การเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลอะไรจะช่วยคุณ?
“พระองค์ทรงบังซ่อนสิ่งทั้งปวงนั้นจากผู้มีปัญญาและนักปราชญ์ และได้สำแดงให้ทารกแจ้ง.” (ลูกา 10:21) ถ้อยคำเหล่านี้ที่พระเยซูทูลต่อพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์บ่งชี้ว่า เพื่อจะเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลเราต้องมีเจตคติที่ถูกต้อง. การที่พระยะโฮวาจัดให้มีหนังสือที่เฉพาะแต่คนถ่อมใจและเต็มใจรับการสอนเท่านั้นสามารถเข้าใจได้อย่างแท้จริงเผยให้เห็นสติปัญญาของพระองค์.
พวกเราส่วนใหญ่พบว่าการแสดงความถ่อมใจไม่ใช่เรื่องง่าย. เราทุกคนมีแนวโน้มจะหยิ่งทะนงซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับสืบทอดมา. นอกจากนั้น เรามีชีวิตอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” และอยู่ท่ามกลางคนที่ “รักตัวเอง, . . . หัวดื้อ, เย่อหยิ่งจองหอง.” (2 ติโมเธียว 3:1-4, ล.ม.) เจตคติเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าใจพระคำของพระเจ้า. น่าเศร้า เราทุกคนได้รับอิทธิพลจากคนรอบข้างไม่มากก็น้อย. ถ้าอย่างนั้น คุณจะมีเจตคติที่จำเป็นต้องมีเพื่อเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างไร?
การเตรียมหัวใจและจิตใจ
เอษรา ผู้นำประชาชนของพระเจ้าในสมัยโบราณได้ “เตรียมหัวใจของตนเพื่อพิจารณาข้อกฎหมายของพระยะโฮวา.” (เอษรา 7:10, ล.ม.) มีทางใดทางหนึ่งไหมที่เราจะเตรียมหัวใจของเรา? มี. เราสามารถเริ่มเตรียมหัวใจได้โดยการมีทัศนะที่ถูกต้องต่อพระคัมภีร์. อัครสาวกเปาโลเขียนถึงเพื่อนคริสเตียนดังนี้: “เมื่อท่านทั้งหลายได้รับคำของพระเจ้าซึ่งท่านได้ยินจากเรา, ท่านไม่ได้รับไว้อย่างเป็นคำของมนุษย์, แต่ได้รับไว้อย่างเป็นคำของพระเจ้า.” (1 เธซะโลนิเก 2:13) แม้พระเจ้าใช้มนุษย์เขียนพระคัมภีร์ แต่สิ่งที่เขียนนั้นมาจากพระยะโฮวา. การตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่สำคัญนี้จะช่วยเรายอมรับสิ่งที่เราอ่านมากขึ้น.—2 ติโมเธียว 3:16.
อีกวิธีหนึ่งในการเตรียมหัวใจของเราคือการอธิษฐาน. เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลมีขึ้นโดยการดลใจโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ การเข้าใจข่าวสารในนั้นก็ต้องอาศัยการช่วยเหลือจากพระวิญญาณ. เราต้องอธิษฐานขอการช่วยเหลือดังกล่าว. โปรดสังเกตว่านี่เป็นสิ่งที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเน้นเป็นพิเศษเมื่อท่านเขียนว่า “ขอให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจ, แล้วข้าพเจ้าจะได้รักษาพระบัญญัติของพระองค์ไว้; ข้าพเจ้าจะถือรักษาไว้ด้วยสุดใจ.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:34) เราต้องอธิษฐานไม่เพียงแต่ขอให้มีปัญญาเพื่อจะเข้าใจสิ่งที่เขียนไว้เท่านั้น แต่ขอให้มีเจตคติแห่งหัวใจในแบบที่จะช่วยให้เรายอมรับคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลด้วย. เพื่อจะเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลเราต้องพร้อมจะยอมรับสิ่งที่เป็นความจริง.
เมื่อคุณใคร่ครวญเพื่อจะมีเจตคติที่ถูกต้อง ให้พิจารณาว่าการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยคุณได้อย่างไร. เรามีเหตุผลที่ดีเยี่ยมหลายประการที่จะอ่านพระคำของพระเจ้า แต่เหตุผลสำคัญที่สุดก็คือ การอ่านคัมภีร์ไบเบิลช่วยเราเข้าใกล้พระเจ้า. (ยาโกโบ 4:8) เมื่อเราอ่านเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาแสดงท่าทีต่อสภาพการณ์ที่ต่างกันไป, วิธีที่พระองค์แสดงความหยั่งรู้ค่าต่อคนที่รักพระองค์, และวิธีที่พระองค์ปฏิบัติต่อคนที่ละทิ้งพระองค์ ทำให้เราเข้าใจว่าพระองค์เป็นบุคคลเช่นไร. เจตนาที่แท้จริงของเราในการอ่านคัมภีร์ไบเบิลควรจะเป็นการอ่านเพื่อจะรู้จักพระเจ้าดีขึ้นเสมอ และด้วยวิธีนี้จึงทำให้เรามีสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับพระองค์.
อุปสรรคต่อการมีเจตคติที่ถูกต้อง
อะไรอาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าใจพระคำของพระเจ้า? อุปสรรคอย่างหนึ่งคือความรู้สึกภักดีแบบไม่ถูกทาง. ตัวอย่างเช่น คุณอาจยึดมั่นและนับถือความเชื่อกับทัศนคติของบางคนอย่างสูง. แต่คุณจะทำเช่นไรถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ได้สนับสนุนหรือเห็นคุณค่าพระคำของพระเจ้าจริง ๆ? ภายใต้สภาพการณ์เช่นนั้น อาจเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่าคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริง ๆ. ดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราให้ตรวจสอบสิ่งที่คนอื่นสอนเราอย่างถี่ถ้วน.—1 เธซะโลนิเก 5:21.
มาเรีย มารดาของพระเยซูเคยเผชิญปัญหานี้. เธอถูกสอนให้เคารพธรรมเนียมยิว. เธอปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซอย่างเคร่งครัดและไปที่ธรรมศาลาอย่างแน่นอน. ต่อมาเธอตระหนักว่าพระเจ้าไม่ยอมรับการนมัสการที่บิดามารดาเคยสอนเธออีกต่อไป. ผลคือ มาเรียยอมรับคำสอนของพระเยซูและอยู่ท่ามกลางสมาชิกรุ่นแรก ๆ ของประชาคมคริสเตียน. (กิจการ 1:13, 14) นี่ไม่ได้หมายความว่า มาเรียไม่นับถือบิดามารดาของเธอหรือธรรมเนียมที่ท่านยึดถือ แต่ที่มาเรียทำเช่นนั้นก็เพราะเธอรักพระเจ้า. ถ้าเราต้องการได้รับประโยชน์จากคัมภีร์ไบเบิล เราต้องเป็นเช่นเดียวกับมาเรียที่ให้ความภักดีต่อพระเจ้ามาก่อนความภักดีต่อผู้อื่น.
น่าเสียดาย หลายคนไม่ค่อยเห็นคุณค่าของความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. บางคนพอใจที่จะทำตามธรรมเนียมทางศาสนาที่อาศัยความเชื่อที่ไม่จริง. ส่วนคนอื่น ๆ แสดงให้เห็นโดยทางคำพูดและวิถีชีวิตของเขาว่า พวกเขาไม่มีความนับถือต่อความจริง. ผลก็คือ การรับเอาความจริงในคัมภีร์ไบเบิลอาจทำให้คุณต้องเสียอะไรบางอย่างไปบ้าง นั่นคือ การทำเช่นนั้นอาจทำให้คุณไม่เห็นพ้องกันกับมิตรสหาย, เพื่อนบ้าน, เพื่อนที่ทำงาน, และแม้แต่คนในครอบครัว. (โยฮัน 17:14) กระนั้น บุรุษผู้ชาญฉลาดเขียนไว้ว่า “จงซื้อความจริงไว้และอย่าขายเสียเลย.” (สุภาษิต 23:23) หากคุณถือว่าความจริงมีค่าสูงยิ่ง พระยะโฮวาจะช่วยคุณเข้าใจคัมภีร์ไบเบิล.
ยังมีอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่อาจทำให้ไม่เข้าใจข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิล นั่นคือการไม่เต็มใจนำสิ่งที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ไปใช้. พระเยซูตรัสกับสาวกของพระองค์ว่า “ข้อลับลึกแห่งแผ่นดินสวรรค์ทรงโปรดให้ท่านทั้งหลายรู้ได้, แต่คนเหล่านั้นไม่โปรดให้รู้. เพราะว่าใจของคนเหล่านี้ก็แข็งกะด้าง, หูก็ตึง.” (มัดธาย 13:11, 15) คนส่วนใหญ่ที่พระเยซูสั่งสอนไม่ค่อยตอบรับและไม่เต็มใจเปลี่ยนแปลง. ช่างต่างจากพ่อค้าที่เดินทางซึ่งพระเยซูกล่าวถึงในอุทาหรณ์สักเพียงไร! เมื่อพบไข่มุกที่ล้ำค่า พ่อค้าคนนี้รีบขายทุกสิ่งที่ตนมีอยู่เพื่อจะซื้อไข่มุกนั้น. การเข้าใจความจริงในคัมภีร์ไบเบิลก็ควรมีค่าสำหรับเราถึงขนาดนั้นด้วย.—มัดธาย 13:45, 46.
การยอมรับการสอนเป็นเรื่องท้าทาย
เรื่องท้าทายอันใหญ่หลวงอย่างหนึ่งสำหรับการเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลก็คือ การเป็นคนที่ยอมรับการสอน. อาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคนที่จะยอมรับแนวคิดใหม่ ๆ จากใครบางคนที่ดูเหมือนด้อยกว่า. กระนั้น เหล่าอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ก็ “ขาดการศึกษาและเป็นคนสามัญ.” (กิจการ 4:13, ฉบับแปลใหม่) เปาโลอธิบายเหตุผลของเรื่องนี้เมื่อท่านเขียนว่า “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย, จงพิจารณาดูคนทั้งหลายในพวกท่านที่พระเจ้าได้ทรงเรียกมาแล้วคือว่า คนที่โลกนิยมว่ามีปัญญา, คนมีอำนาจ, คนตระกูลสูงมีน้อยคนนัก แต่พระเจ้าได้ทรงเลือกสิ่งที่โลกถือว่าโฉดเขลา, เพื่อจะให้คนมีปัญญาอับอาย.” (1 โกรินโธ 1:26, 27) ถ้าคุณรู้สึกว่าการแสดงความถ่อมใจไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเมื่อคนที่สอนคุณเป็นคนที่ด้อยกว่า ขอจำไว้ว่าเขาคนนั้นเพียงแต่เป็นเครื่องมือที่พระเจ้าใช้ให้มาสอนคุณ. จะมีเกียรติอันใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการได้รับการสอนจากพระยะโฮวา “พระบรมครู” ของเรา?—ยะซายา 30:20, ล.ม.; 54:13.
นามาน ผู้บัญชาการทหารซีเรียเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าการทำตามคำแนะนำของคนที่ต่ำต้อยกว่าเป็นเรื่องยาก. เพื่อจะหาทางรักษาโรคเรื้อนที่ตนเป็นอยู่ เขาจึงเดินทางไปพบอะลีซาผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวา. แต่คำแนะนำของพระเจ้าเรื่องการเยียวยารักษานามานให้หายนั้นกลับบอกผ่านทางคนรับใช้. วิธีรักษาและคนที่มาบอกทำให้นามานไม่อยากจะถ่อมใจทำตามคำแนะนำเท่าไรนัก ดังนั้น ในตอนแรกเขาจึงปฏิเสธที่จะเชื่อฟังคำพูดของผู้พยากรณ์ของพระเจ้า. ต่อมาไม่นาน นามานก็เปลี่ยนเจตคติและโรคที่เป็นอยู่ก็หาย. (2 กษัตริย์ 5:9-14) เราเผชิญข้อท้าทายแบบเดียวกันเมื่อศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. เราอาจเรียนรู้ว่าเพื่อจะได้รับการเยียวยารักษาด้านวิญญาณและศีลธรรม เราต้องติดตามวิถีชีวิตแบบใหม่. เราจะถ่อมใจยอมให้บางคนสอนเราเกี่ยวกับสิ่งที่จำเป็นต้องทำไหม? เฉพาะคนที่เต็มใจรับการสอนเท่านั้นจึงจะเข้าใจคัมภีร์ไบเบิล.
ผู้หนึ่งที่แสดงเจตคติที่ถูกต้องคือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของพระนางกันดาเก ราชินีแห่งเอธิโอเปีย. ตอนที่เขานั่งอยู่บนรถม้าเพื่อเดินทางกลับไปแอฟริกา สาวกฟิลิปวิ่งมาข้าง ๆ รถม้าและพูดกับเขา. ฟิลิปถามว่าเขาเข้าใจสิ่งที่กำลังอ่านไหม. ข้าราชการคนนั้นถ่อมใจพอที่จะตอบว่า “ถ้าไม่มีใครอธิบายให้, ที่ไหนจะเข้าใจได้?” เมื่อได้เข้าใจพระคำของพระเจ้า เขาก็รับบัพติสมา. หลังจากนั้น เขา “จึงเดินทางต่อไปโดยความยินดี.”—กิจการ 8:27-39.
พยานพระยะโฮวาส่วนใหญ่เป็นคนธรรมดา ๆ. ในแต่ละสัปดาห์ พวกเขานำการศึกษาพระคัมภีร์ตามบ้านกับผู้คนมากกว่าหกล้านคน. เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลสอนวิธีดำเนินชีวิตในแบบที่ดีที่สุด, อธิบายให้รู้ความหวังที่แน่นอนเพียงอย่างเดียวสำหรับมนุษยชาติ, และชี้ให้เห็นวิธีรู้จักพระเจ้า หลายล้านคนจึงพบว่าการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและการเข้าใจสิ่งที่กล่าวไว้ก่อให้เกิดความสุขอันหาที่เปรียบมิได้. คุณจะพบความสุขแบบนั้นได้เช่นกัน.
[ภาพหน้า 7]
นามานรู้สึกว่ายากที่จะยอมรับคำแนะนำจากคนรับใช้ที่ต่ำต้อย
[ภาพหน้า 7]
การเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลช่วยให้เรารู้สึกอบอุ่นใจ