างไร? อะไรจะช่วยคุณปรับตัวให้เข้ากับประชาคมที่ใช้ภาษานั้นได้? และคุณต้องทำอะไรเพื่อจะรักษาความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณไว้เสมอ?
เอาชนะอุปสรรคเรื่องภาษา
การเรียนภาษามีหลายวิธี. ทั้งผู้เรียนและผู้สอนต่างก็ใช้วิธีแตกต่างกันไป. แต่สำหรับผู้เรียนส่วนใหญ่ การเรียนกับผู้สอนที่มีคุณวุฒิสักสองสามคอร์สก็ช่วยให้เรียนได้เร็วและง่ายขึ้น. การอ่านคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักในภาษาที่เรียนอยู่และการฟังเทปหรือซีดีที่มีในภาษานั้นจะช่วยคุณให้รู้จักคำศัพท์มากขึ้น รวมถึงศัพท์และสำนวนที่ใช้ในองค์การด้วย. รายการวิทยุ, โทรทัศน์, และวีดิทัศน์ที่มีเนื้อหาเหมาะสมก็อาจช่วยในการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมเช่นกัน. สำหรับเรื่องเวลาที่ใช้ในการเรียนนั้น การศึกษาภาษาใหม่ทุกวัน วันละเล็กวันละน้อยมักได้ผลดีกว่าการใช้เวลามากแต่นาน ๆ ครั้ง.
การเรียนภาษาก็เหมือนกับการเรียนว่ายน้ำ. คุณไม่สามารถจะเรียนว่ายน้ำโดยเพียงแต่อ่านจากหนังสือ. คุณต้องลงไปในน้ำและลองว่ายดู. การเรียนภาษาก็เช่นเดียวกัน. คุณจะเรียนภาษาได้ยากถ้าคุณเพียงแต่ศึกษาจากตำรา. เมื่อไรก็ตามที่มีโอกาส คุณต้องฝึกสนทนาโต้ตอบกับคนอื่น ฟังว่าเขาพูดอย่างไร, คบหากับพวกเขา, และที่สำคัญคือ คุณต้องพูด! ในเรื่องนี้กิจกรรมคริสเตียนจะช่วยได้เป็นอย่างดี. บ่อยครั้ง คุณสามารถใช้สิ่งที่คุณเรียนในทันทีเมื่อคุณออกไปประกาศตามบ้าน. มิโดริ ซึ่งกำลังเรียนภาษาจีนบอกว่า “การทำเช่นนั้นอาจดูน่ากลัว แต่เจ้าของบ้านจะสังเกตได้ว่าพวกเราที่เป็นพยานฯ มีความพยายามมากจริง ๆ. นี่อาจทำให้เขาประทับใจ. เราเพียงแต่ต้องพูดว่า ‘ดิฉันดีใจที่ได้พบคุณ’ ในภาษาของพวกเขา ตาของพวกเขาก็จะเป็นประกายด้วยความยินดี!”
การประชุมคริสเตียนก็ช่วยได้มากเช่นกัน. ในการประชุมทุกครั้ง จงพยายามออกความคิดเห็นอย่างน้อยหนึ่งครั้ง. ไม่ว่าคุณจะรู้สึกกลัวแค่ไหนในตอนแรก อย่ากังวล. ประชาคมต้องการให้คุณประสบความสำเร็จ! โมนิฟา ซึ่งกำลังเรียนภาษาเกาหลี บอกว่า “ดิฉันรู้สึกขอบคุณพี่น้องหญิงที่นั่งข้าง ๆ ดิฉันระหว่างการประชุมที่ช่วยเขียนความหมายของคำบางคำให้ดิฉัน. การช่วยเหลือด้วยความจริงใจและอดทนของเธอช่วยดิฉันมากจริง ๆ.” เมื่อคุณรู้จักคำศัพท์มากขึ้น คุณก็เริ่มคิดเป็นภาษาใหม่ได้แล้ว โดยคิดโยงคำศัพท์ต่าง ๆ เข้ากับสิ่งที่คำเหล่านั้นหมายถึงได้ทันทีโดยไม่ต้องแปลในใจทุกคำ.
เป้าหมายแรกในการเรียนภาษาของคุณควรจะเป็นการ “ใช้ภาษาคำพูดที่เข้าใจได้.” (1 โกรินโธ 14:8-11) แม้ผู้ฟังจะมีความอดทน แต่การพูดผิดหรือออกเสียงเพี้ยนไปมากก็อาจทำให้เขาเขวไปแทนที่จะสนใจฟังข่าวสารของคุณ. การเอาใจใส่ในเรื่องการออกเสียงและไวยากรณ์ที่ถูกต้องตั้งแต่ต้นจะช่วยไม่ให้คุณติดวิธีพูดที่ไม่ถูกต้องบางอย่างซึ่งจะแก้ไขได้ยาก. มาร์กซึ่งเรียนภาษาสวาฮิลีแนะว่า “ลองขอให้คนที่พูดภาษานั้นได้ดีคอยแก้คำพูดที่ผิดให้คุณ แล้วก็ขอบคุณเขา!” ใช่แล้ว คุณควรคิดถึงเวลาและกำลังที่คนอื่นได้สละเพื่อช่วยเหลือคุณในการเรียนภาษาด้วย. แม้ว่าคุณอาจขอให้ใครสักคนตรวจสิ่งที่คุณเขียนว่าถูกต้องหรือไม่ แต่คุณต้องพยายามเตรียมคำบรรยายและความคิดเห็นโดยใช้คำที่คุณรู้จักแล้วหรือค้นมาจากพจนานุกรม. การทำเช่นนี้จะทำให้คุณเรียนภาษาได้เร็วขึ้นและช่วยให้คุณพูดด้วยความมั่นใจ.
ทำความก้าวหน้าต่อ ๆ ไป
โมนิฟากล่าวว่า “การเรียนภาษาอื่นเป็นงานที่ยากที่สุดเท่าที่ดิฉันเคยทำมา. บางครั้งดิฉันก็อยากจะเลิก. แต่ดิฉันจำได้ว่าคนที่เรียนคัมภีร์ไบเบิลกับดิฉันนั้นชอบฟังความจริงฝ่ายวิญญาณที่ลึกซึ้งซึ่งดิฉันพูดในภาษาเกาหลีแบบง่าย ๆ มากเพียงไร และพวกพี่น้องก็ดีอกดีใจเมื่อดิฉันพูดได้เก่งขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย.” จุดสำคัญก็คือ อย่ายอมแพ้เอาง่าย ๆ. เป้าหมายของคุณคือเพื่อจะสอนคนอื่นให้รู้ความจริงจากพระคัมภีร์ซึ่งจะช่วยชีวิตให้รอด. (1 โกรินโธ 2:10) ดังนั้น การเรียนเพื่อจะสอนคัมภีร์ไบเบิลในภาษาอื่นจำต้องใช้ความพยายามอย่างมุ่งมั่นในระยะยาว. ขณะที่คุณพยายามต่อไปเรื่อย ๆ จงหลีกเลี่ยงการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น. คนที่เรียนภาษาใหม่จะก้าวหน้าช้าเร็วไม่เท่ากันและในคนละด้าน. แต่นับว่าเป็นประโยชน์ที่คุณจะรู้ว่าตัวเองก้าวหน้าไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว. (ฆะลาเตีย 6:4) จูน ซึ่งเรียนภาษาจีนให้ข้อสังเกตว่า “การเรียนภาษาก็เหมือนการเดินขึ้นบันได. เมื่อคุณรู้สึกว่าตัวเองไม่ก้าวหน้าไปไหน ทันใดนั้นคุณก็จะตระหนักว่าคุณขึ้นไปสูงแล้ว.”
การเรียนภาษาใหม่เป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาตลอดชีวิต. ฉะนั้น จงมีความสุขกับการเรียน และอย่าคาดหมายว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์ไร้ข้อผิดพลาด. (บทเพลงสรรเสริญ 100:2) ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ และเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้. เมื่อคริสเตียนคนหนึ่งเริ่มประกาศเป็นภาษาอิตาลี เขาถามเจ้าของบ้านว่า “คุณรู้จักไม้กวาด ของชีวิตไหม?” เขาตั้งใจจะพูดว่า “จุดมุ่งหมาย ของชีวิต.” พยานฯ คนหนึ่งที่เพิ่งเรียนภาษาโปแลนด์ได้เชิญพี่น้องทั้งประชาคมให้ร้องสุนัข แทนที่จะร้องเพลง. และคนหนึ่งซึ่งกำลังเรียนภาษาจีนเมื่อเขาพูดเสียงเพี้ยนไปเล็กน้อยก็กลายเป็นว่าได้บอกผู้ฟังให้มีความเชื่อในตู้หนังสือ ของพระเยซูแทนที่จะเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ ของพระองค์. ข้อดีของการพูดผิดคือช่วยให้จำคำที่ถูกต้องได้อย่างแม่นยำ.
ทำงานร่วมกับประชาคม
ความแตกต่างด้านภาษาไม่ใช่สิ่งเดียวที่แยกผู้คนออกจากกัน. ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม, เชื้อชาติ, และสัญชาติมักทำให้มนุษย์แยกจากกันมากยิ่งกว่า. แต่อุปสรรคดังกล่าวก็ใช่ว่าจะเอาชนะไม่ได้. ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งซึ่งศึกษากลุ่มศาสนาต่าง ๆ ในยุโรปที่ใช้ภาษาจีนได้สังเกตว่าพยานพระยะโฮวานั้นอยู่ “เหนือเชื้อชาติ.” เขาสังเกตว่าในท่ามกลางพยานฯ “ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ไม่เป็นอุปสรรค และภาษาเป็นเพียงสื่อกลางที่ทำให้เข้าใจพระคำของพระเจ้า.” ที่จริง การนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้คือสิ่งที่ช่วยคริสเตียนแท้ให้เอาชนะความแตกต่างด้านเชื้อชาติ. สำหรับคนที่สวม ‘บุคลิกภาพใหม่นั้น ไม่มีชาวกรีกหรือยิวหรือคนต่างชาติ.’—โกโลซาย 3:10, 11, ล.ม.
ด้วยเหตุนั้น ทุกคนในประชาคมควรช่วยกันส่งเสริมความเป็นเอกภาพ. นี่หมายความว่า เราต้องเปิดใจยอมรับวิธีคิด, ความรู้สึก, และการกระทำแบบใหม่ ๆ. คุณสามารถป้องกันไม่ให้ความแตกต่างด้านเชื้อชาติกลายไปเป็นความแตกแยกได้ โดยไม่ใส่ใจต่อความชอบส่วนตัวมากเกินไป. (1 โกรินโธ 1:10; 9:19-23) จงหัดใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ดีที่สุดของแต่ละวัฒนธรรม. จงจำไว้ว่าความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวคือกุญแจสู่ความสัมพันธ์ที่ดีและเอกภาพแท้.
ประชาคมภาษาต่างประเทศส่วนใหญ่เริ่มต้นจากกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งมักจะประกอบด้วยคนที่เรียนภาษาใหม่เป็นส่วนมากกับบางคนที่เพิ่งเริ่มเรียนหลักการคัมภีร์ไบเบิลได้ไม่นาน. ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่จะเกิดการเข้าใจผิดในประชาคมเหล่านี้ได้ง่ายกว่าในประชาคมใหญ่ที่ตั้งมานานแล้ว. ฉะนั้น คริสเตียนที่อาวุโสจึงควรพยายามเป็นแรงชักจูงในทางที่เสริมสร้างแก่ประชาคม. การแสดงความรักและความกรุณาด้วยคำพูดและการกระทำจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีซึ่งคนใหม่ ๆ สามารถเติบโตได้ทางฝ่ายวิญญาณ.
นอกจากนี้ ผู้ที่สมัครใจไปช่วยในประชาคมที่พูดภาษาต่างประเทศจะต้องเป็นคนสมดุลในเรื่องการคาดหมายจากคนอื่น. ริก ซึ่งเป็นผู้ปกครองในประชาคมภาษาอื่นอธิบายว่า “พยานฯ ใหม่บางคนในประชาคมอาจยังไม่ชำนาญในเรื่องเกี่ยวกับองค์การเท่ากับคนที่อยู่ในประชาคมภาษาท้องถิ่น. แต่ถึงแม้พวกเขาจะขาดไปบ้างในเรื่องความชำนาญ แต่พวกเขาก็มักจะเด่นในเรื่องความรักและความกระตือรือร้น. และมีผู้สนใจมากมายกำลังเข้ามาในความจริง.” หากคุณสนับสนุนกิจกรรมของประชาคมเป็นประจำและพร้อมที่จะสละตัวเองไม่ว่าในเรื่องใดก็ตามที่ทำได้ คุณจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชาคม แม้แต่ในขณะที่คุณยังเรียนภาษาอยู่. โดยทำงานร่วมกัน ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยให้ประชาคมก้าวหน้าทางฝ่ายวิญญาณ.
รักษาความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณเอาไว้
พี่น้องชายคนหนึ่งซึ่งมาอยู่ในประชาคมภาษาต่างประเทศได้ไม่นานนักเผอิญได้ยินการสนทนาของแม่ที่กำลังช่วยลูกเตรียมความคิดเห็น. “คุณแม่คะ สั้นกว่านี้ไม่ได้หรือคะ?” ผู้เป็นลูกขอร้อง. แม่ตอบว่า “ไม่ได้จ้ะลูก เราต้องเก็บคำตอบสั้น ๆ ไว้สำหรับคนที่กำลังเรียนภาษานะจ๊ะ.”
สำหรับคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว การไม่สามารถสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่วเป็นเดือน ๆ หรือกระทั่งเป็นปี ๆ อาจทำให้สภาพจิตใจ, อารมณ์, และฝ่ายวิญญาณอ่อนแอลง. เจเนต ซึ่งเดี๋ยวนี้พูดภาษาสเปนได้คล่องเล่าว่า “ดิฉันมักจะท้อใจเอาง่าย ๆ เพราะข้อจำกัดของตัวเอง.” ฮิโรโกะ ซึ่งเรียนภาษาอังกฤษจำได้ว่าเธอเคยคิดว่า ‘แม้แต่หมากับแมวในเขตทำงานก็ยังเข้าใจภาษาอังกฤษได้ดีกว่าฉันเสียอีก.’ ส่วนแคทีบอกว่า “เมื่อดิฉันย้ายไปประชาคมภาษาสเปน จากที่ดิฉันเคยมีนักศึกษาหลายรายและมีรายเยี่ยมเต็มสมุดบันทึก กลายเป็นว่าไม่มีสักรายเดียว. ดิฉันรู้สึกเหมือนกับไม่ได้ทำอะไรเลย.”
เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีทัศนะในแง่บวก. เมื่อฮิโรโกะเริ่มท้อใจ เธอหาเหตุผลว่า “ถ้าคนอื่นทำได้ ฉันก็ต้องทำได้.” แคทีบอกว่า “ดิฉันจะคิดถึงสามี เขาเรียนได้เร็วและช่วยประชาคมได้มาก. การคิดเช่นนี้ทำให้ดิฉันสู้ต่อไป. ดิฉันยังต้องพยายามอีกมาก แต่ทีละเล็กทีละน้อยดิฉันประกาศและสอนได้เก่งขึ้น และนั่นทำให้ดิฉันมีความสุข.” เจฟฟ์ สามีของเธอเสริมว่า “คุณอาจรู้สึกข้องขัดใจที่ไม่สามารถเข้าใจทุกอย่างที่พูดในคำประกาศหรือในการประชุมผู้ปกครองได้. ผมต้องซื่อสัตย์และถ่อมใจและซักถามรายละเอียดเพิ่มเติม แต่พี่น้องก็ยินดีช่วยครับ.”
เพื่อจะไม่รู้สึกเหนื่อยล้าทางฝ่ายวิญญาณขณะที่ทำงานร่วมกับประชาคมภาษาต่างประเทศ คุณต้องไม่ลืมให้ความสำคัญแก่สภาพฝ่ายวิญญาณของคุณเป็นอันดับแรก. (มัดธาย 5:3) คาซูยูกิ ซึ่งได้รับใช้ในเขตงานภาษาโปรตุเกสมาหลายปีบอกว่า “นับว่าสำคัญที่เราจะได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างพอเพียง. เพราะฉะนั้น ครอบครัวของเราจึงศึกษาและเตรียมการประชุมทั้งในภาษาโปรตุเกสและภาษาของเรา.” บางคนไปร่วมการประชุมในภาษาของตนเองเป็นครั้งคราว. นอกจากนั้น การพักผ่อนให้เพียงพอก็สำคัญเช่นกัน.—มาระโก 6:31.
ชั่งดูผลได้ผลเสีย
ถ้าคุณกำลังคิดถึงการย้ายไปสมทบกับประชาคมที่ใช้ภาษาอื่น คุณต้องชั่งดูผลได้ผลเสียของการทำเช่นนั้นก่อน. (ลูกา 14:28) สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณต้องคำนึงถึงคือ สภาพฝ่ายวิญญาณและสัมพันธภาพของคุณกับพระยะโฮวา. จงทูลอธิษฐานเกี่ยวกับสถานการณ์ของคุณ. คำนึงถึงคู่สมรสและลูก ๆ ของคุณด้วย. จงถามตัวเองว่า ‘สภาพการณ์ของฉันเหมาะสมไหม และฉันมีความเข้มแข็งด้านวิญญาณและอารมณ์มากพอที่จะทำสิ่งที่เป็นโครงการระยะยาวอย่างนั้นไหม?’ นับว่าสุขุมที่คุณจะทำสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับสภาพฝ่ายวิญญาณของคุณและครอบครัว. มีหลายสิ่งที่คุณจะทำได้และมีความชื่นชมยินดีมากมายที่คุณจะพบได้ ไม่ว่าคุณจะรับใช้เป็นผู้ประกาศราชอาณาจักร ณ ที่ใด.
สำหรับคนที่สามารถรับใช้ในประชาคมภาษาต่างประเทศได้ พวกเขาได้รับผลตอบแทนมากมาย. บาร์บารา ซึ่งได้ย้ายไปประชาคมภาษาสเปนพร้อมกับสามีกล่าวว่า “นี่เป็นประสบการณ์หนึ่งที่มีความสุขที่สุดในชีวิตของดิฉันเลยทีเดียว. ดิฉันรู้สึกเหมือนได้เรียนความจริงใหม่อีกครั้ง. ดิฉันรู้สึกขอบคุณสำหรับโอกาสเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราไม่มีโอกาสไปเป็นมิชชันนารีในประเทศอื่น.”
ตลอดทั่วโลก คนธรรมดา ๆ หลากหลายวัยจำนวนนับหมื่นนับแสนกำลังพยายามเรียนภาษาใหม่เพื่อส่งเสริมข่าวดี. ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งในจำนวนนี้ จงรักษาแรงกระตุ้นที่ดีและทัศนะในแง่บวกไว้เสมอ. เหนือสิ่งอื่นใดจงวางใจว่า พระยะโฮวาจะทรงอวยพรความพยายามของคุณ.—2 โกรินโธ 4:7.
[ภาพหน้า 18]
การเรียนภาษากับผู้สอนที่มีคุณวุฒิจะช่วยให้เรียนภาษาใหม่ได้เร็วและง่ายขึ้น
[ภาพหน้า 20]
อย่ายอมให้สุขภาพฝ่ายวิญญาณของคุณได้รับผลกระทบขณะที่คุณเรียนภาษาต่างประเทศ